Feature

งานดีของขิงแก่ : ทำไม เซเรีย อา จึงทำให้แข้งจอมเก๋าเปล่งประกายได้เสมอ ? | Main Stand

เควิน เดอ บรอยน์ และ ลูก้า โมดริช 2 กองกลางระดับโลกในช่วงพีกกำลังโรยราลงในทุก ๆ ปี และพวกเขาเลือกจะมาค้าแข้งใน เซเรีย อา ในซีซั่น 2025-26 

 


สิ่งที่น่าสนใจคือพวกเขาไม่ใช่แค่แข้งอายุเยอะ 2 คนนี้เท่านั้นที่เลือกหมุดหมายมายังอิตาลี เพราะว่ากันว่านี่คือลีกที่เป็นมิตรเหมาะกับแข้งวัยเก๋ามากที่สุด แต่คำถามที่สำคัญคือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? 

ไล่เรียงเรื่องราวทั้งหมด และหาคำตอบที่ชัดเจนที่สุดกับ Main Stand 

 

Italian Style

คำอธิบายหรือภาพจำของฟุตบอลอิตาลี ถือเป็นสิ่งที่แฟนฟุตบอลไทยส่วนใหญ่จะคิดเห็นตรงกันว่าเป็นลีกฟุตบอลที่เน้นเรื่องแท็คติกเป็นพิเศษ ชุดความคิดของนักเตะและทักษะที่ค้าแข้งในลีกนี้มักจะเป็นจุดเด่นมาโดยตลอด 

สิ่งที่พวกเขาเป็น ตอบโจทย์เรื่องความเร็วของเกม ซึ่งว่ากันว่านี่คือลีกฟุตบอลที่เล่นด้วยจังหวะที่ช้ากว่าพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และ บุนเดสลีกา เยอรมนี แต่ความจริงที่ยืนยันด้วยตัวเลขและสถิติมันเป็นแบบที่พวกเราคิดกันหรือเปล่า ? 

สิ่งที่กำหนดว่าเกมลีกฟุตบอลนั้นเร็วหรือไม่เร็วแค่ไหนมีตัวชี้วัดหลายอย่าง ประการแรกคือเรื่องของการจ่ายฟุตบอลแบบเท้าสู่เท้า การเล่นฟุตบอลแบบไดเร็กต์สวนกลับในจังหวะฉาบฉวย และสถิติการครองบอลก่อนที่จะจบที่การยิงประตูว่าพวกเขาใช้เวลาเฉลี่ยเท่าไหร่จากจุดเริ่มต้นถึงจุดจบ

ข้อมูลอ้างอิงจากหลายแหล่งที่มาระบุตัวเลขของสิ่งที่กล่าวมาของฟุตบอลอิตาลีค่อนข้างชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และพบว่าภาพรวมจากสถิติตัวเลขก็ยืนยันแนวคิดที่ว่าฟุตบอล เซเรีย อา เป็นลีกที่มีจังหวะการเล่นที่เยอะ หรือจะพูดให้ถูกก็คือพวกเขาเน้นการเข้าทำที่มีจังหวะจะโคน มากกว่าการเล่นชิงจังหวะ และโต้กลับกันไปมาจากการเคลื่อนบอลไม่กี่จังหวะ 

สถิติบอกว่า ใน เซเรีย อา มีสถิติการเล่นฟุตบอลแบบ direct‑attacks (เล่นไม่กี่จังหวะจากปากประตูฝั่งตัวเองไปฝั่งตรงข้าม) เฉลี่ยต่อเกมอยู่ที่ 4.5 ครั้ง น้อยกว่า บุนเดสลีกา (5.7 ครั้ง) และพรีเมียร์ลีก (5.6 ครั้ง) 

นอกจากนี้ยังมีสถิติที่บอกว่า ฟุตบอลอิตาลีมีสถิติ fast-break shots (ตัดบอล สวนกลับ และจบด้วยการยิงประตูจากความผิดพลาดของคู่แข่งแบบไม่ได้ตั้งตัว) ต่ำกว่า บุนเดสลีกา ที่เฉลี่ยมีเกมละ 2.1 ครั้ง และ พรีเมียร์ลีก เฉลี่ย 1.77 ครั้ง โดยฝั่ง เซเรีย อา มีการทำ fast-break shots ตกอยู่ที่ 1.5 ครั้งต่อเกมเท่านั้น 

สถิติดังกล่าวไม่ได้บอกว่า เซเรีย อา เป็นลีกที่เน้นเกมรับมากเป็นพิเศษแบบที่หลายคนเชื่อกัน แต่มันคือลีกที่เน้นเรื่องความแน่นอน และจังหวะฟุตบอลที่แม่นยำเป็นพิเศษ ไม่ปล่อยให้โอกาสครองบอลแต่ละครั้งเสียไปโดยง่าย ๆ นอกจากนี้สถิติหลายข้อยังบอกถึงสไตล์ฟุตบอลใน เซเรีย อา ที่เปลี่ยนไปจาก "คาเตนัคโช่" ที่หลายคนคุ้นเคย เป็นฟุตบอลที่มีความยืดหยุ่นในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น

ฟาบิโอ คาเปลโล่ ตำนานผู้คร่ำหวอดและเคยคุมทีมใหญ่ ๆ ในเซเรีย อา มาเกือบครบทุกทีม เพิ่งพูดเรื่องนี้ไปเมื่อช่วงฟุตบอล ยูโร 2024 ที่ผ่านมา เขาอธิบายฟุตบอลอิตาลีได้อย่างเห็นภาพว่า "เราสอนนักเตะโดยเน้นที่กลยุทธ์ ไม่ใช่เทคนิค โค้ชชาวอิตาลีหลายคนมี เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เป็นแบบอย่าง แต่ว่าเป็นเป๊ปเวอร์ชั่นเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งในตอนนี้เป๊ปได้พัฒนาขึ้นแล้ว การครองบอลโดยไม่มีแนวคิดและความเข้าใจถือว่าไม่ใช่ฟุตบอลที่ดี ทำให้นักเตะอิตาลีมักไม่เลือกเล่นแบบเสี่ยง ๆ" 

สิ่งที่ คาเปลโล่ พูดกำลังค่อย ๆ ถูกพัฒนาขึ้นในเวลานี้ โดยในฤดูกาล 2024-25 ทีมในเซเรีย อา กำลังเปลี่ยนมาใช้แท็คติกเล่นเกมรุกที่เคลื่อนไหวเยอะและลื่นไหลมากขึ้น โดยส่วนประกอบของนักเตะในแนวรุกของแต่ละทีม มักประกอบไปด้วยคนหนุ่มที่มีสปีดความเร็วเป็นคนเปลี่ยนจังหวะเกม เลิกเน้นที่กองหน้าแบบดั้งเดิมแล้วหันมาใช้วิธีการรุกที่คล่องตัวมากขึ้นโดยใช้การเล่นปีกหรือวิงแบ็ก ส่วนในแดนหน้าเน้นการเล่นแบบสลับตำแหน่งกัน

อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการทางแท็คติกของ เซเรีย อา เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางการเล่นของลีก มีความสมดุลในการเล่นเกมรุก-รับ และทีมต่าง ๆ ปรับตัวให้ฟุตบอลของตัวเองสอดคล้องกับโมเดิร์นฟุตบอลมากขึ้นเพื่อรับมือกับคู่แข่งในระดับเกมยุโรป ซึ่งนั่นเองทำให้ช่วงหลังเราได้เห็นทีมจากลีกอิตาลี เข้าไปถึงรอบลึก ๆ ในฟุตบอลยุโรปทั้ง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก และ ยูฟ่า คอนเฟอเรนซ์ ลีก 

