Feature

สเปนยุค "เดอ ลา ฟวนเต้" : กระทิงดุชนดะ ที่เกิดจากเถ้าถ่านของ Tiki-Taka | Main Stand

สเปน กลายเป็นทีมซึ่งทุกคนที่ได้ดู ยูโร 2024 ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มาแบบระบบแน่น ๆ ชัด ๆ แนวทางการเล่นรุกเร้า ดูสนุกมากที่สุดทีมหนึ่ง

 


นี่คือภาพที่เปลี่ยนไปชัดเจน จาก ยูโร 2020 หรือฟุตบอลโลก 2022  ที่พวกเขาเป็นทีมเน้นครองบอล ต่อบอลกันเยอะจนชวนง่วง บางเกมพวกเขาต่อบอลกันเกือบ 1 พันครั้ง และแน่นอนว่าผลลัพธ์ก็ออกมาไม่ดีอย่างที่คิดด้วย 

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงภายใต้การแต่งตั้งโค้ชคนใหม่ หลุยส์ เดอ ลา ฟวนเต้ กุนซือที่แทบไม่เคยจับงานใหญ่ในระดับสโมสร และใช้เวลาส่วนใหญ่กับทีมเยาวชน 

ถ้าเลือกจากโปร์ไฟล์ที่ว่ามานั้นมีคำถามแน่ ... แต่พอได้ทำจริง ทำไมถึงออกมาเนียนขนาดนี้ ? นี่คือเรื่องเชิงลึกที่ Main Stand ค้นมาให้คุณ

 

DNA สเปน 

พูดถึงฟุตบอลของ สเปน สิ่งที่หลายคนนึกถึง คือฟุตบอลคอนโทรลตัวพ่อ ในยุคทองของพวกเขาระหว่างปี 2008 จนถึง 2012 ที่กวาดทุกแชมป์ที่ลงเล่น นำโดยกลุ่มนักเตะที่เรียกว่า "ระดับโลก" ครบ 11 ตำแหน่ง กับแนวทางการครองบอลหรือที่แฟนบอลเข้าใจกันว่า ติกิ-ตากา (Tiki-Taka) จนมีคนบอกว่า ถ้าสเปนได้เริ่มต่อบอลกันเมื่อไหร่ คู่แข่งเตรียมพลังปอดไว้เยอะ ๆ สำหรับเอาไว้วิ่งหาบอลได้เลย 

เหตุผลนั้นมาจากคลาสของนักเตะระดับโลกที่สามารถทำของยากให้เป็นของง่าย ทำของง่ายให้ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วย บวกกับระบบทีมและความเข้าใจที่เล่นด้วยกันมาพักใหญ่ จากการที่นักเตะแกนหลักในยุคนั้น ไม่มาจาก เรอัล มาดริด ก็ บาร์เซโลน่า สองทีมใหญ่ของ ลา ลีกา การต่อบอลของสเปนจึงดูเนียนจนคู่แข่งหาไม่เจอจนชนิดที่ว่าบางครั้งต้องรอให้พวกเขาพลาดเอง จึงจะมีโอกาสเอาบอลกลับมาครองได้บ้าง

แต่แน่นอนว่ามันเป็นวัฏจักรของฟุตบอล ในโลกของฟุตบอลไม่มีทีมไหนยืนยงอยู่บนจุดสูงสุดได้ตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาต้องผลัดใบหรือเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตานักเตะ เอารุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาเล่นแทน กลับกลายเป็นว่าพวกเขาที่ถูกดันขึ้นมาไม่สามารถเล่นได้เหมือนกับรุ่นพี่ ... นักเตะโตไม่ทัน นั่นคือสิ่งทีแฟนบอลคิด 

อย่างไรก็ตาม หากเรามองในมุมกลับกันล่ะ ? มันเป็นหน้าที่ของโค้ชหรือไม่ ? ในเมื่อคุณเห็นชุดนักเตะที่มี หน้าที่ของคุณคือต้องรู้ถึงศักยภาพของพวกเขา คุณจะต้องรู้และเข้าใจถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน มันจะดีกว่าไหมถ้าคุณลองเลือกแนวทางใหม่ ๆ หรือรูปแบบการเล่นให้เหมาะกับขุมกำลัง ดีกว่าการยึดติดวิธีการเดิม ๆ ที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต เพราะในความจริงเราต่างเข้าใจดีว่า การได้ขุมกำลังระดับโลกยืนกันเต็มสนามเหมือนกับสเปนยุคนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ 

