Feature

ประวัติศาสตร์ “มวยโซเวียต” มวยที่ใช้เบสิกในการเอาชนะ | Main Stand

เอ่ยถึงนักมวยสากลจากประเทศรัสเซียในปัจจุบัน เชื่อว่าคนที่โด่งดังที่สุด คงหนีไม่พ้น ดิมิทรี บิวอล

 

นี่คือแชมป์โลกรุ่นไลท์เฮฟวี่เวต 175 ปอนด์ ของ สมาคมมวยโลก หรือ WBA ผู้มีสถิติไร้พ่าย ชก 23 ไฟต์ ชนะรวด เคยล้มยอดมวยอย่าง ซาอูล "คาเนโล่" อัลวาเรซ และยัดเยียดความปราชัยครั้งแรกให้กับทั้ง กิลแบร์โต้ รามิเรซ และ มาลิค ซินาด

บิวอลโดดเด่นจากเทคนิคอันยอดเยี่ยม ระเบียบวินัยในการฝึกซ้อมที่สูง และความฉลาดในการวางกลยุทธ์ในสังเวียน ที่สำคัญคือการชกมวยของเขาถือว่าเป็นคำนิยามที่สมบูรณ์แบบ หากพูดถึง “มวยโซเวียต”

มวยโซเวียตเป็นแบบไหน ? ติดตามเรื่องราวกับ Main Stand ที่นี่

 

ภาพจำของมวยโซเวียต

มวยโซเวียต หรือที่เรียกกันว่า มวยสไตล์ยุโรปตะวันออก นั้นมีลักษณะเฉพาะคือ มีแบบแผน เทคนิค และแนวทางเชิงกลยุทธ์ มวยโซเวียตจะเน้นการฝึกเบสิคให้แน่น การฝึกร่างกายให้แข็งแรงทนทาน และการต่อสู้อย่างเป็นระบบ

มวยสไตล์นี้ให้ความสำคัญกับการรักษาระยะห่างให้ปลอดภัยจากระยะชกคู่ต่อสู้ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมจังหวะการชกบนสังเวียนอย่างเชี่ยวชาญ สไตล์นี้เน้นไปที่ฟุตเวิร์ค คอมโบหมัดอย่างเป็นระบบ และการเน้นไปที่การใช้หมัดแย็บเพื่อป้องกันหรือโจมตี นักมวยสไตล์โซเวียตมักจะเก่งในการหลบหมัดในขณะเดียวกันก็สามารถออกหมัดได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ในยุคของสหภาพโซเวียต มวยสากล มวยปล้ำ และยิมนาสติกถือว่าเป็นกีฬาที่ทรงเกียรติ ทำให้โซเวียตเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถยกระดับมวยสากลไปถึงระดับที่เป็นความภาคภูมิใจของชาติได้ นักมวยโซเวียตส่วนใหญ่แข่งขันในสหภาพโซเวียตเอง โดยมีการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรมากมายที่จัดขึ้นเป็นประจำ

แม้ว่าสหภาพโซเวียตพึ่งจะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1952 แต่กลับประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและคว้าเหรียญทองได้มากมาย ทำให้รัฐบาลต้องการผลักดันมวยสากลไปสู่ระดับที่ไกลกว่าเดิม โดยการสนับสนุนให้เด็กผู้ชายไปฝึกซ้อมกับโรงยิมแถวพื้นที่ของตน

 

จากความป่าเถื่อนของชนชั้นสูง สู่ความภาคภูมิใจของโซเวียต

ย้อนกลับไปในสมัยที่รัสเซียยังคงปกครองด้วยระบอบซาร์ มีวัฒนธรรมการต่อสู้มือเปล่าเกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตามการสู้มือเปล่าในตอนนั้นยังแตกต่างอย่างมากกับมวยที่เราเห็นในปัจจุบัน

ค่ายมวยสไตล์อังกฤษได้เข้ามาเปิดที่มอสโกครั้งแรกในปี 1894 โดยเจ้าหน้าที่ราชองครักษ์ระดับสูง แต่ในเมืองหลวงเก่าของรัสเซียอย่าง เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก วัฒนธรรมการต่อสู้มือเปล่าได้มีมาก่อนหน้านี้ถึง 7 ปีแล้ว ในสมัยนั้นการชกต่อยเป็นกีฬาสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น เนื่องจากการฝึกชกต่อยในระดับสูงนั้นมักจะฝึกกันในเหล่าขุนนางและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นหลัก

หลังจากช่วงปีแรกของการปฏิวัติเดือนตุลาคมปี 1917 รัฐบาลที่พึ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้มาตรการไหนกับวัฒนธรรมการต่อสู้มือเปล่านี้ ในตอนแรกมีแนวคิดที่จะจำกัดหรือระงับการแข่งขันต่อสู้มือเปล่า เนื่องจากเกรงกลัวว่าจะนำไปสู่การแข่งขันใต้ดินโดยมีจุดประสงค์เพื่อหากำไรส่วนตัวซึ่งขัดกับหลักการคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ในปี 1918 วลาดิเมียร์ เลนิน ได้นำระบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมมาใช้ในกองทัพ ระบบใหม่นี้ก็รวมถึงการชกมวยด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ร่างกายและจิตใจของทหารแข็งแกร่งขึ้น

โค้ชมวยและผู้เชี่ยวชาญด้านการชกมวยได้ถูกจ้างให้มาสอนเหล่าทหารในกองทัพ และเนื่องจากความมั่นคงทางการเงินและเศรษฐกิจที่สูงขึ้นซึ่งเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของ เลนิน ในปี 1922 ทำให้ อนาโตลี คาร์ลัมปิเยฟ หนึ่งในผู้พัฒนามวยปล้ำแซมโบ้ ได้บุกเบิกและจัดการแข่งขันการชกมวยอาชีพหลายรายการ เพราะนโยบายเศรษฐกิจของ เลนิน อนุญาตให้ประกอบธุรกิจสำหรับแสวงหากำไร

หลังจากนั้นไม่นานวงการมวยก็เกิดหายนะขึ้น เหตุเกิดจากการชกมวยทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพก็ถูกห้ามโดยสิ้นเชิงในสหภาพโซเวียต เพราะเชื่อว่าการชกมวยมีรากฐานมาจากชนชั้นสูงและไม่ควรมีที่ยืนในสังคมคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ดีในช่วงทศวรรษที่ 1920 หลังจากเป็นที่ถกเถียงมากมาย มวยสากลสมัครเล่นก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และไม่ใช่แค่ฟื้นตัวขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนมากกว่าที่เคยเป็นมาอีกด้วย

ในปี 1927 มีการแข่งขันชิงแชมป์สหภาพโซเวียตครั้งแรกเกิดขึ้น แต่ในตอนนั้นหลายรุ่นน้ำหนักมีนักมวยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น และในบางกรณีมีนักมวยเพียงคนเดียวในรุ่นน้ำหนักของเขา ทำให้นักมวยบางคนคว้าแชมป์ในรุ่นน้ำหนักของตนโดยไม่ต้องชกด้วยซ้ำ เนื่องจากหลายรัฐในโซเวียตยังคงห้ามการชกมวยอยู่ ตัวแทนแต่ละรัฐจึงมีจำกัด

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 การพัฒนาและนโยบายจากรัฐเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น มีการเผยแพร่การชกมวยให้ทั่วถึงอย่างเป็นระบบ และประสบความสำเร็จอย่างมาก จำนวนโรงยิมและโรงเรียนเพิ่มขึ้นในอัตรามหาศาล แม้กระทั่งชมรมมวยหญิงก็ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกและได้รับความนิยมค่อนข้างมาก

แน่นอนว่าการชกมวยแบบหวังกำไรนั้นไม่เป็นที่ยอมรับอย่างมากเพราะขัดต่อคุณค่าของคอมมิวนิสต์ แต่การแข่งขันแบบสมัครเล่นหลายอย่างถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งในการศึกษาที่สำคัญของ พลเมือง, ทหาร และคนงานในโซเวียต จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ในช่วงกลางทศวรรษ 1930 มีจำนวนนักมวยที่จดทะเบียนอยู่ที่ประมาณ 13,000 คน ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 40,000 คน

 

พัฒนาจากการเรียนรู้ตัวเอง

ในช่วงแรกมวยโซเวียตยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุง เนื่องจากในสมัยนั้นมวยยังไม่แตกต่างไปจากการชกหมัดเปล่าของชนชั้นสูงที่สืบทอดมาจากสมัยระบอบซาร์ อีกทั้งยังขาดภาพจำแบบตะวันตกที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตเลือกใช้แนวทางที่แตกต่างออกไปจากแนวคิดแบบตะวันตก รัฐบาลส่งเสริมการชกมวยโดยการปลูกฝังอย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรม โดยมีความคิดที่ว่าการชกมวยเปรียบเสมือนงานฝีมือที่ช่วยส่งเสริมความเป็นมนุษย์ ความเป็นพลเมืองโซเวียต และการเป็นผู้ทักษ์แผ่นดินเกิด สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนโซเวียตมีความกระหายที่จะพัฒนาวงการมวยในประเทศ แม้จะไม่ใช่นักมวยที่จดทะเบียนก็ตาม

แม้ว่าการชกส่วนใหญ่จะเป็นการชกแบบสมัครเล่น แต่ส่วนมากนักมวยจะชกโดยใช้เกณฑ์ของมืออาชีพ  นอกจากนี้โค้ชมวยโซเวียตก็ได้รับแรงบันดาลใจและข้อมูลจากทุกสิ่งที่พวกเขาหาได้ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมตะวันตก วิดีโอการแข่งขันต่อยมวย การฝึกที่พัฒนาขึ้นเอง แม้แต่การฝึกหายใจจากโยคะหรือการใช้วิธีการสะกดจิตตัวเองก็ตาม ผนวกกับการแข่งขันภายในที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นและความคิดสร้างสรรค์ของโซเวียตนี้ทำให้เกิดรูปแบบการชกมวยสไตล์โซเวียตอันเป็นเอกลักษณ์อย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้

แน่นอนว่าในมวยโซเวียตเองก็มีสไตล์แยกย่อยออกไปอีกมากมาย เช่นเดียวกับมวยสไตล์อื่นและศิลปะการต่อสู้ทุกประเภท เพราะว่าโค้ชที่ดีจะบอกนักมวยว่าท้ายที่สุดแล้ว สไตล์หรือรูปแบบที่ตายตัวนั้นไม่มีความหมาย แต่การฝึกฝนนั้นควรยึดตามความสามารถและจุดแข็งของปัจเจกบุคคล 

สมัยนั้นสหภาพโซเวียตยังไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมมวยสากลสมัครเล่นนานาชาติหรือ AIBA มวยสากลของโซเวียตจึงได้แข่งขันและพัฒนาอย่างเคร่งครัดภายใต้การควบคุมของโซเวียตเอง

ในปี 1952 ทีมมวยของโซเวียตได้เข้าร่วมในระดับนานาชาติครั้งแรกในช่วงฤดูร้อน ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จัดขึ้นในกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ การแข่งโอลิมปิกได้ผลักดันวงการมวยในสหภาพโซเวียตให้กว้างยิ่งขึ้น เนื่องจากมวยเปรียบเสมือนความภาคภูมิใจของชาติและส่งเสริมภาพลักษณ์ระดับนานาชาติอีกด้วย

 

เฉิดฉายในระดับนานาชาติ

แม้ว่ามวยสากลจะถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาโอลิมปิกอย่างเป็นทางการในปี 1904 แต่สหภาพโซเวียตก็ใช้เวลานานกว่า 30 ปีกว่าจะเข้าร่วมเข้าร่วมโอลิมปิก ซึ่งต่อมาการแข่งขันระดับนานาชาตินี้จะกลายเป็นตัวแปรที่คอยผลักดันมวยสากลของโซเวียตต่อไป

ตั้งแต่นั้นมา มวยสากลไม่ใช่แค่ศิลปะการต่อสู้ กีฬาสำหรับลูกผู้ชายหรือโปรแกรมการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการส่งเสริมและแสดงความเป็นเลิศทางกีฬาของโซเวียตในเวทีโลก การเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1952 สหภาพโซเวียตสามารถคว้าเหรียญเงิน 2 เหรียญและเหรียญทองแดง 2 เหรียญจากมวยสากล แสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังและการฝึกซ้อมกีฬาแบบฉบับของโซเวียตมีประสิทธิภาพเกินความคาดหมายมาก

หลังจากการฝึกฝนที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและการลงทุนของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โซเวียตสามารถคว้าเหรียญทอง 2 เหรียญในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์ยุโรปในปี 1953 ถึงจะไม่ได้น่าภูมิใจเท่าการได้เหรียญทองโอลิมปิก แต่นี่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับวงการมวยโซเวียต

อย่างไรก็ดี เบื้องหลังความสำเร็จของมวยสากลโซเวียตในยุคนั้น ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับผลงานของ วาเลรี่ โปเปนเชนโก้

 

ผู้ที่ทำให้มวยโซเวียตเป็นที่ประจักษ์

โปเปนเชนโก้ เป็นหนึ่งในนักมวยโซเวียตที่มีอิทธิพลมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ 50 และ 60 เขามีวัยเด็กที่ยากลำบากเนื่องจากต้องโตมาโดยไม่มีพ่อ และถูกชักจูงให้เข้าร่วมกับแก๊งของเหล่าวัยรุ่นในช่วงหลังสงคราม แม่ของเขาตัดสินใจให้เขาเข้าโรงเรียนมวยในท้องถิ่น เพื่อปกป้องเขาจากอิทธิพลของแก๊งต่าง ๆ

โปเปนเชนโก้ก้าวข้ามเด็กในวัยเดียวกันและเพื่อนร่วมยิมอย่างรวดเร็วจนน่าประหลาดใจ จากการแข่งระดับโรงเรียนเลื่อนไปแข่งขันระดับเทศบาล ไปจนถึงการแข่งขันชิงแชมป์ระดับภูมิภาค และหลังจากการฝึกฝนเพียงไม่กี่ปี ในปี 1955 เขาก็กลายเป็นแชมป์ระดับเยาวชนของโซเวียต และสี่ปีต่อมา ในปี 1959 เขาได้กลายเป็นแชมป์รุ่นมิดเดิ้ลเวทของโซเวียต

การแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกของเขาคือในปี 1963 ในการแข่งขันชิงแชมป์ยุโรป ซึ่งเขาก็คว้ารางวัลที่หนึ่งได้ด้วย ความสำเร็จนี้สร้างความประทับใจให้กับทีมโอลิมปิกของโซเวียตมาก จนพวกเขาตัดสินใจเรียกตัวเขาเข้าทีมเพื่อเป็นตัวแทนประเทศในโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 1964 โปเปนเชนโก้สามารถมาถึงรอบชิงชนะเลิศ เขาต้องเผชิญหน้ากับ เอมิล ชูลซ์ แชมป์เยอรมันตะวันออก 5 สมัย

นักชกทั้งสองต่างประหม่าเนื่องจากเป็นโค้งสุดท้ายสู่เหรียญทอง แต่ในตอนท้ายของรอบแรกโปเปนเชนโก้สามารถน็อกชูลซ์ด้วยการต่อยลำตัวอย่างแรง จนสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกครั้งแรกของโซเวียตได้ และยกระดับวงการมวยโซเวียตไปสู่อีกระดับอีกด้วย ความสำเร็จครั้งนี้ได้มอบแรงบันดาลใจให้นักมวยโซเวียตรุ่นใหม่ให้ฝึกฝนให้หนักยิ่งขึ้นเพื่อที่จะก้าวข้ามความสำเร็จของโปเปนเชนโก้

ในปี 1965 โปเปนเชนโก้ได้เข้าร่วมการแข่งขันมวยสากลชิงแชมป์ยุโรปอีกครั้งเพื่อป้องกันแชมป์ ซึ่งในขณะนั้นเขาคือนักมวยอันดับหนึ่งของทวีปอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามหลังจากป้องกันแชมป์ในสำเร็จ โปเปนเชนโก้ประกาศว่าเขามีแผนจะแขวนนวม โดยหลังจากแขวนนวมเขาได้อุทิศตนให้กับวิทยาศาสตร์เทคนิคและเครื่องกล

 

มรดกสู่ปัจจุบัน

เพื่อที่จะออกจากร่มเงาของโปเปนเชนโก้ นักมวยรุ่นต่อมาจึงต้องฝึกฝนอย่างหนัก แต่ก็มีนักมวยหลายคนที่ประสบความสำเร็จในรายการโอลิมปิกอย่างเขา ไม่ว่าจะเป็น บอริส ลากุติน ที่คว้าเหรียญทอง 2 สมัย วาเลเรียน โซโคลอฟ ได้หนึ่งเหรียญทอง โดยรวมแล้วความสำเร็จในวงการมวยสากลได้ก้าวไปถึงระดับสูง ในปี 1988 สหภาพโซเวียตได้สะสมเหรียญทองได้ 51 เหรียญทอง โดยประเทศเดียวที่เทียบเคียงได้ในแง่ของเหรียญมีเพียงคิวบาและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

ในยุคของสหภาพโซเวียตอาชีพนักมวยยังคงเป็นรูปแบบสมัครเล่น โดยนักมวยทุกคนจะมีอาชีพอย่างอื่นนอกจากต่อยมวย โดยเมื่อใกล้ช่วงโอลิมปิกพวกเขาจะสามารถลางานได้ และสามารถมุ่งความสนใจไปที่การฝึกซ้อมได้อย่างเต็มที่ 

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต นักมวยรุ่นต่อยังคงสืบทอดวิธีการฝึกซ้อมของโซเวียตที่ตกทอดมาและแสดงให้โลกเห็นถึงประสิทธิภาพของมวยโซเวียตดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น วลาดิเมียร์ กับ วิตาลี่ คลิทช์โก้, เกนนาดี้ โกลอฟกิ้น, เซอร์เก โควาเลฟ, วาซีล โลมาเชนโก้ และ ดิมิทรี่ บิวอล

มวยโซเวียตไม่เพียงแต่สร้างแชมป์ที่แข็งแกร่ง แต่ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการที่นักมวยในยุคปัจจุบัน มวยโซเวียตเน้นไปที่เทคนิคการชกมวยเช่น การควบคุมหมัด และการเคลื่อนไหวอย่างชาญฉลาด ด้วยเหตุนี้ การชกมวยจึงเป็นมากกว่าการชกแบบเอาแรงเข้าว่า แต่มันเกี่ยวกับการเอาชนะคู่ต่อสู้และใช้ทักษะของคุณในแบบที่มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มวยสไตล์นี้ทิ้งมรดกอันยิ่งใหญ่ไว้ในวงการกีฬา โดยแสดงให้เห็นว่าเทคนิคและสมองนั้นสำคัญพอ ๆ กับพละกำลัง

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=u7Da1DEYVws&t=160s
https://www.youtube.com/watch?v=fI0CBlbCSFI&t=333s
https://easternblockboxing.com/what-is-soviet-union-style-boxing-explained-by-studio-citys-boxing-gym/
https://boxrope.com/blogs/boxing/styles-of-boxing-the-soviet-style

Author

วิศรุต สุขเสริม

"โฟกัส" เด็กฝึกงาน เมนแตนด์

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น