หากย้อนเวลากลับไปในช่วงกว่า 30 ปีที่แล้ว มีรัฐหนึ่งในยุโรปตะวันออกที่ทรงอิทธิพลต่อวงการกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล และ วอลเลย์บอล นั่นคือ ยูโกสลาเวีย อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายที่รัฐนี้ได้ล่มสลายไปอย่างไม่มีวันหวนกลับมา
Main Stand ขอพาย้อนอดีตไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นในโลกของกีฬา ว่าครั้งหนึ่ง ยูโกสลาเวีย นั้นเคยยิ่งใหญ่เพียงใด แล้วเหตุใดรัฐนี้จึงล่มสลาย พร้อมวิเคราะห์เชิงสมมติว่า ถ้าหากดินแดนแห่งนี้ยังดำรงอยู่ในแผนที่โลก จะพลิกโฉมวงการกีฬาอย่างไรบ้าง
จุดกำเนิดรัฐยูโกสลาเวีย
รัฐยูโกสลาเวีย ตั้งอยู่ในบริเวณคาบสมุทรบอลข่าน ประกอบไปด้วย 6 ประเทศได้แก่ ประเทศเซอร์เบีย โครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา สโลวีเนีย มอนเตเนโกร และ มาซิโดเนียเหนือ โดยประชากรมีชาติพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลาย ได้แก่ ชาวเซิร์บ โครแอต บอสเนียก และ สโลวีเนีย
การรวมหลายประเทศและหลายเชื้อชาติไว้ด้วยกัน ประกอบกับเป็นชาติที่พานพบสงครามนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้ยูโกสลาเวีย โดยเฉพาะหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เลือกปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
ผู้นำยูโกสลาเวียจำเป็นต้องมีทั้งความเด็ดขาดและวาทศิลป์เพื่อประนีประนอมกับขั้วการเมืองต่างๆ ซึ่งชายคนที่ผสมผสานศาสตร์เหล่านั้นได้อย่างยอดเยี่ยม คือ โยซีป บรอซ ตีโต้ โดยเขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียูโกสลาเวีย เป็นระยะเวลา 33 ปี (1953-1980) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองมีความสงบสุข พร้อมทั้งมีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจน และรัฐบาลยังได้สนับสนุนการกีฬาให้พัฒนาก้าวไกลไประดับโลก ในยุคสมัยของเขาถือว่าเป็น “ยุคทองแห่งยูโกสลาเวีย”
ราชากีฬาแห่งยุโรปตะวันออก : ยุคทองของยูโกสลาเวียใต้ร่มเงาตีโต้
ในช่วงทศวรรษ 1950-1980 ยูโกสลาเวียปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม อย่างไรก็ตาม ระบอบสังคมนิยมภายใต้ตีโต้ ไม่ได้เดินตามแนวทางของสหภาพโซเวียตที่เน้นควบคุมสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยรัฐบาลเบลเกรดให้อิสระแก่ปัจเจกบุคคลตามความเหมาะสม เรียกได้ว่าเป็นสังคมนิยมที่มีสิทธิเสรีภาพมากที่สุดในยุโรปตะวันออก
เนื่องด้วยสภาพสังคมที่เปิดกว้าง จึงเป็นการส่งเสริมศักยภาพของนักกีฬายูโกสลาเวียให้ก้าวถึงขั้นระดับโลกได้ โดยมี 3 สาเหตุหลักของการที่รัฐบาลของจอมพลตีโต้ ได้ริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศด้านกีฬา
ประการแรก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของชาติยูโกสลาเวีย ว่าเป็นชาติที่แข็งแกร่งด้านกีฬา ไม่แพ้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและโซเวียตรัสเซีย
ประการที่สอง ต้องการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการสร้างความสามัคคีและส่งเสริมเอกภาพภายในประเทศ หากประชาชนทุกคนกันมาร่วมใจกันเล่นกีฬาอย่างเป็นทีม ความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์จะทุเลาลงไป เป็นการตอกย้ำอัตลักษณ์ของยูโกสลาเวียในฐานะประเทศที่รวมหลากหลายเชื้อชาติแต่เป็นหนึ่งเดียวกันผ่านพลังของกีฬา
ประการสุดท้าย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจ หากชาวยูโกสลาเวียคนใดประสบความสำเร็จกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลกแล้ว พวกเขาจะเป็นหน้าเป็นตาเป็นสัญลักษณ์ให้แก่ประเทศ และรัฐยังสามารถสร้างรายได้จากผู้คนทั่วโลกที่จะเข้ามายังยูโกสลาเวียเพื่อชมกีฬาประเภทต่างๆ สร้างภาพลักษณ์ว่า ยูโกสลาเวีย คือเบอร์ 1 ด้านกีฬาแห่งยุโรปตะวันออก
เมื่อเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับข้างต้น รัฐจึงนำงบประมาณไปลงทุนกับศูนย์ฝึกซ้อมเยาวชน วิทยาศาสตร์การกีฬา สนามกีฬาที่มีมาตรฐานสูง และการศึกษาด้านพลศึกษาต่าง ๆ ส่งผลให้ความยอดเยี่ยมทางด้านกีฬาของยูโกสลาเวียโดดเด่นแซงหน้าหลายชาติในยุโรป
โดยหนึ่งในกีฬาที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดให้กับยูโกสลาเวียคือบาสเกตบอล ในช่วงทศวรรษ 1960-1980 ทีมบาสเกตบอลยูโกสลาเวียทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการคว้าแชมป์รายการใหญ่อย่าง FIBA World Championship ในปี 1970, 1978 และ คว้าเหรียญทองบาสเกตบอลโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1980 ณ กรุงมอสโก
นอกจากนี้ พวกเขายังได้เจียระไน 2 เพชรเม็ดงามแห่งวงการบาสเกตบอลยูโกสลาเวีย ให้ไปโลดแล่นใน NBA ได้แก่ ดราซาน เปโตรวิช ตำนานชู้ตติ้งการ์ดแห่งทีม บรูคลิน เน็ตส์ ความยอดเยี่ยมของเขาถูกสื่ออเมริกันขนานนามว่าเป็น “โมซาร์ทแห่งวงการบาสเกตบอลยุโรป” และ วลาเด ดิวัค ตำนานเซ็นเตอร์แห่งทีม ซาคราเมนโต คิงส์ ดีกรี NBA All Star 1 สมัย
นอกจากกีฬาบาสเกตบอลแล้ว ฟุตบอลก็ถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่ยูโกสลาเวียทำผลงานได้ดี ทีมชาติยูโกสลาเวียเคยไปไกลถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1962 ที่ ประเทศชิลี, รองแชมป์ยูโร 1960, 1968 และคว้าเหรียญทองฟุตบอลชาย ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1960 ณ กรุงโรม
สไตล์การเล่นของยูโกสลาเวียชุดนั้นได้รับฉายาจากสื่อว่า “บราซิลแห่งยุโรป” เพราะเต็มไปด้วยทักษะ การเล่นที่สวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ต่างจากทีมแซมบ้า อีกทั้งในระดับสโมสร ทีมชั้นนำของประเทศอย่าง เรดสตาร์ เบลเกรด และ ดินาโม ซาเกร็บ ได้ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนปั้นนักเตะสตาร์ชั้นนำระดับโลกอีกด้วย
โดยในปี 1976 ยูโกสลาเวียได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ฟุตบอลยูโร ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการจะยกระดับสถานะความเป็นสากลของชาติ โดยในการแข่งขันครั้งนี้ทีมชาติยูโกสลาเวียทำผลงานได้อย่างน่าจดจำ แม้จะทำได้เพียงคว้าอันดับ 4 แต่ก็แสดงให้ถึงความตั้งใจและศักยภาพของทีม โดยมีกองหน้าดาวเด่นของยูโกสลาเวีย คือ ดรากาน จายิช เป็นรองดาวซัลโวของทัวร์นาเมนต์นี้ด้วยการทำ 2 ประตู
และอีกหนึ่งหมุดหมายครั้งสำคัญของชาติ ในปี 1984 เมืองซาราเยโว ได้รับเกียรติให้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่โอลิมปิกฤดูหนาวจัดขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยม ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเปิดกว้างทางเสรีภาพของยูโกสลาเวียในยุคสงครามเย็น โดยครั้งนั้น ยูโกสลาเวียคว้าเหรียญรางวัลมาทั้งสิ้น 1 เหรียญเงินจาก ยูเร ฟรานโก ในการแข่งขันกีฬาสกีลงเขา (Alpine skiing)
ทั้งการจัดการแข่งขันฟุตบอลยูโรและโอลิมปิก ยูโกสลาเวียถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับคำชมจากนานาประเทศในด้านการจัดการความเรียบร้อยการต้อนรับ และกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของยูโกสลาเวียที่ดีในสายตาประชาคมโลก
ความสำเร็จทั้งหมดมาจากปรัชญาของประธานาธิบดีตีโต้ที่ว่า “ความสามัคคีของชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกีฬา เพราะกีฬาเป็นพื้นที่ของคนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกภาษา ที่ได้มาลงเล่นร่วมกันในสนามด้วยกัน ร่วมแพ้ ร่วมชนะ” ... หัวใจหลักของยูโกสลาเวีย คือความสมัครสมานสามัคคี พวกเขาชาติเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเซิร์บ โครแอต บอสเนียก หรือสโลวีเนีย แต่เมื่อสวมเสื้อตรายูโกสลาเวีย ทุกคนคือพี่น้องร่วมรบในสนามเดียวกัน
การล่มสลายของยูโกสลาเวีย : จากสนามฟุตบอลเปลี่ยนเป็นสนามรบ
แต่แล้วทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป หลังจากตีโต้ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1980 ความเป็นหนึ่งเดียวของชาติเริ่มสั่นคลอน ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ถูกกดไว้ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เกิดการประท้วงใหญ่ ประเทศต่าง ๆ ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของยูโกสลาเวียตัดสินใจแยกตัวไปเป็นรัฐอิสระ
จากสนามแข่งขันฟุตบอล แปรเปลี่ยนไปเป็นสนามรบ ในปี 1991 สโลวีเนีย และ โครเอเชีย ประกาศเอกราช ตามมาด้วย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา กับ มาซิโดเนีย ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นความรุนแรงแบบสุดขั้ว โดยเฉพาะในพื้นที่บอสเนีย ที่เป็นหนึ่งในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic cleansing) ที่โหดร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 20
ด้วยความเลวร้ายของวิกฤตการณ์ดังกล่าว ทาง สหประชาชาติ และ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ จึงเข้าแทรกแซง ด้วยการผลักดันให้ชาวเซิร์บยุติการสังหารชาวบอสเนีย นำมาสู่ข้อตกลงเดย์ตัน (Dayton Agreement) ทำให้สถานการณ์ในคาบสมุทรบอลข่านกลับสู่สภาวะปกติ
จากสนามรบสู่สนามกีฬา : อดีตยูโกสลาเวียกลับมาเฉิดฉายในเวทีกีฬา (อีกครั้ง)
แม้ยูโกสลาเวียล่มสลายไปนานกว่า 3 ทศวรรษ แต่สิ่งหนึ่งคงปรากฏในสายตาชาวโลกอยู่เสมอก็คือ “พรสวรรค์ด้านกีฬา” ของผู้คนจากดินแดนแห่งนี้ ในฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส แฮนด์บอล และวอลเลย์บอล ... โดยในช่วง 10 ปีหลังสุด มีนักกีฬาจากพื้นที่ยูโกสลาเวียเดิม ก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของโลกกีฬามากมาย
ลูก้า โมดริช (Luka Modrić) กองกลางชาวโครเอเชียระดับโลกแห่งเรอัล มาดริด เขาคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกทั้งหมด 6 สมัย และนำทีมชาติโครเอเชียทะลุเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกในปี 2018 ที่รัสเซีย และคว้าอันดับสามในฟุตบอล 2022 ที่กาตาร์ และเขายังได้รางวัลบัลลงดอร์ในปี 2018 อีกด้วย
เอดิน เชโก้ (Edin Džeko) ตำนานกองหน้าชาวบอสเนีย ด้วยดีกรีแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ 2 สมัยกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และแชมป์บุนเดสลีกา เยอรมัน 1 สมัยกับ โวล์ฟสบวร์ก
ลูก้า ดอนชิช (Luka Dončić) นักบาสเกตบอลตำแหน่งพอยต์การ์ด/ชู้ตติ้งการ์ด แห่งทีม ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส จากสโลวีเนีย ผู้ก้าวเข้าสู่ NBA ด้วยวัยเพียง 19 ปี และกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดของลีก เขาเป็นเหมือนตัวแทนของรุ่นใหม่จากยุโรปที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าวงการบาสเกตบอลสหรัฐอเมริกา
นิโคลา โยคิช (Nikola Jokić) นักบาสเกตบอลตำแหน่งเซนเตอร์ แห่งทีม เดนเวอร์ นักเก็ตส์ จากเซอร์เบีย คว้าแชมป์ NBA ปี 2023 พร้อมคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า (Finals MVP) ในปีเดียวกัน
โนวัค โยโควิช (Novak Djokovic) จากเซอร์เบีย หนึ่งในนักเทนนิสชายเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยจำนวนแชมป์แกรนด์สแลม 24 รายการ เหรียญทองโอลิมปิก ปารีส 2024 และครองอันดับ 1 ของโลกยาวนานกว่าคู่แข่งทุกคนในยุคของเขา
แต่ความเก่งกาจของอดีตชาติยูโกสลาเวียไม่ได้มีเพียง 3 กีฬานี้เท่านั้น หากเรามองไปในแต่ละสาขา จะพบชื่อของนักกีฬาระดับโลกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทีมแฮนด์บอลเซอร์เบีย ทีมวอลเลย์บอลสโลวีเนีย
ถ้ายูโกสลาเวียยังคงเป็นหนึ่งเดียวในปัจจุบัน ?
จากการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ เราสามารถสรุปได้ว่า ถ้ายูโกสลาเวียยังคงรวมกันเป็นรัฐเดียวจวบจนถึงปัจจุบัน ความสามารถด้านกีฬาของพวกเขาอาจกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจอันดับต้น ๆ ของโลกกีฬาได้อย่างแน่นอน
หากลองวิเคราะห์เชิงสมมติดูว่า จะเป็นอย่างไรถ้าทีมฟุตบอลยูโกสลาเวีย มีทั้ง ลูก้า โมดริช, อิวาน เปริซิช, และ เอดิน เชโก้ หรือทีมบาสเกตบอลที่มี ลูก้า ดอนชิช ร่วมกับ นิโคลา โยคิช นำทัพ พร้อมด้วยนักบาสเกตบอลดาวรุ่งยูโกสลาเวียคนอื่น ๆ ด้วยศักยภาพของทีม มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะขึ้นเป็นหนึ่งในทีมบาสเกตบอลที่ดีที่สุด
หลังการล่มสลายของยูโกสลาเวีย พวกเขาเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด สงคราม และความสูญเสีย แต่พวกเขาเลือกจะเดินหน้าต่อไปในเส้นทางความสามัคคีและความกลมเกลียว
สุดท้ายนี้ ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ แม้ปัจจุบันยูโกสลาเวียจะไม่ได้ดำรงอยู่ในแผนที่โลกอีกต่อไป แต่ความใจสู้ของชาวสลาฟใต้ยังคงแฝงอยู่ในจิตวิญญาณและอัตลักษณ์ ของพวกเขาอยู่เสมอ
บทความโดย: กษิธัฏฐ์ เอี้ยงเอี่ยม (นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ)
แหล่งอ้างอิง
https://www.titoville.com/sport-as-a-tool-of-propaganda-and-unity-in-titos-yugoslavia/
https://www.britannica.com/place/Yugoslavia-former-federated-nation-1929-2003
https://www.the101.world/the-rivalry-ep-16/
https://www.ricksteves.com/watch-read-listen/read/understanding-yugoslavia