นับแต่ที่เชลซีมีเจ้าของสโมสร (ร่วม) ใหม่เป็นกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา นำโดย ท็อดด์ โบห์ลี สโมสรแห่งนี้ได้สร้างความฮือฮาในตลาดซื้อขายนักเตะทั้งในรอบฤดูร้อน 2022 และฤดูหนาว 2023
เราจะเห็นได้จากการทุ่มเงินหนัก ๆ ดึงดูดสตาร์น้อยใหญ่เข้ามาสู่ถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ และที่สำคัญเป็นการมอบสัญญาระยะยาวเกินกว่า 5 ปีให้แต่ละคน เลยกลายเป็นประเด็นครั้งใหญ่จนถึงขั้นมีข่าวว่าสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปเตรียมออกกฎการเงินขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ให้ตลาดซื้อขายผู้เล่นผันผวนเกินไปกว่านี้
ทำไมทีมสิงโตน้ำเงินครามถึงใช้กลยุทธ์เซ็นสัญญานักเตะใหม่ด้วยระยะเวลานานกว่าสโมสรอื่น ๆ ทั้งยังเป็นการเซ็นในรูปแบบนี้ติดต่อกันมาหลายคนแล้ว และในอนาคตจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับประเด็นนี้บ้าง มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันที่ Main Stand
มาด้วยแนวคิดแบบอเมริกัน
จากเหตุการณ์ที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนตั้งแต่ต้นปี 2022 ทำให้ โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรเชลซีคนก่อนหน้าและเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของรัสเซีย ถูกทางการสหราชอาณาจักรตัดสินใจคว่ำบาตรและสั่งห้ามเดินทางเข้าประเทศ จนจำเป็นจะต้องก้าวลงจากตำแหน่ง เกิดเป็นภาวะสุญญากาศภายในทีมสิงห์บลูส์อยู่ช่วงหนึ่ง
กระทั่งทัพสิงโตน้ำเงินครามมาได้กลุ่มเจ้าของสโมสรรายใหม่ นำโดย ท็อดด์ โบห์ลี มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ และนั่นทำให้เชลซีเกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนงานบริหารมาจากยุคของอบราโมวิช
เชลซียุคโบห์ลีเกิดการเปลี่ยนถ่ายทีมบริหารคนสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บรูซ บัค ประธานสโมสร ผู้ซึ่งอยู่กับทีมมาตั้งแต่ปี 2003 หรือยุคแรกที่อบราโมวิชเข้ามาเป็นเจ้าของ, มาริน่า กรานอฟสกาย่า ผู้อำนวยการสโมสร ซึ่งอยู่กับทีมมาตั้งแต่ปี 2013 และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการดีลนักเตะดังหลายคน
ไปจนถึง ปีเตอร์ เช็ก ตำนานนักเตะที่อยู่กับทีมมาเกินทศวรรษและรู้จักสโมสรไม่น้อยไปกว่าใคร ซึ่งรับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเทคนิคและประสิทธิภาพของทีม
หากไม่นับ แกรห์ม พอตเตอร์ รวมถึงสตาฟคนคุ้นเคยกับเฮดโค้ชชาวอังกฤษ ที่เชลซียุคเศรษฐีมะกันดึงเข้ามาทำหน้าที่เฮดโค้ชแทน โธมัส ทูเคิ่ล แล้วนั้น
ในส่วนงานบริหารอื่น ๆ สโมสรยังเสริมเติมแต่งหาผู้ที่เหมาะสมกับฝ่ายต่าง ๆ ที่สโมสรยังขาดเพื่อก้าวสู่ยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ลอเรนซ์ สจวร์ต ที่ย้ายจากการเป็นผู้อำนวยการด้านเทคนิคของ อาแอส โมนาโก มาทำงานให้เชลซีในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค, โจ ชิลด์ส ที่มีประสบการณ์ด้านแมวมองและอคาเดมีมาจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการร่วมฝ่ายสรรหาและบุคลากร
พอล วินสแตนลี่ย์ ซึ่งเคยร่วมงานกับพอตเตอร์ที่ไบรท์ตัน เข้ามาเป็นผู้อำนวยการแผนกจัดหาแข้งพรสวรรค์ระดับสากลและการซื้อขาย รวมถึง คริสโตเฟอร์ วีเวลล์ ที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของสโมสร ตำแหน่งเดิมกับที่เขาเคยทำกับ แอร์เบ ไลป์ซิก
โดยตอนนี้เหลือตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาสโมสรที่ยังมองหาคนที่เหมาะสมอยู่ ซึ่งคนที่ทำหน้าที่รักษาการณ์ในเวลานี้ก็คือ ท็อดด์ โบห์ลี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีประสบการณ์ในการทำทีมกีฬามาก่อน จากการเป็นหนึ่งในเจ้าของร่วมสโมสรเบสบอล แอลเอ ด็อดเจอร์ส โดยถือหุ้นทำทีมเบสบอลดังของเมืองลอสแอนเจลิสอยู่ที่ 20%
ทำให้การบริหารจัดการของสโมสรกลายเป็นการผนึกกำลังของเหล่าคนฟุตบอลมากประสบการณ์ บวกกับวิธีคิดและแนวทางการทำทีมแบบ "อเมริกันสไตล์" ซึ่งได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการฟุตบอลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องการซื้อตัวผู้เล่นด้วยสัญญา "ระยะยาว"
"สัญญาระยะยาวกลายเป็นเรื่องปกติมากในเมเจอร์ลีกเบสบอล และถ้าถามว่าความคล้ายคลึงกันกับกีฬาอเมริกันมีอิทธิพลต่อโบห์ลีและกลุ่มทุน Clearlake Capital (ถือหุ้นใหญ่สโมสร) หรือไม่ ? มันเป็นเช่นนั้นแน่นอน" แดน เชลดอน นักข่าวจาก The Athletic เผยผ่านบทความ Chelsea's long contracts: The risks and rewards of a policy influenced by baseball
โดยเฉลี่ยแล้วสัญญาที่ทีมเบสบอลมอบให้กับนักกีฬาจะมีระยะเวลายาวนานกว่าวงการฟุตบอล ยิ่งช่วงไม่กี่ปีมานี้ผู้เล่นคนสำคัญจากแต่ละทีมมักจะได้รับการเสนอสัญญาแบบ 10 ปีหรือมากกว่านั้น
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็เพราะช่วงอายุของนักเบสบอลอาชีพด้วย หลายคนแม้จะวัยขึ้นหลักสี่แต่ก็ยังเล่นได้อยู่ ส่วนเรื่องค่าเหนื่อยต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างกัน อาจจะมีลดหลั่นลงไปตามช่วงวัยและอายุของสัญญา ทว่ามีออปชั่นพิเศษอื่น ๆ
ในขณะที่วงการลูกหนังมีนักเตะไม่น้อยที่เลือกแขวนสตั๊ดตั้งแต่อายุขึ้นหลักสาม
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ลองมองมาดูกันที่สัญญาของนักเบสบอลบางส่วนของแอลเอ ด็อดเจอร์ส เช่น มูกี้ เบตส์ (Mookie Betts) ผู้เล่นเอาต์ฟิลด์ฝั่งขวา ที่ย้ายจาก บอสตัน เรด ซอก มายัง ด็อดเจอร์ส ในปี 2020 ด้วยสัญญาระยะยาวถึง 12 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 365 ล้านเหรียญสหรัฐ แถมยังมีโบนัสค่าเซ็นเพิ่มอีก 65 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
เบตส์มีอายุ 30 ปีในตอนนี้ นั่นหมายความว่าอายุสัญญา 12 ปีของเขาจะทำให้เขาอยู่วาดลวดลายที่ด็อดเจอร์สไปจนถึงอายุ 40 ปี พร้อมรับรายได้มหาศาล ต่อให้ลดลงตามอายุแต่ก็ยังเป็นมูลค่าที่สูงอยู่ดี ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเลขสัญญาที่ปรากฏ คือตัวเลขสูงสุดที่จะจ่าย นั่นหมายความว่าในความเป็นจริง ทีมอาจจ่ายเงต่ำกว่านี้ หากบางเงื่อนไขในสัญญาไม่สามารถทำได้จริง
ด้วยเหตุนี้โบห์ลีพร้อมกลุ่มเจ้าของร่วมจึงนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้กับทีมสิงโตน้ำเงินครามไปด้วย
แทนที่จะเซ็นนักเตะซูเปอร์สตาร์วัยพีกไปจนถึงวัยเก๋าด้วยเม็ดเงินมหาศาลในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี เชลซียุคนี้เลือกมุ่งความสนใจไปยังการดึงเหล่าสตาร์อายุน้อยมากกว่า
นำมาซึ่งการดึงดาวโรจน์อนาคตไกลหลายคนมาเสริมแกร่งด้วยอายุสัญญาที่เกิน 5 ปี พร้อมความแยบยลในการจัดแจงค่าเฉลี่ยของค่าเหนื่อยนักเตะผูกโยงกับสัญญาที่เซ็นไว้
จนถึงขั้นที่ว่าเป็นเรื่องใหม่ในวงการฟุตบอลเลยทีเดียว
สบช่องโหว่ของกฎกีฬาลูกหนัง
หากย้อนไปตั้งแต่ยุคที่ โรมัน อบราโมวิช เป็นเจ้าของสโมสร เชลซีเป็นทีมหนึ่งที่ท้าทายกฎเกณฑ์ของสหพันธ์ลูกหนังอยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายตัวผู้เล่น
ในยุคมหาเศรษฐีแดนหมีขาวเราจะเห็นว่า เดอะ บลูส์ เป็นทีมที่พร้อมทุ่มเงินคว้าซูเปอร์สตาร์มาเสริมแกร่ง กอปรกับการคว้าดาวรุ่งจากทั่วมุมโลกมาบ่มเพาะรอวันเติบใหญ่ และเลือกปล่อยออกไปเก็บประสบการณ์ในลีกต่าง ๆ ทั้งระดับล่างของอังกฤษและลีกอื่นในยุโรป หากคนใดแววดีก็จะถูกดึงกลับมาสู่ทีมชุดใหญ่
แต่หากใครยังไม่พร้อมก็จะยังถูกปล่อยตัวออกไปในรูปแบบการยืม เช่นเดียวกับนักเตะระดับบิ๊กเนมที่ใครไม่เหมาะกับทีมก็จะถูกปล่อยออกไปด้วยสัญญายืมเช่นกัน โดยสโมสรจะคอยขยายสัญญาอยู่เรื่อย ๆ ไปด้วย
ทำให้ถ้ามานับขุมกำลังนักเตะที่มีสัญญากับสโมสรรวมถึงการนับดาวรุ่งที่โดนปล่อยยืมด้วย เราจะเห็นถึงขนาดทีมที่ใหญ่มาก ๆ
อย่างในฤดูกาล 2021-22 หรือฤดูกาลสุดท้ายที่อบราโมวิชเป็นเจ้าของทีม สิงห์บลูส์มีจำนวนผู้เล่นที่ปล่อยให้ทีมอื่นยืมตัวไปใช้งานถึง 21 คน โดยมีถึง 8 คนที่ถูกยืมตัวโดยสโมสรในต่างแดน
เรื่องนี้กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ช่วงต้นปี 2022 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ออกกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการขอยืมและปล่อยยืมนักเตะทุกสโมสรทั่วโลก พร้อมวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักเตะเยาวชน ส่งเสริมสมดุลการแข่งขัน และป้องกันการกักตุนผู้เล่น
