จามาล มูเซียล่า โชว์ให้ทุกคนเห็นเต็ม ๆ ตาไปแล้วว่าเขามีดีอะไรบ้างในศึกยูโร 2024 ที่เจ้าตัวพา เยอรมนี โลดแล่นเล่นดีเด่นสมราคาเจ้าภาพ
เพียงแต่ว่าอันที่จริงตัวของเขานั้นควรจะต้องติดทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่ไปแล้ว จนกระทั่งจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจากนโยบายของเหล่าบิ๊กทีมในยุโรปที่ซื้อนักเตะที่อายุน้อยระดับต่ำกว่า 18 ปี มาเก็บไว้เพื่อเป็นอนาคต โดยที่นักเตะบางคนไม่เคยลงเล่นชุดใหญ่หรือเกมอาชีพเลยแม้แต่นัดเดียว
บาเยิร์น มิวนิค ใช้โมเดลนั้น และทำให้พวกเขาฉกตัว มูเซียล่า อันก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนที่ทำให้เจ้าตัวเปลี่ยนใจไปเลือกเล่นให้กับ เยอรมนี ณ เวลานี้ .... นี่แค่น้ำจิ้มเท่านั้น อยากรู้เบื้องลึก Main Stand จัดมาให้แล้ว
นโยบายใหม่โลกฟุตบอล
เรื่องราวของ จามาล มูเซียลา ถือเป็นสารตั้งต้นของประเด็นที่ว่าสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่ในยุโรป มีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น เดิมทีในยุคก่อน ๆ เราจะได้เห็นการซื้อนักเตะที่แจ้งเกิดแล้ว มาร่วมทีมแบบทุ่มแหลก อาทิเคสของ เวย์น รูนี่ย์ ที่แจ้งเกิดกับ เอฟเวอร์ตัน ตั้งแต่อายุ 17 ปี และดาวรุ่งอีกหลายคน ๆ ที่ชื่อปรากฏบนหน้าสื่อก่อน จึงถูกทีมใหญ่ซื้อไปร่วมทีม
ทว่าฟุตบอลในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว การรอนักเตะแจ้งเกิดแล้วไปซื้อ เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ เพราะเดี๋ยวนี้เกมซื้อขายนักเตะอายุน้อยเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิง นักเตะที่แจ้งเกิดแล้ว เป็นตัวหลักของทีมแล้ว ไม่มีทางที่จะราคาถูกแน่นอน โดยเฉพาะดาวรุ่งตัวท็อป ๆ ที่ต้นสังกัดของพวกเขาจะตั้งราคาไว้แพงสุดกู่ อาทิ ชูเอา เฟลิกซ์ (100 ล้านยูโร), ออเรเลียง ชูอาเมนี่ (100 ล้านยูโร) และ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ตอนย้ายไป ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ก็โดนแปะป้ายราคาพุ่งทะยานเกือบ 200 ล้านยูโรมาแล้ว
เห็นได้ชัดว่าการซื้อดาวรุ่งที่แจ้งเกิดแล้วจะมีราคาที่แพงมาก และใช่ว่าทุกคนจะกลายเป็นของดีในตอนท้ายทั้งหมด เช่น ชูเอา เฟลิกซ์ กลายเป็นนักเตะที่ แอตฯ มาดริด เสียดายเงินจนถึงวันนี้ ไหนจะดาวรุ่งที่กลายเป็นดาวรุ่งอีกมากมายหลายคน ที่พอไปอยู่กับทีมใหญ่ด้วยค่าตัวแพง ๆ กลับเล่นไม่ออก
ยิ่งในยุคนี้มีเรื่องของกฎการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ดังนั้นการจะรอให้ดังก่อนแล้วค่อยซื้อจึงเป็นอะไรที่เสี่ยงมาก ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องว่าซื้อมาแล้วจะใช้ได้หรือไม่ แต่มันเป็นเรื่องของตัวเลขในบัญชี ที่อาจจะส่งผลมากมาย ทั้งการโดนปรับเงิน ปรับแต้ม และโทษต่าง ๆ นานา หลายสโมสรในยุโรป จึงไปให้ลึกมากขึ้นกว่าเดิมในการซื้อตัวแต่ละกัน
จากที่พวกเขาจะรอช้อนในตอนที่นักเตะอายุ 18-21 ปี ที่มีราคาแพง พวกเขาต้องเปลี่ยนแนวทาง และให้ความสำคัญกับทีมวิเคราะห์ข้อมูล และทีมแมวมองใหม่ เพื่อให้ทีมหลังบ้านเหล่านี้ส่องนักเตะที่อายุน้อยยิ่งกว่า 18 ปี และมีแวววจะพัฒนาต่อได้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะฟันธงว่าใครเก่งไม่เก่ง เพราะบางคนก็ไม่เคยสัมผัสเกมระดับอาชีพเลยสักครั้ง ...
แต่อย่างน้อย ๆ การซื้อนักเตะที่ยังไม่แจ้งเกิดจะช่วยลดต้นทุนในการเสริมทัพได้อย่างมากมหาศาล และถ้าคุณเป็นทีมนักสร้าง คุณสามารถขายพวกเขาต่อได้ในราคากำไรเหนาะ ๆ อาทิ เจดอน ซานโช่ ที่ ดอร์ทมุนด์ ซื้อมาจากทีมเยาวชนของ แมนฯ ซิตี้ แค่ไม่ถึง 10 ล้านปอนด์ แต่ขายได้ถึง 85 ล้านปอนด์ เป็นต้น
ในรายของ มูเซียล่า เองก็เช่นกัน บาเยิร์น มิวนิค คว้าตัวของเขามาจากทีม ยู-17 ของ เชลซี ด้วยราคาแค่ 200,000 ปอนด์เท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อเอามาขัดสีฉวีวรรณแล้ว มูเซียล่า ดันกลายเป็นของดีที่ตอนนี้หากทีมไหนอยากจะได้ตัว ดูเหมือนว่าราคา 100 ล้านปอนด์น่าจะเอาไม่อยู่แล้วจากฟอร์มในยูโร 2024
ส่องแบบไหนให้ได้อย่าง มูเซียล่า ?
จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงของการซื้อนักเตะอายุขนาดนี้ น้อยกว่า การทุ่มซื้อตอนพวกเขาดังแล้วแบบสุด ๆ ต่อให้เด็กที่ซื้อมาตอนอายุ 15-16 หรือ 17 ปี ไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งพอถึงขั้นเล่นทีมชุดใหญ่ได้ สโมสรก็ยังสามารถขายให้กับทีมระดับรอง ๆ ลงไป และทำกำไรได้จากดีลนั้น ๆ อีก ซึ่งปัจจุบันเห็นภาพชัดที่สุดคือ แมนฯ ซิตี้ ที่ขายนักเตะจากทีมเยาวชนที่ไม่ดีพอจะขึ้นชุดใหญ่ให้กับทีมอื่น ๆ จนพวกเขาทำกำไรมหาศาล จากสารพัดดีลไม่ว่าจะเป็น โคล พาลเมอร์, เปโดร ปอร์โร่ และ อังเคลินโญ่ นักเตะเหล่านี้ราคาแพงกว่าตอนที่ ซิตี้ ดูดมาจากทีมอื่น ๆ ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตามการจะได้เพชรเม็ดงามในอายุน้อย ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตอนนี้ทีมไหนก็ทำ มองเห็นโอกาสในแบบเดียวกันทั้งนั้น นั่นคือเสี่ยงกับเด็กเหล่านี้ตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ ไปเลย คุณจะต้องแย่งกับอีกหลาย ๆ สโมสร และที่สำคัญที่สุด ทีมแมวมองคุณจะต้องเจ๋งจริง ๆ นอกจากจะตาต้องถึงแล้ว ยังต้องแน่นข้อมูล เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการเสียเงินให้น้อยที่สุด
ในส่วนของ มูเซียล่า นั้นสามารถยกมาเป็นกรณีตัวอย่างได้เป็นอย่างดี ... ใครจะรู้ว่า มูเซียล่า ตอนอายุ 15 ปี จะก้าวขึ้นมาเก่งได้ขนาดนี้ ? คำถามคือ บาเยิร์น รู้ได้อย่างไร ?
ประการแรก พวกเขาไหวตัวเร็วและเปลี่ยนเป้าหมายไวมาก เแรกเริ่มในช่วงปี 2018-2019 บาเยิร์น ต้องการ คัลลัม ฮัดสัน โอดอย ของ เชลซี แต่ฝั่ง เชลซี ตั้งราคามาถึง 80 ล้านปอนด์ เนื่องจาก ฮัดสัน โอดอย ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่แล้ว ซึ่ง บาเยิร์น รู้ดีว่าพวกเขาสู้ราคานี้ไม่ไหว พวกเขาจึงเข้าถึงเครือข่ายเอเย่นต์เพื่อเปลี่ยนเป้าหมาย และเอเย่นต์ของ ฮัดสัน โอดอย นี่แหละ ที่บอกว่าให้ไปติดตามฟอร์มของ มูเซียล่า ในวัย 15-16 ที่ เชลซี ไปเอาตัวมาจาก เซาธ์แฮมป์ตัน แล้วหลายปี แต่ยังไม่ขึ้นทีมชุดใหญ่
ไม่ใช่แค่ฟังแล้วลุยดีลเลย ทีมเจรจาของ บาเยิร์น ต้องส่งข้อมูลกลับไปให้ มาร์โก เนปเป้ ผอ.เทคนิคของทีม ที่จัดทีมงานสเกาท์ไปหาข้อมูลที่มีทั้งหมด และยังส่งทีมไปส่อง มูเซียล่า ให้เห็นกับตาตัวเองอยู่หลายรอบ กว่าพวเขาจะตัดสินใจว่า "เด็กคนนี้ผ่าน"
"จามาล มูเซียล่า เป็นตัวอย่างของการสอดส่องมองหานักเตะอายุน้อยของเรามาก ๆ ตอนที่เราเจอเขาครั้งแรกเขาน่าจะอายุ 16 ปี ผมได้รับข้อมูลจากหลายแหล่ง และผมตัดสินใจไปดูเขาด้วยตาตัวเองในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ประจำปีที่ปารีส ตอนนั้นเขาไปกับทีมชาติอังกฤษชุดยู 16 ... คุณเชื่อไหมล่ะ ผมไปแล้วผมจำผลการแข่งขันไม่ได้เลย แต่มี 2 นักเตะที่เด่นกระแทกตาผมมาก ๆ"
"คนแรกคือ มูเซียล่า ที่ผมตั้งใจมาดู และอีกคนคือ จู๊ด เบลลิงแฮม ... เด็กสองคนนี้โคตรจะน่าทึ่งเลย" เนปเป้ กล่าว
จากนั้นทีมวิเคราะห์ทำงานกันหนัก ขณะที่ทีมสเกาท์ก็ตามฟอร์มของ มูเซียล่า ติด ๆ ผ่านการเล่นในทีมเยาวชนรุ่นยู 18 ของ เชลซี จนการสอดส่องจบใน 3 เดือน สุดท้ายพวกเขาตกผลึกว่า มูเซียล่า ดีพอที่จะเสี่ยง
เนปเป้ อธิบายเพิ่มว่าสาเหตุที่ดูนักเตะถึง 3 เดือน ทั้ง ๆ ที่เห็นครั้งแรกก็ร้องว้าวแล้วก็เพราะว่า ทุก ๆ ดีลต้องลงลึกทั้งรูปแบบวิธีการเล่น ข้อมูลต่าง ๆ ด้านฟุตบอลของเด็ก ๆ เหล่านั้น และที่สำคัญที่สุด คือการตรวจสอบข้อมูลปูมหลัง เพื่อให้เห็นทัศนคติ และนิสัยคร่าว ๆ เพราะนักเตะวัยรุ่น เรื่องของทัศนคติสำคัญมาก หลายคนเก่งตอนเด็ก แต่ดับไปดื้อ ๆ เพราะไม่พัฒนาตัวเอง ไม่มีมายด์เซ็ตที่ดี ดังนั้น บาเยิร์น จึงทำการบ้านกับ มูเซียล่า หนักมาก
"พวกเราประชุมกันนานมากกว่าจะได้รู้จักมูเซียล่าให้มากที่สุด จากนั้นเราจึงค่อยเริ่มสเต็ปต่อไป นั่นคือการเข้าถึงครอบครัวของเขา จุดนี้คุณต้องใส่ใจมาก ๆ เราต้องเห็นถึงหัวอกของผู้ปกครองเด็ก ๆ พวกนี้ พวกเขาอาจจะเป็นนักเตะของคุณ แต่พวกเขาก็เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่พวกเขาเช่นกัน"
"สิ่งที่เราเสนอคือความชัดเจน การให้คำมั่นสัญญาในอนาคตว่าจะมีอะไรรอเขาอยู่ที่ บาเยิร์น มิวนิค และเขาจะเติบโตอย่างไรภายใต้การดูแลของเรา เมื่อคุณเสนอ คุณก็จะเห็นการตอบสนองของพวกเขา และสำหรับ มูเซียล่า ผมบอกได้เลยว่าเด็กคนนี้ถูกต้องตามตำราทุกอย่าง
"เขาอาจจะพูดน้อย แต่สำหรับเด็กอายุ 15-16 ปี แต่ละคำที่พูดคุณเข้าใจได้เลยว่าเขารู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไร เขาชัดเจนแค่ไหน หลายครั้งเราได้เห็นความทะเยอทะยานในแววตา และนั่นคือเหตุผลที่ มูเซียล่า ยอดเยี่ยมสุด ๆ ณ ขณะนี้ " เนปเป้ กล่าว
ตาดีได้ ตาร้ายเสีย
ปัจจุบันตลาดนักเตะดาวรุ่งกำลังฮอตฮิตแบบสุด ๆ นักเตะที่พิสูจน์ตัวเองแล้วมีราคาสูงมากเกิน 60 ล้านปอนด์ทั้งนั้น ยามที่เราเห็นตามหน้าข่าวต่าง ๆ เอาง่าย ๆ แค่ในซัมเมอร์นี้ จาร์ราด แบรนท์เวต กองหลังของ เอฟเวอร์ตัน ถูกตั้งราคาไว้ 70 ล้านปอนด์, ชูเอา เนเวส ของ เบนฟิก้า มีราคาถึง 80 ล้านปอนด์โดยประมาณ ไหนจะดาวรุ่งคนอื่น ๆ ที่เราแทบจะไม่ได้ยืนชื่อ แต่ต้นสังกัดก็เปิดราคาแบบสูงเสียดฟ้าทั้งนั้น
ความนิยมในการซื้อดาวรุ่งเอามาใช้ยาว ๆ ส่งผลต่อเนื่องมาถึงกลุ่มนักเตะที่ยังเล่นเฉพาะในทีมเยาวชน และยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง มีการแข่งขันกันในทีมแมวมอง และทีมหลังบ้านของแต่ละสโมสรมากขึ้น และท้ายที่สุดก็ต้องมาบิดราคาแข่งกัน ซึ่งในจุดนี้ทีมไหนที่อยากได้มากก็จะต้องจ่ายค่าชดเชย หรือค่าตัวมากหน่อย และแน่นอน ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าเด็ก ๆ ที่พวกเขาหยิบมาจะเก่งกาจอย่างที่หวังทุกคน
แมนฯ ซิตี้ เองอาจจะทำเงินกับการดึงนักเตะเยาวชนจากทั่วโลกมารวมไว้ที่ศูนย์ฝึกของพวกเขา แต่ก็มีอีกหลายคนที่ปลายทางไม่สวยงามนัก ทั้งแง่ฟอร์มการเล่น หรือในเชิงธุรกิจ หลายครั้งพวกเขาก็ต้องเลี้ยงนักเตะจนหมดสัญญาและปล่อยไปฟรี ๆ โดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย ... นี่คือตัวอย่างของราคาความเสี่ยงของการซื้อนักเตะที่ยังไม่ได้ผ่านเกมระดับอาชีพ
ไม่ใช่แค่ซิตี้เท่านั้น ทีมอื่นก็มีให้เห็น ยกตัวอย่างเช่นเพื่อนบ้านอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ซื้อดาวรุ่งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองมาก็เยอะแยะมากมาย อาหมัด ดิยาโล่ เล่นระดับอาชีพไม่กี่เกม ถูกซื้อมาในราคา 37 ล้านปอนด์ ไหนจะยังมีดาวรุ่งที่ขึ้นชั้นไม่ได้แต่ซื้อมาแพงอย่าง ฮันนิบาล เมจบรี้ ที่ซื้อมาจาก โมนาโก ถึง 10 ล้านปอนด์ แต่จนแล้วจนรอดก็ทำได้แค่ปล่อยยืมตัว หรือใช้งานในฐานะตัวสำรองอดทนเท่านั้น
ที่สุดแล้วแม้เทรนด์โลกจะเปลี่ยน แต่การเตรียมหลังบ้านที่ดี การมีทีมวิเคราะห์ที่อ่านขาด และมีแมวมองที่สัญชาติญาณในการมองทะลุผู้เล่นสูง ๆ จะช่วยให้คุณประหยัดเงินในการทำทีมได้เยอะแยะมากมาย
ยืนยันได้จากทีมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ต้องรื้อหลังบ้านกันใหม่หมด เพราะต้องการใช้เงินกับการซื้อตัวนักเตะดังให้น้อยลง และหยิบเยาวชนมาปั้นให้ได้มากขึ้น โดย เซอร์ จิม แรดคลิฟฟ์ ก็ออกมาพูดด้วยตัวเองว่า นโยบายของเขาจะไม่ใช่การซื้อ เอ็มบัปเป้ แต่เป็นการหา เอ็มบัปเป้ คนใหม่ ... ซึ่งเป็นคำอธิบายให้เห็นภาพว่าเทรนด์ตอนนี้ การลงลึกกับนักเตะเยาวชน และทุ่มเงินตั้งแต่พวกเขาอายุยังน้อยได้เริ่มขึ้น และติดตลาดเป็นที่เรียบร้อยในแบบที่ทุกทีมต้องทำ
ท้ายที่สุดแล้วการฉกตัว จามาล มูเซียล่า คือสูตรสำเร็จที่บาเยิร์น มีแต่ได้กับได้ทั้งหมด หนำซ้ำแรงกระเพื่อมนี้ยังถูกส่งไปถึงทีมชาติเยอรมันที่กำลังโลดแล่นในยูโร 2024 ครั้งนี้อีกด้วย เนื่องจาก มูเซียล่า ได้อยู่กับทีมขวัญใจตั้งแต่เด็ก ได้ซ้อมและได้สัมผัสนักเตะทีมชาติเยอรมันที่เป็นไอดอลมากมายในทีม สุดท้ายวงการฟุตบอลเยอรมันก็ได้เพชรเม็ดงามเม็ดนี้ไปครอง
แหล่งอ้างอิง:
https://www.bavarianfootballworks.com/2022/10/4/23384749/bayern-munich-scout-marco-neppe-jamal-musiala-england-borussia-dortmund-jude-bellingham-chelsea-mane
https://www.transfermarkt.com/jamal-musiala/profil/spieler/580195
https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/who-is-jamal-musiala-bayern-munich-s-half-england-germany-star-of-the-future-11525
https://www.goal.com/story/the-making-of-jamal-musiala/index.html