Feature

La Fabrica : ระบบผลิตเยาวชนของ เรอัล มาดริด ที่ ‘ไม่จำเป็นต้องขึ้นชุดใหญ่’ | Main Stand

การมีทีมอคาเดมี่เป็นของตัวเองนั้น เป้าหมายหลักย่อมเป็นการสร้างนักเตะระดับคุณภาพ เติบโตจากปรัชญาของสโมสร และก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักให้ทีมใช้งานไปอีกสิบ ๆ ปี 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกหมุนไป หลายสิ่งก็เปลี่ยน และแนวคิดใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ กำลังเกิดโมเดลใหม่ ที่ว่าด้วยการสร้างดาวรุ่งให้ไม่ต้องขึ้นมาเป็นตัวหลักในทีมชุดใหญ่ก็ได้ หรือแม้กระทั่งไม่จำเป็นต้องขึ้นชุดใหญ่เลยก็ยังได้ 

นี่คือแนวคิดของ La Fabrica อคาเดมี่ของสโมสร เรอัล มาดริด ที่กำลังเป็นโมเดลของทีมแถวหน้าของโลกในเวลานี้  แนวทางเป็นอย่างไร ?

ติดตามที่ Main Stand 

 

ยินดีต้อนรับสู่ La Fabrica 

"ลา ฟาบริก้า" (La Fabrica) คืออคาเดมี่ของสโมสร เรอัล มาดริด ที่พวกเขาลงทุนไปมากมายหลายร้อยล้านยูโร ตั้งอยู่ที่ย่าน บัลเดเบบาส อันเป็นที่ตั้งสนามซ้อมของ เรอัล มาดริด ที่แห่งนี้มีสนามฟุตบอล 11 สนามไว้สำหรับซ้อม และแข่งขันในระดับเยาวชน รวมถึง เอสตาดิโอ อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่ สนามแข่งที่ตั้งชื่อตามตำนานของทีม ซึ่ง เรอัล มาดริด ชุดใหญ่ เคยใช้บริการถึง 2 ปี ระหว่างการปรับปรุง เอสตาดิโอ ซานติอาโก เบอร์นาเบว รังเหย้าหลัก

โดย เรอัล มาดริด มีทีมเยาวชนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ไล่ขึ้นมาจนชุด "กาสตีย่า" (Castilla) หรือทีมสำรอง โดยรวม ๆ แล้ว ที่ ลา ฟาบริกา มีนักเตะเยาวชนที่สโมสรต้องดูแลปีละมากกว่า 400 คน และพวกเขามีค่าใช้จ่ายสำหรับเด็ก ๆ เหล่านี้อยู่ที่ปีละ 25 ล้านยูโร … ซึ่งด้วยเงินจำนวนนี้ พวกเขาจึงมีไอเดียในการสร้างเยาวชนที่ไม่เหมือนใครในสเปน หรืออาจจะในยุโรปเลยด้วยซ้ำ 

ย้อนกลับไปในปี 1950 ลา ฟาบริก้า คือศูนย์ฝึกเยาวชนแห่งแรกในสเปน ภายใต้แนวคิดของ ซานติอาโก เบอร์นาเบว ประธานสโมสรที่เป็นตำนานเบอร์ 1 ของทีม โดยในเวลานั้น พวกเขาจะคัดเอาเด็กฝีเท้าดีจากท้องถิ่น หรือที่เคยเห็นกันในทัวร์นาเมนต์บอลเด็ก และดึงตัวเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกแห่งนี้ 

จากนั้นนักเตะยิ่งใหญ่ระดับตำนานของสโมสรก็เกิดขึ้นมากมากไล่มาตั้งแต่ยุค 1950s อย่าง ฮวน ซานติสเตบัน, อันโตนิโอ รุย, รามอน มาร์ซาล และ เอ็นริเก้ มาเตโอส มาจนถึงยุค 1960s อย่าง เฟร์นานโด เซเรนา, รามอน กรอสโซ ไล่เรียงจนมาถึงคนที่แฟนบอลทั่วโลกในยุค 1980s ต้องจำได้อย่าง เอมิลิโอ บูตราเกนโญ่ และขวัญใจยุค 1990s อย่าง กูตี, ราอูล กอนซาเลซ และ อิเคร์ กาซิยาส

โดยปกติแล้ว อคาเดมี่เกิดขึ้นก่อนน่าจะสร้างรายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ... แต่กระแสนิยมของโลกฟุตบอลเปลี่ยนไป และ เรอัล มาดริด ก็สร้างสโมสรในรูปแบบของทีมรวมดารา พวกเขาจะต้องซื้อนักเตะระดับโลกมาร่วมทีมทุกปี โดยเฉพาะหลังจากที่ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ เข้ามาเป็นประธานสโมสรและเดินหน้านโยบาย "กาลาติกอส" (Galacticos) อันลือลั่น

ดังนั้นผลผลิตจากทีมเยาวชนที่ใช้ได้จริง ๆ ระดับตัวหลักของทีมในช่วง 20 ปีหลังนั้นน้อยลงมาก นอกจาก ราอูล และ กาซิยาส ที่ขึ้นหิ้งเป็นตำนานกัปตันทีมแล้ว นับมาจากนั้นมีเพียงคนเดียวที่พูดได้เต็มปากว่าเป็นตัวหลักของทีมคือ ดานี่ การ์บาฆัล เพียงรายเดียวเท่านั้น (ซึ่งการขึ้นเป็นตัวหลักของเขาก็ไม่ได้เกิดในแนวทางปกติ โดยเราจะเล่าต่อไปภายหลัง) หรืออาจจะรวม นาโช่ เฟร์นานเดซ และ ลูคัส บาสเกซ ในฐานะ "Squad Player" หรือนักเตะหมุนเวียนไปด้วย แต่มันก็ไม่มากพอสำหรับ 20 ปีนี้   

ไม่ใช่เพราะไม่เก่ง แต่ฟุตบอลที่เปลี่ยนเป็นยุคทุนนิยมรอไม่ได้ การดันดาวรุ่งมากเกินไป ส่งผลถึงการแข่งขันและความสำเร็จได้โดยตรง มันง่ายกว่าในเมื่อคุณมีเงิน และคุณซื้อนักเตะอย่างชาญฉลาด ฝีเท้าเก่งกาจ อายุน้อย และเป็นกำลังหลักของทีมได้ยาว ๆ ดังนั้นจึงมีนักเตะจาก ลา ฟาบริก้า อีกมากหลายสิบหรืออาจจะเป็นร้อยคนที่ถูกคัดทิ้งไปเพราะว่าไม่ดีพอ 

ส่วนคนที่ดีพอจะขึ้นชุดใหญ่ ก็ต้องมีเหล่าสตาร์ขวางหน้าอีกมากมาย ที่ มาดริด มันค่อนข้างแตกต่างกับ บาร์เซโลน่า หรือทีมอื่น ๆ ในสเปน ที่จะเลือกใส่นักเตะเยาวชนเข้าไปในทีมชุดใหญ่เรื่อย ๆ และให้เวลาเล่นมากขึ้นในแต่ละปี หรือบางคนที่มีศักยภาพ ก็จะดันขึ้นชุดใหญ่ เป็นตัวหลักเต็มตัว แบบที่เราได้เห็นนักเตะอย่าง ลามีน ยาร์มาล ที่เล่นชุดใหญ่ตั้งแต่อายุ 15 ปี และเป็นกำลังสำคัญไปแล้วในตอนนี้ หรืออาจจะเป็น เปา คูบาร์ชี่ ที่เป็นเซ็นเตอร์แบ็กอายุแค่ 17 ปี แต่เป็นหัวใจสำคัญในแนวรับไปแล้ว

ตัดภาพกลับมาที่ เรอัล มาดริด พวกเขามีเพียง นาโช่ คนเดียวที่ขึ้นตรงมาจากชุด กาสตีย่า โดยไม่ผ่านการฝากเลี้ยงไว้กับสโมสรอื่นเลย มองดูแล้วนี่ควรเป็นเรื่องที่ มาดริด ต้องซีเรียสไม่มากก็น้อย ที่ดันเด็กขึ้นมาเป็นตัวหลักในทีมชุดใหญ่ไม่ได้นานแล้ว 

แต่สำหรับพวกเขานี่ไม่ใช่ปัญหา อย่างที่เราได้บอกไว้ เพราะแนวคิดของพวกเขาแตกต่างจากทีมอื่นอย่างสิ้นเชิง 

 

ไม่จำเป็นต้องขึ้นชุดใหญ่ 

ลา ฟาบริก้า มีศักดิ์และศรีไม่ต่างจาก ลา มาเซีย (La Masia) ของ บาร์เซโลน่า ในแง่ของมาตรฐานการสร้างนักเตะ มาดริด ทุ่มเงินพัฒนาระบบอคาเดมี่ทุกปี แม้จะไม่ได้ขึ้นชุดใหญ่ของทีมตัวเองไม่มาก 

แต่ใครเลยจะรู้ มาดริด นี่แหละที่เป็นฐานส่งนักเตะให้ทีมอื่น ๆ ใช้งานในลีกสเปน นับแค่ในลีกสูงสุดอย่าง ลา ลีกา มีนักเตะที่โตมาจาก ลา ฟาบริกา เล่นในทีมต่าง ๆ ถึง 55 คน แม้แต่ที่ บาร์เซโลน่า ก็ยังมีผลผลิตจากอคาเดมี่ของ มาดริด อย่าง มาร์กอส อลอนโซ่ ซ่อนตัวอยู่เลย 

นี่คือความลับ พวกเขาไม่ได้สร้างเยาวชนที่ฝีเท้าไม่ถึงขั้น เพียงแต่จะพูดให้ถูกคือ นักเตะเยาวชนมาดริดที่สร้างขึ้นมา "เก่งไม่เท่าสตาร์" ดังนั้นแนวคิดที่จะสร้างและดันขึ้นชุดใหญ่จึงเปลี่ยนมาเป็น ปั้นและขายเพื่อทำเงินในทันที  

"คุณจะบอกว่าเรื่องนี้มันไม่สมเหตุสมผลก็ไม่ใช่ เพราะในเมื่อบางปีคุณไม่ประสบความสำเร็จ คุณจำเป็นจะต้องยกระดับทันทีแบบรอไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นในปีที่ผ่านมา เซร์คิโอ อาร์ริบาส เตรียมจะขึ้นมาในตำแหน่งมิดฟิลด์ แต่เราก็ซื้อนักเตะที่ดีที่สุดในโลกอย่าง จู๊ด เบลลิงแฮม มาร่วมทีม นั่นเป็นการปิดประตูของ อาร์ริบาส" ดานี่ การ์บาฆัล ว่าเช่นนั้น 

จากสิ่งที่กล่าวมา การขยับขยายจึงเกิดขึ้น นักเตะคนไหนที่เก่งเกินกว่าจะเล่นชุด กาสตีย่า จะถูกขายออกไปเพื่อทำเงินเพื่อสร้างเด็กชุดต่อไป นั่นคือสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจของสโมสรเดินต่อไปได้ ควบคู่กับเรื่องผลงานในสนาม พวกเขาจะไม่รั้งนักเตะไว้ แถมยังเสริมส่งให้ออกไปหาประสบการณ์ลงเล่นกับทีมอื่นด้วย 

จะบอกว่าพวกเขาสร้างเด็ก ๆ มาเพื่อทำแบบนี้ก็คงไม่ผิดนัก มันเป็นคอนเซ็ปต์ที่ตรงกับชื่อของอคาเดมี่ที่ชื่อว่า La Fabrica ที่แปลว่า "โรงงาน" ซึ่งในแง่ของความรู้สึก มันมีความเป็นธุรกิจ มากกว่าชื่ออย่าง La Masia ที่แปลว่า "บ้านไร่ปลายสวน" 

The Athletic สื่อฟุตบอลชั้นแนวหน้า ถึงกับเจาะแนวคิดการสร้างเยาวชนในแบบธุรกิจของ เรอัล มาดริด และสรุปได้ว่า เรอัล มาดริด สร้างและสอนเด็ก ๆ ของพวกเขาให้เน้นไปที่ความคล่องตัว ความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสไตล์แท็กติกที่แตกต่างกัน เป้าหมายคือเพื่อฝึกฝนเยาวชนให้สามารถทำผลงานได้ในเกมระดับมืออาชีพ และยิ่งกว่านั้นคือทำให้พวกเขาพร้อมจะเล่นที่ไหนก็ได้ แม้ไม่ใช่กับสโมสร เรอัล มาดริด ก็ตาม 

"ที่มาดริด ผมเริ่มเล่นในตำแหน่งแบ็กขวา จากนั้นพวกเขาก็ย้ายผมไปเล่นเซนเตอร์แบ็ก แต่โค้ชหลายคนปรับผมเป็นกองกลาง ... จนกระทั่งโตมาผมเพิ่งเข้าใจว่าอคาเดมี่สอนผมให้เข้าใจฟุตบอลให้มากที่สุด ยืดหยุ่นและเล่นได้หลายตำแหน่ง" กอนซาโล่ เอ็กซ์โปซิโต อดีตเด็ก ลา ฟาบริกา ที่ค้าแข้งกับทีมในระดับดิวิชั่น 4 ของ สเปน ยืนยัน 

จุดนี้ก็ต้องเทียบกับ บาร์เซโลน่า ที่สอนนักเตะใน ลา มาเซีย ด้วยระบบการเล่น 4-3-3 ซึ่งถือว่าเป็นพิมพ์เขียวของสโมสร ปลายทางคือให้เด็กทุกคนเข้าใจระบบ เพื่อขึ้นชุดใหญ่แล้วจะได้ไปต่อง่าย ไม่ต้องปรับตัวเยอะ เรียกว่าโยนลงน้ำแล้วพร้อมว่ายน้ำเองได้เลย 

ตัดภาพกลับมาที่ มาดริด การเสริมสร้างนักเตะของพวกเขาให้พร้อมไปเล่นในทุกที่บนโลก ทำให้เด็ก ๆ ไปต่อและมีทางเลือกหลากหลาย ในการเล่นให้กับทีมอื่น ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นทีมระดับหนีตกชั้นอย่าง อัลเมเรีย หรือเป็นทีมระดับลุ้นโควต้ายุโรป ไปจนถึงลุ้นแชมป์อย่าง แอตฯ มาดริด เด็ก ๆ ของ เรอัล มาดริด ก็จะเล่นให้กับทีมของคุณได้ เพราะพวกเขาถูกสอนให้ยืดหยุ่นมาตั้งแต่เด็ก (แอตฯ มาดริด มีนักเตะจาก อคาเดมี่ ของ เรอัล มาดริด 5 คนในทีมเวลานี้) 

เมื่อทีมอื่นพร้อมดึงตัวไป สโมสรก็พร้อมจะผลักดันนักเตะออกจากทีมเพื่อทำเงินมันทำให้ ลา ฟาบริก้า เป็นโรงงานผลิตดาวรุ่งที่ส่งออกนำเงินเข้ากระเป๋าของสโมสรมากมาย โดย 10 ปีให้หลัง เรอัล มาดริด ทำเงินกับเหล่าดาวรุ่งของพวกเขาที่ไม่ดีพอจะขึ้นชุดใหญ่ไปแล้วถึง 330 ล้านยูโร ถ้าเฉลี่ยแล้วจะตกอยู่ที่ปีละ 33 ล้านยูโร มากกว่ารายจ่ายต่อปีสำหรับเด็กทั้งอคาเดมี่ที่เราได้กล่าวไปในข้างต้น (ปีละ 25 ล้านยูโร)  ดังนั้นเงินส่วนนี้ ทำให้พวกเขามีเงินไปสร้างเด็กชุดต่อ ๆ ไปเพื่อทำเงินได้อีกเรื่อย 

ใครที่บอกว่าผลผลิตของ เรอัล มาดริด ไม่ดีเท่ากับ บาร์เซโลน่า คุณอาจจะต้องลองมาคิดดูใหม่ด้วยการมองจากกภาพกว้าง เรอัล มาดริด มีสถานะทางการเงินที่ยอดเยี่ยม และมีเงินเอาไปซื้อสตาร์ได้ทุกปี ส่วนหนึ่งก็เพราะผลผลิตของพวกเขาได้ราคา โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นจะต้องใช้เองเลยด้วยซ้ำ 

โมเดลแบบ ลา ฟาบริกา นี้ถือเป็นสิ่งที่กำลังนิยมในปัจจุบัน เช่น อคาเดมี่ของ แมนฯ ซิตี้ ก็กำลังทำเงินจากเด็กที่เก่งไม่พอเบียดนักเตะระดับโลกในทีมชุดใหญ่นี้มากมาย อาทิ โคล พาลเมอร์ ที่ขายได้ถึง 40 ล้านปอนด์, โรเมโอ ลาเวีย 20 ล้านปอนด์ หรือแม้แต่ เจดอน ซานโช่ ในราคาไล่เลี่ยกัน สรุปง่ายๆ คือ แมนฯ ซิตี้ ทำเงินจากการขายดาวรุ่ง 10 ปีหลัง ได้ถึง 360 ล้านปอนด์

และถ้าคุณมองไปที่ทีมชุดใหญ่ของพวกเขา พวกเขาก็มีเงินซื้อนักเตะแถวหน้าของโลกทุกปีโดยขนหน้าแข้งไม่ร่วง เรียกได้ว่าทั้ง เรอัล มาดริด และ แมนฯ ซิตี้ อาจจะไม่วินในเรื่องการสร้างนักเตะดาวรุ่งเสิร์ฟทีมชุดใหญ่ แต่ชนะขาดลอยบนเวทีธุรกิจ  

 

ยังไม่จบแค่นั้น ? 

สำหรับ ลา ฟาบริก้า การส่งออกเป็นเรื่องปกติ ทีมใหม่อยากได้ ทีมเก่าอยากขาย แล้วใจของเด็ก ๆ ที่โตมากับสโมสรเป็น 10 ปีล่ะจะรู้สึกอย่างไร ? ... คำตอบคือพวกเขาโอเคที่จะทำตามโมเดลนี้ เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่า "ออพชั่นซื้อกลับ"

นอกจากพวกเขาจะสอนให้เด็ก ๆ ยืดหยุ่นและเข้าใจฟุตบอลในสนามแล้ว พวกเขายังสอนให้นักเตะเข้าใจสถานการณ์นอกสนามด้วย เด็ก ๆ ของ มาดริด เข้าใจดีว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งที่พวกเขาอายุมากขึ้น และต้องการเกมเพื่อเพิ่มประสบการณ์ พวกเขาจำเป็นจะต้องออกไปหาทีมอื่น ๆ เล่น  ขณะที่ทางสโมสรก็ไม่ได้ตัดหางปล่อยวัด พวกเขามอบความมั่นใจให้กับผลผลิตของตัวเองว่า "ถ้าคุณดีพอ คุณจะได้กลับมา" ด้วยการใส่ออพชั่นซื้อกลับ 

ยกตัวอย่างเช่น การ์บาฆัล ที่ย้ายไปอยู่กับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น และแจ้งเกิดได้ มาดริด ก็ซื้อกลับมาร่วมทีมด้วยใช้ออพชั่นซื้อกลับ (ต้นสังกัดไม่มีสิทธิ์ขวาง หากยื่นซื้อในราคาที่ใส่ไว้ในออพชั่น) นอกจาก การ์บาฆัล แล้วยังมีทั้ง อัลบาโร่ โมราต้า, เซร์คิโอ เรกีลอน หรืออีกมากมายหลายคนที่ยังมีออพชั่นนี้ติดตัว ในวันที่ มาดริด ขายพวกเขาออกจากทีม 

เรียกได้ว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่สุดยอดของ มาดริด อย่างแท้จริง พวกเขาได้ทั้งขึ้นทั้งล่องกับสถานการณ์แบบนี้ เด็ก ๆ ได้เวลาลงสนามต่อเนื่อง พวกเขาได้เห็นและได้ติดตามฟอร์มอย่างใกล้ชิด ถ้าคนไหนดีพอ ก็แค่จ่ายเงินเพื่อดึงกลับมาถือเป็นค่าฝากเลี้ยง และในที่สุดพวกเขาก็จะได้นักเตะระดับแถวหน้าของโลกกลับมาในราคาแสนคุ้ม อาทิ การ์บาฆัล ที่มีราคาแค่ 6 ล้านยูโรเท่านั้นในวันที่ดึงกลับมาจาก เลเวอร์คูเซ่น ก่อนจะใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน 

แน่นอนว่าจริง ๆ แล้ว มาดริด ก็ยังคงหวังว่าเขาจะสามารถสร้างนักเตะอย่าง กาซิยาส หรือ ราอูล คนต่อไปให้ได้ แต่ในโลกฟุตบอลปัจจุบัน ของแบบนี้อาจจะไม่ได้ได้ง่ายอย่างที่คิด ไม่รู้กี่ปีจะได้นักเตะดาวรุ่งที่ก้าวข้ามทุกอย่างและขึ้นชุดใหญ่อย่างสมน้ำสมเนื้อได้ อาจจะ 10 ปีมีสัก 1 คน

และในเมื่อมันยาก ทำไมคุณถึงต้องรอล่ะ ? มันไม่ดีกว่าหรือที่คุณจะทำเงินไปเรื่อย ๆ ระหว่างรอ ซึ่งเงินจำนวนนี้ทำให้คุณเอาไปใช้สร้างได้ทั้งอนาคต และปัจจุบันของทีม ... ต้องยอมรับว่านี่คือแนวคิดที่เหลือร้ายสมกับเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างแท้จริง 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.nytimes.com/athletic/4142743/2023/02/02/real-madrid-la-fabrica-spain/?redirected=1
https://www.nytimes.com/athletic/5385703/2024/04/03/real-madrid-la-fabrica-youth-academy-martin-manuel-iago/
https://www.nytimes.com/athletic/4841482/2023/09/08/real-madrid-academy-dani-carvajal/
https://www.nytimes.com/athletic/5069417/2023/11/17/real-madrid-kubo-miguel-reinier/
https://www.marca.com/en/football/real-madrid/2020/05/17/5ec12ce2ca4741a7768b456a.html

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น