ยิ่งเล่นยิ่งแพ้ ยิ่งถ้าจบซีซั่น 2024-25 นี้ ไม่ได้แชมป์ยูโรป้าลีก สภาพจิตใจและทัศนคติของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชุดนี้อาจจะตกต่ำมาอยู่ในระดับองค์กรที่ไร้คุณภาพอย่างถาวร
เราไม่ได้พูดเอง นี่คือหลักฐานในเชิงจิตวิทยาหลายข้อที่กำลังบอกว่า ปีศาจแดง ทีมที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในเกาะอังกฤษ กำลัง "พุ่งต่ำ" สู่ขาหลง และอาจกลายเป็นทีมที่นักเตะมีแนวคิดไม่แตกต่างจากทีมระดับลีกล่าง ๆ ไร้ความทะเยอทะยานเลยทีเดียว
แม้จะไม่ได้มีงานวิจัยเฉพาะเจาะจงกับนักเตะแต่ละคนของแมนฯ ยูไนเต็ดโดยตรง แต่เราสามารถอ้างอิงจากทฤษฎีและงานวิจัยในวงการจิตวิทยากีฬาที่เชื่อมโยงกับพวกเขาได้
นี่คือเรื่องที่แฟนผีอาจอยากเข้าใจ ... ถ้ามองในเชิงจิตวิทยา ทีมของคุณกำลังเผชิญปัญหาเรื่องใดอยู่กันแน่ ? ติดตามที่ Main Stand
สถานการณ์ "ยอมแพ้ล่วงหน้า"
แมนฯ ยูไนเต็ด ลงเล่นในลีกไปแล้ว 36 นัดในซีซั่น 2024-25 และพวกเขาต้องจบเกมด้วยการเป็นฝ่ายแพ้ถึง 17 เกม มากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรนับตั้งแต่ก่อตั้งลีกอังกฤษ และแม้จะเล่นในสังเวียนเหย้าที่เป็นเหมือนความได้เปรียบ ทีมชุดนี้ก็ยังทำสถิติแพ้ในบ้านต่อหน้าแฟนบอลของตัวเองมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1933
ไม่จบเท่านั้น ในจำนวน 36 เกมพรีเมียร์ลีกซีซั่นนี้ พวกเขาเป็นฝ่ายโดนคู่แข่งออกนำก่อนถึง 22 เกม ที่น่าตกใจกว่านั้น คือพวกในบรรดา 22 เกมที่โดนนำก่อน มีถึง 13 เกมที่ทีมโดนคู่แข่งยิงนำตั้งแต่ช่วง 15 นาทีแรกของเกม
สรุปง่าย ๆ คือนี่เป็นทีมที่สภาพจิตใจห่อเหี่ยวไร้ความฮึกเหิมถึงขีดสุด เพราะแพ้เยอะ แพ้แบบโดนยิงก่อน และแพ้ตั้งแต่มุ้งยังไม่กางเพราะโดนยิงก่อนตั้งแต่หัววัน
เรื่องนี้ รูเบน อโมริม กุนซือของทีมกล่าวพร้อมกับการส่ายหัวหลายต่อหลายครั้ง และเนื้อหาที่เขาพูดแต่ละครั้งล้วนเต็มไปด้วยความผิดหวัง และอับอายกับผลงานที่ย่ำแย่ทั้งหมด ต่อให้ทีมจะเข้าไปถึงรอบชิงยูโรป้าลีก แต่อย่างไรเสียมันก็ไม่สามารถเอามาหักลบกลบหนี้จนปิดปัญหาผลงานในฟุตบอลลีก ซึ่งเป็นรายการที่ทุกทีมต้องเน้นที่สุดเป็นอันดับ 1 ในแต่ละปี
"สำหรับผม ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในสโมสรเราตอนนี้ เรากำลังสูญเสียความรู้สึกว่าเราคือสโมสรใหญ่ และการแพ้ในบ้านมันควรจะเป็นเรื่องใหญ่เหมือนโลกจะแตก นั่นคือสิ่งที่ผมเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้"
"ผมรู้สึกอายและยากที่จะยอมรับ ทุกคนต้องคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับหลาย ๆ อย่างที่นี่ ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด" กุนซือชาวโปรตุกีส กล่าว
แม้เขาจะไม่ได้กล่าวโทษและเจาะจงไปที่นักเตะ แต่ผลงานในสนามย่อมสะท้อนถึงทุกคนในสโมสรโดยเฉพาะ นักเตะ และโค้ช ที่มีงานหลักคือการทำให้ทีมคว้าชัยชนะ … สถิติแย่ ๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ในตอนนี้ แนวคิดในเชิงจิตวิทยาที่สามารถเอามาอ้างอิงได้ นั่นคือแนวคิดของ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) เป็นแนวคิดที่ชื่อว่า Learned Helplessness หรือ ภาวะไร้อำนาจที่เรียนรู้
แนวคิดดังกล่าวระบุว่า เมื่อบุคคลเผชิญกับความล้มเหลวซ้ำ ๆ โดยไม่มีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ จะทำให้เกิดความรู้สึก "ยอมแพ้ล่วงหน้า" และขาดแรงจูงใจ พวกเขาจะเชื่อว่าตนเองไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้า
และเมื่อคุณเอาแนวคิดนี้มาเทียบกับ ยูไนเต็ด ชุดปัจจุบัน คุณจะเห็นว่าการแพ้ติด ๆ ซ้ำ ๆ กันมาหลายเกม หรือความล้มเหลวกับผลงานในสนามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งนานวันมันก็ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกหมดพลังใจ หมดความกระหายอยาก ซึ่งเรื่องนี้คุณก็จะเห็นในสนามว่าในหลายครั้งผู้เล่นของพวก ยูไนเต็ด "เล่นเหมือนไม่อยากจะเอาชนะ" ขาดความกระตือรือร้นอย่างชัดเจน
แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหา ก็ย่อมมีทางออก ในเชิงจิตวิทยาบอกว่า นักเตะของยูไนเต็ด อาจจะต้องเริ่มเปลี่ยนทัศนติใหม่ ๆ กล้ายอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นของตัวเอง และเอามันมาเป็นพลังเชิงบวก โดยใช้หลัก Growth Mindset ซึ่งนั่นก็คือพวกเขาต้องเชื่อว่าความสามารถที่เก่งขึ้น ผลงานที่ดีขึ้น สามารถพัฒนาขึ้นได้ด้วยความพยายาม ถ้าพวกเขากำลังยอมแพ้ล่วงหน้า พวกเขาต้องเริ่มคิดใหม่ เช่น "เราอาจจะแพ้เกมนี้" เปลี่ยนเป็น "พวกเราอาจจะยังไม่ดีพอที่จะชนะ แต่ถ้าเราตั้งใจฝึก และทุ่มความพยายามให้เต็มที่ พวกเราจะเป็นทีมที่ขึ้น"
ยูไนเต็ด ยังพอมีทางกู้สถานการณ์ที่เลวร้ายในด้านจิตใจโดยรวมของนักเตะในทีมได้ พวกเขาต้องเริ่มตั้งเป้าหมายที่สามารถทำสำเร็จได้ในระยะสั้น เพื่อฟื้นความมั่นใจ เพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นจะช่วยกระตุ้นสารโดปามีน สารแห่งความสุขในร่างกาย ที่จะช่วยให้พวกเขารู้สึกมีพลังและอยากจะพยายามพัฒนาตัวเองไปสู่ระดับต่อ ๆ ไป
ซึ่งการจะไปถึงจุดที่ "เริ่มสร้างความสำเร็จที่ระยะสั้น" นี้เป็นจังหวะยอดเยี่ยม เพราะพวกเขามีฟางเส้นสุดท้ายที่จะเซฟฤดูกาลที่ย่ำแย่นี้ในยูโรป้าลีก ที่พวกเขาเข้าไปชิงชนะเลิศกับ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ อยู่ ... อันที่จริงเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงจิตวิทยาก็ได้ เพราะใคร ๆ ต่างก็รู้ว่าถ้า ยูไนเต็ด ก้าวไปถึงแชมป์ พวกเขาจบซีซั่นด้วยความฮึกเหิม และเริ่มซีซั่นหน้าด้วยความเชื่อใหม่ ๆ ได้
แต่กลับกันล่ะ ? ถ้าพวกเขาเป็นฝ่ายแพ้ สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ และสภาวะ "ยอมแพ้ตั้งแต่ก่อนแข่ง" ยังคงอยู่ พวกเขาอาจจะกลายเป็นทีมที่แย่ยิ่งกว่านี้ก็ได้ในซีซั่นหน้า หากนักเตะที่อยู่กับทีมยังเป็นนักเตะชุดเดิมที่รับความพ่ายแพ้มามากจนพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใด ๆ ที่เผชิญหน้าอยู่ได้อีกแล้ว
คุณผิด ... ผมไม่ผิด
การรับผิดชอบผลการแข่งขันร่วมกันไม่ว่าจะดีหรือแย่คือสิ่งที่ทุก ๆ สโมสรฟุตบอลชั้นนำต้องมี เมื่อชนะพวกเขายินดีและฉลองชัยร่วมกัน แต่ถ้าพวกเขาแพ้ พวกเขาจะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องความพ่ายแพ้ของทั้งทีม นั่นหมายถึงพวกเขาก็มีส่วนผิดที่ทำให้ทีมแพ้ หรือเจอผลการแข่งขันที่น่าผิดหวัง ... และหลังจากแพ้ พวกเขาแต่ละคนจะย้อนกลับมาดูตัวเอง มองว่าตัวเองรับผิดชอบหน้าที่ที่ตัวเองได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง ?
ถ้ายัง ก็กลับมาทบทวนตัวเองใหม่ และพยายามแก้ไขปัญหาหรือจุดอ่อนของตัวเองให้ดีขึ้น ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ได้ทั้งทีม แน่นอนว่าผลงานของทีมโดยส่วนรวมจะต้องดีขึ้นไม่มากก็น้อย แต่ถ้าต่างคนต่างละเลย ไม่เอาความผิดพลาดมาแก้ไข นัดต่อไปก็รวมตัวกันใหม่แล้วก็เล่นแบบเดิม แน่นอนว่ามันก็แพ้อยู่วันยันค่ำ ซึ่งสิ่งนี้มันคุ้น ๆ กับทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ในฤดูกาลนี้
อันที่จริงจะโทษทีมชุดปัจจุบันทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะการจัดการที่แย่ในอดีตนำพาทีมมาเจอปัญหานี้จนกระทั่งปัจจุบันแบบที่ยังแก้ไม่ได้ ในเชิงจิตวิทยามันตรงกับแนวคิด Social Loafing หรือ พฤติกรรมที่บุคคลลดความพยายามในการทำงานเมื่ออยู่ในกลุ่ม เรียกได้ว่าต่างคนต่างเล่น และมีความเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยเกินไป
ยูไนเต็ดขาดแรงขับเคลื่อนมานานแล้วในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา นักเตะบางรายเล่นเหมือนไม่มีแรงจูงใจ ขาดความกระตือรือร้นในการไล่บอลหรือช่วยเกมรับ พฤติกรรมนี้มันเหมือนการผลักปัญหา ชี้ให้เห็นการพยายามพึ่งคนอื่นโดยที่ตัวเองไม่ได้พยายามมากพอ
เช่นคุณจะเห็นเกมรับของทีมย่ำแย่มาเสมอ การโดนสวนกลับแต่ละครั้งหลุดโล่งโจ้งคู่แข่งทำอะไรก็ดูจะยิงพวกเขาได้ง่ายดายไปหมด สิ่งนี้อาจจะมาจากกลุ่มนักเตะเกมรุกที่มองว่า "เดี๋ยวให้นักเตะเกมรับหรือกองหลังจัดการ" ซึ่งมันไม่มีทางเพียงพอยู่แล้วในยุคสมัยที่ฟุตบอลขับเคลื่อนด้วยผู้เล่น 11 คนในสนาม รุกด้วยกัน รับด้วยกัน
ไม่ใช่แค่เกมรับเท่านั้น ในเกมรุกของ แมนฯ ยูไนเต็ด หลาย ๆ ครั้งคุณจะได้เห็นนักเตะตัวรุกได้เล่นแบบโดดเดี่ยว ไม่มีตัวเลือกในการผ่านบอล ไม่มีคนเติมเกมมาช่วยกดดันฝั่งตรงข้าม สุดท้ายก็นำมาซึ่งการต้องพยายามเล่นคนเดียว และเสียบอลให้ฝ่ายตรงข้ามไปในท้ายที่สุด วนกลับมาที่ทีมคู่แข่งเอาบอลมาเล่นสวนกลับแบบสบาย ๆ โล่ง ๆ เพราะต่างคนต่างเล่น ผลักภาระให้คนอื่นมากจนเกินไป
ต้นเหตุของแนวคิดเหล่านี้อาจจะมาจากเหตุผลเรื่องอื่น ๆ เช่นการขาดโครงสร้างความผิดชอบในทีม กล่าวคือ ทีมไม่มีโครงสร้างและระบบที่ชัดเจน พวกเขาไม่มีผู้บริหารที่ไม่ปล่อยผ่านและพร้อมไล่เบี้ย กำจัดนักเตะที่มีปัญหาออกจากทีม
ไม่ใช่แค่เจ้าของสโมสรหรือบอร์ดบริหารส่วนต่าง ๆ เท่านั้น มันยังรวมถึงเฮดโค้ชที่ไม่สามารถปกครองนักเตะได้ หรือการไม่มีผู้นำในสนามที่แท้จริง มันทำให้ผู้เล่นในทีมเริ่มรู้สึกว่า "ไม่เห็นมีใครมาตรวจสอบอะไรฉันเลย" ท้ายที่สุดมันก็นำไปสู่การลดความพยายามแบบเงียบ ๆ เหมือนที่คุณเห็นว่านักเตะหลายคนก่อนจะย้ายมาที่นี่ผลงานดีมาก ทัศนคติดีมาก แต่พอมาอยู่กับทีมดันกลายเป็นคนละคน จากหน้ามือเป็นหลังมือมากมาย อาทิ อเล็กซิส ซานเชซ, ปอล ป็อกบา และ เจดอน ซานโช่ ที่แสดงให้เห็นความ "หมดใจ" ออกมาในการลงสนามแต่ละครั้งอย่างชัดเจน
การมีปัญหาในองค์กรนำมาซึ่งข่าวลือในเชิงลบมากมาย คุณจะได้เห็นข่าวกอสซิปเรื่องแย่ ๆ ของฝั่งยูไนเต็ด หลุดออกมาบ่อย ๆ เช่น ความไม่ลงรอยกันของผู้เล่นหรือระหว่างโค้ชกับนักเตะ สะท้อนความเป็น "กลุ่มที่ไม่มีเป้าหมายร่วม"
และเมื่อขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็สามารถเกิด Social Loafing ได้ง่าย เพราะต่างคนต่างไม่รู้สึกว่า "ต้องสู้เพื่อกันและกัน" ซึ่งสิ่งเหล่านี้คุณจะไม่เห็นในทีมชั้นนำหลาย ๆ ทีมอย่างแน่นอน ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นง่ายที่สุดได้แก่ ลิเวอร์พูลหรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ใครจะลงสนามก็ต้องเล่นเพื่อระบบ ไม่ใช่แค่เพื่อชื่อเสียงส่วนตัว นี่คือเรื่องที่คุณไม่อาจปฏิเสธได้จริง ๆ
แล้วเราจะสู้ไปเพื่ออะไร (วะ) ?
ปัญหาข้อสุดท้าย คือทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ชุดนี้เผชิญเรื่องแย่ ๆ มามากมาย ตั้งแต่เรื่องฟอร์มการเล่นในสนาม การจัดการภาพรวม ข่าวลือเชิงลบ การโดนวิจารณ์ผ่านสื่อในทุกสัปดาห์ และการโดนล้อเลียนในโซเชี่ยลมีเดียมาเป็น 10 ปี ย่อมนำไปสู่หลักฐานเชิงจิตวิทยาที่ชัดที่สุดนั่นคือ "ภาวะหมดไฟ" หรือที่เราคุ้นชินกันดีกับคำว่า Burnout
ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาคลาสสิกของนักกีฬาแทบจะทุกชนิด โดยเฉพาะกลุ่มนักกีฬาระดับโลกที่ต้องแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็เช่นกัน มาตรฐานจากอดีตที่เคยสร้างกันเอาไว้นั้น สูงใหญ่เป็นกำแพงหนาที่ทีมชุดนี้ยังไม่สามารถก้าวข้าม หรือแม้แต่จะใช้คำว่า "เข้าใกล้" ได้เลยด้วยซ้ำ กลับกันในองค์กรหรือสโมสรฟุตบอลระดับโลกเช่นนี้ ความพ่ายแพ้แต่ละครั้งถือเป็นเรื่องใหญ่ หากพวกเขาเหล่านี้อยู่ในสภาวะความกนดันสูงเป็นเวลานาน ๆ ย่อมนำไปสู่การ Burnout ได้เป็นอย่างดี
ภาวะ Burnout (หมดไฟในการทำงาน) เป็นอีกหนึ่งกรอบแนวคิดเชิงจิตวิทยาที่สามารถนำมาอธิบายความล้มเหลวของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฤดูกาล 2024–25 ได้อย่างลึกซึ้ง เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของ "ฟอร์มตก" หรือ "แท็คติกพัง" เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหา ด้านอารมณ์ แรงจูงใจ และความรู้สึกเหนื่อยล้าจากภายใน ของบุคลากรในทีมอย่างชัดเจน
นักเตะยูไนเต็ดลงเล่นโดยไม่มีชีวิตชีวาในหลาย ๆ เกม ขาดการไล่บอลหรือแสดงออกถึงความหิวชัยชนะ ซึ่งเป็นสัญลักของ Emotional exhaustion หรือ ภาวะพลังใจหมด แม้ร่างกายจะยังวิ่งไหว แต่ก็เบื่อหน่ายและไร้แรงกระตุ้นเกินที่จะทำ นักเตะบางคนแสดงออกว่ารู้สึก "ชินชา" กับความพ่ายแพ้ ดังบทสัมภาษณ์ของ อโมริม ในข้างต้น
ยูไนเต็ดเสียประตูก่อนถึง 22 จาก 36 นัดในลีกแสดงถึงปัญหา "เริ่มเกมด้วยพลังงานต่ำ" นอกจากนี้อัตราการพลิกกลับมาตีเสมอหลังโดนนำยังต่ำกว่า 50% สะท้อนว่าเมื่อสถานการณ์แย่ ทีมไม่มีพลังใจจะสู้กลับ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง และมาออกอาการแรงที่สุดก็ภายใต้ทีมชุดปัจจุบัน
ปัญหานี้ตามหลักจิตวิทยาสามารถแก้ได้ด้วยหลายวิธี เช่นการลดความกดดันภายใจ การสนับสนุนให้นักเตะให้ความหมายในการทำงานของตัวเอง แต่ในโลกแห่งฟุตบอล สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำง่าย ๆ เหมือนกับตัวหนังสือหรืองานวิจัยทางจิตวิทยาเลย
ซึ่งนั่นเองที่มันชวนให้น่าเป็นห่วงว่า รูเบน อโมริม และบอร์ดบริหารฟุตบอลโดย เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ จะสามารถแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานหลายปีให้ดีขึ้นได้หรือไม่
บทวิจัยอ้างอิง
Seligman, M. E. P. (1972). Learned helplessness. Annual Review of Medicine.
Carron, A. V., & Eys, M. A. (2012). Group Dynamics in Sport.
Smith, R. E. (1986). Toward a cognitive-affective model of athletic burnout.