Feature

ภาพสะท้อนจากมังงะ AOASHI : ความต่างของนักเตะญี่ปุ่นที่เติบโตใน “อคาเดมี” กับ “ทีมโรงเรียน” | Main Stand

“เด็กที่เติบโตมาจากอคาเดมีน่ะ จิตใจอ่อนแอ” ยูมะ โมโตกิ หนึ่งในตัวละครจากเรื่อง Aoashi ได้กล่าวเอาไว้

 


ทีมชาติญี่ปุ่นคือหนึ่งในทีมที่ทำผลงานน่าจดจำในฟุตบอลโลก 2022 ด้วยการเก็บสามแต้มจากสองทีมอดีตแชมป์ฟุตบอลโลกอย่าง เยอรมนี และ สเปน มาได้ในรอบแบ่งกลุ่ม พร้อมตี๋ตัวเข้ารอบ 16 ทีมได้ในฐานะแชมป์กลุ่ม E ที่หลายคนมองว่าเป็นกรุ๊ปออฟเดธประจำฟุตบอลโลกครั้งนี้ 

ชัยชนะทั้งสองเกมในรอบแบ่งกลุ่มของญี่ปุ่นทำให้ Blue Lock มังงะฟุตบอลที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นอนิเมะออกฉายในช่วงฟุตบอลโลกที่กาตาร์กำลังทำการแข่งขัน กลายเป็นที่นิยมและถูกพูดถึงในวงสนทนาของแฟนบอลญี่ปุ่นทันที

อย่างไรก็ดี หลังจากญี่ปุ่นพ่ายตกรอบ 16 ทีมในฟุตบอลโลก 2022 ด้วยน้ำมือของ โครเอเชีย ผ่านการดวลจุดโทษ มันก็ทำให้มังงะฟุตบอลอีกเรื่องที่ชื่อ Aoashi ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงด้วยเช่นกัน แม้กระแสของมังงะเรื่องนี้จะไม่ได้แรงเท่ากับ Blue Lock ก็ตาม

มันคือมังงะอะไร และเกี่ยวข้องกับความพ่ายแพ้ในการดวลจุดโทษของญี่ปุ่นอย่างไร ร่วมหาคำตอบไปกับ Main Stand

 

เหตุเกิดจากความสงสัย

สำหรับเป้าหมายของทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก 2022 พวกเขาตั้งใจเอาไว้ว่าจะผ่านเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายให้ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายญี่ปุ่นก็ทำไม่สำเร็จหลังต้องหยุดเส้นทางของตัวเองในฟุตบอลโลก 2022 ไว้ที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย จากการพ่ายดวลจุดโทษต่อโครเอเชีย นับเป็นการแพ้ดวลจุดโทษครั้งที่สองของพวกเขาในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบ 16 ทีมสุดท้าย ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นในเกมพบ ปารากวัย ในปี 2010 

การดวลจุดโทษกับโครเอเชียในฟุตบอลโลก 2022 ญี่ปุ่นได้ยิงจุดโทษ 4 ครั้ง ก่อนที่จะพ่ายแพ้ต่อทีมตาหมากรุกไป ด้วยการที่พวกเขาสังหารลูกจุดโทษเข้าประตูฝ่ายตรงข้ามไปได้เพียงแค่ลูกเดียวเท่านั้นจาก ทาคุมะ อาซาโนะ ฮีโร่ผู้ทำประตูชัยเกมพบเยอรมนีในรอบแบ่งกลุ่ม 

ส่วนอีกสามคน ได้แก่ ทาคุมิ มินามิโนะ, คาโอรุ มิโตมะ และ มายะ โยชิดะ ต่างยิงไปติดเซฟนายด่านของโครเอเชียทั้งหมด ขณะที่ทางฝั่งโครเอเชียทำได้ดีกว่า ยิงจุดโทษ 4 ครั้ง เข้า 3 ประตู ส่งผลให้พวกเขาคว้าชัยในการดวลจุดโทษกับญี่ปุ่น และผ่านเข้ารอบ 8 ทีมต่อไป

