Feature

กล้า ท้า อันตราย : Jungle Ultra Marathon ศึก "วิ่งเพื่อรอด" ในป่าแอมะซอน | Main Stand

เป้าหมายในการออกกำลังกายของแต่ละคนคืออะไร ? บ้างก็เพื่อพัฒนาร่างกายไปอีกขั้น บ้างก็ออกเพื่อการรักษาสุขภาพให้มั่นคง แต่สำหรับบางคน คือเพื่อความท้าทายล้วน ๆ ผ่านการเล่นกีฬาแบบสุดโต่งและอันตราย ชนิดที่ไม่น่ามีกีฬาแบบนี้อยู่จริง 

 


Jungle Ultra Marathon หรือการวิ่งมาราธอนในป่าดิบชื้นคือหนึ่งในนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่กีฬาเอ็กซ์ตรีมอันผาดโผนแบบการกระโดดร่มหรือการเล่นเซิร์ฟ แต่การวิ่งเทรลระยะทาง 230 กิโลเมตร ที่ผนวกกับเส้นทางอันหฤโหดในป่าดิบชื้นแอมะซอน ก็สามารถท้าทายผู้เข้าร่วมได้ไม่แพ้กีฬาเอ็กซ์ตรีมชนิดอื่น ๆ เป็นความสุดโต่งที่ปราศจากความผาดโผน แต่กลับเต็มไปด้วยอุปสรรคจากสภาพอากาศ เส้นทาง ที่ต้องวัดกันด้วยสภาพของร่างกายและจิตใจล้วน ๆ 

เส้นทางการวิ่งสุดโหดนี้เป็นอย่างไร ? ประกอบไปด้วยอุปสรรคอะไรบ้าง 

ติดตามได้ใน Main Stand

 

กีฬาสุดโหดของคนเหล็ก 

กีฬา "อัลตร้ามาราธอน" (Ultra Marathon) หรือชื่ออื่น ๆ อย่าง "อัลตร้ารันนิ่ง" (Ultra Running) และ "อัลตร้าดิสแทนซ์" (Ultra Distance) คือการวิ่งมาราธอนประเภทหนึ่งที่สมชื่อ "อัลตร้า" หรือที่แปลว่า "สุดขีด" เป็นการวิ่งมาราธอนที่ต้องอาศัยการเตรียมตัว ความอดทน และความแข็งแรงของจิตใจมากกว่ามาราธอนแบบปกติ เพราะระยะทางที่ยาวกว่าและเส้นทางที่ท้าทายกว่ามาราธอนแบบทั่วไป และมันอาจทำให้ร่างกายและจิตใจของผู้เข้าร่วมอ่อนแอลงก่อนจะถึงเส้นชัยได้ 

ประวัติความเป็นมาของอัลตร้ารันนิ่งได้รับการบันทึกอย่างเป็นลายลักษ์อักษรและเริ่มเป็นที่จับตามองจริง ๆ เมื่อช่วงศตวรรษที่ 19 ในฐานะกิจกรรมของ "คนบ้าระห่ำ" และยังไม่ได้ถูกจดจำในฐานะกีฬาประเภทหนึ่งด้วยซ้ำ เมื่อชายที่มีชื่อว่า "เอ็ดเวิร์ด เพย์สัน เวสตัน" ผู้ประกอบอาชีพ "นักเดิน" ชาวอเมริกัน เดินข้ามรัฐในปี 1861 จากเมืองบอสตัน ไปสู่ วอชิงตัน ดีซี เป็นระยะทาง 769 กิโลเมตร เพื่อจะไปเข้าร่วมพิธีสาบานตนการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น พร้อมกับลงพนันเอาไว้ และแม้ว่าเขาจะแพ้พนันให้กับลินคอล์นก็ตาม เพราะไปไม่ทันพิธีดังกล่าว แต่การกระทำครั้งนี้ของเขาก็ส่งผลให้การเดินระยะไกลเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนเป็นครั้งแรก

นำไปสู่การวิ่งทางไกลในรูปแบบของการแข่งขัน ที่เริ่มมีให้เห็นจริง ๆ เมื่อทศวรรษ 1920s จากการจัดกิจกรรมอัลตร้ามาราธอนแบบจริงจังในประเทศแอฟริกาใต้ ในการแข่งขันที่ชื่อ "คอมเรดส์ มาราธอน" ในจังหวัด KwaZulu-Natal จนกลายเป็นการแข่งขันอัลตร้ามาราธอนที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก และได้รับความนิยมจากสื่อและผู้คนจำนวนมากในฐานะกีฬาเพื่อความบันเทิงมาตั้งแต่นั้น 

โดยทั่วไป การวิ่งมาราธอน แบบปกติจะมีระยะทางอยู่ 42.195 กิโลเมตร และการวิ่ง ฮาล์ฟมาราธอน หรือวิ่งแบบครึ่งหนึ่งของมาราธอนปกติจะอยู่ที่ 21.0975 กิโลเมตร แต่กับ อัลตร้ามาราธอน จะมีระยะทางการวิ่งมากถึง 50 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้นมาจากเดิมอีกประมาณ 8 กิโลเมตร และในบางครั้งก็สามารถลากยาวไปได้ถึง 100 กิโลเมตร และมากกว่า 100 กิโลเมตร 

แน่นอนว่าการวิ่งในระยะทางไกลขนาดนี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ภายใน 1 วัน การวิ่งอัลตร้ามาราธอนจึงจำเป็นต้องอาศัยการหยุดพักและมักเป็นการแข่งที่เรียกว่า "สเตจ เรซ" (Stage Races) กล่าวคือ ภายใน 1 วัน ผู้เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งจะต้องวิ่งตามเส้นทางหรือระยะทางที่กำหนดเอาไว้ หลังจากที่หยุดพักในจุดหนึ่งหรือในบางครั้งการแข่งขันอัลตร้ามาราธอนก็มีการกำหนดเกณฑ์การแข่งขันเป็นระยะเวลาแทน บางครั้งก็เป็นการวิ่ง 6 ชั่วโมง, 12 ชั่วโมง หรือมากถึง 24 ชั่วโมง เป็นการวิ่งในระยะสั้นที่มีจุดพักให้ดื่มน้ำอยู่บ่อย ๆ หลังจากวิ่ง 1 รอบ 

อย่างไรก็ตามหนึ่งในการแข่งขันอัลตร้ามาราธอนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือการเข้าร่วมในประเภทเส้นทางสุดโหดตามธรรมชาติ อย่างการเผชิญความหนาวสุดขั้วในพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็งบริเวณทวีปอาร์กติก หรือท่ามกลางแดดอันร้อนระอุในทะเลทราย 

รวมถึงในป่าดิบชื้นแอมะซอนที่เต็มไปด้วยฝน แมลง และความชื้น ในการแข่ง Jungle Ultra Marathon 

 

กลางดงพงไพรี 

ท่ามกลางเส้นทางการวิ่งอัลตร้ามาราธอนอันหลากหลาย ไล่มาตั้งแต่พื้นที่น้ำแข็ง อย่างการแข่ง "ยูคอน อาร์กติก อัลตร้า" (Yukon Arctic Ultra) พื้นที่ป่าหิมะในแคนาดาหรือในทะเลทรายในการแข่ง "อัลมามูน อัลตร้า มาราธอน" (Al-Marmoom Ultramarathon) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ "จังเกิ้ล อัลตร้ามาราธอน" (Jungle Ultra Marathon) ในพื้นที่บริเวณป่าดิบชื้นแอมะซอนก็ถูกจัดให้อยู่เส้นทางการแข่งที่หฤโหดไม่แพ้กันกับพื้นที่อื่น ๆ อีกทั้งมันยังเคยถูกยกให้เป็นหนึ่งในการแข่งอัลตร้ามาราธอนที่ "หิน" ที่สุดในโลก (The World's Toughest Endurance Race) จากการโหวตของ CNN ในปี 2012 

การแข่งอัลตร้ามาราธอนในป่าดิบชื้นที่โด่งดังนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ที่ ได้แก่ พื้นที่ของป่าส่วนหนึ่งในประเทศบราซิล และอีกส่วนหนึ่งในประเทศเปรู 

การแข่งขันอัลตร้ามาราธอนในประเทศบราซิล ที่เคยจัดขึ้นในปี 2020 เริ่มต้นในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทาปาโฮส (Tapajós National Forest) ในรัฐปารา ที่มีพื้นที่ราว 1.3 ล้านเอเคอร์ ผู้ที่ลงสมัครการแข่งขันอัลตร้ามาราธอนในรายการนี้จะต้องเคลื่อนที่ไปตามเส้นทาง 127 กิโลเมตรแบบ 4 สเตจ และ 254 กิโลเมตรแบบ 6 สเตจ 

เส้นทางในป่าประกอบไปด้วยพื้นที่บริเวณหนองน้ำ แม่น้ำที่ไหลเชี่ยว และทางลาดชัน ท่ามกลางอุณหภูมิราว 37 องศาเซลเซียส รวมไปถึงความชื้นในอากาศปริมาณมากที่อาจก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลียจากความร้อน อาการขาดน้ำ รวมไปถึงพืชและสัตว์มีพิษ ที่อาจพบเจอได้ระหว่างทาง การลุยอัลตร้ามาราธอนในเส้นทางนี้จึงเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยแรงใจมากพอ ๆ กับแรงกาย

เช่นเดียวกันกับอีกเส้นทางหนึ่งที่กำลังจะมีการจัดการแข่งขันขึ้นในเดือนมิถุนายนของปีนี้ ในอุทยานแห่งชาติมานู พื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าดิบชื้นแอมะซอนที่อยู่ในภาคพื้นทวีปของประเทศเปรู ได้รับการจดจำว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ในปี 1987 ผู้เข้าแข่งขันต้องลุยการวิ่ง 5 สเตจ รวมเป็นระยะทาง 230 กิโลเมตร อันประกอบไปด้วยหุบเขาที่ปกคลุมไปด้วยเมฆ ส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอนดีส ไปจนถึงแม่น้ำมาเดรา เด ดิโอส ลุ่มแม่น้ำที่ประเทศโบลิเวียและเปรูใช้ร่วมกัน พร้อมความชื้นในอากาศที่สูง ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ๆ เย็น ๆ ด้วยอุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส 

จากบันทึกการวิ่งจังเกิ้ลอัลตร้ามาราธอนในปี 2019 ที่ผ่านมาของเส้นทางนี้ พบว่าอุปสรรคของนักวิ่งที่อันตรายที่สุดคือสภาพอากาศ เพราะความที่เป็นป่าดิบชื้นจึงทำให้มีฝนตกชุกตลอดเวลาและในขณะเดียวกันที่สภาพแวดล้อมในป่ามีความชื้นในอากาศสูง จึงทำให้นักวิ่งส่วนมากต้องเตรียมพร้อมกับเรื่องระบบทางเดินหายใจเป็นสำคัญ และถึงแม้ว่าจะมีแดดส่องลงบ้างในบางเวลา แต่มันก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

เมื่อแดดหมดลง นักวิ่งแต่ละคนต้องเจอกับอุณหภูมิที่ลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากจะต้องแข่งกับนักวิ่งด้วยกันแล้ว แต่ละคนยังต้องแข่งกับเวลาเพื่อไปให้ถึงจุด Checkpoint เพื่อตั้งแคมป์ให้เร็วที่สุดด้วย โดยในปีดังกล่าวนักวิ่งที่ทำความเร็วได้ดีที่สุดในการจบสเตจแรกใน Top 10 มีชื่อว่า "มาร์ติน แลมเบิร์ตเซ่น" นักวิ่งชาวเดนมาร์ก ที่ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง 58 นาทีเท่านั้น ส่วนคนที่เข้าเส้นชัยในลำดับที่ 10 มีชื่อว่า "จอห์น แม็คเลียรี่" จากประเทศอังกฤษ ที่ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง 14 นาที (ผู้ที่ชนะการแข่งขันในปีนั้นได้แก่ มาร์ติน แลมเบิร์ตเซ่น) 

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่า การวิ่งอัลตร้ามาราธอนในป่าดิบชื้น เป็นเรื่องอันตรายที่ไม่ควรเอาตัวเข้าไปเสี่ยงแม้แต่น้อย แต่สำหรับนักวิ่งบางคนที่เตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี ก็สามารถหาสมดุลให้กับความโหดและความสนุกได้อย่างน่าประหลาด 

 

"กายพร้อม" ไม่เท่า "ใจพร้อม" 

แม้ว่าจะฟังดูน่ากลัวขนาดไหน แต่จริง ๆ แล้ว การเข้าไปวิ่งอัลตร้ามาราธอนในป่าก็อาจจะไม่ได้แย่อย่างที่คิด และสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็อาจเป็นเพราะ "การเตรียมตัวที่เหมาะสม" ของเหล่านักวิ่งเอง ที่ต้องใช้ความพร้อมในการเตรียมอุปกรณ์อย่าง อาหาร เปล มุ้งกันยุง มีด เข็มทิศ ไฟฉาย แท่งเกลือ (เพื่อคุมปริมาณอิเล็กโทรไลต์ หรือเกลือแร่ในร่างกายให้มีความสมดุลอยู่ตลอด) รวมถึงนกหวีดหรือชุดปฐมพยาบาลขนาดเล็ก ไม่ต่างอะไรจากการเดินป่า ประกอบกับความพร้อมของผู้จัดที่ต้องจัดสรรพื้นที่และน้ำตามจุดเช็คพอยต์ให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา จังเกิ้ลอัลตร้ามาราธอน ส่วนมากจึงจะผ่านไปอย่างราบรื่น 

นอกจากนี้ การ "วิ่ง" ที่ว่า จริง ๆ แล้วมันก็คือการเดินสลับวิ่งที่ต้องอาศัยความเร็วและความคล่องตัวในบริเวณนั้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งตลอดเวลา ดูตัวอย่างเรื่องความพร้อมได้จาก "อาร์มิน มาลูฟ" นักวิ่งจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ของเอสิคส์ ที่ลงแข่งจังเกิ้ลอัลตร้ามาราธอนในประเทศเปรูเมื่อปี 2021

"ผมเป็นคนที่มักจะอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติและมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ" เขาเผยกับนิตยสาร EDGAR ในปีที่ผ่านมา 

"จังเกิ้ลอัลตร้านั้นถูกยกให้เป็นการแข่งขันที่โหดที่สุด ทั้งทางกายและทางใจ ไม่ว่าที่ไหนก็ตามในโลก เป็นเวลา 5 วัน ในป่าแอมะซอน รวมระยะทาง 230 กิโลเมตร มันชื้นและมีอุณหภูมิตั้งแต่ 10-30 องศา "

"เส้นทางเป็นป่าทึบ ทีมงานจะเข้าไปก่อนผู้แข่งขัน และจะคอยปิดท้ายผู้แข่งขันคนสุดท้ายเสมอ มันเต็มไปด้วยโคลนและแม่น้ำประมาณ 70 แห่ง นี่ยังไม่รวมสัตว์ป่าที่ผมเจอ มีตั้งแต่แมงมุม มดไฟ งูอนาคอนดา เสือจากัวร์ และอีกเพียบ" 

มาลูฟเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่เขาได้รับจากการวิ่งในปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการเปิดเผยภาพในบทสัมภาษณ์ของเขา ปรากฏให้เห็นอาหารจำนวนมากที่เขาต้องเตรียมเพื่อไปเข้าร่วมการแข่งครั้งนี้ ประกอบไปด้วยเวย์โปรตีน โปรตีนบาร์จำนวนมาก ถั่ว เพื่อให้มีพลังงานเหลือพอสำหรับการวิ่งให้ได้ตลอดรอดฝั่ง 

"คุณต้องพกทุกอย่างในกระเป๋าน้ำหนัก 11-12 กิโล ทั้ง อาหาร เครื่องนอน เสื้อผ้า ชุดปฐมพยาบาล ทั้งหมดอยู่ในนั้น สิ่งเดียวที่คุณจะได้รับจากจุดเช็คพอยต์คือน้ำ "

"นอกเหนือจากเรื่องทางกายภาพในระยะทาง 230 กิโลเมตร สิ่งที่คุณต้องเตรียมพร้อมคือเรื่องของความเครียดทางใจที่ต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตรายและพุ่งเป้าไปที่เป้าหมาย เพื่อที่จะจบการแข่งขันนี้ให้ได้ คุณจะต้องหาสมดุลระหว่างความอ่อนล้าทางกายและความสงบภายในใจ เพื่อที่จะได้เพลิดเพลินไปกับการแข่งขันครั้งนี้ด้วย"

