News

Talent ID : รากฐานจาก “เวนเกอร์” สู่ผลงานร้อนแรงทัพ “ช้างศึก ยู-16”

ทัพนักเตะทีมชาติไทย ยู-16 ได้รับเสียงชมอย่างล้นหลามหลังคว้ารองแชมป์อาเซียนได้สำเร็จ ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นเกิดจากรากฐานที่ถูกวางไว้เป็นอย่างดี โดยมี อาร์แซน เวนเกอร์ อดีตกุนซือระดับโลก เป็นผู้ริเริ่ม

 

 

ขุนพลชุดนี้ทั้ง 23 คน เรียกได้ว่าต่างคนต่างที่มีและแทบไม่เคยเล่นร่วมกันมาก่อน แต่มาจากการคัดเลือกเยาวชนที่มีพรสวรรค์จากทั่วประเทศผ่านโครงการ “FA Thailand Talent ID”

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ต่อยอดมาจากโครงการของฟีฟ่าที่ชื่อ “FIFA Talent Development Scheme” โดยมี อาร์แซน เวนเกอร์ อดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัฒนาฟุตบอลของฟีฟ่า เป็นผู้ริเริ่ม

กุนซือชาวฝรั่งเศสเชื่อว่าทุกชาติสามารถผลิตเด็กขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลที่มีคุณภาพได้ โดยจำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างระบบนิเวศน์ของฟุตบอลในประเทศ เพื่อให้เยาวชนได้เล่นฟุตบอลที่ถูกต้อง พร้อมมีการเก็บฐานข้อมูลอย่างมีมาตรฐาน

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย จึงร่วมมือกับฟีฟ่าในการเฟ้นหานักเตะจากทุกภาคทั่วประเทศ โดยส่งทีมงานติดตามดูฟอร์มเยาวชนตามรายการต่าง ๆ ทุกรุ่นทั้งชายและหญิง ไม่ว่าจะเป็น Thai Youth League ฟุตบอลกรมพละ หรือฟุตบอลนักเรียน พร้อมจัดเก็บสถิติของนักกีฬาทุกคนไว้ในฐานข้อมูล

สำหรับ ทีมยู-16 ชุดนี้ ได้ทำการคัดเลือกนักเตะจาก 10 โซนทั่วประเทศ ประกอบด้วย โซนกรุงเทพฯและปริมณฑล 1-2, โซนภาคเหนือ, โซนภาคตะวันตก, โซนภาคตะวันออก, โซนภาคกลาง, โซนภาคอีสานตอนบน, โซนภาคอีสานตอนล่าง, โซนภาคใต้ตอนบน และโซนภาคใต้ตอนล่าง

ทีมสเกาท์ที่ถูกส่งไปโซนละ 2 คน จะทำการเก็บข้อมูลโดยใช้หลักเกณฑ์ T+MASC ในการพิจารณาให้คะแนน ซึ่งเน้นที่ศักยภาพของนักฟุตบอลมากกว่าผลการแข่งขัน ประกอบด้วย

Talent : จุดเด่นหรือจุดแข็งของแต่ละคน

Motricity : กลไกของร่างกาย เช่น ทักษะในการเคลื่อนไหวและการเคลื่อนที่ในสนาม สปีด การกระโดดโหม่ง

Availability : ทักษะการเล่นกับลูกบอล เช่น การครอบครองบอล เลี้ยงบอล ยิงประตู

Smart : ไหวพริบและการตัดสินใจในการเล่น รวมถึงความเข้าใจในระบบการเล่นทั้งเกมรุกและเกมรับ

Commitment : ความทุ่มเทและทัศนคติ รวมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเล่น ความอดทนต่อความกดดัน

ทักษะทั้งหมดจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนตามความสามารถในด้านต่าง ๆ พร้อมบันทึกในฐานข้อมูลแยกเป็นรายบุคคล หากใครมีคะแนนดีก็จะยิ่งถูกติดตามอย่างใกล้ชิด

การคัดเลือกที่เกิดขึ้นทำให้สมาคมมีฐานข้อมูลนักเตะจากทุกโซนรวมกันมากถึง 330 คน พร้อมได้นักเตะล็อตแรกที่ผ่านคัดเลือก 44 คน ก่อนจะตัดตัวตามลำดับจนเหลือ 23 คนสุดท้ายลุยทัวร์นาเมนท์

นักเตะที่ได้มาจึงมีความหลากหลาย ตั้งแต่ นักเตะที่สังกัดอคาเดมีของสโมสรในไทยลีก นักเตะจากทีมโรงเรียน ไปจนถึงแคมป์ฟุตบอล ก่อนจะฟอร์มทีมและผ่านการคัดเกลาโดย “เซอร์เด็จ” จเด็จ มีลาภ กุนซือของทีมชุดนี้

สำหรับ ช้างศึกชุดนี้ ยังมีคิวสำคัญรออยู่คือ ศึกชิงแชมป์เอเชีย 2025 รอบคัดเลือก วันที่ 19-27 ตุลาคมนี้ โดยอยู่กลุ่ม D ร่วมกับ อินเดีย บรูไน และเติร์กเมนิสถาน คัดแชมป์กลุ่มและอันดับ 2 ที่ดีที่สุด 5 ทีมจาก 10 กลุ่มเข้ารอบสุดท้าย

ขณะที่ในรอบสุดท้ายแข่งระหว่างวันที่ 3-20 เมษายน 2025 คัด 8 ทีมไปลุยศึก ยู-20 ชิงแชมป์โลก 2025 ที่กาตาร์

แล้วมาจับตาดูต่อไปว่าทัพช้างศึกชุดนี้จะไปได้ไกลขนาดไหนและก้าวไปถึงความฝันที่หวังไว้ได้หรือไม่

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Graphic

วิสุทธา วงค์หน่อแก้ว

หนุ่มน้อยผู้คลั่งรัก "ปีศาจแดง" แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สุดหัวใจ