Feature

ทั้ง ๆ ที่ยอมขาดทุน : ทำไม แมนฯ ยูไนเต็ด โละนักเตะที่ไม่อยากใช้งานยากเหลือเกิน ? | Main Stand

มาร์คัส แรชฟอร์ด กลับมารายงานตัว ทั้ง ๆ ที่ทีมบอกว่า "ไม่ต้องมาก็ได้", เจดอน ซานโช่ มีข่าวย้ายทีม แต่ไม่มีข่าวไหนหรือทีมใดใกล้เคียงที่จะคว้าตัวเขา และ อันโตนี่ ที่ว่าเล่นดีนักดีหนาในช่วงยืมตัว ก็ยังไร้คนสนใจ 

 


ไม่ใช่นักเตะเหล่านี้เท่านั้น เพราะ แมนฯ ยูไนเต็ด ดูเหมือนจะมีปัญหาในการระบายนักเตะส่วนเกินอย่างหนัก และเป็นมาพักใหญ่แล้ว 

พรีซีซั่นใกล้จะเริ่มแล้ว แต่ถ้าไม่นับนักเตะที่หมดสัญญา ปีศาจแดง ยังหาทางเคลียร์นักเตะที่ไม่อยู่ในแผนการทำทีมไม่ได้ ซึ่งกระทบถึงนักเตะขาเข้าด้วย 

ทั้ง ๆ ที่ยอมขาดทุนแบบพร้อมเท แต่ทำไมการโละนักเตะเหล่านี้จึงยากเย็นนัก ? ทีมอื่นทำไมไม่เป็นแบบนี้ ? หาคำตอบกับ Main Stand 

 

Missed planning

การขายนักเตะไม่ออก แม้จะยอมขายในราคาเลหลังพร้อมขาดทุน แต่นักเตะก็ยังค้างสต็อก ส่งผลต่อสภาพคล่อง และทำให้ไม่สามารถคว้าตัวนักเตะใหม่เข้ามาได้ ไม่ใช่ปัญหาใหม่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด 

พวกเขาเป็นแบบนี้มานานแล้ว ติดอยู่ในลูปนี้มาหลายปี ปัญหานี้เป็นเหมือนปัญหาปลายน้ำ และหากจะย้อนว่าต้นเหตุมาจากอะไร ก็คงต้องบอกว่าพวกเขาผิดกันตั้งแต่เริ่ม เหมือนคุณติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ต่อให้คุณใส่เสื้อตัวนั้นได้ แต่สุดท้ายมันก็ดูขาด ๆ เกิน ๆ หาทางลงไม่ได้ และกระดุมเม็ดแรกของพวกเขาก็คือ "การขาดการวางแผนตั้งแต่การเสริมทัพ" 

นักเตะที่ขายไม่ออก ระบายไม่ได้ในเวลานี้ ครั้งหนึ่งในตอนที่พวกเขาย้ายมาอยู่กับทีมใหม่ ๆ พวกเขาเคยเป็นนักเตะที่ถูกมองว่าเป็นตัวความหวัง เป็นดาวเด่นของทีม เป็นคนที่จะพาทีมกลับสู่รูปสู่รอย และท้ายที่สุดคือทีมกลับมายิ่งใหญ่แข็งแกร่งตั้งแต่รากฐานอีกครั้ง ... แต่ว่าการขาดความเชี่ยวชาญ และแผนการที่แน่นอน ทำให้การคาดการณ์ของพวกเขาผิดพลาดทั้งหมด 

ในช่วงเวลาที่ทีมไร้ความสำเร็จมายาวนาน ทุกอย่างล้วนมีเหตุผล กุนซือโปรไฟล์สวย ๆ มีความสำเร็จการันตีหลายคนมาที่นี่ก่อน เอริค เทน ฮาก และจากไปอย่างผู้แพ้ ยกตัวอย่างเช่น หลุยส์ ฟาน กัล, โชเซ่ มูรินโญ่, โอเล่ กุนนาร์ โซลชา, ราล์ฟ รังนิก จนกระทั่งถึงคนล่าสุดที่ต้องออกไปอย่าง เทน ฮาก แต่ละคนก็ออกมาเล่าเหตุผลของความล้มเหลวในการทำทีมของพวกเขาในภายหลัง และส่วนใหญ่เป็นการสาวไส้เกี่ยวกับทีมบริหารทั้งสิ้น ทั้งเรื่องการหนุนหลังนักเตะมากกว่าโค้ช การเลือกซื้อนักเตะโดยไม่ปรึกษาโค้ช หรือกระทั่งบางคนก็ซื้อนักเตะตามใจโค้ช แต่ก็ไม่มีแผนการระยะยาว 

คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ได้ชัดที่สุดก็คือ ราล์ฟ รังนิก ที่ออกมาบอกถึง 4 ข้อที่ทีมยังขาด และเขาเคยนำเสนอให้กับบอร์ดบริหารไป แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ สุดท้ายสิ่งที่ รังนิก กล่าวมา ก็ยังเป็นปัญหามาจนถึงยุคปัจจุบัน 

สิ่งที่ รังนิก ตีแผ่ออกมา มีทั้งการเลือกนักฟุตบอลเข้าสู่ทีมให้ตรงกับสไตล์การทำงานและปรัชญาฟุตบอลของโค้ช, การมีแผนงานระยะยาว เลือกวิธีการเล่นให้ชัด และหา DNA ของทีมให้เจอว่าจะเล่นด้วยแนวทางไหน จะครองบอล ตั้งรับ โต้กลับเร็ว หรือวิ่งปะทะฉะดะด้วยความฟิต จะเอาแบบไหนก็ต้องเอาสักทาง และไปในสายนั้นให้สุด ไม่ใช่การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา, มองนักเตะเรื่องอื่นนอกจากฝีเท้า นั่นคือการอ่านไปถึงทัศนคติ คาแร็กเตอร์ ความดุดันเอาจริงเอาจังมากกว่าที่เป็นอยู่ และข้อสุดท้าย คือการให้เวลาและประเมินงานแต่ละไตรมาสอย่างจริงจัง เพราะทุกความสำเร็จไม่มีทางลัด

การขาด 4 สิ่งที่ รังนิก กล่าวมา ซึ่งเป็นพื้นฐานของโครงสร้างฟุตบอลสำหรับแทบทุกทีมในฟุตบอลสมัยใหม่ ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ตัดสินใจผิดหลายครั้ง อย่างเช่น การซื้อนักเตะตามชื่อเสียง ไม่ใช่ความเหมาะสมกับระบบ หรือแท็คติกที่โค้ชใช้

การขาดแผนระยะยาว ที่ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนโค้ช และเปลี่ยนระบบทีมแทบตลอด ทำให้นักเตะที่ซื้อเข้ามามีปัญหา เพราะเล่นไม่เข้าระบบ และกลายเป็น "ทรัพย์สินที่ไม่มีมูลค่า" ในท้ายที่สุด ทั้งในยุคเก่า ๆ อย่าง อเล็กซิส ซานเชซ, ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค, เอริค ไบญี่, ปอล ป็อกบา ที่ทั้งหมดนี้ ขาเข้ามีราคารวมกันเกิน 200 ล้านปอนด์ แต่ตอนออกจากทีมไป กลับได้เงินคืนมาน้อยนิด บางคนก็ไม่ได้เงินกลับคืนมาเลย  

ปัญหาก็คือ มันไม่ได้มีแค่นักเตะที่ปล่อยออกไปตามรายชื่อที่กล่าวมา ... เพราะ ณ เวลานี้ ยังมีนักเตะอีกหลายคนที่ทีมพยายามจะโละอีกมากมาย แต่ทุกคนก็ยังอยู่กับทีม ณ ปัจจุบัน แม้การพรีซีซั่นสำหรับฤดูกาล 2025-26 จะเริ่มขึ้นแล้วก็ตาม

 

หน้ามืดเมื่อตอนอยากได้

เรื่องนี้ไม่ต้องย้อนไปไกลเลย เมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา บอร์ดบริหารของสโมสรมีการเปลี่ยนแปลงภายใน บอร์ดยุคเก่าที่บริหารงานภายใต้การดูแลของตระกูลเกลเซอร์ และมี เอ็ด วู้ดเวิร์ด เป็นแม่ทัพใหญ่ถูกโละออกแทบยกชุด และเอากลุ่ม Ineos ของ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ เข้ามาบริหารงานด้านฟุตบอลแทน ... "เซอร์ จิม" ก็พูดเองว่า สิ่งที่ทีมบริหารชุดเก่าทำไว้นั้น "เละเทะ" จนแทบจะสามารถทำให้ทีมวิ่งเข้าชนหายนะทางการเงินได้เลย 