ในปีนั้น มาลูฟ เป็นหนึ่งใน 19 จาก 53 คนที่สามารถเข้าเส้นชัยได้ในเวลาที่กำหนด โดยเขาใช้เวลาไปทั้งหมดรวม 57 ชั่วโมง 16 นาทีที่อยู่ในป่า เขาออกจากป่ามาพร้อมกับความภาคภูมิใจ ที่สามารถเอาชนะเส้นทางการวิ่งนี้ได้ด้วยเข่าที่เจ็บ 1 ข้าง เนื่องจากการวิ่งติดต่อกันเป็นเวลา 17 ชั่วโมง

บางทีเรื่องราวที่เราได้เรียนรู้จาก มาลูฟ อาจจะไม่ใช่เรื่องของการเตรียมพร้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของการฝึกสมาธิ เป็นการสร้างอะดรีนาลีนที่ได้จากความท้าทายโดยไม่ต้องผ่านอะไรโลดโผน แต่อาศัยแค่ใจและกายที่แข็งกล้า ผ่านแบบฝึกหัดที่ชื่อว่า จังเกิ้ลอัลตร้ามาราธอน  

 

WELCOME TO THE JUNGLE 

ตามที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้า จังเกิ้ล อัลตร้ามาราธอน แอมะซอนในอุทยานแห่งชาติมานู ประเทศเปรู กำลังจะกลับมาอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ปี 2022 พร้อมค่าสมัครที่แพงหูฉี่ เป็นเงินจำนวน 2,750 ปอนด์ หรือราว 122,000 บาท แต่มันก็อาจเป็นอีเวนต์สำคัญที่เหล่านักวิ่งอัลตร้าหลาย ๆ คนกำลังตั้งตารออยู่ก็เป็นได้ 

ในราคานี้ที่ไม่รวมค่าเครื่องบิน นักวิ่งจะได้รับการดูแลจาก Beyond the Ultimate ผู้จัดงานอย่างใกล้ชิด พร้อมกับทีมแพทย์และไกด์ผู้เชี่ยวชาญ ได้รับของที่ระลึกอย่างเสื้อ เหรียญ และรูปถ่ายจากช่างภาพของผู้จัด รวมไปถึงที่พักและอาหารในโรงแรมเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองหลังจากจบการแข่งขัน ผู้สมัครสามารถเลือกได้ว่าจะลงแข่งแบบทีม แบบคู่ หรือแบบเดี่ยว และผู้สมัครแต่ละคนต้องมีประวัติการวิ่งมาราธอนครั้งล่าสุดไม่เกิน 12 เดือน จึงจะสามารถลงแข่งขันได้ 

แม้ว่าจะฟังดูมีเงื่อนไขและมีราคาที่ต้องจ่ายเพื่อการเข้าร่วม แต่การพาตัวเองเข้าไปอยู่ในป่าดิบชื้นและต้องเดินทางตลอดเวลาให้ครบ 230 กิโลเมตร ก็ฟังดูเป็นประสบการณ์เหนือจริงที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ยากในชีวิตประจำวัน จึงไม่แปลกหากคนที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอจะเข้าไปร่วมแข่งขัน นอกจากนี้นักวิ่งเหล่านี้ก็คงเป็นคนที่มีแต่เงินไม่ได้ แต่ต้องมีวินัยและร่างกายที่แข็งแรงด้วย 

ที่สำคัญที่สุดก็คงเป็นเรื่องจิตใจ เพราะสุดท้ายแล้วการประคองร่างกายตัวเองเป็นเวลาหลายวันในป่าก็คงไม่สำคัญเท่าจิตใจที่อาจเริ่มอ่อนล้าและอาจจะค่อย ๆ ถูกกลืนกินเข้าไปในป่าจนท้อในที่สุดก็เป็นได้ 

 

แหล่งอ้างอิง :

https://en.wikipedia.org/wiki/Edward_Payson_Weston 
https://beyondtheultimate.co.uk/blog/jungle-ultra-2019-race-report-stage-one/ 
https://beyondtheultimate.co.uk/ultra/jungle-ultra/#!/2022 
https://marathonhandbook.com/what-is-ultra-running/ 
https://worldsmarathons.com/marathon/jungle-marathon 
https://www.advendure.com/index.php/english/item/4030-jungle-marathon-an-adventure-race-in-the-amazon-jungle 
https://www.asics.com/ae/en-ae/frontrunner/articles/running-the-jungle-ultra-marathon-amazon-rain-forest-in-peru 
http://www.therunningmate.run/history-ultra-running/

Author

ณัฐพล ทองประดู่

Memento Vivere / Memento Mori

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น