เรื่องนี้สะท้อนกลับไปไม่ต้องไกล ในยุคที่ หลุยส์ เอ็นริเก้ คุมทีมระหว่างปี 2018-2022 เพราะมีปัญหาไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องการสะสางตำแหน่ง "บอสใหญ่รักษาการ" อย่าง โรเบิร์ต โมเรโน่ ที่เป็นมือขวาของเขา

โมเรโน่ เข้ามาคุมทีมในช่วงต้นปี 2019 แทนที่ เอ็นริเก้ ซึ่งขอพักเบรกจากฟุตบอลเพื่อใช้เวลาดูแลลูกสาวที่ป่วยหนักก่อนจากโลกนี้ไป ทว่า 5 เดือนถัดมา เอ็นริเก้ ก็กลับมาทวงตำแหน่งคืนตามที่สหพันธ์ฟุตบอลสเปนได้สัญญาไว้ หลังทำใจกับการสูญเสียได้แล้ว

กลับมาที่เรื่องของฟุตบอล เอ็นริเก้ และ โมเรโน่ ยื้อยุดฉุดกระชากกันสักพัก ก่อนที่สุดท้ายสหพันธ์ฟุตบอลสเปนจะเลือก เอ็นริเก้ คุมทีม และดูเหมือนว่า ผลงานจาก ยูโร 2020 ที่สเปนเข้ารอบรองชนะเลิศ ทำให้ เอ็นริเก้ อาจจะเข้าใจศักยภาพของนักเตะชุดฟุตบอลโลก 2022 ผิดไป นั่นคือสาเหตุที่ทำไมเขายังใช้แท็คติก ติกิ-ตากา อยู่ ทั้ง ๆ ที่นักเตะชุดดังกล่าวมีคุณสมบัติที่แตกต่างออกไป เช่นเดียวกับแนวทางของฟุตบอลยุคนี้ ที่บางครั้งการครองบอลก็เหมือนดาบสองคมที่ทำร้ายตัวเองได้เช่นกัน 

ดังนั้นฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ สเปน ภายใต้การคุมของ หลุยส์ เอ็นริเก้ ถูกวิจารณ์หนักหน่วง พวกเขาครองบอลเยอะกว่าคู่แข่งทุกเกม แต่ก็ผ่านเข้ารอบแบ่งกลุ่มแบบทุลักทุเล ครั้นพอถึงรอบ 16 ทีม เจอกับ โมร็อกโก "กระทิงดุ" ครองบอลตั้ง 74% แต่เผด็จศึกโมร็อกโกใน 120 นาทีไม่ได้ สุดท้ายโดน โมร็อกโก เขี่ยตกรอบช่วงดวลจุดโทษตัดสิน 3-0 กลับบ้านแบบหมดสภาพ พร้อมถูกแฟนบอลด่ายับเยิน 

การแพ้จุดโทษจะมองว่าโชคร้ายก็ได้ ... แต่สำหรับสหพันธ์ฟุตบอลสเปน พวกเขามองปัญหาให้ลึกยิ่งกว่านั้น และการแต่งตั้งโค้ชคนใหม่ต่อจาก เอ็นริเก้ ที่ขอรับผิดชอบด้วยการลงจากตำแหน่ง เขาเลือกเอา หลุยส์ เดอ ลา ฟวนเต้ กุนซือที่รู้จักนักเตะสเปนชุดนี้ดีที่สุดคนหนึ่ง จากการรับตำแหน่งกุนซือทีมชาติสเปนมาตั้งแต่รุ่น ยู 19, ยู 21, ยู 23 จนถึงทีมชาติชุดใหญ่

สิ่งที่สหพันธ์ฟุตบอลสเปนต้องการคือ "เปลี่ยนแปลง" และยกระดับจากแนวทางแบบเดิม ๆ ที่กลายเป็นการตกรุ่นล้าหลัง ซึ่งว่ากันว่า Tiki-Taka ตายไปตั้งแต่วันที่ สเปน ยุคทอง แพ้ให้กับ เนเธอร์แลนด์ 1-5 ในฟุตบอลโลก 2014 แล้ว ซึ่งนี่คือสิ่งที่ เดอ ลา ฟวนเต้ ยืนยันด้วยตัวเองหลังจากที่เขารับตำแหน่งนายใหญ่ทัพกระทิงดุไม่นาน 

 

