Feature

น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ: เพลงเชียร์กีฬาสีที่เป็นภาพสะท้อนจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลก ยุค 70 | MAIN STAND

"น้ำมัน น้ำมัน น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ มีอะไรก็อย่าระแวง หัวใจที่มันร้อนแรง วู้ หัวใจที่มันร้อนแรง วู้ คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ"

 


เชื่อได้ว่าชีวิตในวัยเรียนของใครหลาย ๆ คน หากเคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์ เคยขึ้นสแตนเชียร์ หรือแม้แต่เดินผ่านงานกีฬาสีเฉย ๆ จะต้องรู้สึกคุ้นหูกับเพลงเชียร์กีฬาข้างต้นเป็นแน่แท้

ซึ่งก็ไม่ได้นิยมแต่ในรั้วสถานศึกษาเท่านั้น แต่หากมีการแข่งขันกีฬาระหว่างสถาบัน ระหว่างตำบล อำเภอ จังหวัด หรือระดับประเทศ ก็จะมีการร้องเพลงนี้กันอย่างสนุกสนาน

แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของเพลงเชียร์นี้กลับซีเรียสกว่าที่คิด เพราะมันมาจากเหตุการณ์ "วิกฤตน้ำมัน" ช่วงยุค 1970s ที่สั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก!

เรื่องราวนี้มีที่มาที่ไป ตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ติดตามไปพร้อมกับเรา

 

บริบทต่างประเทศ

เรื่องราวของวิกฤตน้ำมันครั้งนั้นเริ่มต้นขึ้นจากการที่ซีเรียและอียิปต์เปิดฉากรบกับอิสราเอล เพราะไม่พอใจที่อิสราเอลตีกินดินแดนของตนเพื่อขยายขนาดอาณาเขตใน “สงคราม 6 วัน” ในปี ค.ศ. 1967 โดยสงครามดังกล่าวถูกเรียกกันว่า “สงครามยมกิปปูร์” หรือสงครามเดือนรอมฎอน

ซึ่งตอนนั้นโลกยังคงอยู่ในบรรยากาศของสงครามเย็น สองขั้วอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกจึงเข้าถือหางกันคนละฝ่ายเพื่อปะทะกันในฐานะ “สงครามตัวแทน” โดยสหภาพโซเวียตถือหางซีเรียและอียิปต์ ส่วนสหรัฐอเมริกาแน่นอนว่าต้องถือหางอิสราเอล ความวุ่นวายจึงบังเกิดขึ้นนับจากนี้!

กลุ่มประเทศ Organization of Arab Petroleum Exporting Countries หรือ OAPEC อันเป็นกลุ่มย่อยเฉพาะประเทศอาหรับเท่านั้นของ โอเปค (OPEC) 3 ประเทศ ได้แก่ คูเวต ลิเบีย และ ซาอุดีอาระเบีย ได้ออกมาบีบสหรัฐฯ โดยการงดส่งออกน้ำมันไปให้ทั้งสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ที่ถือหางอิสราเอลทั่วทุกมุมโลก

การกระทำของ OAPEC เช่นนี้จึงเสมือนการ “จับน้ำมันเป็นตัวประกัน” เป็นแต้มต่อที่พวกเขามีที่พอจะทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรอื่น ๆ เป็นลูกไก่ในกำมือได้ เพราะขณะนั้นสหรัฐฯ ย่ามใจเห็นว่าตนผลิตน้ำมันได้ในระดับสูง จึงกำหนดเพดานนำเข้าและกดราคาน้ำมันในประเทศให้ต่ำ แต่กลายเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะในภายหลังสหรัฐฯ ขาดน้ำมันสำรอง จนกลายเป็นวิกฤตของประเทศ

ต้องระลึกเสมอว่า น้ำมัน ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม การขนส่งโลจิสติกส์ นำมาปั่นไฟสร้างกระแสไฟฟ้า ประปา หรือที่ขาดไปเสียไม่ได้คือใช้เป็นเชื้อเพลิงยานพาหนะ เรียกได้ว่าชีวิตคนเราทุกมิติมีน้ำมันโผล่มาแจมด้วยตลอด

รวมถึงประเทศอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหลายแหล่ทั้งในละตินอเมริกาหรือเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น ที่กำลังเป็นดาวโรจน์ด้านอุตสาหกรรม โดยเน้นส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศก็ต้องประสบปัญหาตามไปด้วยในฐานะพันธมิตรหลักของอเมริกา 

เมื่อน้ำมันขาดแคลนเช่นนี้ก็ส่งผลให้น้ำมันแพงขึ้น และเมื่อน้ำมันแพงขึ้นค่าครองชีพก็แพงขึ้น และเมื่อค่าครองชีพแพงขึ้นประชาชนก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้า

ฉะนั้นแล้วประเทศที่เน้นพึ่งพาทุนจากต่างประเทศ นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และกำลังพัฒนาอุตสาหกรรม จนกลายเป็นประเทศ “กำลังพัฒนา” อย่าง ประเทศไทย จะไปเหลืออะไร ก็ต้องฟาดวิกฤตครั้งนี้เข้าไปด้วย

 

บริบทในประเทศ

สำหรับประเทศไทย การที่น้ำมันแพงเช่นนี้ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล เพราะก่อนหน้านั้นหลังจากเข้าสู่ยุครัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้ออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 - 2509 ไทยก็เริ่มเข้าสู่ยุคพัฒนาเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ทั้งยังมีการนําเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม และแน่นอนว่าการใช้น้ำมันก็เพิ่มมากขึ้นตามมา 

แต่ไทยเองมีแหล่งน้ำมันสํารองค่อนข้างจํากัดและผลิตได้ไม่พอกับความต้องการใช้ เรียกได้ว่ายืนด้วยลำแข้งตนเองไม่ได้ ในแต่ละปีจึงต้องนําเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ํามันสําเร็จรูปจากต่างประเทศในปริมาณสูง เรียกได้ว่าพึ่งพาน้ำมันจากตางประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะประเทศแถบอาหรับนั่นเอง

ซึ่งตอนนั้นอะไร ๆ ก็ดีไปหมด เศรษฐกิจไทยกำลังพุ่งทะยาน ดัชนีมวลรวมในประเทศหรือจีดีพีถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้ในระยะเวลาอันสั้น 

แต่นั่นก็เหมือนการฮันนีมูนจนได้มาโดนของจริงจัดหนัก เมื่อมาถึงยุครัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2515 - 2519 ที่มุ่งเน้นการพึ่งทุนจากต่างชาติเหมือน 2 ฉบับก่อนหน้าที่สนแต่จีดีพีและรับเม็ดเงินเข้ามาให้มาก ๆ เพียงอย่างเดียว นำเข้าอย่างเดียว คิดว่าตามน้ำไปเดี๋ยวก็ดีเอง

แต่กลับกลายเป็นว่าบริบทโลกอย่างวิกฤตการณ์น้ำมันได้ซัดสาดกระเซ็นเข้าหารัฐบาล หลังจากออกแผนพัฒนาฯ ได้ไม่ถึงปี เหมือนเป็นหมัดน็อกเข้าเบ้าหน้ารัฐบาลอย่างไม่ทันตั้งตัว

ที่สำคัญกว่านั้นคือกระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันการ หรือไม่ตรงโจทย์ เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นเป็น “รัฐบาลสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร” นึกจะทำอะไรก็ทำโดยไม่มีการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมที่ถนัดสั่งล้วน ๆ 

ดังที่ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงสภาพการณ์ตอนนั้นไว้ว่า

“...เมื่อวิกฤตจากภายนอกมากระเทือนถึงภายในต่าง ๆ ข้างในตั้งตัวไม่ทันเพราะว่ารัฐบาลมาจากการยึดอำนาจ ปกครองกันตามใจตัวเองต่าง ๆ ไม่มี ส.ส. ไม่มีใครไปคุยกับชาวบ้าน กับนักศึกษา กับสื่อมวลชนเนี่ย ก็ห้ามติดต่อ ติดต่อกันไม่ได้อะไรต่าง ๆ เนี่ย รัฐบาลก็จะสั่งอย่างเดียว ทีนี้พอสั่งแล้วคนไม่เชื่อเนี่ยคนก็ไม่ยอมแล้ว…”


