“บอลนอกแค่สะใจ แต่บอลไทยอยู่ในสายเลือด” วลีนี้เป็นที่คุ้นเคยสำหรับแฟนบอลชาวไทยที่ชื่นชอบและติดตามการแข่งขันลีกฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย แต่ไม่เพียงเท่านั้นถ้อยคำดังกล่าวได้สลักลงกลางใจของชายชาวกัมพูชาที่ชื่อว่า เมงโท เฮง เช่นกัน
เมงโท เฮง ถือเป็นแฟนบอลตัวยงของสโมสรการท่าเรือเอฟซี โดยตามเชียร์มานานกว่าทศวรรษ และแน่นอนว่าเขาคือแฟนบอลชาวกัมพูชาที่เก็บสะสมเสื้อของสิงห์เจ้าท่ามากกว่า 50 ตัว ทั้งเสื้อของสโมสรในอดีตสุดหายาก อย่างเสื้อปี 2009 ชุดคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ที่ผลิตโดย Umbro , ปี 2010 ที่ผลิตโดย adidas จนถึงยุคปัจจุบัน
แต่กว่าที่ เมงโท เฮง จะก้าวเข้าสู่วงการสะสมเสื้อฟุตบอลของสโมสรการท่าเรือ เอฟซี นั้นแสนยากลำบาก เรื่องราวของเขาจะเป็นอย่างไรติดตามได้ที่นี่
เพราะไม่อยากเชียร์ตามคนอื่น
เมงโท เฮง เดินทางเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยตั้งแต่ยังหนุ่มและตระเวนไปทำงานหลายจังหวัด แต่ด้วยความที่เป็นหนอนหนังสือและชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ทำให้ตัวเขาพอที่จะทราบเรื่องราวต่าง ๆ ของวงการฟุตบอลไทย
ในสมัยนั้นชื่อเสียงของสโมสรฟุตบอลในไทยก็มีเพียงไม่กี่ทีม อาทิ เมืองทอง หนองจอก ยูไนเต็ด (เมืองทอง ยูไนเต็ด), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) , บีอีซี เทโรศาสน , พนักงานยาสูบ , ธนาคารกรุงไทย รวมถึงการท่าเรือ เอฟซี
ซึ่งแน่นอนว่าทีมขวัญใจแฟนบอลชาวไทยส่วนใหญ่ก็คงตกเป็นของ เมืองทอง หนองจอก ยูไนเต็ด เช่นเดียวกับ เมงโท
“ทีแรกผมไม่ได้ชอบท่าเรือนะ ชอบหนองจอก (เมืองทอง ยูไนเต็ด) คือชีวิตผม ผมชอบอ่านหนังสือไทยรัฐ กับสตาร์ซอกเกอร์ ได้มารู้จักทีมการท่าเรือก็เลยมาชอบท่าเรือดีกว่า ก็ติดตามท่าเรือมาตั้งแต่ตอนนั้น”
ไม่ใช่เพียงแค่ความต้องการที่อยากเชียร์ทีมที่แตกต่างจากคนอื่น อีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้ เมงโท ชื่นชอบและตามเชียร์ สโมสรการท่าเรือ เอฟซี ก็คือสไตล์การเล่นและกองเชียร์ที่ส่งพลังให้กับนักกีฬาแบบสุดกำลัง
“นัดแรกที่ผมมาดูก็คือเกมก่อนตกชั้น ที่เสมอ 0-0 กับ โอสถสภาฯ ที่ราชมังคลากีฬาสถาน (2012) ตอนนั้นผมก็แอบ ๆ เซ็งนะ แต่ก็ถือเป็นความทรงจำที่ดีเพราะว่าเป็นเกมแรกเลยที่ผมได้ไปดูท่าเรือแข่งที่สนาม”
“แต่ว่าเมื่อก่อนท่าเรือเล่นบอลสนุกมาก วิ่งทั้งเกม ดุดันมาก แล้วก็แฟนบอลเชียร์กันสนุก มันทำให้ผมอินไปกับเกมมาดูทุกครั้งสนุกทุกครั้ง ผมชอบตรงนี้”
เมงโท เผยความรู้สึกครั้งที่ยังคงจดจำได้เป็นอย่างดี และนอกจากการแข่งขันแมตช์แรกจะเป็นหนึ่งในความทางจำสุดประทับใจของการรับชมเกมของสิงห์เจ้าท่า เมงโท ยังเผยเหตุการณ์ในความทรงจำขณะเดินทางไปรับชมเกมแบบไม่มีวันลืม
“ตอนนั้นผมไปชมเกมที่ท่าเรือ ซึ่งข้างหน้าผมมีหนุ่มสาวคู่หนึ่งมาดูบอลเหมือนกัน แต่ว่าจู่ ๆ ก็มีผู้หญิงเดินเข้ามาข้างหลังของทั้งคู่แล้วก็ทะเลาะกับผู้ชาย ประมาณว่าผู้ชายเขามากับกิ๊ก แต่บอกแฟนว่าติดงานมาดูบอลด้วยไม่ได้ ตอนนั้นผมงงมากไม่คิดว่าจะเจอเหตุการณ์แบบนี้” เมงโท เผยถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น
กว่าจะได้เสื้อฟุตบอลตัวแรกไม่ใช่เรื่องง่าย
เมื่อเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรในฐานะแฟนบอลการได้สวมเสื้อฟุตบอลไปร่วมเชียร์ทีมรักอาจเป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่กลับกันในชีวิตของ เมงโท การได้ครอบครองเสื้อฟุตบอลสักหนึ่งตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสักทีเดียว
เมงโท เฮง เผยว่าในอดีตนั้นหลาย ๆ อาชีพไม่ว่าจะเป็น ชาวสวน หนุ่มโรงงาน หรือแม้กระทั่งกรรมกร ซึ่งค่าแรงในแต่ละอาชีพนั้นมีมูลค่าเพียงไม่กี่ร้อยบาท ทำให้โอกาสในการซื้อเสื้อฟุตบอลลิขสิทธิ์แท้สักหนึ่งตัวนั้นอาจไกลเกินเอื้อม
“เมื่อก่อนผมเคยไปทำงานอยู่ที่ชลบุรี ตอนนั้นทีมชลบุรีก็ดัง ผมเองก็อยากได้เสื้อแข่งของชลบุรีเพราะว่ามันสวยมาก แต่ว่าไม่มีเงินซื้อ”
“มันยากมากตอนนั้นเราทำงานได้ค่าแรงน้อยด้วย พอได้เงินมาเราก็แบ่งครึ่งหนึ่งเก็บไว้ อีกครึ่งหนึ่งก็ใช้ ตอนนั้นมีเงินเก็บก็ซื้อได้แค่เสื้อบอลแมนยูฯ หลังสนามศุภฯ 300-400 บาทแค่นั้น”
ในช่วงที่ เมงโท ทำงานอยู่ที่ประเทศไทยเป็นจังหวะที่ประเทศไทยพบเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้งทำให้ค่าแรงขึ้นต่ำมีมูลค่าเพียง 170-180 บาทต่อวันเท่านั้น
จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จนในที่สุดชายชาวกัมพูชารายก็ได้ครอบครองเสื้อสโมสรที่เขาชื่นชอบ
“เสื้อตัวแรกคือที่ซื้อคือเสื้อปี 2016 คือผมชอบมากสำหรับผม ผมว่าเสื้อตัวนี้เป็นเสื้อที่สวยตัวหนึ่งของท่าเรือเลย ผมดีใจมากเพราะว่าที่ผ่านมาเราไม่มีเงินพอที่จะซื้อเลย”
เมื่อเข้าสู่วงการเสื้อฟุตบอลคงจะเป็นเรื่องยากที่แฟนกีฬาจะมีเสื้อฟุตบอลเพียงตัวเดียว ซึ่ง เมงโท ได้เก็บหอมรอมริบเงินที่หามาได้จากการทำงาน และเริ่มซื้อเสื้อการท่าเรือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“ตอนที่ผมซื้อเสื้อบอลช่วงแรก ๆ แฟนของผมไม่เข้าใจว่าซื้อมาทำไม เพราะว่าเสื้อฟุตบอลตัวหนึ่งมันราคา 700-800 บางตัวก็ราคาเป็นพัน เขาก็บ่นเราหนักมาก จนหลัง ๆ เขาก็เริ่มปล่อยเรา ซึ่งมีอยู่สองอย่างนี่แหละที่ขอเขา อย่างแรกก็คือเสื้อฟุตบอล อย่างที่สองก็คือลอตเตอรี่” เมงโท กล่าวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มและหัวเราะชวนทีม Main Stand คล้อยตาม
