ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออก หากจะนึกถึงฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ระดับทีมชาติที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และจัดมาอย่างยาวนานกว่าค่อนศตวรรษ แน่นอนว่าต้องเป็น คิงส์คัพ ของประเทศไทย หรือไม่ก็ เมอร์ดากา คัพ ของประเทศมาเลเซีย
แต่กระนั้นเยื้องไปทางข้างบนแผนที่สักเล็กน้อยก็จะพบฟุตบอลทัวร์นาเมนต์อีกรายการหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้กัน นั่นคือ "โคเรีย คัพ (Korea Cup)" หรือมีชื่อในอดีตว่า " พัคส์ คัพ (Park's Cup)" หรือที่ทั่วเอเชียรู้จักในชื่อ "เพรซิเดนท์ คัพ (President Cup)" นั่นเอง
โดยการแข่งขันรายการนี้มีคุณูปการต่อวงการฟุตบอลเกาหลีใต้อย่างมหาศาล เพราะมันได้ทำให้กีฬาที่มีความสำคัญลำดับท้าย ๆ ในเกาหลีใต้มาก่อนอย่าง ฟุตบอล พลิกขึ้นมา "แมส" ได้อย่างทันตาเห็น
เรื่องราวของทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่จัดตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีจอมเผด็จการแห่งเกาหลีใต้นาม พัค จุง-ฮี นี้ มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับเรา
งานแข่งใด ๆ เป็นได้แค่แขกรับเชิญ
ที่จริงนั้นวงการฟุตบอลเกาหลีใต้เองก็ถือได้ว่าเป็นระดับแถวหน้าของเอเชียมานานนม แต่ความนิยมของกีฬาลูกหนังในประเทศกลับไม่กระเตื้องขึ้นสักที
ทั้งที่เกาหลีใต้ก็ได้ทำเรื่องพีกมาก ๆ จนสั่นสะเทือนไปทั้งเอเชีย อย่างการเข้าไปแข่งขัน โอลิมปิกฤดูร้อน ปี 1948 ที่สหราชอาณาจักร ทั้ง ๆ ที่เพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ไม่นานและสภาวะภายในประเทศยังคงเดือดปุด ๆ มีทั้งปัญหาข้าวยากหมากแพง ประชาชนยากจนข้นแค้นแสนสาหัส แต่พวกเขาก็ยังรวมใจเป็นหนึ่งกำชัยกลับประเทศมาฝากแฟนบอลได้อีกด้วย โดยเกาหลีใต้ชนะทีมแกร่งอย่าง เม็กซิโก ไป 5-3 แม้รอบต่อมาจะเจอฤทธิ์เดชของ สวีเดน สอยไป 12-0 ก็ตาม
มิหนำซ้ำ 4 ปีต่อมาภายหลังสงครามเกาหลีสงบลงไม่ถึงปี ทีมชาติเกาหลีใต้ ก็สำแดงเดชอัพไปอีกขั้นด้วยการเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 1954 แม้การชิงตั๋วเพลย์ออฟจะแข่งกับญี่ปุ่นอยู่สองทีมก็เถอะ (เพราะทีมอื่นถ้าไม่เข้าร่วมไม่ก็โดนแบน) แต่การชนะญี่ปุ่นได้ถึงถิ่นก็ถือว่าสะใจไม่น้อย
เรียกได้ว่าพลพรรคปีศาจแดงแห่งเอเชียเริ่มต้นจากเถ้าถ่านสู่การเป็นเพชรที่ถูกเจียระไนแล้วได้ในระยะเวลาอันสั้นและมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด ชนิดที่บรรดาชาติทั้งในเอเชียและทวีปอื่น ๆ ที่ประสบชะตาเดียวกันต้องอาปากค้างเลยทีเดียว
เพียงแต่ว่าชัยชนะที่เกาหลีใต้ได้รับมานั้นเป็นแบบ "คนเฮไม่ได้ดู คนดูไม่ได้เฮ" เพราะในสมัยก่อนประชาชนเกาหลีใต้ยังติดกับดักความยากจนและไม่มีเวลามากพอจะมาตอบสนองความเพลิดเพลินแก่จิตใจด้วยการไปชมกีฬาแน่นอน หรือต่อให้อยากชมก็ทำไม่ได้เพราะปากท้องสำคัญกว่าเรื่องอื่น
ประกอบกับ ซึงมัน รี (Syngman Rhee) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในตอนนั้น หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ห้ามไม่ให้ทีมชาติญี่ปุ่นเข้ามาแข่งขันในดินแดนคาบสมุทรเกาหลี (ห้ามทีมชาติญี่ปุ่นทุกชนิดกีฬา) เนื่องจากประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยหนุ่มต่อญี่ปุ่นทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมชาติ รวมไปถึงความเป็นชาตินิยมรุนแรงจัดส่วนตัวด้วย
ซึ่งการแข่งขันรอบคัดเลือกรายการต่าง ๆ ตอนนั้นก็มีแต่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นี่แหละที่พบกันแทบจะทุกครั้ง เพราะทีมอื่น ๆ มีปัญหาถอนตัวไม่ก็โดนแบนไปเสียหมด
พอแบนญี่ปุ่นจากประเทศไปแบบนี้ก็เปรียบเสมือนกับว่าการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติของเกาหลีใต้แทบจะไม่เกิดขึ้นในแผ่นดินตัวเองเลย แล้วอย่างนี้แฟนบอลเกาหลีใต้จะไปมีปัญญาชมและเชียร์ทีมรักได้อย่างไร ? เรียกได้ว่าประธานาธิบดีผู้นี้ฆ่าตัดตอนการเติบโตของฟุตบอลไปจากสังคมเกาหลีใต้แทบจะสิ้น
ดังนั้นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของทีมชาติเกาหลีใต้จึงได้มาจากการไปแข่งขันภายนอกประเทศแทบจะทั้งหมด รวมถึงในเกาหลีใต้ตอนนั้นก็มีกีฬาที่ได้รับความนิยมมากกว่าฟุตบอล ทั้ง เบสบอล และ กอล์ฟ ที่ทำให้สำหรับหลายคนถึงฟุตบอลจะไม่มีเตะในประเทศก็ไม่ถือเป็นเรื่องเสียหายเท่าไรนัก
จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อยามฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในภูมิภาคอาเซียน ช่วงคริสต์ทศวรรษ 50s-60s อย่าง เมอร์เดก้า คัพ, จาร์กาตา ทัวร์นาเมนต์ หรือแม้กระทั่ง คิงส์คัพ ทีมชาติเกาหลีใต้ไม่รีรอที่จะรับคำเชิญมาแข่งขันด้วยความยินดี เรียกได้ว่า "เป็นแขกรับเชิญ" ไปทั่วเลยทีเดียว
ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะต้องการเชื่อมความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียนด้วย "การทูตกีฬา" เพื่อจะลงหลักปักฐานด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจแบบที่ญี่ปุ่นทำได้
อีกส่วนหนึ่งก็อาจต้องการ "แมตช์ฟิต" ให้นักเตะได้ลงเล่นสม่ำเสมอ เพราะสมัยนั้นการแข่งขันรอบคัดเลือกไปฟุตบอลโลกหรือโอลิมปิกเป็นแบบแมตช์เดียวไม่ก็สองแมตช์รู้ผล จะให้มารอเป็นปี ๆ แล้วเตะทีนักฟุตบอลก็คงขาดความฟิตไปหมดแน่นอน
และส่วนสำคัญที่ต้องไปนั่นก็เพราะว่าหากอยู่ในประเทศก็ทำได้แค่ฝึกซ้อม ไม่มีฟุตบอลที่เป็นการแข่งขันแบบจริงจังให้ลงเล่น ขนาดรายการแข่งแบบชี้เป็นชี้ตายยังต้องไปแข่งที่ประเทศอื่น ดังนั้นทีมจึงต้องออกไปตะโกนหาการแข่งขันด้วยตนเองอย่างที่เห็น แล้วพอออกไปเตะก็ทำผลงานได้ดี ได้ชูถ้วยกลับบ้านมาเชยชมอยู่บ่อย ๆ เสียด้วย
แล้วอย่างนี้ฟุตบอลจะไป “แมส” ในประเทศได้อย่างไร ?
รอไม่กี่อึดใจเมื่อเกาหลีใต้เข้าสู่ทศวรรษถัดมา เพนพอยต์นี้ก็จะได้รับการขจัดทิ้งไป โดยประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะเป็นผู้ปฏิวัติวงการฟุตบอลไปจนถึงวงการกีฬาของเกาหลีใต้
สิ่งที่เฝ้าหวังมานานก็คืองานของตัวเองบ้าง
โดยเรื่องราวจุดพลิกผันนี้ต้องย้อนไปถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 1961 ที่เกาหลีใต้เกิดการรัฐประหาร นำโดยท่านนายพล พัค จุง-ฮี (Park Chung Hee) และพรรคพวก ที่ทนเห็นการฉ้อฉล โกงบ้านโกงเมืองของรัฐบาลพลเรือน ซึงมัน รี และกลุ่มนายทุนไม่ได้ กองทัพที่รักชาติบ้านเมืองยิ่งชีพจึงต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและปราบคนโกงกินให้สิ้นไป
การเมืองเกาหลียุคพัคช่วง 10 ปีแรก เน้นแก้ไขปัญหาที่เคยมีมาในยุคก่อน ๆ พร้อมทั้งสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้ทัดเทียมและไม่น้อยหน้าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ซึ่งสิ่งแรก ๆ ที่ทำคือ “การพัฒนาด้านสุขอนามัยของประชาชน” ที่เน้นหนักเป็นพิเศษ ตามสไตล์ทหาร
ประธานาธิบดีรายนี้ต้องการให้ทุกคนเป็นนักรบ ต้องแข็งแรง พร้อมออกศึกตลอดเวลา แม้ไม่ได้จับอาวุธแบบอดีต แต่การทำงานหนักโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนจึงต้องเข้ากะหามรุ่งหามค่ำที่ร่างกายจะมาอ่อนแอไม่ได้
จนนำมาสู่การออก “กฎหมายว่าด้วยการพลศึกษาและการสนับสนุนการกีฬา (Physical Education and Sports Promotion Law)” ในปี 1962 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเล่นกีฬา ทั้งจากสถานศึกษาด้านพลศึกษาโดยเฉพาะ และโดยบังคับกลาย ๆ ผ่านบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ให้สร้างทีมกีฬาอย่างน้อยหนึ่งชนิด เพื่อให้พนักงานสามารถแบ่งเวลามาเล่นกีฬายามว่าง ทั้งยังเป็นการเฟ้นหาบรรดานักกีฬาฝีไม้ลายมือฉกาจฉกรรจ์ที่อาจซ่อนตัวอยู่ในคราบหนุ่มสาวโรงงาน
สิ่งที่ได้มาก็คือนักกีฬาที่ได้รับการขัดเกลาอย่างถูกวิธี สอดรับกับยุคนั้นที่สามารถใช้กีฬาเป็นเครื่องมือประกาศศักยภาพของประเทศว่าเก่งกล้าสามารถและสู้ชาวบ้านชาวช่องได้สบาย ซึ่งนอกจากจะทำผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว กีฬาก็เป็นวิธีที่ช่วยแสดงความสามารถของประเทศได้
อีกอย่างผู้นำที่โตมากับรั้วทหารและมีความชาตินิยมจ๋า ๆ ฝังหัวแบบ พัค จุง-ฮี ย่อมรับไม่ได้หากคนในชาติไปแพ้ชาติอื่น ๆ แม้กระทั่งในการแข่งขันกีฬา และกีฬาที่ประธานาธิบดีรายนี้ยอมรับความพ่ายแพ้ไม่ได้ก็คือฟุตบอล
เพราะหลังจากไปฟุตบอลโลก 1954 และได้แชมป์เอเชียน คัพ 2 สมัย (1956 และ 1960) เกาหลีใต้ก็แทบจะไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ ในรายการเมเจอร์เลย และที่หนักสุดคือฟุตบอลชายโอลิมปิก ปี 1964 ที่ญี่ปุ่น คู่แค้นตลอดกาลเป็นเจ้าภาพ พลพรรคปีศาจแดงแห่งเอเชียไปแพ้ 3 นัดรวดในรอบแรก แถมแพ้สกอร์สูงล้วน ๆ ได้แก่ แพ้ เชโกสโลวาเกีย 1-6, แพ้ บราซิล 0-4, แพ้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 0-10
ความสำเร็จของทีมจึงมีแต่รายการฟุตบอลทัวร์นาเมนต์แถบอาเซียนเท่านั้นที่ทีมชาติเกาหลีใต้โชว์ผลงานได้ดีเหมือนเดิม ลงแข่งเมื่อไรเป็นอันได้แชมป์ตลอด ดังที่กล่าวไป
เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุค 70s ที่ทีวีเริ่มเป็นของใช้ในครัวเรือนที่หาซื้อได้ในราคาถูกแล้ว รวมถึงระบบการออกอากาศและการถ่ายทอดสดก็เริ่มมีความเสถียรมากขึ้น (แม้จะยังเป็นขาวดำ)
ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสรับชมผลงานระดับสุดยอดของทีมชาติตนเอง โดยเฉพาะ 2 รายการหลักอย่าง คิงส์คัพ และ เมอร์เดก้า คัพ และยิ่งทีมชาติฟอร์มดีก็ย่อมมีคนที่อยากติดตามมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของพัคตลอด จนเขาเริ่มมีความคิด “ดึงทีมชาติกลับมาตุภูมิ” บ้างไม่มากก็น้อย
เพียงแต่ว่าตอนนั้นสถานการณ์การเมืองเริ่มไม่แน่นอนเลยทำอะไรไม่ได้มาก เพราะประชาชนมีการประท้วงรัฐบาลจากคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจมา 10 ปี ต้องการให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจ และคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนได้แล้ว ท้ายที่สุดพัคก็ต้องยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1971
พอเลือกลงตั้งแล้วพัคจึงรู้ตัวว่าได้รับความนิยมลดลง โดยมีคะแนนเบียดกับพรรคฝ่ายค้านมาก ๆ เลยตัดสินใจประการสภาวะฉุกเฉิน ยุบสภา และเตรียมร่างรัฐธรรมนูญยูชิน (Yushin Constitution) หรือกฎหมายสูงสุดแบบตามใจฉันที่รัฐบาลมีอำนาจล้นพ้นมือ ชี้เป็นชี้ตายคนได้ และไม่มีใครมาคานอำนาจอีกต่อไป
การทำเช่นนี้อาจจะดูเลวร้ายในทางการเมืองต่อประชาชน แต่ในทางกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลถือว่าได้ประโยชน์มาก
เพราะเมื่อสบโอกาสที่เห็นว่าคนเกาหลีใต้ชอบชมการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ของแถบอาเซียนและทำให้เม็ดเงินไหลออก เช่นนั้นก็ยกสิ่งที่แฟนบอลชอบมาจัดการแข่งขันในเกาหลีใต้เองซะเลยให้รู้แล้วรู้รอดไป
ขอมีชื่อตน พิมพ์บนขวาตั๋วสักครั้ง
ด้วยเหตุนี้ในปี 1971 การแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ระดับทีมชาติจึงเกิดขึ้นบนแผ่นดินคาบสมุทรเกาหลีตอนใต้เป็นครั้งแรก โดยตอนนั้นใช้ชื่อแบบยาวเฟื้อยว่า “President Park's Cup Contest Asian Football Tournament (박대통령컵 쟁탈 아시아축구대회)” แต่ภายหลังมาย่อลงเหลือ “พัคส์ คัพ” หรือ "เพรซิเดนท์ คัพ" แบบที่หลายคนคุ้นหูกัน
ซึ่งรูปแบบการแข่งขันนี่แทบจะก๊อปปี้เพสต์รายการแข่งขันแบบ "ราวน์โรบิ้น" ที่คิงส์คัพนิยมใช้มาแบบเป๊ะ ๆ หรือก็คือ รอบแรกจะแข่งแบบแบ่งกลุ่มก่อน และคัด 4 ทีมเข้ารอบน็อกเอาต์ เรื่อยไปจนถึงรอบชิงอันดับที่ 3 และรอบชิงชนะเลิศ
แน่นอนว่าเมื่อจัดการแข่งขันครั้งแรกทั้งทีก็ต้องตอบแทนที่เคยเชิญเจ้าภาพไปแข่งบ่อย ๆ ด้วยการเชิญทีมชาติจากอาเซียนเข้าแข่งขัน ได้แก่ มาเลเซีย, เขมร (กัมพูชาในปัจจุบัน), พม่า (เมียนมาในปัจจุบัน), อินโดนีเซีย, เวียดนามใต้ (เวียดนามในปัจจุบัน) บวกกับฮ่องกง อีกชาติสุดแข็งแกร่งจากเอเชียตะวันออก
ในวันพิธีเปิด 2 พฤษภาคม 1971 พัคให้เกียรติมาเปิดงานด้วยตนเอง เขาลงไปจับไม้จับมือกับประธานสมาคมฟุตบอลแต่ละประเทศ และในวันเดียวกันนั้นในแมตช์เปิดสนามก็เป็นทีมเจ้าภาพ ปะทะกับ ทีมชาติไทย เสียด้วย โดยรูปเกมเป็นไปอย่างสูสี ผลัดกันรุกรับ มีโอกาสทำประตูพอ ๆ กัน แต่ประตูโทนของ พัค อีช็อน กองหน้าจากทีมกองทัพบกเกาหลีใต้ ทำให้ทัพปีศาจแดงแห่งเอเชียกำชัยชนะไปได้
ในสนามก็น่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันที่เรียกได้ว่าแทบจะเกินความจุกว่า 23,000 คนของ ทงแดมุน สเตเดียม (Dongdaemun Stadium) และก็ไม่แน่ว่าอาจมีผู้ชมทางบ้านผ่านการถ่ายทอดสดอีกไม่น้อย และไม่ใช่แค่แมตช์นี้ แต่เป็นทุกแมตช์ที่เกาหลีใต้ลงทำการแข่งขันก็มีจำนวนผู้ชมแน่นขนัด จนไม่แน่ใจว่าจะมีที่ให้มดเดินผ่านหรือไม่เลยทีเดียว
ตรงนี้ท่านพัคพูดได้คำเดียวเลยว่าถูกใจสิ่งนี้อย่างแน่นอน เพราะอย่างแรกแฟนบอลไม่จำเป็นต้องเฝ้าจอแก้วก็ได้ชมการแข่งขันแบบชิดติดขอบสนามในประเทศ หากมาชมเกม (หรือจะดูถ่ายทอดก็ไม่ว่ากัน) นักฟุตบอลเองก็จะมีกำลังใจ มีแรงฮึดโชว์พี่น้องชาวเกาหลีใต้ ทั้งหากจับพลัดจับผลูได้แชมป์ก็จะมีเสียงเชียร์เสียงเฮเป็นแบ็กอัพ ย่อมดีกว่าการไปรับถ้วยแห้ง ๆ ที่ประเทศอื่นแบบเห็น ๆ
และตั้งแต่จัดครั้งแรกก็เห็นผลเลย เพราะเกาหลีใต้ได้แชมป์ร่วมกับ พม่า ก่อนจะเว้นไป 2 ปีให้แชมป์ตกไปอยู่ในมือ พม่า และ เขมร จากนั้นเกาหลีใต้จึงกลับมาคว้าแชมป์รวดเดียว 3 สมัย และอีกครั้งในปี 1978 โดยมีผู้ชมให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ พร้อมแจ้งเกิดสุดยอดกองหน้าตลอดกาลของประเทศนามว่า “ชา บ็อมกึน (Cha Bumkun)”
ซึ่งหากจะบอกว่าฟุตบอลรายการชื่อยาวเป็นหางว่าวนี้ได้ทำให้ฟุตบอล “แมส” ขึ้นในเกาหลีใต้ก็อาจจะไม่ผิดนัก เพราะเมื่อเข้าสู่ยุค 80s ฟุตบอลก็ได้ไต่ระดับความนิยมเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับชมฟุตบอลต่างประเทศ โดยความนิยมของฟุตบอลเป็นรองเพียงแค่เบสบอลเท่านั้น แต่มันก็ทำให้มีคนนิยมดูฟุตบอลและเล่นฟุตบอลเพิ่มมากขึ้น
และลีกอาชีพของเกาหลีใต้ก็ถูกจัดขึ้นในปี 1983 ซึ่งเป็นแห่งที่สองของทวีปเอเชียที่มีลีกฟุตบอล (รองจากฮ่องกง) ขนาด ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ตำนานกองหน้าทีมชาติไทย ยังเคยมาค้าแข้งที่เกาหลีใต้มาแล้ว รวมถึงการได้ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอีกครั้งในปี 1986 ที่ครั้งนี้มีคนรอเชียร์มากมาย ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนมาจากกระแส พัคส์ คัพ ที่ยาวนาน
หรือแม้แต่ภาพคลื่นมนุษย์สีแดงทั้งในและนอกสนามในฟุตบอลโลกปี 2002 ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น หากพัคไม่ได้กรุยทางจัดเพรซิเดนท์ คัพ ไว้ก่อนหน้า
นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จากยุคของ พัค จุง-ฮี ที่ทิ้งมรดกเอาไว้ให้กับเกาหลีใต้ และเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้กลายมาเป็นมหาอำนาจของวงการลูกหนังเอเชียอย่างในปัจจุบัน
แหล่งอ้างอิง
วิทยานิพนธ์ Football in North and South Korea c.1910-2002 Diffusion and Development
หนังสือ The Park Chung Hee Era: The Transformation of South Korea
หนังสือ Korea’s Development Under Park Chung Hee: Rapid Industrialization, 1961-1979
หนังสือ Reassessing The Park Chung Hee Era, 1961-1979: Development, Political Thought, Democracy and Cultural Influence
หนังสือ Japan and Korea: The Political Dimension
บทความ Ideology, Politics, Power: Korean Sport-Transformation, 1945-92‘
https://contents.premium.naver.com/sclass/slab/contents/220610172555505kv
https://www.rsssf.org/tabless/skor-pres.html
https://www.youtube.com/watch?v=QaLWlLxUG3A
https://www.youtube.com/watch?v=gi5tXZcUbjk
http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2010/05/117_24160.html