แก่นของฟุตบอลเซเรีย อา ในตอนนี้คือหลาย ๆ ทีมเน้นสมดุลของเกมเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เหล่านักเตะตัวเก๋าที่ดูเหมือนจะโรยราจากลีกอื่น ๆ กลายเป็นกุญแจสำคัญของหลายทีม ๆ และหลายคนคือนักเตะแถวหน้าของลีกด้วย 

 

ความสำคัญของม้าแก่ 

The Athletic และ Corriere dello Sport วิเคราะห์ว่า จังหวะของเกมใน เซเรีย อา ช้ากว่าลีกใหญ่ในยุโรป ทำให้เกมขึ้นอยู่กับการยืนตำแหน่งและความเข้าใจเกม มากกว่าพละกำลังหรือความเร็วเฉพาะตัว ... เมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้ คุณจะเริ่มเห็นภาพแล้วว่าทำไมข้อจำกัดเรื่องร่างกายของกลุ่มนักเตะอายุเยอะ ๆ จึงไม่เป็นปัญหานัก เมื่อพวกเขามาเล่นที่นี่ ซึ่งเหตุผลก็เพราะแท็คติกคือ "แก่นที่แท้จริง"

เรื่องนี้กุนซือชาวอิตาเลียนหลายคนเคยออกมาพูดถึงเรื่องนี้ อาทิ มัสซิมิเลียโน่ อัลเลกรี (เอซี มิลาน), เมาริซิโอ ซาร์รี่ (ลาซิโอ) และ จานปิเอโร่ กาสเปรินี่ (โรม่า) บอกว่าพวกเขาชื่นชอบนักเตะที่มีความสามารถในการอ่านเกม มากกว่านักเตะที่ที่ความสามารถในการเร่งสปีด ซึ่งทำให้เราเห็นนักเตะอายุเยอะมากมายเป็นตัวหลักในทีมเหล่านี้ พวกเขายังอยู่ในแผนการทำทีมได้แม้จะอายุเกิน 34 ปีแล้วก็ตาม 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตเราได้เห็นนักเตะอย่าง จอร์โจ คิเอลลินี่, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช และ ฟรานเชสโก้ ต็อตติ แสดงให้เห็นในการเล่นฟุตบอลระดับสูงในจังหวะที่อายุเข้าสู่ช่วง 30 ตอนปลาย 

ขณะที่ในปัจจุบัน เฮนริก มคิตาร์ยาน ที่ล้มเหลวกับพรีเมียร์ลีก กลับมาเฉิดฉายในระบบการเล่นของ อินเตอร์ มิลาน ในยุค ซิโมเน่ อินซากี้ ที่ตัว อินซากี้ บอกเองว่า สาเหตุที่ มคิตาร์ยาน ยังเป็นตัวหลักในแดนกลางของทีมได้เป็นเพราะประสบการณ์ ที่ทำให้เขาสามารถรับบทบาทตามแท็คติกที่หลากหลายโดยไม่ต้องใช้แรงตลอดเวลา 

ซึ่งในลีกอิตาลี เราจะได้เห็นตำแหน่งอย่าง เรจิสต้า (ตำแหน่งจอมทัพในแดนกลางแบบ อันเดรีย ปิร์โล่) หรือ เตรควอติสต้า (ตำแหน่งจอมทัพเกมรุกแบบ ต็อตติ) ขณะที่ในเกมรับก็มีหลายทีมที่ใช้ระบบกองหลัง 3 คน ทำให้มี 1 ที่ว่างให้กับนักเตะจอมเก๋าประสบการณ์สูงลงมาเป็นผู้บัญชาเกมรับเหมือนที่ ฟรานเชสโก้ อแชร์บี้ หรือ สเตฟาน เดอ ฟราย แสดงให้เห็นกับ อินเตอร์ มิลาน ในซีซั่น 2024-25 ที่ผ่านา 

นักเตะอายุเยอะมาพร้อมประสบการณ์อันเป็นเรื่องที่เงินหาซื้อไม่ได้ ฟุตบอลในอิตาลีต้องการนักเตะแบบพวกเขา คนที่สามารถเข้าใจทุกอย่างได้โดยง่าย ไม่ต้องบอกต้องสอนกันตลอดเวลา พวกเขาสามารถตัดสินใจในจังหวะต่าง ๆ ในสนามได้ทันทีตามสัญชาตญาณ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่เราได้เห็นอดีตกองกลางระดับท็อปอย่าง ลูก้า โมดริช และ เควิน เดอ บรอยน์ มาที่นี่ 

แม้พละกำลังของนักเตะเหล่านี้จะถดถอย แต่สมองและไอคิวฟุตบอลของพวกเขายังเหลือกินเหลือใช้ การเล่นฟุตบอลที่คุมจังหวะใช้ประสบการณ์ และการอ่านเกมเป็นหลักของ เซเรีย อา เหมาะสมอย่างที่สุดสำหรับนักเตะอายุเยอะ ๆ โดยเฉพาะในนักเตะในตำแหน่งกองกลาง

มีการวิเคราะห์โดย Total Football Analysis ในเดือนมกราคม 2025 ที่ผ่านมาในหัวข้อ "ทำไมผู้เล่นอายุเกิน 30 ปี จึงเป็นมิดฟิลด์ตัวเก่งของแต่ละทีมใน เซเรีย อา" ซึ่งชื่อนักเตะที่ถูกพูดถึงในบทความล้วนมีสถิติที่โดดเด่นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น มาร์เทน เดอ รูน จาก อตาลันต้า, ฮาคาน ชาลาโนกลู, มิลาน บาเดลจ์, อองเดรย์ ดูด้า, ริคาร์โด้ ฟรอยเลอร์, สตานิสลาฟ โลบอตก้า และ มิเกล เบชิโน่ เป็นต้น

โดยในรายของ เดอ รูน นั้นเป็นนักเตะอายุเกิน 30 ปี ที่มีสถิติการมีส่วนร่วมในเกมกับของทีมมากเป็นอันดับ 1 ของเซเรีย อา ตามด้วยนักเตะอย่าง เซร์กี้ โรแบร์โต้ (33 ปี) ส่วน ชาลาโนกลู (31 ปี) เป็นนักเตะที่มีส่วนร่วมกับการครองบอลของทีมมากที่สุด ทั้งเรื่องอัตราการจ่ายบอลทั้งแบบจำนวนครั้ง และอัตราการจ่ายบอลสำเร็จ 

ไม่ว่าจะรับหรือรุก ทุกอย่างล้วนมีแท็คติกที่สมดุลครอบอยู่ ดังนั้นกลุ่มนักเตะอายุเยอะ โดยเฉพาะกลุ่ม 30+ จึงยืนหยัดเป็นตัวหลักของทีมในเซเรีย อา แทบทั้งสิ้น 

 

วัฒนธรรมการให้คุณค่ากับ "พี่ใหญ่" 

นอกจากเรื่องเชิงแท็คติกแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ทีมจาก เซเรีย อา ไม่มีปัญหาในการซื้อตัวนักเตะอายุเยอะเข้ามาอยู่ในทีม สิ่งนั้นก็คือ "วัฒนธรรมที่ให้คุณค่านักเตะอาวุโส" ในอิตาลี ที่แต่ละทีมล้วนมีตัวอย่างให้เห็นแตกต่างกันออกไป

เหล่านักเตะตัวเก๋าจะได้รับความเคารพในห้องแต่งตัวในฐานะ  "ผู้นำ", "ตัวอย่างของมืออาชีพ", และ "ผู้มีความเข้าใจแท็คติก" ซึ่งฝังรากลึกในวงการลูกหนังอิตาลีมานาน ไล่เรียงตั้งแต่ยุคเก่า ๆ มาจนถึงยุคนี้ที่มีตัวอย่างให้เราได้เห็นชัด ๆ อย่าง เปาโล มัลดินี่, ต็อตติ และ ซลาตัน ที่เล่นให้กับทีมจนอายุ 40 ปี 

นักเตะอายุมากในลีกอิตาลีมักเป็นต้นแบบในหลาย ๆ เรื่อง ทั้ง วินัยการกิน, การพักผ่อน, การฝึกซ้อม สโมสรจึงมองพวกเขาเป็น "ครูในห้องแต่งตัว" สำหรับดาวรุ่ง ยกตัวอย่างเช่น ซลาตัน ในช่วงวัย 39-41 ปีที่เล่นให้กับ มิลาน และพาทีมคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาล 2021-22 ที่แม้จะได้ลงเล่นน้อย แต่ก็ถูกเก็บไว้เป็นผู้นำห้องแต่งตัว ซึ่งโค้ชและเพื่อนร่วมทีมยืนยันว่าเป็น "แรงกระตุ้นสำคัญ"

เจมส์ ฮอร์นคาสเซิ่ล นักข่าวจาก The Athletic แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า "เซเรีย อา อิตาลี คือสวรรค์ของกลุ่มนักเตะอายุเยอะ พวกเขามีความสำคัญต่อทีมมากกว่านักเตะดาวรุ่งด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เล่นในเกมรับ และในตำแหน่งมิดฟิลด์"

"ความละเอียดอ่อนทางแท็คติก ทำให้ม้าแก่เหล่านี้เป็นส่วนเติมเต็มของทีมได้เป็นอย่างดี ความเข้าใจเกมและความเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจของพวกเขายังแสดงออกมาให้เห็นเสมอ แม้พวกเขาจะไม่สามารถวิ่งได้เหมือนเคยก็ตาม" 

ท้ายที่สุดแล้วมีคำกล่าวว่า "เวลาคือศัตรูของนักกีฬาชั้นยอด" เพราะตัวตนของพวกเขาขึ้นอยู่กับสิ่งมหัศจรรย์จากร่างกายที่ยอดเยี่ยม แต่ทุกอย่างล้วนเป็นเหรียญสองด้าน อายุที่เยอะขึ้นอาจจะพรากพละกำลังและความเร็วไป แต่ก็เพิ่มความเข้าใจและความละเอียดในด้านอื่น ๆ เข้ามา 

พวกกลุ่มนักเตะตัวเก๋าจะถูกประสบการณ์สอนให้ใส่ใจตัวเองมากขึ้น พวกเขาจะสังเกตตัวเองในเช้าวันรุ่งขึ้นจากการแข่งขันหรือการซ้อมว่าตัวเองได้รับบาดเจ็บตรงไหน มีอะไรต้องดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้พวกเขายืนหยัดในช่วงปลายของอาชีพค้าแข้งได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ การได้ใช้ห้องเปลี่ยนแต่งตัวร่วมกับเด็ก ๆ ในทีม ก็เป็นเหมือนกระจกส่องตัวเองในทุก ๆ วัน มันจะทำให้พวกเขาถามตัวเองว่าพวกเขากำลังเจอคลื่นลูกหลังไล่เข้ามา และมันจะทำให้พวกเขาปฏิบัติตัวในรูปในรอย เพื่อทำให้ตัวเองยังคงมีความสำคัญต่อทีมไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม 

 

แหล่งอ้างอิง

https://theanalyst.com/articles/inter-serie-a-title-stats-2023-24
https://www.reddit.com/r/soccer/comments/1dlqq21/fabio_capello_we_teach_tactics_not_technique_many/?utm_source=chatgpt.com
https://futbolfrenz.com/serie-as-tactical-evolution-balancing-attack-and-defense/?utm_source=chatgpt.com
https://totalfootballanalysis.com/data-analysis/serie-a-202425-central-midfielders-over-30-data-analysis-statistics?utm_source=chatgpt.com
https://keghart.org/old-but-gold-mkhitaryan-shines/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