Feature

ตั้งเตะ = จุดโทษ : เปิดเบื้องหลังเหล่าทีมปรมจารย์ลูกเซ็ตพีซแห่งโลกลูกหนัง | Main Stand

เรื่องราวการทำประตูจากลูกเตะมุมของ อาร์เซน่อล เป็นที่เล่าขาน และได้รับความชื่นชมอย่างมากถึงลูกสูตรต่าง ๆ ที่พวกเขาเตรียมมา

 

ไม่มีใครรู้และเดาออกว่าแต่ละครั้งพวกเขาจะเน้นไปยังจุดไหน ? ดังนั้นเราจะไปให้ลึกขึ้น ด้วยการค้นประวัติศาสตร์ หาทีมที่เตะมุม และเล่นลูกเซ็ตพีซได้ทรงประสิทธิภาพที่สุด 

จากนั้นเราจะถอดแนวคิดว่า ถ้าอยากจะให้เล่นลูกตั้งเตะที่เฉียบขาด มีโอกาสได้ประตูพอ ๆ กับจุดโทษ ต้องเริ่มต้นกันแบบไหน และเน้นส่วนใดเป็นพิเศษ 

จากอดีตถึงปัจจุบัน ศาสตร์นี้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว ? ติดตามที่ Main Stand 

 

ทีมที่เริ่มทำตั้งแต่ยุคที่คนอื่นยังไม่ทำ

ลูกตั้งเตะ คือการเข้าทำที่ง่ายที่สุดสำหรับการสร้างโอกาสยิงประตู อาจจะมีมีใครมาขวาง แต่ไม่มีใครมาวิ่งไล่ตอนที่คุณจะเตะลูก บอลตั้งอยู่นิ่ง ๆ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะดีไซน์มันออกมาในลักษณะไหน 

ในโลกนี้มีทีมที่เล่นลูกตั้งเตะเก่งมาก ๆ จนประสบความสำเร็จในแบบของตัวเองมากมายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยการจัดอันดับของ GOAL ระบุว่า ทีมชาติเยอรมันตะวันตก ช่วงปี 1984-1990 ที่มี ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ เป็นเฮดโค้ช คือทีมที่เชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้ที่สุด พวกเขาเริ่มทำการฝึกซ้อมและแก้ไขลูกตั้งเตะกันแบบเป็นจริงเป็นจัง 

"การแข่งขันในฟุตบอลโลก 2 สมัย หากนับเฉพาะรอบน็อคเอาต์ เยอรมัน เป็นทีมที่ยิงประตูได้ถึง 10 ลูก โดยมี 7 ลูกมาจากลูกตั้งเตะ เยอะเกินกว่าครึ่ง ... พวกเขาเปลี่ยนโลกของการเล่นลูกตั้งเตะแบบใหม่ เพราะเดิมทีในยุคนั้น การเคลื่อนที่ของนักเตะมักจะเป็นไปอย่างอิสระ แต่เยอรมันยุคนั้นเป็นทีมที่มีระเบียบการจัดการที่ดีมาก พวกเขาเอาเทปของคู่แข่งมาเปิดและวิเคราะห์จริงจัง พยายามอ่านฝ่ายตรงข้ามให้ขาด"

"พวกเขารู้แม้กระทั่งผู้เล่นคนไหนคือจุดอ่อนที่สุด สิ่งเหล่านี้อาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่การจดสถิติ และการดูภาพจังหวะการเล่นของคู่แข่งหลาย ๆ ครั้งจึงจะสามารถทำสิ่งนี้ได้ ซึ่งเยอรมันใช้มันทั้งในเกมรับและเกมรุกเมื่อพวกเขาได้ลูกเซ็ตพีซ" คริส โวคส์ นักเขียนของ GOAL ว่าแบบนั้น 

ลูกตั้งเตะใครก็ใช้ แต่ เยอรมัน ในยุคนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าคุณใส่ใจกับมันมากเป็นพิเศษ สิ่งเหล่านี้จะเป็นทั้งโล่ที่คอยป้องกัน และหอกที่ใช้โจมตีให้กับคุณได้ดีขึ้น ... มันแสดงให้เห็นว่า อะไรก็ตามที่คุณตั้งใจทำมัน สิ่งนั้นจะถูกพัฒนาขึ้น จากลูกตั้งเตะที่ดูเป็นเรื่องง่าย ๆ ก็กลายเป็นอาวุธที่ส่งให้เยอรมันเป็นแชมป์โลกสมัย 3 ได้สำเร็จ 

