Feature

ภาพสะท้อนสังคมไทย : ทำไมการติดยศนักกีฬาจากระบบข้าราชการ จึงเป็นเรื่องธรรมดา ? | Main Stand

การติดยศให้กับนักกีฬา คือเรื่องปกติของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาทีมชาติหรือมีความเกี่ยวพันกับกองทัพล้วนได้รับการติดยศกันมาก สุดแล้วแต่ความสำเร็จที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้


 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การติดยศคือสิ่งที่นักกีฬาหลายคนเฝ้ารอ หลังประสบความสำเร็จจากมหกรรมกีฬานานาชาติ ขณะที่คนไทยก็พร้อมแสดงความชื่นชมกับสิ่งที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ถูกชื่นชมเหมือนสมัยก่อน หากแต่ถูกตั้งคำถามมากขึ้นถึงความเหมาะสมกับการใช้วิธีการอุปถัมภ์มาช่วยเหลือนักกีฬา  

ท่ามกลางภาพที่เห็นกันจนชินตา การติดยศให้กับนักกีฬา ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการตอบแทนนักกีฬา แต่เป็นภาพสะท้อนสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบไทย ๆ ที่ไม่มีใครต้านทานอำนาจรัฐได้ และต้องยอมเป็นส่วนหนึ่งของระบบเพื่อชีวิตที่ดีของตนเองและครอบครัว

ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง นักเขียนของ Main Stand จะพาไปขุดต้นตอของเรื่องนี้ 

 

รากฐานยาวนานมากกว่าร้อยปี 

หากจะเข้าใจความสัมพันธ์ทั้งหมดระหว่าง วงการกีฬา กับ ระบบข้าราชการในประเทศไทย ต้องย้อนเวลากลับไปดูที่มาของการมีส่วนร่วมกับเกมการแข่งขันผ่านการออกกำลังกายในบ้านเรา

ย้อนไปในช่วงแรกเริ่มของประวัติศาสตร์กีฬาในประเทศไทยที่รัฐเข้ามามีบทบาท ตั้งแต่รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับกิจกรรมสันทนาการในรูปแบบนี้คือ เชื้อพระวงศ์ หรือ ขุนนางที่รับราชการอยู่

เนื่องจากว่าความรู้ด้านกีฬาเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยผ่านเชื้อพระวงศ์เป็นหลัก หรือไม่ก็ต้องเป็นลูกหลานคนชนชั้นสูง หรือนักเรียนทุนที่ถูกส่งไปเรียนต่างประเทศแล้วกลับรับราชการ 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองหลวง โดยมีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 12 ทีม ซึ่งทุกทีมเป็นทีมของหน่วยงานราชการ หรือพูดให้เข้าใจโดยง่ายคือ เป็นการเอาข้าราชการมาแข่งกีฬา 

เห็นได้ว่ารากฐานของกีฬาไทยผูกติดกับอำนาจส่วนกลางและระบบข้าราชการมาตั้งแต่ต้น ทั้งในแง่ที่นักกีฬา คือ ข้าราชการ มียศตำแหน่งในการทำงาน รวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ ของการเป็นนักกีฬา ทั้งในแง่ของความรู้ อุปกรณ์ ไปจนถึงเงินทุน ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐส่วนกลาง

รวมถึงรากฐานของผู้มีอำนาจในวงการกีฬาย่อมมีรากฐานมาจากคนของรัฐเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ หรือคนชนชั้นสูงที่มีฐานะ เพราะผู้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงการเล่นกีฬา และมีสิทธิ์มีเสียง ในการแสดงออกเพื่อนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของวงการกีฬาในบ้านเรา

ความผูกพันระหว่างระบบข้าราชการและกีฬาในประเทศไทย จึงฝังรากลึกตั้งแต่เริ่มต้น จนค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และหนึ่งในกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับกีฬามากที่สุดคือ ทหาร และ ตำรวจ 

เนื่องจากในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทั้งทหารและตำรวจ (ส่วนใหญ่เป็นระดับนักเรียน) มักถูกดึงมาเล่นกีฬา เพื่อร่วมแข่งขันในรายการต่าง ๆ ที่ส่วนกลางจัดขึ้นอยู่เสมอ ทำให้ทั้งสองหน่วยงานมีความเกี่ยวพันกับวงการกีฬามาอย่างยาวนาน 

 

กองกำลังเพื่อชาติ 

ระบบข้าราชการไทยเป็นหัวใจในด้านการปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน แม้ว่าจะเปลี่ยนภาพระบอบการปกครอง แต่อำนาจของข้าราชการยังคงมีอยู่และกุมทรัพยากรของประเทศไว้มากมาย 