นั่นจึงเป็นเหตุให้แฟนบอลญี่ปุ่นรายหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่าทำไม ทาคุมิ มินามิโนะ, คาโอรุ มิโตมะ และ มายะ โยชิดะ ทั้งสามคนนี้ถึงยิงจุดโทษไม่เข้า จากนั้นเขาก็ได้ไปพบกับข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจและตัดสินใจโพสต์ข้อมูลเหล่านั้นลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวของตัวเองที่ชื่อ @trinitasapo_12 ซึ่งรายละเอียดข้อมูลที่แฟนบอลรายนี้พบคือรายชื่อนักเตะผู้ก้าวขึ้นมายิงจุดโทษเกมที่ญี่ปุ่นลงเล่นในฟุตบอลโลกรอบ 16 ทีมสุดท้าย ปี 2010 และ 2022 โดยระบุว่านักเตะคนไหนยิงจุดโทษเข้าไม่เข้าบ้าง รวมถึงวงเล็บชื่อสังกัดทีมที่แต่ละคนลงเล่นสมัยที่เป็นนักเตะเยาวชน ดังนี้

ผู้ขึ้นมายิงจุดโทษเกมพบปารากวัย ฟุตบอลโลก 2010 รอบ 16 ทีม ตามลำดับการยิง

ยาซุฮิโตะ เอ็นโดะ (นักเตะทีมโรงเรียน ม.ปลาย) ยิงเข้า
มาโกโตะ ฮาเซเบะ (นักเตะทีมโรงเรียน ม.ปลาย) ยิงเข้า
ยูอิจิ โคมาโนะ (นักเตะอคาเดมี ซานเฟรซเซ่ ฮิโรชิมา) ยิงไม่เข้า
เคสุเกะ ฮอนดะ (นักเตะทีมโรงเรียน ม.ปลาย) ยิงเข้า 

ผู้ขึ้นมายิงจุดโทษเกมพบโครเอเชีย ฟุตบอลโลก 2022 รอบ 16 ทีม ตามลำดับการยิง

ทาคุมิ มินามิโนะ (นักเตะอคาเดมี เซเรโซ่ โอซากา) ยิงไม่เข้า
คาโอรุ มิโตมะ (นักเตะอคาเดมี คาวาซากิ ฟรอนตาเล่) ยิงไม่เข้า
ทาคุมะ อาซาโนะ (นักเตะทีมโรงเรียน ม.ปลาย) ยิงเข้า
มายะ โยชิดะ (นักเตะอคาเดมี นาโงยา แกรมปัส) ยิงไม่เข้า

จากข้อมูล แฟนบอลญี่ปุ่นคนนี้ต้องการจะสื่อให้ทุกคนเห็นว่ามีบางอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องบังเอิญ แต่แท้จริงมันอาจมีอะไรบางอย่างถูกซ่อนเอาไว้ นั่นคือการที่เหล่านักเตะญี่ปุ่นที่เติบโตมาจากระบบทีมอคาเดมีของสโมสรฟุตบอลเจลีกต่างยิงจุดโทษกันไม่เข้าเลย ขณะที่นักเตะที่เติบโตมาจากการลงเล่นให้ทีมฟุตบอลของโรงเรียนมัธยมปลายต่างสังหารจุดโทษเข้าหมดทุกราย 

ซึ่งหลังจากที่เขาได้โพสต์ข้อมูลเหล่านี้ลงในโลกโซเชียลมีเดีย ได้มีแฟนบอลรายอื่น ๆ เข้ามาให้ความเห็นโดยส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าที่ ทาคุมิ มินามิโนะ, คาโอรุ มิโตมะ และ มายะ โยชิดะ ยิงจุดโทษไม่เข้าอาจเป็นผลมาจากการที่พวกเขาล้วนเป็นนักเตะที่เติบโตในระบบอคาเดมีของทีมฟุตบอลอาชีพก็ได้ โดยมีแฟนบอลคนหนึ่งได้กล่าวว่า

"มันอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้นะ แต่นักเตะจากอคาเดมีทีมชั้นนำต่างไม่ค่อยคุ้นชินกับการยิงจุดโทษในเกมสำคัญ เพราะพวกเขาได้ลงเล่นแต่เกมในลีก ต่างกับนักเตะในทีมโรงเรียน ม.ปลาย ที่ต้องลงเล่นเกมการแข่งขันชิงแชมป์อยู่บ่อย ๆ แล้วได้เจอกับสถานการณ์ที่ทีมต้องดวลจุดโทษตัดสินผู้ชนะกับคู่แข่งตลอด"

และจากจุดนี้เองที่นำไปสู่การที่เหล่าแฟนบอลญี่ปุ่นกลุ่มเล็ก ๆ พูดถึงมังงะเรื่องหนึ่งที่มีการนำเสนอเรื่องราวความแตกต่างของนักเตะญี่ปุ่นที่เติบโตมาจาก ระบบอคาเดมีทีมฟุตบอลอาชีพ กับ ทีมฟุตบอลประจำแต่ละโรงเรียน มังงะดังกล่าวมีชื่อเรื่องว่า “Aoashi” หรือ “แข้งเด็กหัวใจนักสู้” ในภาษาไทย

 

เรื่องราวใน Aoashi

มังงะ “Aoashi” หรือชื่อไทย “แข้งเด็กหัวใจนักสู้” เป็นมังงะฟุตบอลที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2015 ด้วยปลายปากกาของนักเขียนนามว่า ยูโงะ โคบายาชิ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Weekly Big Comic Spirits ปัจจุบันมีจำนวนรวมเล่มทั้งหมด 30 เล่ม จากนั้นมังงะเรื่องนี้ก็ได้ถูกนำไปต่อยอดเป็นผลงานทีวีอนิเมะ 24 ตอนจบ เมื่อช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายนปีนี้ 

ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่มังงะ Blue Lock จะถูกดัดแปลงเป็นผลงานทีวีอนิเมะแล้วออกฉายในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ ดังนั้นในช่วงที่ฟุตบอลโลก 2022 กำลังทำการแข่งขันอยู่นั้นแฟนบอลญี่ปุ่นมักจะมีการพูดถึงมังงะสองเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมะเมื่อไม่นานนี้เอง กระแสความนิยมจึงยังมีอยู่

Aoashi ว่าด้วยเรื่องราวของ อาชิโตะ อาโออิ เด็กหนุ่มมัธยมต้นปีที่ 3 ของทีมโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเอฮิเมะ ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียว เมืองหลวงญี่ปุ่นถึง 800 กม. ผู้มีพรสวรรค์ในการเล่นฟุตบอลที่สูงจากการมองเห็นการเคลื่อนไหวของผู้เล่นในสนามได้อย่างกับรู้อนาคตล่วงหน้า แต่กลับไม่รู้วิธีการใช้ความสามารถนั้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เขาตัดสินใจที่จะเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อมาเล่นฟุตบอลให้กับทีมเยาวชนของ โตเกียว ซิตี้ เอสพีเรียน ทีมฟุตบอลระดับเจลีก ตามความฝันของเขาที่อยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ หลังได้รับคำชวนจาก ทัตสึยะ ฟุคุดะ โค้ชทีมสำรองของสโมสรฟุตบอลอาชีพแห่งนี้ให้เข้ามาร่วมทีม

อาโออิตั้งเป้าว่าตัวเองจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้เล่นทีมชุดใหญ่ได้ในเร็ววัน แต่แล้วเป้าหมายนั้นก็ต้องพับเก็บไปก่อน เพราะเขาได้มาเจอกับอุปสรรคชิ้นโต นั่นคือการที่เขาจะต้องปรับตัวเข้ากับการเล่นฟุตบอลของทีมระดับอาชีพ ซึ่งที่ผ่านมาตัวเขามีประสบการณ์แค่กับการเล่นให้กับทีมโรงเรียน ไม่เคยได้เล่นฟุตบอลในระดับของมืออาชีพมาก่อนเลย 

นั่นจึงทำให้เขาไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีมที่เติบโตมาในระบบอคาเดมีของ โตเกียว ซิตี้ เอสพีเรียน แต่แรกอยู่แล้ว และเขาต้องพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่า ถึงแม้จะไม่เคยเล่นฟุตบอลแบบมืออาชีพมากก่อนก็สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาเล่นฟุตบอลในความเข้มข้นระดับนี้ได้

เขาจะสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมฟุตบอลแห่งนี้และก้าวไปสู่การเป็นนักเตะอาชีพได้หรือไม่ สามารถติดตามเรื่องราวของเขาได้ผ่านทางมังงะที่ได้ลิขสิทธิ์วางขายในไทยโดย สยามอินเตอร์คอมมิกส์ หรือรับชมเป็นตัวอนิเมะทั้ง 24 ตอนได้ที่ Disney+

นอกจากเราจะได้เห็นพัฒนาการของ อาชิโตะ อาโออิ จากนักเตะทีมโรงเรียนสู่ผู้ที่พร้อมจะก้าวสู่การลงเล่นฟุตบอลระดับอาชีพ มังงะ Aoashi ยังได้สอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับความแตกต่างของนักเตะญี่ปุ่นที่เติบโตมาจากอคาเดมีของทีมฟุตบอลอาชีพ กับทีมฟุตบอลโรงเรียนต่าง ๆ ผ่านมุมมองของอาโออิ นักเตะไม่กี่คนของทีมเยาวชน โตเกียว ซิตี้ เอสพีเรียน ที่เติบโตมาจากการลงเล่นให้กับทีมโรงเรียน

โดยตัวเรื่องได้แสดงให้เห็นอยู่ตลอดว่านักเตะจากอคาเดมีนั้นมีองค์ความรู้ด้านฟุตบอลสำหรับนำไปต่อยอดสู่การเป็นนักเตะอาชีพที่เหนือกว่านักเตะทีมโรงเรียนอย่างเห็นได้ชัด จากการที่อาโออิต้องมาไล่ตามศึกษาวิธีการเล่นฟุตบอลของเพื่อนร่วมทีมที่เติบโตอยู่กับสโมสรโตเกียว ซิตี้ เอสพีเรียน มาตั้งแต่เด็ก เพื่อปรับตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา

ซึ่งมันก็ตรงกับความเป็นจริง เพราะการได้เป็นนักเตะอคาเดมีของทีมฟุตบอลอาชีพย่อมมีโอกาสที่จะได้พบเจอกับความก้าวหน้าในการเป็นนักฟุตบอลมากกว่าการเป็นนักเตะทีมโรงเรียนอยู่แล้ว เนื่องจากนักเตะอคาเดมีจะได้รับการฝึกสอนการเล่นฟุตบอลอย่างเข้มข้นจากบุคลากรด้านฟุตบอลโดยตรงตั้งแต่เด็ก ดังนั้นทักษะความรู้ด้านฟุตบอลของพวกเขาก็ต้องเหนือกว่านักเตะทีมโรงเรียนแน่นอน

และหากพวกเขาทำผลงานได้ดีในทีมเยาวชนก็อาจจะถูกเรียกตัวขึ้นไปเล่นในทีมชุดใหญ่ได้ แล้วหากยังทำผลงานได้ดีอีก โอกาสในการเป็นนักเตะอาชีพอย่างเต็มตัวก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

จากข้อมูลของนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก พบว่าปัจจุบันมีนักเตะที่เติบโตมาจากอคาเดมีที่ได้ไปลุยฟุตบอลโลกเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยในฟุตบอลโลก 2022 ญี่ปุ่นเลือกนักเตะอคาเดมีไปลุยทัวร์นาเมนต์นี้ 13 คน เท่ากันกับนักเตะทีมโรงเรียน 13 คน ต่างกับฟุตบอลโลกหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ที่ญี่ปุ่นมักใช้นักเตะที่เติบโตมาจากทีมโรงเรียนมากกว่า เช่น ฟุตบอลโลก 2010 ที่ญี่ปุ่นเลือกนักเตะทีมโรงเรียนไป 20 คน ขณะที่นักเตะอคาเดมีมีเพียง 3 คนเท่านั้น

