Feature

จิตวิทยาและลูกากู : ทำไมนักบอลต้องกุมหัว และ ยกนิ้วโป้ง ตอนยิงพลาด ? | Main Stand

โรเมลู ลูกากู ต้องพบกับค่ำคืนที่น่าจะเลวร้ายที่สุดในอาชีพนักเตะของเขาอีกคืนหนึ่ง หลังจากยิงแล้วยิงอีกในเกมกับ สโลวาเกีย แต่ความพยายามของเขากลับกลายเป็นศูนย์

 


ไม่ว่าจะยิงซ้าย ยิงขวา ยิงเบา ยิงแรง ยิงยังไงก็ไม่เข้า ต่อให้ยิงเข้าก็ยังโดน VAR ยึดคืนถึง 2 รอบ ดังนั้น ... เราจึงได้เห็นท่าประจำของเขา นั่นคือท่ายกมือขึ้นมากุมหัว และการชูนิ้วโป้งให้กับเพื่อนร่วมทีม 

ท่าประจำของเขากลับมีความหมายที่ซ่อนอยู่ ว่ากันว่ามนุษย์เรามักจะทำแบบนั้นออกมาในเวลาที่ตัวเองมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นภายในจิตใจ

ลูกากู ทำท่านี้ออกมา มันมีความหมายอะไร ? ติดตามที่ Main Stand 

 

การยิงเขามันยากจริง ๆ 

อย่างแรกที่เราต้องให้ความเป็นธรรมกับ ลูกากู ก่อนคือ การยิงประตูให้เข้าในเกมฟุตบอลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในฟุตบอลระดับสูงที่ทุกคนล้วนเป็นนักเตะชั้นดี มีประสบการณ์ มีความฟิต มีความเข้มข้นเชิงแท็คติก การที่คุณจะได้โอกาสจับบอล หรือง้างเท้ายิงสักครั้ง ถือว่าเป็นเรื่องยากไม่ใช่เล่น 

หลายครั้งคุณคงเคยได้ยินการเอาสถิติมาเปิดเผยหลังเกมว่ากองหน้านั้นคนนี้ไม่มีโอกาสง้างเท้ายิงในกรอบเขตโทษเลยสักครั้ง เพราะฟุตบอลก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ความยากถูกยกระดับขึ้นไปตามกาลเวลา และศาสตร์ที่ถูกยกระดับความเข้มข้นขึ้นมา  ดังนั้นไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะโผล่มายืนอยู่หน้าประตูแล้วซัดเปรี้ยงเข้าไปง่าย ๆ แน่นอนในยุคนี้ 

ดันแคน อเล็กซานเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและบรรณาธิการของ The Analyst เป็นคนที่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า

"โดยทั่วไปประตูในเกมฟุตบอลจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของกฎและกติกา ส่วนนี้เห็นผลชัดที่สุด หากคุณย้อนกลับไปในยุค 1920s มีการยิงประตูกันเยอะมาก ๆ เพราะตอนนั้นไม่มีกฎล้ำหน้า"

"และตั้งแต่ยุค 1970s เป็นต้นมา สถิติการยิงประตูในโลกฟุตบอลลดลง อาจเป็นเพราะผู้รักษาประตูเก่งมากขึ้น เกมฟุตบอลยกระดับในเชิงยุทธวิธี แท็คติก และร่างกาย อีกทั้งนักเตะในยุคนี้แบกความกดดันมหาศาล เพราะเสียงวิจารณ์รอบตัวไปถึงพวกเขาได้ง่ายมาก ๆ"

"ยุคนี้การยิงประตูยากขึ้นกว่าฟุตบอลยุคก่อน ๆ แน่นอน มันคือยุคที่นักเตะทั้งทีมจะพร้อมใจกันเล่นเกมรับในแบบโมเดิร์นฟุตบอล ดังนั้นเท่ากับว่าจะมีนักเตะ 11 คนที่พยายามขัดขวางการทำประตูไม่ให้เกิดขึ้น พวกเขาจะเล่นงานคุณในทุกพื้นที่  ตั้งแต่ปากประตูมาจนถึงการวางกับดักล้ำหน้า และจะกัดคุณไม่ปล่อยจนกว่าบอลจะข้ามเส้นประตูไป" 

"ทว่าค่าเฉลี่ยการยิงประตูมันจะผันผวนมากจากการมาของ VAR บางครั้งคุณได้ประตูจากจุดโทษจังหวะที่คนในสนามอาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าอะไรเกิดขึ้น ... และบางครั้งคุณยิงประตูสุดสวย และแสนสำคัญ แต่สุดท้าย VAR ก็จะมายึดมันกลับไปด้วย" อเล็กซานเดอร์ ว่าแบบนั้น 

สิ่งที่เขาบอกแทบจะตรงกับสิ่งที่ ลูกากู เป็นในเกมพบ สโลวาเกีย เราได้เห็นจังหวะยิงมากมายของเขาที่ติดโน่นนี่นั่นคอยเกะกะเต็มไปหมด ครั้นจะยิงเข้า VAR ก็มายึดอีก 2 หน แน่นอนว่าข้อมูลทั้งหมดนี้ปกปิดความน่าผิดหวังไม่ได้ หน้าที่กองหน้าคือการยิงประตู และตัวเขานั้นก็รู้ดี ไม่อย่างนั้นเขาจะไม่มีทางแสดงอากัปกิริยา อย่างเช่นการเอามือกุมหัวให้เห็นแน่นอน เพราะท่านี้มีความหมายถึงความผิดหวังของมนุษย์อย่างจังเบอร์

 

กุมหัวเพื่ออะไร ?

ทุกครั้งที่มีโอกาสทำประตู เหล่านักฟุตบอลจะคอยลุ้นไปกับโอกาสนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทว่า หากไม่ได้ประตูพวกเขาจะทำเหมือนกัน ราวกับเป็นหลักสากล นั่นคือ "เอามือกุมหัว" เพราะอะไร ?

เรื่องนี้มันลึกยิ่งกว่าเรื่องของฟุตบอล มันคือการแสดงออกตามสัญชาตญาณ และจิตใต้สำนึกของมนุษย์เลยทีเดียว ความหมายของการเอามือขึ้นมากุมหัวมักจะเกิดขึ้นหลังจากการที่มนุษย์ได้ทำผิดพลาด และความหมายของการกุมหัวคือ "พวกเขากำลังรู้ตัวว่ากำลังทำผิดพลาด" 

"การยกมือมากุมหัวเป็นการส่งสัญญาณถึงคนอื่น ๆ ว่า ฉันเข้าใจแล้ว ฉันขอโทษ ดังนั้นอย่าไล่ฉันออกจากกลุ่ม อย่าลงโทษหรืออย่าฆ่าฉันเลย" นีคือมุมมของ เจสซิก้า เทรซี่ ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริติช โคลอมเบีย ที่กล่าวกับ The New York Times

ดร เจสซิก้า อาจจะพูดในความเป็นมนุษย์ และแฟนบอลอย่างเรา ๆ อาจจะมองว่านี่เป็นการจับแพะชนแกะไปเรื่อยหรือไม่ ? เอาล่ะ เรามีงานวิจัยอีกตัวหนึ่งที่ เดสมอน มอร์ริส นักสัตววิทยาได้รวบรวมท่าทางของผู้เล่น 12 คน เมื่อประสบกับความพ่ายแพ้ และสังเกตเห็นท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงการปลอบใจตัวเอง และท่าเอามือกุมหัวเป็นท่ายอดฮิตที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกโดย คนที่ยิงพลาด, เพื่อนร่วมทีม, โค้ช หรือแม้แต่แฟนบอล 

"พวกเขาไม่อยากเห็นอะไรเลย และไม่ต้องการให้ใครเห็น พวกเขาอยากจะซ่อนหน้าของตัวเองหลังจากเกิดหายนะเอาไว้ นักฟุตบอลบางคนอาจจะคุกเข่าลงด้วย เพราะพลังงานทั้งหมดของพวกเขาหมดไปกับผิดหวังท้อแท้จากจังหวะนั้น ๆ" 

"มันคือรูปแบบของการสัมผัสกันโดยอัตโนมัติ ผู้ที่แพร่กระจายมันออกไป จะใช้ยามที่ตัวเองรู้สึกต้องการการโอบกอดที่ทำให้ใจสงบลง แต่ก็ไม่มีใครที่จะพร้อมเสนอให้ในทันที" มอร์ริส อธิบาย

คุณย้อนกลับไปดูช็อตการยิงพลาด หรือการโดนเซฟเหลือเชื่อของนักเตะระดับโลกคนไหนก็ได้ ไม่ใช่แค่ ลูกากู เท่านั้น การเอามือกุมหัว คือช็อตที่ทุกคนต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมสำคัญ ๆ เกมตัดสินแชมป์ที่ประตูมีความหมายมาก ๆ ท่านี้จะออกมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

อาทิ ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2006 ที่ ซีเนดีน ซีดาน จอมทัพทีมชาติฝรั่งเศส ได้โหม่งแบบไม่มีตัวตัวประกบในช่วงต่อเวลาพิเศษ แต่ จานลุยจิ บุฟฟอน นายด่านของ อิตาลี ก็ปัดข้ามคานไปได้ ... สิ่งที่เกิดขึ้นจากนั้นคือ ซีดาน เอามือกุมหัวตัวเอง

สด ๆ ร้อน ๆ ในเกมนัดชิง เอฟเอ คัพ ปี 2024 ที่ เออร์ลิง ฮาลันด์ ยิงไปชนคาน เขาก็ทำแบบนั้นเช่นกัน มันคือเรื่องของการทำความผิดพลาด ความผิดหวัง ที่ร่างกายจะแสดงออกมาอย่างอัตโนมัติ 

"มันคือความเป็นจริงตามสถิติที่เหมือนกันในทุกประการ คุณมีโอกาสแล้วพลาด ผู้รักษาประตูเซฟได้ หรืออะไรก็ตามแต่ กลไกมันเกิดขึ้นจากทั้งการไปถึงจุดนั้น หรือไปไม่ถึง" เดวิด โกลด์แบล็ต นักประวัติศาสตร์ฟุตบอลชาวอังกฤษอธิบายกับ The New York Times

นอกจากการเอามือกุมหัวแล้ว การ "ชูนิ้วโป้ง" ขึ้นมาของ ลูกากู ก็มีความหมายในเชิงจิตวิทยาเช่นกัน โดยความหมายของมันตรงตัว นั่นคือการบอกและให้กำลังใจเพื่อนร่วมทีมว่า ทำดีแล้ว ทำได้เยี่ยมแล้ว และเป็นการบอกแบบอ้อม ๆ ว่าเขาจะขอเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้เองในตอนท้ายที่สุดของเรื่อง 

 

โลกของการรับมือกับความกดดัน 

แน่นอนที่สุดว่า ยิ่งฟุตบอลในตอนนี้แต่ละประตูมีมูลค่ามหาศาล ทั้งในเชิงอารมณ์ ชื่อเสียง และเงินรางวัล ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสิ่งที่นักฟุตบอลทุกคนบนโลกนี้ โดยเฉพาะนักเตะระดับโลกต้องเจอ

พวกเขาได้รับค่าจ้างมากมาย และมีชีวิตในฝันที่คนอีกกว่า 90% บนโลกนี้อยากมี ดังนั้นมันจึงเปรียบเสมือนราคาที่พวกเขาต้องแลก พวกเขาจะต้องแบกความหวัง และความกดดันมหาศาล ซึ่งบางคนถ้าจิตใจไม่แข็งพอ ต้องใช้เวลาทบทวนกับความผิดหวังเยอะ ก็จะเป็นเหมือนกับ ลูกากู ที่พอได้พลาดครั้งแรกแล้วก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจโดยตรง เมื่อมีโอกาสครั้งต่อ ๆ ไปก็จะเกิดอาการเกร็ง กดดัน และไม่เป็นตัวเอง 