เลือกสิ่งที่เหมาะที่สุด

อย่างที่เรากล่าวไปในข้างต้น สหพันธ์ฟุตบอลสเปนต้องการใครสักคนที่รู้จักนักเตะในประเทศเป็นอย่างดี และเป็นคนที่เข้าใจแนวทางที่สหพันธ์ต้องการให้ฟุตบอลทีมชาติสเปนเป็นแบบนั้น ซึ่ง เดอ ลา ฟวนเต้ ทำงานในสหพันธ์ฯ มานานถึง 11 ปีก่อนจะได้รับตำแหน่งนี้ ... นั่นแหละ ทำไมเขาถึงถูกมองว่าเป็นคนที่ใช่ระดับ Low profile, High profit ซึ่งหมายความเป็นภาษาไทยประมาณว่า "ไม่โด่งไม่ดัง ไม่หวือหวา แต่ทำงานออกมาตามสั่งได้แน่"

การมีโค้ชเป็น เดอ ลา ฟวนเต้ อาจจะทำให้สีสันบนหน้าสื่อของทีมชาติสเปนจาง ๆ ไปบาง เชื่อว่าถ้าไม่ใช่ด้วยผลงานดี ๆ ในทัวร์นาเมนต์ใหญ่แบบนี้ หลายคนก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโค้ชทีมชาติสเปนคนที่หัวโล้น ๆ ใส่เว่นไว้เคราคนนี้ชื่ออะไร ? 

เอาล่ะ กลับมาที่เรื่องราวการทำงานของ เดอ ลา ฟวนเต้ เขาเป็นคนบอกเองว่า ฟุตบอลของสเปนจะต้องเปลี่ยนไป ทีมชาติสเปนจะยึดมั่นในการครองบอลเพียงอย่างเดียวแบบเดิมไม่ได้ ฟุตบอลยุคใหม่ แพ้ชนะกันที่ความเร็ว ดังนั้นการเข้าทำที่ช้าแต่แน่นอน อาจจะไม่เหมาะกับสำหรับเกมระดับสูง หรือเกมในระดับ "ใหญ่ชนใหญ่" ที่มีความเข้มข้นเชิงแท็คติก รวมถึงความฟิตความสามารถของนักเตะในระดับที่ใกล้กัน ซึ่งเกมลักษณะนี้จะมาในทัวร์นาเมนต์ใหญ่เสมอ 

"เป้าหมายที่เราคุยกัน คือการทำให้ทีมชาติชุดนี้เป็นทีมที่ยอดเยี่ยม เรากำลังอยู่บนเส้นทางการพัฒนาฟุตบอลของเรา เราจะเล่นฟุตบอลที่เร็วขึ้น และมีตัวเลือกในเกมรุกมากขึ้น ในขณะที่เกมรับจะต้องมีความแข็งแกร่งในเวลาด้วยกันด้วย" เดอ ลา ฟวนเต้ สัมภาษณ์หลังเข้ารับตำแหน่งช่วงปลายปี 2022

จากสิ่งที่เขาบอกมาในข้างต้น ถ้าคุณเอามาเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน ยูโร 2024 เลย ว่าจริง ๆ แล้วการทำให้เกมรุกเร็วขึ้น มีตัวเลือกเยอะขึ้น สามารถทำพร้อม ๆ กับการมีเกมรับที่ดีขึ้นได้ โดยทีมชาติสเปนชุดนี้ มีฟุตบอลที่ต่อจากหลังไปหน้าได้อย่างรวดเร็ว มีการเข้าทำที่หลากหลาย มากันทุกทิศทาง จากจำนวนนักเตะที่พร้อมจะขึ้นมาเป็นตัวเลือกในพื้นที่เกมรุก  

ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีวิธีการเล่นเกมรับในแบบของตัวเอง ที่ขึ้นมายืนขึง และพยายามรุมแย่งทันทีตั้งแต่คู่แข่งเริ่มเซตบอลจากปากประตู ... แน่นอน วิธีนี้มีความเสี่ยงสูง เพราะเกมรับจะเปิดพื้นที่ด้านหลังเยอะแยะมากมาย แต่ เดอ ลา ฟวนเต้ ก็ลดช่องว่างความเสี่ยงนั้น ด้วยการซักซ้อมเรื่องการเพรสซิ่ง การรุมแย่ง การทำให้นักเตะอึดขึ้น และแข็งแรงในจังหวะปะทะมากขึ้น คนที่บอกเรื่องนี้ด้วยตัวเองคือ นิโก้ วิลเลี่ยมส์ ที่บอกว่า "พวกเราทำงานอย่างหนักเยี่ยงสัตว์ (We worked like animals.)" พูดง่าย ๆ ก็คือการฝึกที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของแต่ละคนไปแล้ว  

ติกิ-ตากา ตายไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ตายสนิทสำหรับวงการฟุตบอลสเปน เดอ ลา ฟวนเต้ เก็บแก่นของมันเอาไว้ นั่นคือการเคลื่อนที่และการจ่ายบอล แต่เพิ่มความดุดัน "เยี่ยงสัตว์" เหมือนที่ นิโก้ วิลเลี่ยมส์ บอก วิ่ง กระแทก แย่งบอล และเมื่อได้บุก ใส่จินตนาการลงไปให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเจาะตรงกลาง ใช้ความเร็วของปีกไปยังสุดเส้นหลัง หรือการตัดเข้าในเพื่อทำประตู 

"ฟุตบอลของทีมชาติสเปนคือหนึ่งในสไตล์ที่ดีที่สุดในโลก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างบนโลกนี้มีพื้นที่ให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขอยู่เสมอ สิ่งที่ผมพยายามที่สุด คือการพัฒนาต่อไปจากรากฐานเดิมที่เราตั้งไว้ เราเชื่อว่าวิธีการนี้คือสิ่งที่ถูกต้อง เราเอาของเดิมมาปรับปรุงและใส่แนวคิดใหม่ ๆ เข้าไปเพิ่ม ... นี่คือวิธีที่พวกเรายกระดับตัวเอง" เดอ ลา ฟวนเต้ ว่าแบบนั้น 

นับตั้งแต่ เดอ ลา ฟวนเต้ เข้ามาคุมทีมชาติสเปน มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยที่คนภายนอกไม่รู้ สิ่งใหม่ ๆ ที่เขานำพาเข้ามา กว่าจะได้รับการยอมรับก็มีเสียงแตกพอสมควร ทั้งเรื่องการใช้นักเตะดาวรุ่งมากเกินไปจนดูจะเป็นการทำร้ายนักเตะทางอ้อม โดยกรณีนี้เกิดขึ้นกับ กาบี้ ดาวรุ่งของ บาร์เซโลน่า ที่ต้องพักหลายเดือนจากการเจ็บช่วงโปรแกรมทีมชาติช่วงปลายปี 2023 จนไม่ได้ไป ยูโร 2024 รวมถึง โอลิมปิก ปารีส 2024

นอกจากนี้ยังมีการมองข้ามผู้เล่นซีเนียร์จากยุคเก่า ๆ หลาย ๆ คน อาทิ เซร์คิโอ รามอส ที่เป็นผู้นำในห้องแต่งตัวมาตลอด 10 ปีหลังสุดของทีมชาติสเปน รวมถึง อิสโก้ ที่ฟอร์มดีมาก ๆ กับ เรอัล เบติส 

เดอ ลา ฟวนเต้ ยึดมั่นกับแนวคิดที่เขาคุยกับทางสหพันธ์ฯ เขาไม่ได้แยแสเสียงวิจารณ์ ในเคสของ กาบี้ เขาถึงกับบอกว่า "นักเตะที่ดีจริงไม่จำเป็นต้องพักมากกว่าคนอื่น ๆ" และขยายความเพิ่มว่า อาการบาดเจ็บคือเรื่องธรรมดาในวงการฟุตบอล เพียงแต่ครั้งนี้สื่อเล่นใหญ่เพราะ กาบี้ คือนักเตะของ บาร์เซโลน่า เท่านั้น

เขายืนยันอีกครั้งว่า เขาไม่สนใจเรื่องของอายุมากนัก ถ้านักเตะเก่งจริง มีฟังก์ชั่นการใช้งานตรงกับแนวทางของทีม เขาจะไม่ลังเลที่จะส่งลงสนาม ไม่ใช่แค่กับนักเตะอายุน้อยเท่านั้น นักเตะอายุมากก็ไม่ต่างกัน เดอ ลา ฟวนเต้ ทำให้นักเตะอย่าง โฆเซลู ที่เป็นตัวสำรองของ เรอัล มาดริด ถือเป็นขาประจำที่เขาจะเรียกติดทีมตลอด เพราะมีฟังก์ชั่นเรื่องการเล่นในกรอบเขตโทษได้ดีที่สุดในแบบที่นักเตะคนอื่นไม่มี 

เดอ ลา ฟวนเต้ ใช้เวลาพิสูจน์แนวทางของตัวเองอยู่พักใหญ่ โดยได้รับการหนุนหลังจาก หลุยส์ รูเบียเลส ประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปน ที่ให้สิทธิ์ขาดกับเขาเต็มที่ เพราะมีเป้าที่ตั้งไว้อย่างชัดเจนแล้ว เรื่องระหว่างทางที่สื่อหรือใครอาจไม่พอใจ รูเบียเลส ก็จะออกตัวให้กับ เดอ ลา ฟวนเต้ เสมอ 

โดย เดอ ลา ฟวนเต้ ก็บอกว่า จริง ๆ ในช่วงแรกเขาก็ไม่อยากจะเชื่อว่างานนี้จะตกมาถึงมือของเขา และในช่วงแรก ๆ ของการปรับจูนที่เขาแพ้สกอตแลนด์ในเกมยูโร 2024 รอบคัดเลือก เขาก็คิดว่าตัวเองจะโดนไล่ออกไปแล้วด้วยซ้ำ 

แต่เมื่อได้เวลา เขาก็ใช้มันอย่างคุ้มค่า เขาลองนักเตะมากถึง 47 คนใน 10 เกมแรกของเขากับทีมชาติสเปน ฝั่งแบ็กซ้าย กว่าที่จะมาลงตัวกับ มาร์ค กูกูเรย่า เขาใช้เวลาทดสอบนักเตะถึง 6 คน ขณะที่แนวรับตัวกลาง เขาก็ลองจนเจอ โรแบ็ง เลอ นอร์กม็องด์ ที่มายืนคู่กับ อายเมอริก ลาปอร์กต์ ที่จะเป็นตัวยืนประจำทีม 

ค่อย ๆ หยิบ ค่อย ๆ จับ ค่อย ๆ ขยับ จนเจอจุดลงตัว สุดท้าย สเปน ของเขาก็มีภาพที่ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ฟุตบอลที่ทะลุทะลวง ดุดัน เปลี่ยนคำเย้ยหยันเป็นคำชม และสุดท้ายพวกเขาคว้าแชมป์ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก 2022-23 มาครอง แม้จะไม่ใช่แชมป์ระดับเมเจอร์ แต่มันเป็นแชมป์ที่ทำให้สื่อเชื่อเขามากขึ้น จนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดีในท้ายที่สุด 

The Athletic ถึงกับบอกว่า "ความสัมพันธ์ของ เดอ ลา ฟวนเต้ กับสื่อกีฬาทรงอิทธิพลของสเปนนั้นดีกว่าภายใต้การคุมทีมของ หลุยส์ เอ็นริเก้ มาก" ... ซึ่งนั่นก็ดูเหมือนจะจริง เพราะภายใต้ข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนเข้าทัวร์นาเมนต์มากมาย เดอ ลา ฟวนเต้ เหมือนกับผู้ไร้มลทิน แม้เขาจะสนิทสนิมกับ หลุยส์ รูเบียเลส คนที่โดนสื่อกดดันให้ลาออกจากการเล่นถึงเนื้อถึงตัวในการฉลองแชมป์ฟุตบอลโลกหญิง 2023 ของสเปน ก่อนโดนคดีคอร์รัปชั่นซ้ำไปอีก 

เมื่อฟุตบอลเป็นเรื่องของฟุตบอลไม่ว่อกแว่ก สื่อไม่จับจ้องส่องหาแต่ความผิดปกติเอามาตีบนหน้าข่าว ทำให้ สเปน กลายเป็นทีมที่พร้อมมาก ๆ จนกระทั่งเดินทางมาถึง ยูโร 2024 ครั้งนี้ 

 

กระทิง (โคตร) ดุ! 

"เราคือหนึ่งในทีมที่หวังที่จะไปถึงแชมป์ใน ยูโร 2024 ... เราอยู่ใน 10 อันดับแรกจาก ฟีฟ่า แรงกิ้ง ทีมอื่น ๆ อย่าง ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อังกฤษ, โปรตุเกส, อิตาลี เช่นเดียวกับโครเอเชีย ทำให้เรารู้ว่าเราหยุดพัฒนาไม่ได้ พวกเขามีนักเตะตัวจริงที่เก่งกาจและแข็งแกร่งทั้ง 11 คน ... ดังนั้นคุณไม่สามารถปล่อยเฉยกับเรื่องนี้ และรอให้ตัวเองต้องมาเจอเซอร์ไพรส์ได้" เดอ ลา ฟวนเต้ พูดก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่มไม่กี่วัน 