นี่แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันระบบอคาเดมีของหลายสโมสรเจลีกได้พัฒนาขึ้นมากกว่าแต่ก่อน และมันได้นำไปสู่ผลงานของทีมชาติญี่ปุ่นที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักเตะญี่ปุ่นที่เติบโตมาจากระบบอคาเดมีจะเพียบพร้อมไปหมดทุกอย่างสำหรับการเล่นฟุตบอล เพราะมีอยู่หนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับการเล่นฟุตบอลที่นักเตะอคาเดมียังด้อยกว่านักเตะทีมโรงเรียนอยู่

 

จุดอ่อนที่แฝงอยู่ในตัว

“อย่าบาดเจ็บ เป็นมืออาชีพ เล่นให้ชนะ” 

“เพราะยึดติดกับลำดับแบบนี้ เด็กอคาเดมีอย่างพวกนายถึงได้เล่นบอลแบบใส่ไม่สุดอยู่ตลอด” เคย์จิ โทงาชิ หนึ่งในตัวละครจากเรื่อง Aoashi บอกกับเพื่อนร่วมทีมที่เติบโตมาจากระบบอคาเดมีถึงจุดอ่อนที่พวกเขาแสดงออกมาอย่างไม่รู้ตัว

สิ่งที่นักเตะทีมโรงเรียนมีมากกว่านักเตะจากอคาเดมีได้ถูกเปิดเผยผ่านการบอกเล่าของอีกตัวละครหนึ่งในเรื่อง Aoashi ที่ชื่อ เคย์จิ โทงาชิ รูมเมตของอาโออิ ผู้มีเส้นทางการค้าแข้งแบบเดียวกับพระเอกของเรื่อง นั่นคือการเป็นนักเตะทีมโรงเรียนมาก่อน แล้วจึงได้มาร่วมทีมเยาวชนของ โตเกียว ซิตี้ เอสพีเรียน ผ่านการชักชวนของ ทัตสึยะ ฟุคุดะ

โดยครั้งหนึ่งโทงาชิได้บอกกับอาโออิว่า จิตใจความเป็นนักสู้ของนักเตะที่เติบโตมาจากระบบอคาเดมีนั้นเทียบไม่ได้เลยกับนักเตะทีมโรงเรียน 

“เจ้าพวกนั้น (นักเตะอคาเดมี) เล่นฟุตบอลต่างจากเรา การที่พวกนั้นเติบโตมาจากระบบที่มีแต่การเล่นฟุตบอลที่เป็นแบบแผนอย่างนั้น มันทำให้พวกนั้นขาดความเป็นนักสู้ที่พร้อมจะเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อเป้าหมายยิ่งใหญ่ที่ตัวเองได้ตั้งไว้ พอถึงเวลาที่คับขันหรือเต็มไปด้วยความกดดัน พวกนั้นก็ทำอะไรไม่เป็นแล้ว” โทงาชิ เผยมุมมองของเขาที่มีต่อนักเตะอคาเดมีให้รูทเมตของตัวเองฟัง

การเป็นนักเตะทีมโรงเรียนนั้น แน่นอนว่าทักษะด้านฟุตบอลที่ได้มาอาจไม่ดีเท่านักเตะอคาเดมี แต่สิ่งหนึ่งที่จะได้มากกว่าแน่นอนนั่นคือเรื่องของสภาพจิตใจ

ในขณะที่นักเตะอคาเดมีต่างทุ่มเทชีวิตทั้งหมดให้กับฟุตบอล เพราะหากพวกเขาไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ ชีวิตของพวกเขาก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรแล้ว ดังนั้นความล้มเหลวหรือการแพ้ในเกมที่สำคัญคือสิ่งที่พวกเขากลัวมากที่สุด ทำให้ความกล้าที่จะลองเสี่ยงเพื่อแลกกับความสำเร็จนั้นหายไป