กีฬาคือหนึ่งในนั้น แทบทุกกีฬาในบ้านเราจะอยู่ภายใต้การดูแลของระบบข้าราชการมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะตำรวจกับทหาร และมีนักกีฬาหลายคนของประเทศที่ถูกพัฒนามาจากการเป็นข้าราชการมาก่อน หรือบางคนที่เป็นนักกีฬาที่มีฝีมือก็ถูกดึงตัวเข้าสู่กองทัพ เพื่อเข้าสู่กระบวนการสร้างนักกีฬาในแบบฉบับของประเทศไทย

"ถ้าเราพูดกันจริง ๆ เราแทบไม่สามารถแยกความสัมพันธ์ระหว่างกีฬากับระบบข้าราชการไทยได้เลย เพราะตั้งแต่มีการแข่งขันกีฬา ไม่ว่าจะเป็นซีเกมส์หรือเอเชียนเกมส์ เริ่มต้นขึ้นมาวงการกีฬาไทยก็อยู่ภายใต้การควบคุมของอำนาจรัฐมาตลอด" ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ แสดงความเห็นกับ Main Stand 

"ในความเป็นจริงแล้ว กีฬาสามารถเป็นเครื่องมือทางอำนาจในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศหรือองค์กร ดังนั้นทุกประเทศล้วนต้องการประสบความสำเร็จกับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ซึ่งการสร้างกองทัพนักกีฬาถือเป็นสิ่งที่สำคัญของบ้านเราเช่นกัน"

"หน่วยงานที่มีศักยภาพคือกองทัพไทย เพราะกองทัพไทยมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการสร้างนักกีฬา ที่สำคัญคือการจะเป็นนักกีฬาต้องมีเวลาว่างที่จะฝึกซ้อม พัฒนาฝีมือ ซึ่งกองทัพไทยตอบโจทย์ตรงนี้ด้วย เพราะเรามีขนาดกองทัพที่ใหญ่มาก แต่ส่วนใหญ่จะว่าง เพราะเราแทบไม่มีการรบอะไรเลย"  

นักกีฬาเปรียบเสมือนนักรบยุคใหม่ภายใต้การนำของกองทัพและระบบข้าราชการไทย การดึงประชาชนให้หันมาเป็นนักกีฬาเพื่อหาคนฝีมือดีมาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ซึ่งการดึงผู้คนให้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้จะต้องสร้างแรงจูงใจ และไม่ใช่เรื่องยากเกินอำนาจของรัฐไทย

เพราะไม่ใช่แค่อำนาจด้านกีฬาที่อยู่ภายใต้กำมือของรัฐ หากแต่รวมถึงอำนาจด้านสวัสดิการของประชาชนในประเทศที่รัฐเป็นผู้ควบคุม ว่าใครมีสิทธิ์ที่จะได้หรือไม่ได้ และหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับอภิสิทธิ์มีสวัสดิการที่ดีจากอำนาจส่วนกลางคือกลุ่มข้าราชการไทย 

"สวัสดิการของข้าราชการถูกพัฒนาผ่านระบบอำนาจของรัฐไทยโดยตรง เริ่มต้นอย่างจริงจังในยุคของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเป็นกลไกสร้างแรงจูงใจ ดึงคนให้เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบ เพื่อสร้างอำนาจให้กับรัฐ ทั้งในแง่ของอุดมการณ์และการปราบปราม" 

"นับแต่นั้นเป็นต้นมา เรื่องของรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่ผูกติดกับอำนาจรัฐมาตลอด" ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้ศึกษาด้านรัฐสวัสดิการมาอย่างยาวนาน กล่าว

"ขณะที่สวัสดิการของข้าราชการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สวัสดิการของประชาชนไม่ได้มีการพัฒนา เพราะมีการกีดกันจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมตลอดเวลา ที่พยายามทำให้เรื่องของรัฐสวัสดิการไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้"

สิทธิประโยชน์ของข้าราชการจึงเปรียบเสมือนตั๋วทองใบพิเศษ ที่จะวิ่งเข้าหาชีวิตที่มีคุณภาพในสังคมไทย มากกว่าการประกอบอาชีพอื่นอีกเป็นจำนวนมาก 

การเป็นนักกีฬาทีมชาติหรือการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้ จึงไม่ต่างอะไรกับการเป็นนักรบในอดีต ดังนั้นในแล้วในมุมมองของแง่เกียรติยศ การติดยศตอบแทนให้กับนักกีฬาเหล่านี้จึงเป็นเรื่องปกติ และไม่มีใครตั้งข้อสงสัยกับการติดยศให้กับนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ แต่จะมองในแง่ของ "คนเก่งที่สร้างชื่อเสียงให้ชาติบ้านเมือง" 

