"สำหรับผม ทีมชาติต้องมาก่อนสโมสร ... พูดตรง ๆ ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ทีมชาติอังกฤษควรมาก่อนทุกเรื่อง รวมถึงสถานการณ์ของสโมสรด้วย"
แฮร์รี่ เคน กัปตันทีมชาติอังกฤษ บ่นอุบหลังเพื่อนร่วมทีมของเขาถึง 9 คนถอนตัวจากทีมชาติ ทั้ง ๆ ที่เกือบทั้งหมดเพิ่งลงเล่นเต็มเกมให้กับต้นสังกัดมาในสุดสัปดาห์ก่อนเบรกทีมชาติ
เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหา เมื่อเกม ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก มาถึง เหล่านักเตะดังเริ่มมีแนวคิดแบบใหม่ พวกเขาหลายคนเลือกที่จะถอนตัว และมองคนละมุมจาก เคน อย่างสิ้นเชิง
อันที่จริง ความคิดของ เคน หรือความคิดของคนที่ถอน คือสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เราจะลองเจาะลึกเรื่องนี้ไปให้ไกลยิ่งขึ้น
ติดตามบทวิเคราะห์กับ Main Stand
เนชั่นส์ ลีก รายการไร้สาระจริงหรือ ?
ฟุตบอล ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ถือเป็นรายการฟุตบอลที่เพิ่งเกิดใหม่ในปี 2018 จากแนวคิด ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ที่ต้องการให้เกมกระชับมิตรนั้นมีความหมาย และมีคุณค่ามากขึ้น ทั้งในเชิงของการแข่งขัน และเรื่องของรายรับที่แต่ละชาติจะได้มากขึ้น ... แต่คำถามคือ มันได้ประโยชน์แบบไหนกันแน่ ?
แต่เดิมนั้น 55 ชาติสมาชิกของ ยูฟ่า จะถูกแบ่งออกไปอยู่ใน 4 ลีก แต่ละลีกมี 4 กลุ่ม โดย ลีก เอ และ ลีก บี จะมีลีกละ 12 ทีม ส่วน ลีก ซี จะมี 15 ทีม และ ลีก ดี ที่เป็นลีกท้ายสุดจะมี 16 ทีม
อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาล 2020-21 ทาง ยูฟ่า ได้เปลี่ยนให้ ลีก เอ, ลีก บี, ลีก ซี นั้นมีลีกละ 16 ทีม ส่วน ลีก ดี ถูกลดลงเหลือ 7 ทีม
ซึ่งทีมในแต่ละลีกก็จะมีการเลื่อนชั้นตกชั้นเหมือนฟุตบอลลีกสโมสร เช่น ทีมจาก ลีก เอ ก็สามารถตกไปเล่น ลีก บี ได้หากมีผลงานไม่ดี และทีมจาก ลีก บี ก็มีสิทธิขึ้นมาเล่น ลีก เอ ได้ถ้าทำผลงานได้ดี
จากนั้นเมื่อแข่งขันในระบบลีกกันเสร็จเรียบร้อย ก็จะนำเอาทีมที่ดีที่สุดของแต่ละกลุ่มในลีก เอ มาพบกันในรอบรองชนะเลิศ สู่รอบชิงชนะเลิศเพื่อหาแชมป์ รวมไปถึงรอบชิงอันดับสาม
มีการปรับรูปแบบเพื่อให้รายการนี้น่าสนใจมากขึ้น โดยในฤดูกาล 2022-23 มีการเพิ่มรอบเพลย์ออฟหนีตกชั้น ก่อนเพิ่มรอบเพลย์ออฟเลื่อนชั้นในฤดูกาล 2024-25 ซึ่งในฤดูกาลดังกล่าว มีการเพิ่มทีมในรอบชิงแชมป์เป็น 8 ทีมอีกด้วย
และนับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา แชมป์รายการนี้ นอกจากจะได้ถ้วยรางวัลและเงินรางวัลแล้ว พวกเขายังจะได้สิทธิ์ไปอยู่ในกลุ่มที่มี 5 ทีมในรอบคัดเลือก ฟุตบอลโลก 2026 โซนยุโรป แทนที่การไปอยู่ในกลุ่มที่มี 6 ทีมอีกด้วย