ภายใต้การนำของ เดอ ลา ฟวนเต้ สเปนยังคงยึดระบบการเล่น 4-3-3 โดยเน้นเกมรุกที่ปีก 2 ฝั่ง ขณะที่ฟูลแบ็กของพวกเขาจะไปเป็นลูกคู่เพื่อเปิดทางเลือกให้ตัวริมเส้นมีพื้นที่ และใส่ไอเดียในการเข้าทำเสมอ นั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นจากการเล่นของ นิโก้ วิลเลี่ยมส์ และ ลามีน ยามาล เด็กอายุ 16 ปี ที่ เดอ ลา ฟวนเต้ เลือกเพราะ "เน้นการใช้งานได้จริง" ความสามารถตอบโจทย์กับวิธีการของทีมทุกอย่าง 

ขณะที่แดนกลางนั้นแข็งแกร่งมาก โรดรี้ เป็นหัวใจตรงกลาง มี ฟาเบียน รุยซ์ รับบทเบอร์ 8 ร่วมกับ เปดรี้ ที่มีรูปแบบต่างกันชัดเจน จนทำให้ทีมมีความหลากหลายมากขึ้น ตัวของ ฟาเบียน รุยซ์ จะเป็นคนที่ยืนต่ำกว่าเล็กน้อย คอยช่วยให้ โรดรี้ บัญชาเกมได้ถนัดขึ้นในฐานะลูกคู่ ขณะที่ เปดรี้ เต็มไปด้วยพละกำลัง ขยันวิ่งเข้าแย่งบอล มีการเล่นเกมรุกได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายบอลที่แม่นยำ รวมถึงการเลี้ยงกินตัวเพื่อเอาชนะ 

ซึ่งตัวของ รุยซ์ และ เปดรี้ ก็จะมีอีกหน้าที่หนึ่ง คือการสลับเป็นตัวสอดเข้าทำในกรอบเขตโทษ ซึ่งพวกเขาเข้าใจกันอย่างดี เมื่อมีอีกคนลอยสูง อีกคนก็จะเป็นคนยืนต่ำกว่าเอาไว้คอยประคอง ทำให้แดนกลางไม่ขาด ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มาจากความสัมพันธ์ในทีมที่ เดอ ลา ฟวนเต้ คิดคำนวณมาแล้วว่า นักเตะชุดนี้จะต้องอยู่ด้วยกันได้ และส่งเสริมกันไปในทางบวก 

เปดรี้ กล่าวว่า "จุดแข็งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสเปนคือความสามัคคีของทีมมากกว่าคุณภาพของแต่ละคน" และเมื่อถามว่าใครเป็นผู้นำของทีม เขาตอบว่า "ผู้นำคือทีมทั้งหมดที่อยู่ด้วยกัน ผู้เล่นหลายคนที่คอยช่วยเหลือ ซึ่งเป็นผู้นำรวมทั้งกัปตันด้วย แต่ความแตกต่างใหญ่กับทีมชาติอื่น ๆ ก็คือเราเป็นทีมโดยไม่มีผู้นำคนเดียวเหนือคนอื่น ๆ" 

เมื่อเลือกคนที่ใช่ และใจเท่ากัน เราจึงได้เห็นการเล่นที่เดินเกมเพรสซิ่งสูงในแบบที่ไม่กลัวพลาด และก็ยังไม่พลาดให้เห็นมากนัก แถมเกมรุกยังดุดัน กระแทกกระทั้นไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างตรงตามคอนเซปต์การยกระดับจาก ติกิ-ตากา แบบที่ เดอ ลา ฟวนเต้ ออกปากมาตั้งแต่วันที่รับตำแหน่ง

และสุดท้าย สเปน ก็คว้าแชมป์ ยูโร 2024 พร้อมคำชมการเล่นได้จริง ๆ  

 

แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Luis_de_la_Fuente_(footballer,_born_1961)
https://www.uefa.com/euro2024/news/028e-1b10c0b735bd-7e228a403118-1000--spain-coach-luis-de-la-fuente-on-the-value-of-nations-league/
https://www.nytimes.com/athletic/5068100/2023/11/20/spain-luis-de-la-fuente/
https://www.givemesport.com/1165814-andrea-pirlo-explains-why-he-dinked-his-penalty-past-joe-hart-at-euro-2012/
https://www.nytimes.com/athletic/live-blogs/spain-italy-live-updates-euro-2024-score-result/eKB0ZfFUSTyI/lmSypUTIHyz7/
https://sport.optus.com.au/news/uefa-euro-2024/os76241/spain-absolutely-destroyed-italy-best-euro-2024-performance

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น