Feature

เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กับปรัชญาการคุมทีมอันนุ่มลึก ในฟุตบอลยุคใหม่ ทำให้หลายทีมต้องเพิ่มคลาส นำไปสู่การเกิดขึ้นของทีม BIG 6

 

GUINNESS ในฐานะผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของ Premier League อยากชวนทุกคนมาลองสัมผัสประสบการณ์สุดนุ่มลึก ในแบบ GUINNESS BEAUTIFUL GAME SOCIETY ของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กับปรัชญาการคุมทีมอันนุ่มลึก ในฟุตบอลยุคใหม่ ทำให้หลายทีมต้องเพิ่มคลาส นำไปสู่การเกิดขึ้นของทีม BIG 6

หลังจากที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก้าวเข้ามาคุม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 2016 ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะพลิกโฉมทีมที่เคยอยู่ภายใต้เงาของ "บิ๊กโฟร์" ให้กลายเป็นมหาอำนาจแห่งวงการลูกหนังอังกฤษได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยปรัชญาการทำทีมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ผสมผสานระหว่างความเข้มข้นและนุ่มลึก เป๊ป ไม่เพียงแค่นำแชมป์มาสู่สโมสร แต่ยังสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับพรีเมียร์ลีก ด้วยรูปแบบการเล่นที่สวยงามและประสิทธิภาพอันน่าทึ่ง

เส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้จะมีทรัพยากรมหาศาล แต่กุนซือชาวสเปนต้องใช้สติปัญญา ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ชั้นเลิศในการปรับโครงสร้างทีมและสร้างวัฒนธรรมแห่งชัยชนะ 

ความสำเร็จของเขาเกิดจากการบ่มเพาะอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากความล้มเหลว ในฤดูกาลแรกสู่การเป็นทีมที่ครองความยิ่งใหญ่แห่งเกาะอังกฤษ.. ติดตามพร้อมกันที่ Main Stand


ขับเรือชนยักษ์ : ปรัชญา "เป๊ป" กับคลาสที่นุ่มลึกแต่หนักหน่วงจนพรีเมียร์ลีกสะเทือน

หลายครั้งเรามักได้ยินคนบอกว่า งานของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นั้นเป็นเรื่องง่ายดาย เขาอยากจะได้อะไร ก็จะได้ตามนั้น ราวกับมีคฑาวิเศษมาเสกให้สัญญาค่าจ้างที่แพงที่สุดในโลกที่เขาถือครองมาเกือบ 10 ปี นักเตะชั้นดีฝีเท้าเยี่ยมที่ทีมงานสรรหาพยายามหามาเสิร์ฟเขาในทุกตลาดซื้อขาย ทำให้ทีมของเขาไม่เคยลดหย่อนเรื่องประสิทธิภาพลงเลย ไหนจะเรื่องของเจ้าของทีม ที่พร้อมจะใช้เงินแก้ทุกเรื่องที่ เป๊ป คิดว่าเป็นปัญหา โดยข้อแลกเปลี่ยนมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือ แมนฯ ซิตี้ ในยุคของเขาจะต้องลงสนามและคว้าชัยชนะมาให้ได้ พร้อมตอนจบของซีซั่น ที่จำเป็นจะต้องมาพร้อมกับถ้วยแชมป์

ทั้งหมดนี้เขาต้องใช้สติปัญญาและประสบการณ์ที่มี พร้อมกับวิธีการที่ผสมผสานกันด้วยความเข้มข้นและนุ่มลึก เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ใช้คำว่า “ต้องสำเร็จเท่านั้น" 

 