จอร์โจ้ มาร์เค็ตติ รองเลขาธิการ ยูฟ่า กล่าวกับ Goal เพิ่มเติมว่า “หนึ่งในเป้าหมายของ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก คือการเปลี่ยนแปลงเกมกระชับมิตรแบบเดิมที่แทบไม่ได้อะไร ให้กลายเป็นเกมที่น่าสนใจมากขึ้น คือผมไม่อยากดูเป็นคนไม่สุภาพเพราะไปขัดผลประโยชน์ของใครที่กำลังว่ากล่าวรายการนี้หรอกนะ แต่ผมคิดว่า เนชั่นส์ ลีก เป็นความสำเร็จเพราะเกมเหล่านี้มีความหมายมากกว่าที่ผู้คนคาดหวังไว้เยอะเลย”
แน่นอนนี่คือคำพูดของคนที่คิดค้นและก่อตั้ง เขาย่อมพูดแต่เรื่องดี แต่ในทางปฏิบัติ คนที่ต้องได้รับผลกระทบรายการนี้ ได้แก่นักเตะ หรือโค้ชของทีมในระดับสโมสรที่มองว่า การเกิดขึ้นของรายการ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก กำลังเปลี่ยนโลกฟุตบอลให้ไปในทิศทางที่แย่ลง
เพราะไม่มีประโยชน์จึงนำมาซึ่งการถอนตัว
เยอร์เก้น คล็อปป์ อดีตกุนซือ ลิเวอร์พูล คือคนแรก ๆ ที่โจมตีแนวคิดดังกล่าวในเชิงลบ โดยเขาพยายามอธิบายว่า ต่อให้ทีมชาติจะได้เงินมากขึ้นถ้าลงแข่งขันในรายการนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันมีแนวคิดอื่นที่สามารถให้ผลบวกด้านรายรับเหมือนกัน โดยที่ไม่ต้องเพิ่มจำนวนเกมโดยใช่เหตุ
ซึ่งหลัก ๆ แล้ว คล็อปป์ ยืนยันว่าความเข้มข้นของฟุตบอลระดับสูงในปัจจุบันนั้นมีสูงมาก นักเตะควรจะต้องพร้อมที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการพักผ่อนดูแลตัวเอง การเอาพวกเขาลงเล่นเพิ่มขึ้น เพิ่มจำนวนเกมให้กับพวกเขา คือทางออกที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง และจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดีดังที่ตัวแทน ยูฟ่า กล่าวอ้าง
"ถ้าคุณอยากจะให้ทีมต่าง ๆ และนักเตะมีรายรับมากขึ้น คุณมีวิธีจัดการมากมาย เช่นคุณสามารถเพิ่มเงินในฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ให้มากขึ้น"
"ผมมีโอกาสได้คุยกับประธานยูฟ่า อย่าง อเล็กซานเดอร์ เชเฟริน มาแล้ว แต่สิ่งที่เขาบอกกับผมก็ไม่ต่างจากสิ่งที่บอกกับสาธารณชน ดังนั้นผมยืนยันว่ารายการนี้มันเสียเวลาเปล่าเหมือนเช่นที่เคยบอกมาก่อนหน้านี้"
"ตอนนี้เราจบฤดูกาลไปแล้ว โดยที่นักเตะบางคนลงเล่นไปแล้วมากกว่า 70 เกม ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ 63-64 เกม เมื่อรวมกับโปรแกรมทีมชาติที่พวกเขาแบกมาตลอดปี บางคนจะต้องเล่นถึง 75 เกม นี่มันบ้ามาก แค่นี้ก็เยอะแล้ว แต่ซีซั่นจบ พวกเขายังต้องไปเล่น เนชั่นส์ ลีก ต่อ เพียงแค่คุณอยากได้เงินมากขึ้น คุณต้องแลกกับสุขภาพร่างกาย ผมคิดว่ามันไม่คุ้มเลย นั่นคือความคิดเห็นทั้งหมดที่ผมมีต่อรายการนี้"
สิ่งที่ คล็อปป์ พูดบอกทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรจะชัดเจนกว่านี้ในมุมมองของคนทำทีม หรือแม้กระทั่งทั่งนักเตะที่เป็นนักเตะระดับท็อป คุณสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าทำไมนักเตะระดับท็อป ที่เล่นให้กับสโมสรดัง ๆ มีโปรแกรมชุกชุม และยังติดทีมชาติของชาติใหญ่ ๆ จะไม่สนใจรายการนี้
เหตุผลก็เพราะว่านอกจากเรื่องเงินแล้ว พวกเขาไม่ได้อะไรมากกว่านั้นเลย แถมเงินที่พวกเขาได้จากการลงเล่น เนชั่นส์ ลีก พวกเขาก็สามารถหามันได้จากการเล่นให้กับต้นสังกัดภายในเวลาอันสั้น
ชาติของพวกเขาไม่ต้องการตั๋วสิทธิพิเศษ ในการเล่นฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกในกลุ่มที่มี 5 ทีม (น้อยกว่าสายอื่น) เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่า ยิ่งฟุตบอลโลกเพิ่มทีมเป็น 48 ทีม มันก็ยิ่งเปิดกว้างให้ทีมมีโอกาสได้ไปเล่นรอบสุดท้ายมากขึ้น พวกเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งตั๋วพิเศษจากการเป็นแชมป์ เนชั่นส์ ลีก เลย มันเป็นการเหนื่อยโดยใช่เหตุ เพราะของรางวัลและสิทธิพิเศษที่มีให้ พวกเขาสามารถทำมันได้ด้วยตัวเองทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่นมากมายนัก
"สำหรับผม เนชั่นส์ ลีก ไม่มีความสำคัญเลย" เควิน เดอ บรอยน์ จอมทัพของ เบลเยี่ยม กล่าว "เราต้องเล่นเกมเหล่านี้ แต่ผมรู้สึกเหมือนมันเป็นแค่โปรแกรมอุ่นเครื่อง ในรอบปฏิทิน 12 เดือน เราเหล่านักเตะอาชีพมีเวลาหยุดแค่ 3 สัปดาห์ คนภายนอกอาจไม่เข้าใจว่านักเตะรู้สึกอย่างไรหลังจบฤดูกาล แต่พวกเขาไม่ต้องรู้สึกหรอกเพราะมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่สำคัญหรอกว่าเราจะพูดอะไรออกไป เพราะที่สุดแล้วมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอยู่ดี"
แนวคิดดังกล่าวนี้แผ่ขยายมากขึ้นในยุคปัจุบัน มันทำให้นักเตะหลายคนถอนตัวเมื่อถึงโปรแกรม ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก นักเตะจากชาติระดับแถวหน้าที่ถือว่าเป็นตัวยืนของยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส, สเปน, เยอรมนี, อังกฤษ และทีมอื่น ๆ เริ่มบอกว่าพวกเขามีอาการบาดเจ็บ ลงเล่นไม่ได้เมื่อโปรแกรมทีมชาติมาถึง
มันไม่ใช่เรื่องรักชาติ ไม่รักชาติ ภูมิใจที่ติดทีมชาติหรือไม่ มันก็แค่การที่พวกเขาเลือกสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับตัวเอง เพราะพวกเขาต่างรู้ดีว่า หากพยายามคว้าทุกอย่าง ที่สุดแล้วพวกเขาอาจจะไม่สามารถคว้าอะไรติดมือได้เลย ...
คำถามคือ พวกเขาลืมกำพืดไปหรือเปล่า ? เพราะในอีกแง่ ฟุตบอล เนชั่นส์ ลีก ก็ช่วยทำให้ฟุตบอลบางชาติแข็งแกร่งขึ้นด้วย
หรือ เนชั่นส์ลีก มีไว้เพื่อช่วยทีมที่ยังไม่ได้เป็นเลิศ ?
