นักเตะใหม่ ๆ ในตำหน่งสำคัญ ๆ ที่ ลิเวอร์พูลหมายตาและคว้ามาร่วมทีม รายงานตัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และพร้อมที่จะลุยในเกมพรีซีซั่นที่เพิ่งเริ่มไปสด ๆ ร้อน ๆ
ในขณะที่ทีมอื่น ๆ กำลังวุ่นวายในตลาด แต่ดูเหมือนว่าทัพหงส์แดง จะแต่งตัวรอพร้อมที่จะทดลองทีมในช่วงของการอุ่นเครื่อง และซีซั่นใหม่แล้ว
ทำไมพวกเขาจึงปิดดีล ชูเสื้อ และเตรียมทีมไวขนาดนี้ ? หาคำตอบกับ Main Stand
ข้อมูลอยู่กับตัว
ในขณะที่ทีมอื่น ๆ ยังคงมีข่าวเสริมทัพในตำแหน่งที่ต้องการ และหลายทีมก็ยังไม่สามารถปิดดีลเป้าหมายของตัวเองได้ กลับกลายเป็นทีมแชมป์เก่าพรีเมียร์ลีกอย่าง ลิเวอร์พูล ที่ทำการเสริมทัพอย่างรวดเร็วทันใจ หลังจากปิดซีซั่นได้ 1 เดือนครึ่ง ณ ตอนนี้พวกเขาปิดดีลและเปิดตัวนักเตะใหม่อย่างเป็นทางการไปแล้วถึง 6 คน แม้หนึ่งในนั้นเป็นการปิดดีลล่วงหน้าตั้งแต่ปีก่อนก็ตาม
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสโมสรแห่งนี้ เพราะหลังจากฤดูกาลจบ ลิเวอร์พูล มักจะเป็นทีมแรก ๆ ที่มีข่าวซื้อขายกับนักเตะเบอร์ใหญ่ ๆ อย่างหนาหู ก่อนที่พวกเขาจะปิดดีลอย่างรวดเร็ว ชนิดที่ว่าเมื่อเริ่มพรีซีซั่นเกมแรก นักเตะใหม่เกือบยกชุดก็ได้ลงซ้อมและลงเล่นกับทีมอย่างพร้อมเพียง
เมื่อเราเปิดประวัติการซื้อขายนักเตะในตลาดซัมเมอร์ย้อนกลับไป 5 ปีหลังสุด เราได้พบว่า ในตลาดซื้อขายช่วงซัมเมอร์ ลิเวอร์พูล มีนักเตะใหม่ที่ ลิเวอร์พูล เปิดตัวอย่างเป็นทางการหลังฤดูกาลเริ่มเพียงแค่ 3 คนเท่านั้นคือ วาตารุ เอ็นโด, ไรอัน กราเฟนแบร์ก และ เฟเดริโก้ เคียซ่า ส่วนคนอื่น ๆ ที่เหลือนั้น พวกเขาปิดดีลก่อนวันที่ 15 สิงหาคม แทบทั้งสิ้น
สาเหตุที่ ลิเวอร์พูล ขยับตัวในตลาดไว หรือบางครั้งพวกเขาแทบไม่ขยับเลย (เช่นซีซั่น 2024-25 ที่เสริมแค่ เคียซ่า คนเดียว) ก็เพราะว่าทีมงานตลาดซื้อขายของพวกเขาทำงานกันแบบทั้งปี และทำงานในด้วยการตั้งคำถามที่แตกต่างออกไปจากที่หลาย ๆ ทีมทีม
โดยหลักแล้ว การทำงานของทีมหลังบ้านของ ลิเวอร์พูล พวกเขาตั้งเป้าหมายด้วยคำว่า "ทีมต้องการอะไร ?" มากกว่า "จะซื้อใคร ?"
ขยายความให้ชัดคือ ตัวเลข สถิติต่าง ๆ รวมถึงการทำงานร่วมกับโค้ช ถามความเห็นจากทีมสตาฟฟ์ว่าต้องการนักเตะประเภทไหน เอามาทำหน้าที่อะไรเป็นหลัก จากนั้นพวกเขาก็เอาวิธีแบบ Old School แบบที่ขอความเห็นจากโค้ช มาค้นหานักเตะประเภทนั้นแบบ New School ด้วยการใช้ระบบตัวเลข การจดสถิติ ต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุดของคำถามว่า "ทีมต้องการอะไร ?" จากนั้นจึงค่อยเจาะลึกเข้าไปอีกว่า มีนักเตะคนไหนบ้างที่จะทำในสิ่งที่ทีมต้องการได้
โดยสรุปก็คือ การเซ็นสัญญากับนักเตะใหม่ของลิเวอร์พูล จะพิจารณาจาก สถิติในสนาม, ศักยภาพพัฒนาได้, บุคลิกภาพ, ความเหมาะสมกับสไตล์ของทีม และเฮดโคชคนปัจจุบันที่คุมทีมอยู่
และลึกไปยิ่งกว่านั้น ก็คือการทำงานด้วยระบบ Scouting & Recruitment มีการยกตัวอย่างคร่าว ๆ ว่าทีมงานจะเก็บข้อมูลพฤติกรรมในสนาม, จังหวะการตัดสินใจ, สถิติการเพรสซิ่ง หรือระยะทางในการวิ่งต่อเกม ซึ่งสอดคล้องกับสไตล์ จากนั้นพวกเขาก็จะเข้าสู่กระบวนการ กระบวนการพูดคุยร่วมกัน (Joint Decision Making) นำโดย กุนซือของทีม, ผู้อำนวยการกีฬา และหัวหน้าทีมแมวมองทุกคนจะประชุมร่วมกันก่อนตัดสินใจ ซึ่งวิธีการนี้ ทำให้โค้ชใช้งานนักเตะแต่ละคนอย่างเต็มที่ เพราะเข้าใจว่าได้ใครมาเพราะเหตุผลอะไร
การเสริมทัพในลักษณะนี้ ทำให้เป้าหมายของ ลิเวอร์พูล ไม่มีตัวเลือกตายตัวว่าจะต้องเป็นนักเตะคนนี้เท่านั้น ใครที่ราคาแพงเกินไปจากที่ทีมหลังบ้านประเมิน หรือนักเตะคนไหนที่รับค่าจ้างสูงเกินไปจนมีสิทธิ์จะทำลายเพดานค่าเหนื่อยได้ พวกเขาจะไม่เสียเวลากับนักเตะคนนั้นนาน เพราะพวกเขามีเป้าหมายสำรองที่ลิสต์ไว้อยู่อีกมากมาย ดังเช่นหลาย ๆ ดีลที่พวกเขาจ่ายเงินสู้ไม่ไหว อาทิ มอยเซส ไกเซโด้ หรือ โรเมโอ ลาเวีย ที่ยอมยกธงขาว 2 ดีลนี้ให้กับ เชลซี
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า ต่อให้เปลี่ยนเป้าหมายในการซื้อตัว แต่ท้ายที่สุดแล้ว ลิเวอร์พูล ก็ยังต้องเจรจากับคู่ค้าทีมอื่น ๆ อยู่ดีไม่ใช่เหรอ ? ทำไมการเจรจาของพวกเขาจึงไวกว่าทีมอื่น ๆ โดยเฉลี่ยได้ ? เรื่องนี้มีที่มา
เข้าให้ถูกคน
การปิดดีลที่รวดเร็วและมักจะได้ในราคาที่ไม่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ นอกจากจะมาจากฐานข้อมูลที่ทีมเก็บเอาไว้ตลอดทั้งปีแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่ ลิเวอร์พูล ยอมจ่ายมากกว่าใคร ๆ เพื่อให้ทุกอย่างแล้วเสร็จในเวลาที่พวกเขาต้องการก็คือ การดีลโดยตรงกับเอเย่นต์ ซึ่ง ลิเวอร์พูล ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ๆ
ลิเวอร์พูลภายใต้การบริหารของ FSG (Fenway Sports Group) มักจะไม่ซื้อนักเตะแบบหว่านแห คว้านักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดี ๆ เข้ามาเสริมทัพเพื่อรอวันขึ้นชุดใหญ่ หรือถ้าขึ้นไม่ได้ก็ปั้นและขายทำกำไรเหมือนกับที่เป็นเทรนด์ในโลกฟุตบอล ณ ตอนนี้ แต่ลิเวอร์พูลมักจะจ่ายเงินครั้งเดียวแบบ รวมทุกอย่างให้จบ ทั้งค่าตัวนักเตะของสโมสรคู่ค้า, ค่าโบนัสเซ็นสัญญากับนักเตะที่เข้ามา และที่สำคัญก็คือ การจ่ายค่ากินเปล่าให้กับเอเย่นต์ ซึ่งที่พวกเขาทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ได้นักเตะที่ตอบโจทย์ทั้งเชิงคุณภาพ และเก็บไว้ใช้งานในระยะยาว
ดังนั้นเมื่อต้องการโน้มน้าวทั้งนักเตะและเอเย่นต์ให้เซ็นสัญญาเร็วและไม่มีความยุ่งยากในระยะยาว การจ่ายเงินกินเปล่าที่สูงขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ "ยอมได้" เพื่อแลกกับความมั่นใจว่าดีลนี้จะจบลงอย่างลุล่วงภายในเวลาที่พวกเขากำหนดอย่างแน่นอน
เรื่องนี้เคยมีสกู้ปของ Sky Sports ที่ให้ เจมี่ คาร์ราเกอร์ ตำนานนักเตะหงส์แดงที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ สมัยที่เป็น ผอ. กีฬาของทีม (ปัจจุบัน เอ็ดเวิร์ดส์รับตำแหน่ง ผอ. แผนกฟุตบอลของ FSG) ซึ่งเนื้อหาของตอนนั้น ก็พูดเกี่ยวกับการยอมจ่ายเงินให้เอเย่นต์มากเป็นพิเศษของทีม เพราะนอกจากดีลจะปิดไวแล้ว พวกเขาจะมีความสัมพันธ์อันดีกับเหล่าเอเย่นต์ และทำให้ดีลต่อ ๆ ไปราบรื่นขึ้น
"ผมเคยถามกับ ไมเคิล ว่าพวกเขามีวิธีหาข้อมูลเชิงลึกในการทำงานแมวมองอย่างไร มีวิธีจับตาดูนักเตะที่จะซื้อเข้ามาแบบไหน และวิธีที่พวกเขาเห็นสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ มันคืออะไร ... คำตอบของเขากลับเป็นคำตอบง่าย ๆ ว่า 'สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะได้ผู้เล่นในแต่ละดีล ก็คือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเหล่าเอเย่นต์ไงล่ะ'" คาร์ราเกอร์ เล่า
"เขาย้ำกับผมมาก ๆ ว่าเขาไม่ได้เล่นมุก และมันสำคัญมาก ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ นับตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปี 2022 ที่ เอ็ดเวิร์ดส์ ออกจาก ลิเวอร์พูล (ก่อนกลับมารับตำแหน่งใหม่ใหญ่กว่าเดิมในปี 2024) ก็คือพวกเขาเป็นทีมที่จ่ายเงินค่านายหน้านักเตะมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเงินที่จ่ายให้สโมสรคู่ค้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น"
นอกจากการตีสนิทและจ่ายเงินพิเศษให้กับเอเย่นต์ จะทำให้นักเตะตกลงปลงใจมาร่วมทีมง่ายขึ้นแล้ว ยังมีข้อดีอีก 1 ข้อคือ เงินในส่วนที่จ่ายให้เอเย่นต์นั้นจะไม่ถูกนับรวมกับการซื้อ-ขายนักเตะ ดังนั้น ลิเวอร์พูล จึงทำให้ตัวเลขรายจ่ายของพวกเขาลดลงไปอีก ซึ่งนั่นสำคัญมากกับฟุตบอลยุคปัจจุบันที่มีกฎทางการเงินทั้ง FFP หรือ PSR เข้ามาเกี่ยวข้อง ... เห็นได้ชัดว่าความแยบยลนี้ไม่ใช่แค่ทำให้พวกเขาได้นักเตะดี ๆ ราคาเหมาะสม แถมปิดดีลไวเท่านั้น แต่มันทำให้ตัวเลขทางบัญชีของสโมสรดูดีขึ้นมาในเวลาเดียวกันอีกด้วย
จบตลาดไว...ก็เข้าที่ไว
แน่นอนที่สุดว่า การดำเนินการอย่างมีแผนงาน จะช่วยทำให้ขั้นตอนของการเตรียมตัวของขุมกำลังนักเตะที่มีพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
การที่ ลิเวอร์พูล จบดีลใหญ่ ๆ ดีลสำคัญ ๆ ในตำแหน่งที่พวกเขาขาดได้จริง ๆ ได้ตั้งแต่ก่อนซีซั่นเปิด และอย่างเช่นในซีซั่นนี้ที่พวกเขาได้นักเตะมาแล้วถึง 6 คน ก่อนที่เกมพรีซีซั่นเกมแรกจะเริ่มขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ในช่วงหลัง ลิเวอร์พูล เกาะกลุ่มหัวตารางทันทีตั้งแต่เปิดซีซั่น
ในฤดูกาลที่แล้วที่พวกเขาแทบไม่ได้เสริมใครเลยนอกจาก เคียซ่า แต่การที่ อาร์เน่อ ชล็อต และทุกคนในทีมหลังบ้านตัดสินใจว่าจะใช้นักเตะที่มี ทำให้เขาได้ทดลองนักเตะในช่วงพรีซีซั่นอย่างเต็มที่ และทำให้หลายคนได้เล่นในตำแหน่งที่เหมาะสมขึ้น มีฟอร์มการเล่นที่ดีขึ้นกว่ายุคของ เยอร์เก้น คล็อปป์ จนทำให้พวกเขาเหมือนกับได้นักเตะใหม่ เช่น กราเฟนแบร์ก, เคอร์ติส โจนส์, โดมินิค โซโบสไล หรือแม้กระทั่ง หลุยซ์ ดิอาซ ที่ได้ทดลองขยับมาเล่นเป็นศูนย์หน้าในซีซั่นที่ผ่านมา
เมื่อได้ทดลองไว เห็นภาพในสนามผ่านการแข่งขันจริง ๆ เร็วขึ้น ชล็อต ก็สามารถวางโครงสร้างของทีมชุดใหญ่ได้ในทันที เขารู้ว่าตำแหน่งที่ดีที่สุดของแต่ละคนอยู่ที่ตรงไหน และเมื่อซีซั่นเปิด หงส์แดงก็กวาดชัยชนะแบบเป็นกอบเป็นกำ เรียกได้ว่าพวกเขาแพ้เกมเดียวจนกระทั่งผ่านไป 30 นัด ส่วนการยึดอันดับ 1 เกิดขึ้นครั้งแรกในเกมวีกที่ 6 และจากนั้นก็เป็นการขึ้นนำแบบม้วนเดียวจบเลยก็ว่าได้
ในซีซั่น 2025-26 ลิเวอร์พูล ยังเป็นทีมที่ขุมกำลังพร้อมรบเร็วที่สุดเหมือนเช่นเคย นักเตะใหม่ของพวกเขามาร่วมซ้อมกับทีมแล้วถึง 6 คน แม้จะไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพวกเขาจะมีการเสริมทัพใหม่อีกหรือไม่จากเหตุการณ์จากไปไม่มีวันกลับของ ดิโอโก้ โชต้า แต่อย่างน้อย ๆ ในตำแหน่งอื่น ๆ อย่างแบ็กซ้าย-ขวา หรือแม้กระทั่งหมายเลข 10 คนใหม่ พวกเขาเหล่านั้นจะได้ซึมซับบรรยากาศในทีม ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมทีมใหม่ ได้เข้าใจแท็คติก และที่สำคัญ คือได้ทดลองจริง ๆ ในสนามแข่งก่อนซีซั่นจะเปิดขึ้น
การทำงานอย่างมีแบบแผนนี้เอง ช่วยให้ ลิเวอร์พูล อยู่ในสภาวะที่เรียกได้ว่า เปิดลีกวันนี้ก็เล่นได้เลย ... แม้จะไม่มีการการันตีว่าพวกเขาจะป้องกันแชมป์ได้หรือไม่ แต่อย่างน้อย ๆ เรื่องของความพร้อมพวกเขาไม่แพ้ใครอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง
https://www.goal.com/en/lists/michael-edwards-liverpool-most-important-signing-post-jurgen-klopp-plan/blt48134d8b9831eb53#cs7daa15a4393f0146
https://www.goal.com/en/news/liverpools-laptop-guru-michael-edwards-the-hidden-genius-behind-van-dijk-mane--salah-signings/1fx0rea07yt8c1pcaubwiygl32
https://www.thisisanfield.com/2025/05/19-of-liverpools-staff-members-key-to-premier-league-title-they-work-so-hard/
https://www.thisisanfield.com/2024/02/surprising-biggest-thing-michael-edwards-told-jamie-carragher-about-liverpool-transfers/
https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/spoke-michael-edwards-day-liverpool-28760015
https://www.nytimes.com/athletic/5332174/2024/03/12/michael-edwards-liverpool-fsg-profile/