จึงทำให้เชลซีกลายเป็นทีมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดทีมหนึ่ง เพราะไปอาศัยประโยชน์จากช่องโหว่ที่ไม่เคยมีองค์กรใดกำหนดเกณฑ์เรื่องการซื้อผู้เล่นแล้วปล่อยยืมยาวนานขนาดนี้มาก่อน
กลับมาที่เชลซียุค ท็อดด์ โบห์ลี ที่มีการคว้าตัวนักเตะด้วยราคาสูง ซึ่งทำมาตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์ 2022 จนมาถึงตลาดซื้อขายเดือนมกราคม 2023 รวม ๆ แล้วเชลซีคว้านักเตะใหม่เข้ามาแล้ว 16 คนด้วยกัน คิดเป็นเม็ดเงินมหาศาลถึง 490 ล้านยูโร หรือเป็นเงินไทยสูงถึง 17,500 ล้านบาท
ไฮไลท์ของการเสริมขุมกำลังคราวนี้เป็นการมอบสัญญาระยะยาวให้เกือบทุกคน ไม่ว่าจะเป็น มาร์ก คูคูเรญ่า (6 ปี), เวสลี่ย์ โฟฟาน่า (6 ปี), เชซาเร่ คาซาเด (6 ปี), ดาวิด ดาโทร โฟฟาน่า (7.5 ปี), เบอนัวต์ บาเดียชิลล์ (7.5 ปี), มิไคโล มูดริค (8.5 ปี) รวมถึงนักเตะใหม่แกะกล่องอย่าง มาโล กุสโต้ (7.5 ปี)
จริงอยู่ที่ในอดีตเคยมีเคสการมอบสัญญา "ระยะยาว" ให้ผู้เล่นมาก่อน อย่าง อาร์เซนอล ที่เคยมอบสัญญา 8 ปีให้ เชส ฟาเบรกาส เมื่อปี 2006 หรืออย่าง ลิโอเนล เมสซี่ ก็เคยได้สัญญายาว 9 ปี สมัยขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของบาร์เซโลน่าหนแรก ในปี 2005
แต่เราจะเห็นว่าเหล่าสโมสรน้อยใหญ่ร่วมยุโรปไม่ค่อยจะมอบสัญญายาวขนาดนี้กันบ่อย ๆ
คำถามต่อมาคือในเมื่อที่เชลซีเซ็นนักเตะด้วยระยะเวลายาวในตอนนี้ถือเป็นการ "ละเมิด" กฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ (FFP) ของทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้สโมสรใช้จ่ายเงินเกินตัวหรือไม่ ?
คำตอบคือ ไม่! เพราะไม่เคยมีกฎในลักษณะนี้เกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้มาก่อน แถมกฎ FFP ก็ไม่ได้ให้แต่ละสโมสรลงบัญชีนักเตะแบบ "ตู้ม" เดียว โดยสามารถแบ่งบัญชีเป็นรายปีไปได้
ขณะเดียวกันทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ตลอดจนฝ่ายจัดพรีเมียร์ลีกก็ไม่ได้มีกฎควบคุมระยะเวลาของสัญญาผู้เล่น ทำให้แนวทางเซ็นสัญญายาวที่โบห์ลีและทีมงานใช้เป็นการอาศัย "ช่องโหว่" ตรงนี้มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทีม
โดยการเซ็นสัญญานักเตะระยะยาวเป็นแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางบัญชีแบบรายปีให้มันน้อยลง ช่วยคุมรายจ่ายให้อยู่ในงบดุลได้ ทั้งยังเป็นการกระจายค่าใช้จ่ายในระยะเวลาที่นานขึ้นด้วย
เรียกว่าเป็นค่าตัดจำหน่าย (amortisation) คือยิ่งเซ็นสัญญานานขึ้นเท่าไรการชำระเงินรายปีก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น
ตัวอย่าง มิไคโล มูดริค กับค่าตัวที่สื่อคาดการณ์รวมที่ 100 ล้านยูโร หรือราว 88 ล้านปอนด์ ตามที่ คีแรน แม็กไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎการเงินฟุตบอลได้ลองคำนวณมูลค่าสัญญาของมูดริคก็จะพบว่าในบัญชีแต่ละรอบปีสิงห์บลูส์จะแบ่งจ่ายเงินสำหรับปีกยูเครนที่มีสัญญา 8 ปีครึ่งแค่หลัก 10 ล้านปอนด์เท่านั้น
ผลที่ (อาจจะ) เกิดขึ้นในอนาคต
กลยุทธ์การซื้อขายสไตล์โบห์ลีทำให้เกิดข่าวใหญ่ว่ายูฟ่ามีความคิดที่จะปรับกฎการเงินแบบใหม่เพื่อไม่ให้เชลซีรวมถึงสโมสรอื่นที่มีแนวคิดในการซื้อขายตัวผู้เล่นลักษณะนี้ได้อีก
และที่สำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดซื้อขายตัวผู้เล่นเกิดความยุ่งเหยิงและวุ่นวายในอนาคต
ข่าวระบุว่ายูฟ่ามีแผนปรับกฎการเงินเสียใหม่ โดยให้แต่ละสโมสรสามารถแบ่งจ่ายค่าตัวนักเตะได้ไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น และอาจมีผลบังคับใช้ในช่วงตลาดซื้อขายตัวผู้เล่นรอบซัมเมอร์ 2023 นี้เลย แต่จะไม่เอาความเชลซีย้อนหลัง
เพราะในช่วงเวลาที่เดอะ บลูส์ ดำเนินการซื้อขายลักษณะนี้ยังไม่มีกฎดังกล่าวขึ้นมาบังคับใช้
หากกรณีนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้เชลซีอาจต้องคิดหาทางปรับเพื่อให้เข้ากับแนวทาง โดยเฉพาะการดึงนักเตะมูลค่าสูงมาเสริมทัพ แล้วให้สัญญายาวอย่างที่ทำมาตั้งแต่ซัมเมอร์ 2022 เพราะมันจะมีผลในตลาดซื้อขายผู้เล่นรอบหน้าทันที และระยะเวลากระจายรายจ่ายในบัญชีแบบรายปีถูกลดลงเหลือแค่ 5 ปีแล้ว
รวมถึงหากนักเตะคนใดคนหนึ่งเกิดบาดเจ็บยาว ปรับตัวไม่ได้ หรือเล่นแล้วฟอร์มไม่ปังจนขายต่อไม่ออก ประเด็นเหล่านี้ก็เสมือนเป็นความเสี่ยงส่วนหนึ่งที่ต้องคอยหาทางรับมือไว้ด้วย
อย่างไรเสีย นี่ยังเป็นแค่ข่าวที่รายงานออกมา ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ นั่นทำให้ช่วงเวลาที่เหลือของตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคม 2023 นี้ เชลซียังคงเดินหน้าทำตามแนวทางของตัวเองได้ต่อไป
แต่ต่อให้มีการออกกฎคุมเข้มเกิดขึ้นในอนาคต เชื่อเหลือเกินว่าการซื้อขายแบบอเมริกันสไตล์ของสิงห์บลูส์ยุคใหม่น่าจะมีมุมที่ฮือฮาและน่าสนใจมาปรับใช้เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ตอนนั้นได้เป็นแน่แท้
แหล่งอ้างอิง
https://theathletic.com/4097587/2023/01/19/chelseas-long-contracts-explained-baseball/
https://www.standard.co.uk/sport/football/chelsea-fc-contracts-uefa-financial-fair-play-rules-b1055212.html
https://www.football.london/chelsea-fc/transfer-news/todd-boehly-premier-league-chelsea-26078764
https://www.chelseafc.com/th/news/article/consortium-led-by-todd-boehly-and-clearlake-capital-completes-ac
https://youtu.be/_k3n5o8sqek
https://en.wikipedia.org/wiki/Mookie_Betts
https://thestoriest.com/sports/249490.html
https://www.thetimes.co.uk/article/chelseas-long-term-deals-prompt-uefa-to-set-five-year-limit-x8r3x63j3?fbclid=IwAR2oxpG5bgAjwxffJroKcSb3cRfLBY6YTAMILy__rWRtPGLRiV-ybrVY0i8