เอแด็ง อาซาร์ ประกาศอำลาทีมชาติเบลเยียม จึงอาจเป็นการยืนยันได้ว่า "ยุคทอง" ของ ทีมชาติเบลเยียม ปิดฉากลงอย่างเจ็บปวด หลังตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ด้วยฟอร์มการเล่นที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และทำได้เพียง 4 คะแนน ชนิดที่เหนือความคาดหมายของแฟนบอลทั่วโลก
เบลเยียม เคยทำได้ดีที่สุดในปี 2018 ด้วยการคว้าอันดับ 3 ฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซีย แม้จะไปไม่ถึงแชมป์โลก แต่พวกเขาก็มากไปด้วยนักเตะชั้นแนวหน้าของโลกที่พร้อมไล่ล่าประตูคู่แข่ง ด้วยเกมรุกที่ดุดันและเกมรับที่เหนียวแน่น แต่พวกเขากลับจบเส้นทางเพียงรอบรองชนะเลิศด้วยการแพ้ให้ ทีมชาติฝรั่งเศส ที่กลายเป็นแชมป์โลกในทัวร์นาเมนต์นั้น ด้วยสกอร์ 0-1 ไปอย่างน่าเสียดาย
อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปีศาจแดงแห่งยุโรป ซึ่งมี ฟีฟ่า เวิลด์ แรงกิ้ง อันดับ 1 ของโลกตั้งแต่ปี 2014 (ปัจจุบัน ณ ปี 2022 อยู่อันดับ 2) ไม่สามารถคว้าแชมป์โลกมาครองได้สักครั้ง ทั้งที่อุดมไปด้วยนักเตะฝีเท้าระดับพระกาฬมากมาย
Main Stand ขอยก 4 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ทีมชาติเบลเยียมยุคปัจจุบันไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ผู้เล่นหน้าใหม่ทดแทนรุ่นเก่าไม่ได้
เป็นความจริงที่ว่าเบลเยียมเต็มไปด้วยนักเตะระดับพรสวรรค์มากมาย พวกเขามี ธิโบต์ กูร์กตัวส์ นายด่านจอมหนึบจาก เรอัล มาดริด, แยน แฟร์ตองเกน กองหลังสุดแกร่งจาก อันเดอร์เลช รวมถึง เควิน เดอ บรอยน์, โรเมลู ลูกากู และ เอแดน อาซาร์ 3 แนวรุกสุดโหดผู้พร้อมตะบันเท้าพังประตูคู่แข่งได้ทุกเวลา แต่พวกเขาก็ต้องตื่นขึ้นมาเผชิญกับความจริงที่ว่า พวกเขาเหล่านั้นล้วนมีอายุ 30 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น
แม้ทีมจะมีอายุเฉลี่ยในฟุตบอลโลก 2022 อยู่ที่ 27 ปี ซึ่งดูเหมือนจะไม่เยอะ แต่ถ้ามองจากผู้เล่นคนสำคัญในทีมแล้วจะพบว่ามีนักเตะเพียงไม่กี่คนที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ยกตัวอย่างเช่น ทิโมธี คาสตานเย (26 ปี), เลอันเดอร์ เดนด็องเกอร์ (27 ปี), ยานนิก คาร์ราสโก (29 ปี) และ เลอันโดร ทรอสซาร์ (27 ปี) เป็นต้น
ในฟุตบอลโลก 2022 เบลเยียมมีคุณภาพทีมที่ต่ำลง พวกเขาจบได้เพียงอันดับที่ 3 ของกลุ่ม ชนิดที่ไม่เหลือเค้าโครงยอดทีมเมื่อครั้งฟุตบอลโลกปี 2018 แม้แต่น้อย
เห็นได้ชัดว่าเมื่อผู้เล่นตัวสำคัญอย่าง เควิน เดอ บรอยน์, เอเด็น อาซาร์, ยาน แฟร์ตองเกน หรือแม้แต่ โรเมลู ลูกากู ไม่อาจโชว์ฟอร์มเก่งในสนามได้ กลับไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่คนใดขึ้นมาทดแทนนักเตะรุ่นพี่ได้เลย
ขณะที่นักเตะที่ถูกคาดหวังว่าจะมีโอกาสแจ้งเกิดในฟุตบอลโลกหนนี้อย่าง ชาร์ลส์ เดอ เคตลาร์ ก็ไม่ได้รับโอกาสลงสนามมากนัก เช่นเดียวกับ อมาดู โอนานา ที่ส่วนใหญ่มักจะนั่งดูรุ่นพี่อยู่บนม้านั่งสำรองเสียมากกว่า
นี่จึงเป็นสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่า ในฟุตบอลโลกหนนี้ผู้เล่นหน้าใหม่หลายคนยังไม่สามารถทดแทนนักเตะรุ่นพี่ได้จริง ๆ
และอีก 4 ปีข้างหน้า นักเตะดาวรุ่งจากชุด U21 ของเบลเยียม ที่นำโดย ยารี เฟอร์ชาเรน และ อาสเตอร์ ฟอรองซ์ จะสามารถขึ้นมายกระดับทีมชาติชุดใหญ่ให้ก้าวขึ้นมาเป็นยุคทองแบบรุ่นพี่ได้หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้เลย
ยึดติดกับนักเตะยุคทองมากเกินไป
ยุค "โกลเดนเจเนอเรชั่น" หรือ "ยุคทอง" ที่เบลเยี่ยมมักได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในชาติที่น่ากลัวที่สุดเวลาลงแข่งตามทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ นั่นเพราะพวกเขามีนักเตะที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกันจากชุดฟุตบอลโลก 2014 อย่าง กูร์กตัวส์, เดอ บรอยน์, ลูกากู และ อาซาร์ รวมถึงอีกหลายคนที่ถูกจับตามองว่าอาจนำพาเบลเยียมไปสู่ตำแหน่งแชมป์โลกได้
แต่ท้ายที่สุดเบลเยียมก็ไม่เคยได้แชมป์ระดับเมเจอร์มาครองสักรายการเดียว และอย่างที่ทราบกันดีว่าพวกเขาทำได้ดีที่สุดในฟุตบอลโลก 2018 ที่เคยพลิกล็อกเอาชนะ บราซิล มาได้ แต่กลับจบได้เพียงอันดับที่ 3 หลังพ่ายในรอบรองชนะเลิศให้กับ ฝรั่งเศส 0-1 ไปด้วยฟอร์มการเล่นที่สมควรชนะ และนับเป็นทัวร์นาเมนต์ที่น่าจดจำที่สุดยุคหนึ่งของเบลเยียมเลยก็ว่าได้
ซึ่งหากวิเคราะห์จากตัวผู้เล่นจะพบว่าเบลเยียมมักใช้ผู้เล่นชุดเดิมจากปี 2014 เป็นส่วนใหญ่ และเรื่อยมาจนถึงปี 2022 พวกเขายังคงใช้ผู้เล่นจากยุคทองเป็นตัวหลักเสมอมา และนับเป็นฟุตบอลโลกหนที่ 3 ของนักเตะจากยุคทองอีกหลายคนด้วย
นักเตะจากยุคทอง (2014-2022) แม้จะมากด้วยทักษะและพรสวรรค์ด้านฟุตบอลที่หาตัวจับได้ยาก แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อพวกเขามีอายุที่มากขึ้นความเชื่องช้าและการตัดสินใจบางอย่างก็จะถูกลดทอนไปตามกาลเวลา เนื่องจากนักเตะเหล่านั้นเลยจุดสูงสุดไปแล้ว
แม้จะรับรู้ข้อบกพร่องเหล่านั้นเป็นอย่างดี แต่ โรแบร์โต มาร์ติเนซ กุนซือของทีม ก็ยังคงยึดผู้เล่นชุดเดิมเป็นหลักอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ด้วยเหตุผลว่าผู้เล่นเหล่านั้นมีประสบการณ์ความเก๋าระดับเขี้ยวลากดิน
แต่สุดท้ายเบลเยียมก็ต้องตกรอบแบ่งกลุ่มไปอย่างน่าผิดหวัง ทำได้เพียง 4 คะแนนจาก 3 นัด ยิงได้แค่ 1 ประตู เก็บกระเป๋ากลับบ้านก่อนกำหนดอย่างเจ็บปว
เมื่อผิดพลาด ไม่มีใครยอมรับ
หากจะบอกว่าปัจจัยที่ทำให้เบลเยียมพลาดแชมป์ฟุตบอลโลกหนนี้เกิดจากนักเตะหลายคนมีอายุที่มากขึ้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกไปเสียทั้งหมด เนื่องจากมีหลายทีมที่ยังคงใช้นักเตะชุดเดิมซึ่งอายุเกิน 30 ปีแต่ยังคงทำผลงานออกมาได้ดี เช่น โปรตุเกส ที่มี คริสเตียโน่ โรนัลโด้, อาร์เจนตินาที่มี ลิโอเนล เมสซี่ และโครเอเชียที่มี ลูก้า โมดริช ซึ่งล้วนต่างเป็นผู้เล่นระดับสูงของทีมด้วยกันทั้งสิ้น
เห็นได้ชัดว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เบลเยียมแตกต่างจากทีมเหล่านั้นคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะขาดศูนย์กลางของทีม
เมื่อมีปัญหาพวกเขามักโทษกันไปมา เห็นได้ชัดจากเกมพลิกล็อกพ่ายให้กับ โมร็อกโก 0-2 ในวันที่ 27 พฤษจิกายน (ฟุตบอลโลก 2022) หลัง แฟร์ตองเกน ปราการหลังจอมเก๋าวัย 35 ปีแสดงความไม่พอใจที่ เดอ บรอยน์ จอมทัพของทีมออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยความหงุดหงิดก่อนเกมว่า
"ตอนนี้เราแก่เกินไป มีนักเตะหลายคนที่เลิกเล่นไป ถึงแม้จะมีนักเตะฝีเท้าดีเข้ามาอยู่กับทีมแต่ก็ไม่ได้ดีเหมือนเดิม ผมว่าเราไม่ได้ดีพอที่จะลุ้นแชมป์เลย"
จากนั้น แฟร์ตองเกน ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทันทีว่า
"หลายสิ่งอยู่ในความคิดของผมและไม่ควรเอาออกมาเปิดเผยภายนอก ผมไม่คิดว่าเราสร้างโอกาสได้เลย มันผิดพลาดกันตรงไหน เกมรุกที่ย่ำแย่ก็อาจเป็นเราเพราะแก่เกินไปหรือเปล่า เรามีผู้เล่นฝีเท้าดีในตำแหน่งตัวรุก แต่โมร็อกโกก็มีเหมือนกัน พวกเขาทำได้ดีกว่าในวันนี้ นี่คือสิ่งที่น่าผิดหวังสำหรับเรา"
การให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ดูคล้ายเป็นการค่อนขอด เควิน เดอ บรอยน์ อย่างน่าสงสัย
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเรื่องราวความขัดแย่งกันของผู้เล่นซีเนียร์ อย่าง อาซาร์ และ แฟร์ตองเกน ที่อารมณ์ปะทุขึ้นทันทีในห้องแต่งตัว จน ลูกากู ต้องเข้ามาแยกและดึงสติเพื่อนร่วมทีมทั้งสามคน
ความตึงเครียดของผู้เล่นตัวเก๋าในทีมสร้างรอยร้าวในจิตใจของผู้เล่นคนอื่น ๆ จนเกิดเป็นความย่ำแย่สับสน อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการโทษกันไปกันมาอย่างไร้สปิริตในทีมมีผลต่อการแข่งขันของทีมมากน้อยเพียงใด
เบลเยียมหมายมั่นปั้นว่ามือจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ให้ได้ แต่ความสามัคคีในทีมดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด
ปรัชญาการทำทีมที่ไม่ลงตัว
หลังจากทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลก 2018 โรแบร์โต มาร์ติเนซ กุนซือของทีม ก็ยังคงใช้ปรัชญาการทำทีมแบบเดิมคือใช้ผู้เล่นชุดเดิมเป็นตัวหลักของทีม
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าจุดเด่นของมาร์ติเนซคือการหลอมรวมให้เหล่าสตาร์ดังชาวเบลเยียมสามารถเล่นฟุตบอลเป็นทีมและมีความฝันแบบเดียวกัน นั่นคือการพุ่งเป้าไปที่การคว้าแชมป์โลกเท่านั้น
จุดเด่นอีกด้านของมาร์ติเนซที่ได้รับการยกย่องคือการปรับเปลี่ยนระบบแทคติกการเล่นของทีมอย่างกล้าหาญ
ในนัดเจอ บราซิล ในฟุตบอลโลก 2018 มาร์ติเนซเปลี่ยนแผนด้วยการไม่จัดผู้เล่นในระบบ 3-4-3 (หรือ 3-4-1-2) ที่เน้นวิงแบ็ก แต่ปรับมาใช้แผน 4-3-3 เพื่อบีบพื้นที่การเล่นของ เนย์มาร์ และ ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ ให้แคบลง โดยโยก โรเมลู ลูกากู ไปเล่นด้านขวาและเอา เควิน เดอ บรอยน์ ไปเล่นในตำแหน่งฟอลส์ไนน์ เพื่อเป็นหัวใจในเกมโต้กลับ
เมื่อนักเตะในทีมเบลเยียมเชื่อถือในตัวมาร์ติเนซ พวกเขาจึงสามารถปฏิบัติตามแผนการอันยืดหยุ่นของโค้ชได้อย่างเคร่งครัด
โดยโค้ชชาวสเปนผู้นี้ยืดอกยอมรับว่าตนเองมีปรัชญาในการเล่นฟุตบอลที่สุดขั้วไม่ประนีประนอม สำหรับผู้เล่นการเล่นฟุตบอลที่ดีคือการครอบครองบอลให้ได้มากที่สุดและป้องกันตัวเองด้วยเกมรุก ซึ่งเป็นทั้งความกล้าหาญและความสุ่มเสี่ยงไปในตัว
อย่างไรก็ตามแม้ระบบการเล่นดังกล่าวจะสามารถใช้ได้ดีในปี 2018 แต่กลับใช้ไม่ได้ผลในฟุตบอลโลกปี 2022 เนื่องจากผู้เล่นยุคทองหลายคนผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถทำผลงานได้ตามมาตรฐานที่โค้ชวางไว้
ด้วยปรัชญาการทำทีมดังกล่าวที่เน้นพึ่งพานักเตะยุคทองมากเกินไป ทำให้นักเตะหน้าใหม่ไม่สามารถขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หากผู้เล่นยุคทองทำผลงานไม่ออกก็จะทำให้ระบบของทีมสูญเสียสมดุลไปด้วย
รวมถึงเป็นการยัดเยียดภาระความกดดันให้แก่บรรดานักเตะยุคทอง และระงับการสร้างความมั่นใจให้แก่บรรดานักเตะรุ่นใหม่ในทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเคยทำได้ดี
ทั้งหมดกลับกลายเป็นเป็นอุปสรรคที่ยากจะก้าวข้ามสำหรับฟุตบอลโลกปี 2022 ทำให้ผลงานไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง จนตกรอบฟุตบอลโลกไปในที่สุด
เมื่อจบเกมฟุตบอลโลก 2022 ระหว่าง เบลเยียม กับ โครเอเชีย ที่เสมอกันไป 0-0 ส่งผลให้ทัพ "ปีศาจแดงแห่งยุโรป" ตกรอบทันทีด้วยการจบอันดับ 3 กลุ่ม F มาร์ติเนซได้ประกาศลงจากตำแหน่งทันที
"นั่นคือเกมสุดท้ายของผม มันเป็นสิ่งที่คุณน่าจะพอจินตนาการได้ ตั้งแต่ปี 2018 ผมมีโอกาสมากมายที่จะลาออกไปรับงานในระดับสโมสร แต่ผมอยากจะทำงานของผมให้เสร็จ จริง ๆ ผมไม่ได้ลาออกนะ มันคือการสิ้นสุดสัญญา นั่นคือแผนของผมเสมอมา" มาร์ติเนซ กล่าวระหว่างประกาศยุติบทบาทการเป็นผู้จัดการทีมชาติเบลเยียม
สุดท้ายนี้เชื่อว่ายุคทองของทีมชาติเบลเยียมจะยังไม่สิ้นสุดลงอย่าง่ายดาย เเม้พวกเขาไม่สามารถคว้าแชมป์ใดมาครองได้เลย และถึงความเก่งของพวกเขาจะเต็มไปด้วยคำถามมากมาย แต่ในโลกฟุตบอลไม่มีสิ่งใดแน่นอน เราไม่อาจคาดเดาสิ่งใดได้ มันคือความจริงที่ทำให้กีฬาชนิดนี้มีเสน่ห์
ตราบใดที่เบลเยียมไม่หยุดพัฒนาพวกเขาก็จะสามารถสร้างยุคทองยุคใหม่ที่อาจมีผลงานเทียบเท่า หรือเหนือกว่าทีมชุดฟุตบอลโลกคราวนี้ และมันจะเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน
แต่หากรู้จุดอ่อนของตัวเองแล้วกลับไร้ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา ก็เป็นเรื่องยากที่เบลเยียมจะกลับมาครองความยิ่งใหญ่ในโลกฟุตบอลได้อีกครั้ง
แหล่งอ้างอิง
วิวัฒน์ รุ่งแสนสุขสกุล.(2565).เบลเยียม-เยอรมนี กับวิกฤติโครงสร้างที่สั่นคลอน หลังตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2022. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://plus.thairath.co.th/topic/subculture/102491
ธีรฉัตร รูปประดิษฐ์.(2565).ทีมชาติเบลเยียม : สรุปรายชื่อ 26 นักเตะลุยฟุตบอลโลก 2022. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : shorturl.at/ejyHK
TenAkapol.(2565).ทีมระอุ.! ทัพ เบลเยียม เผยแข้งชื่อดังทะเลาะรุนแรง ส่อทีมแตก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://sport.trueid.net/detail/mABGl2z6NyJ9
คนมองหนัง ทัศนทรรศน์.(2562).ประสบการณ์-วิธีคิดของ "โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://minimore.com/b/lIL6Q/9