Feature

ต้องลองเสี่ยง : การปลดกุนซือระหว่างฤดูกาล ที่ทีมในเจลีกคิดอยู่ตลอดว่า ดีแล้วหรือ ? | Main Stand

การทำงานของ เฮดโค้ช หรือ ผู้จัดการทีม ในโลกฟุตบอล ถือเป็นงานที่เต็มไปด้วยความกดดันมหาศาล เพราะพวกเขาจะต้องพาทีมทำผลงานในสนามให้ดีอย่างสม่ำเสมอ หากทำไม่ได้ หนึ่งในทางออกของการแก้ปัญหาที่ทีมทำผลงานย่ำแย่ คือการเปลี่ยนให้คนใหม่ทำหน้าที่แทน

 

การปลดกุนซือ เป็นเรื่องที่แฟนบอลสามารถพบเห็นได้เสมอ เมื่อมีทีมฟุตบอลกำลังประสบปัญหาในการทำผลงานให้ดีในสนาม ไม่ว่าจะเป็นทีมจากลีกประเทศไหนก็ตาม

สำหรับทีมในเจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่น แม้จะมีเหตุการณ์ปลดกุนซืออยู่เรื่อย ๆ แต่แฟนบอลในลีกแห่งนี้ รวมถึงสื่อในประเทศตัวเอง กลับมีมุมมองที่ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนัก กับการตัดสินใจเช่นนั้นของสโมสรต่าง ๆ

เหตุใดพวกเขาถึงคิดเช่นนั้น ติดตามไปกับ Main Stand

 

ผลลัพธ์ไม่ดีก็ต้องไป

เป็นเรื่องปกติที่สโมสรฟุตบอลต่าง ๆ จะตัดสินใจปลดกุนซือของพวกเขา เมื่อทีมกำลังอยู่ในฟอร์มการเล่นต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น

ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นอย่าง เจลีก เองก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน สโมสรต่าง ๆ ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงเมื่อทีมกำลังอยู่ในจุดวิกฤตด้านผลงานในสนาม การปลดกุนซือ คือทางออกที่เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุดในการแก้ปัญหาเหล่านั้น

เหตุการณ์ดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ครึ่งทางของแต่ละฤดูกาล (ปัจจุบัน เจลีก เริ่มเปิดฤดูกาลช่วงเดือนกุมภาพันธ์, ปิดฤดูกาลช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่จะเปลี่ยนมาเปิดฤดูกาลช่วงเดือนสิงหาคม ปิดฤดูกาลช่วงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไปในปี 2026) เช่นในฤดูกาล 2024 ของเจลีก ที่มีทีมเลือกปลดกุนซือของพวกเขาออกไปแล้ว 3 ทีม ได้แก่ โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส (16 กรกฏาคม), ซางัน โทสุ (9 สิงหาคม) และล่าสุด อุราวะ เรด ไดมอนด์ส (27 สิงหาคม)

ส่วนเหตุผลที่ทั้งสามทีม เลือกปลดกุนซือของพวกเขานั้นเหมือนกันก็คือ ผลงานในสนามไม่ได้ตามมาตรฐานที่คาดหวังไว้

หรือในฤดูกาล 2022 ที่มีปลดกุนซือช่วงกลางฤดูกาล ในวันเดียวกันทั้งสองทีม นั่นคือ กัมบะ โอซาก้า และ จูบิโล่ อิวาตะ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม และในฤดูกาลดังกล่าวก็มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจสำหรับการปลดกุนซืออีกหนึ่งอย่าง ก็คือ วิสเซล โกเบ กับการเปลี่ยนแปลงกุนซือของพวกเขาถึง 2 รอบ ในเดือนเมษายน และ มิถุนายน ท่ามกลางฟอร์มการเล่นของทีมที่ย่ำแย่ จนสุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้น

อิซาโอะ วาตานาเบะ นักเขียนสายกีฬาชาวญี่ปุ่น เคยให้สาเหตุว่าทำไมทีมในเจลีกที่ฟอร์มกำลังไม่ดี เลือกปลดกุนซือของพวกเขาออกในช่วงกลางฤดูกาล เพื่อหาคนใหม่เข้ามากอบกู้สถานการณ์ โดยกล่าวไว้ว่า

"การเปลี่ยนกุนซือในช่วงกลางฤดูกาล น่าจะส่งผลดีเป็นอย่างมากต่อทีม และอาจจะเป็นโอกาสสําหรับทีมที่สูญเสียความมั่นใจไปในช่วงครึ่งแรกของฤดูกาล ได้มีเวลาในการแก้ตัวอีกครั้ง ด้วยความสามารถของกุนซือคนใหม่"

นอกจากเหตุผลแล้ว อิซาโอะ วาตานาเบะ ยังได้ยกสถิติของการเปลี่ยนกุนซือในช่วงกลางฤดูกาลของทีมในเจลีกอีกด้วย

"ในช่วงปี 2009 ถึง 2019 เวลาประมาณ 10 ปี มีการเปลี่ยนกุนซือในช่วงกลางฤดูกาล 93 ครั้ง ทั้งใน เจลีก 1, 2 และ 3 มี 64 ครั้ง ที่กุนซือคนใหม่สามารถพาทีมเก็บคะแนนในลีก ได้มากกว่ากุนซือคนก่อน ดูเหมือนการเปลี่ยนกุนซือในช่วงกลางฤดูกาล จะส่งผลดีต่อผลงานของทีมมาก"

"และเมื่อเปรียบเทียบรายละเอียดคะแนนที่เก็บได้ในลีก เฉลี่ยต่อเกม กุนซือคนก่อนจะทำได้อยู่ที่ 1.11 คะแนน ส่วนกุนซือคนใหม่มีค่าเฉลี่ย 1.31 คะแนน มากกว่า 0.2 คะแนนต่อเกม เพิ่มขึ้นมาประมาณ 18% เราอาจจะนับได้ว่าเป็นความสําเร็จจากการเปลี่ยนกุนซือในช่วงกลางฤดูกาล ของหลายทีมในเจลีกก็ได้"

อย่างไรก็ตาม ต่อให้การเปลี่ยนกุนซือในช่วงกลางฤดูกาล จะมีผลดีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ในมุมมองของแฟนบอล เหมือนว่าพวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกชื่นชอบมากนักในการตัดสินใจทำแบบนั้นของสโมสร

 

เห็นต่าง

ในฟากของแฟนบอล พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงกุนซือในช่วงระหว่างฤดูกาล ทำให้นักเตะในทีมต้องมาเรียนรู้ ซึมซับแทคติกจากกุนซือคนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนารูปแบบการเล่นของทีม

และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่บางสโมสรในเจลีก ยังไม่มีการปลดกุนซือออกไป แม้ผลงานในสนามของทีมจะไม่ได้อยู่ในจุดที่ดีตามความคาดหวังของพวกเขาก็ตาม นั่นเพราะไม่อยากเสี่ยงทำในสิ่งที่แฟนบอลไม่ต้องการ

"ผลเสียที่แท้จริงของการเปลี่ยนกุนซือ มันคือการสร้างประสิทธิภาพในการเล่นของทีม" แฟนบอล คอนซาโดเล่ ซัปโปโร คนหนึ่ง ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ @yuukun0617 พูดถึงปัญหาของการเปลี่ยนกุนซือในช่วงระหว่างฤดูกาล

"นี่คือเรื่องที่พบได้บ่อยที่สุดในการเปลี่ยนกุนซือ เพื่อให้ทีมเล่นได้ในสไตล์ที่ต้องการ กุนซือจะเป็นคนตัดสินใจเลือกใช้งานนักเตะ ตามความเหมาะสมและประสิทธิภาพ การเลือกนักเตะขึ้นอยู่กับตัวแปรต่าง ๆ เช่น ผลงานในการฝึกซ้อม หรือแม้กระทั่งความชอบและความไว้วางใจเป็นการส่วนตัวของกุนซือที่มีต่อนักเตะ ก็อาจนำไปสู่แนวโน้มและอคติในการเลือกนักเตะ" 

"ไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วกุนซือจะมีความยุติธรรมต่อนักเตะแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายการมีกุนซือที่มีความแน่วแน่ว่าจะทำให้ทีมเล่นไปในทิศทางไหน และกำลังทำให้มันสำเร็จ ย่อมเป็นเรื่องดีกว่าการเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์"

ขณะที่สื่อบางส่วนในญี่ปุ่น ก็มีความเห็นที่คล้ายกันกับแฟนบอล หรือแม้แต่บุคคลภายในสโมสรฟุตบอลเอง ก็ไม่อยากที่จะปลดกุนซือของพวกเขาด้วย แต่ก็ต้องทำ เพื่อให้ทีมเดินหน้าต่อ

โยเฮ ชิอิบะ อดีตนักหนังสือพิมพ์ ที่ปัจจุบันผันตัวเป็นนักเขียนอิสระ มองว่าการเปลี่ยนกุนซือใหม่ในช่วงกลางฤดูกาลของทีมในเจลีก แม้สถิติจะบ่งบอกเป็นเรื่องดี แต่มันก็มีทีมที่เปลี่ยนกุนซือใหม่แล้วผลงานในสนามก็ยังไม่กระเตื้องเหมือนกัน

"มีเหตุผลหลายอย่างที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของกุนซือ แต่ถ้าจะให้สรุป ส่วนใหญ่เหตุผลที่สโมสรต่าง ๆ เลือกปลดกุนซือก็จะมาจาก ผลงานในสนามที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ตั้งเอาไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กุนซือเหล่านั้น จะถูกแทนที่ด้วยคนอื่น เมื่อไม่สามารถพาทีมสร้างผลลัพธ์ได้ตามความคาดหวัง" โยเฮ ชิอิบะ กล่าวกับ spaia.jp เว็บไซต์กีฬาญี่ปุ่นเชิงสถิติ

"แต่มันก็ไม่ใช่ว่าวิธีแบบนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีทุกครั้ง มีเพียงไม่กี่ทีมเท่านั้นที่ประสบความสําเร็จในระยะยาว จากการเปลี่ยนกุนซือในช่วงกลางฤดูกาล ในทางกลับกัน ก็มีบางทีมที่ไม่ได้เปลี่ยนโค้ชบ่อยครั้ง แต่พวกเขาก็มีช่วงเวลาที่ประสบความสําเร็จอย่างมาก บางทีเราอาจจะมองได้ว่า การให้กุนซือได้มีเวลาในสร้างทีม ดูจะเป็นผลดีในระยะยาว"

ซาโตชิ โฮริโนจิ ผู้อํานวยการกีฬาของ อุราวะ เรด ไดมอนด์ส ที่ได้กล่าวเอาไว้ในเว็บไซต์ทางการของสโมสร ภายหลังที่ทีมได้ปลดกุนซืออีกครั้ง ไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2024 ว่าการปลดกุนซือไม่ใช่การตัดสินใจที่จะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้เสมอไป

"เพื่อที่จะสร้างทีมให้ก้าวเดินไปข้างหน้าต่อ เราจึงไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกุนซือ ทว่าผลการแข่งขันของทีมที่ออกมาจนถึงตอนนี้ เราไม่สามารถเก็บคะแนนและทำผลงานได้ตามเป้าหมาย แต่ในทางกลับกัน ผมเองก็ไม่คิดว่านั่นจะเป็นความรับผิดชอบของกุนซือเพียงคนเดียว" ซาโตชิ โฮริโนจิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งแฟนบอลหรือสื่อบางส่วนในญี่ปุ่น ต่างรู้สึกไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนกุนซือในช่วงกลางฤดูกาลของทีมในเจลีก ก็สะท้อนให้เห็นถึงอะไรบางอย่าง ในสังคมของประเทศพวกเขา

 

เมคชัวร์ก่อนเปลี่ยนแปลง

หากพูดถึงสังคมการทำงานของญี่ปุ่น ที่เน้นในเรื่องของการทำงานเป็นทีม หนึ่งในสิ่งที่สามารถพบเห็นได้บ่อย นั่นคือการ "เลี่ยงความเสี่ยง" ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน วางแผนเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดจากการทำงานได้ในภายหลัง

จะเห็นได้ว่า พวกเขามีทั้งแนวคิด กฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผนมากมาย ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานให้มีคุณภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดขึ้นชื่อในสังคมการทำงานอย่าง "โฮเร็นโซ (HoRenSo)" การสื่อสารร่วมกับคนในทีม เพื่อทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสีย

หรือหลัก "ไคเซ็น (Kaizen)" ที่ว่าด้วยการบริหารปริมาณงานที่ต้องทำให้น้อยลง ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ออกและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรบริษัทญี่ปุ่น 

แต่ทว่าการมีแนวคิดหรือแบบแผนต่าง ๆ สำหรับการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง แม้จะทำให้การทำงานมีคุณภาพและช่วยลดความเสี่ยง แต่การเติบโตแบบก้าวกระโดดนั้นเกิดขึ้นได้ลำบากในแวดวงธุรกิจญี่ปุ่น หรือรวมถึงวงการอื่น ๆ ด้วย จะเป็นการเดินไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ

เนื่องด้วยความพยายามที่จะวางแผนกันอยู่ตลอดในการทำงาน สำหรับแต่ละองค์กร ทำให้ต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา ค่อนข้างนาน และนอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนแผนงานระหว่างทาง ก็เป็นเรื่องที่สังคมการทำงานของญี่ปุ่น มองว่าเป็นเรื่องที่ทำใจลำบากเหมือนกัน

"โดยปกติ คนญี่ปุ่นจะมีความรู้สึกกลัวอยู่บ้าง เมื่อต้องถึงเวลาเคลื่อนไหว เพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่งที่หลุดออกจากธรรมเนียมดั้งเดิม แต่พวกเขาจะไม่ลังเลเลยที่จะเสนอแผนการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงองค์กรและเอาชนะคู่แข่ง" รูธ มารี จาแมน นักวิชาการด้านสังคมชาวสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1988 กล่าวถึงนิสัยการทำงานของคนญี่ปุ่น

"คนญี่ปุ่นให้ความสําคัญกับการวางแผน พวกเขาจะมีความสุข ถ้าในที่สุดพวกเขาเป็นฝ่ายชนะด้วยการเตรียมตัวที่ดี วางแผนอย่างรอบคอบ และลงมือทำตามแผน สําหรับญี่ปุ่น การถึงจุดที่ต้องมีการเปลี่ยนแผน การก้าวเดินออกมาจากเส้นทางที่กำหนดไว้ ถือเป็นความเสี่ยงที่สูง แม้ว่าสุดท้ายจะมีความเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่าก็ตาม"

และเมื่อมองกลับมาที่เรื่องการเปลี่ยนกุนซือในช่วงระหว่างฤดูกาลของทีมในเจลีกแล้ว ทางฝั่งแฟนบอลบางส่วนก็เลยมีข้อแคลงใจว่า การทำแบบนั้นมันจะส่งผลดีแน่หรือ ? ตามสไตล์การทำงานขององค์กรบริษัทญี่ปุ่น ที่เน้นในเรื่องการปฎิบัติตามแบบแผนที่วางไว้เป็นอย่างดีแล้ว

แต่สุดท้าย ไม่ว่าใครจะสงสัยว่ามันเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ สำหรับการเปลี่ยนแปลงกุนซือในช่วงระหว่างฤดูกาลของทีมในเจลีก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางฤดูกาล เครื่องหมายคำถามเหล่านั้นจะได้รับคำตอบทันที

เมื่อผลงานในสนามของทีมนั้น ๆ อยู่ในจุดที่น่าพอใจและตอบโจทย์สำหรับทุกฝ่าย ทั้งตัวสโมสรเอง รวมถึงแฟนบอลด้วย

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.tsp21.com/sports/soccer/jnote.html
http://yohei22.com/2013/0427_222957.html
https://number.bunshun.jp/articles/-/839993
https://consadole.net/yuukun0617/article/1391
https://spaia.jp/column/soccer/jleague/18346#google_vignette
https://www.footballchannel.jp/2024/08/27/post605694/
https://courrier.jp/columns/70380/

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น