โดย เซอร์ จิม ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC แบบถึงกึ๋นชนิดออกชื่อนักเตะด้วยปากของตัวเอง เขาบอกว่านักเตะหลายคนที่ทีมบริหารยุคเก่าซื้อ เป็นนักเตะที่จ่ายเงินมากเกินไป ไม่คุ้มทั้งค่าตัว และค่าจ้าง ซึ่งรายชื่อที่เกี่ยวข้องคือ อันโตนี่, คาเซมิโร่, อองเดร โอนาน่า, ราสมุส ฮอยลุนด์ และ เจดอน ซานโช่ ... ซึ่งรายชื่อเหล่านี้เป็นแข้งพร้อมโละที่ยังขายไม่ออกทั้งสิ้น ณ ปัจจุบัน 

"บางคนไม่ดีพอ และบางคนอาจได้รับเงินมากเกินไป เราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง ที่เราต้องก้าวข้ามจากอดีตไปสู่อนาคต" หนึ่งในคำพูดของ เซอร์ จิม ที่กล่าวเมื่อเขาเข้ามาบริหารทีม 

ค่าเหนื่อยของนักเตะตามชื่อที่ เซอร์ จิม กล่าวมา เป็นนักเตะที่สามารถพูดได้ว่าเป็นพวก "ค่าเหนื่อยนักเตะสูงเกินตลาดรองรับ" อันที่จริง การโละนักเตะแบบยอมขาดทุนจากราคาที่ซื้อมาเป็นเรื่องปกติ หลายทีมก็เจอปัญหานี้ แต่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด แตกต่างออกไป กล่าวคือต่อให้ยอมขาดทุน ทีมที่จะซื้อก็ต้องเจอกำแพงด่านที่ 2 ต่อจากค่าตัว นั่นคือค่าเหนื่อยของนักเตะที่มากเกินไป เป็นราคาที่ไม่มีทีมในยุโรปทีมไหนอยากจะจ่ายหากเทียบกับคุณภาพของนักเตะคนนั้น ๆ ... ต่อให้เป็นทีมระดับท็อป เป็นทีมที่มีเงินก็ยังสู้ไม่ไหว ยกตัวอย่างเช่น เชลซี ที่ยอมจ่ายค่าปรับ ส่งตัว เจดอน ซานโช่ คืนทีมปีศาจแดง เพราะการเจรจาเรื่องการลดค่าเหนื่อยไม่ลงตัว 

The Independent สื่อในอังกฤษใช้คำสั้น ๆ ว่า ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องกลายเป็นทีมที่มีนักเตะไม่ได้ใช้งาน หรือไม่ตอบโจทย์กับแท็คติกของเฮดโค้ช ก็เพราะเหตุผลง่าย ๆ นั่นคือ นักเตะเหล่านี้เป็นนักเตะที่ "ไม่มีใครอยากจะซื้อ" กล่าวคือนอกจากค่าเหนื่อยจะสูงทะลุเพดานที่ทุกทีมวางไว้แล้ว นักเตะที่ ยูไนเต็ด พยายามจะโละ ยังเป็นนักเตะประเภทที่ได้ลงสนามน้อย ฝีเท้าไม่ดีพอจะเล่นให้กับทีมใหญ่ ๆ ที่มีเงินพอจะจ่ายค่าเหนื่อย และในขณะเดียวกัน พอทีมในระดับที่เล็กกว่าอยากจะได้ตัว ก็ไม่สามารถซื้อได้ เพราะสู้ค่าเหนื่อยนักเตะเหล่านั้นไม่ไหว 

สื่อเจ้าดังอย่าง The Times ยังขยี้เรื่องการวางเพดานค่าเหนื่อยนักเตะที่เละเทะของ แมนฯ ยูไนเต็ด อีกว่า "นี่คือทีมที่จ่ายค่าแรงและค่าตัวนักเตะสูงที่ระดับท็อป 3 ของพรีเมียร์ลีก (ร่วมกับ แมนฯ ซิตี้ และ เชลซี) แต่ในแง่ผลงานนักเตะและความคุ้มค่า พวกเขาแย่ที่สุดในลีกด้วยซ้ำ หากเทียบกันแบบจำนวนเงินปอนด์ต่อปอนด์"