ตรงกันข้าม นักเตะทีมโรงเรียนกลับใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจให้แข็งแกร่ง เพราะชีวิตหลังจากที่พวกเขาเรียนจบนั้นมันไม่ได้การันตีว่าจะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพกันหมดทุกคน ดังนั้นการได้รับรู้แง่มุมอื่น ๆ ของชีวิตนอกเหนือจากเรื่องของฟุตบอลจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอนาคตของพวกเขา เพราะมันจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าความล้มเหลวนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอระหว่างการใช้ชีวิต ขอเพียงแค่ลุกขึ้นมาจากความล้มเหลวนั้นให้ได้ก็พอ เมื่อพวกเขามองว่าความล้มเหลวนั้นเป็นเรื่องปกติ ความกล้าหาญในใจมันจึงปรากฏออกมา

นักเตะอคาเดมีแม้จะมีความสามารถด้านฟุตบอลที่สูง แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ซึ่งเต็มไปด้วยความกดดันอย่างการดวลจุดโทษตัดสินผู้ชนะ พวกเขาอาจไม่สามารถดึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ออกมาใช้ได้ในเวลานั้น เนื่องจากกลัวว่าทีมจะแพ้จนมีสภาพจิตใจที่อ่อนแอเกินจะแบกรับความกดดันไว้ได้

“เด็กที่เติบโตมาจากอคาเดมีน่ะ จิตใจอ่อนแอ” ยูมะ โมโตกิ หนึ่งในตัวละครจากเรื่อง Aoashi ได้กล่าวเอาไว้

แต่อย่างไรก็ตาม จะนักเตะอคาเดมีหรือนักเตะทีมโรงเรียน ท้ายที่สุดจุดหมายของพวกเขาทั้งคู่ก็ไม่ได้ต่างกัน นั่นคือการเป็นนักเตะอาชีพ

 

บรรจบที่จุดหมายเดียวกัน

แม้ทั้งนักเตะจากอคาเดมีและนักเตะทีมโรงเรียนจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันก็ตาม จุดมุ่งหมายของพวกเขาก็ไม่ต่างกัน

ดังนั้นการที่นักเตะทั้งสองกลุ่มได้มีโอกาสหันหน้าเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันจะเป็นผลดีต่อพวกเขาในการพัฒนาเป็นนักเตะที่ดีขึ้นจากจุดนี้ และเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

“มันไม่เกี่ยวหรอกว่าจุดเริ่มต้นของแต่ละคนจะมาจากที่ไหน ถ้าไร้ซึ่งความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนักฟุตบอลที่ดีให้ได้ ความฝันที่จะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพก็คงไม่มีทางเกิดขึ้นกับพวกเราหรอก” อาชิโตะ อาโออิ บอกกับโทงาชิและเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ที่เติบโตมาจากอคาเดมี ว่าพวกเขาทั้งหมดต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ 

พร้อมกับบอกให้ทุกคนลองเปิดใจพูดคุยทำความเข้าใจถึงมุมมองเกี่ยวกับฟุตบอลของแต่ละฝ่าย เพื่อให้ทีมรวมใจเป็นหนึ่งเดียว

“ฉันเชื่อว่าถ้าพวกเราเข้าใจความรู้สึกซึ่งกันและกัน ฟุตบอลที่สวยงามจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน”

สิ่งที่ อาชิโตะ อาโออิ ตัวเอกของเรื่อง Aoashi กำลังทำอยู่คือการพยายามหาทางพัฒนาฝีเท้าของตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ เพื่อความฝันของเขาที่อยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และลบคำสบประมาทจากเพื่อนร่วมทีมที่บอกว่าเขาจะไม่สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้ เขายังคงทำอยู่ด้วยความรักที่เขามีให้กับการเล่นฟุตบอล

 

แหล่งอ้างอิง

อนิเมะ Aoashi ตอนที่ 1 - 24
https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=122427
https://activel.jp/football/tG2Qq
https://ta1-web.com/choice-high-school
https://sakawaku.net/column-0022-youth-highschool/
https://realsound.jp/book/2020/05/post-547930.html

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา