เป็นที่แน่นอนว่าหากกล่าวถึงทีมชาติบราซิล สิ่งที่จะต้องนึกถึงเป็นของคู่กันกับลีลามนต์เพลงแข้งสไตล์แซมบ้าที่บรรเลงในสนาม นั่นก็คือ "คานารินโญ" (Canarinho) หรือก็คือชุดแข่งขัน "สีเหลืองขลิบเขียว" ที่ติดตาแฟนบอลมาช้านาน
แต่ที่จริงแล้ว แรกเริ่มเดิมทีพลพรรค "เซเลเซา" (Seleção) กลับไม่ได้ใช้ชุดสีดังกล่าว หากแต่ใช้ชุดแข่ง "สีขาวขลิบฟ้า" เป็นสีหลักมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งทีมชาติ
กระนั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไปสักพักทีมก็ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้สีแบบที่เห็นในปัจจุบัน นั่นเพราะได้เกิดเหตุการณ์ "อาถรรพ์" ต่าง ๆ นานา จนผู้หลักผู้ใหญ่ นักเตะ สตาฟ ตลอดจนแฟนบอลมีความเชื่อว่าสีขาวขลิบฟ้านั้นเป็น "อาภรณ์ต้องสาป" ของบราซิล
เกิดอะไรขึ้น ? เหตุใดเพียงแค่เรื่องสีเสื้อจึงลุกลามเป็นประเด็นให้ทีมชาติบราซิลต้องเปลี่ยนแปลงขนาดนั้นไปได้ ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
แรก ๆ ก็ยังดี แต่ดูอีกทีชักทะแม่ง
สาเหตุที่ทีมชาติบราซิลใช้ชุดแข่งสีขาวขลิบฟ้าเป็นเพราะแมตช์แรกที่มีการจดบันทึกสถิติ และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทีมชาติเป็นการปะทะกันระหว่าง ทีมรวมนักเตะจากรัฐเซา เปาโล และ ริโอ เดอ จาเนโร กับสโมสร เอ็กเซเตอร์ ซิตี้ ในปี 1914 โดยทีมรวมดาราจากสองรัฐนั้นได้ใส่ชุด "ขาวล้วน" ลงทำการแข่งขัน
นั่นจึงทำให้ในแมตช์การแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรก (นับโดยฟีฟ่า) พลพรรคเซเลเซาจึงทำการนำชุดขาวล้วนมาใช้เป็นชุดหลักของทีมเสียเลย แต่ก็ดันประเดิมไม่สวยโดยพลาดท่าแพ้ให้กับ อาร์เจนตินา คู่อริตลอดกาลไปยับเยิน 3-0
ต่อมาจากเดิมที่เป็นชุดขาวล้วนก็ได้มีการปรับและเติมลูกเล่นไปยังส่วนอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มใช้ถุงเท้าสีดำ พร้อมกับเติม "แถบฟ้า" และ "ขลิบเหลือง" ลงไปในส่วนบนของถุงเท้า โดยชุดรูปแบบนี้บราซิลใส่แล้วสามารถคว้าแชมป์ เซาท์ อเมริกัน แชมเปี้ยนชิพ (South American Championship) หรือก็คือ โคปา อเมริกา (Copa América) ไปได้ถึง 2 สมัยในปี 1919 และ 1922
ก่อนที่ชุดแข่งขันจะได้รับการปรับแต่งอีกครั้งโดยการเติมสีฟ้าลงไปยัง "คอปก" พร้อมทั้งยังใช้กางเกงสีฟ้าและถุงเท้าสีดำ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มใช้ชุดแข่งขันลักษณะนี้ในปีใด หากแต่ได้ใช้อวดโฉมในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 ที่อุรุกวัยอย่างแน่นอน
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของประเด็นอาถรรพ์นี้
ด้วยการจัดแข่งขันบนดินแดนละตินอเมริกา บราซิลย่อมมีความได้เปรียบไม่ต่างจาก อาร์เจนตินา และ อุรุกวัย เจ้าภาพ ในแง่ของสภาพอากาศ ความคุ้นเคย และความรู้เหลี่ยมละตินด้วยกันดี ถึงอย่างไรสามทีมนี้ก็เป็นทีมเต็งระดับบิ๊กเนมของทวีปทั้งนั้น
หากแต่เมื่อลงสนามจริง ๆ บราซิลกลับตกรอบแรกไปแบบหน้าตาเฉย ถึงแม้จะชนะ โบลิเวีย ทีมระดับกลางค่อนท้ายของทวีป หากแต่ไปพลาดท่าแพ้ ยูโกสลาเวีย ทีมรับเชิญระดับกลาง ๆ ของยุโรปไปแบบพลิกล็อก สร้างความตกตะลึงให้แฟนบอลไม่น้อย
แต่นั่นอาจจะเป็นอุบัติเหตุทางฟุตบอล เพราะกีฬาชนิดนี้ ลูกกลมๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ หากแต่อีก 4 ปีต่อมาในฟุตบอลโลก 1934 ที่อิตาลี บราซิลก็ทำงามหน้าอีกครั้งด้วยการแพ้ สเปน ไป 1-3 ตกรอบแรกสองครั้งซ้อน ซึ่งครั้งนี้บราซิลได้รับเชิญไปแข่งขันในฐานะตัวแทนจากละตินอเมริกาเพียงหนึ่งเดียวเสียด้วย ยิ่งทวีความอับอายขึ้นอีกหลายเท่าตัว
และยิ่งเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะหลังจากนั้น 3 ปีบราซิลก็สามารถกลับมาทำผลงานได้ดี เข้าชิงชนะเลิศ โคปา อเมริกา 1937 เพื่อไล่ล่าแชมป์สมัยที่ 3 ซึ่งได้ลุ้นถึงขนาดที่ว่าทำแต้มและสถิติต่างๆ ได้เท่ากันกับอาร์เจนตินา (แข่งแบบพบกันหมด) จนต้องจัดแมตช์เพลย์ออฟหาแชมป์และยื้อกันไปกันมา จนสุดท้ายบราซิลก็ไปพลาดท่า โดนรัว 2 ประตูรวดช่วงต่อเวลาพิเศษ อดแชมป์ไปแบบเหวอทั้งสนาม
กลิ่นอายทะแม่ง ๆ ว่าการใส่ชุดสีขาวแล้วจะเกิดความฉิบหายแก่ทีมชาติค่อย ๆ เริ่มก่อตัวในใจแฟนบอลขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
ด้วยการเกิดเหตุแพ้ซ้ำซาก ถึงขนาดที่ทำให้ เกทูลิโอ วาร์กาส (Getúlio Vargas) ผู้นำจอมเผด็จการแห่งบราซิล ต้องลงมาล้วงลูกสมาคม ให้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางของทีมชาติเสียใหม่ โดยทำการปรับปรุงตั้งแต่รากฐาน อนุมัติงบประมาณสำหรับสร้างสนามซ้อม เครื่องมือฝึกซ้อม พื้นสนาม และสรรหาเม็ดเงินมาเพื่อทำการอัดฉีดให้อย่างงาม รวมถึงเปิดกว้างทางเผ่าพันธุ์ให้นักเตะผิวดำเข้ามาติดทีมชาติมากขึ้น
ผลลัพธ์ที่ตามมาจึงเป็นที่น่าพอใจจากการไปไกลถึงอันดับที่ 3 ในฟุตบอลโลก 1938 ชนิดไล่ปราบทีมชาติสุดแกร่งจากยุโรป ทั้ง โปแลนด์ เช็กโกสโลวาเกีย และ สวีเดน ไปด้วยสกอร์สูงล้วน ๆ
จากผลงานสุดสะเด่าในฟุตบอลโลก รวมถึงหลังจากนั้นเหตุการณ์โลกก็เข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ฟุตบอลต้องหยุดโม่แข้งไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องอาถรรพ์ชุดขาวจึงค่อย ๆ เลือนหายไป
หากแต่เมื่อไฟสงครามมอดดับลง อาถรรพ์ที่เงียบหายไปนานก็ได้กลับมาสำแดงเดชอีกครั้ง ชนิดที่มาเป็นพายุเฮอร์ริเคนเสียด้วย
ความอัปยศแห่งมาราคานาพาเปลี่ยนสี
ทวีปอเมริกาใต้ไม่เหมือนทวีปอื่น ๆ ที่กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักไป ฟุตบอลแถบละตินยังคงแข่งขันกันต่อได้เรื่อย ๆ เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามอะไรมากมาย
หากแต่ในความเป็นจริงเมื่อทั่วโลกยังคงระส่ำระสายและลูกปืนพร้อมพุ่งออกจากรังเพลิงทุกเวลา ขีปนาวุธ และระเบิดนิวเคลียร์พร้อมร่วงใส่หัวทุกเมื่อ ประชาชนในละตินต่างต้องมีความเป็นกังวัลรักตัวกลัวตายแน่นอน ไม่ว่าขณะนั้นจะสงบเพียงใดก็ต้องมีแอบหวั่นใจอย่างมาก
ดังนั้นฟุตบอลที่แข่งขันในช่วงเวลาระหว่างสงครามจึงเป็นเหมือนการเตะฆ่าเวลาและอยู่นอกสายตาของคนดูไปเสียมาก ใครจะได้แชมป์หรือทำผลงานสุดบู่เพียงใดก็ไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากันกับช่วงก่อนหน้า
ต่อมาเมื่อโลกสงบฟุตบอลที่กลับมาเตะแบบเต็มคาราเบลอีกครั้งจึงเป็นที่จับตามองจากแฟนบอลมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในโคปา อเมริกา 1949 ที่บราซิลรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ ความคาดหวังของแฟนบอลจึงมีสูงมาก เป็นผลพวงมาจากฟุตบอลโลกคราก่อน รวมถึงมาการความอัดอั้นที่ไม่ได้ชมการแข่งขันมานาน
และแน่นอนว่าพลพรรคเซเลเซาไม่ทำให้แฟน ๆ ผิดหวัง ในรอบเพลย์ออฟหาแชมป์ ทีมได้ไล่ถลุง ปารากวัย ไปแบบเอนเตอร์เทนแฟนบอลไปแบบท่วมท้นถึง 7-0 พร้อมทำสถิติยิงได้ถึง 39 ประตูในทัวร์นาเมนต์
เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องอาถรรพ์ที่เคยวิตกกันมาแต่ปางก่อนก็ได้ทยอยคลี่คลายลงไป ฟอร์มระดับพระกาฬขนาดนี้อาถรรพ์ก็อาจจะโดนระเบิดกระจุยและจบไปพร้อมกับสงครามเรียบร้อยแล้ว
แต่หารู้ไม่ว่าอีกไม่ถึงปีต่อมาความคิดดังกล่าวจะกลับมาอีกครั้ง และคราวนี้มาแบบพายุห่าใหญ่และอยู่ยงคงกระพันไปยาว ๆ
อีกหนึ่งปีให้หลัง บราซิลได้รับเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 1950 ซึ่งเป็นการหวนกลับมาจัดที่ละตินอเมริกาอีกครั้งในรอบ 20 ปี ทางการบราซิลจึงหมายมั่นปั้นมือที่จะทำให้ทีมชาติของตนนั้นคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกในบ้านเกิด และแน่นอนไม่เพียงแต่รัฐบาล บรรดาแฟนบอลและประชาชนต่างก็คาดหวังให้พลพรรคเซเลเซาคว้าความสำเร็จนี้ให้ได้
แต่คราวเคราะห์นั้นไม่เลือกเวลาเกิด บราซิลที่โชว์ผลงานได้อย่างโดดเด่นไม่แพ้ใครเลย แถมยิงคู่ต่อสู้เป็นว่าเล่น กลับมาพลาดท่าในแมตช์ชี้ชะตาแชมป์อย่างเหลือเชื่อ ทั้งที่ออกนำ อุรุกวัย ไปก่อน แต่ก็มาโดน 2 ประตูชนิดผีจับยัด แพ้ไปในที่สุด 1-2 ส่งแชมป์โลกสมัยที่สองให้กับอุรุกวัย เพื่อนบ้านตัวฉกาจไปแบบชอกช้ำทั้งประเทศ ต่อมาเหตุการณ์สุดขมขื่นของบราซิลครั้งนั้นได้รับการขนานนามว่า "มาราคานาโซ" (Maracanaço) หรือแปลได้ว่า "ความอัปยศแห่งมาราคานา" (Tragedy of Maracanã) เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้กระแสอาภรณ์สีขาวขลิบฟ้าต้องสาปนั้นกลับมาอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้รุนแรงขึ้นกว่าเดิมเป็นร้อยเท่าพันเท่า เพราะความผิดหวังจากมาราคานาโซทำให้พวกเขาย้อนนึกไปถึงความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่บราซิลต้องประสบพบเจอมาในแต่ละทัวร์นาเมนต์ในรอบสิบถึงยี่สิบปีหลัง
และยิ่งตอกย้ำไปอีกขั้นเหมือนเป็นการสาดน้ำมันลงบนเตาถ่าน จากการที่บราซิลชวดแชมป์โคปา อเมริกา 1953 โดยแพ้ให้กับ ปารากวัย อดีตทีมรองบ่อนที่เคยปราชัยยับแก่บราซิลในรอบชิงชนะเลิศโคปา อเมริกา ครั้งก่อน ไป 2-3 แบบเหลือเชื่อ
ดังนั้นหลายฝ่ายจึงลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่มันชุดแข่งขันแห่งความอัปยศชัดๆ เพราะเมื่อใส่ทีไรทีมชาติเป็นอันต้องพบเจอแต่เหตุการณ์แย่ ๆ ทุกครั้งไป คงถึงเวลาที่จะต้อง "เปลี่ยนใหม่" เสียที
ปรับให้สะท้อนความเป็นชาติ
ณ ตอนนั้น หลายฝ่ายต่างพยายามค้นหาเหตุผลกันว่าเหตุใดเรื่องอาถรรพ์นี้จึงเกิดขึ้น และส่วนใหญ่ก็ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นเพราะชุดสีขาวขลิบฟ้านั้น "ไม่ได้สะท้อน" ความเป็นอัตลักษณ์ของบราซิลใด ๆ เลย
นั่นเพราะหากพิจารณาไปที่ "ธงชาติ" ของประเทศนับตั้งแต่อดีตจะพบว่า สีหลักที่ใช้ประกอบสร้างจะเป็น "สีเขียวและสีเหลือง" บนธงมาตลอด โดยสีเขียวนั้นเป็นภาพแทนของ "ราชวงศ์บรากานซา (House of Braganza)" และ "พระเจ้าเปโดรที่ 1" จากโปรตุเกส ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาปกครองดินแดนบราซิลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ส่วนสีเหลืองมาจาก "ราชวงศ์ฮาบซบูร์ก (House of Habsburg)" และ "พระนางมาเรีย เลโอโปลดินา (Maria Leopoldina)" พระชายาของท่าน
รวมถึงการใช้สีขาวและสีฟ้ายังเป็นการเลือกใช้สีเสื้อให้เหมือนกันกับ อาร์เจนตินา และ อุรุกวัย คู่ปรับตลอดกาลของบราซิลไปเสียอย่างนั้น (แม้ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม) ดังนั้นการหันกลับมาพิจารณาว่าสิ่งที่จะสะท้อนอัตลักษณ์ชาติของบราซิลได้มากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการใช้ชุดแข่งที่มีสีเขียวและเหลืองเป็นสีหลัก เพราะมันอาจจะลบล้างอาถรรพ์ตรงจุดนี้ได้
ในปี 1953 หนังสือพิมพ์ Correio da Manhã ก็ได้ลงข่าวว่าทางการจะให้มีการจัดประกวดออกแบบเสื้อแข่งขันฟุตบอลแบบใหม่ของทีมชาติสำหรับประชนทั่วไป โดยกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องใช้สองสีหลักจากธงชาติเท่านั้นในการออกแบบ เพื่อสื่อถึงความเป็นบราซิล
และในที่สุดสมาคมฟุตบอลบราซิลก็ได้ตัดสินให้แบบเสื้อของ อาดีร์ การ์เซีย ชลี (Aldyr Garcia Schlee) ที่ชื่อว่า คามิซา คานารินโญ (Camisa Canarinho) ได้รับชัยชนะไป โดยความพิเศษในเสื้อของชลีคือการเลือกที่จะนำสีเหลืองขึ้นมาเป็นหลัก และใช้สีเขียวเป็นขลิบที่คอกลม (หรือคอปก) แทน ซึ่งถือว่าลงตัวเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นเขายังได้นำสีขาวและสีฟ้าที่เป็นส่วนประกอบของชุดแข่งขันเดิม และเป็นสีที่ปรากฏในธงชาติบราซิลส่วนใน (ที่เป็นวงกลมสีฟ้าและดาวเล็ก ๆ สีขาว) มาใช้เป็นสีกางเกงและถุงเท้าอีกด้วย
การออกแบบเสื้อทีมชาติครั้งนี้มีความยากระดับสูงมาก ขนาดเจ้าตัวยังบ่นอุบว่า "ผมเหวอเลยตอนได้รับบรีฟมาว่าทำอย่างไรก็ได้ให้สีทั้ง 4 บนธงชาติไปยัดอยู่ในชุดแข่งขัน 3 สียังพอไหวแต่ 4 นี่งานหินสุด ๆ ทีมห่าเหวอะไรจะใช้สีมากถึง 4 สี มองยังไงก็หาจุดลงตัวยากมาก ๆ จับคู่สีเหลืองและขาวหรือ ? ใครเขาทำกัน ให้พระเจ้ามาทำเถอะครับ! … กว่าร้อยดราฟท์ที่ผมออกแบบ ผมลองวางให้มีลายรูปตัว X หรือใช้ตัว V แบบสโมสรเวเลซ ซาฟิลด์ ก็แล้ว แต่ก็คิดได้ว่า ควรใช้เหลืองล้วน ๆ แล้วไปขลิบทีหลังดีกว่า"
แต่ชลีก็ถือว่าไม่เหนื่อยฟรี เพราะทันทีที่ได้รับการผลิตออกมาให้ทีมชาติได้สวมใส่ลงแข่งขันจริง ๆ บราซิลก็ทำผลงานได้ดีขึ้นผิดหูผิดตา ผิดกับตอนสวมชุดแข่งสีเดิมแบบลิบลับ
และหลังจากนั้นชุดเหลืองขลิบเขียวก็คือตำนาน มันกลายเป็นภาพแทนของคนทั้งชาติ รวมถึงความสำเร็จของบราซิลเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ชนิดที่ทิ้งความอัปยศของชุดขาวขลิบฟ้าไว้เบื้องหลังแบบที่ไม่เคยหันกลับมามองอีกเลย
จนกระทั่งปริมณฑลทางการเมืองนำพาให้กลับมาอยู่บนหน้าสื่ออีกครั้ง
สู่การสรรหาอีกครั้ง
อย่างที่ทราบกันว่าภายหลังจากการเถลิงอำนาจของ ชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Messias Bolsonaro) ในฐานะผู้นำประเทศ ได้เกิดความแตกแยกทางการเมืองมากมายมหาศาล โดยตัวเขานั้นเป็นพวกชาตินิยมขวาจัดที่เน้นหนักถึงเรื่องการชูประเด็น "ความเป็นบราซิล" แบบเข้าเส้น
โดยหนึ่งในกลยุทธ์ดึงคนเข้าเป็นพวกคือการที่โบลโซนาโรได้นำชุดแข่งขันเหลืองขลิบเขียวมาใช้เป็นภาพแทนของความเป็นบราซิลในแบบของเขา หรือก็คือเขาได้ "ช่วงชิง" การนิยามความหมายของตัวเสื้อให้ไปอยู่ในการควบคุมของความเป็นขวาจัดและอำนาจนิยม แม้จะบอกว่าเป็นภาพแทนของความเป็นบราซิล แต่ความเป็นบราซิลที่ว่านั้น "ไม่ใช่ของทุกคน" แต่เป็นบราซิลของโบลโซนาโรเท่านั้น
เมื่อความหมายดั้งเดิมของเสื้อที่ว่าความเป็นบราซิลนั้น "เป็นของทุกคน" ได้รับการช่วงชิงไป ในช่วงปี 2020 บรรดาฝ่ายซ้ายและฝ่ายหัวก้าวหน้าในบราซิลจึงไม่สามารถที่จะใช้เสื้อดังกล่าวในการสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองของตนได้ ดังนั้นจึงไม่มีทางเลือกที่จะต้องสรรหาชุดสีขาวขลิบฟ้ามาสวมใส่
"เราจะสวมเสื้อขาวขลิบฟ้าเพื่อเป็นสัญญะของพวกเราเองในการยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโบลโซนาโร" เจา คาร์ลอส อาซซัมเซา (João Carlos Assumpção) นักคิดฝ่ายซ้ายและแกนนำในการรณรงค์ให้ใส่ชุดขาวขลิบฟ้าเพื่อต้านแนวคิดขวาจัด ยืนกรานหนักแน่น
"เสื้อตัวนี้หายสาบสูญไปเพราะคนคิดว่ามันทำให้เกิดความอัปยศ และนี่แหละเหมาะสุด ๆ ที่เรา (ฝ่ายซ้าย) จะนำกลับมาสวมใส่อีกครั้ง"
อาซซัมเซา กล่าวเสริมเพื่อเน้นย้ำว่าหากเสื้อตัวนี้แผลงฤทธิ์ทำให้เกิดอาถรรพ์ได้จริง ๆ อาจจะดีแก่ฝ่ายซ้ายในการสวมใส่ตอนนี้ และให้บรรดาอาเพศ คำสาป และเรื่องร้าย ๆ ไปเกิดแก่ความเป็นบราซิลที่โบลโซนาโรยึดไปให้สิ้นไปเสีย และเสรีภาพจะได้กลับคืนสู่บราซิลเสียที
ซึ่งผลการเลือกตั้งทั่วไปของบราซิลประจำปี 2022 ที่ต้องเข้าคูหากาถึง 2 รอบกว่าจะรู้ผล ปรากฏว่า ลุยซ์ อินาโช ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) อดีตประธานาธิบดีระหว่างปี 2003-2010 สามารถเอาชนะโบลโซนาโรไปแบบเฉียดฉิว โดยหากไม่เกิดเหตุใด ๆ ลูลาจะก้าวเข้าทำเนียบประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ในวันที่ 1 มกราคม 2023 นี้
งานนี้ดูเหมือนอาถรรพ์ชุดขาวขลิบฟ้าจะยังคงขลังไม่เสื่อมคลาย และไม่ใช่แค่กับเรื่องฟุตบอลอย่างเดียวเสียแล้ว
แหล่งอ้างอิง
บทความ Let the Aryanists know! Brazilian race and nation in the 1938 France World Cup
บทความ Beyond the Maracanazo: the World Cup, diplomacy and the international exposure of Brazilian football in 1950
https://www.bbc.com/news/magazine-27809268
https://artsandculture.google.com/story/history-of-the-brazilian-yellow-jersey-how-the-yellow-gold-became-brazil-s-color-museu-do-futebol/DQWBCiIxN2jqKQ?hl=en
https://www.theguardian.com/world/2020/jul/07/replace-or-reclaim-progressive-brazil-divided-on-fate-of-famous-yellow-shirts
https://www.sportingnews.com/th/football/news/%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%A1-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD-%E2%80%98%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E2%80%99-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B8%81/wqgd2l5agooxr7glgivvtvbq