Feature

ขบวนการลักลอบเข้าเมือง : อุตสาหกรรมที่ซ่อนอยู่หลังการแจ้งเกิดของ "อาหมัด ดิยาลโล่" | Main Stand

อาหมัด ดิยาลโล่ คือชื่อที่แฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลายคนกำลังพูดถึง จากฟอร์มการเล่นที่พุ่งขึ้นมาในช่วงหลัง หลังถูกวิจารณ์มากมายจากค่าตัว 37 ล้านปอนด์ ที่สโมสรจ่ายหลังได้ลงเล่นใน เซเรีย อา ไม่กี่เกม และเพิ่งได้โอกาสพิสูจน์ตัวเองกับทีมปีศาจแดงเต็มตัวก็ฤดูกาล 2023-24 นี้เอง

 


เรื่องเก่งจริงหรือไม่ ต้องให้เวลาเป็นคำตอบ แต่เรื่องที่น่าสนใจของเขาคือปูมหลัง ... เพราะในวันที่เขามาที่ อิตาลี ว่ากันว่ามีอุตสาหกรรมจากโลกมืดที่ทำงานอย่างหนักหน่วงในการพาเขาข้ามทวีปจากแอฟริกามายังยุโรป 

และไม่ใช่เขาเท่านั้นที่เข้าไปพัวพันกับเรื่องนี้ มีนักเตะหนุ่มจากแอฟริกาอีกเพียบ ที่เป็นหนึ่งในกระบวนการ "ลักลอบเข้าเมือง"   

เรื่องนี้ใหญ่และร้ายแรงแค่ไหน อาหมัด ผ่านเรื่องนี้มาได้อย่างไร ? ติดตามที่ Main Stand 

 

เพราะยากไร้จึงต้องโยกย้าย 

ไม่มีใครอยากจากที่ที่เรียกว่า บ้าน หากไม่จำเป็นจริง ๆ ... เรื่องนี้เราไม่ต้องพูดถึงเรื่องฟุตบอลก็ได้ มันคือเรื่องของความเป็นความตาย และการมีชีวิตอยู่ของมุนษย์ทุกคน 

โลกใบนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทวีปยุโรปกลายเป็นหมุดหมายของคนจากชาติที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากเรื่องของปากท้อง, สงครามกลางเมือง หรือความรุนแรงภายใต้การปกครองของรัฐบาล 

สาเหตุที่เป้าหมายของผู้อพยพคือยุโรป ไม่มีอะไรมากกว่าการต้องการไปอยู่ในชาติที่เปิดกว้างทางโอกาส แม้ไม่รู้ปลายทางมีอะไรรออยู่ ไปถึงแล้วจะต้องทำอะไร แต่อย่างน้อย ๆ ผู้อพยพล้วนคิดในใจอย่างเข้าข้างตัวเองเสมอว่า "ขอแค่ได้เปลี่ยนแปลง" มันคงดีกว่าการจมอยู่กับที่เดิม ๆ ที่ไม่มีวี่แววว่าจะมีอะไรดีขึ้น 

การอพยพนั้นมีหลายรูปแบบ อย่างแรกคือ การอพยพอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งนั่นไม่ผิดอะไร และขึ้นอยู่กับกฎหมายของรัฐบาลประเทศนั้น ๆ ถ้าใครเข้าไปอย่างถูกกฎหมายได้ ก็มีโอกาสที่จะสู้เพื่อชีวิตใหม่ที่พวกเขารอคอย อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ และ อุปทาน ระหว่างประเทศที่เปิดรับผู้อพยพ กับจำนวนผู้อพยพ นั้นไม่เคยสัมพันธ์กัน 

ในเมื่อความต้องการจะอพยพมีมากกว่าโควต้าที่เปิดไว้แบบถูกต้องทางกฎหมาย จึงต้องมีการเล่นใต้เข็มขัดเกิดขึ้น นั่นคือการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ซึ่งแทบทุกประเทศในยุโรป หรือประเทศไทยของเราก็ยังเผชิญ และแก้ไม่ตก แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม 

การเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายนั้นมีหลากหลายวิธี ปกติแล้วจะเป็นการเข้าไปด้วยการมีนายหน้าที่เชี่ยวชาญลักลอบขนผู้อพยพแบบผิดกฎหมายเป็นฟันเฟืองสำคัญ พวกเขาจะเรียกรับเงินจากคนที่อยากย้ายประเทศเป็นจำนวนมาก (สำหรับคนในประเทศที่ต้องการจะอพยพ) ส่วนความสำเร็จในการย้ายนั้นไม่การันตี เพราะวิธีการค่อนข้างเสี่ยง เช่น การนั่งแออัดกันบนเรือลำเล็ก ๆ ข้ามทะเลเข้าทางเส้นทางธรรมชาติ หรือการซ่อนตัวตามรถบรรทุก ที่อาจจะทำทีเป็นการขนส่งสิ่งต่าง ๆ แต่มีมนุษย์ซ่อนอยู่ภายใน 

แน่นอนว่ามีผู้อพยพจำนวนมากต้องเสียชีวิตขณะการเดินทาง แต่ถึงอย่างนั้น ความต้องการในการลักลอบเข้ายุโรปก็ยังไม่ลดลง ... ไม่มีอะไรมากไปกว่าการหนีความยากจน ความรุนแรง และสงคราม พวกเขายอมเสี่ยงตาย ขอเพียงปลายทางคือแผ่นดินใหม่ก็พอ 

กลับมาที่โลกของฟุตบอล ยุโรปยังคงเป็นหมุดหมายของนักเตะจากทั่วโลกเช่นกัน นักเตะจากแอฟริกา อาหรับ เอเชีย หรืออเมริกาใต้ สามารถเข้าไปค้าแข้งในยุโรปตามกฎหมายแรงงานของแต่ละประเทศได้ ในฐานะนักเตะนอก EU 

แต่ก็เหมือนกับในโลกแห่งความจริง เงื่อนไขมากมายเกิดขึ้น เช่นต้องเคยติดทีมชาติกี่นัด เป็นนักเตะที่ได้รับการการันตีว่ามีศักยภาพจริง ๆ หรือแม้กระทั่งการการันตีด้วยรายได้จากสโมสรในยุโรปที่จะจ้างพวกเขา ซึ่งแน่นอนว่านักเตะบางคน โดยเฉพาะนักเตะหนุ่ม ๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่สามารถทำได้ 

ดังนั้นการลักลอบเข้าเมืองของนักฟุตบอลแบบผิดกฎหมายจึงเกิดขึ้น เพียงแต่ยุทธวิธีในการอพยพไปยุโรปของนักฟุตบอลนั้น มีความเสี่ยงตายน้อยกว่า แต่ต้องใช้กลเม็ดที่แม้แต่กฎหมายก็ไม่สามารถตรวจสอบได้  และ อาหมัด ดิยาลโล่ ก็เข้าประเทศอิตาลีมาด้วยวิธีนี้

 

มองปัญหาผ่านอาหมัด 

อาหมัด ดิยาลโล่ เข้ามาในอิตาลี ด้วยขบวนการลักลอบเข้าเมืองจริง นี่คือสิ่งที่เขายอมรับ และศาลอิตาลีก็ตัดสินไปแล้ว ตัวของเขาโดนปรับเงิน 49,000 ยูโร (ราว 2 ล้านบาท) จากโทษครั้งนี้ ... คำถามคือ วิธีไหนที่เขามาที่นี่ และทำไมเขาถึงไม่ถูกส่งตัวกลับไปยัง ไอวอรี โคสต์ บ้านเกิดของเขา ? 

การส่งนักเตะหนุ่มอายุ 15 16 หรือ 17 ปีข้ามเป็นนักเตะในยุโรปไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ดังนั้นทริกของพวกเขาจึงมีอยู่ว่า "ลงทุนก่อน-เก็บเกี่ยวทีหลัง" 

นี่คือการกระทำแบบเป็นขบวนการ โดยเริ่มจากจะมีการลงทุนเปิดอคาเดมี่ตามเมืองต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งอคาเดมี่ที่ อาหมัด อยู่นั้นตั้งอยู่ในเมืองอาบีจาน เมืองใหญ่ที่สุดของ ไอวอรี่ โคสต์ เป้าหมายก็เพื่อจะหานักเตะหนุ่มหรือเด็กที่มีแวว แล้วดึงเข้ามาอยู่ในสังกัด เหมือนกับอคาเดมี่ทั่วทั้งโลกทำกัน … เพียงแต่ว่าถ้ามันจบแค่ตรงนี้ มันก็คงไม่ใช่เรื่องที่เราต้องมาคุยกันยืดยาว เพราะมันให้ความรู้สึกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

ความแตกต่างคือมันไม่ได้เป็นการปั้นเด็กเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับสโมสร หรือเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมฟุตบอล แต่มันเป็นอคาเดมี่ในรูปแบบกลุ่มอพยพ โดยตัวของเอเย่นต์จะจ่ายเงินเพียงเล็กน้อยให้กับครอบครัวต่าง ๆ ของเด็กที่มีแวว ก่อนจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนตัวควบกับผู้ปกครองให้แก่นักเตะเหล่านั้น

เมื่อถึงช่วงนักเตะเด็ก ๆ เก่งพอ และถึงเวลาที่จะต้องต่อยอดไปยังเกมฟุตบอลในระดับที่สูงกว่านี้ในยุโรป จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของเอเยนต์ ที่จะติดต่อกับ "พ่อ-แม่ (ปลอม)" ที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนี้ที่อยู่ในอิตาลี และเริ่มปลอมแปลงเอกสารเพื่อให้พ่อแม่ปลอม ๆ ยืนยันว่าจะรับบุตรชายเข้ามาอยู่ด้วยกันในประเทศ อิตาลี ถ้าทุกอย่างราบรื่น เอกสารเรียบร้อย นั่นเท่ากับว่าพวกเขาจะกลายเป็นเหมือนเจ้าของชีวิตนักฟุตบอลคนนั้นเมื่อการดีลกันสิ้นสุดลง 

เพียงแต่ว่าเราจะมองให้มันร้าย ๆ แบบนั้นก็คงไม่ถูกนัก เพราะจากปากคำของผู้เกี่ยวข้องในดีลของ อาหมัด ตัวนักเตะพร้อมใจเป็นอย่างมากที่จะมายุโรป และตัวของเขาก็ได้รับการปฏิบัติจากเหล่าเอเย่นต์หรือคนอื่น ๆ ในขบวนการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายเป็นอย่างดี ไม่มีเรื่องความรุนแรงเกิดขึ้น และมันเป็นเรื่องของธุรกิจเท่านั้น 

ในรายของ อาหมัด ดิยาลโล่ นั้นพาเข้ามาอยู่ในอิตาลีกับ ฮาเหม็ด จูเนียร์ ตราโอเร่ โดยมีผู้ใหญ่ 5 คนนำทางเข้ามา ผ่านทางเมืองเรจโจ้ เอมิเลีย ทางตอนเหนือของ อิตาลี และคนที่เซ็นชื่อในเอกสารเพื่อยืนยันว่าเป็นพ่อ-แม่ ของ อาหมัด และ ฮาเหม็ด คือ  ฮาเหม็ด มามาดู ตราโอเร่ และ มารินา เอ็กวิค เทเฮอร์ ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ปลอม ๆ ของพวกเขา จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของเอเย่นต์ในอิตาลี หรือเจ้าหน้าที่ของสโมสรต่าง ๆ พาตัวเข้าไป ซึ่งอาจจะมีการคัดตัวกันเกิดขึ้น

จุดนี้ก็ต้องยอมรับในระดับหนึ่งว่าแม้จะเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย แต่การจะมีทีมอยู่ในอิตาลี โดยเฉพาะทีมใหญ่แบบที่ อาหมัด อยู่อย่าง อตาลันต้า หรือ ฮาเหม็ด จูเนียร์ อยู่อย่าง เอ็มโปลี กับ ซาสซูโอโล่ ทั้งคู่ก็ต้องมีทักษะฟุตบอลที่อยู่ในระดับสูงพอสมควรเลยทีเดียว

คำถามคือ พวกเขาเกมได้อย่างไร ? ว่ากันว่าเรื่องดำ ๆ เทา ๆ แบบนี้ไม่มีทางปิดไว้ได้นาน ธุรกิจหรือธุรกรรมใดที่มีส่วนแบ่งมหาศาล ย่อมมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เสมอ ซึ่งเรื่องปัญหาลักลอบอพยพนักฟุตบอลเข้ายุโรปเรื่องนี้ก็เช่นกัน 

ปัญหาดังกล่าวเข้าถึงหู สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า และพวกเขาต่างพบว่ามันลุกลามไปยังหลายประเทศ ไม่ใช่แค่อิตาลีเท่านั้น แม้เด็ก ๆ จะมาอย่างเต็มใจ แต่นี่คือการเล่นนอกติกา ดังนั้นพวกเขาจึงต้องสั่งทุกประเทศปราบปรามธุรกิจมืดนี้ และที่ อิตาลี พ่อและแม่ปลอม ๆ ของ อาหมัด ถูกจับได้ พร้อมกับหนึ่งในคนที่เปิดทางให้เด็ก ๆ จากแอฟริกามีสโมสรในอิตาลีเล่น โดยเขาชื่อว่า โจวานนี่ ดาเมียโน่ ดราโก้ 

ซึ่ง ดราโก้ นี่เองที่เป็นคน "ไหล" ข้อมูลเกี่ยวกับเคสของพ่อแม่ปลอมของ อาหมัด ออกมา โดยแลกกับการลดโทษ จากติดคุกทันที เปลี่ยนเป็นรอลงอาญา 1 ปี 10 เดือน ซึ่งเมื่อเปิดเผยชื่อได้ จากนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก มีการค้นเอกสารต่าง ๆ ที่ ตราโอเร่ (พ่อปลอมของอาหมัด) ทำไว้ และพบว่าจริง ๆ แล้วมันมีคนเกี่ยวข้องมากมายเต็มไปหมด และญาติ ๆ ของเขาที่อยู่ในยุโรปก็พาเด็กจากแอฟริกาเข้ามาเล่นในยุโรปเหมือนกับที่เขาทำด้วย 

การค้นอย่างละเอียดพบว่า มีการปลอมแปลงเอกสารหลายอย่างเกี่ยวกับ อาหมัด และ ฮาเหม็ด ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้ง 2 คนไม่ใช่พี่น้องกัน และเขาก็ไม่ได้เป็นพ่อของทั้งคู่ด้วย (ก่อนหน้านี้ชื่อที่ลงทะเบียนกับ สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี ด้วยชื่อ อาหมัด ตราโอเร่ และ ฮาเหม็ด จูเนียร์ ตราโอเร่ ก่อนจะตัดคำว่า ตราโอเร่ ทิ้งจากกรณีดังกล่าว) 

ตราโอเร่ อ้างอีกว่าเด็ก 2 คนนี้คือลูกชายของลูกพี่ลูกน้องของเขา และตัวของเขาเองก็ใกล้ชิดกับเด็กทั้ง 2 คนนี้มากในฐานะลุง ดูแลอย่างดีมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม DNA ของเด็ก 2 คนไม่บอกแบบนั้น และนั่นทำให้ความจริงทั้งหมดถูกเปิดโปง 

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไม ตราโอเร่ ที่เป็นตัวการจึงรอด ตัวของเขาบอกว่าเขาปฏิบัติทำตามคำแนะนำของทนาย ส่วน อาหมัด ที่ปัจจุบันอยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด และ ฮาเหม็ด จูเนียร์ ที่อยู่กับ นาโปลี (ยืมตัวจาก บอร์นมัธ) ถูกสั่งปรับเป็นเงินสูงถึง 49,000 ปอนด์ (2 ล้านบาท) จากข้อหาใช้เอกสารปลอม แค่ในคดีโกหกพ่อแม่ที่แท้จริง ไม่ถูกเอาผิด เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสมัยเป็นผู้เยาว์  

ทั้งคู่มีชีวิตที่ดี ได้อยู่ในอคาเดมี่ของทีมดังสมใจ และได้กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่มีชื่อเสียงก็จริง ทว่ามีเด็กหลายคนที่ไมได้โชคดีเหมือนกับพวกเขา 

 

ปัญหาที่ซ่อนอยู่ 

"ผู้เล่นหลายจากแอฟริกาเลือกหลบหนีมาทางเรือ และเมื่อมาถึงยุโรป พวกเขาก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่" เขากล่าว "แต่คุณดู อาหมัด สิ ไปถามเขาเลยก็ได้ ชีวิตของเขาแตกต่างจากสิ่งที่หลายคนคิดเยอะมาก ๆ เขาได้มาอยู่ในอิตาลี มีการศึกษาในโรงเรียนที่ดี เขากินอาหารที่ดี และได้รับฝึกฝนที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา เขาได้รับการดูแล และเราพยายามช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันที่จะหาเลี้ยงชีพ" ตราโอเร่ ในวัย 49 ปีว่าแบบนั้น 

ตราโอเร่ พยายามจะอธิบายว่า ที่เขาทำไปทั้งหมดก็เพื่อโอกาสของเด็กและการพัฒนาฟุตบอลในประเทศ เพราะเงินที่เขาได้ถูกส่งกลับไปยังอคาเดมี่ในกรุงอาบีจานที่ชื่อว่า ลีดเดอร์ ฟุต ให้มีสนามหญ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่าง ๆ พร้อมทิ้งท้ายว่า ความสัมพันธ์ของเขากับ อาหมัด และ ฮาเหม็ด ยังคงแนบแน่นเหมือนเดิม

แต่ที่สุดแล้ว ผิดก็คือผิด และการทำผิดลักษณะนี้ทำให้ประเทศทั่วยุโรปหวาดระแวงว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้มากขึ้นหากไม่ปราบปราม 

สำนักข่าวอย่าง รอยเตอร์ ไล่แกะรอยเรื่องนี้มานาน และพบว่าปัญหาดังกล่าวกำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2013 มีเด็กจากแอฟริกาตะวันตกที่ใฝ่ฝันในเส้นทางฟุตบอลมากถึง 15,000 คน ถูกขบวนการค้ามนุษย์ลักลอบนำเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ซึ่ง The Athletic ก็ได้สัมภาษณ์กับเอเย่นต์คนหนึ่ง ซึ่งขยายความข้อมูลนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเจ้าตัวบอกว่า 

"มันมีปัญหามากกว่านี้ในกานา และไนจีเรีย มันค่อนข้างแพร่หลาย เลยทีเดียว" เอเยนต์ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวกับ The Athletic 

มันไม่ใช่เรื่องการลักลอบอพยพเท่านั้น บางครั้งมันก็เหมือนกับการเป็นมิจฉาชีพ ในการหลอก ๆ เด็กและครอบครัวในแอฟริกันที่ยอมจ่ายเงินก้อนโตให้เอเย่นต์เหล่านี้ เพราะพวกเขาคิดว่าลูก ๆ จะได้เป็นนักเตะอาชีพ แต่สุดท้ายก็ว่างเปล่า หนักไปกว่านั้นบางคนจ่ายเงินแล้ว แต่ไม่ได้เดินทางไปยุโรปแบบหลอกเอาเงินกันฟรี ๆ เลยก็มี 

เซดู คาบอเร จาก บูร์กินาฟาโซ คือหนึ่งในนั้น เขาถูกเอเย่นต์พาในยุโรป ด้วยการจ่ายเงินกว่า 5,000 ยูโร(ราว 170,000 บาท) โดยเอเย่นต์จัดการเรื่องวีซ่าให้ และปล่อยเขาบินจาก บูร์กินา ฟาโซ มายัง ฝรั่งเศส ที่เมืองมาร์กเซย จากนั้นเขาถูกพาตัวไปบ้านหลังหนึ่งที่มีเด็กหนุ่มจากแอฟริกาอีกหลายสิบคนอยู่รวมกัน และทุกคนมีความฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพทั้งสิ้น 

และอย่างที่เรารู้ การจะเป็นนักเตะอาชีพนั้นมันยากขนาดไหน ดังนั้นคนที่ประสบความสำเร็จแบบ อาหมัด ที่ได้มีบ้านดี ๆ อยู่ มีสโมสรดี ๆ สังกัด จึงมีเพียงหยิบมือเท่านั้น ส่วนคนที่เหลือ อาจจะต้องไปเล่นในทีมระดับท้องถิ่น และถ้าร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือไม่มีสโมสรเล่นเลย 

พวกเขาที่โชคร้ายเหมือนถูกปล่อยเกาะ ถ้าไม่มีสโมสรเล่นจนครบวีซ่า 6 เดือน ที่เหลือพวกเขาก็ต้องอยู่กันตามมีตามกรรม และสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคนคือการเอาตัวรอด ในเมื่อไม่ได้เป็นนักฟุตบอล และไม่ได้มีความรู้มาก หลายคนที่อพยพมาจากแอฟริกา ก็จบลงด้วยการเข้าแก๊งอาชญากรรมและยาเสพติด จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาของชาติที่พวกเขาไปอยู่

อย่างไรก็ตามขณะที่ในยุโรปกำลังกวาดล้างและปราบปราบ แต่เด็ก ๆ ในแอฟริกายังคงมีความฝันเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขาอยากจะไปยุโรป ไม่ว่าจะหนทางใดก็ตาม ด้วยเหตุผลเดียวคือการหลีกหนีความยากจน

ภาพของ "การไปยุโรป" ของพวกเขาสวยงามเสมอ พวกเขาอาจจะคิดว่าตัวเองจะได้เป็น อาหมัด ดิยาลโล่ คนต่อไป แม้ว่าความจริงมันอาจจะไม่เป็นแบบนั้นก็ตาม

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.nytimes.com/athletic/5240403/2024/02/08/amad-diallo-manchester-united-trafficking/
https://www.nytimes.com/athletic/4319902/2023/03/18/football-refugees-uk-new-illegal-migration-bill/
https://www.reuters.com/article/idUSBRE9A70FR/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