หลักสูตรความสำเร็จนั้นไม่ตายตัว ... แต่ที่แน่ ๆ น้อยคนนักเลือกที่เริ่มทำบางสิ่งจากการนับหนึ่งหรือเล่นตามขั้นตามตอนที่คนส่วนใหญ่เขาทำกัน
ปัจจุบันมีทีมอีสปอร์ตมากมายที่มีรากเหง้าจากการเป็นสโมสรฟุตบอล เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะมันง่ายที่จะมีแฟนคลับคอยติดตาม นอกจากนี้ด้วยเงินสนับสนุนหลายทางจึงสามารถทุ่มเทกับกีฬาบนหน้าจอได้แบบขนหน้าแข้งไม่ร่วง
อย่างไรก็ตาม โลกนี้มีกลุ่มคนที่พร้อมจะแหวกเสมอ และนี่คือเรื่องราวของ "แฮชแท็ก ยูไนเต็ด" สโมสรฟุตบอลที่ต้นกำเนิดผิดแผกไปจากทีมทั่วไป เพราะจุดเริ่มต้นของทีมนี้ เชื่อหรือไม่ว่ามาจากความฝันของเกมเมอร์เพียงคนเดียวเท่านั้น
คุณคิดว่าพวกเขาเหล่านี้มีฝีเท้ามากแค่ไหนจึงหาญกล้ามาก่อตั้งสโมสรฟุตบอล ? Main Stand พาไปพบเรื่องราวความบ้าของคนที่คิดจะไปให้สุดทั้งสองทางในเวลาเดียว
"สเปนเซอร์ โอเว่น" มหาอำนาจบนโลกยูทูบ
ผู้ก่อตั้งสโมสร, คอมเมนเตเตอร์, ฟูลแบ็ก, ผู้จัดการทั่วไป ... ทั้งหมดนี้คือหน้าที่ที่คนคนเดียวต้องรับผิดชอบได้แก่ สเปนเซอร์ คาร์ไมเคิล-บราวน์ หรือที่ในโลกออนไลน์รู้จักในชื่อ "สเปนเซอร์ โอเว่น" ชายหนุ่มจากแคว้น เอสเซ็ก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน ผู้เป็นหนึ่งในใต้หล้าสำหรับการเล่นกับกระแสโซเชี่ยลมีเดียบนโลกลูกหนังในยุคปัจจุบัน
Photo : Hashtag United FC
การสร้างแชนแนลในยูทูบของ สเปนเซอร์ เรียกได้ว่ามาก่อนกาล เขาเริ่มทำช่องของตัวเองตั้งแต่ปี 2008 ช่วงที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง และตอนนั้นก็ทำไปแบบบ้าน ๆ อัพบ้างไม่อัพบ้างตามอารมณ์ ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับ ไม่คิดว่ายูทูบจะเป็นช่องทางทำเงินได้ จนกระทั่งเห็นเพื่อนของเขาได้เงินจากช่องทางดังกล่าว จึงทำให้ สเปนเซอร์ โอเว่น เริ่มออกสตาร์ทอย่างเต็มตัว
แรกเริ่มนั้นคอนเทนท์บนช่องของเขาเริ่มจากการไลฟ์สตรีมเกม FIFA ก่อน จนกระทั่งเริ่มมีชื่อเสียง และหลายรูปแบบก็ตามมาทั้งคอนเทนท์เกี่ยวกับเกม Football Manager หรือแม้กระทั่งการไปดูทีมรักอย่าง เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ลงสนาม โดยเล่าเรื่องในมุมมองจากตัวของเขาเอง ซึ่งสเปนเซอร์ (รวมถึงคุณพ่อและพี่น้องของเขา) เป็นแฟนเดนตายระดับถือตั๋วปีของสโมสรเสียด้วย
จากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มกลายเป็นยูทูบเบอร์ชื่อดัง และได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอีเว้นท์ใหญ่ ๆ ของเกม FIFA เสมอ รวมถึงในฟุตบอลยูโร 2016 ที่เขาได้ทำรายการร่วมกับนักเตะดังอย่าง แกเรธ เบล และ มาร์คัส แรชฟอร์ด อีกด้วย ซึ่งเจ้าตัวเผยว่ากว่าจะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการเกมเช่นนี้ เขาเองก็เรียนรู้ถูกผิดอยู่นาน จนกระทั่งจับจุดได้ว่าเคล็ดลับของการสร้างความสุข คือตัวเราต้องสนุกไปกับสิ่งที่ทำก่อน