    
นอกจากนี้ในเวลานั้นระบบแรงงานในประเทศไทยก็เติบโตขึ้นมากเช่นกัน เพราะการกำหนดแผนแม่บทที่ชัดเจนของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งส่วนมากจะเป็นโรงงานของทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพันธมิตรอย่างยาวนานหนึ่งเดียวของไทยอย่างญี่ปุ่น ทำให้อัตรากำลังพนักงานในสายการผลิตเพิ่มมากขึ้น เกิดความต้องการจ้างงานคนในประเทศมากขึ้นตามไปด้วย

และแน่นอนว่าการสร้างงานสร้างอาชีพอยู่ที่ไหนคนก็แห่ไปที่นั่น การพัฒนาเมืองแบบ “โตเดี่ยว” ที่ความเจริญอยู่ในเมืองหลวงล้วน ๆ ของไทยจึงทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวต่างจังหวัดเข้ามา “ขายแรงงาน” หางานทำในกรุงเทพฯ ซึ่งการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานนี้เองก็ได้ทำให้เกิดการ “บริโภค” มากขึ้น 

อย่าลืมว่าคนเข้ามาทำงานไม่ได้ทำงานอย่างเดียว แต่จะมีสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการดำรงชีวิตด้วย เช่น จ่ายค่าเช่าที่พัก จ่ายค่าอาหาร 3 มื้อ ค่ารถสาธารณะเพื่อเดินทางไปทำงาน ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเครื่องใช้ไฟฟ้า และค่าอื่น ๆ อีกสารพัด แน่นอนสิ่งเหล่านี้ที่ต้องจ่ายไปล้วนแต่ต้องใช้น้ำมันทั้งสิ้น

รวมถึงสินค้าจิปาถะพวกเสื้อผ้าหรือของใช้ฟุ่มเฟือยก็เช่นกัน ซึ่งส่วนมากคนไทย ณ ตอนนั้นจะนิยมสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ “สินค้าญี่ปุ่น” ที่เห่อกันมาก ดังกลอนแปดของ ศักดา จินตนาวิจิตร ที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จิกกัดนิสัยการบริโภคสินค้าญี่ปุ่นของคนไทย ความว่า

“เช้าตื่นขึ้นมารีบคว้าก่อน         ไว้ไลอ้อนสีฟันมันหนักหนา
เนชั่นแนลหม้อหุงปรุงน้ำชา        แต่ผมทาน้ำมันชื่อตันโจ
นุ่งผ้าไทยโทเรเทโตรอน        ครั้นถึงตอนออกไปคาดไซโก้
ข่าวประชาสัมพันธ์ฟังซันโย        เอารถโตโยต้าขับไปรับแฟน
ไปชอปปิ้งที่ไหนหละถึงจะหรู        ไดมารูของหลากมากหลายแสน
ทั้งของใช้ของกินอินเจแปน        มาจากแดนไกลลิบชื่อนิปปอน
แฟนซื้อเครื่องแต่งหน้าคาเนโบ้    ชิเซโด้ โพล่า เอามาก่อน
ชุดชั้นในวาโก้ทรงโตมร        แสนสุโขสโมสรด้วยออนเคียว
กลับบ้านเปิดทีวีโตชิบา        เปิดช่องหากาโม่ เคนโด้ เดี่ยว
นั่งตบยุงดูไปได้หน่อยเดียว        หาที่เที่ยวนวดถูซาบุริ
ในชีวิตประจำวันทันสมัย        ชักสงสัยหัวเราะเราเข้าแล้วสิ
ถามกระจกชื่อว่าอาซาฮิ        ตัวกูนี่คนไทยใช่ไหมวะ ?”

