Feature

สืบจากจิตวิทยา : ทำไมทีมชาติไทยจึงมักทำได้แค่ “เกือบ” ในนาทีชี้ขาด | MainStand

ในเกมที่ควรจะยากอย่างเกมกับเกาหลีใต้ เรากลับสามารถบุกไปเอา 1 แต้มได้อย่างไม่มีใครคาดคิด 

 


และในวันที่ความหวังมาเต็มแบบเน้น ๆ ว่าจะต้องเข้าเป้าแน่ ๆ อย่างในเกมเปิดบ้านเจอกับ สิงคโปร์ ที่ชนะ 3-1 ... แต่ก็ไม่พอจะเข้ารอบต่อไป 

ทำไมทีมชาติไทยมักเป็นแบบนี้อยู่บ่อย ๆ ในเวลาที่คับขันชี้เป็นชี้ตาย กลับกลายเป็นว่าเรามักจะแหกโค้งจนพากันเสียดายทั้งประเทศ

ทฤษฎีทางจิตวิทยาพอจะอธิบายเรื่องนี้ได้ว่าทำไม ? 

 

ความกดดันเกิดขึ้นเสมอเมื่อขึ้นชื่อว่า "เกมการแข่งขัน" 

สิ่งที่เราปฎิเสธไม่ได้คือเมื่อเราคาดหวังจะเอาชนะในสิ่งใดสักอย่าง โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาตอนจบได้ สิ่งที่เรียกว่าความกดดันจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น และมันเกิดขึ้นในการแข่งขันทุกชนิด ไม่ว่าจะระดับกีฬาสี กีฬาหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับทีมชาติไทย เพียงแต่ว่าระดับความกดดันนั้นจะแตกต่างกันออกไป 

ในส่วนนี้เราจะขอพูดถึงการเป็นตัวแทนในฐานะทีมชาติ ยิ่งในยุคนี้ ความกดดันยิ่งเกิดขึ้นง่ายดายมากกว่าเดิม และยังเป็นความกดดันที่เข้มข้นมากกว่าการแข่งขันในยุคก่อน ๆ เนื่องจากโซเชี่ยลมีเดียที่ทุกคนมีในมือ สามารถส่งทุกข้อความทั้งเชิงลบและเชิงบวกออกสู่พื้นที่สาธารณะได้ทุกวินาที และแน่นอนว่าในวันที่ล้มเหลว ความคิดเห็นเชิงลบจะโหมกระหน่ำระดับทอล์กออฟเดอะทาวน์ และความเสียหายทางจิตใจของนักเตะนั้น จะต้องรับมือความกดดันระดับนี้เสมอ 

ดังนั้นในเกมที่ทีมชาติไทยเจอกับ สิงคโปร์ หากใครได้ดูเน้น ๆ ชัด ๆ ทุกจังหวะ คุณจะได้เห็นความ "จังหวะนรก" เกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการต่อบอลทำเกมซึ่งเคยเป็นของถนัดของเราในการเจอกับคู่แข่งในอาเซียน แต่ในเกมกับ สิงคโปร์ ที่ผ่านมาฟุตบอลระยะ 5-10 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ "ไม่น่าพลาด" กลับเกิดขึ้นเสมอ ส่งขาด ๆ เกิน ๆ จนเสียโอกาสการเข้าทำไปก็ไม่น้อย 

จริงอยู่ที่เรื่องนี้ เรื่องของทักษะส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้าใครดูฟุตบอลมานานพอ คุณพอจะเห็นและคาดเดาได้ถึงความผิดปกติของนักเตะไทย ผ่านสีหน้า แววตา และฟอร์มการเล่นในสนาม ที่เหมือยทุกอย่างถูกเร่งให้เร็วขึ้นเกินกว่าไทมิ่งปกติ และแน่นอนภายใต้โจทย์ที่ต้องยิงชนะด้วยระยะห่าง 3 ลูก มันจึงเป็นโจทย์ที่ยากอีกขั้น เกินกว่าโจทย์ปกติ เพราะแค่ชนะไม่พอ ซึ่งนั่นเป็นความกดดันแรกที่เกิดขึ้นกับนักเตะไทยในเกมที่ผ่านมา 

ความห่างระยะ 3 ลูก คือจุดเริ่มต้นของความแตกต่างในเกมนี้ ปกติแล้วการชนะสิงคโปร์ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะใน 20 ปีหลังสุดที่ทีมชาติไทยเจอกับ สิงคโปร์ ทั้งหมด 17 นัด เราสามารถเอาชนะพวกเขาได้มากถึง 12 ครั้ง เสมอ 2 ครั้ง และแพ้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น 

แต่มองไปให้ลึกไปอีกคือ ภายใต้โจทย์ยิงให้ห่าง 3 ลูก คือโจทย์ที่ยากกว่าที่ใคร ๆ คิด หากอิงจากสถิติที่กล่าวมา แม้เราจะชนะ สิงคโปร์ ถึง 12 เกม แต่กลับมีเกมเดียวเท่านั้นที่ ไทย สามารถเอาชนะ สิงคโปร์ ด้วยผลต่าง 3 ประตูขึ้นไป นั่นคือในเกมอาเซียน คัพ ปี 2018 รอบแบ่งกลุ่มที่ไทยชนะ ไป 3-0 

จะเห็นได้ว่าปกติแล้วการเจอกับสิงคโปร์ด้วยโจทย์ที่ชนะ มันทำให้ทีมชาติไทยกดดันน้อยกว่ามาก ๆ และมันทำให้เกิดที่ว่างให้กับข้อผิดพลาดได้เสมอ ถ้ายิงพลาดคุณก็แค่กลับเริ่มสร้างเกมรุกใหม่ เพราะแค่ 1 ประตูก็เพียงพอกับสิ่งที่ต้องการ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ไม่มีอะไรต้องกลัวทั้งนั้น สมองของคุณจะปลอดโปร่ง คุณแค่ทำในสิ่งที่ต้องทำ และร่างกายกับสมองก็เชื่อเช่นนั้น ... แน่นอนว่าเรื่องนี้มีที่มา

 

วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ 

เรื่องนี้เราไม่ได้คิดไปเอง เลโอนาร์ด ไซช์คอฟกี้ ผอ.ด้านกีฬาและจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยบอสตัน ยืนยันว่าเรื่องการฝึกทางจิตวิทยาเป็นอะไรทีสำคัญกับนักกีฬามาก ไม่ใช่แค่เรื่องของการแข่งขันเท่านั้น ปัญหาทุกๆ เรื่องทั้งด้านชีวิตส่วนตัวและเรื่องของกีฬาล้วนส่งผลโดยตรงทั้งสิ้น

"นักกีฬาจะแสดงออกอย่างผิดปกติทันทีและไม่สามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้ ดังนั้นการมีนักจิตวิทยาเข้ามาดูและและรับฟังก็สามารถสร้างความแตกต่างได้ มันก็เหมือนกับหมอที่คอยตรวจอาการของนักกีฬาตอนที่บาดเจ็บนั่นแหละ ทั้งเรื่องของจิตวิทยาและกายภาพล้วนส่งผลทั้งนั้น" ไซช์คอฟกี้ กล่าว

แน่นอนว่าเมื่อสมองและจิตใจของคุณไม่สามารถรับมือกับสิ่งเร้าเหล่านี้ได้ ร่างกายก็จะไม่สามารถเรียกขุมพลังชุดที่ดีที่สุดออกมาใช้ได้  และเรื่องของสภาวะทางจิตใจนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถใช้การฝึกซ้อมด้านเทคนิคและกายภาพเข้ามาช่วยแก้ไขได้

ดังนั้นเราจึงอยากให้คุณมองไปที่นักกีฬาระดับท็อปของโลกคุณจะได้รับคำตอบของเรื่องนี้เป็นอย่างดี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือ ลิโอเนล เมสซี่ และอาจจะมีนักเตะระดับแมตช์วินเนอร์อีกหลายคนที่ไม่ได้กล่าวถึง นักเตะเหล่านี้เป็นนักเตะที่ทุกคนนึกถึงในยามที่เกมอึดอัดและทีมต้องการประตู และบ่อยครั้งเมื่อทีมต้องการ พวกเขาจะปรากฎตัวออกมาเสมอ ... ทำไมพวกเขาทำได้ นั่นเพราะว่าคลาสของพวกเขานั้นเหนือกว่านักเตะอื่น ๆ ทั่วไป 

และในคำว่าคลาสนี้หมายถึงนักเตะที่เพียบพร้อมทั้งเรื่อง ฝีเท้า ร่างกาย และสภาพจิตใจ นักเตะพวกนี้มีครบหมดทั้ง 3 อย่าง ซึ่งน้อยคนนักจะมีคุณสมบัติครบแบบนี้ ถ้านับทั้งโลกอาจมีเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อถึงเวลาสำคัญ ๆ ที่กดดันและอึดอัดสุด ๆ พวกเขาจึงเป็นคนที่มีความสามารถพอที่จะสร้างความแตกต่างได้ 

นั่นคือสิ่งที่ยอม คลาสของนักเตะไทยอาจจะยังไม่ไปถึงในระดับที่ถามหาเมื่อไหร่ ปรากฎตัวเมื่อนั้น ดังนั้นเมื่อเผชิญความกดดัน เราจึงได้เห็นและเผชิญกับความผิดหวังอยู่เป็นประจำ ซึ่งเรื่องนี้แม้แต่การฝึกซ้อมก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ทว่าหากคุณมีนักเตะระดับที่พร้อมทั้ง 3 อย่างแบบนี้ในทีม หรือนักเตะที่มีสภาพจิตใจแข็งแกร่งชนิดที่ฟ้าผ่าเปรี้ยงยังวิ่งปร๋ออยู่ในทีมเยอะ นักเตะเหล่านี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างขวัญกำลังใจให้คนอื่น ๆ มีสติ และนิ่งขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้ คาร์โล อันเชล็อตติ ก็พูดถึงบ่อย ๆ ว่าทำไมในทีมที่เขาทำทุก ๆ สโมสรจะต้องมีนักเตะประสบการณ์สูง ทนทานความกดดันได้ดีเป็นแกนหลักของทีมอยู่เสมอ 

 

“จิตใจ” คือสิ่งที่สำคัญพอ ๆ กับการซ้อม 

แม้ไม่ใช่นักจิตวิทยาแต่เชื่อว่าหลายคนก็รู้ดีสำหรับเรื่องนี้ ไม่มีทางเลยที่จะนำประสิทธิภาพตอนซ้อมมาใช้เเข่งจริงได้ 100% แน่นอน เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นคือการซ้อมนั้นคือสถานการณ์ที่เราสามารถกำหนด, คาดคะเน และมีที่ว่างให้ความผิดพลาดได้ แต่การเเข่งขันจริงนั้นไม่ใช่ ปัจจัยภายนอกและสิ่งเร้าหลายอยางทีเราไม่สามารถควบคุมด้วยตัวคนเดียวได้คือเหตุผลนั้น 

มีหลายสิ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่าแข่งจริงไม่มีทางเหมือนตอนซ้อม อย่างแรกเลยคือสภาพพื้นที่การแข่งขัน ซึ่งส่วนใหญ่การซ้อมและเเข่งขันจริงนั้นมักจะไม่ใช่สนามเดียวกันอยู่เเล้ว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เช่นความกังวลและการจัดการกับอารมณ์ที่เปลี่ยนไปจากผลสกอร์การเเข่งขัน ไม่ว่าคุณจะมีสกอร์ตามหลัง หรือขึ้นนำล้วนส่งผลต่อฟอร์มการเล่นและวิธีการเล่นทั้งหมด หลายครั้งในการเเข่งขันฟุตบอลที่มีทีมใดทีมหนึ่งออกสตาร์ทเกมได้อย่างดุดันคุมสถานการณ์ทั้งหมดอยู่หมัด ยิงประตูขึ้นนำไปก่อนถึง 2-3 ลูกจนทำให้ใครต่อใครต่างคิดว่า "พวกเขาชนะแน่" แต่แล้วอยู่ดีๆ เมื่อคู่แข่งของพวกเขายิงประตูตีไข่แตกในช่วงเวลาที่สำคัญได้ คุณจะเห็นเลยว่าทั้งสองทีมอาจเปลี่ยนรูปเกมได้เเบบหน้ามือเป็นหลังมือ ... และแน่นอนในเกมที่ไทยเจอสิงคโปร์ก็ให้อารมณ์คล้าย ๆ แบบนั้น 

เรานำพวกเขาก่อน 1-0 และเหลืออีก 45 นาทีให้เล่น ใครต่อใครก็คิดว่าแบเบอร์ แต่เมื่อ สิงคโปร์ ยิงประตูได้ ความลนความล่กเกิดขึ้นมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกว่าจะตั้งสติกลับมาขึ้น กลับมาสร้างจังหวะการเข้าทำแบบถี่ รัว ๆ ก็ต้องรอถึงช่วง 10 นาทีสุดท้าย 

ทางแก้เดียวของเรื่องนี้คือการให้ความสำคัญในเรื่องของจิตใจ ในปัจจุบันมีนักจิตวิทยาในวงการกีฬาเกิดขึ้นมากมาย เพราะด้วยการแข่งขันที่มีเดิมพันสูงขึ้นในทุกวัน ชัยชนะและความพ่ายแพ้ส่งผลให้คนหนึ่งคนมีเส้นทางชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาลได้เลยหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง

ไม่เพียงแต่นักกีฬาฟุตบอลเท่านั้น ที่สุดเเล้วการพะวักพะวงกลัวว่าการเเข่งจริงจะทำได้ไม่ดีเท่าการซ้อมส่งผลให้นักกีฬาหลายๆ คนทุ่มเทซ้อมหนักเป็นพิเศษกว่าเดิมเป็น 2 หรือ 3 เท่า แต่นั่นก็ถือว่าไม่ตรงประเด็นเสียทีเดียว จริงอยู่การซ้อมหนักถือเป็นสิ่งที่ดี แต่เรื่องราวในวันแข่งจริงที่จะอยู่กับคุณตลอดการแข่งขัน นอกจากจะเป็นเรื่องของฝีมือแล้ว เรื่องสภาพจิตใจที่จะคอยจัดการกับความเครียดที่คาดเดาไม่ได้

คริส คาร์ นักจิตวิทยาด้านกีฬาของ Methodist Sports Medicine Center ใน อินเดียน่าโพลิส เผยว่าการได้พูดคุยและแก้ปมในใจของนักกีฬาก่อนแข่งคืองานที่สำคัญมาก และเมื่อมีการแก้ไขให้ตรงจุดนักกีฬาก็จะสามารถมีภูมิต้านทานด้านจิตใจได้

"มันเป็นการเปิดประตูเข้าไปในหัวใจของคนเพื่อไปค้นปูมหลังและปัญหาที่ค้างอยู่ในซอกหลืบให้ได้" คาร์ กล่าว

คาร์ ยังเปิดเผยต่อว่าเขามีนักกีฬาที่เคยรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ และการจะพูดคุยเพื่อเปิดใจกับนักกีฬาเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ทางจิตวิทยาต้องมีความรู้ด้านกีฬาระดับหนึ่งเพื่อให้ได้คุยภาษาเดียวกันรู้เรื่องและทำให้นักกีฬารู้สึกสบายใจกับหน้าทีของนักจิตวิทยาคนนั้นๆ

การทำหน้าที่ของนักจิตวิทยาถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับวงการกีฬา ณ ปัจจุบัน เพราะแต่ละคนมีปมเเละเรื่องทื่กังวัลแตกต่างกัน

ดร.แพทริก เจ คอคห์น โค้ชด้านจิตวิทยาที่ทำงานเกี่ยวกับกีฬาโดยตรงได้แนะนำถึงวิธีที่จะทำให้ปัญหาเผชิญหน้ากับความกดดันมหาศาลของนักกีฬาหายไปได้ คือการตัดสิ่งรวบกวนรอบข้างออกไปให้ได้ ลืมผลสกอร์ซะ และจดจ่ออยู่กับช่วงเวลา ณ ปัจจุบันให้ได้ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ต้องให้นักจิตวิทยามีส่วนร่วม

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยาก ดังนั้นทุกอย่างล้วนต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด เนื่องจากจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียอดอ่อน แต่ถ้าหากคุณแก้ไขและปลดล็อกสิ่งนี้ได้ผลลัพธ์ที่กลับมาจะคุ้มค่าอย่างมหาศาล 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.competitivedge.com/why-athletes-do-better-practice-performance
https://www.topendsports.com/psychology/benefit-of-sports-psychology.htm
http://www.peaksports.com/roles-of-a-sports-psychologist/
https://members.believeperform.com/theory-choking-pressure-different-strategies-prevent-occurrence/
https://www.trine.edu/academics/centers/center-for-sports-studies/blog/2022/choking_in_sports.aspx?fbclid=

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น