ภูมิภาคนิยม (Regionalism) เป็นสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับวงการฟุตบอล โดยเฉพาะสโมสรในแถบโลกตะวันตกที่ใช้ฟุตบอลเป็นศูนย์รวมใจของคนในภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียวกันที่จะสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจว่านี่คือ “ทีมของเรา” เช่น สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เป็นความภาคภูมิใจของภูมิภาคเกรเทอร์-แมนเชสเตอร์ หรือสโมสรแอธเลติก บิลเบา สัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกันในภูมิภาคบาสก์
หรืออีกทางหนึ่งก็เป็นแรงขับเคลื่อนในการปะทะกันของสองสโมสรที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง เช่น ลิเวอร์พูล ปะทะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ หรือที่ไทยเรียกว่าศึกแดงเดือด หรือในสเปนอย่าง เรอัล โซเซียดาด ปะทะ แอธเลติก บิลเบา แห่งภูมิภาคบาสก์ รวมถึงดาร์บี้แมตช์อันดุเดือดมากมายอีกนับไม่ถ้วน
ซึ่งสิ่งดังกล่าวก็ได้ส่งต่อมายังโลกตะวันออกด้วยเช่นกัน การปะทะกันเดือด ๆ ระหว่างภูมิภาคก็มีให้เห็น อย่าง กัมบะ โอซากา ปะทะ อุราวะ เรด ไดมอนส์ ที่เป็นการปะทะกันของภูมิภาคคันไซและคันโต สองภูมิภาคใหญ่ในญี่ปุ่น
หรือไม่ใกล้ไม่ไกลอย่างอินโดนีเซีย ก็มี เปอร์ซิยา จาการ์ตา ปะทะ เปอร์ซิบ บันดุง ที่เป็นการปะทะกันของเขตเมืองหลวงและภูมิภาคชวา ที่เป็นดาร์บี้แมตช์อันดุเดือดและรุนแรงที่สุดในฟุตบอลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่ในทางตรงข้าม ประเด็นดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้นในฟุตบอลลีกอาชีพของเกาหลีใต้ ทั้ง ๆ ที่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ฟุตบอลยาวนานและมีการพัฒนาอยู่ลำดับต้น ๆ รวมถึงลีกภายในประเทศก็แข็งแกร่ง แต่ความสำคัญในท้องถิ่นกลับไม่ได้มีบทบาทเด่นเลย
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา
ระบบแฟรนไชส์ทำพิษ
อย่างที่รู้กันดีว่าระบบฟุตบอลเคลีกของเกาหลีใต้นั้นไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องในทวีปเอเชีย เพราะได้นำ “ระบบแฟรนไชส์” ซึ่งเป็นระบบแบบ “อเมริกันเกมส์” มาใช้ ส่วนหนึ่งนั่นเป็นเพราะว่าประชาชนในประเทศมีความ “คุ้นชิน” กับระบบอเมริกันมาตั้งแต่สมัยแยกประเทศบนเส้นขนานที่ 38 กับฝั่งเกาหลีเหนือแล้ว และกีฬาต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ ก็ล้วนใช้ระบบนี้ทั้งสิ้น แน่นอนว่าฟุตบอลก็ขอนำมาใช้ด้วย
ซึ่งระบบดังกล่าวมีสาระสำคัญตรงที่เป็น “การมอบสิทธิทำทีม” จากส่วนกลาง นั่นก็คือบริษัทเคลีก (ตอนแรกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมฟุตบอลแห่งเกาหลีใต้ ก่อนที่ปี 1997 จะแยกมาตั้งเป็นนิติบุคคลถาวร) ที่เปิดให้บรรดาผู้ที่สนใจทำทีมเข้ามาพูดคุยเพื่อซื้อสิทธิ โดยทางเคลีกจะตั้งมาตรฐานราคาไว้ในระดับที่สูงลิบ เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ที่เข้ามาซื้อสิทธิการทำทีมจะไม่มีปัญหาทางการเงินที่ทำทีมแล้วล้มละลายในภายหลัง
ซึ่งแน่นอนว่าใครล่ะจะมีปัญญาซื้อสิทธิทำทีม หากไม่ใช่ “กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศ” หรือที่รู้จักกันในนาม “กลุ่มแชโบล (Chaebol)” หรือก็คือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ภายใต้การอุปถัมภ์จากรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ และยังคงเป็นตัวแสดงที่ครอบงำเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในทุกวันนี้
โดยหากพิจารณาไปที่ 6 สโมสรในยุคก่อตั้งเคลีก จะพบว่า 3 สโมสรที่ร่วมก่อตั้งและยังคงร่วมการแข่งขันจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ แดวู รอยัล (Daewoo Royals), ยูกง แอลเลเฟนส์ (Yukong Elephants) และ พอสโก เอฟซี (POSCO FC) ที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มบริษัทแชโบลอย่าง บริษัทแดวู (Daewoo), บริษัทเอสเค เอเนอร์จี (SK Energy) ในเครือบริษัทเอสเค กรุ๊ป (SK Group) และ บริษัทพอสโก (POSCO) ตามลำดับทั้งสิ้น
แม้ภายหลังจะเปลี่ยนชื่อไปเป็น ปูซาน ไอพาร์ก (Busan IPark), เจจู ยูไนเต็ด (Jeju United) หรือ โปฮัง สตีลเลอร์ส (Pohang Steelers) ตามลำดับ แต่เจ้าของก็ยังคงเดิม
ต่อมาทางเคลีกได้มีการขยายสิทธิการทำทีมเพื่อเพิ่มสโมสรลงทำการแข่งขัน บริษัทในกลุ่มแชโบลจึงซื้อสิทธิทำทีมเพิ่มเติม เช่น บริษัท ฮุนได ได้ซื้อสิทธิ์เพิ่ม 2 สิทธิ คือทีม ช็อนบุก ไดโนส์ (Chonbuk Dinos) หรือในชื่อปัจจุบันคือ ช็อนบุก ฮุนได มอเตอร์ส (Jeonbuk Hyundai Motors) และ ฮุนได โฮรังงี (Hyundai Horang-i) หรือในชื่อปัจจุบัน อุลซาน ฮุนได (Ulsan Hyundai) ภายใต้การกำกับดูแลของ ฮุนได มอเตอร์ส (Hyundai Motors) บริษัทลูกที่ดูแลเรื่องการผลิตรถยนต์
บริษัทลักกี้-โกลด์สตาร์ หรือ แอลจี (Lucky-Goldstar: LG) ได้ซื้อสิทธิ์ทำทีม ลักกี้-โกลด์สตาร์ ฮวังโซ (Lucky-Goldstar Hwangso) หรือในชื่อปัจจุบันคือ เอฟซี โซล (FC Seoul) รวมถึงบริษัท พอสโก (POSCO) ซึ่งซื้อสิทธิอีกหนึ่งทีม นั่นคือ ช็อนนัม ดรากอนส์ (Chunnam Dragons)
และในเวลาต่อมา บริษัทซัมซุง (Samsung) ได้มอบหมายให้บริษัทลูกด้านเทคโนโลยีอย่าง ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) ซื้อสิทธิทำทีม ซูว็อน ซัมซุง บลูวิงส์ (Suwon Sansung Bluewings) ในปี 1996
หรือมาในยุคปัจจุบัน อย่างในฤดูกาล 2022 จากจำนวน 12 ทีมในลีกก็มีเพียง 5 ทีมเท่านั้นที่เป็นสโมสรโดยสภาเมืองซื้อสิทธิทำทีม โดยมี แทกู เอฟซี (Daegu FC), คังวอน เอฟซี (Gangwon FC), อินช็อน ยูไนเต็ด (Incheon United), ซ็องนัม เอฟซี (Seongnam FC) และ ซูวอน เอฟซี (Suwon FC) ส่วนที่เหลืออีก 7 ทีม เป็นทีมองค์กรล้วน ๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลพวงจากระบบนี้ นั่นคือตัวของสโมสรจะอยู่ที่ “สิทธิจากส่วนกลาง” ไม่ได้อยู่ที่ “พื้นที่” ที่สโมสรตั้งอยู่ หากเจ้าของสิทธิอยากให้ทีมไปอยู่ที่ไหนทีมก็ต้องตามไปที่นั่น หรือก็คือการมีส่วนร่วมของแฟนบอลในพื้นที่จะมีบทบาทน้อยหรือแทบไม่มีเลย และต่อให้สร้างให้มีจนแฟนในพื้นที่ได้ หากเจ้าของสิทธิอยากจะไปแฟนบอลก็ทำอะไรไม่ได้ นั่นเอง
เช่น หากพื้นที่ที่ไปอยู่ตอนแรกมีปัญหาไม่ได้ยอดแฟนบอล คนไม่เข้าสนาม และขายสินค้าให้กับคนในพื้นที่ไม่ได้ การจะจากไปก็ง่ายนิดเดียว หรือหากส่วนกลางอย่างเคลีกเห็นว่าสิทธิที่ให้ไปทำทีมได้ไม่คุ้มเสีย เจ้าของสิทธิก็สามารถ “ขายสิทธิทิ้ง” หรือส่วนกลางก็สามารถ “ริบสิทธิคืน” ได้
ตัวอย่างก็มีให้เห็นถมถืดถมเถในกีฬาอเมริกัน อย่างทีมอเมริกันฟุตบอล ลอสแอนเจลิส แรมส์ (Los Angeles Rams) ก็พเนจรมาแล้วทั้งจากคลีฟแลนด์มาแอลเอก่อนรอบนึง ก่อนไปที่เซนต์หลุยส์แล้วกลับมาที่แอลเออีกที หรือทีมบาสเกตบอล ลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส (Los Angeles Clippers) ก็ไปมาแล้วทั้งบัฟฟาโลและซาน ดิเอโก ก่อนจะมาสถิตย์ ณ แอลเอ หรือที่หนักเลยก็คือสโมสรฟุตบอล ชีวาส ยูเอสเอ (Chivas USA) ที่นึกอยากจะขายสิทธิก็ขายเสียดื้อ ๆ
และแน่นอนเมื่อเป็นแบบนี้ ภูมิภาคนิยมจะมาเกิดขึ้นหรือตั้งมั่นได้อย่างไร ?
แค่องค์กรก็เหลือแหล่
อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกกลุ่มธุรกิจแชโบลนั้นรวยจริง มั่นคงจริง และเข้มแข็งจริง เคลีกถึงปล่อยสิทธิแบบไม่ลังเล แต่ปัจจัยอีกอย่างที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ “ความเป็นองค์กร” ของบรรดาแชโบลนั้นติดตั้งอยู่คู่กับประชาชนมาช้านาน และไปกันได้กับเรื่องของฟุตบอล
ที่เป็นแบบนี้ต้องกล่าวย้อนไปในสมัยประธานาธิบดีจอมเผด็จการ พัค จุง-ฮี (Park Chung Hee) ช่วงปี 1961 - 1979 เสียก่อน เพราะตอนนั้นเกาหลีใต้ใช้โมเดล รัฐนำพัฒนา (State-led) ในการบริหารประเทศเป็นนโยบายแม่บท โดยต้องผสานผลประโยชน์กับกลุ่มทุนในประเทศ ซึ่งก็คือแชโบลที่ทำตัวเป็นธนาคารให้เม็ดเงินสนับสนุนกลุ่มทุนในประเทศ เน้นผลิตเพื่อส่งออกเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพในภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-added) กับคนในประเทศ โดยไม่ต้องทนอดมื้อกินมื้ออยู่ในภาคเกษตรกรรมที่มีมูลค่าต่ำ
เมื่อมีโอกาสทางรายได้จากช่องทางทำมาหากินใหม่ ๆ หรือมีโอกาสการขยับสถานะทางสังคม การอพยพจากชนบทไปทำงานภาคอุตสาหกรรมตามเมืองหลวงและเมืองใหญ่ในเกาหลีจึงเกิดขึ้นมหาศาล และแน่นอนว่าจุดหมายปลายทางของกลุ่มคนเหล่านี้คือเข้าทำงานกับบริษัทแชโบลนั่นเอง
โดยเฉพาะการให้ท้ายแชโบลอย่างออกนอกหน้าของรัฐบาลที่โหมเชิญชวนคนชนบทเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น ผ่านแคมเปญ “นักรบอุตสาหกรรม” ซึ่งคนในภาคส่วนนี้ถือเป็นแนวหน้าของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ถึงขนาดสร้างความเชื่อว่า หากเกาหลีใต้ขาดหนุ่มสาวโรงงานหรือขาดแรงงานพวกนี้ไปประเทศจะอยู่ไม่ได้เลยทีเดียว การให้ความสำคัญการทำงานเพื่อประเทศขนาดนี้จะไม่ให้ประชาชนฝากตัวรับใช้แชโบลได้อย่างไร
หรือหากมองในมุมแรงงานก็จะพบว่า งานในภาคอุตสาหกรรมถือว่ามีความมั่นคงทางอาชีพในระดับสูงลิบเลยทีเดียว แชโบลพวกนี้มีรัฐบาลเป็นแบ็กอัพแบบออกตัวแรง ไม่มีใครมาแข่ง ไม่ต้องแข่งกับใคร แถมยังมีความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติหรือในตลาดต่างประเทศได้แบบไร้กังวล แน่นอนว่าก็ไม่ได้มีแต่แรงงานเท่านั้น แต่บรรดาผู้เจริญซึ่งมากไปด้วยปัญญาที่เรียนจบปริญญาตรี โท หรือเอก ต่างก็เลือกที่จะเข้ามาอยู่ในภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น
ขณะที่ผู้ที่กำลังเลือกศึกษาหรือวัยรุ่นก็หันมาเรียนพวกคณะวิศวกรรมศาสตร์, วิทยาศาสตร์ประยุกต์ หรือเทคโนโลยี เพื่อที่จะได้เป็นนักรบอุตสาหกรรม เวอร์ชั่นมีดีกรีเพิ่มขึ้นด้วย แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมีแบบนี้ให้เห็นอยู่ในเกาหลีใต้
ด้วยเหตุนี้ร้อยทั้งร้อยเชื่อได้เลยว่าบรรดาประชาชนในประเทศต้องได้รับการ “ขัดเกลา” จากความเป็นองค์กรของแชโบลไม่มากก็น้อย หรือก็คือคนในประเทศเกาหลีใต้ อาจไม่ได้คิดว่าแชโบลคือบริษัทหรือองค์กร แต่เป็น “ส่วนหนึ่งของความเป็นเกาหลี” ไปด้วย
ประเทศมีการสร้างงานสร้างอาชีพได้ก็เพราะแชโบล มีที่อยู่ที่กินก็เพราะแชโบล มีอัตราการเติบโตของจีดีพีได้ก็เพราะแชโบล ประเทศพ้นกับดักความยากจนได้ก็เพราะแชโบลจนได้รับการขนานนามว่า “มหัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮัน” ได้ก็เพราะแชโบล เศรษฐกิจมหภาคดำรงอยู่ได้ก็เพราะแชโบล แชโบลได้กำไรประเทศก็มั่งคั่ง แชโบลขาดทุนประเทศก็จะล่มจมไปด้วย
ดังนั้นก็อย่าได้แปลกใจหากทีมองค์กรจะดำรงอยู่แบบชิลล์ ๆ ในเคลีก นั่นก็เพราะประชาชนก็ไม่ได้ตะขิดตะขวงใจหรือรู้สึกแปลกแยกกับคำว่าองค์กรหรือทีมองค์กรเลย แถมแต่ละทีมยังมีคนดูไม่น้อยเสียด้วย อย่างในฤดูกาล 2021 เอฟซี โซล มียอดผู้เข้าชมเฉลี่ยเกือบหมื่น ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส กับ อุลซาน ฮุนได ก็หลักครึ่งหมื่น หรือจำนวนเฉลี่ยน้อยที่สุดอย่าง คิมช็อน ซังมู ก็แตะหลักเกือบสามพันคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อย สำหรับวงการฟุตบอลเกาหลีใต้ในยุคปัจจุบัน
ชาตินิยมเล่นบทนำ
ที่จริงแล้วหากภูมิภาคนิยมในทางฟุตบอลไม่โตแสดงว่าต้องคิดถึงอะไรที่ “ใหญ่กว่านั้น” ถึงจะสามารถเป็นแรงขับให้แฟนบอลในเกาหลีใต้ได้ ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ “ชาตินิยม (Nationalism)” นั่นเอง
ซึ่งสิ่งนี้สังเกตได้ง่าย ๆ จากภาพของคลื่นมนุษย์จำนวนมหาศาลในชุดสีแดงเป็นที่ภาพที่พบเห็นได้โดยทั่วไปตามท้องถนนและในสนามกีฬาซังงัม (Sangam Stadium) หรือ สนามกีฬาแห่งชาติโซล (Seoul World Cup Stadium) สนามฟุตบอลอันเป็นบ้านของขุนพล แทกึกวอร์ริเออร์ (Taegeuk Warriors) อันเป็นฉายาของ ทีมฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ เวลาที่พวกเขาลงทำการแข่งขัน แฟนบอลที่มารวมกันจากทั่วทุกสารทิศสามัคคีส่งเสียงโห่ร้องตะโกนดังกึกก้องว่า “แทฮันมินกุก พาอิทิง (태한민국 파이팅)” ไปทั่วสนาม ซึ่งก็เป็นเหมือน “แฟนชานท์ (Fanchant)” อันทรงพลังและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณที่แสดงให้เห็นถึงแพชชั่นและความบ้าดีเดือดของแฟนเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าทีมชาติเกาหลีใต้จะทำการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์รายการใหญ่หรือเล็ก จะ อีเอเอฟเอฟ คัพ, เอเชียนคัพ, ฟุตบอลโลก หรือแม้แต่นัดกระชับมิตร หากเข้าสนามไม่ได้ บริเวณ “โซล พลาซ่า (Seoul Plaza)” ใจกลางกรุงโซลก็จะเต็มไปด้วยกองเชียร์ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างแน่นขนัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2002 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น เมื่อทีมชาติเกาหลีทำผลงานในสนามได้เกินความคาดหมายจนเป็นที่ 4 ของฟุตบอลโลก แม้จะมีประเด็นดราม่าและข้อสงสัยในผลงาน แต่สิ่งนี้ก็ได้ทำให้เกิด “ความพราวด์” ในชาติขึ้นอีกมากโข ส่งผลต่อการเติมเต็มความชาตินิยมให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
และสิ่งนี้เองที่ตอกย้ำว่าชาตินิยมนั้นก้าวข้ามประเด็นภูมิภาคนิยมไปแบบไม่เห็นฝุ่น เพราะสุดท้ายแล้วชาวเกาหลีใต้ยังคงเห็นความเป็นชาติสำคัญที่สุด มากกว่าความภูมิใจในท้องถิ่นที่จะนำไปสู่ความบาดหมางกับเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน
ลูกเมียน้อย แต่ก็ลูกเหมือนกัน
ถึงตรงนี้ก็สามารถบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าภูมิภาคนิยมโดนมองข้ามไปมากจากวงการฟุตบอลเกาหลีใต้ แต่ถึงแม้ไม่ใช่คนโปรดอย่างคนอื่นเขา แม้จะดูว่างเปล่าในสายตาเธอ ภูมิภาคนิยมก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นในเคลีกเสียทีเดียว
หลังยุค 2000s เป็นต้นมา เคลีกเริ่มพยายามสร้างความเป็นภูมิภาคนิยมให้มากขึ้น ซึ่งก็มาสัมฤทธิ์ผลกับบรรดาเขตมหานคร นั่นคือ สโมสรแทจ็อน ซิติเซน (Daejeon Citizen) และ สโมสรแทกู (Daegu FC) ซึ่งถือสิทธิโดยเมืองแทจ็อนและแทกู ทั้งยังได้เปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถือหุ้นสโมสรได้อีกต่างหาก ส่วนในระดับภูมิภาคนั้นก็ได้มีการเกิดขึ้นของ สโมสรคย็องนัม (Gyeongnam FC) ซึ่งเป็นสโมสรระดับจังหวัดทีมแรกที่เปิดให้ประชาชนชาวภูมิภาคคย็องซังใต้เข้ามาถือหุ้นสโมสร ในปี 2006
การดำเนินการเช่นนี้จะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่หรือภูมิภาคนั้นรู้สึกถึง “ความเป็นส่วนหนึ่ง” กับสโมสร รวมทั้งยังรู้สึกว่าสโมสรคือ “ตัวแทน” ของเมือง จังหวัดหรือภูมิภาคในการทำการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
แม้กระทั่งทีมองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้อย่าง ซังมู (Sangmu FC) ซึ่งเป็นทีมของกองทัพ ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง เพราะได้ไปร่วมมือกับ เมืองคิมช็อน เปลี่ยนชื่อเป็น คิมช็อน ซังมู (Gimcheon Sangmu) โดยเปิดให้สภาเมืองคิมช็อนเข้ามาถือหุ้นคนละครึ่งกับกองทัพ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการทำทีมฟุตบอลในเกาหลีใต้ก็ว่าได้ และอีกอย่างคือคิมช็อนอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคคย็องซังเหนือที่ยังไม่เคยมีแฟรนไชส์ฟุตบอลมาก่อน และดีไม่ดีอาจจะได้ฐานแฟนบอลจากจุดนี้ก็ได้
แม้ตอนนี้การมีพัฒนาจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งวงการฟุตบอลเกาหลีใต้จะยอมรับภูมิภาคนิยม และภูมิภาคนิยมจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในวงการฟุตบอลเกาหลีใต้เสียที
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Football Goes East: Business, Culture and the People's Game in China, Japan and South Korea
หนังสือ Korea: The Impossible Country: South Korea's Amazing Rise from the Ashes: The Inside Story of an Economic, Political and Cultural Phenomenon
หนังสือ แรงงานเกาหลี วัฒนธรรมและการเมืองว่าด้วยการก่อตัวทางชนชั้น
หนังสือ พลวัตความเป็นประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ : จากอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคง
https://en.yna.co.kr/view/AEN20220911002500315?section=search
https://workpointtoday.com/pardons-samsung-chief-lee-jae-yong/
https://www.transfermarkt.com/k-league-1/besucherzahlen/wettbewerb/RSK1/saison_id/2021