ไม่เพียงเท่านั้นด้วยความที่เห็นคุณค่าของเสื้อฟุตบอล เมงโท จึงเลือกเก็บเสื้อฟุตบอลไว้ในตู้เสื้อผ้า พร้อมกับไม้แขวนเสื้อที่มีความสวยงามแตกต่างจากเสื้อผ้าธรรมดาทั่วไปพร้อมย้ายเสื้อผ้าของภรรยาไปไว้ในห้องน้ำ
“เสื้อทีมผมซื้อมาต้องใส่ไม้แขวนแบบนี้เพราะว่าเสื้อพวกนี้มีความพิเศษสำหรับผม มันเป็นเสื้อสะสมของผมด้วย รวม ๆ แล้วเสื้อของผมมีเกือบ 50 ตัวเลย บางตัวผมซื้อมาไม่ได้ใส่นะ เก็บใส่ตู้อย่างเดียว จนต้องย้ายชุดของภรรยาเข้าไปแขวนราวเสื้อในห้องน้ำเพราะว่าตู้ใส่ไม่พอ”
เสื้อทุกตัวของผมมีสตอรี่
ทันทีที่ก้าวเข้ามาเป็นนักสะสมเสื้อฟุตบอลสโมสรการเท่าเรือตัวยงนอกจาก เมงโท จะตามเก็บสะสมเสื้อในทุก ๆ ปีที่ผลิตออกมา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแข่งไทยลีก หรือ แม้กระทั่ง AFC ที่ทางแบรนด์ Ari ได้ออกแบบ ซึ่งเสื้อที่ซื้อเข้ามาแขวนอยู่ในตู้เสื้อผ้านั้นกลับมีเรื่องราวและความประทับใจทุกตัว
“อย่างเสื้อตัวนี้เป็นเสื้อของ จิรวัฒน์ มัครมย์ (กองกลางจอมยิงฟรีคิกของสโมสรการท่าเรือ) เขาเป็นนักเตะที่ผมชอบมากที่สุดของท่าเรือ แล้วเสื้อของเขาตัวนี้ก็เป็นเสื้อที่ท่าเรือได้แชมป์ เอฟเอคัพ ตอน 2009 ผมก็เลยเก็บ แต่กว่าจะหาได้ผมใช้เวลานานมาก”
“สมัยนี้เสื้อแต่ละตัวเนี่ยไม่ใช่ราคาถูก ๆ เลย ตัวละ 990 บาท แล้วบางทีทำมาไม่ถูกใจเรา แต่ผมชอบท่าเรือจริง ผมก็ซื้อมาเพราะว่ามันเป็นสตอรี่ ผมอยากเก็บ ไม่ถูกใจแค่ไหนผมก็ซื้อ เพราะผมอยากให้เสื้อบอลเป็นส่วนหนึ่งของผม”
คำว่าสตอรี่หรือเรื่องราวไม่ได้ใช้กับเสื้อของสโมสรการท่าเรือเพียงเท่านั้น แต่ยังมีเสื้ออีกหลายตัวที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำอันแสนประทับใจของชายชาวกัมพูชารายนี้
“ผมมีเสื้อฟุตบอลเยอะมาก ทั้งเสื้อของชลบุรี บุรีรัมย์ แล้วก็เมืองทอง แต่ว่าชอบเป็นคนชอบแจกเสื้อให้กับคนอื่น อย่างเสื้อเมืองทองผมก็เคยมี แต่ว่าผมให้รุ่นพี่ไป เพราะว่ารุ่นพี่ชอบ ธีรศิลป์ แดงดา มาก กาวเลอะหรือเสื้อเปื้อนแค่ไหนเขาก็ยังใส่”
“เพราะว่าเสื้อที่ผมให้เขาไปมันเป็นตัวแรกของเขา มันเลยมีสตอรี่ สมมติว่าถ้าคุณชอบใครแล้วผมมีเสื้อสะสมอยู่ ผมก็จะให้ มันจะทำให้เขารู้สึกว่าเวลาใส่เสื้อตัวนี้มันมีเรื่องราวอยู่ด้วย เรื่องราวมันเป็นแบบนี้ผมก็เลยชอบให้คนอื่น”
“อย่างเสื้อที่ผมให้คุณก็เหมือนกัน เวลาคุณใส่ออกกำลังกายหรือเตะฟุตบอลก็จะนึกถึงผมเพราะว่าเสื้อตัวนี้ผมเป็นคนให้มา คุณก็จะสามารถบอกเล่ากับคนอื่นได้”
ซึ่งก่อนหน้าที่บทสนทนาจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ เมงโท ได้หันไปที่ตู้เสื้อผ้าพร้อมกับใช้เวลาค้นหาเสื้อฟุตบอลที่มีขนาดพอที่ทีม Main Stand จะสวมใส่ได้พร้อมกับเดินนำมาให้ โดยเสื้อที่นำมาให้เรานั้นเป็นเสื้อของสโมสร Phnom Pen Crown ทีมดังแห่งกัมพูชา พรีเมียร์ลีก
“นี่แหละมันเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมผมชอบให้เสื้อคนอื่น เสื้อที่ผมให้ไปแล้ว ผมไม่เคยเสียดายเลย เพราะผมตั้งใจให้”
เสื้อบอลที่ผลต่อชีวิต
ในชีวิตประจำวันเรามักจะพบเห็นผู้ที่สวมเสื้อฟุตบอลได้บ่อยมากขึ้น ไม่เพียงแค่สวมใส่เพื่อบ่งบอกทีมรักแต่เสื้อฟุตบอลยังถูกดีไซน์ขึ้นมาให้รองรับความเป็นแฟชั่นรวมถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอีกทั้งเสื้อกีฬานั้นผลิตขึ้นมาด้วยผ้าโพลีเอสเตอร์ทำให้มีน้ำหนักเบาสวมใส่สบายและยังระบายอากาศได้ดีอีกด้วย
เมงโท เฮง เผยว่าตัวเขาและภรรยาชื่นชอบการสวมใส่เสื้อฟุตบอลเป็นอย่างมากพร้อมอธิบายถึงเหตุผลของความชื่นชอบนี้ให้เราได้ฟัง
“เสื้อฟุตบอลมันใส่สบาย บางทีผมก็สั่งมาจากประเทศไทยใส่คู่กับภรรยา อย่างเสื้อของบุรีรัมย์ผมก็มีนะหลายตัวเลย ภรรยาผมชอบเพราะว่าใส่ออกกำลังกายดีมากเลย”
ซึ่งในขณะที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้น ภรรยาของ เมงโท ได้เดินเข้ามาข้างในบ้านซึ่งเสื้อที่เธอได้สวมใส่อยู่นั้นก็เป็นเสื้อของทีม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พร้อมยืนยันอีกหนึ่งเสียงว่าเธอชื่นชอบการสวมใส่เสื้อฟุตบอลจริง ๆ
สำหรับ เมงโท ไม่ว่าจะเดินทางไปสถานที่ไหนทั้ง ไปรับชมการแข่งขันฟุตบอลที่สนามในประเทศกัมพูชา หรือ ใช้ชีวิตประจำวัน เสื้อฟุตบอลท่าเรือก็กลับเป็นเหมือนอาวุธประจำกายที่มักจะหยิบออกจากไม้แขวนเสื้อมาสวมใส่
“ผมเคยใส่เสื้อบอลของการท่าเรือไปดูบอลในกัมพูชาด้วยนะ ใครจะมองว่า เห้ย ทำไมใส่เสื้อบอลไทย เราก็ไม่สน คือผมแค่อยากใส่ และเราเป็นแฟนบอลท่าเรืออยู่แล้วด้วย”
ความเป็นสิงห์เจ้าท่าซึมซับอยู่ในลายเลือดของ เมงโท โดยปริยายนับตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิพัดถล่มทางภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อปี 2547 ซึ่งรวมถึงปัจจุบันก็เป็นระยะเวลาถึง 16 ปีแล้ว
แม้ว่าในปัจจุบันชายชาวกัมพูชารายนี้จะต้องย้ายกลับมาที่ประเทศกัมพูชาเพื่อดูแลครอบครัว แต่เขาบอกว่า จะยังคงติดตามและเชียร์การท่าเรืออยู่เสมอ อีกทั้งหากมีโอกาสกลับไปที่ไปที่ประเทศไทยก็พร้อมที่จะเดินทางไปส่งแรงเชียร์และกำลังใจให้กับนักกีฬาเหมือนวันแรกที่เลือกมาเป็นหนึ่งในแฟนบอลของสิงห์เจ้าท่า