News

ภาษีจากสหรัฐอเมริกากำลังสั่นสะเทือนถึงวงการกีฬาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กลับเข้าสู่กระแสการเมืองอีกครั้ง ได้ประกาศแนวนโยบายที่เรียกว่า "Reciprocal Tariff" หรือภาษีแบบตอบโต้เท่าเทียม ซึ่งมุ่งเป้าไปยังประเทศที่เก็บภาษีสินค้าจากอเมริกาในอัตราสูงผิดปกติ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

 

ตามข้อมูลที่เปิดเผยล่าสุด สหรัฐฯ ได้มีการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราที่ 36% ขณะที่ฝ่ายอเมริกันชี้ว่าประเทศไทยนั้นเก็บภาษีจากสินค้าสหรัฐฯ สูงกว่ามาก

ซึ่งประเด็นดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมทางการค้า และกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่จุดประกายให้เกิดแนวคิด “ภาษีตอบโต้แบบเท่าเทียม” เพื่อปรับสมดุลระหว่างกันของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ถึงแม้เรื่องนี้จะดูเป็นปัญหาเชิงการค้า แต่คลื่นของนโยบายกลับซัดแรงไปถึงอีกฝั่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง นั่นคือวงการกีฬา

วันนี้ Main Stand ขอพาทุกคนไปติดตามประเด็นสุดร้อนเเรงในช่วงเวลานี้ เมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ไทย เเม้นโยบายดูจะเป็นเรื่องของการค้า แต่รู้หรือไม่ ? กลับกระทบวงการกีฬาของไทยเราอย่างคาดไม่ถึง เเละถ้าพร้อมกันเเล้วเตรียมพบกับเนื้อหาที่ กระชับ–ตรงประเด็น-สุดพิเศษ ก่อนใคร ได้เเล้วที่ Main Stand

 

เมื่ออุปกรณ์กีฬาไทยอาจไปไม่ถึงอเมริกา

ไม่มีใครคาดคิดว่าอุตสาหกรรมกีฬาไทยจะต้องมาอยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงจากสงครามภาษีระหว่างประเทศ แต่มันก็เกิดขึ้นจริง เพราะเบื้องหลังความสำเร็จของวงการกีฬาไทยในเวทีโลก มีโครงสร้างมากมายที่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ

รองเท้ากีฬาที่นักกีฬาสวมใส่ เสื้อผ้า ลูกฟุตบอล อุปกรณ์ฟิตเนสต่าง ๆ ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย ไม่ได้อยู่แค่ในสนามกีฬาไทย แต่หลายชิ้นเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา

ทว่าข้อมูลจาก oec world ในปี 2023 ประเทศไทยนั้นส่งออกอุปกรณ์กีฬาไปยังสหรัฐฯ มูลค่า สูงกว่า 201 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7,336.5 ล้านบาทไทย) หรือคิดเป็น 28.3 % ของการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ทั้งหมด ซึ่งทำให้สหรัฐฯ เป็น ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของอุปกรณ์กีฬาไทยเลยก็ว่าได้

ทว่าหากภาษีนำเข้าสินค้าไทยนั้นถูกปรับตัวสูงขึ้นโดยไร้การเเก้ไข อุปกรณ์

เหล่านี้จะมีราคาสูงขึ้นในตลาดอเมริกา ส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกไปแข่งขันลำบาก ยอดคำสั่งซื้อลดลงจากราคาสินค้าที่ขยับตัวสูงขึ้น และกระทบไปถึงโรงงานไทยที่ต้องลดกำลังผลิตเเละเเย่สุดคือการเลิกจ้างในอันดับต่อมา

เวียดนามคือกรณีศึกษาใกล้ตัวที่เพิ่งเจอเหตุการณ์นี้มาไม่นาน เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามถึง 46% หุ้นของ Nike ซึ่งมีฐานการผลิตใหญ่ในเวียดนาม ร่วงทันที 6% เพราะต้นทุนพุ่งสูงเกินจะรับไหว สิ่งที่เกิดขึ้นกับเวียดนามอาจเป็นภาพล่วงหน้าของไทย หากไม่มีการรับมือที่ดีพอ

ผลกระทบไม่ได้หยุดอยู่แค่ในโรงงาน แต่อาจขยายไปถึงนักกีฬาไทยที่มีความฝันจะไปแข่งขันหรือทำงานในเวทีต่างประเทศ ความร่วมมือด้านกีฬา วีซ่า หรือการสนับสนุนจากแบรนด์ต่างชาติ อาจลดลงหากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแย่ลง

หรือกีฬาอย่างมวยไทยที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ Soft Power เเละสร้างชื่อเสียงในสหรัฐฯ ก็อาจจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดใหม่ๆ อาทิเช่น การจัดโชว์ การขายสินค้า หรือการทำกิจกรรมร่วมกับแบรนด์อเมริกันซึ่งเเน่นอนว่ามันจะไม่ง่ายเหมือนเดิม อาจจะยากขึ้นด้วยซ้ำ

 

ใครควรออกมารับมือ?

ทางฝั่งสปอนเซอร์ที่เคยเชื่อมั่นก็อาจลังเลที่จะสนับสนุน โอกาสที่เคยเปิดกว้างก็อาจถูกปิดลง

ทีละน้อยโดยไม่มีใครทันรู้ตัวและเมื่อผลกระทบเริ่มก่อตัว คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า ใครควรลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้ ? ซึ่งคำตอบคือ กระทรวงพาณิชย์ที่ต้องเป็นหัวหอกในการเจรจาทางการค้า เพื่อหาแนวทางลดแรงเสียดทานจากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

แน่นอนว่า กระทรวงพาณิชย์คงไม่ใช่คนเดียวที่ต้องลุกขึ้นมารับมือกับพายุภาษีจากสหรัฐฯ ที่กำลังพัดเข้าใส่ไทย ในเวลานี้ หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องขยับพร้อมกันหลายทิศ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศที่มีหน้าที่ใช้พลังทางการทูต เพื่อประคับประคองความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

ขณะที่กระทรวงการคลังก็ต้องเตรียมแผนรองรับผลกระทบในมุมเศรษฐกิจภาพรวม โดยเฉพาะหากการส่งออกชะลอตัวจนกระทบ GDP ของประเทศ

ทางด้านองค์กรภาคธุรกิจอย่างสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมฯ เองก็ต้องเร่งประเมินสถานการณ์ ให้ข้อมูลกับรัฐเพื่อรับมือกับการที่อาจจะต้องปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนทางภาคเอกชนที่อยู่แนวหน้าโดยตรง ก็ต้องยืดหยุ่นให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการที่จะต้อง

รีบปรับกลยุทธ์ ส่งเสริมนวัตกรรม เพิ่มคุณภาพ รีบกระจายความเสี่ยง เเละ รีบหาตลาดใหม่ ไม่ใช่เพียงพึ่งพาตลาดอเมริกาในภาพเดียวอีกต่อไปเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งหมดที่กล่าวมา นี่คงไม่ใช่ภารกิจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันคือเกมที่ต้องเล่นเป็นทีม และทีมนี้ต้องเล่นให้เร็ว ก่อนเกมการค้าจะเปลี่ยนรูปแบบไปอีกครั้ง

 

ผลกระทบต่อโครงสร้างองค์กรกีฬาของไทย…

นอกเหนือสิ่งอื่นใดจากเหตุการณ์ที่ สหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ โดยมีไทยอยู่ในรายชื่อประเทศเป้าหมาย หนึ่งในผลกระทบที่อาจตามมาอย่างเงียบ ๆ แต่อันตรายไม่แพ้กัน ก็คือ “โอกาสของวงการกีฬาไทย” ที่อาจถูกบีบให้แคบลงเช่นเดียวกัน

เพราะในความเป็นจริง ระบบกีฬาระดับนานาชาตินั้นเป็นโครงสร้างที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับบนสุดอย่าง IOC (International Olympic Committee) ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่กำหนดทิศทางของกีฬาโลก ลงมาสู่ OCA (สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย) และ IFS (สหพันธ์กีฬานานาชาติของแต่ละชนิด)

องค์กรเหล่านี้ล้วนทำงานร่วมกับ NOCT (คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการส่งนักกีฬาไทยเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโลก และประสานกับหน่วยงานในประเทศอย่าง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ การกีฬาแห่งประเทศไทย (SAT) ที่มีบทบาทในการพัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมกีฬาทุกระดับ

หากการแข่งขันระดับนานาชาติในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ถูกจำกัดจากนโยบายภาษี

ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม อาทิเช่น การชะลอตัวของการลงทุนในกีฬา การลดงบจากแบรนด์ผู้สนับสนุน หรือข้อจำกัดในการเดินทางเข้าร่วมแข่งขัน

สิ่งเหล่านี้จะกระทบตั้งแต่ระดับ สมาคมกีฬา ที่จัดหาโอกาสให้นักกีฬา ไปจนถึงระดับนโยบายของรัฐที่ต้องทบทวนแนวทางส่งออก “Soft Power” อย่างกีฬาไทยไปสู่เวทีโลก

โดยเฉพาะ การกีฬาแห่งประเทศไทย (SAT) ที่เป็นเสมือน “เส้นเลือดใหญ่” ของวงการกีฬาไทย ที่เป็นภาคส่วนหนึ่งที่ต้องได้รับผลกระทับเเละอาจต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ทั้งในแง่การผลักดันนักกีฬาไปเวทีต่างประเทศ-การประสานงานกับสหพันธ์กีฬานานาชาติ- การส่งเสริมนักกีฬาไทย-การจัดกิจกรรมกีฬาอาชีพ ไปจนถึง การรักษาเสถียรภาพความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าด้านกีฬา

ดังนั้นโอกาสของนักกีฬาไทยไม่ได้อยู่แค่ในสนามแข่งขัน... แต่อยู่ในโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกีฬาเข้ากับเศรษฐกิจ การทูต และภาพลักษณ์ของชาติ

 

บทส่งท้าย

แม้กีฬาอาจดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวจากการเมืองระหว่างประเทศ แต่ความจริงแล้วมันใกล้กว่าที่คิด

ทุกเศรษฐกิจเชื่อมโยงถึงกันหมด และเมื่อหนึ่งนโยบายจากอีกซีกโลกถูกประกาศออกมา มันก็สามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเป็น butterfly effect สะเทือนมาถึงวงการกีฬาเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในไทยได้เช่นกัน

คำถามทิ้งท้ายในตอนนี้คือไม่ใช่ว่า "วงการกีฬาของไทยเราจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้หรือไม่" แต่เป็นว่า "เราจะรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนี้อย่างไร" ให้ดีที่สุดต่างหาก

Author

วิรวิชญ์ เจริญเชื้อ

The handsome boy like Jackson Wang and the best singer of Main Stand.