Feature

ทำไมโค้ชชาวอังกฤษตกยุค แม้แต่ทีมชาติตัวเองยังไม่เลือก ? | Main Stand

การแต่งตั้ง โทมัส ทูเคิ่ล ขึ้นมาเป็นเฮดโค้ชทีมชาติอังกฤษ ทำให้มีกระแสต่อต้านในคนอังกฤษบางกลุ่ม เพราะเชื่อว่าทีมชาติของพวกเขาควรเลือกโค้ชที่เป็นชาวอังกฤษด้วยกันมากกว่า 

 

แต่เราทุกคนต่างรู้ ถ้ามีโค้ชอังกฤษที่เก่งจริง สมาคมฟุตบอลอังกฤษ คงต้องทาบทามเขาคนนั้นมารับตำแหน่งสำคัญแน่ ๆ ... เพียงแต่ว่าปัญหาคือมันไม่มีนี่สิ เอฟเอ จึงต้องแต่งตั้งชาวต่างชาติขึ้นมารับตำแหน่งนี้ 

คำถามต่อมาและเป็นคำถามสำคัญคือ ทำไมโค้ชอังกฤษถึงไม่เก่ง ทั้ง ๆ ที่ฟุตบอลในประเทศของพวกเขาคือหนึ่งในวัฒนธรรมที่เฟื่องฟูมากที่สุด ?

เรื่องนี้มีคำตอบ ติดตามได้ที่ Main Stand

 

สถานการณ์โค้ชอังกฤษ ณ ปัจจุบัน 

ไม่แปลกอะไรเลยที่เอฟเอ แต่งตั้ง โทมัส ทูเคิ่ล เข้ามารับตำแหน่งกุนซือทีมชาติอังกฤษ เขาคนนี้เคยคุมทีมลงเล่นในเกมระดับสูงอย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกมาถึง 67 นัด เขารอบรองชนะเลิศได้ 4 ครั้ง และได้แชมป์มาอีก 1 สมัย โดยมีโค้ชที่ทำได้มากกว่าเขาไม่มากนัก (17 คน) และที่สำคัญ ไม่มีโค้ชดีกรีดี ๆ แบบนี้คนไหนเป็นชาวอังกฤษเลยแม้แต่คนเดียว 

หากคุณกวาดตามองตำแหน่งกุนซือชาวอังกฤษ ณ ตอนนี้ แม้แต่ตัวท็อปที่สื่อยกชื่อมาเป็นแคนดิเดตกุนซือทีมชาติอย่าง แกรห์ม พ็อตเตอร์, เอ็ดดี้ ฮาว, แฟรงค์ แลมพาร์ด, สก็อต พาร์คเกอร์ ... กุนซือเหล่านี้เคยคุมทีมลงเล่นในแชมเปี้ยนส์ลีกรวมกันแค่ 31 เกมเท่านั้น ชัดเจนว่านั่นไม่ดีพอในการพาทีมชาติอังกฤษไปถึงแชมป์ระดับเมเจอร์ ซึ่งเรื่องนี้ ซีอีโอของ เอฟเอ ยังต้องยอมรับด้วยตัวเอง

"เราไม่แปลกใจที่หลายคนเชียร์โค้ชในประเทศที่เป็นแคนดิเดตประมาณ 5-10 คน พวกเขาทำหน้าที่ได้ดีในระดับสโมสร แต่เราต้องยอมรับว่าพวกเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น (จุดที่รับงานใหญ่ได้)" มาร์ค บัลลิงแฮม ซีอีโอของ เอฟเอ กล่าว

อันที่จริงภาพรวมมันก็ไม่แย่ถึงขนาดที่ว่าไม่มีอะไรดีเลยสำหรับกุนซือชาวอังกฤษยุคนี้ เพราะยุคปัจจุบันมีโค้ชหลายคนที่เป็นคนหนุ่มก้าวขึ้นมาประดับวงการ หลายคนเป็นนักเตะดังในยุค 2000s อาทิ ไมเคิล คาร์ริค, เวย์น รูนี่ย์, สตีเว่น เจอร์ราร์ด รวมถึง แลมพาร์ด 

ไหนจะเป็นนักเตะระดับลีกสูงสุดอย่าง แกรี่ โอนีล, รัสเซลล์ มาร์ติน, ร็อบ เอ็ดเวิร์ดส์ ขณะที่บางคนก็เป็นพวกที่ทำงานสายโค้ชมาตั้งแต่ยังวัยรุ่น ชนิดว่าเกิดมาเพื่อสิ่งนี้อย่าง คีแรน แม็คเคนน่า, มาร์ค บอนเนอร์, ลุค วิลเลี่ยมส์, เลียม แมนนิ่ง และ ไมเคิล สคูบาลา เป็นต้น  

พวกเขาเหล่านี้อายุยังน้อย และหลายคนยังไม่ถึง 40 ปีเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นพวกเขายังมีโอกาสก้าวหน้าในอนาคต แต่ ณ ตอนนี้ต้องยอมรับว่าไม่มีคนไหนที่เก่งและมีบารมีมากพอ 

เรื่องจำนวนโค้ชรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง แต่ปัญหาคือสโมสรฟุตบอลอังกฤษไม่จ่ายเงินจ้างโค้ชอังกฤษคุมทีม โดยเฉพาะทีมในลีกสูงสุดที่ ณ ตอนนี้มีอัตราการจ้างโค้ชต่างชาติ โดยเฉพาะชาติแถวหน้าในยุคนี้อย่าง สเปน, เยอรมัน และ โปรตุเกส ที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่

ตามรายงานของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า เกี่ยวกับความสามารถของสโมสรในยุโรปและภูมิทัศน์การแข่งขัน ในปี 2023-24 สโมสรในพรีเมียร์ลีกจ้างโค้ชชาวอังกฤษคุมทีมเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5 สโมสร เท่านั้น

ส่วนอีก 4 ลีกในระดับท็อปของยุโรป ใช้โค้ชคนบ้านเดียวกันเยอะกว่าอย่างสิ้นเชิง กัลโช่ เซเรีย อา มีโค้ชชาวอิตาลีคุมทีม 82 เปอร์เซ็นต์, ลา ลีกา จ้างโค้ชชาวสเปนทั้งหมด 81 เปอร์เซ็นต์, บุนเดสลีกา จ้างโค้ชชาวเยอรมันคุมทีม 63 เปอร์เซ็นต์ และลีกเอิง จ้างโค้ชชาวฝรั่งเศสคุมทีมทั้งหมด 58% ... อังกฤษน้อยกว่าใครเขาเพื่อน ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ ? 

 

ฟุตบอลทุนนิยม 

นับตั้งแต่การรีแบรนด์จากฟุตบอลดิวิชั่น 1 มาเป็นพรีเมียร์ลีก และอัดงบเพิ่มเงินทุนสำหรับการทำฟุตบอลที่เอื้อต่อความบันเทิงและสร้างเม็ดเงินรายรับที่มากขึ้น นับตั้งแต่นั้น เดิมพันในฟุตบอลพรีเมียร์ลีกก็สูงขึ้นมาก 

ไม่ใช่แค่ทีมระดับแถวหน้าของลีกเท่านั้น แม้แต่ทีมเล็ก ๆ ระดับหนีตายก็ไม่อยากจะจ้างโค้ชอังกฤษ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ อย่างที่บอก งานใหญ่ งานสำคัญ เดิมพันสูง คุณไม่อยากจะเสี่ยงกับคนที่ไม่เก่งจริงแน่นอน อย่าลืมว่าแม้แต่การอยู่รอดตกชั้น คุณก็มีรายได้การันตีต่อปีถึง 100 ล้านปอนด์ขึ้นไปแล้ว 

ดังนั้นจำนวนเงินที่มากขนาดนี้ พวกเขาพร้อมจะเอาไปจ้างโค้ชที่มีฝีมือและมีประสบการณ์มาทำงาน มากกว่าที่จะจ้างโค้ชอังกฤษที่นอกจากจะไม่ค่อยมีใครโดดเด่นเห็นชัดแล้ว ในหน้าประวัติการทำงาน โค้ชอังกฤษก็ประสบความสำเร็จน้อยมากนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผู้จัดการทีมขาวอังกฤษคนสุดท้ายที่พาสโมสรของเขาคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษได้คือ โฮเวิร์ด วิลคินสัน ที่พาลีดส์ คว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 ในฤดูกาล 1991-92 และนับตั้งแต่เข้าสู่ยุคพรีเมียร์ลีกเป็นต้นมา ไม่เคยมีใครทำได้อีกเลย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุค 2000s เป็นต้นมา การแข่งขันก็สูงขึ้น เข้มข้นขึ้น แม้กระทั่งเจ้าของสโมสรชาวอังกฤษก็เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะมีนักลงทุนต่างชาติเห็นช่องทางการทำเงิน กระโดดเข้ามาร่วมเล่นเกมธุรกิจในโลกกีฬานี้ ยิ่งเจ้าของเป็นคนประเทศอื่น โค้ชคนอังกฤษก็ยิ่งหางานยากไปอีก 

"เหตุผลหลักที่ทำให้มีโค้ชชาวต่างชาติในอังกฤษมากขึ้น ก็เพราะเจ้าของทีมเป็นชาวต่างชาติ ในสเปนและอิตาลี พวกเขาชอบมอบโอกาสให้กับโค้ชของตนเองมากกว่าที่จะดึงคนอื่นจากภายนอกเข้ามา" ฟิล เนวิลล์ กล่าวไว้กับ BBC 

ขณะทื่ ริค แพร์รี่ อดีตประธานสโมสรของ ลิเวอร์พูล ในช่วงยุค 1990s ก็ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นแล้ว และทุกคนยอมรับความจริงว่าโค้ชต่างประเทศพาทีมไปถึงเป้าหมายได้มากกว่า เรื่องนี้แทบไม่ต้องลงลึกอะไรเลย เพราะผลงานมันเห็น ๆ กันอยู่ 

"การมาถึงของ อาร์แซน เวนเกอร์ ที่อาร์เซน่อล ทำให้แนวทางการทำงานของเราเปลี่ยนไป จากนั้นพวกเราทุก ๆ ทีมก็ต้องการนำคนจากภายนอก มาเพิ่มการเล่นมิติในสไตล์ฟุตบอลแบบของยุโรปมาด้วย" 

"เราชาวอังกฤษต่างยอมรับว่า ความรู้สึกในแง่ของบรรยากาศมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เรารู้สึกว่าเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกถูกยกระดับการเล่นให้สูงขึ้นไปอีก มีความหลากหลาย เป็นสากลอย่างมาก และมันทำให้เราจำเป็นต้องข้ามพรมแดนของการเป็นชาตินิยมแบบเลี่ยงไม่ได้ คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ เราต้องการประสบการณ์ในยุโรปเพื่อเพิ่มฐานของเราและแข่งขันในยุโรป" ริค แพร์รี่ ว่าแบบนั้น

 

จะโทษใครได้มากกว่าโทษตัวเอง

โลกมันเป็นแบบนี้เสมอ ... ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ฟุตบอลอังกฤษทำเงินถล่มทลายครองโลกในแง่ความนิยม พวกเขาดึงดูดโค้ชและนักเตะเก่ง ๆ มารวมกันที่อังกฤษ และแน่นอนว่าสิ่งที่เสียไปคือโอกาสการทำงานของโค้ชและนักเตะท้องถิ่น ที่ต้องลงไปทำงานในระดับที่ต่ำกว่า 

ไม่แปลกที่มันจะเป็นแบบนั้น แต่สิ่งสำคัญ ดูเหมือนว่ามันจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ความสำคัญด้วย ถ้าพวกเขาช่วยเหลือและมีช่องทางที่เอื้อแก่โค้ชอังกฤษตั้งแต่แรก บางทีความสำเร็จและเงินทองอาจจะมาพร้อม ๆ กันก็ได้ 

ต้องยอมรับว่าอังกฤษไม่เคยให้คุณค่ากับการฝึกสอนสำหรับโค้ชจริง ๆ หากพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ของเอฟเอในปี 2011-2015 หรือ 2020-2024 ก็จะพบว่าไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับเป้าหมายการออกใบอนุญาตหรือการศึกษาของโค้ชเลย

ในแผนล่าสุด มี "เป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงเกม" 6 ประการ อันเป้าหมายระยะยาวที่ FA ยอมรับว่าน่าจะใช้เวลามากกว่า 4 ปี

จุดเน้นคือการพัฒนาเกมของผู้หญิง การสร้างสนาม "คุณภาพ" 5,000 สนาม การเข้าถึงผู้คนมากกว่า 2 ล้านคนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล การเพิ่มความน่าดึงดูดและรายได้ของถ้วยรางวัล ลดการเลือกปฏิบัติ และการคว้าถ้วยรางวัลสำคัญ ... แผนงานปัจจุบัน แทบไม่มีการพูดถึงการสร้างโค้ชท้องถิ่นมากนัก 

อย่าลืมว่าการเรียนโค้ชระดับหลักสูตร UEFA 'A' ไลเซ่นส์ มีค่าใช้จ่าย 4,000 ปอนด์ในอังกฤษ และ Pro License มีค่าใช้จ่าย 13,700 ปอนด์ โดยปกติแล้ว สโมสรจะเป็นผู้จ่ายค่าหลักสูตรเหล่านี้ แทบไม่มีโค้ชคนไหนที่ออกเงินเรียนเอง ส่วนหนึ่งเพราะไม่ค่อยมีคนมีเงินสำรองหลายหมื่นปอนด์เพื่อส่วนนี้ (จากการสำรวจความคิดเห็นของ The Athletic)

ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับชาติที่มีโค้ชเก่ง ๆ เยอะอย่าง สเปน คุณก็จะเห็นภาพชัดกว่าเดิม ... ค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับ Pro License ในอังกฤษนั้นถือว่าแพงกว่าในสเปน (6,000 ยูโร) ถึงสองเท่า เรียกได้ว่าอังกฤษแพงกว่าใครเขา แต่เรื่องขององค์ความรู้และความเป็นอินเตอร์เข้ากับโลกฟุตบอลสมัยใหม่นั้น ฝั่งสเปน และเยอรมัน นำหน้าพวกเขาไปไม่น้อย 

เรื่องนี้ยืนยันได้จากโค้ชอังกฤษหลายคนอาทิ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส, แกรห์ม พ็อตเตอร์ และโค้ชรุ่นใหม่อีกหลายคน ต้องออกมาเรียนรู้ศาสตร์ฟุตบอลในประเทศอื่น ๆ ก่อนที่จะได้ทำงานในประเทศของตัวเอง

ดังนั้นจากสิ่งที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าการดูแลจากรากสำคัญมาก และที่สำคัญกว่าคือเมื่อคุณให้พวกเขาฝึกหัดแล้ว คุณจะต้องหาเวทีที่การแข่งขันสูง เพื่อให้พวกเขาได้พาตัวเองไปอีกขั้น ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต่างกับสิงห์สนามซ้อม เพราะงานโค้ชนั้นมันไม่ใช่เรื่องของทฤษฎีอย่างเดียว การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการบริหารจัดการคน คือสิ่งที่พบเจอและเรียนรู้ได้จากประสบการณ์จริงเท่านั้น 

ฟุตบอลอังกฤษอาจจะผลักดันฟุตบอลรากหญ้ามาโดยตลอด มีลีกระดับดิวิชั่นมากกว่า 16 ดิวิชั่น เพื่อให้ตอบโจทย์กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และในประเทศพวกเขาก็มีสโมสรมากมาย และมีวัฒนธรรมฟุตบอลที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก

เพียงแต่ว่าความศิวิไลซ์ที่ต้องคอยวิ่งตามกระแสความนิยมจากแฟน ๆ การทำฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จ และสนุกตอบโจทย์ตลาดคนดูทั่วโลก มันก็เหมือนดาบสองคมที่กลับมาทำร้ายบุคลากรที่พยายามจะยกระดับจากรากหญ้า ขึ้นไปยังระดับที่สูงขึ้นอีกเทียบเคียงสากล  

มันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ แกเร็ธ เซาธ์เกต ไม่สามารถพาทีมชาติอังกฤษคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ได้สักรายการ เพราะไม่อย่างนั้น ความสำเร็จของเขาอาจจะพอเปลี่ยนแนวคิดของสโมสรดัง ๆ หรือสโมสรระดับท็อปของประเทศที่มีต่อโค้ชอังกฤษท้องถิ่นได้ 

แต่ในเมื่อยังไม่มีความสำเร็จที่จับต้องได้ โค้ชอังกฤษก็ยังคงต้องทำงานหนักต่อไป เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างเทรนด์ใหม่ ๆ ให้พวกเขากลับมาเป็นโค้ชที่มีคนอยากจะจ้างในงานใหญ่ ๆ อีกครั้ง 

แต่พวกเขาอาจจะต้องพึ่งตัวเองมากหน่อย ในยุคที่กลไกของฟุตบอลที่นี่หมุนไปตามเงินก้อนโตและความสำเร็จที่ยอมเสียให้ใครไม่ได้แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.reddit.com/r/football/comments/1bns692/why_is_there_a_lack_of_successful_english/
https://socceramerica.com/epl-teams-thrive-but-not-english-coaches/
https://sites.marjon.ac.uk/tsleeman/2017/04/25/tom-sleeman-long-form-journalism/
https://www.marca.com/en/football/international-football/2017/07/04/595b9b5b268e3e200f8b4651.html
https://www.nytimes.com/athletic/5853035/2024/10/21/thomas-tuchel-english-coaches-pathway/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