แม้จะฝึกในสนามมาดีแค่ไหน ตอนซ้อมจะยิงเป็นเข้า ใช้เทคนิคได้มากมาย แต่ตอนแข่งมันจะกลายเป็นคนละเรื่องเลยถ้าคุณไม่สามารถเตรียมจิตใจให้เข้มแข็งและกล้าหาญได้พอ แน่นอนว่าในทุก ๆ เกมนักฟุตบอลแต่ละคนมีโอกาสเผชิญกับความผิดพลาดสูงมาก ๆ ถ้าพวกเขาเกิดทำพลาดชนิดที่ว่า "ไม่น่าพลาด" ในระดับหมูหก แล้วพวกเขาไม่สามารถเด้งกลับมาโฟกัสกับสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า ก็จะเป็นเหมือนกับ ลูกากู ในเกม เบลเยียม พบ สโลวาเกีย ที่ยิ่งพยายาม กลับกลายเป็นยิ่งแย่ลง  ... นั่นคือเหตุผลว่าทำไมยุคนี้ นักจิตวิทยาในด้านกีฬาจึงสำคัญมาก ๆ 

คริส คาร์ นักจิตวิทยาด้านกีฬาของ Methodist Sports Medicine Center ใน อินเดียนาโพลิส เผยว่า การได้พูดคุยและแก้ปมในใจของนักกีฬาก่อนแข่งคืองานที่สำคัญมาก และเมื่อมีการแก้ไขให้ตรงจุดนักกีฬาก็จะสามารถมีภูมิต้านทานด้านจิตใจได้

"มันเป็นการเปิดประตูเข้าไปในหัวใจของคนเพื่อไปค้นปูมหลังและปัญหาที่ค้างอยู่ในซอกหลืบให้ได้" คาร์ กล่าว

คาร์ ยังเปิดเผยต่อว่า เขามีนักกีฬาที่เคยรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ และการจะพูดคุยเพื่อเปิดใจกับนักกีฬาเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ทางจิตวิทยาต้องมีความรู้ด้านกีฬาระดับหนึ่ง เพื่อให้ได้คุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง และทำให้นักกีฬารู้สึกสบายใจกับหน้าที่ของนักจิตวิทยาคนนั้น ๆ

การทำหน้าที่ของนักจิตวิทยาถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับวงการกีฬา ณ ปัจจุบัน เพราะแต่ละคนมีปมเเละเรื่องทื่กังวลแตกต่างกัน

ดร. แพทริก เจ คอคห์น โค้ชด้านจิตวิทยาที่ทำงานเกี่ยวกับกีฬาโดยตรง ได้แนะนำถึงวิธีที่จะทำให้ปัญหาเผชิญหน้ากับความกดดันมหาศาลของนักกีฬาหายไปได้ คือการตัดสิ่งรบกวนรอบข้างออกไปให้ได้ ลืมผลสกอร์ซะ และจดจ่ออยู่กับช่วงเวลา ณ ปัจจุบันให้ได้ .... ว่าง่าย ๆ คือ เมื่อพวกเขาโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า และลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ เมือนั้นพวกเขาจะได้ใช้สกิลที่ฝึกฝนออกมาเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด 

และนั่นหมายความว่า ถ้าโอกาสครั้งต่อไปมาถึง พวกเขาจะทำมันอย่างเป็นธรรมชาติ และของที่เคยยาก ก็อาจจะง่ายดายปานปอกกล้วยเข้าปากก็เป็นได้ 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2022/mar/25/are-footballers-scoring-more-we-ask-an-expert
https://m.allfootballapp.com/news/EPL/Which-is-harder-Score-a-goal-or-make-an-assist/666810
https://www.nytimes.com/2018/07/10/sports/world-cup/england-croatia-france-belgium.html

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