Feature

ชาวนาตาแหลม : ทำไมทีมพรีเมียร์ลีกมักสอยกองหลัง "วัยหนุ่ม" จากลีกเอิง? | Main Stand

แมนฯ ซิตี้ ซื้อ คูซานอฟ, อาร์เซน่อล ซื้อ ซาลิบา และ กาเบรียล, แมนฯ ยูไนเต็ด ซื้อ โยโร่, นิวคาสเซิล ซื้อ บอตมัน ... พวกเขาซื้อนักเตะเหล่านี้จากลีกเอิงทั้งสิ้น 

 


เหตุใดลีกที่ถูกเรียกว่าลีกชาวนา จึงเป็นลีกที่ฟันเงินจากทีมพรีเมียร์ลีกมากเกือบ 400 ล้านปอนด์ ใน 2 ปีหลังสุด จากนักเตะตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟอย่างเดียว แถมหลายคนยังย้ายตั้งแต่วัยทีนเอจด้วย 

นี่คึอเรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้ ติดตามที่ Main Stand

 

ลีกชาวนา...ในตำนาน

ฟุตบอลลีกของฝรั่งเศส หรือ ลีก เอิง มักโดนแซะและค่อนขอดว่าเป็น "ลีกชาวนา(Farmer League)" อยู่เสมอ ถ้าเทียบกันในกลุ่มที่ถูกเรียกว่า 5 ลีกใหญ่ยุโรป(อังกฤษ, สเปน, เยอรมัน, อิตาลี และ ฝรั่งเศส)

แน่นอนว่าไม่ต้องอธิบายมากคุณก็น่าจะพอนึกออก เพราะสื่อโซเชี่ยลก็ขยี้เรื่องนี้อยู่บ่อย ๆ ในเวลาที่มีทีมอย่าง เปแอสเช ผูกขาดการคว้าแชมป์และกวาดความสำเร็จอยู่ทีมเดียวแบบยากจะหาทีมอื่นมาต่อกร 

เมื่อมีการเล่นมมุกหรือมีมมแบบนั้นบ่อย ๆ เข้าก็อาจจะทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่านี่คือลีกบอท หรือเรียกง่าย ๆ ว่าลีกที่ไม่ได้แข็งแกร่งอะไรเลย แม้แต่ทีมที่เก่งที่สุดอย่าง เปแอสเช เพราะรอบข้างมีแต่ทีมที่อ่อนประสบการณ์ ไร้งบประมาณ และขาดคุณภาพในสนาม เหมือนกับพวกเขาใช้นักฟุตบอลพาร์ทไทม์ ตอนเช้าทำสวนไรนา ตกเย็นก็มาเตะฟุตบอล อะไรประมาณนั้น 

อย่างไรก็ตามถ้าคุณมองเห็นอย่างรอบด้านคุณจะเข้าใจบริบทของคำว่า "ลีกชาวนา" มากและชัดขึ้น นั่นคือในความจริงพวกเขาไม่ใช่ลีกที่แย่เหมือนกับที่โดนปรามาส เพราะไม่อยางนั้นพวกเขาคงไม่สามารถผลิตนักเตะเกรดดี ๆ ที่หลายทีมใหญ่ทั่วยุโรปเข้ามาเลือกซื้อเอาไปพัฒนาและยกระดับทีมของพวกเขา ซึ่งถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็คงมากมายหลายคน 

คำว่า "ชาวนา" หรือ "เกษตรกร" นั้นยังสามารถให้ความหมายได้อีกอย่างหนึ่งที่เป็นตัวแทนของลีกเอิง นั้นคือการถูกเปรียบเทียบในแง่ของลีกฟุตบอลที่เน้นการเพาะปลูกตั้งแต่เอาเมล็ดลงดิน(การสร้างนักเตะจากระบบเยางชน) และเมื่อเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นออกผล พวกเขาก็จะกลายเป็นผลไม้เกรดพรีเมี่ยมที่สามารถขายทำกำไรได้อย่างมหาศาล... 

หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ ชาวนา ในลีกเอิง มีความรู้ และความสามารถในการสร้างวัตถุดิบชั้นดี ในแบบที่ลีกอื่น ๆ ยังต้องมาดูงานว่า "พวกเขาสร้างนักเตะดาวรุ่งคุณภาพเยี่ยมออกมาเรื่อย ๆ ได้อย่างไร?"  โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เล่นได้ยากที่สุดสำหรับนักเตะอายุน้อยอย่าง "เซ็นเตอร์แบ็ค" ที่ถือเป็นตำแหน่งที่ทีมจาก ลีกเอิง เชี่ยวชาญในการสร้างมากสุด 

เรื่องนี้แม้แต่ลีกที่ถูกบอกว่ามีคุณภาพมากที่สุดอย่างพรีเมียร์ลีกก็ทำไม่ได้ เพราะมีการเปิดสถิติว่า "ลีก เอิง" คือลีกที่สร้างนักเตะในตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ และทำเงินจากการขายให้ทีมจากพรีเมียร์ลีกได้ถึง 388 ล้านปอนด์ ... ย้ำว่านักเตะตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟอย่างเดียวเท่านั้น แถมยังนับย้อนไปแค่ 3 ปีหลังสุดเท่านั้น 

ไม่มีลีกไหนทำเงินจากการขายเซ็นเตอร์ฮาล์ฟได้เท่าลีกเอิงอีกแล้ว ... แถมแต่ละคนที่พวกเขาขายยังเป็นนักเตะที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และไม่เกิน 24 ปี ทั้งสิ้น และนี่คือความรับของชาวนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 

 

เพราะเป็นชาวนาจึงใส่ใจตั้งแต่เริ่ม 

ในขณะที่พรีเมียร์ลีกเน้นเรื่องความเป็นเลิศ การทำกำไร และการรักษาพื้นที่ในลีกที่สามารถทำเงินได้สูงที่สุด จนทำให้การผลักดันนักเตะเยาวชน เป็นเรื่องสำคัญรองมา กลับกันถ้าเรามองมาที่ลีกเอิง พวกเขาเป็นลีกที่ใส่ใจเรื่องการสร้างเยาวชนไม่แพ้กัน แต่ที่ลีกเอิงทำได้ดีกว่าพรีเมียร์ลีกก็คือ ด้วยความเข้มข้นของลีกที่อาจจะไม่มากนัก พวกเขาสามารถให้โอกาสดาวรุ่งได้ลงสนามและเก็บประสบการณ์ตั้งแต่อายุยังน้อย 

ค่าเฉลี่ยของดาวรุ่งท้องถิ่นของฝรั่งเศสในลีกสูงสุดที่แต่ละทีมส่งลงเล่นในลีก เอิง อยู่ที่อายุแค่ 18.25 ปี เท่านั้น นั่นเท่ากับว่าหลังนักเตะในอคาเดมี่ของพวกเขาเซ็นสัญญาเป็นนักเตะอาชีพได้ไม่ถึงปี ทีมจากลีกเอิงก็พร้อมจะให้โอกาสลงสนามกับพวกเขาทันที นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาถึงใช้คำโฆษณาลีกของตนเองว่า "The league of talents"(ลีกแห่งผู้มีความสามารถ) 

อันที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่่เรื่องใหม่ ทีมจากลีกเอิงเน้นเรื่องการพัฒนาเยาวชนมาตั้งแต่ปี  1970 เป็นต้นมา ที่พวกเขาสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนแห่งชาติแห่งแรกอย่าง Institut National de Football ก่อนจะย้ายที่และกลายเป็นที่รู้จักในชื่อของ Clairefontaine 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพวกเขาได้กระจายองค์ความรู้ไปทั่วภูมิภาคและท้องถิ่น จนทำให้พวกเขาเสริมสร้างเยาวชนกันตั้งแต่รากฐานแบบเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ฝึกประจำภูมิภาค สโมสรท้องถิ่น และในตอนท้ายพวกเขายังมีอคาเดมี่ของแต่ละสโมสรคอยรองรับนักเตะที่มีของให้ได้ไปต่ออย่างถูกทาง

ทุกอย่างต่อยอดมาถึงในเวลานี้และยืนยันด้วยสถิติว่าลีกเอิง เป็นลีกที่นักเตะอคาเดมี่ของแต่ละทีมมีโอกาสลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่มากถึง 48% เรียกได้ว่า ครึ่งต่อครึ่งของเด็ก ๆ ที่พวกเขาสร้าง เป็นของคุณภาพที่สามารถใช้ในการแข่งขันระดับสูงภายในประเทศได้ 

ทีนี้เราจะเจาะไปให้ลึกขึ้นถึงตำแหน่งที่สร้างยากที่สุดสำหรับแข้งดาวรุ่งอย่าง "เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ" ว่าเพราะเหตุใดในลีกเอิง จึงสามารถพัฒนานักเตะในตำแหน่งนี้ได้มากมาย และขายทำกำไรระดับ 30 - 40  และ 50 ล้านปอนด์เป็นว่าเล่นในช่วงหลัง 

ประการแรกนักเตะท้องถิ่นฝรั่งเศส หลาย ๆ คนมักจะมีเชื้อสายแอฟริกันทำให้พวกเขาเป็นต่อในเชิงกายภาพ เรียกได้ว่าเรื่องความเร็วและความแข็งแรงที่เป็นพื้นฐานของกองหลัง พวกเขามีข้อได้เปรียบตั้งแต่ต้น 

ยกตัวอย่างเช่น วิลเลียม ซาลิบา กองหลังเวิลด์คลาสที่ยืนเป็นตัวหลักของ อาร์เซน่อล นั้น คือนักเตะที่เล่นเป็นตัวหลักในลีกเอิง ตั้งแต่อายุ 18 ปี ตัวของเขาถูก อาร์เซน่อล ปล่อยยืมถึง 3 ซีซั่นก่อนจะมาเล่นในพรีเมียร์ลีก โดยเล่นให้กับ แซงต์ เอเตียน, นีซ และมาร์กเซย ซึ่งปีสุดท้ายกับ มาร์กเซย เขาคือนักเตะที่ทำสถิติแท็คเกิล และชิงลูกกลางอากาศได้มากที่สุดในลีก ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาอายุแค่ 21 ปีเท่านั้น 

เช่นเดียวกับ เลนี่ โยโร ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ซื้อมาจาก ลีลล์ ด้วยค่าตัว 52 ล้านปอนด์ ก็เล่นให้ทีมชุดใหญ่ในะระดับลีกเอิงตั้งแต่อายุ 17 ปี ก่อนจะกลายเป็นของขึ้นห้างที่ แมนฯ ยูไนเต็ด และ เรอัล มาดริด ต้องแย่งชิงและใช้เงินเกทับกันจนจบที่ฝั่งผีแดงชนะดังที่ทุกคนทราบกันดี 

พวกเขาเหล่านี้มีพร้อมทั้งอคาเดมี่ที่มีคุณภาพ ความแข็งแกร่งเชิงพันธุกรรม โอกาสลงเล่นในเกมระดับสูง และเหนือสิ่งอื่นใดคือการเติบโตตามธรรมชาติที่ไร้ความกดดัน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับการสร้างนักเตะตำแหน่งกองหลังอายุน้อยสักคน มันเหมือนกับว่านอกจากคุณจะมีชาวนาที่เชี่ยวชาญในการเพาะปลูกแล้ว คุณยังมีดินดี น้ำดี อากาศดี เหมาะกับการเพาะเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมผลผลิตของพวกเขาจึงพร้อมใช้อย่างรวดเร็ว

"ที่ฝรั่งเศสมันมีพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จักความเจ็บปวดไปพร้อม ๆ กับการเติบโต มันทำให้พวกเขาพัฒนา พวกเขาอาจจะทำผิดพลาดบ้าง แต่พวกเราเข้าใจและอดทนรอด้วยความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้น และเล่นด้วยความผิดพลาดที่ลดลง ... เมื่อถึงเวลามูลค่าของพวกเขาก็จะสูงขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ"  วิกเตอร์ เบซานี หัวหน้าฝ่ายจัดหานักเตะของสโมสรตูลูสในลีกเอิง กล่าว

 

แหล่งคัดเมล็ดพันธุ์จากต่างแดน 

นอกจากเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเรื่องที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยนั่นก็คือ "ตลาดนักเตะที่เปิดกว้าง" ของลีกเอิง  ... เพราะที่นี่มีนักเตะหลากสัญชาติมากที่สุดใน 5 ลีกใหญ่ที่ค้าแข้งอยู่ในซีซั่นนี้ 

ในฤดูกาล 2024-25 ลีก เอิง มีนักเตะถึง 76 สัญชาติ ไม่เว้นแม้แต่ชาติเล็ก ๆ อย่าง มาดากัสการ์, มอลตา, มาร์ตินีก หรือแม้กระทั่ง อุซเบกิสถาน ของ อับดูโคดีร์ คูซานอฟ ที่เพิ่งย้ายไป แมนฯ ซิตี้ ด้วยราคาราว 37 ล้านปอนด์ 

จะเห็นได้ว่า ลีก เอิง เป็นลีกที่เปิดกว้างในแง่ของสัญชาติ เพราะพวกเขามีข้อจำกัดเรื่องของการเงิน ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเสี่ยงและเสาะแสวงหานักเตะพรสวรรค์ราคาถูก จากลีกอื่น ๆ ทั่วโลก หรือเรียกว่าลีกที่ทีมใหญ่ ๆ หรือทีมจากพรีเมียร์ลีกไม่ชายตามอง เช่น ลีกเบราลุส เป็นต้น 

นอกจากเรื่องของเงินแล้ว สโมสรในลีกเอิงได้ประโยชน์จากเครือข่ายขนาดใหญ่จากเหตุผลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเช่นกัน...  พวกเขามีชาติที่เป็นอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสมากมาย โดยเฉพาะในแอฟริกา ซึ่งทำให้ผู้คนที่นั้นสื่อสารและใช้ภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งความเชี่ยวชาญในพื้นที่ และความง่ายต่อการนำดาวรุ่งจากชาติเล็ก ๆ โดยเฉพาะในแอฟริกาเข้ามาค้าแข้งในฝรั่งเศส คือสิ่งที่ ลีก เอิง ได้เปรียบลีกอังกฤษ หรือลีกอื่น ๆ พอสมควร

ดังนั้นลีกเอิงจึงเป็นเหมือนบ่ออนุบาลของแข้งพรสวรรค์สูงที่ยังไม่พร้อมจะกระโดดลงลีกที่เข้มข้นที่เปรียบกับน้ำทะเลอันเชี่ยวกราก ... พวกเขาจะมาอยู่ที่นี่จนแข็งแรง และเมื่อพวกเขามีประสบการณ์และคุณสัมบัติที่เหมาะสมมากพอ พวกเขาก็จะได้ย้ายไปลีกที่ใหญ่ขึ้น โดยที่สโมสรของพวกเขาก็พร้อมที่จะขายเพื่อนำเงินก้อนโตมารันระบบเช่นนี้ซ้ำ ๆ 

“ในหลายประเทศ เช่น อิตาลี เยอรมนี และอังกฤษ ผู้เล่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถย้ายไปที่นั่นได้ แต่ในฝรั่งเศส เนื่องด้วยภาษาและข้อตกลง นักเตะจะไม่ถูกนับเป็นชาวต่างชาติ ผู้เล่นสามารถเข้ามาได้และการคัดเลือกนักเตะก็ง่ายกว่ามาก นั่นหมายความว่าอคาเดมีของฝรั่งเศสน่าจะนำหน้าทีมจากประเทศอื่นถึง 95 เปอร์เซ็นต์” เบซานี อธิบายเรื่องนี้อย่างเห็นภาพ  

เมื่อประกอบเหตุปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา เราจึงได้เห็นนักเตะในตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟจำนวนมากที่ย้ายจาก ลีก เอิง ไปยัง พรีเมียร์ลีก เรียกได้ว่าแทบทุกทีมในลีกสูงสุดของอังกฤษในเวลานี้ ล้วนมีนักเตะกองหลังจากลีกเอิงประกอบอยู่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะสำคัญมาก หรือสำคัญน้อยก็ตาม 

แมนฯ ซิตี้ มี คูซานอฟ, ลิเวอร์พูล มี โกนาเต้ (โตจากลีกเอิง), อาร์เซน่อล มี ซาลิบา และ กาเบรียล มากัลเญส, แมนฯ ยูไนเต็ด มี โยโร่, เชลซี มี บาเดียชิล, อักเซล ดิซาซี และ เวสลี่ย์ โฟฟาน่า, นิวคาสเซิล มี สเวน บอตมัน, เวสต์แฮม มี ฌอง แคลร์ โตดิโบ ... และอีกหลายคนหลายทีมที่เราไม่ได้กล่าวถึง ... พวกเขาคือผลิตผลจากลีกเอิง ที่รอให้ทีมร่ำรวยเงินทองเข้ามาช้อนซื้อได้อย่างสบายใจ 

ถ้าได้ราคาเหมาะสมพวกเขาจะขายอย่างเต็มใจ และเชื่อเถอะว่าอีกไม่กี่ปี พวกเขาก็จะสร้างนักเตะแบบนี้ขึ้นมาให้ทีมอื่น ๆ ได้ช็อปใหม่อย่างต่อเนื่อง ... พวกเขาคือชาวนาที่สายตาแหลมและเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างแท้จริง 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.nytimes.com/athletic/5258092/2024/02/14/ligue-1-coefficient-european-progression/
https://www.nytimes.com/athletic/5272859/2024/02/23/metz-generation-foot-senegal/
https://www.goal.com/en/news/what-is-a-farmers-league-in-football--why-is-frances-ligue-1-called-that/15zork210ssyj185ngmwduvjd3
https://www.nytimes.com/athletic/6057966/2025/01/21/premier-leauge-ligue-1-france-transfers-defenders/
https://www.getfootballnewsfrance.com/2024/the-french-influence-in-european-football-how-ligue-1-stars-shine-on-the-big-stage/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