การแข่งขันฟุตบอลนักเรียนกำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในทีมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นโรงเรียนภัทรบพิตร ซึ่งเป็นอคาเดมีของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เจ้าของแชมป์ไทยลีก 9 สมัย
ด้วยนักเตะดีกรีเยาวชนทีมชาติอันคับคั่ง ทำให้หลายทัวร์นาเมนท์ที่ลงสนามพวกเขาแสดงถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
ความสำเร็จทุกอย่างเกิดจากรากฐานอันแข็งแกร่งและชัดเจน ตั้งแต่วิธีการคัดเลือกแข้งเยาวชนเข้าสู่ทีม ไปจนถึงการฟูมฟักปลุกปั้นจนหลายรายก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ภายใต้ปรัชญา Champion Mentality หรือ จิตวิญญาณแห่งแชมป์
แนวทางการสร้างเยาวชนของ บุรีรัมย์ อคาเดมี เป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand
จิตวิญญาณแห่งแชมป์
“ความฝันผม อยากเห็น 11 ตัวจริงของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มาจากอคาเดมีทั้งหมด แล้วลงเล่นไทยลีกสักเกม ผมว่ามันยาก แต่ผมว่าวันนึงมันเป็นไปได้”
ชนน์ชนก ชิดชอบ หรือ “หนุน” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเยาวชนสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กล่าวถึงความฝันของตัวเองหลังเข้ามารับงานทำอคาเดมีปราสาทสายฟ้า
ในฐานะลูกชายคนรองของ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หนุนได้เข้ามารับงานดูแลอคาเดมีให้กับผู้เป็นพ่อ พร้อมแบกรับภาระสำคัญนั่นคือการปลุกปั้นเยาวชนไทยเพื่อส่งขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ซึ่งเจ้าตัวก็มีปรัชญาในการสร้างทีมที่ชัดเจน
ด้วยความเป็นสโมสรอันดับท็อปของประเทศ เป้าหมายในการลงเล่นจึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากการเป็น “แชมป์ทุกรายการ” ที่ลงแข่งขัน … ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกส่งต่อมาถึงชุดอคาเดมีด้วยเช่นกัน
ที่ บุรีรัมย์ อคาเดมี มีนักเตะเยาวของสโมสรตั้งแต่รุ่น ยู-12 ไปจนถึง ยู-23 ซึ่งทุกคนจะฝึกซ้อมอยู่ที่เดียวกันหมด ภายใต้อุปกรณ์การซ้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานทั้ง สนามซ้อมหญ้าจริง สระว่ายน้ำ ฟิตเนส หอพักอาศัย บนพื้นที่กว่า 70 ไร่
ที่สำคัญทุกคนถูกปลูกฝังด้วยแนวคิดเดียวกัน คือ Champion Mentality หรือ จิตวิญญาณแห่งแชมป์
“สำหรับผมในเชิงฟุตบอล มายด์เซตสำคัญสุด ผมพูดกับเด็กตลอด มันคือ Champion Mentality เราต้องเป็นผู้ชนะ เราต้องเป็นแชมป์ เด็กเราที่นี่ไม่ใช่แค่คุณเก่งแล้วคุณมาอยู่บุรีรัมย์ได้ สำหรับบุรีรัมย์เนี่ยคุณต้องชนะอย่างเดียว”
“เรารู้สึกไม่ดีนะตอนเราแพ้ เรารู้สึกไม่ดีนะตอนเสมอ หรือตอนเขาเลี้ยงผ่านเราได้ ต้องรู้สึกว่าครั้งต่อไปต้องไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้วนะ ถ้าผมเล่นกับคุณแมตช์ต่อไปผมต้องทำการบ้างและจะไม่มีวันโดนอีก”
“ต้องขึ้นไปสู้ ใจเราห้ามแพ้ก่อนลงสนาม หลาย ๆ เคสเราเห็นทีมไทยหรือสโมสรที่ไปเล่นแชมเปียนลีกมักแพ้ก่อนลงไปเล่น เราเจอเกาหลีใต้นะเจอญี่ปุ่นนะ ไม่มีใครคาดหวังให้เราชนะอยู่แล้ว เราแพ้ 1-2 ก็ดีแล้ว ซึ่งมันไม่ได้”
“มันจึงเป็นมายด์เซตที่เราอยากมี ไม่งั้นก็ไม่มีวันที่เราจะต่อยอดไปถึงจุดที่สู้กับเขาได้จริง ๆ ใจเราต้องห้ามแพ้ก่อนลงสนาม นี่คือสิ่งที่ผมมอบให้แก่เด็ก เมื่อมายด์เซตมันมีเดี๋ยวทุกอย่างจะตามมา” หนุน เผย
สิ่งเหล่านี้ได้ตอบโจทย์ออกมาให้เห็นด้วยผลงานในสนามทั้งทัวร์นาเมนท์ในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการคว้าแชมป์ฟุตบอลเยาวชนนานาชาติ รายการ Super mokh cup ที่ประเทศมาเลเซีย ถึง 2 สมัย พร้อมสามารถเอาชนะได้ทั้งทีมจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป
อย่างไรก็ตามการจะปลูกฝังมายด์เซ็ตแบบนี้ได้ นักเตะแต่ละคนต้องมีพื้นฐานความเป็นนักสู้อยู่ในจิตใจเป็นทุนเดิม ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกเด็กเข้าสู่อคาเดมีของทีมด้วยเช่นกัน
คาแรกเตอร์นักสู้
ในแต่ละปี บุรีรัมย์ อคาเดมี จะเปิดคัดนักเตะรุ่น ยู-12 จากทั่วประเทศเพียงแค่ครั้งเดียว โดยจะรับครั้งละ 17-18 คนเท่านั้น จึงมีเยาวชนมาร่วมทดสอบฝีเท้านับพันราย
ชนน์ชนกเผยว่าสิ่งสำคัญที่เขาพิจารณาเลือกเด็กเข้าสู่ทีมคือดูจากมายด์เซตและคาแรกเตอร์เป็นหลัก
“พรสวรรค์จะเปิดประตูให้คุณได้เข้าสู่ทีม แต่แรงที่คุณจะเดินเข้าไปแล้วเดินออกอีกฝั่งนั่นคือพรแสวง”
“ส่วนตัวผมดูเด็กที่คาแรกเตอร์ เรื่องฟุตบอลผมเชื่อว่าปรับง่าย พรสวรรค์คุณมีนิดเดียวพอ ผมมาฝึกที่เหลือได้ ผมเชื่อในศักยภาพของโค้ช ถ้าคุณสู้โค้ชผมพัฒนาคุณได้ แต่เด็กทุกคนต้องเชื่อมั่นในตัวเอง”
“ฟุตบอลเราไม่ได้เอาคนที่เก่งที่สุด มันเอาคนที่สู้ที่สุด คนที่เก่งที่สุดในทีมเราอาจมีได้ 2 คน แต่อีก 8-9 คนในทีมมันต้องไฟเตอร์” หนุน เผย
ผอ.อคาเดมีปราสาทสายฟ้า ยังยกตัวอย่าง “น้องปกป้อง” นักเตะที่เข้ามาคัดตัวแล้วเกิดอุบัติเหตุจังหวะขึ้นแย่งโหม่งแล้วชนกับคู่แข่งจนล้มลงมาแล้วไหล่หลุด
“ตอนน้องมาคัดเราก็มองเฉย ๆ แต่มีจังหวะขึ้นโหม่งแล้วชนล้มลงมาจนไหล่หลุด ตอนนั้นผมวิ่งลงไปเองเลย ถามว่าไหวไหม ให้รีบออกไปรักษาพยาบาล น้องร้องไห้แต่บอกไม่ ขอเล่นต่อ เหลืออีก 3 นาทีผมเล่นต่อ ผมบอกออกไปเลย พี่เอาละ ไม่ต้องดูแล้ว เห็นคาแรกเตอร์แบบนี้ เอาเลย” หนุน เล่าย้อนความ
นอกจากนี้เมื่อเข้ามาแล้วนักเตะทุกคนก็ยังต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและเป็นนักสู้อย่างสม่ำเสมอ เพราะอคาเดมีแห่งนี้จะมีการประเมินทั้งเรื่องฝีเท้าและวินัยการใช้ชีวิตทุก ๆ 6 เดือน
ดังนั้นหากคุณศักยภาพฝีเท้าเป็นรองเพื่อนร่วมรุ่น สิ่งที่จะสามารถทดแทนได้ก็คือความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทักษะและร่างกายของตัวเอง เช่น การฝึกซ้อมที่หนักขึ้น การศึกษาคลิปการเล่นของตัวเองย้อนหลังเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ไปจนถึงการเข้าฟิตเนสเพื่อพัฒนาร่างกาย เป็นต้น
เมื่อสามารถเข้ามาสู่ทีมได้แล้ว หลังจากนั้นนักเตะทุกคนจะมาประจำกินนอนที่หอพักภายในศูนย์ฝึก พร้อมส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนภัทรบพิตรเพื่อดูแลด้านการศึกษา โดยมีรถรับส่งให้ถึงที่ ก่อนที่ช่วงเย็นจะเข้าโปรแกรมฝึกซ้อมอย่างจริงจังราว 2-3 ชั่วโมง
นักเตะที่ทำผลงานในการซ้อมได้ดีก็จะได้รับโอกาสส่งลงแข่งขันรายการต่าง ๆ ซึ่งที่ บุรีรัมย์ อคาเดมี เรียกได้ว่าทุกคนมีโอกาสหมด เพราะใช้ระบบคละรุ่นลงแข่งขัน
แบกรุ่น แบกอายุ
หากใครติดตามบอลเยาวชนรายการในประเทศที่ บุรีรัมย์ อคาเดมี หรือภัทรบพิตร ลงแข่งขัน จะเห็นได้ว่าพวกเขาเลือกที่จะใช้นักเตะหลายคนที่อายุน้อยกว่าเกณฑ์ลงเล่น
“นักเตะอคาเดมีในทีมพอเริ่มโตขึ้นเราก็จะผสมรุ่น บางรุ่นจึงอาจจะมีจำนวนมากกว่ารุ่นอื่น เราไม่ได้มองว่าเด็กต้องอายุขนาดไหนถึงจะเล่นได้ แต่เรามองที่ศักยภาพของเด็กมากกว่า”
“บางคนอายุ 15 ผมเอาไปเล่น ยู-19 ก็เคยแล้ว เวลาส่งแข่งเราจะมีรุ่นพี่ในรุ่นเต็ม 2-3 คนเป็นแกนให้รุ่นน้อง ส่วนที่เหลือก็เป็นรุ่นน้องขึ้นมาหาประสบการณ์”
“ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเด็ก เด็กจะได้ประสบการณ์ เพราะในที่สุดขึ้นไปชุดใหญ่ ต้องเจอผู้เล่นต่างชาติ ซึ่งไซส์ก็คนละเรื่องแล้ว” หนุน กล่าว
ไม่ใช่แค่เพียงแบกอายุเท่านั้น หลายในรายการระดับนานาชาติพวกเขาก็พร้อมที่จะชนกับทีมที่เหนือกว่าอย่างไม่ลังเล
“บางทัวร์นาเมนท์เราได้รับเชิญไปแข่งแล้วมีทีมต่างชาติมาเล่น ผมถามไปว่ารุ่นไหนมีทีมใหญ่มาผมส่งรุ่นนั้น รุ่นไหนยะโฮร์มาผมไป รุ่นไหนทีมญี่ปุ่นมาผมไป เพราะผมอยากเทสต์เด็กผมกับสิ่งที่เก่งกว่า ไม่งั้นผมจะรู้ได้ไงว่าทำยังไงจะเก่งเท่าเขา”
“ถ้าสังเกต เรื่องไซส์ไม่ใช่เรื่องที่ผมแคร์ เวลาไปแข่งต่างประเทศเรามักจะเป็นทีมที่ตัวเล็กที่สุด แต่เราเอาชนะได้ด้วยระบบและวิธีการของเรา ซึ่งมากจากวินัยในการพัฒนา วินัยในการเล่น และวินัยในการใช้ชีวิต มากกว่าความสูง”
ชนน์ชนก ยังเผยว่าแนวคิดแบบนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อทีมโรงเรียน เมื่อต้องลงปะทะกับนักเตะดีกรีเยาวชนทีมชาติหรือนักเตะจากอคาเดมีของสโมสรฟุตบอลอาชีพในรายการต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
“ในมุมมองของผมส่วนตัวและในฐานะที่ผมทำเยาวชนทีมชาติด้วย คนอยากให้นักเตะคนนั้นคนนี้ให้ติดทีมชาติแล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าน้องเชาดีพอถ้าไม่ได้เจอคุณภาพที่สูงพอ”
“ทีมชาติไทยชุดใหญ่เขาเรียกนักเตะจาก T2 หรือ T3 กี่คน ? เพราะเขาต้องดูในลีกที่เลเวลมันสูง ตอนที่คู่ต่อสู้ของผู้เล่นคนนี้ล็อกหลบ 2-3 คน จ่ายคิลเลอร์พาส 3-4 ครั้ง หรือยิง 10 กว่าลูก คุณอาจทำใน T3 ได้ แต่ทำใน T1 ได้ไหม ? ผมไม่ได้บอกว่าน้องไม่มีวันถึง แต่น้องต้องถูกทดสอบแบบนี้ แล้วถ้าน้องผลงานดีสู้กับของจริงได้ทำไมเราจะไม่เรียก”
“เด็กทุกคนในอคาเดมีเป้าหมายคืออะไร มันไช่คุณอยากไปชุดใหญ่หรอ ถ้าเรามีมายด์เซตว่าทีมชาติเขาเก่งกว่าเรา เราไม่อยากเล่นเจอเขา หมายความว่าเด็กพวกนี้มองว่านักเตะต่างชาติเก่งกว่าผม ธีราทรเก่งกว่าผม ผมไม่เล่นกับเขาแล้ว มันก็ไม่ได้สิ”
“ถ้าคุณอยากไปถึงระดับที่สูงกว่าก็ทดสอบกับมันเลย เด็กผมตอนได้โอกาสขึ้นไปซ้อมกับชุดใหญ่ไม่มีใครคิดเลยว่าเขาเก่งกว่าเรา เราสู้ไม่ได้เลย ทุกคนบอกพร้อมพี่ ผมอยากโชว์ว่าผมทำได้ เพราะถ้าทำได้ชีวิตผมเปลี่ยนแน่นอน” หนุน กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น
“ชีวิตผมเปลี่ยนแน่นอน” คำสั้น ๆ แต่ลึกซึ้งไปด้วยความหมายและความกดดัน เพราะอย่าลืมว่าแม้จะได้รับการเคี่ยวเข็ญอย่างเต็มที่ แต่มีเยาวชนเพียงไม่กี่รายที่สามารถก้าวขึ้นทำตามความฝันได้สำเร็จ … ในแคมป์ปราสาทสายฟ้าก็เช่นกัน
สร้างเยาวชน
“พ่อบอกผมว่า 2 ปีได้คนนึงก็เทพเจ้าแล้ว แต่เป้าหมายของผมคือ 2 ปี ต้องได้ 3 คน” หนุน เผยถึงเป้าหมายของจำนวนนักเตะในอคาเดมีที่สามารถส่งต่อขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้
จำนวนดังกล่าวถือเป็นสัดส่วนที่น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับนักเตะอคาเดมีในทีมที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 160 ราย
ดังนั้นนอกจากจะพัฒนาเรื่องศักยภาพในการเป็นนักฟุตบอลแล้ว ปราสาทสายฟ้ายังมุ่งมั่นที่จะพัฒนา “คน” ไปพร้อม ๆ กัน
“ใช้คำว่าทำเยาวชนดีกว่า ไม่ใช่ทำบอลด้วยซ้ำสำหรับผม” หนุน เผย
เยาวชนที่เข้ามาอยู่ในแคมป์บุรีรัมย์ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบอันเคร่งครัดของสโมสร โดยเฉพาะข้อห้ามอันเด็ดขาดเรื่อง ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน ตลอดจนการหนีเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีการควบคุมเรื่องการตื่นและการนอนเพื่อสร้างวินัยให้กับนักเตะ โดยต้องเข้านอนพร้อมกันในเวลา 22.00 น. พร้อมควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่นั้นด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันยังได้รับการดูแลเรื่องโภชนาการอย่างเต็มที่ ภายใต้การดูแลของนักโภชนาการมืออาชีพ พร้อมทั้งมีนมและผักต่าง ๆ แช่ในตู้เย็นให้สามารถหยิบมารับประทานได้ตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้ได้ถูกปลูกฝังให้กับเด็กทุกคนในอคาเดมี ซึ่งในอนาคตแม้เจ้าตัวจะไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ แต่ทุกคนก็จะได้รากฐานอันแข็งแกร่งติดตัว
“ผมพูดกับน้องตลอดไม่ใช่ว่าต้องเป็นนักฟุตบอลชุดใหญ่ทุกคนหรือเป็นซูเปอร์สตาร์ทุกคน แต่ความสำเร็จของผมมี 2 อย่าง คือ 1.ต้องเป็นคนดี และ 2.ต้องเลี้ยงครอบครัวได้”
“บางคนรู้ว่าตัวเองเป็นนักบอลอาชีพไม่ได้ก็ขอไปเรียนโค้ช เราก็สนับสนุนและก็เตรียมดึงกลับมาร่วมงาน หรือบางคนที่ไปเล่นสโมสรอื่น ๆ ผมก็มีความสุขที่ได้เห็นเด็กผมได้ดี” หนุน ทิ้งท้าย
ทั้งหมดทั้งมวลคือแนวทางและปรัชญาในการปลุกปั้นอคาเดมีของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สโมสรที่คว้าแชมป์มากที่สุดของเมืองไทย … แล้วมาเอาใจช่วยกันว่าความฝันของ “หนุน” ที่จะเห็น 11 ผู้เล่นชุดใหญ่มาจากอคาเดมีทั้งหมด จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่