 

สิ่งที่มากับระบบอุปถัมภ์

อย่างไรก็ตามเราได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับ วรพจน์ เพชรขุ้ม และ สุริยา ปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นสองนักชกดีกรีเหรียญรางวัลจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือฮีโร่ของประเทศไทยไม่ต่างจากนักกีฬาคนอื่นที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน

แต่ทั้งสองคนก็ไม่ได้รับยศที่เทียบเท่ากับนักกีฬาที่ได้รับเหรียญทอง ทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเขาก็เปรียบเสมือน "คนเก่งที่สร้างชื่อเสียงให้ชาติบ้านเมือง" เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แค่เก่งอย่างเดียวคงไม่พอสำหรับสังคมไทย 
เทียบให้เห็นชัด ๆ วรพจน์ เพชรขุ้ม อดีตเหรียญเงินเอเธนส์ เกมส์ 2004 ปัจจุบัน มียศสิบเอก ส่วนสุดาพร สีสอนดี นักชกหญิงที่คว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์ ที่ก่อนเข้าร่วมโอลิมปิกเป็นอาสาสมัครทหารพรานหญิง ก่อนที่ในปัจจุบันจะกลายเป็นยศเรือตรี  

"ผมคิดว่าความสัมพันธ์ของอำนาจรัฐกับนักกีฬาไทย มันอารมณ์ประมาณว่า 'เอ็งมาอยู่กับพี่ เดี๋ยวพี่ดูแลเอง' เหมือนกับนักกีฬาไทยต้องพึ่งใบบุญของคนมีอำนาจในสังคม เพียงแต่มันไม่ได้เป็นภาพที่ชัดเจนโดยตรงเท่านั้นเอง" อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ Main Stand 

การได้รับความโอบอุ้มจากระบบข้าราชการถือเป็นผลดีกับนักกีฬา เพราะหลายคนก็ได้รับประโยชน์จากตรงนี้ มีชีวิตที่ดีและมั่นคงขึ้น แต่สุดท้ายแล้วต่อให้เป็นนักกีฬาที่ได้รับการติดยศ หากจะให้อาชีพการงานไปได้สวย พวกเขาก็ต้องเป็นที่รักของผู้มีอำนาจ หรือสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามเราจะพบว่าต่อให้นักกีฬาบางคนไม่ได้รับการเลื่อนยศในรูปแบบที่ตนเองคาดหวัง พวกเขาก็ไม่ได้อยากจะลาออกจากการเป็นข้าราชการทหารหรือตำรวจกันเท่าไหร่นัก 

"ผมมองว่าตรงนี้สะท้อนภาพความเป็นสังคม 'กึ่งทุนนิยม-กึ่งศักดินา' ของประเทศไทยออกมา นั่นคือต่อให้ประเทศนี้จะเป็นทุนนิยมขนาดไหน แต่ถ้าจะเข้าถึงทรัพยากรพิเศษต่าง ๆ คุณต้องไปใกล้ชิดกับอำนาจรัฐ" อาจารย์ อาจินต์ ทองอยู่คง ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกีฬากับสังคม แสดงความเห็น

"ยิ่งมองถึงโครงสร้างกีฬาไทยแล้ว ภาพตรงนี้ยิ่งชัดเจน สมาคมกีฬาไทยส่วนใหญ่เต็มไปด้วยบุคลากรของรัฐ ทหาร, ตำรวจ, ข้าราชการ, นักการเมืองท้องถิ่น ไม่มีเอกภาพเป็นของตัวเอง ... ทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งอุปกรณ์กีฬา, สนามแข่งขัน, แคมป์เก็บตัวฝึกซ้อม หรือแม้กระทั่ง 'โอกาส' ส่วนใหญ่อยู่ในมือของอำนาจส่วนกลาง ดังนั้นนักกีฬาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องมาผูกติดกับระบบราชการ"

ความสัมพันธ์ระหว่าง "นักกีฬาไทยกับระบบข้าราชการ" กลายเป็นภาพที่ทับซ้อนและไม่ชัดเจน เพราะในขณะที่นักกีฬาไทยต้องพึ่งระบบข้าราชการแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบข้าราชการกลับไม่ได้มีความชัดเจนในการตอบแทนนักกีฬาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่เป็นเรื่องของการอุปถัมภ์ที่อยู่ในมือของผู้มีอำนาจแล้วแต่โชคของคนเบื้องล่างจะได้รับ

 