สิ่งที่ เดอ บรอยน์ และ คล็อปป์ บอก มันอาจจะมาจากกุนซือของชาติที่ไปเล่นฟุตบอลโลกทุกครั้ง และนักเตะที่ประสบความสำเร็จมากมายกับสโมสร และเล่นท่ามกลางโปรแกรมชุกชุมมาหลายปี สิ่งที่ออกมาจากพวกเขาจึงเป็นการ "หมิ่น" ถ้วยนี้ และบางทีมันอาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะรายการนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญของชาติที่กำลังพยายามสร้างทีมใหม่เป็นอย่างดี เพราะในรายการนี้พวกเขาจะได้ลุ้น ได้ลองใช้งานนักเตะอย่างเต็มที่ และสำคัญที่สุดคือ ได้เห็นว่านักเตะแต่ละคนให้ความสำคัญกับทีมชาติขนาดไหน
ไม่ต้องเปรียบเทียบที่ไหนไกล อย่างในทีมชาติอังกฤษ ปกติก่อนหน้านี้พวกเขาเป็นชาติที่ไม่เคยใกล้เคียงความสำเร็จในรายการระดับเมเจอร์เลย แต่พอมาถึงยุค แกเร็ธ เซาธ์เกต เข้ามาคุมทีม เขาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายสิ่งในแคมป์ ทรี ไลออนส์ หนึ่งในนั้นคือการสร้างค่านิยมให้นักเตะทีมชาติอังกฤษภูมิใจที่ได้เล่นให้ทีมชาติ
ในขณะเดียวกัน ใครก็ตามที่มองข้าม และไม่ต้องการลงเล่น ก็เหมือนจะโดนตัดตัวไปโดยปริยาย อังกฤษ สร้างทีมในยุค เซาธ์เกต จากการทำให้นักเตะมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น เข้าใจความหมายของการได้เล่นทีมชาติมากขึ้น และบทลงโทษสำหรับคนที่ถอนตัวแบบเล่นแง่ ไม่ได้เจ็บจริง ก็มีให้เห็นไม่ใช่การขู่ จุดนี้ต้องยอมรับว่ามันเปลี่ยนค่านิยมของนักเตะทีมชาติอังกฤษได้จริง ทำให้พวกเขาเป็นทีมที่ได้เข้ารอบลึก ๆ เสมอ เพราะความเป็นหนึ่งเดียวกันที่ เซาธ์เกต สร้างขึ้นมา
"แกเร็ธ เซาธ์เกต นำความสนุกในการเล่นทีมชาติอังกฤษกลับมา ทุกคนต่างตื่นเต้นที่จะได้กลับมาแคมป์ ทุกคนในแคมป์อยากเล่นให้ทีมชาติและนั่นคือสิ่งสำคัญสุด" เคน กล่าว
"ผมคิดว่าทีมชาติมาก่อนสโมสร มันคือสิ่งสำคัญในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ แกเร็ธ ใส่ใจเรื่องนี้มาก เขาไม่กลัวที่จะตัดสินใจถ้ามีใครเริ่มไม่คิดแบบนี้"
"น่าเสียดายที่สัปดาห์นี้เป็นช่วงที่ยากลำบากของฤดูกาล และบางทีอาจมีนักเตะบางคนใช้โปรแกรมทีมชาตินี้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองไปบ้าง" กัปตันทีมชาติอังกฤษกล่าว หลังรู้ว่ามีนักเตะถึง 9 คนของทีมชุดนี้ถอนตัวออกไป
สิ่งที่ เคน บอกแสดงให้เห็นว่า ในช่วงที่อังกฤษยังไม่เป็นทีมระดับเข้ารอบลึก ๆ ตลอด พวกเขาก็จริงจังกับเรื่องนี้มากจนทำให้ทีมมีระเบียบและมีทัศนคติที่ดีในการเล่นทีมชาติ จนเปลี่ยนแปลงเป็นผลการแข่งขันที่ดีได้สำเร็จ
แต่เมื่อพวกเขามาอยู่ในจุดที่ทีมชาติอังกฤษไม่จำเป็นต้องกระเสือกกระสนในการเข้ารอบสุดท้ายในรายการระดับเมเจอร์ พวกเขาก็อาจจะลดความสำคัญในการเล่นให้ทีมชาติในโปรแกรมที่ไม่จำเป็นลง เพื่อทำให้อาชีพของพวกเขายืนยาวขึ้น หาเงินได้มากขึ้น นั่นคือการโฟกัสกับสโมสรที่เป็นต้นสังกัดก่อน หากไม่ใช่โปรแกรมทีมชาติที่สำคัญจริง ๆ ซึ่งแน่นอนว่า ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ไม่ได้ถูกนับรวมเป็นหนึ่งในนั้น
และที่เหลือมันก็ขึ้นอยู่กับโค้ชของเหล่าทีมชาติต่าง ๆ แล้วว่า จะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าพวกเขาเข้าใจ มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เช่น ฝรั่งเศส ที่ไม่ใช้งาน คิลิยัน เอ็มบัปเป้ ในช่วง เนชั่นส์ ลีก ไม่ใช่เพราะเขาไม่เก่งพอ แต่พวกเขารู้ดีว่าการใช้ เอ็มบัปเป้ ในรอบสุดท้ายที่สำคัญกว่าในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์กว่า มันย่อมได้ประโยชน์มากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม การเป็นนักกีฬาระดับแถวหน้าย่อมหนีไม่พ้นคำวิจารณ์ คุณอาจจะมีเหตุผลส่วนตัวในการหันหลังให้ทีมชาติในช่วงเวลาที่ไม่ได้สำหลักสำคัญมากนัก แต่คุณก็ต้องรับมือกับแรงวิจารณ์ให้ได้ด้วย เพราะใช่ทุกคนที่จะมองกรณีเดียวกันนี้ด้วยมุมมองที่เหมือนกับคุณเสมอไป
เอาเป็นว่าบทสรุปของ ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ที่เป็นปัญหาในเวลานี้คือ มันขึ้นอยู่กับมุมมองว่าคุณหาประโยชน์จากมันได้มากแค่ไหน ถ้าคุณเป็นทีมชาติที่กำลังสร้างยุคสมัยของตัวเองขึ้นมาใหม่ รายการนี้ก็จะเป็นรายการสำคัญที่ทำให้คุณได้ลองทีม ได้ลองนักเตะ หรือแม้กระทั่งแท็คติก ... และถ้าคุณคว้าแชมป์ได้ มันก็ถือว่าเป็นการเติมประสบการณ์ให้กับทีมที่คุณกำลังสร้างขึ้นมาด้วย
แต่สำหรับนักเตะที่ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกแล้ว พวกเขาก็ไม่ผิดที่จะมองอีกแบบ พวกยอมตัดประโยชน์ส่วนน้อย เพื่อเก็บประโยชน์ส่วนมากเอาไว้
และเมื่อพวกเขาสามารถรับมือกับคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นได้ การถอนตัวจากรายการนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป นั่นเป็นสาเหตุที่ ณ เวลานี้ เนชั่นส์ ลีก กลายเป็นรายการฟุตบอลที่นักเตะดัง ๆ พาเหรดกันถอนตัวไม่เว้นแต่ละชาติ ซึ่งก็คงต้องหาทางออกร่วมกันต่อไปว่า จะเอาอย่างไรดีในกรณีนี้ เพราะเมื่อไม่มีสตาร์ลงเล่น ความน่าสนใจก็หายไปโดยปริยาย
ในอนาคต หากมันยังเป็นแบบนี้ต่อไป นักเตะถอนตัวมากขึ้น บางที ยูฟ่า อาจจะต้องกลับมาทบทวนความสำคัญของรายการนี้ใหม่ ว่าจะมีทางใดแก้ไขให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายหรือไม่
แหล่งอ้างอิง
https://urbanpitch.com/its-time-to-take-the-uefa-nations-league-seriously/
https://www.goal.com/en/news/sorry-jurgen-but-the-nations-league-is-anything-but-pointless/ocyr6g3es4t21n8e1ianxm17s
https://www.goal.com/en/news/klopp-takes-aim-uefa-ceferin-nations-league-scrapped-ridiculous-idea-football/bltb3bd2d031c40efc1
https://www.beinsports.com/en-us/soccer/premier-league/articles/de-bruyne-to-skip-nations-league-fixtures-to-manage-workload-2024-10-04