หนีตกชั้นมา 2-3 ปีติดต่อกัน แต่อยู่ดี ๆ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ก็กลายเป็นทีมระดับหัวตารางไปแบบไม่น่าเชื่อในช่วงออกสตาร์ทของพรีเมียร์ลีกซีซั่น 2024-25
ทุกคนเข้าใจว่าอันดับของพวกเขาอาจจะขยับถอยลงไปเมื่อซีซั่นจบลง แต่อันที่จริงแล้วแก่นแท้ที่เราจะพูดถึง ก็คือวิธีการเล่นของพวกเขาที่เปลี่ยนโฉมหน้าภายในเวลานั้น ๆ
การตีหัวเข้าบ้านสไตล์บอลโบราณ ถูกจับเข้ามาใส่กับวิธีการเล่นแบบฟุตบอลยุคใหม่ กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวได้ ภายใต้การนำทัพของ นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้
เขาทำงานชิ้นนี้โดดเด่นขึ้นมาได้อย่างไร ? ติดตามบทวิเคราะห์ที่ Main Stand
ของเดิม ... แค่โมดิฟาย
แชมป์ยุโรป 2 สมัยอย่าง น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ คือทีมที่แทบสิ้นชื่อไปแล้วนับตั้งแต่ตกชั้นไปในปี 1999 ... พวกเขาใช้เวลาถึง 23 ปีในลีกล่าง และทำทีมอย่างกระเบียดกระเสียนเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งการเข้ามาของเจ้าของใหม่ เอวานเจลอส มารินาคิส เศรษฐีจากวงการสื่อของประเทศกรีซ ที่เป็นเจ้าของสโมสร โอลิมเปียกอส เข้ามาซื้อทีมในปี 2017 โดยซื้อต่อจากตระกูล "อัล ซาฮาวี" จาก คูเวต ที่ละเลงทีมจนยับ และยอมแพ้ถอยออกมาเพราะขาดทุนทุกปี
หลังจากปี 2017 ฟอเรสต์ ขยับจากทีมกลางตารางมาเป็นทีมระดับมีลุ้นเลื่อนชั้นและเพลย์ออฟติดต่อกันแทบทุกซีซั่น แม้จะเฉียดไปเฉียดมา แต่ที่แน่ ๆ พวกเขาแก้ปัญหาเรื่องการซื้อตัวแพง ๆ และจ่ายค่าเหนื่อยเว่อร์ ๆ ที่ยุค อัล ซาฮาวี ชอบทำได้แล้ว
ที่เหลือก็แค่เลือกนักเตะที่ใช่และโค้ชที่มีแนวทางตรงกับการบริหารทีมที่สุด ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว พวกเขาคิดว่า สตีฟ คูเปอร์ กุนซือชาวเวลส์ผู้นำอังกฤษคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก U-17 เมื่อปี 2017 คือคน ๆ นั้น
คูเปอร์ พาทีมเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ หลังคว้าแชมป์เพลย์ออฟในฤดูกาล 2021-22 เพียงแต่ว่าช่วงเลื่อนชั้นหลังจากนั้นส่วนใหญ่ เป็นช่วงเวลาที่ลำบากต้องดิ้นรนหนีตายเป็นส่วนใหญ่
เราต้องยอมรับว่า แม้ คูเปอร์ จะเป็นโค้ชที่เคยพาทีมชาติอังกฤษ U-17 คว้าแชมป์โลกมาก่อน แต่การดวลกึ๋นกับยอดกุนซือในพรีเมียร์ลีกนั้น เขายังคงเป็นรองมากโข คูเปอร์ ซื้อนักเตะมาเสริมทัพมากมาย แต่ก็ได้แค่จำนวนนับ ไม่ได้คุณภาพ ... มาตรฐานทีมไม่ดีขึ้น และสุดท้าย คูเปอร์ โดนไล่ออกในช่วงกลางฤดูกาล 2023-24
มารินาคิส อธิบายเหตุผลว่า เขาไม่เคยคิดโทษ สตีฟ คูเปอร์ เลยสักนิดกับผลงานที่เกิดขึ้น แต่งานของ คูเปอร์ นั้นจบลงไปแล้ว การไต่จากล่างขึ้นบนมาถึงเป้าหมายที่ทีมตั้งไว้ และทีมต้องการไปอีกระดับ เพื่อพ้นจากการเป็นทีมหนีตาย ให้กลายเป็นทีมที่อยู่รอดสบาย ๆ ในพรีเมียร์ลีก ตามเงินที่พวกเขาลงทุนไป
ซึ่งสุดท้ายพวกเขาก็เลือก นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ อดีตกุนซือของ วูล์ฟส์ ที่เคยสร้างตำนาน "โปรตุกีส คอนเน็คชั่น" จนกลายเป็นทีมที่ทีมใหญ่ต้องออกแรงหนักเพื่อจะเอาชนะ ... แม้ในช่วงหลังจากนั้น นูโน่ จะไต่ระดับไปคุม สเปอร์ส และล้มเหลว แต่ มารินาคิส ประเมินอย่างละเอียดและพบว่า นูโน่ เป็นโค้ชที่ตรงกับโปรเจ็กต์ของทีม ฟอเรสต์ ในเวลานี้
นูโน่ ตกปากรับคำด้วยข้อจำกัดไม่น้อย ฟอเรสต์ เป็นทีมที่เกือบจะทำผิดกฎทางการเงิน ดังนั้นเขาจะโละนักเตะยกชุดและดึงนักเตะที่เขาอยากจะได้มาร่วมทีมเหมือนสมัยทำ วูล์ฟส์ ไม่ได้อีกแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองจะลบคำสบประมาทนั้น และใช้ขุมกำลังเดิม ๆ ของ ฟอเรสต์ เพื่อไปยังเป้าหมายที่สูงขึ้น
"สิ่งเดียวที่ผมทำได้ในตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคมนี้คือการเลือกอยู่กับสิ่งที่มี ... เรามีกลุ่มผู้เล่นที่ดี และผมมั่นใจว่าผมจะพัฒนาพวกเขาไปอีกระดับได้แน่นอน ผมจะช่วยปรับปรุงพวกเขาทำให้พวกเขาเก่งขึ้น หากใครมองว่านักเตะพวกนี้คือทางตัน ผมจะเป็นคนพาพวกเขาไปยังทางออก เราจะเล่นให้ดี คว้าชัยชนะ และท้าทายเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าด้วยกัน"
นูโน่ สัมภาษณ์แบบนั้นตอนเข้ามารับงานเมื่อเดือนธันวาคม 2023 และตอนนี้ดูเหมือนมันจะเป็นตามที่เขาบอก ... แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เขาพลิกมันโดยใช้เวลาเพียง 1 ปีได้อย่างไร ?
สร้างเกมรับ และโจมตีด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด
สิ่งที่เขาทำในเชิงกลยุทธ์และวิธีการนั้นแตกต่างกับตอนที่เขาทำ วูล์ฟส์ เมื่อ 4-5 ปีก่อน ที่ตอนนั้นเขาใช้ระบบ 3-5-2 สวนกลับด้วยความเร็ว และความสามารถเฉพาะตัวของกองหน้าชั้นดีอย่าง ดิโอโก้ โชต้า และ ราอูล ฆิเมเนซ ในเวอร์ชั่นก่อนใส่เฮดการ์ด
ด้วยขุมกำลังที่มี นูโน่ เลือกสร้างจากการเล่นเกมรับก่อน ซึ่งเกมรับในที่นี้ไม่ได้หมายถึงกองหลัง แต่มันคือการสอนวิธีการเล่นเกมรับของทั้งทีม ซึ่งวิธีหลัก ๆ ที่เขาเปิดเผยกับ Sky Sports คือ "การผสมผสานระหว่าง Old School และ New School"
มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ฟุตบอลยุคเก่าโดยเฉพาะบอลอังกฤษชอบเล่นบอลไดเร็กต์ บอลยุคใหม่ชอบเล่นแบบบิลด์อัพบอลจากแดนหลัง ด้านการเข้าแย่งบอลนั้น ฟุตบอลยุคเก่าชอบยืนคุมโซน ขณะที่ฟุตบอลยุคใหม่ชอบเพรสซิ่งตั้งแต่แดนบน ไล่บอลตั้งแต่ปากประตูคู่แข่ง เขาเลือกข้อดีของแต่ละอย่างมาปรับใช้กับทีมของตัวเอง
กล่าวให้เห็นภาพคือ ฟอเรสต์ จะไม่ไล่บอลสูงเด็ดขาด แม้การชิงบอลได้ ณ จุดนั้นจะสร้างโอกาสการยิงประตูมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ เหตุผลเพราะพวกเขารู้ว่าการไล่บี้เพื่อเอาบอลตั้งแต่หน้าปากประตูคู่แข่ง คือหนึ่งในหนทางฆ่าตัวตายหากพวกเขาไม่มีระบบทีมและนักเตะที่มีคุณภาพพอ
พวกเขาจะเริ่มไล่บอลจากคู่แข่งและปิดพื้นที่การจ่ายบอลก็ต่อเมื่อคู่แข่งพาบอลเข้ามาในแดนของตัวเองเท่านั้น ฟอเรสต์บังคับให้ทีมคู่แข่ง ไม่มีทางเลือกอื่นในการขึ้นเกมรุกนอกจากการจ่ายบอลผ่านแดนกลางของพวกเขาที่มีผู้เล่นหนาแน่น ขณะที่ตัวริมเส้นของพวกเขาจะช่วยไล่บอลและช่วยฟูลแบ็กเล่นเกมรับเพื่อลดสถานการณ์ดวล 1-1 กับปีกของคู่แข่งเสมอ
การไล่เพรสซิ่งเฉพาะในแดนตัวเองอาจจะไม่เป็นที่นิยม และมองว่าเป็นของเก่า ... แต่สำหรับ นูโน่ เขามองว่าวิธีการนี้มีโอกาสผิดพลาดน้อยกว่า และต่อให้พลาดความเสียหายก็น้อยกว่าเช่นกัน
เช่นเดียวกันกับการต่อบอลจากแนวรับที่ถือเป็นสิ่งที่กุนซือยุคใหม่หลายคนชื่นชอบ นูโน่ ประเมินแล้วว่าด้วยทรัพยากรที่เขามี ทีมของเขาคงไม่ใช้วิธีการนี้เป็นหลัก แต่เขาก็ไม่ได้ทิ้งการต่อบอลสั้นเสียทีเดียว เพียงแต่ปรับมาใช้การต่อบอลสั้น ๆ แบบเท้าสู่เท้าในเวลาที่ทีมยังหาช่องทางการบุกไม่ได้ หรือการทำลายเวลา และทำลายการเพรสซิ่งของคู่แข่งเท่าน้้น ... ถ้ามีโอกาสดี ๆ วิธีที่พวกเขาเลือกคือการเล่นบอลแบบไดเร็กต์ตามสูตรอังกฤษโบราณ
คริส วู้ด คือกองหน้าสไตล์ Target Man ที่มีพร้อมทั้งเรื่องพละกำลัง ร่างกาย ประสบการณ์ และการหาพื้นที่เพื่อจบสกอร์ นี่คือกองหน้าในแบบที่หันหลังเล่นเก่งที่สุดคนหนึ่งในพรีเมียร์ลีก เขาจะเป็นเป้าแรกเสมอ เมื่อเพื่อนร่วมทีมตัดบอลได้และเงยหน้าขึ้นมาเพื่อเล่นเกมบุก
แต่ คริส วู้ด ไม่ได้เก่งพอที่จะบันดาลทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง นูโน่ จึงวาง 2 ตัวริมเส้นอย่าง อันโทนี่ อีลังก้า และ คัลลัม ฮัดสัน โอดอย ที่ในเวลาปกติจะช่วยแบ็กจับปีกของอีกฝั่ง แต่พอได้เล่นเกมรุก จะต้องมีใครสักคน เข้าไปเล่นกับ วู้ด เสมอ ไม่ปล่อยให้กองหน้าตัวเป้าโดดเดี่ยวเด็ดขาด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนรับเป็นรุกที่ดีพวกเขาถนัดที่สุด นั่นคือการทำให้เร็ว หาทางจบสกอร์ให้ได้ จากนั้น พวกเขาจะกลับมาเป็นฝ่ายตั้งรับใหม่
เหตุผลที่ว่ามาทำให้ ฟอเรสต์ เป็นทีมที่ครองบอลน้อยมากในแต่ละเกม เช่นเกมที่ชนะ ลิเวอร์พูล พวกเขาครองบอลได้ 30.1% ในเกมชนะ เซาธ์แฮมป์ตัน พวกเขาครองบอลแค่ 35.4% ในเกมบุกชนะ เลสเตอร์ พวกเขาครองบอลได้ 36.8% ทว่าแต่ละเกมพวกเขาโดนล่อเป้าน้อยมาก (กับ ลิเวอร์พูล 5 ครั้ง, กับ เซาธ์แฮมป์ตัน 5 ครั้ง, เลสเตอร์ 3 ครั้ง)
กลับกันทั้ง ๆ ที่พวกเขาครองบอลน้อยกว่าขนาดนั้น ฟอเรสต์ กลับหาโอกาสยิงลิเวอร์พูลแบบเข้ากรอบได้ถึง 5 ครั้ง (เท่า ลิเวอร์พูล ได้ยิงเข้ากรอบของพวกเขา) ยิงใส่ เซาธ์แฮมป์ตัน 23 ครั้ง และยิงใส่เลสเตอร์อีก 21 ครั้ง
วิธีการเล่นของ ฟอเรสต์ ถึงกับทำให้ อาร์เน่อ ชล็อต ให้สัมภาษณ์หลังเกมแพ้คาบ้านว่า "มีแค่การครองบอลที่เราเหนือกว่าพวกเขา จริงอยู่ที่เราเป็นฝ่ายครองบอล แต่เราไม่ได้เป็นฝ่ายครองเกม เพราะพวกเขาบริหารจัดการโซนของพวกเขาได้ดีจริง ๆ"
พวกเขาไม่จำเป็นต้องครองบอล พวกเขาแค่วางกับดักการตั้งโซนและไล่บอลในแดนตัวเองอย่างพร้อมเพียง เพื่อบีบให้คู่แข่งจ่ายบอลผิดพลาด จากนั้นคือการเข้าทำเร็วไม่มากจังหวะ ชิงจังหวะในช่วงที่คู่แข่งไม่ระวังตัว
วิธีการที่กล่าวมาถูกวิเคราะห์โดย เจมี่ คาร์ราเกอร์ ที่เขาถึงกับเรียกมันว่า "นูโน่บอล" และทิ้งทายว่า "แท็คติกของ นูโน่ เจ้าเล่ห์ที่สุดแล้วภายในบรรดาทุกทีมในพรีเมียร์ลีก" ซึ่งถ้าใครได้ดูเกมของพวกเขา ก็คงต้องเห็นคล้อยกับสิ่งที่ คาร์ราเกอร์ พูดถึงอย่างแน่นอน
อธิบายง่าย แต่ทำยาก
การวิเคราะห์วิธีการตั้งรับ และการเข้าทำของ ฟอเรสต์ นั้นถูกนักวิเคราะห์หลายคนเจาะเป็นฉาก ๆ และตีความออกมาเป็นเชิงทฤษฎีอย่างที่เราได้นำเสนอไปในข้างต้น แต่อันที่จริงศาสตร์ของการทำทีมฟุตบอลคือ ถ้าใจไม่เท่ากัน แท็คติกดีแค่ไหนก็มีรอยรั่วได้เสมอ
ถ้าคนหนึ่งวิ่งเต็มฝีเท้าทั้งเกม แต่อีกคนเกียจคร้านและทำหน้าที่แบบขอไปที มันจะเหมือนโดมิโน่ล้ม ยกตัวอย่างเช่น คนที่ขี้เกียจปล่อยให้คู่แข่งผ่านเขาไปง่าย ๆ นั่นหมายความว่าเพื่อนของเขาที่ตั้งสติในการจับตัวประกบของตัวเองจะต้องเจอสถานการณ์โดนรุม 2-1 ... ซึ่งเพิ่มโอกาสที่เขาจะพลาดเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไมได้ และมันจะล้มต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งท้ายที่สุดอาจร้ายแรงที่สุดไปถึงการเสียประตู
นูโน่ พยายามลบความเสี่ยงเหล่านี้ทิ้งด้วยวิธีการรวมทีมให้เป็นหนึ่งเดียว เล่นด้วยความสามัคคี รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ และไม่ลืมที่จะช่วยงานคนอื่นหากงานของตัวเองเสร็จสิ้นแล้วโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งนั่นเป็นงานที่เขาสร้างตั้งแต่วันแรกที่มาคุมทีม
"ผมไม่เคยคุมทีมที่มีขนาดใหญ่ขนาดนี้มาก่อน แต่สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนในทีมมีคือ การให้ความเคารพกันและกัน มีความรับผิดชอบ และจิตสำนึกต่อส่วนรวม ถ้าเราทำได้นั่นจะเป็นก้าวแรกที่ยอดเยี่ยมของเรา" เขาว่าไว้ในเดือนมกราคม 2024 และถัดจากนั้นอีก 10 เดือนเขาก็พูดถึงมันอีกครั้งหลังจากทีมของเขาขึ้นมาเป็นทีมหัวตารางของพรีเมียร์ลีกว่า
"ช่วงพรีซีซั่นที่ผ่านมา คือช่วงที่เราทำงานด้วยกันในระดับที่เข้มข้นที่สุด เราใส่วิสัยทัศน์ใหม่เข้าไปในตัวนักเตะทุกคน นี่คือเรื่องยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโค้ชอย่างผม เพราะผมจะส่งบททดสอบที่ยากที่สุด แต่จะส่งผลมากที่สุดให้พวกเขา"
"เมื่อพวกเขาเหนื่อยมากจนแทบจะตาย นั่นคือเวลาที่คุณรู้จริง ๆ ว่าคน ๆ หนึ่งเต็มใจที่จะไปได้ไกลแค่ไหน เมื่อเขาร้อน เหงื่อออก และตอนนี้เขาต้องการน้ำ ...แต่ถ้าเขาสามารถนึกถึงทีมได้ คุณทำให้เขาไปต่อได้ ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องง่ายแล้ว"
"หากคุณใส่ใจกับมัน ก็สามารถแสดงลักษณะนิสัยของพวกเขาได้มากขึ้น เมื่อคุณเข้าใจพฤติกรรมของพวกเขาแล้ว คุณจะเข้าใจได้ว่าควรกดปุ่มไหนในช่วงเวลาที่เหมาะสม"
นูโน่ กำลังทำสำเร็จในแบบของเขาเอง ไม่ได้ทำตามกระแส แต่ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างเต็มที่ และทำผลงานได้เกินความคาดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งพวกเขายินดีจะทำมันอย่างต่อเนื่อง และรู้แล้วว่ามีอะไรที่รอให้พวกเขาท้าทายในอนาคตต่อไป
"ผมอยู่มานานหลายปีรู้ว่าการฮันนีมูนจะไม่คงอยู่ตลอดไป คุณรู้ไหม ? ปัญหาคือการรักษามาตรฐานนี้เอาไว้ นี่แหละที่มันเป็นเรื่องยากมากที่สุด แต่มันคือความท้าทายในอีกระดับ แต่เราจะเดินหน้าในแบบของเรา เราจะผ่านบททดสอบนี้ด้วยกัน โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง" นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ กล่าวทิ้งท้ายถึงอีก 28 เกมที่เหลือในซีซั่นนี้
แหล่งอ้างอิง
https://the-footballanalyst.com/nuno-espirito-santo-nottingham-forest-tactical-analysis/
https://www.skysports.com/football/news/11727/13243513/nuno-espirito-santo-s-nottingham-forest-are-a-tactical-anomaly-but-it-works-how-they-bucked-the-premier-league-trend
https://www.bbc.com/sport/football/67767628
https://www.skysports.com/football/news/11661/13213035/liverpool-0-1-nottingham-forest-hudson-odoi-scores-stunner-as-arne-slot-suffers-first-defeat-as-reds-boss