เมื่อเวลาเปลี่ยนไป การลงรายละเอียดไม่ได้เป็นเรื่องยากแบบเมื่อปลายยุค 1980s อีกแล้ว เทปการแข่งขัน การกรอหน้า และกรอกลับหลัง เป็นสิ่งที่ทำได้สะดวกมากขึ้น เหล่าทีมต่าง ๆ จึงสามารถเข้าถึงการวิเคราะห์ลูกตั้งเตะได้ง่ายมากขึ้น จนกระทั่งในยุคนี้เราได้เห็นโค้ชที่มีความถนัดเฉพาะทางด้านนี้มากขึ้น และบางคนก็มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง นิโคลัส โยเวอร์ ของ อาร์เซน่อล ในเวลานี้ 

โดย โยเวอร์ เองก็บอกว่า เขาใช้วิธีเปิดเทปศึกษาของทั้งทีมตัวเองและคู่แข่ง โดยฝั่งของตัวเองนั้น หลังจากที่เขารับงานกับ อาร์เซน่อล เขาย้อนกลับดูทุกประตูที่อาร์เซน่อลเสีย ตั้งแต่วันแรกที่ อาร์เตต้า เข้ามาคุมทีมหรือย้อนหลังกลับไปถึง 2 ปี จากนั้นเขาจึงค่อย ๆ ถอดรหัสแต่ละตัว และได้วิธีการเล่นลูกตั้งเตะ ที่มีรูปแบบ มีแบบแผน และทรงประสิทธิภาพ จนทำให้พวกเขาได้ประตูจากลูกตั้งเตะตั้งแต่ฤดูกาล 2023-24 เป็นต้นมามากถึง 22 ประตู 

 

Big Man คือคนสำคัญ

แน่นอนที่สุดคือ คุณจะเล่นลูกโหม่งได้ดีได้อย่างไร ถ้าหากคุณไม่มีนักเตะ Big Man หรือพวกยักษ์ใหญ่ ... อย่างน้อยที่สุดคือเหล่าเซียนลูกกลางอากาศที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้เป็นพิเศษ 

ปัจจัยนี้ควบคุมได้ยาก เพราะนักเตะบางคนก็ไม่ได้ตัวสูง และไมได้เป็นนักเตะที่โหม่งเก่ง แต่ถ้าบังเอิญว่าทีมของคุณมีนักเตะเหล่านี้อยู่ในทีม เรื่องแบบนี้สามารถทำได้ง่ายขึ้นมาก ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ เรอัล มาดริด ในยุค ซีเนดีน ซีดาน ภาคแรก ระหว่างปี 2016-2018

เรอัล มาดริด ไม่ใช่ทีมที่เด่นเรื่องลูกตั้งเตะเลยในอดีต แม้พวกเขาจะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่สิ่งที่ทุกคนพูดถึงคือเรื่องของซูเปอร์สตาร์ และความเหนือชั้นในการเข้าทำแบบโอเพ่นเพลย์ แต่ ซีดาน เปลี่ยนให้ทีม ๆ นี้ทำประตูจากลูกโด่งที่มาจากลูกตั้งเตะได้ถึง 24 ลูก ในฤดูกาล 2016-17 ขณะที่ กองหลังอย่าง เซร์คิโอ รามอส ทำประตูจากลูกตั้งเตะทั้งซีซั่นไปถึง 10 ลูก

ซีดาน เห็นประโยชน์ของนักเตะในทีมหลายคนที่เล่นลูกตั้งเตะได้ดี ทั้ง เซร์คิโอ รามอส, แกเร็ธ เบล, คริสเตียโน่ โรนัลโด้, คาริม เบนเซม่า และ เปเป้ รวมไปถึง ราฟาเอล วาราน  ซึ่งสูงในระดับ 185-190 เซนติเมตรกันทั้งหมด แถมพวกเขายังมีนักเตะที่เก่งเรื่องการเปิดบอลระดับต้น ๆ ของโลกอย่าง ลูก้า โมดริช และ โทนี่ โครส เขาและผู้ช่วยอย่าง ดาวิด เบ็ตโตนี่ จึงคิดค้นวิธีการทำประตูจากรูปแบบการเล่นตั้งเตะขึ้นมา เพื่อลดภาระการยิงประตูของ โรนัลโด้  ซึ่งเมื่อซักซ้อมจนเข้าใจ มันก็ลดภาระการยิงประตูได้จริง ๆ 

“เราจำเป็นต้องสร้างสมดุลให้กับทีม ไม่มีทางที่คริสเตียโน่จะยิงได้ 50 ประตูต่อฤดูกาลทุก ๆ ปีแน่นอน” เบ็ตโตนี่ ว่าแบบนั้น  

เรื่องการใช้ผู้เล่นบิ๊กแมนหรือเจ้าเวหานั้น ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องเป็นทีมใหญ่อย่าง เรอัล มาดริด คุณก็ทำได้ เพราะหนึ่งในทีมที่เล่นจังหวะนี้ได้ดีกว่าใครคือ สโต๊ก ซิตี้ ทีมที่แทบจะซ้อมแท็คติกการเล่นลูกตั้งเตะและการเข้าทำด้วยลูกโยนบอลโดยตรงจากหลังไปหน้ามากที่สุดในโลก ก็เป็นอีกทีมที่เข้าใจหลักการของเรื่องนี้ 

พวกเขาไม่มีเงินพอที่จะทำให้ทีมสามารถเล่นเกมบุกด้วยวิธีที่สวยงาม ใช้นักเตะเทคนิคดี ๆ สร้างความแตกต่างได้ แต่สิ่งที่พวกเขามีคือเหล่าบิ๊กแมน ที่เชี่ยวชาญการเล่นลูกกลางอากาศและใช้ความแข็งแรงเป็นหลักได้ดี แล้วทำไมพวกเขาจึงไม่เอาสิ่งนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุดล่ะ 

"หลายคนแสดงความคิดเห็นเชิงติเตียนถึงสไตล์การเล่นของทีมผม ผมไม่เถียงหรอกนะ ก็ผมชอบของผมแบบนี้ ผมชอบให้ทีมเอาฟุตบอลเดินทางจากหลังไปหน้าให้เร็วที่สุด เล่นด้านกว้างเข้าไว้ จากนั้นก็ใช้ความยอดเยี่ยมของนักเตะจัดการคู่แข่ง" โทนี่ พูลิส กุนซือทีมช่างปั้นหม้อยุคทอง อธิบายถึงสไตล์การเล่นของทีมเขาเอง

"คุณอยากให้ปีกของผมลงไปล้วงบอล แล้วลากเลื้อยต่อบอลแบบเท้าสู่เท้าขึ้นมายิงประตูอย่างนั้นหรือ ? เอาไว้ผมมีนักเตะอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ กับ แกเร็ธ เบล ก่อนก็แล้วกัน ผมจะทำบอลของผมแบบนี้ ใครจะทำไม นี่คือสไตล์ที่เหมาะกับนักเตะที่ผมมี ทุกคนรู้ว่าพวกเรายอดเยี่ยมขนาดไหน เราคือ สโต๊ค ซิตี้ และเราทำทีมตามงบประมาณที่เราสามารถจะจ่ายได้" โทนี่ พูลิส ว่าแบบนั้น 

เมื่อพวกเขาซื้อนักเตะอย่าง เบล หรือ โรนัลโด้ ไม่ได้ เขาเลือกนักเตะที่หาง่ายกว่าในเกาะอังกฤษ นั่นคือเหล่าบิ๊กแมนที่สูงใหญ่ หาซื้อได้ในราคาถูก โดยเน้นไปที่เรื่องของความห้าว ความแข็งแรง และความคลิกกับแท็คติกที่เขาวางหมากมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ 

