Feature

สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ : นักแบดมินตันที่ออกจากบ้านทองหยอดเพื่อไล่ตามความฝันด้วยตัวเอง | Main Stand

การที่เด็กสาวอายุ 17 ปี เลือกเส้นทางการเป็นนักกีฬาแบดมินตันอาชีพ พร้อมตัดสินใจก้าวออกจากต้นสังกัดอันเป็นเซฟโซนเพื่อมาเผชิญความท้าทายด้วยสองมือและทุนทรัพย์ของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่มีให้เห็นบ่อยนักในเมืองไทย

 

วันนี้ “ส้ม” สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ น้องสาวของ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันชายเดี่ยวมือ 1 ของไทย ได้ตัดสินใจเลือกทางเดินดังกล่าวเพื่อไล่ล่าความฝันของตัวเอง

แม้เธอจะมีต้นทุนทางครอบครัวทั้งด้านกีฬาและการเงินที่มากกว่าใครอีกหลายคน แต่ทุกอย่างล้วนต้องแลกมาด้วยความกดดันอันยิ่งใหญ่ที่ต้องแบกรับ ดั่งที่เธอบอกไว้ว่า “ต้องเก่งอย่างเดียวถึงจะช่วยแม่ประหยัดได้” ไม่เช่นนั้นทุกอย่างที่ลงทุนไปคงสูญเปล่า

การตัดสินใจครั้งนี้ของเธอจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand

 

ตามรอยพี่ชาย

ส้ม-สรัลรักษ์ เติบโตขึ้นมาในครอบครัวแบดมินตันที่เพียบพร้อม เธอสัมผัสกลิ่นไอของกีฬาชนิดนี้ตั่งแต่เริ่มจำความได้ เรียกได้ว่าหันไปทางไหนก็จะเจอแต่แร็กเกตกับลูกขนไก่

คุณพ่อของเธอณัฐวัชร เป็นอดีตนักแบดมินตันมาก่อนจะผันตัวมาเป็นโค้ช โดยมี “วิว” กุลวุฒิ พี่ชายที่อายุมากกว่า 5 ปีเป็นศิษย์เอก … การสนทนาในครอบครัวจึงมักเป็นเรื่องแบดมินตันเป็นหลัก 

นอกจากจะดูการแข่งผ่านหน้าจอทีวีร่วมกับพี่ชายเป็นประจำแล้ว ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เธอยังติดตามครอบครัวไปที่คอร์ตแบดมินตันละแวกบ้านเพื่อดูทั้งคู่ฝึกซ้อม จนเริ่มชอบกีฬาชนิดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

“หนูเห็นพี่เล่นตั้งแต่หนูอายุ 5-6 ขวบ เสาร์-อาทิตย์ก็จะตามไปเล่นกับพี่ ไปตีเล่นที่คอร์ต เลยตีตามพี่มาตั้งแต่ตอนนั้น” สรัลรักษ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงฉะฉาน 

สาวน้อยวัย 17 ปี ดูเผิน ๆ ไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วไปที่มีความน่ารักสดใสสมวัย พูดจาไพเราะไม่เขินอาย แต่ทุกถ้อยคำที่เอ่ยออกมาล้วนแฝงไปด้วยความจริงจังที่สัมผัสได้ สิ่งเหล่านี้ตรงกับบุคลิกของเธอที่บอกว่าตัวเองเป็นคนดื้อเงียบ และไม่ค่อยแสดงออกมาตั้งแต่เด็ก

เธอเล่าต่อว่าหลังจากเล่นได้สักพัก พี่ชายของเธอก็เริ่มจริงจังกับเส้นทางการเป็นนักกีฬามากขึ้นและได้ย้ายไปอยู่ในสังกัดโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด สถาบันลูกขนไก่ชื่อดังของไทยที่ปลุกปั้น “เมย์” รัชนก อินทนนท์ จนขึ้นเป็นมือระดับโลก เธอจึงย้ายเข้ามาอยู่ด้วย

“พี่ย้ายไปอยู่บ้านทองหยอด หนูไปดู เห็นเขาซ้อมเขาเล่นกันเฮฮาสนุกสนาน เลยขอแม่ว่าอยากมาอยู่ที่นี่ด้วย แต่พอไปอยู่จริงมันไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะที่นี่ซ้อมกันหนักมาก”

“แล้วตอนแรกหนูก็ยังไม่ได้จริงจัง เหมือนเด็กงอแง ไม่อยากซ้อม แกล้งเจ็บไปโรงพยาบาลเพื่อหนีซ้อมเลยก็มี พอกลับมาเจอโค้ชก็ต้องแอบหนีขึ้นห้องนอนไม่ให้โค้ชเห็น” เธอเล่าถึงอดีตพร้อมเสียงหัวเราะ

ในรั้วบ้านทองหยอด “ส้ม” ต้องเข้าไปใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่นั่น โดยตารางประจำวันคือซ้อมช่วงเช้าก่อนไปโรงเรียน 05.30-07.00 น. พอเลิกเรียนก็กลับมาซ้อมช่วงเย็นต่อ ตั้งแต่ 17.00-19.00 น.

ช่วงเวลานี้เองที่พี่ชายของเธอ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ เริ่มทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง เดินหน้ากวาดแชมป์ระดับเยาวชนมากมายตั้งอายุ 14 ปี ทั้งแชมป์เยาวชนประเทศไทย แชมป์เยาวชนเอเชีย จนก้าวขึ้นเป็นนักแบดมินตันชายเดี่ยวคนแรกของไทยที่คว้าแชมป์เยาวชนโลกได้เมื่อปี 2017 พร้อมครองแชมป์รายการนี้ได้ถึง 3 สมัยติดต่อกัน

ความสำเร็จของพี่ชายได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่น้องสาว เธอได้เห็นความสำเร็จบนเส้นทางแบดมินตันอย่างใกล้ชิด จึงตัดสินใจแน่วแน่ที่จะจริงจังกับเส้นทางนี้เช่นกัน

 

เผชิญความท้าทาย

หลังจากตัดสินใจแล้วว่าจะเอาจริงเอาจังบนเส้นทางแบดมินตัน ส้มเริ่มฝึกซ้อมหนักขึ้นแล้วไม่โดดซ้อมอีกเลย 

เมื่อผนวกกับพื้นฐานที่ดีกว่าอีกหลายคนโดยเฉพาะเรื่องครอบครัวที่เป็นนักแบดมินตันและพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ทำให้เธอผลงานดีขึ้นอย่างชัดเจน จากที่เคยแพ้เป็นประจำก็เริ่มคว้าแชมป์ในประเทศ พร้อมยังได้ประสบการณ์ไปแข่งต่างแดนต่อเนื่อง จนในที่สุดก็สามารถคว้าแชมป์เยาวชนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรุ่นไม่เกินอายุ 17 ปี 

“หนูจะปรึกษากับพี่ตลอด เจอคู่แข่งสไตล์นี้ต้องตียังไง ถ้าเขารับเหนียวต้องตียังไง หรือถ้าเจอคอร์ตที่ตีแล้วลูกพุ่งต้องตียังไงดี รวมถึงเวลาดูการแข่งก็จะดูด้วยกันพูดคุยกันตลอด” 

แน่นอนว่าการมีพี่ชายเป็นนักกีฬาฝีมือดีคอยให้คำปรึกษาและแนะนำเทคนิคการฝึกซ้อมย่อมเพิ่มความได้เปรียบให้กับเธอมากขึ้น แต่นั่นก็ตามมาซึ่งแรงกดดันที่เธอต้องเผชิญ โดยเฉพาะการถูกเปรียบเทียบระหว่างทั้งสองคน

“มันก็มีกดดันนะ อยากทำให้ได้แบบพี่ บางทีคนรอบข้างก็แบบ … (หยุดชะงัก) จนกดดันตัวเองมากเกินไป เหมือนถ้าพี่ได้รางวัลนี้ตอนอายุเท่านี้หนูก็อยากทำให้ได้บ้างในอายุเท่ากัน แต่พอไม่ได้ปุ๊ป มันก็แบบทำไมเขาทำได้แต่เราทำไม่ได้” ส้ม เปิดใจ

แม้จะมีความกดดันแต่เธอก็ไม่เคยที่จะปริปากออกมาให้กับครอบครัวได้รับรู้ เธอพยายามแปรเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้กลายเป็นแรงผลักดันแล้วฝึกซ้อมให้หนักยิ่งขึ้น … จนความสำเร็จก็ตามมาในที่สุด ทั้งแชมป์เยาวชนเอเชีย รุ่น 17 ปี, แชมป์ประเทศไทย รุ่น 19 ปี ตลอดจนแชมป์ระดับจูเนียร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรังด์ปรีซ์ ที่อินเดีย, บัลแกเรีย และตุรกี (หญิงคู่) และอีกมากมาย

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้ส้มเริ่มมองเห็นอะไรบางอย่าง จึงตัดสินใจที่จะเผชิญหน้าความท้าทายที่หนักหนาที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต นั่นคือการออกมาเป็นนักแบดมินตันอิสระเพื่อสู้ด้วยสองมือของตัวเอง

ส้มตัดสินใจออกจากโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดที่อยู่มากว่า 7 ปี เพื่อมาเป็นนักแบดมินตันอิสระเพื่อให้สามารถได้ฝึกซ้อมเต็มที่มากขึ้น 

“หนูไม่ได้มีปัญหาอะไร บ้านทองหยอดดูแลหนูดีมาก ให้ซ้อมฟรี เวลาส่งแข่งต่างประเทศก็ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด กับเพื่อน ๆ ก็ดีมาก แต่หนูอยากซ้อมให้เข้มข้นขึ้น อยากจริงจังมากขึ้น ซึ่งที่นั่นมีนักเรียนหลายคนทำให้ต้องใช้คอร์ตซ้อมร่วมกัน”

“พอปรึกษากับครอบครัวแล้วว่าอยากลองออกมาทำเองดู คุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุน เลยตัดสินใจออกมาทางนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อยากใส่ให้เต็มที่” ส้ม เผย

การออกมาเป็นนักแบดมินตันอิสระในครั้งนี้ แม้จะมีผลดีต่อการฝึกซ้อม แต่นั่นก็ต้องแลกด้วยอะไรอีกหลายอย่างที่จะตามมา … โดยเฉพาะปัญหาเรื่องทุนทรัพย์

 

อนาคตที่ต้องพิสูจน์

การที่เด็กสาววัย 17 ปี ตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตด้วยการเป็นนักแบดมินตัน ตะลุยแข่งขันระดับอาชีพตามประเทศต่าง ๆ โดยไม่มีต้นสังกัดสนับสนุนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เห็นได้บ่อยนักในบ้านเรา

นั่นก็เพราะกีฬาแบดมินตันยังไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยมในอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย การแข่งขันและโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะในระดับอาชีพยังมีจำกัด อีกทั้งเงินรางวัลตอบแทนก็ไม่ได้สูงเมื่อเทียบเท่ากับกีฬาอาชีพระดับท็อปอื่น ๆ อาทิ กอล์ฟหรือเทนนิส

ที่สำคัญเธอยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ค่าจ้างโค้ช ค่าสนามซ้อม ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าทำวีซ่า ตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ ต่างที่เคยมีต้นสังกัดคอยสนับสนุนดูแลให้ทุกอย่าง

จึงมีนักหวดลูกขนไก่ไทยไม่กี่รายที่เลือกออกจากเซฟโซนมาเดินเส้นทางนี้ เช่น “ครีม” บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ หรือ “หมิว” พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ ที่ออกจากสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นนักกีฬาที่มีประสบการณ์โชกโชนแล้วทั้งสิ้น

แต่ “ส้ม” อายุเพียงแค่ 17 ปี แถมยังไม่เคยผ่านสังเวียนระดับอาชีพเลยด้วยซ้ำ

“หนูคิดเยอะมาก ออกมามีแต่รายจ่าย เห็นคุณแม่ต้องจ่ายอย่างเดียวเลย ดังนั้นหนูต้องเก่งอย่างเดียวถึงจะช่วยแม่ประหยัดได้ แม่บอกว่าหนูมีหน้าที่อย่างเดียวคือซ้อมให้ดีและพักผ่อนให้เต็มที่” ส้ม เปิดใจ  

เธออาจมีต้นทุนที่ดีกว่าอีกหลายคน คุณพ่อและพี่ชายก็พร้อมสนับสนุนและให้คำปรึกษา เช่นเดียวกับคุณแม่นัฎกนก ที่ทำงานในบริษัทไทยประกันชีวิต ก็พร้อมที่จะซัปพอร์ตด้านการเงินให้กับลูกสาวไล่ตามความฝันอย่างเต็มที่ 

แต่อย่างที่เธอบอก ถ้าไม่เก่งจริงทุกอย่างที่ลงทุนไปก็สูญเปล่า … ส้มจึงมุ่นมั่นฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ โดยเลือกเรียนในรูปแบบโฮมสคูล ที่ศูนย์การเรียน เซนต์ ยอห์นบอสโก โดยเข้าเรียนเดือนละ 1 วัน

ขณะที่การฝึกซ้อมจากเดิมที่ซ้อมเป็นกลุ่มก็เปลี่ยนมาซ้อมเดี่ยวคนเดียวเต็มเวลา โดยช่วงเช้าจะฟิตเนสและทำร่างกาย 2 ชั่วโมง แล้วซ้อมเย็นทุกวันอีก 2 ชั่วโมง โดยจ้าง สุจิตรา เอกมงคลไพศาล อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย มาเป็นโค้ชเพื่อติวเข้มส่วนตัว รวมถึงได้ ชยุตพงศ์ ชยางกูร ณ อยุธยา มาเป็นเทรนเนอร์

“ปี 2023 นี้หนูจะเริ่มลงแข่งขันในระดับอาชีพเพื่อเก็บคะแนนในรายการโอเพ่นเต็มตัว เริ่มจากระดับอินเตอร์ซีรีส์ ค่อย ๆ ไต่อันดับขึ้นไป ถ้าแพ้ก็ต้องกลับมาซ้อมให้หนักขึ้น ต้องสู้อย่างเดียว ขึ้นระดับโลกมันยากทุกกีฬา ตอนนี้หนูยังไม่ได้เป็นมือท็อป แต่จะพยายามถีบตัวเองขึ้นไปให้ได้” ส้ม กล่าวอย่างมั่นใจ

ความมุ่งมั่นของเธอนอกจากจะได้ครอบครัวเป็นแรงผลักดันแล้ว ยังไปเข้าตาและได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก 10) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชิญมาร่วมเป็นอินฟลูเอนเซอร์ รณรงค์เรื่องการใส่หมวกกันน็อกสำหรับเด็กเล็กและวัยรุ่น อีกด้วย 


สสส. เล็งเห็นว่าการได้นักกีฬาเลือดใหม่มาช่วยรณรงค์ในเรื่องนี้จะช่วยให้สังคมตื่นตัวและเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องการสวมหมวกกันน็อก จากการที่ประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนติดอันดับต้น ๆ ของโลก สูงกว่า 20,000 ราย/ปี โดยเป็นอุบัติเหตุจักรยานยนต์ถึง 80% ดังนั้นเมื่อวินัยสร้างชื่อเสียงให้กับนักกีฬา ถ้าคนไทยมีวินัยจราจรก็จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้เช่นกัน

นอกจากจะรณรงค์ตามสื่อต่าง ๆ แล้ว “ส้ม” ยังร่วมกิจกรรมแบดมินตันสำหรับเด็กเล็ก เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมชักชวนให้ทีมหรือผู้ปกครองที่ส่งเด็กเข้าแข่งขันร่วมบริจาคหมวกกันน็อกให้กับธนาคารหมวกกันน็อกสำหรับเด็ก เพื่อส่งต่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามจังหวัดต่าง ๆ นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป

“ต้องขอบคุณทาง สสส. ที่มองเห็นถึงความตั้งใจของหนู การได้รับการสนับสนุนครั้งนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญให้กับหนูในการเดินบนเส้นทางแบดมินตันที่เลือกไว้ มันแสดงให้เห็นว่าหนูไม่ได้ตัวคนเดียวแต่ยังมีครอบครัวและคนรอบตัวที่คอยซัปพอร์ตเราอยู่ จากนี้ก็ต้องพยายามฝึกซ้อมให้หนักเพื่อทำผลงานให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้” ส้ม ทิ้งท้าย

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Photo

อำพล ทองเมืองหลวง

อุดมการณ์ รักษาไว้ได้ด้วย "เนื้องาน"

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น