ไม่มีทางเลือกอื่น 

เมื่อไม่สามารถปฏิเสธอำนาจรัฐที่ปกคลุมวงการกีฬาไทยได้ การติดยศทางราชการให้กับนักกีฬาจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งบวกกับความจริงที่ว่านักกีฬาเป็นอาชีพที่คนไทยไม่ได้ให้คุณค่ามากนักในอดีต 

"อาชีพนักกีฬาโดยปกติถือว่าเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงอยู่แล้ว เพราะนักกีฬามีช่วงเวลาหารายได้ที่สั้น หรือเอาจริงหาเงินก้อนโตก็ได้เพียงไม่กี่ปีเพราะมีช่วงพีคไม่ยาวนาน แต่ว่าพอมาอยู่ในสังคมไทย ยิ่งกลายว่าไม่มั่นคงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว"

"ถ้าเรามองย้อนไปจะเห็นได้ว่า นักกีฬาค่อนข้างถูกทอดทิ้งจากภาคส่วนอื่น มีแต่ทหารหรือตำรวจที่มาคอยโอบอุ้ม" ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา นักกีฬาส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเลือกตอบรับการติดยศ น้อยคนนักที่จะเลือกปฏิเสธโอกาสที่ถูกหยิบยื่นเข้ามา

สำหรับวงการกีฬาในระยะหลังตั้งแต่ช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา นักกีฬาไม่ได้มาจากชนชั้นสูงหรือเป็นลูกหลานคนรวยเหมือนในช่วงแรกเริ่มอีกแล้ว คนที่เล่นกีฬาส่วนใหญ่เป็นลูกชาวบ้านหลานชาวนา หลายคนอาจมีชีวิตครอบครัวที่ไม่มีความมั่นคงอะไรเลย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากพวกเขาพร้อมจะคว้าทุกโอกาสที่เข้ามา เพื่อทำให้ครอบครัวอยู่สุขสบาย 

แม้ว่าหลายคนจะไปได้ไกลเป็นถึงนักกีฬาทีมชาติ ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้มีรายได้ประจำที่มั่นคง ดังนั้นทางเดียวที่นักกีฬาจะมีเงินเดือนที่มั่นคง คือต้องหาอาชีพอื่นเข้ามาเสริมโดยใช้ความสามารถเป็นใบเบิกทาง นั่นคือการเข้าเป็นพนักงานในองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งหนึ่งในวิธียอดนิยมคือการติดยศเป็นทหารหรือตำรวจ แน่นอนว่าไม่ใช่ความผิดของพวกเขาแม้แต่น้อยกับการที่ต้องการไขว่คว้าหาโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต แต่มันเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างที่เราควรมีการตอบแทนนักกีฬาที่ถูกต้องเหมือนชาติที่พัฒนาแล้ว 

"ผมก็ยังเชื่อว่า นักกีฬาทุกคนอยากจะติดยศ เพราะสุดท้ายอาชีพนักกีฬาไทยไม่มีความมั่นคงอย่างมาก แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ โดยเฉพาะกับกลุ่มนักกีฬาสมัครเล่นที่ยังคงไม่มีรายได้ประจำ มีเงินรายเดือนหรือรายปีที่ชัดเจน" อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็น 

 

ความหมายในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตามเราคงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า การสร้างชีวิตที่มั่นคงให้กับนักกีฬาผ่านการติดยศเป็นทหาร หรือรับราชการเป็นโมเดลที่ "แปลกประหลาด" หากเทียบกับหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศที่ถูกพิจารณาว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว

ตลอดหลายปีที่ผ่านมากระแสของปรากฏการณ์นี้เริ่มเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นถึงความเหมาะสมของการนำนักกีฬาไปติดยศ รวมถึงบางคนมีการเลื่อนยศอย่างรวดเร็วทั้งที่ยังคงเป็นนักกีฬาที่ไม่ได้ทำงานเป็นพนักงานของรัฐอย่างเต็มตัวเกินหน้าเกินตาข้าราชการปกติ จนกลายเป็นกระแสที่สังคมไทยต้องการคำตอบว่า หมดเวลาแล้วหรือยังกับการติดยศให้นักกีฬาไทย 

"ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราตระหนักถึงสิทธิความเท่าเทียมของตัวเองมากขึ้น เราย่อมไม่โอเคที่เห็นการช่วยเหลือนักกีฬาด้วยวิธีการของระบบอุปถัมภ์" อาจารย์ อาจินต์ ทองอยู่คง แสดงความเห็น 

"ผมเชื่อว่าคนไม่ได้มีปัญหากับการให้รางวัลนักกีฬา แต่มีปัญหากับการตอบแทนสิ่งที่พวกเขาทำอย่างไม่โปร่งใส"

"ประเทศไทยมีงบสนับสนุนกีฬาจำนวนมากแต่ไม่ได้ถูกมอบให้กับวงการกีฬาโดยตรง แต่ไปแฝงอยู่กับหน่วยงานข้าราชการอื่น ผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะมาถึงมือนักกีฬา"

"ถ้าเราเปลี่ยนระบบให้เป็นการตอบแทนนักกีฬา มีรายได้ที่สูงและชัดเจน สร้างรายรับให้พวกเขาอย่างตรงไปตรงมา ผมเชื่อว่าจะไม่มีใครตั้งคำถาม"

 

หากคิดจะเปลี่ยนแปลง ? 

มองอีกด้านหนึ่งนักกีฬาไทยคงไม่ต้องเข้าไปพัวพันกับระบบข้าราชการ ไม่ใช่เฉพาะแค่การติดยศ แต่รวมถึงในทุกรูปแบบ หากว่าพวกเขามีรายได้ที่ชัดเจนและมั่นคง ซึ่งไม่ได้หมายความแค่ตอนเป็นนักกีฬาเท่านั้น แต่รวมถึงชีวิตหลังจากเลิกเล่นด้วย 

"ปัญหาสำคัญของนักกีฬาไทยคือ พวกเขาไม่มีสวัสดิการอะไรมารองรับหลังจากเลิกเล่น ซึ่งผมหมายถึงนักกีฬาทั่วไปด้วยนะ ในขณะที่หลายประเทศมีการสร้างสวัสดิการมาคอยรองรับ" ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กล่าว 

"ผมอยากตัวอย่างที่สังคมนอร์ดิค (หมายถึงพื้นที่สแกนดิเนเวีย คือ เดนมาร์ก, สวีเดน, นอร์เวย์, ฟินแลนด์) นักกีฬาหลังจากเลิกเล่น พวกเขาจะมีสวัสดิการมารองรับ เป็นเงินทุนคอยช่วยเหลือในช่วงเปลี่ยนผ่านจากอาชีพหนึ่งสู่อาชีพหนึ่ง"

"นักกีฬาจะได้มีเวลาตรงนี้ในการหาความรู้อื่นเพื่อสร้างอาชีพใหม่ให้ตัวเองต่อไป จะเป็นโค้ช ไปทำงานด้านบริหาร หรือจะเปลี่ยนสายงานไปเลยก็ได้ ถ้าเรามีเวลาให้นักกีฬาได้พัฒนาทักษะใหม่ ๆ โดยที่มีเงินทุนคอยสนับสนุนในช่วงว่างงาน พวกเขาจะได้ไม่ต้องมีความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวัน"

สวัสดิการที่ดีสามารถเข้ามาตอบโจทย์ในการสร้างชีวิตที่มั่นคงของนักกีฬาได้ ความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันคือ นักกีฬาจำนวนมากยังคงทำงานหนักหลังจากเลิกเล่น ไม่ว่าจะเดินหน้าในสายกีฬาต่อหรือไม่ก็ตาม แต่หากมีสวัสดิการที่ดีและโปร่งใส นักกีฬาบางคนคงไม่จำเป็นจะต้องมารอขอความเมตตาจากผู้มีอำนาจเพื่อให้พวกเขาได้รับรายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามหากมองตามความเป็นจริงคงต้องยอมรับว่า ด้วยรากฐานที่ฝังลึกของอำนาจรัฐในวงการกีฬาไทยไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเป็นระยะเวลาหลายสิบปี โดยเฉพาะเมื่อมองถึงอำนาจของระบบข้าราชการไทยที่ทรงอำนาจมากกว่าเดิมในยุคปัจจุบัน

เมื่อมองสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ของวงการกีฬากับระบบข้าราชการไทย รวมถึงอำนาจรัฐส่วนกลางที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การติดยศให้กับนักกีฬาย่อมจะเกิดขึ้นต่อไป

เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของนักกีฬา เพราะสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อประเทศชาติย่อมเป็นเรื่องธรรมดาหากต้องการออกมาเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองสมควรได้รับผลตอบแทน แต่มันจะดีกว่าแค่ไหนหากนักกีฬาเข้าถึงสวัสดิการที่ดี ตั้งแต่วันที่เป็นนักกีฬา โดยเฉพาะกลุ่มนักกีฬาสมัครเล่น ตลอดจนถึงนักกีฬาที่เลิกเล่นไปแล้ว

Author

ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง

let me fly you to the moon, my eyes have always followed you around the room 'cause you're the only.

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น