"มันสำคัญมากที่คุณจะต้องเป็นตัวของตัวเอง อย่าได้พยายามทำอะไรที่คิดว่าคนอื่น ๆ จะตลกเชียว ถ้าคุณยังไม่รู้สึกตลกไปกับมัน ตอบแรก ๆ ที่ทำช่อง ผมเขียนสคริปต์ไว้เยอะเลยนะ แต่ที่สุดแล้วมันไม่สนุกเลย คนดูก็ไม่ชอบ มันไม่ใช่ตัวผมเองเลยด้วยซ้ำ ... จากนั้นพอดวงตาเริ่มเห็นธรรม ผมก็เริ่มทำจากสิ่งที่ตัวเองชอบและเชื่อมั่น ซึ่งผมก็สนุกกับมันกว่าเดิมเป็นล้าน ๆ เท่า" สเปนเซอร์ เล่าถึงเหตุผลที่แชนแนลยูทูบของเขาในชื่อ "Spencer FC" เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนรู้ตัวอีกทีถึงตอนนี้ก็เฉียด 2 ล้านคนเข้าให้แล้ว นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ติดตามผ่านทวิตเตอร์อีกกว่า 6 แสนคน และบนอินสตาแกรมอีกเกือบ 8 แสนคนอีกด้วย
ชื่อเสียงในการเป็นยูทูบเบอร์ของเขา ค่อย ๆ สั่งสมจากประสบการณ์ในการดูแลโซเชี่ยลมีเดียของนักเตะดังอย่าง แว็งซ็องต์ กอมปานี รวมถึงแชนแนลสายฟุตบอลบนยูทูบอย่าง COPA90 ที่ในตอนนั้นเจ้าตัวเปรียบเสมือนเป็น "ตัวละครลับ" ของแชนแนลที่ไปท้ารบด้วยการแข่งเกม FIFA กับเหล่านักเตะอาชีพและยูทูบเบอร์ด้วยกัน ภายใต้ชื่อ "FIFA Playa" ... จนเมื่อถึงเวลาสมควร เขาก็ถอดเสื้อฮู้ดที่ปกปิดตัวตนออกไป ก่อนจะก้าวด้วยลำแข้งตัวเองแบบไม่หันกลับ
แซม บราวน์ ทีมมาเก็ตติ้งของ Goal.com ยอมรับถึงเซ้นส์ด้านการผลิตงานคอนเทนท์อันเยี่ยมยุทธ์ของ สเปนเซอร์ และมองว่าสิ่งใดก็ตามที่ สเปนเซอร์ ทำมักจะมีค่ามากพอที่จะดึงเอาผู้สนับสนุนแบรนด์ต่าง ๆ นำเงินมากองให้
"การเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมของสเปนเซอร์ หรือของ Spencer FC ได้รับผลตอบแทนมากกว่าการเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรระดับแชมเปี้ยนชิพอีกด้วยซ้ำไป"
"โปรไฟล์ของสเปนเซอร์ขายได้บนทุกแพล็ตฟอร์มของโซเชี่ยลมีเดีย เหนือสิ่งอื่นใด คือเขากุมอำนาจในหน้ายูทูบได้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สื่อหลายเจ้ากำลังแข่งขันเพื่อแย่งกันในทุกวันนี้"
ต้นกำเนิด แฮชแท็ก
"เรื่องมันตั้งนานแล้วผมอยากที่จะเล่นฟุตบอลในคอมพิวเตอร์ด้วย และฟุตบอลจริง ๆ ด้วย ผมแอบฝันมาตลอดว่าสักวันหนึ่งคงจะมีสโมสรฟุตบอลเป็นของตัวเอง"
Photo : Hashtag United FC
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 สเปนเซอร์ ในวัย 26 ปี ต้องสูญเสียเพื่อนสนิทคนหนึ่งจากสมัยเรียน ชื่อ โจ เซอร์ทีส ที่เสียชีวิตจากโรคลูคิเมีย ... เพื่อรำลึกถึงเพื่อนคนนี้ รวมถึงระดมทุนบริจาคเงินเพื่อการกุศล เจ้าตัวจึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการระดมเหล่ามิตรสหายเพื่อมาแข่งขันฟุตบอล
และเกมนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด จนก่อให้เกิดสโมสรที่บ้าคลั่งที่สุดสโมสรหนึ่งที่สารบบฟุตบอลอังกฤษได้รู้จัก
ในเกมการกุศลเพื่อเพื่อนที่จากไปซึ่งดูไม่ต่างอะไรกับการเตะบอลกันเองช่วงสุดสัปดาห์ สเปนเซอร์ ใช้ฝีมือในการเป็นยูทูบเบอร์ของเขา ตัดต่อใส่กราฟฟิกสกอร์บอร์ด รวมถึงพากย์เสียงตัวเองบรรยายการแข่งขันลงในวีดีโอ ที่บันทึกไว้จากเกม ๆ นั้นอย่างสุดฝีมือก่อนอัพโหลดลงไปในแชนแนลยูทูบของเขา ... ใครจะไปเชื่อว่า คลิปไฮไลท์จากเกมดังกล่าว มีคนเข้าไปดูถึงตอนนี้ มากกว่า 700,000 วิวเลยทีเดียว
การทำเพื่อเพื่อนที่จากไป กลายเป็นการค้นพบเพื่อนเก่าในวัยเด็กที่เรียกว่า "ความฝัน" อีกครั้งของเขา วินาทีนั้นเอง สเปนเซอร์ เริ่มรู้สึกแล้วว่าเขาต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องการสร้างทีมฟุตบอล
สเต็ปแรกของเขา คือการใช้ชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ของตัวเองมาต่อยอดสู่ชื่อเสียงในโลกจริง ด้วยการจัดการแข่งขันเกมฟุตบอลบนสนามจริง โดยรวมเหล่ายูทูบเบอร์มาเตะฟุตบอลกันภายใต้ชื่อ เดอะ เวมบลีย์ คัพ
ความเป็นผู้ทรงอิทธิพลของเขา ไม่เพียงแต่จะนำยูทูบเบอร์สายฟุตบอลและสายเกมมารวมตัวกันได้เท่านั้น แม้กระทั่งอดีตนักฟุตบอลอาชีพ รวมถึงสปอนเซอร์ระดับโลก ยังเข้ามาร่วมจอยกับโปรเจกต์นี้ ทำให้มีคนเข้ามาชมคลิป ตั้งแต่การเลือกตัวนักเตะ การฝึกซ้อม จนถึงวันแข่งขัน มากระดับหลักล้านถึงสิบล้านวิวต่อคลิปเลยทีเดียว
หลังจากนั้นไม่นาน "แฮชแท็ก ยูไนเต็ด ฟุตบอล คลับ" ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2016 และแน่นอนว่าพวกเขาต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น เพราะฟุตบอลอังกฤษไม่มีทางลัด หรือการซื้อสโมสร เพื่อสวมสิทธิ์ในภายหลัง ดังนั้นแม้ แฮชแท็ก ยูไนเต็ด จะมีจุดตั้งต้นที่สามารถสร้างแฟนคลับ และชื่อเสียงได้ในโลกออนไลน์ แต่พวกเขาต้องเข้าสู่ระบบคัดกรอง และเล่นกันตามกฎกติกาเหมือนกับทุก ๆ ทีมในอังกฤษ
Photo : Hashtag United FC
"ตอนผมบอกว่าจะทำสโมสรฟุตบอลจริง ๆ คนในวงการเดียวกันกับผมมีแต่คนอุทานออกมาว่า 'แกบ้าแล้วว่ะเพื่อน'"
เพื่อน ๆ ของเขาบอกว่านี่คือการลงทุนที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะ สเปนเซอร์ จัดการจ้างทีมมีเดียแบบครบวงจรถึง 10 คนเพื่อทำให้บันทึกการแข่งขันของทีมเขาออกมาให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และการจัดจ้างของกลุ่มทีมงานโปรดักชั่นเหล่านี้ ถือว่ามีค่าตัวแพงกว่านักเตะในสโมสรด้วยซ้ำไป
หลายเสียงบอกว่าเขาควรจะเอาเงินที่จ้างมือตัดต่อและกราฟฟิกเหล่านี้ไปทำภาพยนตร์สักเรื่องคงเป็นอะไรที่น่าจะฉลาดและได้กำไรมากกว่า แต่เรื่องเงินสำหรับสเปนเซอร์ กลายเป็นเรื่องขี้เล็บ เพราะเมื่อเขาตัดสินใจอะไรแล้ว เขาจะไม่เปลี่ยนมันแน่นอน
"ไม่ ฉันกำลังจะสร้างบางสิ่งให้เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้" เขาว่าเอาไว้อย่างหนักแน่น
อันที่จริง สเปนเซอร์ ไม่ได้คิดที่จะทำให้ทีมแฮชแท็กเกิดขึ้นมาแค่เพื่อความสนุกสนาน เขาเองรู้สึกว่าระยะหลังฟุตบอลมีเรื่องอื้อฉาวเข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไป และที่เห็นชัดที่สุดคือการทุจริตของเหล่าบอร์ดบริหารฟีฟ่า กับการเลือกรัสเซียเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 และกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องความรุนแรงและการเหยียดเพศสภาพ ซึ่งเขามองว่ามีตื้นลึกหนาบาง และอยากจะแสดงจุดยืนบางอย่างกับเรื่องนี้
"ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผมสูญเสียศรัทธากับฟุตบอลและฟีฟ่าไปก็เยอะ ผมว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องยืนขึ้นและมีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องนี้"
เขาพูดถึงสโมสร แฮชแท็ก ของตัวเองว่า มีความคล้ายกับทีมอย่าง เอเอฟซี วิมเบิลดัน และ เอฟซี ยูไนเต็ด ออฟ แมนเชสเตอร์ ที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจกันของแฟนฟุตบอลท้องถิ่น ซึ่งไม่พอใจการทำทีมของผู้บริหารของสโมสรอย่าง เอ็มเค ดอนส์ และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตามลำดับ จึงออกมาก่อตั้งสโมสรใหม่เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะนำเอาจิตวิญญาณของทีมที่แท้จริงกลับมายังลีกสูงสุดอีกครั้ง
แต่ทีมแฮชแท็กของพวกเขาต้องสู้กับเรื่องของระบบลีกมากมาย ช่วงระยะ 2 ปีแรกที่ก่อตั้งสโมสร (ปี 2016-2017) ทีมแฮชแท็กไม่มีเกมทางการลงเล่นเลย เกมส่วนใหญ่ของพวกเขาเป็นเกมกระชับมิตร ทั้งเพื่อถ่ายเอาวีดีโอการแข่งขันเก็บไว้ และอัพโหลดลงบนยูทูบ
โดยทีมที่พวกเขาได้เผชิญหน้าแข่งขันด้วยเป็นทีมของเหล่าเซเลปดาราคนดัง หรืออดีตนักเตะของทีมต่าง ๆ มากมาย อาทิการเจอกับ ทีมสตาฟฟ์ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้, การเจอกับทีมของ พอล ดิ๊กคอฟ, แกรม เลอ โซ และ เรย์ พาร์เลอร์ นอกจากนี้พวกเขายังเคยเกือบดึงตัว อเดบาโย อคินเฟนวา กองหน้าร่างยักษ์ของ วีคอมบ์ ซึ่งโด่งดังจากการเป็น "นักเตะที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก" มาร่วมทีมได้อีกด้วย
หลังจากลงเล่นเกมกระชับมิตรหรือแมตช์เฉพาะกิจอยู่นานในที่สุด สมาคมฟุตบอลอังกฤษก็รับพวกเขาเข้าสู่ระบบพีระมิดของการแข่งขันฟุตบอลลีกจนได้ ในระดับ ดิวิชั่น 10 ของประเทศ ... แรกเริ่มเดิมที พวกเขาถูกเอฟเอจัดให้ไปอยู่ในดิวิชั่น 1 ของ Spartan South Midlands League ก่อนที่จะทำเรื่องขอย้ายไปยัง Eastern Senior League เนื่องจากพวกเขามองว่า ลีกแห่งนี้เหมาะสมกับถิ่นฐานของสโมสรมากกว่า เนื่องจากมีทีมจากแคว้นเอสเซ็ก บ้านเกิดของสเปนเซอร์ ลงแข่งขันในลีกนี้เป็นปกติอยู่แล้ว
"คุณไม่สามารถเปลี่ยนระบบได้หรอก ระบบก็ทำงานของมันไป และทางเดียวที่เราจะแก้ไขเรื่องนี้ได้ คือเราเองทำทำบางอย่างเองตั้งแต่เริ่มต้น" สเปนเซอร์ กล่าวเอาไว้ในวันที่ก่อตั้ง แฮชแท็ก ยูไนเต็ด และเชื่อมันว่าในช่วงทศวรรษต่อจากนี้ไปสโมสรแห่งนี้อาจจะได้เล่นเคียงข้างกับทีมยักษ์ใหญ่อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด, เชลซี และ ลิเวอร์พูล ซึ่งจะจริงหรือไม่นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป
ทีมไม่ดังแต่หาตังค์เก่ง
เมื่อ แฮชแท็ก ยูไนเต็ด เข้าสู่ระบบฟุตบอลลีกของอังกฤษอย่างเต็มตัว สเปนเซอร์ เองต้องยอมรับว่า นี่ไม่ใช่เวทีที่เขาจะทำอะไรก็ได้เหมือนในอดีตอีกแล้ว นั่นทำให้เขาตัดสินใจวางมือจากการเล่นเอง คุมทีมเอง โดยจ้างกุนซือที่มีประสบการณ์มากกว่ามาเป็นผู้จัดการทีม ส่วนเขา ก็ขึ้นไปดูแลด้านการบริหารงานอย่างเต็มตัว
Photo : Hashtag United FC
แน่นอน การบริหารฟุตบอลจริง ๆ นั้นไม่ง่าย และสเปนเซอร์ก็ได้รู้ว่า เขาต้องออกแรงหนักเพื่อให้ เป็นไปตามที่เขาวาดฝันไว้ทั้งหมด
เขาเผยว่าในทีมแฮชแท็กของเขาไม่เคยทำกำไรในแง่ของการแข่งขันแต่ละนัดเลย หนำซ้ำยังถึงขั้นขาดทุนเละเทะอีกด้วย
เขาแจกแจงว่าแต่ละเกมพวกเขามีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง อาทิ เช่าสนามกีฬา Coles Park ที่มีความจุ 2,500 คน จ้างตากล้องเกาะติดขอบสนาม 6 คน, จ้างรถทัวร์ขนส่งนักเตะในทีม เป็นต้น จากรายจ่ายเหล่านี้ไม่มีทางเลยที่เงินรางวัลและเงินบำรุงทีมสำหรับสโมสรนอกลีกจะเพียงพอ เพียงแต่ว่าเขารู้จักวิธีหาเงินอีกทาง นั่นคือการหาสปอนเซอร์นั่นเอง
ด้วยความที่เขาเป็นที่รู้จักในโลกอินเตอร์เน็ตจึงทำให้มีแบรนด์ดัง ๆ หลายอย่างเข้ามาช่วยสนับสนุนมากมายทั้ง อุปกรณ์กีฬา Umbro, EE เครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังมีเกมออนไลน์ฟุตบอลอย่าง Top Eleven อีกด้วย ในช่วงขวบปีแรกของสโมสร
Photo : Hashtag United FC
เมื่อยิ่งมีทุนแล้ว ทีมโปรดักชั่นของแฮชแท็กก็ยิ่งติดปีกเข้าไปอีก คลิปแต่ละคลิปที่ถ่ายทำและตัดต่อทำให้ผู้เล่นรากหญ้าเหล่านี้ดูราวกับว่าเป็นซูเปอร์สตาร์อย่าง ลิโอเนล เมสซี่ หรือ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เพราะทุกสัปดาห์จะมีการลงคลิปจังหวะยิงสวย ๆ Challenge ต่าง ๆ ของผู้เล่นภายในทีม นอกจากนี้ยังการตั้ง Hashtag Academy เพื่อเปิดรับสมัครเหล่าผู้เล่นหน้าใหม่เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ซึ่งมีผู้ให้เข้าความสนใจสมัครเข้าร่วมกว่า 2 หมื่นคนเลยทีเดียว
รวมทุกคลิปของ แฮชแท็ก นั้นมีคนเข้ามากดดูหลายร้อยล้านวิวแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น Hashtag Academy ยังได้สร้างนักเตะคนแรกที่สามารถเข้าไปอยู่ในฟุตบอลลีกอาชีพของอังกฤษอีกด้วย นั่นคือ สก็อตต์ พอลล็อค ซึ่งปัจจุบันอยู่กับ นอร์ธแฮมป์ตัน ทาวน์ ในลีกทู
ทุกคอนเทนท์ที่พวกเขานำเสนอลงในแชนแนลยูทูบได้รับคำตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้การมีชื่อเสียงนอกสนามทำให้ แฮชแท็ก การเป็นทีมที่คู่แข่งในลีกอย่างจะดวลด้วย เพราะแต่ละทีมรู้ว่าเมื่อลงเล่นกับทีมนี้ จะมีคนที่คอยดูอยู่ในแห่งใดแห่งหนึ่งของโลกผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นแสน ๆ คน
"มีแต่ทีมที่อยากจะชนะเรา เรากลายเป็นทีมที่น่าเอาชนะมากที่สุดในลีก พวกเขารู้ว่าเมื่อลงเล่นกับทีมเราจะมีผู้ชมจำนวนมากดูเกมนี้แบบออนไลน์อยู่" สเปนเซอร์กล่าว
Photo : Hashtag United FC
ยิ่งเกมการแข่งขันสนุก และแตกต่างฟุตบอลทั่วไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ชื่อของ แฮชแท็ก กลายเป็นจุดสนใจของคอบอลออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น และสิ่งที่เติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว คือ พวกเขายิ่งทำเงินจากการขายคอนเทนท์ได้ แม้ว่าผลการแข่งขันอาจจะไม่ชนะเสมอไปก็ตาม
"เราเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการขายคอนเทนท์อย่างแน่นอนไม่ต้องสงสัยเลย แต่ถึงอย่างงั้นเรื่องของการคว้าชัยชนะ และคว้าแชมป์ยังคงเป็นสิ่งที่เราต้องการ เพียงแต่ว่าเรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบแยกออกมาอีกส่วน ซึ่งไม่มีสโมสรใด ๆ จะเหมือนเรา"
และหลังจากนั้น แฮชแท็กก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ประสบความสำเร็จในสนาม ค่อย ๆ เลื่อนชั้นขึ้นมาตามลำดับ โดยปัจจุบันในฤดูกาล 2024-25 พวกเขาอยู่ใน Isthmian League Premier Division ลีกฟุตบอลระดับ 7 ของอังกฤษ
ส่วนเรื่องนอกสนาม พวกเขาก็เริ่มมีแรงดึงดูดสปอนเซอร์รายดัง ๆ เพิ่มขึ้น กับการจับมือกับพาร์ทเนอร์อย่างเกมฟุตบอล Football Manager กับ UFL รวมถึง adidas อุปกรณ์กีฬาจากเยอรมัน นั่นทำให้พวกเขาเริ่มมีทุนทรัพย์พอที่จะย้ายสนามแข่งไปเช่าที่แห่งใหม่ซึ่งรองรับจำนวนผู้ชมได้มากกว่าเดิม ... ไม่เพียงเท่านั้น แฮชแท็ก ยูไนเต็ด ก็ยังไม่ทิ้งตัวตนเดิมที่สร้างชื่อจากโลกออนไลน์ ด้วยการสร้างทีมอีสปอร์ตขึ้นมาพร้อม ๆ กับการก่อตั้งทีม และจ้างเกมเมอร์ฝีมือดีเข้าทีม สร้างผลงานในเกม FIFA อย่างต่อเนื่อง
Photo : Hashtag United FC
การขายที่แปลกแตกต่างจากทีมทั่วไปเหล่านี้ทำให้ แฮชแท็ก ยูไนเต็ด สวนกระแสหลัก เพราะในปัจจุบันจำนวนผู้ชมถ่ายทอดทดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของ Sky Sports ลดลงถึง 11% และถ้าเทียบกับจำนวนคนดูในปี 2010 ก็ลดลงถึง 25% เลยทีเดียว ทว่าเหล่าผู้ชมของแฮชแท็กต่อ 1 เกม มีจำนวนมากกว่าครึ่งล้านต่อ 1 คลิป และยังมีแววจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าคุณอยากจะดูเกมฟุตบอลระดับคุณภาพแล้วล่ะก็ แนะนำว่าอย่ามาดู แฮชแท็ก ยูไนเต็ด
"สิ่งที่เราทำคือการเล่าเรื่องราวจริง ๆ ของฟุตบอลที่ผู้คนสนใจ คนดูจะได้เห็นนักเตะที่ใกล้เคียงกับพวกเขา สู้บนเส้นทางการเป็นนักฟุตบอล มากกว่านักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้"
"ในแง่ของแบรนด์และการสนับสนุนจากแฟนบอล มันไม่จำเป็นเสมอไปหรอกที่เราจะต้องไปเล่นในลีกสูงสุด แต่ผมก็ยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ผมอยากจะทำ ผมอยากจะเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลที่เล่นในลีกระดับสูงให้ได้"
แม้จะดูเหมือนทำเล่น ๆ แต่ที่สุดแล้ว สเปนเซอร์ ก็ตบซ้าย ตบขวาจน แฮชแท็ก ยูไนเต็ด ของเขาเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ... อย่างน้อย ๆ ตอนนี้พวกเขาก็ไม่ใช่ผีไม่มีศาล ที่เตะกระชับมิตรไปวัน ๆ แล้ว
Photo : Hashtag United FC
เส้นทางของการขายสื่อนั้น สเปนเซอร์ คงไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกแล้วเพราะเขาอ่านมันทั้งหมดจนทะลุปรุโปร่ง
บทเรียนต่อไปที่เขาจะต้องเรียนรู้ คือทำอย่างไรให้ทีมของเขาเชี่ยวชาญยามลงเล่นในสนามจริงยิ่งกว่านี้ ถ้าเขาตีโจทย์แตกหมดทั้ง 2 ด้านรับรองได้ว่า แฮชแท็ก ยูไนเต็ด จะเป็นชื่อที่แฟนบอลคุ้นหูยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในเร็ววันนี้แน่ ... อย่างน้อย ๆ หากได้เจอกับทีมยักษ์ใหญ่ในถ้วย เอฟเอ คัพ ก็ถือว่าเป็นความบ้าที่โคตรจะประสบความสำเร็จแล้วล่ะน่า