บอลโยนกระหน่ำจากหลังไปหน้า ไดเรกต์ เพลย์ แบบไม่สนใจคู่แข่งที่พบเจอ เน้นลูกตั้งเตะทุกระยะ และข่มขวัญคู่แข่งด้วยนักเตะที่มีสภาพจิตใจดุดันไม่กลัวใคร ... สโต๊ก อาจจะแตกต่างกับ มาดริด หรือ อาร์เซน่อล ที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น เพราะพวกเขาใช้เหล่าบิ๊กแมนพุ่งเข้าใส่ในระยะซักซ้อม มากกว่าที่จะเป็นการเล่นลูกสูตรเฉพาะที่หลากหลาย ... พวกเขามีสูตรเดียวคือ ทุกคนโถมเข้าหาบอล มันเข้าใจง่าย แต่กลับหยุดยาก เพราะเรื่องสรีระที่ไม่มีใครเทียบกับพวกเขาได้อีกแล้ว 

"ผมอยู่ในทีม สโต๊ค ชุดนั้น ผมเดินเข้าไปในห้องแต่งตัว ผมก็รู้แล้วว่านักเตะพวกนี้แข็งแกร่งพอกับการลุยลีกสูงสุด ทุกคนคือพี่บิ๊กตัวจริง และเราต่างก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น ... เรามีวิธีการเล่นที่เฉพาะเจาะจงแบบที่ไม่มีใครเหมือน มันคือความเรียบง่ายที่แสนอัจฉริยะเลยผมจะบอกให้" แดนนี่ ฮิกกินบอตแธม นักเตะของ สโต๊ก ยุคนั้นที่ใช้ลูกตั้งเตะยิงประตูถึง 117 ลูกจาก 8 ซีซั่น กล่าว

 

จากอาวุธเฉพาะทาง สู่สิ่งที่ทุกทีมต้องมี 

ตอนนี้โลกฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จาก เยอรมัน กลายเป็น สโต๊ก ซิตี้ มาถึง เรอัล มาดริด และ อาร์เซน่อล ในตอนนี้ 

ลูกตั้งเตะไม่ใช่เรื่องของทีมเล็กที่บุกด้วยวิธีอื่นไม่ได้อีกต่อไป แต่มันเป็นอาวุธทรงประสิทธิภาพที่ทุกคนได้เห็นแล้วว่ามันสำคัญต่อการเปลี่ยนผลการแข่งขันแค่ไหน ณ ตอนนี้ ไม่ว่าทีมไหนก็มีโค้ชเซ็ตพีซขึ้นมาเป็นตำแหน่งพิเศษทั้งสิ้น 

โดยเฉพาะกับฟุตบอลอังกฤษ ที่ถึงตอนนี้พวกเขาจ้างโค้ชเพื่อมาซ้อมลูกตั้งเตะอย่างเดียวจริง ๆ ตามความละเอียดของเกมฟุตบอลที่เพิ่มขึ้นและกดดันขึ้นในทุก ๆ วัน  

เรียกได้ว่าโค้ชลูกตั้งเตะ เป็นเหมือนตัวแทนของโมเดิร์นฟุตบอลเลยก็ว่าได้ ในเกมที่ร่างกายแข็งแรงเท่ากัน ทักษะของนักเตะในสนามเท่า ๆ กัน กึ๋นกุนซือที่นั่งอยู่ข้างสนามพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ลูกเซ็ตพีซ จะกลายเป็นสิ่งที่แต่ละสโมสรต้องเพิ่มเข้ามาเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเองโดยเฉพาะ 

เว็บไซต์หลักของพรีเมียร์ลีกเขียนบทความเกี่ยวกับโค้ชลูกตั้งเตะในช่วงหลังจบฤดูกาล 2021-22 ที่ผ่านมา พวกเขาให้ความเห็นและกางสถิติการได้ประตู-เสียประตู ของแต่ละทีมที่จ้างโค้ชเฉพาะทางด้านลูกตั้งเตะว่า "การมีโค้ชตำแหน่งนี้ เปรียบเหมือนกำไรพิเศษที่ทุกทีมอยากจะมี โค้ชเซ็ตพีซเฉพาะทางจะกลายเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่มีความต้องการในตลาดสูงมากหลังจากนี้"  และงานของเหล่าโค้ชตั้งเตะก็ละเอียดขึ้นมากกว่าในอดีตพอสมควร 

นอกจากสถิติและตัวเลขจะนำมาซึ่งการซื้อตัวนักเตะที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้แล้ว งานต่อไปของโค้ชลูกตั้งเตะคือการ "สื่อสาร" สิ่งนี้สำคัญไม่แพ้กับการแก้ไขไปที่นักเตะโดยตรง แต่มันรวมไปถึงการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน (โค้ช) ในสายงานเฉพาะทางอื่น ๆ เช่น การบอกให้ทีมนักโภชนาการจัดอาหารเพื่อเสริมสร้างให้นักเตะมีความแข็งแรงมากขึ้น เช่น ในวันแข่ง คุณต้องได้กินอาหารที่ให้พลังงานมากพอที่จะทำให้พวกเขาสามารถทนทานต่อการเบียดปะทะตลอดทั้งเกม หรือการคุยกับนักจิตวิทยาเพื่อให้นักเตะไม่กลัวการขึ้นปะทะที่อาจจะทำให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บ เพราะการกลัวและปล่อยให้อีกฝั่งข่มคุณจนได้กระโดดขึ้นแย่งโหม่งแบบโล่ง ๆ คือหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนี้ยังมีการสื่อสารกับโค้ชฟิตเนส ให้จี้ไปที่นักเตะที่ยังมีกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่แข็งแรงไม่พอกับการเข้ามามีบทบาทในลูกตั้งเตะ การสื่อสารกับโค้ชผู้รักษาประตู เพื่อปรับวิธีการเล่นลูกตั้งเตะให้ผู้รักษาประตูมีบทบาทมากขึ้น เพื่อทำให้งานของนักเตะตำแหน่งอื่น ๆ สบายขึ้น 

หรือแม้กระทั่งการสื่อสารกับผู้จัดการทีม และแนะนำวิธีต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการวางแผนลูกตั้งเตะ เช่น การวางตำแหน่งนักเตะตัวรุกในยามที่ทีมเสียเตะมุุม ว่าควรเอาใครไปยืนรอตรงไหน เพื่อให้ทีมสามารถเล่นสวนกลับได้ทันที ... คุณคงจะได้เห็นบ่อย ๆ จากวิธีการเล่นของ 3 ทีมที่ดีที่สุดในอังกฤษอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, อาร์เซน่อล และ ลิเวอร์พูล ที่พวกเขามักจะมีวิธีเตะตู้มเดียวจากการตัดลูกกลางอากาศของผู้รักษาประตูแล้วส่งต่อไปให้เหล่าตัวรุกได้บุกเข้าไปถึงกรอบเขตโทษคู่แข่งขันได้ในทันที ... ทุกอย่างนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการสื่อสารและทำงานร่วมกันของทีมหลังบ้านทั้งสิ้น

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือโลกใบใหม่ของวงการฟุตบอล ที่ยืนยันวิถีของโลกใบนี้ให้เห็นว่า คนเรานั้นจำเป็นจะต้องมีสิ่งที่ถนัด โดยเฉพาะในแบบที่ตัวเรามั่นใจว่า เราบ้าและคลั่งไคล้ในสิ่งนั้นไม่แพ้ใคร เพราะที่สุดแล้ว แม้สิ่งเหล่านั้นที่คุณถนัดจะไม่เคยมีใครมองเห็นและโดนมองข้ามมาเสมอ แต่เมื่อถึงเวลาที่โลกหมุนไปข้างหน้า และเทรนด์ใหม่เกิดขึ้น สิ่งที่คุณถนัดและเชี่ยวชาญเหล่านั้น อาจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกได้ เหมือนกับที่ โค้ชลูกเซ็ตพีซ ได้เปลี่ยนเทรนด์ของโลกฟุตบอลดังที่เรากล่าวมา

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.goal.com/en/lists/england-2018-simeones-atletico-and-the-10-best-set-piece-teams-in-history/3xg3u9wbxgnv1d2s1mleihpq3#csbfd262a17783b07e
https://www.skysports.com/football/news/11667/6701925/fergie-adam-worth-gbp10m
https://www.espn.co.uk/football/story/_/id/37470315/real-madrid-thriving-opportunities-set-pieces-zidane
https://learning.coachesvoice.com/cv/david-bettoni-zidane-real-madrid/
https://www.premierleague.com/news/2468880
https://theathletic.com/2957140/2021/11/17/andreas-georgson-on-brentford-the-rise-of-set-piece-coaches-working-for-arteta-and-why-teams-take-short-corners/
https://theathletic.com/1820147/2020/05/20/potter-player-ostersund-manager-swansea-brighton-philosophy/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา