Feature

อินโดฯ สไตล์ : ไม่สนว่าโลกคิดยังไง แต่หาลูกครึ่งมาจากไหนมากมาย ? | Main Stand

ทีมฟุตบอลชาย อินโดนีเซีย ชุด ยู 23 กำลังล่าตั๋วไป โอลิมปิก ปารีส 2024 แม้จบอันดับ 4 ในศึกชิงแชมป์เอเชีย แต่ยังมีลุ้นโอกาสสุดท้าย เพลย์ออฟ ดวลกับตัวแทนจากทวีปแอฟริกาอย่าง กินี 

 

ประเด็นสำคัญคือ นี่เป็นหนแรกที่ อินโดนีเซีย ใช้นักเตะลูกครึ่ง หรือตัวต่างชาติที่มีเชื้อสายอิเหนา ลงสนามแบบครึ่งค่อนทีม จนหลายคนตำหนิว่า พวกเขาว่ากำลังไปทางลัด ละทิ้งสิ่งสำคัญที่สุด คือพื้นฐานนักเตะในประเทศ ... แต่พวกเขาไม่สนใจ

มันจึงนำมาสู่คำถามว่า พวกเขาคิดอะไรอยู่จึงทำแบบนี้ ? และพวกเขาไปหานักเตะลูกครึ่งดีกรีเข้ม ๆ ระดับเล่นในลีกสูงสุดของลีกยุโรปมาจากไหนมากมาย ?

หาคำตอบกับ Main Stand ได้ที่นี่

 

อินโดนีเซีย แดนบ้าบอล

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่คลั่งฟุตบอลมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก สำนักข่าว Reuters ระบุว่า มีชาวอินโดฯ มากถึง 52 ล้านคนที่เฝ้าชมการแข่งขันเกมฟุตบอลลีกในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งลีกยอดนิยมของพวกเขา ก็คือฟุตบอลลีกยุโรปเหมือนแฟนบอลไทย แต่เมื่อเกมทีมชาติมาถึง ก็มักจะคลาคล่ำไปด้วยผู้ชมนับแสนเดินทางไปเชียร์ถึงขอบสนาม "เสนายัน" หรือ เกลอร่า บุง การ์โน แม้ปัจจุบันถูกปรับเหลือ 77,193 ที่นั่งก็ตาม

"ผมมาจากอาร์เจนตินา ที่แน่นอนว่าเราต่างมีแพชชั่นกับฟุตบอลเหมือนกัน แต่ผมคิดว่านี่คือระดับของแพชชั่นที่ต่างออกไป" มาร์กอส ฟลอเรส ที่เคยมาเล่นให้กับ เปอร์ซิบ บันดุง เมื่อปี 2016 กล่าวกับ SBS

"ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะมีคนเข้ามาทักทายคุณ หรือครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผมตอนผมสั่งกาแฟ เป็นลาเต้แก้วนึง ผมเห็นคนสามคนอยู่แถวถ้วยกาแฟ และคิดว่าพวกเขากำลังจะทำอะไร จนได้เห็นว่าพวกเขากำลังวาดรูปตราสโมสรลงบนแก้วกาแฟของผม"

อย่างไรก็ดี ความนิยมในฟุตบอลทีมชาติกลับสวนทางกับผลงาน เมื่อประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ แทบไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน คำถามคือทำไมเป็นแบบนั้น ? และคำตอบมันก็ไม่ยากเกินไปสำหรับประเทศแถบนี้ เพราะสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือเรื่องของปัญหาการทุจริตที่กัดกินฟุตบอลในประเทศ รวมถึงการเมืองภายในสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย หรือ PSSI ด้วย 

นอกจากนี้ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังมีเรื่องของฮูลิแกนลูกหนัง ที่กัดกินฟุตบอลอินโดนีเซีย จนฟุตบอลห่างไกลจากกิจกรรมยามว่างของคนทั่วไปมากขึ้น ทั้งที่ในอดีต อินโดนีเซียเคยมีลีกที่ดี สโมสรสามารถจ่ายค่าเหนื่อยได้สูง เรียกนักเตะหลายคนไปค้าแข้งที่นั่นได้ และที่สำคัญคือ เมื่อลีกดี พวกเขาก็ส่งนักเตะดี ๆ ขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง 

"ความคลั่งไคล้ของแฟนบอลอินโดนีเซีย ถ้าเปรียบให้กับบ้านเราต้องยกตัวอย่างทีมอย่าง เมืองทอง หรือ ท่าเรือ ที่มีความคลั่งไคล้เยอะมาก ๆ แต่ที่อินโดนีเซียจะคลั่งหนักกว่านั้นอีก" สุเชาว์ นุชนุ่ม อดีตนักเตะทีมชาติไทยที่เคยไปค้าแข้งในลีกอินโดนีเซียกล่าวกับ Main Stand

"พวกเขามีทั้งคำชมและคำด่า และถ้าให้เทียบเรื่องความอินในฟุตบอลท้องถิ่น อินโดนีเซียจะมีความอินมากกว่าแฟนบอลบ้านเรา" 

ปัญหาเกิดขึ้นทั้งในและนอกสนาม ตั้งแต่ผู้บริหารถึงแฟนบอล แต่ในเรื่องร้าย ๆ มันยังพอมีเรื่องดีอยู่บ้าง เพราะเมื่อพวกเขาเห็นปัญหา พวกเขาก็พยายามที่จะแก้ไขให้ดีขึ้น แม้ว่าจะทำได้ช้า แต่ก็ขอให้ได้เริ่ม ซึ่งนั่นเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ 

 

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

อันที่จริง สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ก็มองเห็นปัญหาที่มีอยู่ และพยายามจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ซึ่งมันก็มีสัญญาณที่ดี เมื่อในปี 2020 พวกเขาได้แต่งตั้ง ชิน แตยง อดีตเฮดโค้ชทีมชาติเกาหลีใต้ ชุดฟุตบอลโลก 2018 ขึ้นมากุมบังเหียน หวังสร้างทีมชาติชุดใหม่

"เราได้รับการสนับสนุนอย่างมากจาก PSSI นับตั้งแต่ที่ผมเข้ามา เราก็เปลี่ยนโฟกัสไปไปที่เยาวชนรุ่นใหม่" แตยงกล่าว

ผลงานดีที่สุดของพวกเขา ในยุคของ ชิน แตยง คือการผ่านเข้าไปถึงนัดชิงชนะเลิศ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ เมื่อปี 2020 ก่อนจะพ่ายต่อทีมชาติไทยไปด้วยสกอร์รวม 6-2 รวมถึงการผ่านเข้าไปเล่นเอเชียนคัพ 2023 ที่กาตาร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปีของพวกเขา

"ผู้เล่นอินโดนีเซีย ใจเย็น และมีบุคลิกที่สบาย ๆ" เดรแนน ราดอนนิซ อดีตผู้ช่วยของ ชิน แตยง กล่าวกับ DW

"ผมเชื่อว่ามันมาจากสภาพอากาศและวัฒนธรรม ผมขอร้องให้พวกเขาอดทน ดุดันตลอด 90 นาที และไม่ก้มหน้าระหว่างเกม แม้กระทั่งตอนที่กำลังแพ้อยู่"

"ผู้เล่นจำเป็นต้องได้รับการผลักดัน พวกเขารู้สึกสบายเมื่อได้เล่นในอินโดนีเซีย แต่เราอยากให้พวกเขามีความเป็นนานาชาติมากกว่านี้"

"เราอยากให้พวกเขามีความเป็นนานาชาติมากกว่านี้" ... คำนี้สามารถขยายความเรื่องทั้งหมดได้เป็นอย่างดี เพราะ อินโดนีเซีย กำลังทำมันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญแชมป์โลกทีมล่าสุดอย่าง อาร์เจนตินา มาเตะอุ่นเครื่องกับทีมชาติอินโดนีเซียชุดใหญ่ 

หรือกระทั่งผลประโยชน์ในมวลรวมทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มจากการพยายามจัดการแข่งขันต่าง ๆ ในระดับสากล เช่น การขอเป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และ ฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งแม้ใครจะบอกว่ามันเป็นทางลัดที่ไม่ยั่งยืน หากเทียบกับการฝ่าฟันด้วยตัวเองตั้งแต่รอบคัดเลือก แต่พวกเขาก็ยืนยันว่า "ครั้งแรก" สำคัญมาก การได้เห็น ได้สัมผัส จะทำให้รู้ว่าระดับของตัวเองและคู่แข่งอยู่ตรงไหน 

ต่อให้ อินโดนีเซีย เข้าไปแข่งแล้วแพ้รวด ตกรอบ ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะอย่างน้อยพวกเขาจะได้รู้ว่าอะไรกันแนคือสิ่งที่ผิดพลาด อะไรบ้างที่พวกเขาควรเสริมและเติมเข้าไปเพื่อเข้าใกล้การแข่งขันระดับนั้นในครั้งต่อ ๆ ไป 
 
อันที่จริง อินโดนีเซีย ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ยู 20 เมื่อปี 2021 แต่ถูกเลื่อนไปจัดปี 2023 จากปัญหา COVID-19 อย่างไรก็ตาม การที่ อิสราเอล เข้ารอบสุดท้ายผ่านรอบคัดเลือกโซนยุโรป ได้สร้างความขัดแย้งทางศาสนา ลุกลามสู่ปัญหาการเมือง ทำให้ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ต้องริบสิทธิ์การจัดแข่งขัน ก่อนมอบให้ อาร์เจนตินา จัดแข่ง แต่ ฟีฟ่า ก็มอบสิ่งปลอมประโลม ด้วยการมอบสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลก ยู 17 ที่กำลังหาเจ้าภาพใหม่ หลัง เปรู มีปัญหาด้านสาธารณูปโภค ต้องถอนตัวไป

เรื่องอาจสลับซับซ้อนชวนงง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความพยายาม มันหมายความว่าจะมีเม็ดเงินจำนวนไม่น้อย ถูกนำมาลงทุนทั้งกับสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อม และปรับปรุงอัพเกรดสนามแข่ง ซึ่งสำคัญมากในระยะยาว  

แน่นอนว่าการลงทุนเชิงโครงสร้างนั้นใช้เงินเยอะมาก และเห็นผลช้า ดังนั้น อินโดนีเซีย ภายใต้การบริหารสมาคมยุคใหม่โดย เอริค โทเฮียร์ อดีตเจ้าของสโมสร อินเตอร์ มิลาน เลือกใช้กลยุทธ์แบบเดิม นั่นคือการ "ใช้ทางลัด" และหนึ่งในนั้นคือการใช้บริการลูกครึ่งลงแข่งขันฟุตบอล ยู 23 ชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งทุก 4 ปี รายการนี้จะมีเดิมพันตั๋วไปแข่งขัน โอลิมปิก ด้วย และในปี 2024 ก็เช่นกัน

คำถามคือ พวกเขาไปหาลูกครึ่งจำนวนมาก แถมยังเป็นดีกรีเล่นบอลลีกในยุโรปชุดใหญ่มาจากไหนเยอะขนาดนี้กัน ? 

เราคงต้องเริ่มกันที่ชายที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้อย่าง เอริค โทเฮียร์ กันก่อน ตัวของเขาถือเป็นทายาทของเจ้าของธุรกิจใหญ่ของประเทศอินโดนีเซียมากมาย ทั้งด้านยานยนต์และสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งการเป็นมหาเศรษฐีทำให้ โทเฮียร์ เข้ามาสู่วงการกีฬาของประเทศ และปูทางจนกระทั่งเข้ามามีตำแหน่งรัฐมนตรีกีฬาของอินโดนีเซียในท้ายที่สุด จากการเลือกตั้งปี 2019  

บนถนนการเมือง โทเฮียร์ คือส่วนสำคัญในทีมหาเสี่ยงที่ทำให้ประธานธิบดี โจโก วิโดโด้ เอาชนะการเลือกตั้งครั้งนั้น และเขาได้รับเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นรางวัล ด้วยความที่เขามีความคลั่งไคล้ฟุตบอลเป็นพิเศษ 

ท้ายที่สุด โทเฮียร์ ก็ได้เข้ามาเป็นนายกสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย (PSSI) ในปี 2023 และเกิดนโยบายมากมายตามที่เรากล่าวมา รวมถึงเรื่องการดึงตัวเหล่าลูกครึ่งและลูกเสี้ยวจากทั่วยุโรปกลับมาเล่นให้ทีมชาติอินโดนีเซีย ซึ่งกำลังเป็นที่ฮือฮาในตอนนี้

และเรื่องนี้ก็มีที่มา …

 

อดีตสร้างปัจจุบัน 

อย่างแรกเลย ทำไม อินโดนีเซีย มีลูกครึ่งและโอนสัญชาติเหล่านี้มาเล่นให้ทีมเยอะ คำตอบคือพวกเขาคือหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดของทวีปเอเชีย สูสีกับ อินเดีย เลยทีเดียว

เหตุผลมันลากยาวมาตั้งแต่อดีต ในยุคล่าอาณานิคมของชาติต่าง ๆ ในทวีปยุโรป เพราะในอดีตอินโดนีเซียไม่ได้เป็นประเทศรัฐเดียว แต่พวกเขามีหมู่เกาะมากมาย รัฐน้อยใหญ่ปกครองอย่างอิสระ จึงทำให้โดนชาติใหญ่ ๆ โดยเฉพาะ ฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์ ณ ปัจจุบัน) เข้ามายึดและทยอยกินเมืองไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นรัฐมหึมา  

เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ อินโดนีเซีย จะเป็นเอกราชแล้ว แต่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็ได้มีส่วนในการสร้างลูกครึ่ง ลูกเสี้ยวมากมาย ซึ่งส่งผลมาถึงปัจจุบัน ทำให้เมื่อถึงเวลาที่นำนโยบายการหานักเตะลูกครึ่ง หรือมีเชื้อสายอินโดนีเซียผสมมาใช้ จึงไม่ใช่เรื่องยากในการหาหรือตามตัว เพราะมีคนเชื้อสายอินโดนีเซียกระจายไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรปที่เป็นชาตินักล่าอาณานิคม 

กลับมาที่เรื่องของฟุตบอล การใช้นักเตะลูกครึ่งหรือโอนสัญชาติก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ นโยบายนี้เคยถูกนำมาใช้ใน ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน เมื่อปี 2014 แล้ว โดยครั้งนั้นพวกเขาเอานักเตะโอนสัญชาติมาติดทีมถึง 4 คน ได้แก่ วิกเตอร์ อิกโบเนโฟ, ราฟาเอล ไมติโม, คริสเตียน กอนซาเลส และ เซร์จิโอ ฟาน ไดค์ เพียงแต่นโยบายนี้ไม่นานสานมาอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วงเวลาหลังจากนั้น อินโดนีเซีย ถูกแบนจาก ฟีฟ่า เนื่องจากการเมืองภายใน PSSI ดังที่กล่าวไปข้างต้น 

ดังนั้นเมื่อ FIFA ปลดแบน และวงการฟุตบอลอินโดนีเซีย กลับมาเซ็ตตัวใหม่อีกครั้ง นโยบายนี้จึงกลับมา โดยเริ่มจากการพยายามหาลูกครึ่งตั้งแต่ปี 2019 แล้ว โดยในศึกชิงแชมป์อาเซียน เมื่อปี 2022 มีนักเตะโอนสัญชาติ 3 คนได้แก่ อิลิยา สปาโซเยวิช, ฆอร์ดี้ อาหมัด และ มาร์ค คล็อก ซึ่งมีปู่ย่าตายายเป็นชาวอินโดนีเซีย 

แน่นอนว่ามันเวิร์ก นักเตะที่ค้าแข้งในยุโรปผ่านประสบการณ์ในเกมระดับสูงมามากกว่า ฝึกซ้อมด้วยวิธีการที่ดีกว่า เติบโตมาในระบบที่ชัดเจนกว่า ทำไมพวกเขาจะไม่เก่งกว่านักเตะท้องถิ่น ยิ่งมาถึงยุค เอริค โทเฮียร์ นโยบายเฟ้นหาตัวลูกครึ่งก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีก ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น "ต้องมีครั้งแรกให้ได้ก่อน" ที่เหลือจะตามมา จากการลงทุนเชิงโครงสร้าง 

โทเฮียร์ ถือเป็นคนที่มีสัมพันธ์กว้างขวางในฟุตบอลระดับสากล ตามที่บอกไป เขาเคยเป็นประธานสโมสรอินเตอร์ มิลาน ทีมแชมป์ลีกอิตาลี 20 สมัย ซึ่งนอกจาก อินเตอร์ แล้ว โทเฮียร์ ยังเคยเป็นเจ้าของร่วมทีม ดีซี ยูไนเต็ด ใน เมเจอร์ลีก ซอคเก้อร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา) และปัจจุบันเป็นเจ้าของทีม อ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ในลีกวัน ของอังกฤษ

การบริหารฟุตบอลสโมสร ทำให้เขาได้รู้จักและมีคอนเน็คชั่นกับเหล่าเอเยนต์มากมายหลายคน ดังนั้นการที่ โทเฮียร์ จะตามหาผู้เล่นเชื้อสายอินโดนีเซีย ที่เล่นในยุโรป และพร้อมจะโอนสัญชาติมาเล่นให้ทัพการูด้าอย่างเต็มตัว จึงไม่ใช่เรื่องยากนัก 

ซึ่งทีมงาน Main Stand ได้สอบถามไปยังนักข่าวฟุตบอลชาวอินโดนีเซีย ก็ได้คำตอบออกมาคล้าย ๆ กันว่า เอริค โทเฮียร์ ใช้คอนเน็คชั่นที่มี ในการพลิกแผ่นดินตามหานักเตะหลาย ๆ คน  นอกจากนี้ ในเรื่องของเทคโนโลยีหรือฐานข้อมูลต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน ก็ช่วยให้การหานักเตะเหลานี้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะฐานข้อมูลของเว็บไซต์อย่าง Transfermarkt และวีดีโอเกมแนวคุมทีมฟุตบอลอย่าง Football Manager ที่สามารถเปิดฟิลเตอร์คัดกรองนักเตะสัญชาติต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย 

ในวันที่ โธเฮียร์ ได้เป็นประธานของ PSSI เขาได้ส่งแผนการพัฒนาฟุตบอลอินโดฯ ไปยังฟีฟ่า โดยมีสิ่งที่เน้นย้ำเป้าหมายระดับนานาชาติ 2 ประการ หนึ่ง คือการก้าวเข้าสู่ 100 อันดับแรกของการจัดอันดับโลก และสอง คือการเลือกนักเตะที่ดีที่สุดติดทีมชาติ เนื่องจากพวกเขามีลิสต์ผู้เล่นอย่างน้อย 154 คน (ทั้งในประเทศและยุโรป) ที่สามารถเล่นให้กับทีมชาติอินโดนีเซียได้ 

จากนโยบายดังกล่าว อินโดนีเซีย จึงติดต่อหานักเตะลูกครึ่งได้เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาคือการเอานักเตะที่เป็นตัวระดับดัง ๆ เล่นในเกมระดับสูง มีประสบการณ์มาก ๆ มานั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีกฎหมายอยู่ว่า หากนักเตะลูกครึ่งจะมาเล่นให้ทีมชาติอินโดนีเซีย พวกเขาต้องรับกับนโยบายถือสัญชาติเดียวให้ได้ก่อน ซึ่งนักเตะเบอร์ใหญ่ ดีกรีเข้ม ๆ บอกปัดไปไม่น้อย 

ความยุ่งยากนี้ ทำให้ อินโดนีเซีย ต้องมองไปยังนักเตะที่เบอร์เล็กกว่า ในระดับที่ห่างไกลจากการเป็นตัวเลือกในทีมชาติยุโรปที่พวกเขาเกิดและโต ซึ่งนักเตะเหล่านี้ยอมรับเรื่องนโยบายสัญชาติเดียวได้ง่ายกว่า ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ก็ได้นักเตะตามสเป็กดังกล่าวมากมายหลายคน ดังที่ลงเล่นในศึกฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ยู 23 ในเวลานี้ โดยมีนักเตะที่โอนสัญชาติมาจากยุโรปและที่ต่าง ๆ 

และการเข้ามาก็เห็นผลในทันที อินโดนีเซีย ที่แทบไม่เคยมีบทบาทในการแข่งขันระดับทวีป กลายเป็นชาติเดียวในอาเซียน ที่ลุ้นตั๋วโอลิมปิกในเวลานี้ แม้พวกเขาจะแพ้ อิรัก ในนัดชิงที่ 3 แต่พวกเขาก็ยังมีลุ้นจากการเพลย์ออฟกับตัวแทนจากทวีปแอฟริกาอย่าง กินี 

ท่ามกลางความสำเร็จนี้ ก็มีการวิจารณ์การทำงานของ PSSI เกิดขึ้น เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า การทำแบบนี้เป็นการตัดวงจรนักเตะที่ค้าแข้งในประเทศตัวเอง และเป็นการทำงานแบบไม่มองโครงสร้างเป็นหลัก 

ทว่า PSSI ก็ตอบกลับว่า การใช้ลูกครึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย แต่เป็นนโยบายระยะสั้นที่จะเอาความสำเร็จไปต่อยอดในอนาคต และพวกเขาไม่สนว่าใครจะมองว่าไร้ประโยชน์ เพราะพวกเขาเห็นมาแล้วว่า การทำให้ตัวเองมีความเป็นนานาชาติ คือสิ่งที่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่แตกต่างในแบบที่นักเตะในประเทศไม่สามารถทำได้ 

"การทำให้ทีมเป็นยุโรปไม่เห็นจะเป็นปัญหาตรงไหน การมีผู้เล่นฝีเท้าดีจำนวนมาก ย่อมดีกว่าสำหรับทีมชาติอินโดนีเซียไม่ใช่เหรอ ? นี่คือนโยบายระยะสั้นที่สามารถต่อยอดไปสู่นโยบายระยะยาวในอนาคต แน่นอน เราหวังว่าวันหนึ่ง เราจะประสบความสำเร็จระยะยาวด้วยนักเตะที่ค้าแข้งในระบบลีกของประเทศ แต่ตอนนี้เราเลือกที่จะอยู่กับความจริงก่อน" ไซนูดิน อมาลี รองประธาน PSSI กล่าว 

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า แม้จะโดนวิจารณ์ไม่หยุด แต่ อินโดนีเซีย ก็พร้อมจะเสริมทัพด้วยนักเตะลูกครึ่งไม่หยุดเช่นกัน พวกเขาจะสร้างความเป็นนานาชาติ สร้างความสำเร็จ อันเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสนิยมก่อน ซึ่งหากพิจารณาดี ๆ เราก็จะเห็นได้ว่าพวกเขาพบความจริงที่ว่า เมื่อผู้เล่นที่มีอยู่ไม่ดีพอจะประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับทวีปหรือระดับโลก ทำไมการเลือกสิ่งที่ดีกว่า อย่างนักเตะลูกครึ่งจึงไม่ควรทำ ? 

แต่ละประเทศล้วนมีนโยบายเป็นของตัวเอง อินโดนีเซีย มีวิธีการของเขาแบบนี้ และพวกเขาก็ดูเหมือนจะได้ผลลัพธ์ที่ดีอีกต่างหาก ... แล้วคุณล่ะคิดอย่างไรกับการโอนสัญชาติหรือเอาลูกครึ่งมาเล่นครึ่งค่อนทีมขนาดนี้ ?  

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.dw.com/en/indonesias-foreign-born-players-improvement-at-a-cost/a-67976075
https://e.vnexpress.net/news/football/why-indonesia-uses-so-many-naturalized-football-players-4720378.html
https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2024/04/27/indonesia-fans-hails-its-u-23-team-after-historic-victory-over-title-favourites-s-korea-11-10-on-penalties
https://thediplomat.com/2022/12/why-cant-a-nation-of-276-million-people-field-a-decent-soccer-team/ 
https://time.com/6219205/indonesia-kanjuruhan-soccer-violence-football/
https://www.thejakartapost.com/news/2015/06/09/group-accuses-pssi-high-corruption.html 
https://www.dw.com/en/football-in-indonesia-new-generation-provides-new-hope-ahead-of-asian-cup/a-61999071 
https://cidiss.co/uncategorized-2/erick-thohir-leads-the-transformation-of-indonesian-football/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