พรีเมียร์ลีกก่อนเป๊ป จะมาถึง

ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 1992 และจากนั้นต่อมาลีกฟุตบอลแห่งนี้ก็กลายเป็นลีกฟุตบอลอันดับ 1 ของโลกในแง่ความนิยมและการแข่งขันอันเข้มข้นที่สุดเหล่าผู้จัดการทีมมากหน้าหลายตา และเหล่าทีมน้อยใหญ่พัฒนาตัวเองขึ้นมาด้วยการ ใช้ศาสตร์และศิลป์ทุกแขนง แต่ที่สุดแล้วเมื่อลากยาวมาตั้งแต่ปีก่อตั้งจนถึงยุค 2010s มีเพียง 4 สโมสรเท่านั้นที่ถือว่าเป็น "พี่ใหญ่" แห่งเกาะอังกฤษ ได้แก่ แมนฯ ยูไนเต็ด,  อาร์เซน่อล, เชลซี และ ลิเวอร์พูล ซึ่งทุก ๆ คนเรียกทีมกลุ่มนี้ว่า “บิ๊กโฟร์"

เหล่าทีมบิ๊กโฟร์เหนือกว่าทีมอื่นในแง่ของประวัติศาสตร์ รายได้ และการจัดการต่าง ๆ ที่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกฟุตบอลยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี และพวกเขาก็เป็นเหมือน หมุดหมายสำคัญของอีก 16 ทีมที่เหลือในลีกที่จะโค่นลงมาให้ได้ รวมถึง แมนฯ ซิตี้ ที่ยังคงเป็นทีมเล็ก ๆ ในเวลานั้น

แมนฯ ซิตี้ เป็นเพียงไม้ประดับมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุค 80s แม้จะวูบวาบบ้าง แต่ก็ไม่เคยทำได้มากไปกว่าการสร้างสีสัน พอได้ถูกพูดถึงบ้างประปราย และในบางช่วงเวลาพวกเขาก็เคยต้องตกลงไปเล่นในระดับดิวิชั่น 2 (ลีก วัน ในปัจจุบัน) มาแล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อฟุตบอลพรีเมียร์ลีกคือลีกที่สร้างเม็ดเงินมหาศาล จึงทำให้มีนักลงทุนจากหลาย ๆ ชาติมองเห็นลู่ทางในการเข้ามาสร้างความยิ่งใหญ่ ประสบความสำเร็จ และแบ่งเค้กที่เป็นจำนวนเงินที่ประเมินค่าไม่ได้ แมนฯ ซิตี้ เองก็เป็นทีม ๆ หนึ่งถูก นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการและบริหารทีม จนกระทั่งแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่มาถึงในปี 2008 จากการมาของกลุ่มทุนอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

จากนั้นการทุ่มเงินมหาศาลเพื่อเสริมทัพของเรือใบสีฟ้าก็เกิดขึ้น พร้อมเป้าหมายใหญ่สุด ๆ เพราะพวกเขามองข้ามกลุ่ม "บิ๊กโฟร์" ไปจนถึงขั้นที่จะสร้างทีมให้กลายเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว …นี่คือเป้าหมายที่ดูเย่อหยิ่งจนแฟนบอลหลายทีมต้องปรามาส จนเกิดวลีที่ว่า “ซิตี้ คือทีมที่ไม่มีประวัติศาสตร์” ซึ่งก็เป็นการปรามในทางอ้อม ว่าพวกเขากำลังฝันถึงสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถได้สัมผัส เพรฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไม่ได้ ง่ายดายขนาดนั้น

แน่นอนว่าในช่วงเวลาหลังจากนั้น แมนฯ ซิตี้ อาจจะผงาดคว้าแชมป์ลีกได้ 1 สมัยในปี 2013 ในยุคของกุนซือ มานูเอล เปเยกรินี่ แต่ก็มีวลีคลาสสิกที่บอกกันว่า "การคว้าแชมป์ว่ายากแล้ว แต่การป้องกันแชมป์นั้นยากกว่า" ซึ่งคำ ๆ นี้ก็หมายความเป็นนัย ๆ ได้ว่า ถ้าอยากจะยิ่งใหญ่ระดับเขี่ยเหล่าทีมบิ๊กโฟร์ได้จริง ๆ ก็ต้องโค่นให้เด็ดขาด ป้องกันแชมป์ให้ได้ และสานต่อความยิ่งใหญ่เรื่อย ๆ จนกลายเป็นทีมระดับโลก

และการที่จะทำแบบนั้นได้ทีมต้องมีคุณสมบัติที่พร้อมรอบด้าน ซึ่ง ซิตี้ ในเวลานั้นมีเกือบจะครบ ทั้งนักเตะที่ดี ทีมหลังบ้านที่แข็งแกร่ง เงินทุนมหาศาล และผู้บริหารที่จริงจังกับเป้าหมาย…ขาดก็แต่ผู้นำที่เปรียบดั่งสมองของทีมฟุตบอลซึ่งนั่นก็คือกุนซือชั้นยอด เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงนั้น ไม่มีใครจะประสบความสำเร็จและถูกยกย่องมากไปกว่า เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือชาวสเปนอีกแล้ว

 

นับ 1 เพื่อพิชิตโลก
เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้า มาคุม แมนฯ ซิตี้ ในปี 2016 ย้อนกลับไปตอนนั้น แมนฯ ซิตี้  ยังถูกทีมอื่นมองด้วยความแตกต่างจากตอนนี้สิ้นเชิง ไม่ใช่การมองแบบเกรงกลัว ว่าเป็นโคตรทีม แถมยังเป็นการเย้ยหยันว่าเป็นทีมที่มีแค่เงิน... ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรก็ว่ากันไปตามที่ปากมนุษย์จะพูด

หนทางการเป็นแชมป์นั้นไม่ง่ายกับ ทว่าสิ่งที่ เป๊ป ได้รับจะช่วยเขาได้มาก นั่นคือเขาจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าสิ่งไหนที่เขาต้องการสโมสร จะจัดหามาให้ เงิน นักเตะ ทีมงาน สนามซ้อม ตั้งแต่เรื่องใหญ่จนเรื่องเล็ก นี่คือข้อเสนอที่จูงใจ และเป๊ป ก็มาที่นี่และเริ่มงานของเขา

ในขวบปีแรก เป๊ป ล้มเหลวสิ้นเชิง เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาจบซีซั่นด้วยมือเปล่า หากจะย้อนมองปัญหาตอนนั้น มันน่าจะเป็นเรื่องแท็คติกหรือคุณภาพนักเตะมากกว่า  เป๊ป เอาแนวคิดและวิธีการเล่นเดิมอันเป็นซิกเนเจอร์ของเขามาใช้ที่นี่ แต่ได้ผลลัพธ์ คนละเรื่องแตกต่างกับที่ บาร์ซ่า หรือ บาเยิร์น  หากยังจำภาพปี 2016-17 กันได้  ภาพที่เราเห็น ซิตี้ เสียประตูบ่อย ๆ คือการพยายามขึ้นไปต่อบอลขึงคู่แข่งแบบ ดันสูงสุดขีด แต่จบด้วยการเสียบอลและโดนจ่ายบอลพรวดเดียวทะลุถึงหัวใจ เข้าพื้นที่สุดท้ายเป็นประจำ

แต่อย่างที่บอก เป๊ป จะได้ทุกสิ่งที่เขาอยากได้ และปัญหานี้ก็โดนแก้ได้ด้วยการทุ่มเงินเพื่อซื้อนักเตะในแบบที่เขาอยากได้ มีนักเตะหลายคนเข้ามา จากความล้มเหลวในปีแรก ซึ่งหลายคนยังเป็นตัวหลักมาจนถึงปัจจุบันอย่าง แบร์นาโด ซิลวา, เอแดร์ซอน และ ไคล์ วอล์คเกอร์ และจบปีด้วยการเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก พ่วงด้วยเเชมป์ คาราบาว คัพ อีกหนึ่งรายการ จากนั้นก็เหมือนว่า เป๊ป ได้โครงสร้างหลัก ๆ ในรูปแบของวิธีการเล่นแล้ว ที่เหลือเป็นการเติมคุณภาพเข้ามาเพื่อความสำเร็จระยะยาว

ซึ่งหนนี้แหละที่ เป๊ป เริ่มแก้ปัญหาเพื่อให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนกับตอนที่ บาเยิร์น เขาจะต้องเอานักเตะให้อยู่ สร้างทีมที่ทุกคนรู้หน้าที่ มองภาพรวมของทีมเป็นใหญ่ นอกจากนี้เขายังพัฒนาไปอีกขั้น นั่นคือการจัดการในเวลาที่สถานการณ์ไม่ปกติ เช่นเมื่อถึงเวลาที่มีใครสักคนไม่พอใจกับบทบาทของตัวเองที่เขามอบให้ เมื่อนั้น เป๊ป จะไม่รั้งไว้ เขาพร้อมจะขายออกจากทีมทันทีไม่ว่าจะเก่งมาจากไหนก็ตาม

เหนือสิ่งอื่นใด เป๊ป ก็พิสูจน์ตัวเองว่าเขาคือคนที่ดึงศักยภาพนักเตะที่มีออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ใช่แค่นักเตะที่ซื้อมาจะตอบโจทย์เท่านั้น แต่นักเตะเก่า ๆ จากกุนซือยุคก่อนหลายคน เป๊ป ก็ทำให้ดีขึ้นได้ อาทิ ฟาเบียน เดลฟ์, ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, แฟร์นันดินโญ่, จอห์น สโตนส์ และอีกหลายคนที่ไม่ได้กล่าวถึง พวกเขาเหล่านี้ได้รับบทบาทที่ตรงกับความสามารถของตัวเอง จนกลายเป็นกำลังสำคัญได้อย่างเต็มภาคภูมิ

จุดนี้ชมแต่ เป๊ป ไม่ได้ เพราะการเอานักเตะแต่ละคนเข้าสู่ทีมมีคนหลังบ้านอีกมากมายทั้ง ซิกิ เบกิริกสไตน์ ที่ช่วยในการคัดกรองหานักเตะที่ เป๊ป ตามหา และเอานักเตะมาใช้ให้ถูกกับวัตถุประสงค์เช่น คนไหนจะซื้อมาเล่นเป็นตัวหลัก คนไหนจะซื้อมาเล่นเป็นตัวหมุนเวียน คนไหนจะซื้อมาเป็นอะไหล่เอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งการดันดาวรุ่งจากทีมเยาวชนมาเป็นสอดแทรกในชุดใหญ่ตามโอกาสต่าง ๆ ซึ่งมีเด็กหลายคนที่ได้โอกาสในยุคเป๊ป อย่างทีเห็น ๆ ว่ามีบทบาทกับชุดใหญ่เลยอย่าง ฟิล โฟเดน และคนที่กำลังตามหลังมาอย่าง ริโก ลูอิส, ออสการ์ บ๊อบ เป็นต้น

ดังนั้นคุณจึงจะได้เห็นนักเตะที่ดูจากชื่อชั้นแล้วไม่ได้เป็นตัวท็อปขึ้นหิ้ง แต่พอมาอยู่ภายใต้การสอนและจัดการของ เป๊ป แล้วกลับเล่นได้ดี เข้ากับระบบ อาทิ นาธาน อาเก้, อิลคาย กุนโดกัน, กาเบรียล เชซุส, โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้ และ มานูเอล อาคันจี เป็นต้น

เมื่อคุณมีระบบที่แน่นอน และมีนักเตะที่เล่นเข้ากับระบบ และพร้อมจะเชื่อฟังคุณ ... เป๊ป จึงพา “ทีมของเขา” พิชิตเหล่าบิ๊กโฟร์ที่ครองความยิ่งใหญ่มายาวนานได้สำเร็จ และเราพูดได้เต็มปากแน่ ๆ 1 ประโยคว่านับตั้งแต่เข้ามาที่นี่ในปี 2016 เป๊ป เปลี่ยนแมนฯซิตี้ ให้กลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดได้อย่างเต็มปาก

นักเตะหลายคนโด่งดัง และถูกยกขึ้นหิ้งเมื่อมาอยู่กับเป๊ป… แต่ความเก่งกาจที่แท้จริงของเขา คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในแบบที่นักเตะทุกคนพร้อมจะเชื่อฟังโดยไม่ลังเล แม้ว่าวิธีการจะซับซ้อน และยากแค่ไหนก็ตาม 

 

ความร้อนแรงและนุ่มลึก

ในกลุ่มของตัวหลักของ แมนฯ ซิตี้ เราแทบไม่ต้องพูดถึงพวกเขามากนัก เพราะทุกคนรู้จักพวกเขาดี และพวกเขาเหล่านี้ก็อยู่ในแสงไฟ ได้รับคำชื่นชม ค่าตอบแทน โอกาสลงสนามมากเพียงพออยู่แล้ว แต่เหล่ากำลังพลชั้น 2 ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ต่างหาก 
ที่เป็นเหมือนลมใต้ปีกของความสำเร็จในยุคที่เรียกว่า "ยุคสมัยของ  แมนฯ ซิตี้" อย่างแท้จริง

ทุกอย่างของ แมนฯ ซิตี้ ในตอนนี้มันดูลงตัวไปหมด แต่จริง ๆ เป๊ป ก็มีเรื่องต้องจัดการเหมือนกัน นั่นคือการทำให้เหล่าตัวสำรองพอใจกับบทบาทที่พวกเขาเป็น เช่นเดียวกับการจัดการกับคนที่ไม่ใช่ทั้งในแง่แท็คติก หรือนักเตะที่มาสั่นคลอนอำนาจในการคุมทีมของเขา

ประการแรก เป๊ป มีวิธีบริหารนักเตะทั้งทีมให้พอใจกับการลงสนามได้ดีมาก ๆ คนหนึ่ง กล่าวคือเขาคือนักโรเตชั่นตัวยง และยังเป็นเซียนโรเตชั่นที่มักจะได้ผลการแข่งขันที่ต้องการด้วย ...

เราแทบจะจำไม่ได้เเล้วว่า เป๊ป จัด 11 ตัวจริงลงซ้ำกันติดกัน 2 เกมครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? ยิ่ง 3 เกมติดยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไมน่าเคยเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ เอาง่าย ๆ เลยคือคุณเคยเดา 11 ตัวจริงของ เป๊ป ถูกบ้างไหม ? เขาเป็นคนที่คาดเดายาก มีแท็คติกมากมายในหัว  และพร้อมจะจัดนักเตะลงเล่นในแบบแปลก ๆ ที่เราคาดไม่ถึงเป็นประจำ

เป๊ป เคยบอกว่าการที่เขาจะซื้อนักเตะเเต่ละครั้งเขาประเมินถึงขนาดทีมโดยรวม เขาต้องการให้ทีมมีนักเตะไม่มากเกินไปเพราะจะบริหารยาก และไม่น้อยเกินไปจนอาจจะเกิดปัญหาระหว่างการแข่งขัน

ดังนั้นปรัชญาเรื่องการสร้างขนาดทีมของเขาคือ เขาไม่เชื่อในการมีนักเตะตำแหน่งเดียวกัน 2 คน เพื่อให้มีตัวเปลี่ยนตลอด แต่เขามักจะมองหานักเตะที่เล่นได้หลายตำแหน่งในการซื้อตัวแต่ละครั้ง เพื่อให้ขนาดทีมไม่ใหญ่เกินไป ทำให้นักเตะมีโอกาสลงเล่นตามความเหมาะสมของโปรแกรมในแต่ละซีซั่น 

ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเหตุผลให้นักเตะของ แมนฯ ซิตี้ ที่เป็นนักเตะจำพวก "ตัวหมุนเวียน" พอใจกับโอกาสลงเล่นของตัวเอง คุณจะเห็นได้เลยว่านักเตะที่กล่าวมาในข้างต้นมีสถิติลงเล่นต่อไปรวม ๆ แล้วเกิน 30 เกมทั้งนั้น บางคนอาจทะลุถึง 40 กว่าเกมเลยด้วยซ้ำ นี่คือตัวเลขที่น่าพอใจมาก ๆ ในแง่ของนักบอลคนหนึง แฟนบอลหรือสื่ออาจจะไม่ได้เห็นถึงการมีอยู่ของคุณมากนัก แต่เจ้านายของคุณ เห็นคุณเสมอ

และยิ่งมาประกอบกับความสำเร็จหรือผลลัพธ์ที่เป๊ป ทำได้ มันยิ่งเสริมส่งกันไปอีกที่นักเตะจะเชื่อมั่นในการทำงานหรือการตัดสินใจของ เป๊ป มันจะเป็นความรู้สึกเหมือนกับที่ ดานี อัลเวส เคยบอกไว้เหมือนตอนที่ บาร์เซโลน่า นั่นแหละที่บอกว่า พวกเขายอมทำตามโดยไร้เงื่อนไข แม้ลึกๆ จะไม่เข้าใจว่าทำไม เป๊ป ถึงตัดสินใจสั่งพวกเขาแบบนั้นก็ตาม

ดังที่กล่าวมาคุณจะเห็นได้ว่างานของ เป๊ป ไม่ใช่แค่การจัดแท็คติกหรือแผนการเล่นเท่านั้น แต่การบริหารคนของเขานั้นสุดยอดไม่เป็นสองรองใคร เขาสามารถปรับบทบาทได้หลากหลายให้เหมาะสมตามสถานการณ์ นักเตะบางคนอาจจะต้องการใช้การกระตุ้นที่ดุเดือดพุ่งพล่าน เพื่อให้มีไฟในการแข่งขัน และในบางจังหวะที่การแข่งขันเข้มข้นและความกดดันบีบเข้าใส่ในเกมประเภท “ต้องชนะเท่านั้น” เป๊ป เองก็เป็นคนที่สุขุมนุ่มลึกพอที่จะเป็นตัวอย่างให้ลูกทีมของเขา สามารถเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ทำให้ทุกคนก้าวผ่านความกดดันนั้นอย่างใจเย็น มีสมาธิ เพื่อไปถึงเป้าหมายอันสูงสุดที่ทีมตั้งไว้ เพราะการเป็นหมายเลขหนึ่ง ไม่สามารถบันดาลได้ใน ชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากวิสัยทัศน์ การลงทุน และความมุ่งมั่น พัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างไม่หยุดยั้ง

สำหรับ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เขาได้สร้างความสำเร็จที่ใครก็ยากจะทำซ้ำ ด้วยมิติและความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เห็นปุ๊ปก็รู้ปั๊ปว่านี่คือ แมนฯ ซิตี้ ชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์

การมาถึงของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ไม่เพียงเปลี่ยนโฉมหน้าของ แมนฯ ซิตี้ เท่านั้น แต่ยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังทุกทีมใหญ่ในพรีเมียร์ลีก เมื่อพวกเขาต้องปรับตัวตามแรงกระเพื่อมจากแนวทางการทำทีมแบบนุ่มลึกที่ แมนฯ ซิตี้ นำมาใช้ประสบความสำเร็จ 
อย่างเช่น..

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมที่เคยเป็นจ้าวแห่งพรีเมียร์ลีกได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน หลังยุคเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน พวกเขาเปลี่ยนกุนซือมาแล้วหลายคน แต่ไม่สามารถค้นพบเอกลักษณ์ของตัวเองได้ จนกระทั่งมาถึงการจ้าง "เอริค เทน ฮาก" ในปี 2022 
ซึ่งเป็นความพยายามชัดเจนในการปรับทิศทางตามแนวทางของเป๊ป ด้วยปรัชญาการเล่นแบบครองบอลและสร้างเกมจากแผงหลัง

อาร์เซนอล ทีมที่เลือกเส้นทางที่ชัดเจนที่สุดในการก้าวตามรอย แมนฯ ซิตี้ ด้วยการแต่งตั้ง "มิเกล อาร์เตต้า" อดีตผู้ช่วยของเป๊ปเป็นกุนซือใหญ่ อาร์เตต้า ได้นำปรัชญาที่เรียนรู้จากเป๊ปมาผสมผสานกับดีเอ็นเอดั้งเดิมของทีมปืนใหญ่จนพลิกโฉม "อาร์เซน่อล" ให้กลับมาเป็นทีมลุ้นแชมป์อีกครั้ง ทั้งๆที่สิ่งนั้นอาจเคยดูเป็นไปไม่ได้เมื่อไม่กี่ปีก่อน

เชลซี ซึ่งเคยเป็นต้นแบบของทีมที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาเศรษฐี ก่อน แมนฯซิตี้ จะมาทำให้โมเดลนี้ก้าวไปอีกขั้น กลับประสบปัญหาในการหาเสถียรภาพ พวกเขาเปลี่ยนผ่านกุนซือไปมากมาย แต่ละคนนำปรัชญาที่แตกต่างกันมา แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้เงาของความสำเร็จของเป๊ป ล่าสุดภายใต้ ทอดด์ โบห์ลี พวกเขาหันมาเน้นนักเตะดาวรุ่งและนวัตกรรม ซึ่งคล้ายกับโมเดลที่ ซิตี้ ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ลิเวอร์พูล คือทีมที่ปรับตัวได้ดีที่สุดต่อความท้าทายจากเป๊ป การมาของ เยอร์เก้น คล็อปป์ เพียงหนึ่งปีก่อนที่ "เป๊ป" จะมาถึงอังกฤษ นำมาซึ่งการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก คล็อปป์ ไม่ได้ลอกเลียนแบบเป๊ป แต่นำเสนอปรัชญา 
"เกเก้นเพรสซิ่ง" ที่มีความซับซ้อนและเข้มข้นไม่แพ้กัน ทำให้ "หงส์แดง" กลายเป็นทีมเดียวที่สามารถท้าทายการครองบัลลังก์ของแมนฯซิตี้ อย่างจริงจัง

สเปอร์ส ก้าวขึ้นมาร่วมวง "บิ๊กซิกซ์" ด้วยปรัชญาการเล่นที่ทันสมัยซึ่งเริ่มต้นจาก เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ สเปอร์สยกระดับมาตรฐานของทีมด้วยการสร้างสนามใหม่และศูนย์ฝึกระดับโลก เพื่อแข่งขันในยุคที่เป๊ป ยกระดับความคาดหวังของทุกฝ่าย 
แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในแง่ถ้วยรางวัล แต่สเปอร์สได้สร้างตัวตนที่ชัดเจนในฐานะหนึ่งในทีมชั้นนำของอังกฤษ

ทุกทีมในบิ๊กซิกซ์ได้เรียนรู้บทเรียนจากความสำเร็จของเป๊ป ไม่ว่าจะเป็นการเล่นจากแผงหลัง การใช้นักเตะที่ยืดหยุ่นหลายตำแหน่ง หรือการผสมผสานความนุ่มลึกในการครองบอลเข้ากับความแข็งแกร่งในการกดดันคู่แข่ง

 

ความสำเร็จของ แมนฯ ซิตี้ ภายใต้การคุมทีมอันนุ่มลึกของเป๊ป ไม่เพียงสร้างทีมที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่ยังยกระดับมาตรฐานของพรีเมียร์ลีกทั้งระบบ ทำให้เกิดการพัฒนาของวงการฟุตบอลอังกฤษที่ไม่เคยมีมาก่อน เปลี่ยนจาก "บิ๊กโฟร์" สู่ "บิ๊กซิกซ์" ที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น และอาจไม่หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อทีมอย่างนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด กำลังเดินตามรอย แมนฯ ซิตี้ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและวางแผนระยะยาว

เรียกได้ว่าสัมผัสได้ถึงความลึกซึ้งของเกมอันงดงามของฟุตบอลที่ผสมกันอย่างลงตัวและเดินหน้าพร้อมกันเป็นจังหวะอย่างพร้อมเพียง หากเป็นดนตรีก็เป็นดนตรีที่ร่วมสมัย มีความคลาสสิก สุนทรีย์ และยังสามารถเข้าไปถึงหัวใจของฟังได้ทุกกลุ่ม

จบกันไปกับเรื่องราวของ “เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กับปรัชญาการคุมทีมอันนุ่มลึกในฟุตบอลยุคใหม่ ทำให้หลายทีมต้องเพิ่มคลาส นำไปสู่การเกิดขึ้นของทีม BIG 6” นี่แหละคือประสบการณ์ความนุ่มลึกเรื่องราวแบบของ GUINNESS BEAUTIFUL GAME SOCIETY ที่อยากให้ทุกคนลองสัมผัส

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา