Feature

เล่นไม่กี่วิ. เหมือนสร้างกระแส : มองสะท้อนผ่าน "อีธาน เอ็นวาเนรี" การส่งดาวรุ่งลงไปทำสถิติได้อะไร ? | Main Stand

"ไปโรงเรียน พรุ่งนี้เช้าหนุ่มน้อยคนนี้ต้องตื่นไปโรงเรียน" นี่คือสิ่งที่แฟนบอลอาร์เซนอลพร้อมใจกันร้องออกมาตอนที่ มิเกล อาร์เตตา เลือกส่ง อีธาน เอ็นวาเนรี ลงสนามในช่วงทดเวลาบาดเจ็บในเกมกับ เบรนท์ฟอร์ด 

 

เอ็นวาเนรี กลายเป็นนักเตะประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ลีกจากโอกาสนั้น เขากลายเป็นนักเตะที่อายุน้อยที่สุดที่ได้ลงสนามด้วยอายุ 15 ปี 181 วัน 

นี่คือเรื่องราวและเหตุผลที่ว่าทำไมเขาถึงได้รับโอกาสสุดสำคัญนี้จากอาร์เตตา ติดตามเรื่องราวของ อีธาน เอ็นวาเนรี ได้ที่นี่กับ Main Stand 

 

โอกาสในยุคใหม่ 

อาร์เซนอล เคยเป็นทีมที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้นักเตะดาวรุ่งอายุน้อย ๆ ลงสนามในเกมพรีเมียร์ลีกมาช้านาน โดยเฉพาะในยุคของ อาร์แซน เวนเกอร์ นั้นนักเตะอย่าง นิโกลาส์ อเนลก้า, เชสก์ ฟาเบรกาส, แจ็ค วิลเชียร์, อารอน แรมซีย์ และคนอื่น ๆ อีกหลายคน ถูกเอามาใช้ในเกมชุดใหญ่ "อย่างจริงจัง" ตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะอายุ 18 ปีด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในรายของเชสนั้นเป็นตัวหลักของทีมตั้งแต่อายุ 17 ปี 

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่หายไปสักพัก จนกระทั่งมาถึงช่วงเวลาที่ มิเกล อาร์เตตา ก้าวขึ้นมาเป็นกุนซือ ระบบการผลักดันนักเตะอายุน้อยก็ถูกกลับมาใช้งานอีกครั้ง บูกาโย ซากา และ กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ ถูกดันขึ้นชุดใหญ่และได้ลงเล่นในพรีเมียร์ลีกตั้งแต่อายุ 18 ปี ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและสุดท้ายพวกเขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักของทีมชุดปัจจุบันที่นำเป็นจ่าฝูงของลีกอยู่ในตอนนี้ได้ในที่สุด

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การผลักดันนักเตะอายุน้อยถือเป็นสิ่งที่อาร์เซนอลยุคอาร์เตตาตั้งใจทำเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาร์เซนอลเป็นทีมที่มีงบประมาณเสริมทัพไม่มากเท่ากับทีมระดับบิ๊กทีมอื่น ๆ ที่สำคัญคือเรื่องของค่าเหนื่อยที่พวกเขาไม่คิดจะทุ่มค่าเหนื่อยมหาศาลให้กับนักเตะคนใดคนหนึ่ง นั่นทำให้ยากที่พวกเขาจะคว้านักเตะระดับโลกที่เป็นแข้งเวิลด์คลาสแบบสำเร็จรูปมาร่วมทีม ... เมื่อทำเช่นนั้นไม่ได้พวกเขาก็ต้องใส่ใจไปที่อคาเดมีและการเลือกใช้ในสิ่งที่เหมาะและสิ่งที่มีให้มากที่สุด

จนกระทั่งมาถึงเกมที่พวกเขาชนะ เบรนท์ฟอร์ด 3-0 ที่อาร์เตตาสั่งให้ เอ็นวาเนรี ในวัย 15 ปีลงสนาม เขาให้สัมภาษณ์หลังเกมว่านี่คือสิ่งที่เขาไม่เคยลังเล หากมีโอกาสที่เหมาะสมเขาตั้งใจจะให้เอ็นวาเนรีได้สัมผัสเกมตั้งแต่ตอนที่ใส่ชื่อนักเตะรายนี้ลงมาเป็นตัวสำรองอยู่แล้ว 

"ผมชอบเด็กคนนี้มาก ผมเพิ่งได้ยินและรู้จักเขาได้ไม่นานนัก แต่ แพร์ แมร์เตซัคเกอร์ และสตาฟโค้ชของทีมชุดอคาเดมีมอบข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับเขาให้กับผมมากมาย ผมเรียกอีธานมาซ้อมกับเราสองสามครั้งแล้ว และในเกมล่าสุดก็เป็นโอกาสของเขาอีกครั้งเพราะการบาดเจ็บของ มาร์ติน โอเดการ์ด ... ตอนที่ผมใส่ชื่อเขาลงไป ผมมีความรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสดี ๆ ผมจะส่งเขาลงสนามแน่นอน และสุดท้ายผมก็ได้ทำมันจริง ๆ" อาร์เตตา กล่าว 

นี่คือการยืนยันว่าอาร์เซนอลได้กลับมาให้ความสำคัญในเรื่องของการให้โอกาสนักเตะในอคาเดมีของพวกเขาอีกครั้ง และเรื่องนี้อาร์เตตาทำมันมาสักพักแล้ว เขาเลือกใช้เด็กอย่าง ซากา, เอมิล สมิธ โรว์, เอ็ดดี้ เอ็นเคเทียห์ และ กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากลองผิดลองถูก ผ่านช่วงเวลาที่สโมสรฟอร์มไม่ดี จนกระทั่งมาเจอตำแหน่งที่ดีที่สุดของตัวเอง 

เบื้องหลังของเรื่องพวกนี้คือ อาร์เซนอลลงทุนกับอคาเดมีไปมากที่สุดในรอบหลายปี พวกเขาจ้าง แพร์ แมร์เตซัคเกอร์ อดีตนักเตะของทีม และ แจ็ค วิลเชียร์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสตาฟชุดยู-18 และยังมีบุคลากรที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทำฟุตบอลเยาวชนเข้ามาสู่ทีมมากมาย นอกจากนี้พวกเขายังลงทุนเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งเรื่องการเก็บข้อมูลสถิติเชิงลึกที่จะทำให้เจาะเข้าไปที่นักเตะแต่ละคนได้ชัด ๆ ว่าคนไหนมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรและสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีไหน

พวกเขาอาจจะไม่ใช่สโมสรแรกที่ลงทุนกับเรื่องนี้ แต่นี่คือโลกใบใหม่ของทุกสโมสรในปัจจุบัน ใครสร้างนักเตะของตัวเองได้มีคุณภาพที่สุด พวกเขาก็มีโอกาสที่จะประสบความเสร็จมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และนี่คือแนวทางที่อาร์เซนอลกำลังปรับให้เข้ากับวิถีของพวกเขาในตอนนี้ 

"การลงทุนกับนักเตะเยาวชนคือสิ่งที่เราตั้งใจทำอย่างแน่นอน 100% เราจริงจังกันตั้งแต่อคาเดมีและการเดินเข้าสู่ตลาดซื้อขาย" เอดู ผู้อำนวยการกีฬาของอาร์เซนอล กล่าว

"เราจะลงสู่ตลาดก็ต่อเมื่อได้เจอผู้เล่นที่น่าตื่นเต้น อายุน้อย มีทัศนคติที่ถูกต้อง มีวิสัยทัศน์นอกสนามที่ยอดเยี่ยม เราไม่ลังเลถ้าพบนักเตะดาวรุ่งแบบนี้ เราต้องการเห็นสโมสรอย่างอาร์เซนอลมีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีทีมแห่งอนาคตที่น่าตื่นเต้น และพร้อมที่จะคว้าความยิ่งใหญ่ ... เราจริงจังกับทีมเยาวชน เราจะให้โอกาสเด็ก ๆ พวกนี้ไม่ว่าจะ สอง สาม สี่ หรือห้าฤดูกาลเราก็จะอดทนรอ"  

เมื่อคุณเห็นจากสิ่งที่ทั้ง เอดู ผู้เป็นคนกำหนดทิศทางสโมสร และ อาร์เตตา ที่เป็นคนเลือกนักเตะลงสนาม คุณจะไม่แปลกใจว่าทำไมพวกเขาถึงส่งเด็กอายุ 15 ปีอย่างเอ็นวาเนรีลงสนาม แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ราว 3 นาที แต่พวกเขาก็มีเหตุผล และการ "ค่อย ๆ หย่อน" นักเตะดาวรุ่งลงไปจะตอบแทนพวกเขากลับมาหลายเท่าในอนาคต 

 

ไม่กี่วินาทีก็มีความหมาย 

นอกจากการสร้างสถิติใหม่ของพรีเมียร์ลีกแล้ว การส่งเอ็นวาเนรีลงสนามก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับเกมในวันนั้นเลยแม้แต่น้อย ... แต่ถึงอย่างนั้น มิเกล อาร์เตตา ก็มีคำตอบที่ยืนยันว่า ไม่ว่าจะกี่นาทีหรือวินาที การให้โอกาสนักเตะดาวรุ่งลงไปสัมผัสเกมก็มีเหตุผล และเป็นสิ่งที่ผู้จัดการทีมทุกคนจำเป็นจะต้องทำ 

ประการแรกมันคือการส่งสัญญาณให้นักเตะดาวรุ่งที่ได้รับโอกาสรู้ตัวว่า "พวกเขาเป็นคนพิเศษ" มากกว่าคนอื่น ๆ นอกจากเรื่องของประสบการณ์จากเกมจริงที่จะได้รับแล้ว พวกเขาจะเริ่มรู้ตัวว่าพวกเขามีสิ่งที่ต้องรักษาและสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อจากนี้ หากพวกเขาสามารถเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง พวกเขาจะถูกมองเห็นจากผู้จัดการทีมเสมอ 

การให้โอกาสลงสนามสำคัญกว่าการพร่ำบอกและสัญญาด้วยลมปาก อาร์เตตาเชื่อแบบนั้น เขาจึงส่งสัญญาณความเชื่อมั่นที่เขามีต่อเอ็นวาเนรีให้กับนักเตะรู้ โดยหลังเกมอาร์เตตาย้ำถึงการตัดสินใจของตัวเองว่า

"เมื่อเจอนักเตะที่มีพรสวรรค์ คุณต้องให้โอกาสพวกเขา สำหรับเอ็นวาเนรี ผมไม่ได้แค่อยากให้เขาทำสถิติ แต่ผมเห็นว่าเขาเป็นนักฟุตบอลที่มีคาแร็กเตอร์ดี มีความหลงไหลในเกมฟุตบอล และที่สำคัญเขาไม่มีความกลัว ดังนั้นเขาจึงคู่ควรกับโอกาสนี้" อาร์เตตา กล่าว 

สิ่งที่ อาร์เตตา ทำกับ เอ็นวาเนรี ในวันนี้ไม่ต่างกับวันที่ อาร์แซน เวนเกอร์ ให้โอกาส เชส ฟาเบรกาส ในปี 2005 เลย ตอนนั้นเชสอายุยังไม่เต็ม 18 ปีเลยด้วยซ้ำในวันที่เขาได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริง โดยเบื้องหลังการตัดสินใจดันฟาเบรกาสเต็มตัวและไม่ซื้อนักเตะชื่อดังมาแทนการขาดหายไปของ ปาทริก วิเอร่า กองกลางกัปตันทีมที่ย้ายไป ยูเวนตุส ในเวลานั้นก็เพราะว่า เวนเกอร์นั้นได้ลองหย่อนฟาเบรกาสลงสนามมาตั้งแต่ตอนที่เขาอายุ 16 ปีแล้ว โดยเวนเกอร์ค่อย ๆ ส่งเขาลงเล่นในเกมลีกกับกับ ร็อตเธอร์แฮม (ตอนนั้นอายุ 16 ปี 177 วัน ทำลายสถิตินักเตะอายุน้อยที่สุดที่ลงให้อาร์เซนอล) และหลังจากนั้นไม่กี่วันฟาเบรกาสก็ทำสถิตินักเตะอายุน้อยที่สุดที่ยิงประตูให้กับอาร์เซนอลได้ในเกมชนะ วูล์ฟส์ 5-1 ในศึกลีกคัพแบบเดิม

หลังการส่งเชสลงสนามทีละนิด เวนเกอร์ก็ใช้งานเขามากขึ้นเรื่อย ๆ และทุกครั้งที่สื่อถามว่าทำไมถึงไว้ใจเด็กอายุขนาดนี้ให้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลัก เวนเกอร์ก็ตอบคล้าย ๆ กับที่อาร์เตตาพูดถึงเอ็นวาเนรี นั่นคือ พรสวรรค์ ทัศนคติ และความกระหายอยากของฟาเบรกาสนำหน้าอายุไปแล้ว และการหย่อนเขาลงเล่นเกมละไม่กี่นาทีในช่วงแรก ๆ ก็ทำให้เวนเกอร์เห็นได้ชัดขึ้นว่านักเตะคนนี้พิเศษและไม่กลัวที่จะต้องแบกอายุลงเล่นจริง ๆ สุดท้ายอาร์เซนอลก็พบกับ 1 ในกัปตันทีมที่ดีที่สุดของพวกเขาในรอบหลายปี 

นับตั้งแต่ได้โอกาสลงเกมละไม่กี่นาที ฟาเบรกาสก็เข้าใจสถานการณ์ของตัวเอง เขาไม่มีข่าวเสีย ๆ หาย ๆ นอกสนาม ตั้งใจฝึกซ้อม ตั้งใจซึมซับจากนักเตะรุ่นพี่ และพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นหนึ่งในกองกลางที่ดีที่สุดในพรีเมียร์ลีกในยุคของเขา เขาทำในสิ่งที่ถูกต้องหลังรู้ว่าตัวเองคือคนที่พิเศษกว่าเด็กรุ่น ๆ เดียวกัน และการทำสถิตต่าง ๆ ยังช่วยให้เขาสามารถรับมือกับแรงกดดันจากสื่อและแฟนบอลได้ดีมาตั้งแต่อายุน้อย ๆ อีกด้วย 

 

เอ็นวาเนรี การเดิมพันครั้งใหม่ของอาร์เซนอล 

ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าเอ็นวาเนรีจะกลายเป็นสุดยอดนักเตะเหมือนกับที่ฟาเบรกาสสามารถทำได้ แต่เรากำลังแสดงให้เห็นว่าเขากำลังได้รับการคาดหวังจากทีมและแฟน ๆ มากขึ้นหลังจากนี้ เขาจะต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะก้าวต่อไป พัฒนาตัวเอง และรับมือกับสิ่งรอบข้าง นั่นคือวิถีของนักเตะที่ประสบความสำเร็จที่ทุกคนต้องเคยผ่านจุดนี้มา 

ส่วนเรื่องฝีไม้ลายมือเรายังไม่สามารถตอบได้อย่างแน่ชัดจนกว่าจะเห็นเขาลงสนามมากกว่านี้ แต่เท่าที่ข้อมูลปรากฏคือ เอ็นวาเนรี คือ "ตัวท็อปของรุ่น" ลงเล่นกับชุดยู-18 ในฐานะตัวสำคัญของทีมตั้งแต่อายุ 15 ปี ยิงประตูในชุดยู-18 ได้ตั้งแต่อายุ 14 ปี และก้าวขึ้นไปติดทีมชาติอังกฤษชุดยู-17 เมื่อไม่นานมานี้ 

เขาเป็นนักเตะตำแหน่งกองกลางตัวรุกแบบสมัยใหม่ที่สามารถขยับออกมายืนริมเส้นได้ ข้อมูลที่น่าสนใจเผยว่าในช่วงพรีซีซั่นที่ผ่านมา อาร์เซนอล ชุดยู-18 ยกพลลงไปแข่งกับ สลาวห์ ทาวน์ ทีมระดับนอกลีกในลอนดอน ที่นักเตะอาร์เซนอลแบกอายุเล่นกับผู้ใหญ่ ก่อนจบลงด้วยความพ่ายแพ้ 0-1 แต่คนที่ได้รับคำชมจาก นีล เบเกอร์ กุนซือของสลาวห์ มากที่สุดก็คือ เอ็นวาเนรี ที่สวมเสื้อเบอร์ 10 ในเกมนั้น 

"หมายเลข 10 ของอาร์เซนอลนั้นยอดเยี่ยมมาก ทั้ง ๆ ที่เขายังดูเป็นเด็กมาก ๆ ผมว่ามีโอกาสที่เขาจะเป็นความหวังครั้งใหม่ของอาร์เซนอลจากสิ่งที่เขาแสดงออกมาในวันนี้" เบเกอร์ กล่าว

เรื่องราวในทีมชุดยู-18 ของ เอ็นวาเนรี ยังไม่จบแค่นี้ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเขามากมาย เช่นย้อนกลับไปเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เขาเพิ่งได้รับการโปรโมตขึ้นทีมชุดยู-18 และลงสนามไปเพียง 2 เกมเท่านั้น แต่ทำไปแล้ว 2 แอสซิสต์ในฐานะตัวสำรอง ในเกมนั้น แดน มิคคิเช่ ผู้จัดการทีมชุดยู-18 ของอาร์เซนอลพูดถึงความยอดเยี่ยมของเอ็นวาเนรีไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ที่ได้เห็นฝีเท้าของเขา 

"ทีมของเรามีนักเตะดาวรุ่งเก่ง ๆ อย่าง โอมาร์ เบนจามิน และ ไบรอัน โอกองโว ที่ดีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปีนี้เรามีของใหม่สด ๆ อย่างอีธานเข้ามาเสริม และมันจะทำให้อนาคตของทีมน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นกว่านี้อีก" มิคคิเช่ กล่าว

"โดยเฉพาะตัวของอีธานและโอมารีนั้นพัฒนาตัวเองจนไปถึงการติดทีมชาติตลอดปีที่ผ่านมา ถ้าจะให้บอกถึงความยอดเยี่ยมของนักเตะพวกนี้คือพวกเขามีทักษะการครองบอลและเล่นบอลกับพื้นเหมือนกับผู้ใหญ่เลย ทุกการซ้อมคุณจะต้องทึ่ง และมันทำให้คุณรู้ว่าสามารถไว้ใจพวกเขาได้"

"ผมวางใจและให้โอกาสอีธานก่อนที่เขาจะลงมาทำ 2 แอสซิสต์ ตอนนี้หลายคนเริ่มรู้จักเขาแล้วจากฝีเท้า แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือทัศนคติ อีธานออกจากสนามด้วยสีหน้าผิดหวังนิดหน่อย ผมถามเขาว่าทำไม เขาตอบผมว่าเกมนี้เขาน่าจะมีโอกาสทำประตูได้แต่ก็พลาด อีกทั้งเขายังคิดว่าตัวเองจ่ายบอลไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งที่จริง ๆ มันยอดเยี่ยมมาก ๆ แล้ว ... นี่คือทัศนคติแบบแชมเปี้ยน และเราพอใจกับสิ่งที่เขาเป็นจริง ๆ" มิคคิเช่ ว่าต่อ 


นี่คือเรื่องเล่าคร่าว ๆ ที่คนทำงานร่วมกับ อีธาน เอ็นวาเนรี นำมาบอกเล่า ตอนนี้เขาอายุแค่ 15 ปีเท่านั้น และเส้นทางที่รออยู่ยังไกลมาก ๆ กว่าที่เขาจะใช้คำว่า "ประสบความสำเร็จได้จริง ๆ" แต่การถูกส่งลงสนามและสร้างสถิติครั้งนี้ได้บอกอะไรเราหลาย ๆ อย่าง เขาพิเศษกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน เขามีแนวทางที่ดีสำหรับอนาคต และเขากำลังอยู่กับทีมที่พร้อมจะให้โอกาสเขาหากเขาเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง 

สถิติต่าง ๆ ยังคงรอให้เขาทำลายหลังจากนี้ ซึ่ง อีธาน เอ็วาเนรี จะทำได้หรือไม่นั้นคำตอบดังกล่าวไม่มีใครสามารถล่วงรู้จนกว่าเวลานั้นจะมาถึงจริง ๆ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/ethan-nwaneri-arsenal-record-breaker-28025203
https://edition.cnn.com/2022/09/19/football/ethan-nwaneri-arsenal-premier-league-spt-int/index.html
https://www.football.london/arsenal-fc/fixtures-results/ethan-nwaneri-arsenal-academy-new-25056508
https://www.arsenal.com/news/edu-we-are-100-cent-committed-youth
https://www.espn.com/soccer/arsenal/story/2414054/wenger-cesc-fabregas-deserves-to-be-respected-at-arsenal
https://www.theguardian.com/football/2006/mar/05/championsleague.arsenal

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น