ซึ่งอย่าลืมว่าสินค้าพวกนี้ผลิตเองในประเทศได้บางส่วน ซึ่งคนที่ผลิตก็บรรดาแรงงานที่ซื้อมาใช้งานเองนี่แหละ เพียงแต่บางส่วนที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศแม่ ต้องขนส่งเข้ามาทั้งนั้น พอน้ำมันแพงขึ้น ต้นทุนก็แพงขึ้น ราคาค่าของพวกนี้ก็แพงขึ้น จนอาจแพงหูฉี่ แพงเกินกว่าที่แรงงานจะซื้อได้ เข้าทำนอง “คนผลิตไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ผลิต”

ประกอบกับคุณภาพชีวิตสุดระทม ต้องอยู่ห้องเช่าเท่ารังหนู เบียดเสียดกันหลักร้อยคน สุขอนามัยไม่เจริญหูเจริญตา เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรค โดยที่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาดูดำดูดี ไม่มาเอาใจใส่เลย ซึ่งนี่ก็เหมือนเป็นชนวนปะทุของบรรดาแรงงานไทย แล้วพอได้ทีก็ใส่รัฐบาลไม่ยั้ง

ดังนั้นการเมืองไทยช่วงยุคต้น 70 จึงเต็มไปด้วยความร้อนระอุ บรรดาแรงงาน พนักงาน ร้านรวงต่าง ๆ รวมตัวกันนัดหยุดงานประท้วงกันเต็มท้องถนน รวมถึงนักศึกษา ที่ได้รวมตัวกันออกมาเดินขบวนต้านสินค้าญี่ปุ่นกันทั่วกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

 

สรวง สันติ นำวิกฤตสู่เสียงดนตรี

ความสุนทรีย์อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ไม่ว่าจะเผชิญสภาวะตึงเครียดขนาดไหน คนไทยก็ยังสามารถหาความหรือสกัดความสนุกสนาน ตลกโปกฮา ไปจนถึงการการจิกกัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เสมอ แน่นอนว่าจากเหตุการณ์วิกฤตน้ำมันนี้ก็เช่นเดียวกัน

โดยครูเพลงที่ฉลาดล้ำที่หยิบยกวิกฤตการณ์ครั้งนี้ขึ้นมาประพันธ์เป็นเพลงลูกทุ่ง มีชื่อว่า จำนงค์ เป็นสุข หรือที่รู้จักกันในนาม “สรวง สันติ” ตำนานนักร้อง นักแต่งเพลง แห่งยุค 70s ที่มักจิกกัด เสียดสี หรือล้อเลียนการเมืองไทยผ่านเสียงดนตรี ที่ไม่ว่าจะหยิบเหตุการณ์ไหนขึ้นมาแต่งเพลงก็จะได้รับความนิยมเสมอ

ครูสรวงได้เห็นความยากลำบากในการใช้ชีวิตของผู้คนในยุควิกฤตน้ำมันนี้ รวมถึงตัวครูเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะตอนนั้นนอกจากจะเป็นครูเพลง สรวงยังรับจ็อบเป็นนักร้องด้วย ทำให้ต้องเดินสายไปทัวร์คอนเสิร์ตเป็นประจำ แน่นอนว่าน้ำมันราคาสูงลิบแบบนี้สรวงเองก็ลำบาก ดังนั้นเพลง “น้ำมันแพง” จึงได้รับการประพันธ์ขึ้นจากปลายปากกาของท่าน

เพลงนี้แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2517 หลังจากวิกฤตดังกล่าวล่วงมาเกือบปี โดยครูสรวงได้นำทำนองเพลง จิงโก้ (Jingo) ของ ซันตาน่า (Santana) วงดนตรีพันธุ์ร็อกสัญชาติอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงในปลายยุค 60s มาปรับแปรทำดนตรีเสียใหม่ ห้เข้ากับหูแฟนเพลงชาวไทยมากขึ้น 

เพราะว่าตอนนั้นคนไทยติดหูกับแนวดนตรีของซันตาน่าที่เป็น ไซเคเดลิก ร็อก (Psychedelic Rock) ของชาวฮิปปี้ ที่ฟังแล้วมีความสลับซับซ้อนเหมือนหลอนสารเสพติดมานานแล้ว ปรับนิดปรับหน่อยไม่มีปัญหา และก็ได้เนื้อร้องออกมาว่า 

“น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ มีอะไรเราก็เริ่มฝอย ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย น้ำมันมีน้อยมืดหน่อยก็ทนเอานิด

น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ ดูอะไรมันก็มืดมิด ถูกนิดถูกหน่อยอย่าถือ มือมันชอบสะกิด ถูกน้อยถูกนิด ก็อย่าไปคิดอะไรเลย

พวกเราชาวนาชาวไร่ ห่างไกลบางกอกหนักหนา ไม่มีไฟฟ้า อย่าไปฝันถึงมันเลย เรามาจุดตะเกียง ไม่ต้องเสี่ยงทรามเชย แต่โอ้อกเอ๋ยน้ำมันดันมาแพง

น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ ขวัญใจไม่ต้องระแวง ถ้าพี่ก้าวก่ายล่วงเกิน เชิญให้น้องคิดแช่ง ความรักรุนแรง น้ำมันแพงเลยดับไฟคุยกัน”

    ซึ่งความแปลกใหม่คือฉากหลังของเพลงนี้ไม่ได้เล่าเรื่องในเมืองหลวง แต่เลือกที่จะเล่าผ่านวิถีชนบทแทน ตรงนี้เป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีว่าวิกฤตการณ์โลกที่เกิดขึ้นต่อให้อยู่ไกลปืนเที่ยงขนาดไหนก็ได้ผลกระทบไม่ต่างกัน

    ส่วนสำคัญของเพลงอีกส่วนนั่นคือการวางเงื่อนไขให้หนุ่มสาวจะต้องจุด “ตะเกียง” คุยกันตอนกลางคืน แต่ถึงแม้คิดอยากจะจุดก็จุดไม่ได้เพราะน้ำมันแพงเหลือเกิน ตรงนี้ ครูสรวงจิกกัดการที่รัฐบาลจอมพลถนอม ออก พ.ร.ก. แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 ได้อย่างแสบสัน

เพราะ พ.ร.ก. นี้ออกมาเพื่อ “บังคับ” การใช้น้ำมันของประชาชนไม่ให้เกินควร มีการบังคับเวลาปิดสถานเริงรมย์ รณรงค์ให้ใช้จักรยาน ไปจนถึงคอยสอดส่องการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันของประชาชน เป็นการสะท้อนทางอ้อมว่ารัฐบาลไทยนั้นทำงานแบบ “วัวหายล้อมคอก” หรือ “เกาไม่ถูกที่คัน” ขนาดไหน

ตรงนี้เองที่ทำให้เพลงน้ำมันแพงนี้ “กินใจ” ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นจับกังไปจนกระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองต่างถูกอกถูกใจเพลงนี้ทั้งสิ้น ส่งให้เพลงนี้เป็นเพลงติดหู ติดตลาด ร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง 

และที่สำคัญเพลงนี้ยังเป็นการ “เชื่อมโยง” ความสัมพันธ์ระหว่าง “การเมือง” กับ “ปากท้อง” อย่างแยกไม่ออก ดังที่เห็นได้จากเวลาฝ่ายบริหารประเทศจะทำอะไรดำเนินนโยบายอะไรย่อมกระทบต่อประชาชนเสมอ ทำดีประชาชนก็ยิ้มแป้น ทำไม่ดีประชาชนก็เดือดร้อน

ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปคนฟังเพลงน้ำมันแพงก็ได้ละทิ้งประวัติเบื้องลึกเบื้องหลังของตัวเพลงไปเสียเฉย ๆ เหลือไว้แต่ส่วนของ “ตัวเพลง” เพียว ๆ

 

จากเพลงลูกทุ่งสู่เพลงเชียร์กีฬา

    ด้วยความที่เพลงน้ำมันแพงมีเนื้อร้องที่ไม่ยาวมาก จำได้ง่าย มีทำนองที่มีความติดหู สนุกสนาน ฟังง่ายร้องง่าย แฝงความตลกร้ายนิด ๆ จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการนำมาเป็น “เพลงเชียร์กีฬา”

แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเพลงน้ำมันแพงได้รับการปรับแปรมาเป็นเพลงเชียร์ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ ๆ คือวัฒนธรรมการเชียร์กีฬานั้นเริ่มต้นมาจาก “สถานศึกษา” ทั้งในระดับภาคบังคับหรืออุดมศึกษาด้วยกันทั้งนั้น 

สมัยก่อนที่การเชียร์กีฬาในสนามยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนตอนนี้ หากจะมีการนั่งสแตนด์เชียร์และมีอุปกรณ์การเชียร์ อาทิ พู่สี กระดานแปรอักษร หรือการร้องประสานเสียงเชียร์ รวมถึงการมีเชียร์ลีดเดอร์ จะต้องทำผ่านการรวมเป็นหนึ่ง มีจิตสำนึกร่วมว่าเราคือพวกเดียวกัน ซึ่งก็ต้องกล่อมเกลาผ่านสถาบันการศึกษาถึงจะเห็นผลได้ดีที่สุดนั่นเอง

และการจะนำคนจำนวนมากมารวมตัวกันที่กินเวลาหลังเลิกเรียนหรือบางทีก็โดดเรียนมาเพื่อเชียร์กีฬา จะมาให้ขับบทครรไล ตีกรับ ตีฉิ่ง โชว์ลูกคอ หรือร้องโอเปร่า ก็ดูจะพิลึกและเสียเวลาโดยใช่เหตุ ดังนั้นเพลงที่เข้าใจไม่ยาก จำง่าย ไม่กี่ชั่วโมงก็ร้องได้ทั้งสแตนด์ จึงได้รับการนำมาใช้ไปโดยปริยาย 

ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่เพลงน้ำมันแพงเท่านั้น เพลงอื่น ๆ อย่าง เพลงหางเครื่อง ของ สุกัญญา นาคประดิษฐ์ ที่ร้องว่า “ดนตรีนั้นคือชีวิต จังหวะคอยลิขิตให้ชีวิตก้าวไป” เพลงยมบาลเจ้าขา ของ บุปผา สายชล ที่ร้องว่า “ยมบาลเจ้าขา เชิญท่านมารับฟังหน่อยสิ นักร้องเสียงเย็นแถมเป็นคนดี ท่านเอาไปเมืองผีเสียปีละคนสองคน” หรือใหม่หน่อยอย่าง รักจริงให้ติงนัง ของ รุ่ง สุริยา ที่ร้องว่า “ติงนังนังตังนิง ชะเออเอ่งเอย ไม่รักจริงไม่กล้า” ก็ได้รับการปรับแปรมาเป็นเพลงเชียร์เช่นกัน

แน่นอนว่าความสนุกสนานยามได้ร้องได้เชียร์ก็เป็นสีสันให้ชีวิตในรูปแบบหนึ่ง แต่หากรู้ว่าเพลงที่เรานั้นเคยร้องเชียร์หรือกำลังร้องเชียร์อยู่ตอนนี้มีที่มาที่ไปและเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไรก็อาจจะทำให้เปลี่ยนวิธีคิดวิธีการมองโลกได้อีกรูปแบบหนึ่งไม่ใช่หรือ ?

 

แหล่งอ้างอิง

วิทยานิพนธ์ ผลกระทบของวิกฤติการณ์น้ำมันต่อสังคมไทย (พ.ศ. 2516-2543)
วิทยานิพนธ์ วิวัฒนาการของเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย พ.ศ. 2481-2535
บทความ The post-modernization of Thainess
หนังสือ อัตลักษณ์ไทย : จากไทยสู่ไทย ๆ
https://www.blockdit.com/posts/618ba6f965c68d05d59c816c 
https://www.silpa-mag.com/history/article_84893  
https://www.youtube.com/watch?v=vlXSJopJ4oo  
https://www.fungjaizine.com/article/guru/psychedelic-rock-101 
https://www.bic.moe.go.th/images/stories/article3.pdf 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น