สรุปโดยรวมก็คือ แมนฯ ยูไนเต็ด ซื้อขายแบบตกยุค ในขณะที่ทีมอื่นในลีก แม้กระทั่งทีมเล็ก ๆ อย่าง ไบรท์ตัน, เบรนท์ฟอร์ด, บอร์นมัธ และทีมอื่น ๆ ก็เลิกซื้อนักเตะชื่อดังและประเคนค่าเหนื่อยแพง ๆ ล่อใจนักเตะกันหมดแล้ว ทุกทีมเลือกจะลงทุนระยะยาวกับนักเตะที่อายุยังไม่มาก มีศักยภาพพัฒนาต่อได้ และแน่นอนที่สุด คือมีค่าเหนื่อยที่สมเหตุสมผลตามที่สโมสรได้ตั้งเพดานค่าเหนื่อยตามนโยบายเอาไว้ 

และเมื่อเทียบกับทีมใหญ่ ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง แม้กระทั่ง เชลซี ที่จ่ายเงินซื้อนักเตะมากกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด แต่พวกเขาก็ไม่เคยให้ค่าเหนื่อยที่สูงเกินนโยบาย ดังนั้นต่อให้นักเตะที่พวกเขาซื้อมาจะเล่นไม่เข้าระบบ หรือดีไม่พอ พวกเขาก็สามารถระบายออกได้ด้วยราคาที่สมน้ำสมเนื้อ นักเตะบางคนขายได้แพงกว่าตอนที่พวกเขาซื้อมาด้วยซ้ำ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องค่าเหนื่อยมากวนใจเหมือนฝั่งปีศาจแดง

ยิ่งแล้วใหญ่ เมื่อเราเทียบกับทีมแชมป์อย่าง ลิเวอร์พูล นักเตะในระดับ เดอะ แบก ของหงส์แดงอย่าง โม ซาลาห์ และ เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ อยู่กับทีมาหลายปี และพาทีมคว้าแชมป์มากมาย แต่ทั้ง 2 คนก็เพิ่งได้ค่าเหนื่อยเกิน 3 แสนปอนด์ในช่วงต้นปี 2025 ที่ผ่านมาเท่านั้น ขณะที่ฝั่ง แมนฯ ยูไนเต็ด กลับตรงกันข้าม แค่สัญญาฉบับแรกของนักเตะที่ซื้อมา พวกเขาก็จ่ายแบบไม่มีกั๊ก หรือจะพูดว่าหน้ามืดตามัวก็คงไม่เกินเลยไปนัก เชื่อว่าเราแทบไม่ต้องไล่เรียงว่ามีใครบ้าง เพราะหลายคนคงได้เห็นในข่าวอยู่บ่อย ๆ ว่า แมนฯ ยูไนเต็ด มีนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยระดับ 2-3 แสนปอนด์ในทีมเยอะขนาดไหน แถมส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นตัวหลักของทีมด้วย 

 

ยอมขาดทุนช้าไป 

นอกจากซื้อผิดแล้ว ปัญหาที่ทำให้พวกเขาโละนักเตะออกยากก็คือ พวกเขายอมขาดทุนช้าเกินไป

แมนฯ ยูไนเต็ด เก็บนักเตะหลายคนไว้ในทีม ด้วยความคาดหวังว่าพวกเขาจะดีขึ้น หรือไม่ก็เลือกที่จะไม่ขาย เพราะเห็นว่าไม่ได้ราคาที่เหมาะสม จนสุดท้ายการประวิงเวลาไม่มีค่าอะไรนอกจากพวกเขาขาดทุนเหมือนเดิมแล้ว ส่วนใหญ่มากมักจบลงด้วยการเสียไปแบบฟรี ๆ ชนิดที่ว่าปล่อยยืมตัวจนหมดสัญญา และอยู่เลี้ยงกัน จนสุดท้ายรอให้สัญญาหมดแล้วก็เสียไปฟรี ๆ ยกตัวอย่างเช่น เจสซี่ ลินการ์ด, มาร์กอส โรโฮ, ดาบิด เด เคอา ที่ในช่วงเวลาหนึ่ง นักเตะเหล่านี้เคยมีทีมให้ความสนใจที่จะซื้อตัวพวกเขามากมาย 

การบริหารแบบกลัวขาดทุนไม่ได้ช่วยอะไร เพราะสุดท้ายพวกเขาก็ขาดทุนเยอะกว่าเดิมในตอนจบ แถมนักเตะที่ขายไม่ออกก็อยู่กินเงินเดือนกับสโมสรโดยทีมไม่สามารถใช้งานได้ ... มีแต่เสียกับเสียแบบไม่ต้องสงสัย 

ใช่ว่าทีมอื่นจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ แมนฯ ซิตี้ ก็เป็นอีกทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยนักเตะแพง แต่พวกเขาเลือก Cut lost ถูกเวลา นักเตะคนไหนที่ไม่เข้าระบบ หรือถึงเวลาต้องเปลี่ยน พวกเขาก็ขายทันที บางครั้งเป็นการขายแบบยอม "ขาดทุนนิดหน่อยแต่ลดภาระค่าเหนื่อย" แล้วเอาเงินไปรีไซเคิลกับนักเตะใหม่ เช่นการขาย ราฮีม สเตอร์ลิ่ง หรือ กาเบรียล เชซุส ขณะที่ ลิเวอร์พูล ก็เลือกจะขายนักเตะในตอนที่ยังมีมูลค่า อาทิกรณีของ ซาดิโอ มาเน่, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน และ ฟาบินโญ่ 

ท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องวนกลับมาที่เรื่องเดิมอีกครั้ง นั่นคือทีมงานหลังบ้านที่ไร้ประสิทธิภาพ ที่ทำให้พวกเขาโละนักเตะยากแบบนี้ แผนกเจรจาซื้อ-ขายของยูไนเต็ด มักถูกวิจารณ์เรื่องการขาดความเด็ดขาด ขาดวิสัยทัศน์ และไม่สามารถปิดดีลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาหลังบ้านก็ส่งผลถึงเรื่องผลงานในสนาม นั่นคือเมื่อขายนักเตะเก่าไม่ได้ ก็ขาดเงินเสริมทัพนักเตะใหม่ ทำให้เกิดการเสริมทัพล่าช้า แทนที่ทีมจะได้จัดการตลาดขาเข้า-ขาออก ให้เร็วที่สุด และเห็นภาพรวมในซีซั่นใหม่ตั้งแต่ช่วงปรีซีซั่น กลับกลายเป็นว่าการเตรียมทีมที่ไม่สมบูรณ์ กว่าจะได้ใครสักคนมาเสริมทัพก็รอจนฤดูกาลเริ่ม ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ยูไนเต็ด ก็มักจะเสียแต้มแบบเป็นกอบเป็นกำในช่วง 2 เดือนแรกของฤดูกาล จนทำให้ทีมหมดลุ้นแชมป์อย่างรวดเร็ว

นักเตะทุกคนบนโลกนี้มีราคาที่เหมาะสม และเป็นนักเตะที่ดีมีความสามารถในแง่ใดแง่หนึ่ง หากพวกเขาอยู่ถูกทีม ถูกที่ ถูกทาง ... แต่ว่าการบริหารงานที่ขาดวิสัยทัศน์ การตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาด ลากปัญหาสารพัดมาพัวพัน จนพวกเขาสะบัดไม่หลุด วุ่นวายติดต่อกันมาหลายซีซั่น แม้กระทั่งทุกวันนี้ที่เราได้เห็นกัน 

 

แหล่งอ้างอิง

ttps://www.theguardian.com/football/2025/mar/10/not-good-enough-and-overpaid-jim-ratcliffe-on-some-manchester-united-stars
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-13469695/Sir-Jim-Ratcliffe-set-five-new-rules-Man-United-manager-adhere-owner-continues-dramatic-changes-dismal-season.html
https://www.express.co.uk/sport/football/1904767/Man-Utd-news-Sir-Jim-Ratcliffe-transfers-INEOS-gossip
https://x.com/UtdPlug/status/1795733184849842619/photo/1
https://www.bbc.com/sport/articles/cd1gky59q7yo
https://chatgpt.com/c/686e4547-d0e4-8011-8727-93a34975104b

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