ความผิดพลาดของ อองเดร โอนาน่า และ อัลตาย บายินดีร์ คือสิ่งที่แฟนผีแดงได้แต่ปวดหัว และคงไม่มีใครกล้าปฎิเสธว่ามันเป็นความผิดพลาดส่วนบุคคลที่นำพาความเซ็งมหาศาลในช่วงเทศกาลแบบนี้
เพียงแต่ว่าทุกปัญหามันต้องมีที่มา และเรื่องผู้รักษาประตูของ แมนฯ ยูไนเต็ด มันส่งกลิ่นมาแต่ไกล
Main Stand จะพาคุณย้อนกลับดูต้นเหตุของปัญหานี้
ปัญหาที่ไม่ควรเป็นปัญหา
จริง ๆ แล้วปัญหาผู้รักษาประตูของ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นปัญหาที่ไม่น่าเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ เพราะ ดาบิด เด เคอา ถือเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทิ้งไว้ให้ และ เด เคอา ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้รักษาประตูที่สามารถยืนระยะเฝ้าเสาได้เป็นสิบ ๆ ปี
อย่างไรก็ตาม การจัดการที่ย่ำแย่สามารถนำปัญหามาได้ทุกเรื่อง นายทวารฝีมือดี อย่าง เด เคอา กลับไม่เคยได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้เล่นแนวรับที่ไว้ใจได้ นับจากหมดยุค เซอร์ อเล็กซ์ ในปี 2013 ยูไนเต็ด เปลี่ยนเซ็นเตอร์แบ็กสลับหน้ากันแทบไม่มีภาพจำว่าใครเป็นตัวจริงในระยะยาว ขณะที่ในแผงมิดฟิลด์ที่เป็นหัวใจสำคัญในเกมฟุตบอลสมัยใหม่ก็ล้มเหลวแทบทุกดีล
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ย้อนกลับไปในเวลานั้นที่ เด เคอา กลายเป็นนักเตะดีที่สุดในทีม การันตีด้วยรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำปีของสโมสร 2 ปีติดต่อกัน และการเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในทีม ทำให้เกมการต่อสัญญาเป็นฝั่ง เด เคอา ที่ได้เปรียบสโมสร ประกอบกับตัวบอร์ดบริหารของทีมก็ไม่เคยตั้งเพดานค่าเหนื่อยที่เหมาะผมไว้ ทำให้ท้ายที่สุดแล้วค่าเหนื่อยของ เด เคอา กระโดดไปไกลถึง 350,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เงินจำนวนขนาดนี้ครั้งหนึ่งทำให้ เด เคอา เป็นนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยมากที่สุดในพรีเมียร์ลีกมาแล้ว
สัญญาที่มีจำนวนเงินมากมายมหาศาล ประกอบกับช่วงเวลาที่สโมสรเดินทางเข้าสู่ขาลง ทำให้นักเตะชื่อดัง (แต่เล่นแล้วฝีเท้าไม่ดัง) หลายคนเข้ามาและโขกสับค่าเหนื่อยก้อนโต จนเพดานค่าเหนื่อยของทีมพังทลาย หนักที่สุดคือการให้ อเล็กซิส ซานเชซ สัปดาห์ละ 500,000 ปอนด์ ตามด้วย คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ในระดับ 550,000 ปอนด์
สุดท้ายเมื่อซื้อใครมาก็ล้มเหลว การเสริมทัพก็ทำได้ยากเย็นยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการระบายนักเตะออกที่ยากเย็นแสนเข็ญเพราะติดปัญหาค่าเหนื่อยที่ทีมอื่นไม่กล้าจ่ายให้ระดับนี้ มันจึงกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างตามมา และมาถึงส่วนสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ในวันที่ เอริค เทน ฮาก เข้ามาคุมและต้องการเสริมทัพในหลาย ๆ ตำแหน่ง รวมถึงผู้รักษาประตูคนใหม่ที่ต้องเล่นบอลด้วยเท้าได้ดีตามเทรนด์ลูกหนัง
ค่าเหนื่อยของ เด เคอา จึงเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้ทีมไม่สามารถเสริมทัพได้ ทีมจึงต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และนำไปสู่การไม่ต่อสัญญา เด เคอา เพื่อหาผู้รักษาประตูใหม่ที่อายุน้อยกว่า ค่าจ้างน้อยกว่า และเล่นได้ตามแท็คติกของโค้ชมากว่า ทว่าสุดท้ายหวยที่ออกกลายเป็นฝันร้ายที่เกาะกินทีมจนมาถึงตอนนี้
ผิดฝา-ผิดตัว
ยูไนเต็ด อยู่ในสภาพความย่ำแย่มานาน ถ้าเป็นร่างกายมนุษย์ก็ต้องยกคำพูดของ ราล์ฟ รังนิก กุนซือของพวกเขาออกมาขยายความต่อว่า "มันไม่ใช่การเป็นแผลถลอกหรือฟกช้ำ แต่การเปลี่ยนแปลง แมนฯ ยูไนเต็ด เปรียบได้กับการผ่าตัดใหญ่" ... และมันก็วิกฤติประมาณนั้นเลย
เหตุผลก็เพราะปัญหาที่ รังนิก บอกยังไม่ได้รับการแก้ไข แถมยังแย่ไปกว่าเดิมเมื่อในตลาดซื้อขายฤดูร้อนปี 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และการตัดสินใจที่สำคัญของสโมสร บอร์ดบริหารตัดสินใจให้ เอริค เทน ฮาก ทำงานต่อไป ท่ามการกระแสความไม่พอใจของแฟนบอลส่วนหนึ่ง แต่ก็มี 2 แชมป์ฟุตบอลถ้วยใน 2 ปีเป็นเกราะกำบัง นอกจากนี้ยังมีการให้งบประมาณเสริมทัพกว่า 200 ล้านปอนด์
เรียกได้ว่าจัดเต็มเหนี่ยวกะได้เห็นทีมที่ดีขึ้นแน่ แต่ก็อย่างที่เรารู้กัน เทน ฮาก พาทีมลงเหว ดีลนักเตะทั้งหมดที่ซื้อมาแทบไม่มีใครพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวหลักเต็ม ๆ แบบที่ทีมขาดไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว เช่นเดียวกับความวุ่นวายในตำแหน่งผู้รักษาประตูที่ขายประตูเก่าออกไป 2 คน (เด เคอา และ ดีน เฮนเดอร์สัน) และการซื้อ อองเดร โอนาน่า และ อัลตาย บายินดีร์ ก็ถูกเสริมเข้ามาในยุค เทน ฮาก เช่นกัน
เรียกได้ว่างบประมาณที่ให้ เทน ฮาก ใช้ 3 ตลาดซัมเมอร์ กลายเป็นฝุ่นไปเรียบร้อย จนนำมาซึ่งการแต่งตั้ง รูเบน อโมริม กุนซือที่เล่นคนละระบบ ชนิดที่ว่าเปลี่ยนวิธีการเล่น และสเป็กนักเตะที่ใช้ไปกันคนละเรื่อง ... สุดท้ายแล้วประตูใช้เท้าดี และเข้าใจระบบของโค้ชคนเก่า ก็กลายเป็นประตูที่สร้างความท้อแท้ปวดหัวให้กับ กุนซือใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้
ด้วยความที่เล่นคนละระบบ ต้องการนักเตะที่ถนัดคนละแบบ ทำให้ อโมริม ที่รับงานนี้ต้องมาปรับใช้และฝืนธรรมชาตินักเตะหลายคน ซึ่งด้วยตาเห็น และผลงานในสนาม รวมถึงอันดับในตารางคะแนน คุณสามารถพูดได้โดยไม่ต้องกลัวใครค้านว่านักเตะของ ยูไนเต็ด ชุดนี้เกิน 70% คุณภาพการเล่นถดถอยลงเมื่อต้องมาเล่นในระบบ 3-4-2-1 ของ อโมริม ไม่นับปัญหาของแต่ละคนที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งทัศนคติ เบสิกฟุตบอล ฯลฯ
นักเตะที่ไม่สามารถตอบโจทย์เชิงกลยุทธ์ ย่อมนำมาสู่ความโกลาหลของเกมในสนาม แทนที่ทีมจะได้เล่นเกมรุกครองบอลโหมใส่คู่ต่อสู้ กลายเป็นการเสียบอลง่ายและโดนคู่แข่งโจมตีกระหน่ำจากทุกทิศทาง มันทำให้ลำพัง โอนาน่า และ บายินดีร์ ก็ไม่ได้อยู่สภาพท็อปฟอร์ม และอยู่ในสภาพมั่นใจ เจองานยากมากขึ้น และเมื่อพวกเขาไม่นิ่งพอ ลูกเฟอะฟะ หมูหก ก็ปรากฏขึ้นมากขึ้น
ไม่ใช่ว่าพวกเขาทั้งคู่ไร้ซึ่งความผิด ความรับผิดชอบส่วนใหญ่ยังคงเป็นสิ่งที่ โอนาน่า และ บายินดีร์ ต้องยืดอกรับ แต่อย่าลืมว่าฟุตบอลเล่นเป็นทีม และต้องไม่ลืมว่าทีมที่ดีสามารถเปลี่ยนนักเตะธรรมดา ๆ ให้เป็นนักเตะที่เล่นดีมีประโยชน์กับทีมได้ แต่ไม่ใช่กับ ยูไนเต็ด ทีมที่เปลี่ยนระบบการเล่นแทบทุกปี เสริมทัพพลาดแทบทุกตลาดเช่นนี้
ปัญหาหลัก...คือทุกส่วน
ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกยุคนี้ คุณไม่สามารถเอาชนะทีมใหญ่อย่างเดียวและลุ้นว่าจะประสบความสำเร็จได้อีกต่อไปแล้ว สิ่งสำคัญสุด ๆ ไม่แพ้เรื่องทัศนคติก็คือขุมกำลังที่เก่งพอ ทัศนคติดีพอ และฟิตพอสำหรับการแข่งขันระยะยาว 9 เดือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความสม่ำเสมอ
คุณปฏิเสธไม่ได้ว่าการหมุนเวียนนักเตะในแต่ละนัดคือสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ดังนั้นเพื่อให้นักเตะตัวหลักได้พัก และให้เหล่าตัวสำรองได้โอกาสลงสนาม ได้มีแมตช์ฟิต มันจะทำให้พวกเขาพร้อมสำหรับการหยิบจับมาใช้ในเวลาที่ต้องการ
แมนฯ ยูไนเต็ด ณ ตอนนี้ กำลังเริ่มต้นเส้นทางของการเป็นผู้ชนะ ขุมกำลังของแมนฯ ยูไนเต็ด ยังมีนักเตะที่ใช้งานไม่ได้ เล่นไม่ดี ไม่มีความฟิต (เจ็บบ่อย) หัวใจไม่แกร่งพอ และไม่ตอบโจทย์เชิงแท็คติกอีกมากมายหลายคน นักเตะประเภท "Deadwood" หรือ ไม้ตายซาก เหล่านี้อยู่กับทีมมานานโข หลายคนอยู่มาตั้งแต่ยุคของ โชเซ่ มูรินโญ่ แต่ก็ยังคงอยู่ในทีมชุดปัจจุบันต่อไป ทั้ง ๆ ที่ใช้งานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และถึงเวลาที่ทีมต้องการ พวกเขาก็เจ็บไม่พร้อมลงเล่น อาทิ วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ และ ลุค ชอว์ เป็นต้น
การที่นักเตะไม่พร้อมจะหมุนเวียนทีม และไม่สามารถพักตัวหลักได้ ทำให้ในเกมที่เจอกับทีมที่เล็กกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ประสบปัญหาคุ้นตามากมาย เช่น ไม่มีตัวเปลี่ยนเกมบนม้านั่งสำรองเวลาที่ตัวหลักเล่นไม่ได้หรือฟิตไม่พอ ครั้นจะส่งตัวสำรองลงเล่นในตำแหน่งสำคัญ ๆ คุณภาพก็ตกวูบแบบน่าใจหาย เล่นไปเล่นมากลายเป็นแย่กว่าทีมคู่แข่งที่อ่อนชั้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด
และในโลกของฟุตบอล ผลการแข่งขันสำคัญที่สุด ต่อให้คุณทำผิดพลาด แต่ทีมกลับเป็นฝ่ายเก็บชัยชนะได้ ผลที่ตามมาก็คือความผิดพลาดของคุณก็จะถูกพูดถึงน้อยลง เรียกได้ว่าความสำเร็จของทีมสามารถกลบความผิดพลาดส่วนบุคคลได้
แต่กลับกัน เมื่อผลงานแย่แล้วแย่อีก ผสมกับการมีคอนเทนต์ให้คนอื่นพูดถึงตลอดเวลา มันจึงกลายเป็นความกดดันมหาศาลให้นักเตะในทีมทุกคน เล่นแบบกลัวผิดพลาด กดดัน ดูไม่ธรรมชาติ และสุดท้ายเมื่อทีมแพ้ มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่สื่อหรือแฟนบอลหาใครสักคนมาเป็นแพะรอโดนถล่ม ... ซึ่ง ณ ตอนนี้แผลของผู้รักษาประตูนั้นใหญ่ที่สุด ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ โอนาน่า และ บายินดีร์ ต้องรับไปแบบเลี่ยงไมได้
เรียกได้ว่าปัญหาหมักหมมที่พันกันยุ่งเหยิงมาตลอด 10 ปีหลังได้พาทุกเรื่องของทีม แมนฯ ยูไนเต็ด เดินทางมาอยู่ถึงจุดที่ไม่สามารถซ่อนปัญหาไว้ใต้พรมได้อีกแล้ว ทุกเรื่องกลายเป็นแผลเหวอะส่งกลิ่น ที่ต้องดูแลให้ดี รักษาให้ถูกทาง เพื่อฟื้นฟูกลับมาให้แข็งแรงอีกครั้ง ... ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ปีศาจแดงจะกลับสู่ร่องสู่รอยได้ จากสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้
แหล่งอ้างอิง
https://community.sports-interactive.com/forums/topic/106281-why-do-i-always-lose-against-the-crap-teams/
https://theanalyst.com/2024/09/man-utd-wasteful-finishing
https://www.eurosport.com/football/premier-league/2024-2025/beating-lower-class-teams-now-key-to-manchester-uniteds-title-challenge-erik-ten-hag_sto20027884/story.shtml
https://www.quora.com/Why-does-Liverpool-perform-great-when-against-top-opponents-and-weirdly-poor-against-lower-ranked-opponents
https://rushthekop.com/2017/04/07/why-cant-liverpool-beat-the-smaller-teams/