Feature

เกมต่อไป แมนฯ ยูไนเต็ด ? : เปิดเบื้องหลังการเป็น "เซียนยิงต้นเกม" ของเบรนท์ฟอร์ด | Main Stand

โทมัส แฟรงค์ พูดประโยคสุดท้ายก่อนพับไมค์ในการให้สัมภาษณ์ก่อนเกมเยือน แมนฯ ยูไนเต็ด ในวันเสาร์นี้ว่า "ผมหวังว่าเราจะยิงประตูเร็วได้อีกครั้ง" 

 

ฟังดูเหมือนโอ้อวด แต่พวกเขาเป็นเซียนเรื่องนี้ และมันยืนยันได้จาก 4 เกมพรีเมียร์ลีกที่ผ่านมา ... พวกเขายิงประตูในนาทีที่ 1 ของเกมได้ถึง 3 นัด ส่วนอีกเกมเป็นการยิงประตูในนาทีที่ 2 

ถ้ามันทำได้ง่าย ๆ เราคงไมมีอะไรต้องวิเคราะห์ แต่เพราะมันยากและมันไม่ใช่เรื่องเอิญนี่แหละ เราถึงต้องมาดูกันว่า เบรนท์ฟอร์ด ทำมันอย่างไร ?

 

เบรนท์ฟอร์ด 2.0

เบรนท์ฟอร์ด คือสโมสรที่ไม่ได้มีชื่อคุ้นหูแฟนบอลเลยหากย้อนเวลากลับไปในช่วง 2 ทศวรรษก่อน ... จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องตัวกุนซือใหม่เป็น โธมัส แฟรงค์ กุนซือชาวเดนมาร์กที่ไม่เคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพมาก่อน โดยผ่านงานมากับสโมสร บรอนด์บี้ ในลีกบ้านเกิด 

การมาของแฟรงค์ เปลี่ยนเบรนท์ฟอร์ดให้เป็นทีมที่เล่นฟุตบอลแบบยุโรปสไตล์โมเดิร์น เพรสซิ่ง แย่งบอลเร็ว เข้าทำไว โดยมองเรื่องการครองบอลเป็นเรื่องรองลงมา เพียงแต่ว่ายังคงรักษากลิ่นอายของฟุตบอลอังกฤษอยู่บ้างตรงที่มีการใส่ใจในรายละเอียดของการเล่นลูกตั้งเตะทุกรูปแบบ และไม่ลืมที่จะใช้นักเตะตัวสูงใหญ่เป็นส่วนประกอบสำคัญในทีมของเขา ซึ่งนั่นแหละคือเหตุผลที่เบรนท์ฟอร์ดเริ่มเป็นทีมเล่นสนุก ยิงกระจาย จนกระทั่งได้ขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกในท้ายที่สุด

"การเล่นในระดับเดอะ แชมเปี้ยนชิพ และพรีเมียร์ลีกมันมีความต่างแน่นอน" แฟรงค์ ที่คุมทีมมาแล้ว 8 ปี เริ่มเล่าตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ 

"ตอนที่เรายังเล่นในแชมเปี้ยนชิพ เรายิงประตูได้มากที่สุดสองปีติดต่อกัน เรามีสถิติการครองบอลสูงที่สุดในดิวิชั่นนี้ เราครองเกมได้มากกว่า”

“เราอยากทำแบบเดียวกันในพรีเมียร์ลีก แต่เราต้องคำนึงด้วยว่าในลีกดิวิชั่นรองลงมานี้ก็มีสโมสรใหญ่ๆ อยู่ไม่กี่ทีม ดังนั้นเมื่อเราก้าวขึ้นมาในลีกสูงสุด สิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องค้นหาจุดยืนของเราในลีกที่ดีที่สุดในโลกอย่างพรีเมียร์ลีกให้ได้ เรากำลังพัฒนาวิธีการเล่นที่อาจจะสวยงามน้อยหน่อย แต่จับต้องได้จริงในแง่ของผลลัพธ์ ... เราจึงเปลี่ยนจาก เบรนท์ฟอร์ด 1.0 มาเป็น เบรนท์ฟอร์ด เวอร์ชั่น 2.0 แบบที่เป็นในตอนนี้" 

“การปรับตัวคือธรรมชาติของทุกสิ่ง ดังนั้นต่อให้เราต้องการที่จะครองบอลให้มากขึ้น การครองบอล 60-70 เปอร์เซนต์มาแค่ไหน มันก็ไม่สำคัญเท่าการอยู่บนโลกแห่งความจริง สำหรับผมแล้วมันไม่สำคัญเลยสำหรับการครองบอล"

"สิ่งที่ผมต้องการมากกว่าคือเราสามารถขึ้นไปอยู่ในอันดับต้น ๆ ของตารางในเรื่องค่า xG สูงสุดต่อการยิงและเปอร์เซ็นต์การยิงเข้าเป้า ... สถิติแบบนี้สิที่จะทำให้ผมยิ่งดีใจเข้าไปอีก"   

การจับต้องได้ที่แฟรงค์บอก หมายถึงการรู้จุดแข็งของตัวเอง รู้จักประมาณตนและยอมรับความเป็นจริง ไม่ฝืนทำอะไรที่ยากเกินศักยภาพ ดังนั้นฟุตบอลไดเร็กต์ที่เน้นความรวดเร็ว และการครอสจากริมเส้นด้วยลูกโด่งคือเทคนิคหากินที่เบรนท์ฟอร์ดในยุคแฟรงค์ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 เสมอ

พวกเขาเป็นสโมสรแรก ๆ ในอังกฤษที่จ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องลูกเซ็ตพีซมาทำงาน ก่อนจะกลายเป็นตำแหน่งยอดนิยมที่สโมสรไหนก็ใช้ในทุกวันนี้ และ นิโคลัส โจเวอร์ โค้ชเซ็ตพีซผู้โด่งดังของ อาร์เซน่อล ก็เริ่มงานในอังกฤษที่แรกกับเบรนท์ฟอร์ดนี่แหละ ก่อนที่ มิเกล อาร์เตต้า สมัยที่เป็นผู้ช่วยของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า จะดึงตัวเขาไปทำงานที่ แมนฯ ซิตี้ และมาลงเอยที่ปืนใหญ่แห่งลอนดอนเหนือ ณ ปัจจุบัน  

ไม่ใช่แค่นั้น หลัง โจเวอร์ ออก เบรนท์ฟอร์ด ก็จ้าง อันเดรียส จอร์จสัน มาสานงานต่อ (ปัจจุบันอยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด) จากนั้นก็เป็นคิวของ เบอร์นาโด คูเอวา (ปัจจุบันอยู่กับ เชลซี) และคนปัจจุบันคือ คีธ แอนดรูวส์ ซึ่งแฟรงค์ให้เครดิตโค้ชเซ็ตพีซเหล่านี้เป็นอย่างมาก และจะเอ่ยถึงเสมอเมื่อมีโอกาส

กลับมาที่เรื่องของ แฟรงค์ และ เบรท์ฟอร์ด อีกครั้ง ถ้าคุณสงสัยว่าทำไมเราต้องพูดถึงสไตล์การเล่นของพวกเขา และแนวทางที่แฟรงค์ใส่มาให้ลูกทีม ... เหตุผลง่าย ๆ ก็เพราะว่ามันเกี่ยวกับการยิงประตูเร็วในช่วงพริบตาแบบที่ว่ากองเชียร์ยังเข้าสนามไม่ครบเลยนั่นเอง 

 

เปิดฉากอยากเร้าใจ

เมื่อ แฟรงค์ บอกว่าฟุตบอลของเขาต้องจับต้องได้จริง กล่าวคือผลลัพธ์ต้องมาก่อน และการเป็นทีมเล็ก มันจะง่ายสำหรับคุณมากหากคุณเกิดขึ้นนำคู่แข่งก่อน เพราะมันจะทำให้คุณได้เล่นในเกมที่ตัวเองถนัด และในขณะเดียวกันถ้าคู่แข่งจิตแข็งไม่พอ การโดนยิงตั้งแต่ไม่กี่วินาทีหลังเขี่ยเริ่มเกม เป็นการทำลายความมั่นใจ และทำลายแผนที่พวกเขาวางไว้เป็นอย่างดี ... เรียกง่าย ๆ โดนเร็วเท่าไหร่ จิตใจก็แตกกระเจิงเท่านั้น ซึ่ง แฟรงค์ จึงตั้งใจคิดสไตล์แบบนี้ขึ้นมา 

“เราทำแบบนั้นได้เพราะเราเน้นสร้างโอกาสในการครอสบอลตั้งแต่เนิ่น ๆ เรามีการเตรียมการกันไว้ทั้งเรื่องเวลาและหาตำแหน่งที่ดีในการเริ่มครอสบอล และการเล่นในจังหวะต่อจากนั้น นอกจากนี้เรายังมีการซ้อมเรื่องการวางบอลไดเร็กต์จากด้านหลังในไทมิ่งที่เหมาะสมด้วย ... ผมบอกได้เลยว่าเราพูดคุยและฝึกฝนกันมามากโข เพื่อให้โอกาสเข้าทำแต่ละครั้ง มีโอกาสเป็นประตูให้มากที่สุด เราจึงมีช่วงเวลาที่เรียกว่า 'การดันขึ้นหน้าเต็มสูบ'" แฟรงค์ กล่าว

ทีนี้เราจะมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละประตูที่เกิดขึ้น 4 นัดติดต่อกัน ที่ เบรนท์ฟอร์ด ออกนำคู่แข่งตั้งแต่ไก่โห่ ประกอบด้วยประตูของ โยอาน วิสซ่า ในวินาทีที่ 28 กับ แมนฯ ซิตี้, ประตูของ ไบรอัม เอ็มเบโม่ ในวินาทีที่ 28 ในเกมกับ สเปอร์ส, ประตูในวินาทีที่ 40 ของ เอ็มเบโม่ ในเกมกับ เวสต์แฮม และประตูในเวลา 1 นาที 24 วินาทีในเกมกับ วูล์ฟส์ โดย นาธาน คอลลินส์ 

ถ้าคุณจำไม่ได้ ให้คุณลองไปหาคลิปในยูทูบดูแต่ละลูกที่กล่าวมา ... ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามันตรงกับที่แฟรงค์บอกเป๊ะ ทุกประตูเริ่มจากการครอสบอลจากด้านข้างในช่วงเวลาที่พวกเขามีผู้เล่นตัวเองในกรอบเขตโทษคู่แข่งอย่างน้อย 4 คน

และที่ยอดเยี่ยมแบบไม่บังเอิญคือ ในจุดสำคัญ ๆ จะมีคนประจำการทั้งหมด ไม่ว่าจะ เสาแรก, เสาสอง, กรอบ 6 หลา และคนคอยสอดเข้ามาเล่นในกรอบ 18 หลา ... นี่ยังไม่รวมตัวดักแถวสองนอกกรอบที่ขึ้นมากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา 

ซึ่งถ้าดูจากสัดส่วนความสูงใหญ่ และการซักซ้อมที่เตรียมกันมาจากบ้าน ไม่แปลก และไม่ฟลุคแน่นอนที่ เบรนท์ฟอร์ด ถูกเรียกว่า "เซียนยิงประตูต้นเกม" ด้วยเหตุนี้ และพวกเขามีแท็คติกเล่นต้นเกมที่มากมาย และคิดขึ้นมาใหม่ตลอดโดยวิเคราะห์การเล่นเกมรับของคู่แข่งไปด้วย ดังนั้นมันจึงยากที่จะหยุด เพราะเมื่อคุณพยายามปิดตัวที่คิดว่าจะเล่น พวกเขาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการยืนตำแหน่งกันใหม่อีก และบางครั้งพวกเขาก็เพิ่มตัวในกรอบเขตโทษให้มากยิ่งกว่า 4 คนด้วย 

ฆูเลน โลเปเตกี กุนซือของ เวสต์แฮม ที่มาแพ้ที่รังเหย้าของ เบรนท์ฟอร์ด เป็นคนที่ออกมายอมรับเรื่องนี้ว่า เบรนท์ฟอร์ด เฉียบจริง และทีมของเขาก็ไม่ได้ประมาทแบบที่หลายคนคิด มีการซ้อมรับมือไว้แล้ว แต่พอเอาเข้าจริงกลับใช้ไม่ได้ 

"คือต้องบอกเลยว่าพวกเราทุกคนรู้สึกอาย ... เราศึกษาวิธีการเล่นของพวกเขาและพบว่าพวกเขายิงประตูในนาทีแรกมา 2 เกมติดต่อกันแล้ว เราเตรียมตัวมาดีมาก แต่สุดท้ายเราก็ยังเสียประตูให้พวกเขาอยู่ดี"

"ผมถึงขั้นเอาสถิติและแผนผังการเล่นของ เบรนท์ฟอร์ด ให้นักเตะดูเลยด้วยซ้ำก่อนที่จะลงแข่ง แต่เหลือเชื่อมั้ยล่ะ ว่าเรากลับได้เห็นภาพที่แย่มาก ๆ ในการเสียประตูเร็วแบบนี้" โลเปเตกี ต้องยกนิ้วให้สำหรับเรื่องนี้ 

 

หลักสำคัญ 3 ข้อ

โทมัส แฟรงค์ เล่าย้อนกลับไปในอดีตว่าก่อนที่เขาจะทำทีมเป็นสายบู๊เล่นสนุก มีความหนักหน่วงแบบนี้ ตัวของเขาเองก็เคยคลั่งไคล้ฟุตบอลแบบติกิ-ตากา สไตล์ บาร์เซโลน่า มาก่อนในอดีต โดยเฉพาะในช่วงที่คุม บรอนด์บี้ เจ้าตัวยอมรับว่าพยายามที่จะทำบอลแนวนั้นให้ได้ท่าเดียว แบบอื่นไม่เอา ไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ

“ผมเคยทำทีมเล่นแบบติกิ-ตากาและครองบอลในเดนมาร์ก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็มีส่วนที่ทำให้ผมสนใจมากที่สุดคือส่วนเกมรุกของฟุตบอล ว่าเราจัดทีมอย่างไรเพื่อทำประตูหรือครองบอลได้ ... มันเกิดขึ้นเพราะแรงบันดาลใจหลัก ๆ ของเรื่องนี้คือ มอร์เทน โอลเซ่น อดีตโค้ชทีมชาติเดนมาร์ก" 

"โอลเซ่น คุมเดนมาร์ก 15 ปี และเป็นโค้ชหัวก้าวหน้ามากในยุคสมัยของเขา เขาให้ความสำคัญกับปีก 2 ข้าง และวิธีการเล่นบอลจากริมเส้น ขณะที่ตำแหน่งเบอร์ 9 และเบอร์ 10 ต้องมีความยืดหยุ่นขึ้นลงกันอย่างมองตาก็รู้ใจ ผมเห็นแล้วผมก็ต้องร้องว่าว้าว !"

การปรับกลยุทธ์ตามคู่แข่ง และการเลือกจุดแข็งของตัวเองในการโจมตี คือสิ่งที่ แฟรงค์ ได้มาจจาก โอลเซ่น ซึ่ง ณ ตอนนี้ความคิดนั้นยังอยู่ในหัวของเขาไม่เปลี่ยนแปลง และทำให้เขามีผลงานที่ยอดเยี่ยมกับ เบรนท์ฟอร์ด ในเวลานี้

"โดยทั่วไปแล้วผมอยากให้ทีมกดดันคู่แข่งแบบบี้กันให้ตายไปข้างในทุก ๆ เกมนั่นแหละ แต่ความจริงมันยาก เพราะเราทำแบบนี้ตลอด 90 นาทีไม่ได้ เราจึงต้องมาดูกันว่าแก่นของมันคืออะไร และผมพบว่ามันคือชุดความคิด ความสามารถ ความกล้าหาญ และความเด็ดเดี่ยวของนักเตะในทีม สิ่งเหล่านี้ทำให้ทีมของคุณจัดการอะไร ๆ ได้ดีมาก ๆ ในช่วงเวลาที่ชี้เป็นชี้ตาย" 

"คุณไม่สามารถอยู่ได้ในฟุตบอลสมัยนี้ด้วยวิธีการเล่นเดียว เราต้องเตรียมการตลอด และเราก็มีแผนบีในแบบของเรา ซึ่งไม่ว่าจะแผนไหนและเจอกับใคร เราก็ต้องการที่จะเป็นผู้ชนะอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือเราเชื่อว่ามันจะไปถึงจุดนั้นได้ด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์" แฟรงค์ กล่าวถึงแนวทางของเขา และยืนยันอีกครั้งว่าการยิงต้นเกมคือสิ่งที่เขาเตรียมมา และไม่ใช่เรื่องฟลุคแต่อย่างใด 

"ผมยืนยันตรงนี้ว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่แค่เราหลับหูหลับตาโยนเข้าไปวัดดวง เรามีวิธีการโยนที่ซ้อมกันมา และทุกคนมีบทบาทที่ชัดเจนในสนาม" 

เจค็อบ ไวท์เฮด นักข่าวจาก The Athletic วิเคราะห์ว่า แฟรงค์ วางแท็คติกการเล่นต้นเกมมาโดยเฉพาะ เรียกว่าการบุกแบบยืนโซน พวกเขาจะเริ่มวางยาวจากหลังในครั้งแรก และจากนั้นในจังหวะที่ 2 ทุกคนจะเข้าประจำแหน่งทันที กระจายตัวออกไปตามที่ซักซ้อมกันมา ... และในกรณีที่โดนแย่งบอลได้พวกเขาจะโหลดผู้เล่นจำนวนมากขึ้นไปแย่งบอลคืน และจากนั้นจะเริ่มครอสบอลเข้าตำแหน่งที่ซ้อมมาแบบทันที 

และเมื่อเขาเอาสิ่งนี้ไปถาม แฟรงค์ หลังเกมเอาชนะ เวสต์แฮม ว่าสิ่งที่เขาวิเคราะห์ไว้ตรงหรือไม่ แฟรงค์ ก็ตอบกลับว่า "เรามีแผนมากมายที่เตรียมมา แต่แนวทางเบื้องต้นคือขึ้นหน้ากันอย่างพร้อมเพียง และพยายามทำให้สำเร็จ ... เล่นไปข้างหน้า เล่นอย่างเร็ว และวางตำแหน่งตัวเองให้ดีเพื่อรอเล่นบอลจังหวะสอง" 

ทั้งหมดคือหัวใจการยิงประตูต้นของของเซียนเบอร์ 1 แห่งพรีเมียร์ลีกอย่าง เบรนท์ฟอร์ด นั่นเอง 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.nytimes.com/athletic/5802689/2024/09/30/brentford-premier-leagues-fast-starts/
https://www.brentfordfc.com/en/news/article/the-long-read-thomas-frank-brentford-interview-feature-premier-league
https://en.wikipedia.org/wiki/Thomas_Frank_(football_manager)
https://www.skysports.com/football/news/15118/13125688/nicolas-jover-arsenals-set-piece-genius-has-transformed-premier-league-title-challengers-threat-from-free-kicks-and-corners

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