Feature

เจา เปโดร : "ชิ้นส่วนที่แตกต่าง" และ "บิ๊กดีล" ของแท้สำหรับเชลซี | Main Stand

เชลซี กำลังจะคว้าตัว เจา เปโดร ตัวรุกดีกรีทีมชาติบราซิลจาก ไบรท์ตัน ด้วยค่าตัวราว 60 ล้านปอนด์ และเมื่อข่าวนี้ถูกกระพือขึ้นมา ก็มีการวิเคราะห์ถึงการเล่นของเขามากมาย

 

นักเตะแซมบ้าที่รวมความบู๊และเทคนิครายนี้ มีที่มาที่ไปที่บ่งบอกถึงตัวเขาในตอนนี้เป็นอย่างมาก ... จากเด็กที่ออกทีวีตอนอายุ 8 ขวบ เพราะคดีที่พ่อของเขาเคยสร้างไว้ สู่นักเตะบราซิลผอมแห้งในลีกอังกฤษที่เปลี่ยนแปลงตัวเองจนกลายเป็นตัวตึงระดับแถวหน้า

นี่คือเรื่องราวที่จะบอกคุณว่า เจา เปโดร คือดีลที่ถูกต้องสำหรับ เชลซี ... ติดตามกับ Main Stand

 

ลูกไม้ใต้ต้น

บนเส้นทางสายฟุตบอล เราคงได้เห็นภาพของนักเตะระดับท็อปของโลกหลายคนที่ได้ออกสื่อตอนที่พวกเขาอายุน้อย ๆ ในฐานะ "ว่าที่ดาวดวงใหม่" เควิน เดอ บรอยน์, แฮร์รี่ เคน หรือ ฟิล โฟเด้น เคยถูกเผยภาพสมัยออกทีวีในวัยเด็กมาแล้วทั้งนั้น ... ทว่าสำหรับ เจา เปโดร นั้นแตกต่างออกไป เขาออกสื่อไวตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เพียงแต่ว่าเหตุผลที่เขาไปออกทีวีไม่ใช่เรื่องของฟุตบอล แต่มันเป็นเรื่องครอบครัวต่างหาก

The Athletic เคยขุดไปเจอเรื่องราวของ เจา เปโดร ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เรื่องเกิดขึ้นในปี 2010 ซึ่ง ณ ตอนนั้นเขาเป็นนักฟุตบอลในอคาเดมี่ของ โบตาโฟโก้ ในลีกบราซิล แต่เรื่องที่ทำให้เขาต้องไปออกทีวีมาจากพ่อของเขา "ชิเคา" หรือ โชเซ่ เจา เดอ เชซุส อดีตนักเตะระดับไอคอนของสโมสร โบตาโฟโก้ ที่ติดคุกเป็นเวลา 8 ปี ระหว่างปี 2002-2010 จากโทษทั้งหมด 16 ปี ด้วยข้อหา สมรู้ร่วมคิดในการก่อคดีฆาตกรรม ซึ่งเมื่อเขากลับสู่สังคม เขาได้ขอโอกาสเพื่อจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และจะสร้างสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคม และหนึ่งในนั้นคือลูกชายของเขาอย่าง เจา เปโดร 

ในภาพข่าววันนั้น มีฉากที่ เจา เปโดร กำลังเล่นอยู่ในสนามเด็กเล่น และสวมกอดพ่ออย่างอบอุ่น แต่ชีวิตของชิเคาและครอบครัวได้เปลี่ยนไปแล้วเพราะเหตุการณ์นั้น เขาอยากจะกลับสู่โลกฟุตบอลอีกครั้ง แต่ความจริงนั้นไม่ง่าย การตัดขาดจากโลกฟุตบอลอาชีพไป 8 ปี ทำให้เขาขยับตามเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่น ๆ ไม่ทันแล้ว ชิเคา เห็นเพื่อนร่วมทีมเก่าอย่าง โดนี่ (ผู้รักษาประตูของ โรม่า และ ลิเวอร์พูล) รวมถึง เลอันโดร (กองกลางตัวรุกที่เล่นกับ โลโคโมทีฟ มอสโก) ก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จ ขณะที่เขาเล่นฟุตบอลได้แค่ในเรือนจำเท่านั้น

โอกาสกลับมาสู่โลกฟุตบอลของเขาจบลงแบบไม่เป็นทางการ ชิเคา ไร้ข้อเสนอใด ๆ จากทีมในลีกอาชีพ แต่ ชิเคา เชื่อว่า "จุดจบที่แท้จริงจะมาถึงก็ต่อเมื่อทุกอย่างมันจบไปแล้ว" มันทำให้เขาไม่ยอมจบฝันนี้ เพียงแต่เขาเปลี่ยนมาไล่ล่าความฝันอีกแบบ นั่นคือการสร้างลูกชายเป็นยอดนักเตะ และขอให้มีโอกาสได้ลงสนามพร้อมกันในสักวัน 

ชิเคา สนับสนุน เจา เปโดร ได้เพียงเรื่องเงินและการฝากเข้าอคาเดมี่ของ โบตาโฟโก้ เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็หย่ากับแม่ของ เปโดร ก่อนที่จะแยกทางกัน แม้แต่ความฝันที่ 2 ก็ยังเป็นไปได้ยาก ทว่าอย่างน้อยเขาก็กรุยทางเพื่อไปยังจุดเริ่มต้นให้ลูกชายได้สำเร็จ 

เจา เปโดร เล่นให้อคาเดมี่ของ โบตาโฟโก้ ได้สักพัก พออาายุ 13 ปี เอดูอาร์โด้ โอลิเวียร่า แมวมองของ ฟลูมิเนนเซ่ ไปเจอกับเขาเข้าในฟุตบอลระดับรัฐรุ่นเยาวชน ซึ่งหลังจากการเห็นฝีเท้าครั้งนั้น โอลิเวียร่า ก็พา เปโดร ไปสู่ ฟลูมิเนนเซ่ ซึ่งเป็นทีมใหญ่กว่ามากในเวลานั้น และจากนั้นการพัฒนาของเขาก็โดดเด่นขึ้นเมื่อมาอยู่ในทีมที่พร้อมทั้งเรื่องของระบบเยาวชนและ ศูนย์ฝึกซ้อม

"เจา เปโดร เป็นนักเตะที่ผมเจอตั้งแต่ตอนยังเด็กมาก ๆ สิ่งที่ผมประทับใจคือเทคนิคยอดเยี่ยม คาแร็คเตอร์ดีมาก ๆ และโดดเด่นสุด ๆ ในการเล่นกับรุ่นอายุไม่เกิน 13 ปี" โอลิเวียร่า เล่าย้อนความในการพา เจา เปโดร มาที่ ฟลูมิเนนเซ่ และหลังจากนั้นเขาและแม่ก็ย้ายมาเริ่มชีวิตใหม่กันที่ ริโอ เดอ จาเนโร ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องง่ายเลย แม่ของ เจา เปโดร ต้องหางานใหม่ทำ ซึ่งได้เงินไม่เท่ากับที่เดิมที่จากมา นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการแยกตัวมาตั้งครอบครัวกันเองใหม่ 

โชคยังดีที่ ฟลูมิเนนเซ่ เห็นปัญหาเรื่องนี้และบอกกับแม่ของ เจา เปโดร ว่าจากนี้สโมสรจะจ่ายเงินช่วยเหลือครอบครัวของนักเตะให้มากขึ้น และให้คำสัญญาว่า นี่คือการลงทุนที่ครอบครัวนี้จะได้เห็นผลลัพธ์ที่สวยงามในตอนจบแน่นอน เพราะเด็กคนนี้จะได้ไปเล่นฟุตบอลในยุโรป ซึ่งถือเป็นฝันของนักเตะบราซิล 

"ฟลูมิเนนเซ่ คือสโมสรที่โอบกอดผู้คน เพราะพวกเขาเปลี่ยนชีวิตเรา” ฟลาเวีย จุนเกียรา แม่ของ เจา เปโดร บอกแบบนั้น

เจา เปโดร เองก็เล่าว่า ตอนเด็ก ๆ เขาถูกดึงมาที่อคาเดมี่ของ ฟลูมิเนนเซ่ ในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับ ก่อนที่จะเริ่มโตขึ้นและรับรู้ปูมหลังของครอบครัว เขาจึงใช้สิ่งนั้นเป็นแรงผลักดันถีบตัวเองให้พัฒนาขึ้นอีกระดับ เจา เปโดร จึงถูกประเมินในระดับสูงมาตลอด และค่อย ๆ ถูกขยับจากมิดฟิลด์ตัวรับ ขึ้นมาเป็นตัวรุกเมื่อใกล้จะเป็นนักเตะอาชีพ ซึ่งตัวอย่างของเขาก็คือรุ่นพี่อย่าง ริชาร์ลิซอน ที่โตจากอคาเดมี่ของ ฟลูมิเนนเซ่ ก่อนจะได้ไปเล่นในอังกฤษตั้งแต่อายุยังน้อย 

"แรงบันดาลใจของ เจา เปโดร มีหลายคน แต่ ริชาร์ลิซอน เป็นคนที่มีผลมาก ๆ คนหนึ่ง เขาใช้เท้าได้ดีทั้งสองข้าง เขาพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง โฟกัสกับหน้าที่ตัวเองตลอด สิ่งที่เขาพัฒนาเพื่อจะตามรอยรุ่นพี่ก็คือเรื่องการยิงประตู เจา เปโดร ซ้อมเรื่องยิงประตูเยอะมาก จนผมสังเกตตั้งแตยังเด็กว่า เมื่อเขาได้ง้างเท้ายิง มันแทบจะเป็นการยิงเข้ากรอบทั้งหมดเลย" โอลิเวียร่า เล่าต่อ

เขาได้พรสวรรค์ด้านฟุตบอลจากพ่อ แล้วก็ได้บทเรียนชีวิตจากพ่อของตัวเองเช่นกัน เจา เปโดร รู้เรื่องราวของพ่อเขาที่ต้องเลิกเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจึงมีสมาธิกับฟุตบอลที่เป็นเหมือนงานของเขาอย่างเดียว เขาไม่ใช่แข้งแซมบ้าเจ้าสำราญที่จะดื่มกินทุกครั้งที่มีเวลาว่าง กลับกันเขาจะเข้าโรงยิม และฝึกพิเศษกับทีมโค้ชเยาวชนเป็นประจำ ซึ่งมันเป็นต้นเหตุที่เขาทำให้ตนเองมาถึงจุดที่ยืนอยู่ในทุกวันนี้ 

บททดสอบจากฟุตบอลบราซิลจบลงไป บททดสอบบทใหม่ที่กำลังเปิดประตูต้อนรับเขานั่นคือ "ฟุตบอลอังกฤษ" ลีกที่ว่าเปรียบดังนรกกับแข้งแซมบ้า เพราะมันคือความแตกต่างสุดขั้วทั้งในเรื่องของฟุตบอลและวัฒนธรรม เมื่อเทียบกับที่บราซิล

 

"ห้าว" ... บทเรียนสำคัญจากฟุตบอลอังกฤษ

เจา เปโดร ยิง 38 ประตูในซีซั่นเดียวกับ ฟลูมิเนนเซ่ ชุด ยู-20 ในปี 2018 ก่อนทีปีต่อมากับทีมชุดใหญ่เขาจะยิงได้อีก 10 ลูกในทุกรายการ ... ไม่แปลกเลยที่เขาจะเนื้อหอมจากสถิติแบบนี้ เพราะทั้งหมดที่ทำได้เกิดขึ้นตอนเขาอายุ 17 ปีเท่านั้น 

ลิเวอร์พูล, แมนฯ ซิตี้ และ บาร์เซโลน่า ยื่นข้อเสนอเข้ามา ทว่า เจา เปโดร ถูกจองตัวไว้แล้วจาก วัตฟอร์ด ทีมเล็ก ๆ จากอังกฤษที่เคยเอาตัว ริชาร์ลิซอน ไปจาก ฟลูมิเนนเซ่ เมื่อไม่กี่ปีก่อน วัตฟอร์ดสอบถามและติดต่อกับทั้ง ฟลูมิเนนเซ่ และตัวนักเตะ จนปิดดีลคว้าตัวมาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว ซึ่งเมื่อเขาอายุครบ 18 ปีเต็มและได้เวิร์กเพอร์มิต การออกนอกประเทศเพื่อล่าฝันของเขาก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

มันคือการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ง่ายเลย จากอุณหภูมิ 30 องศาของริโอ มาเจอความหนาวจนหายใจแทบไม่ออก แถมเรื่องอาหารก็เป็นปัญหา แต่พวกเขาหาร้านขายวัตถุดิบอาหารบราซิลเจอ และพยายามปรับตัวให้เร็วที่สุด ซึ่ง เจา เปโดร ก็ได้รับการช่วยเหลือจากรุ่นพี่อย่าง เอเรลโญ่ โกเมส และ โรแบร์โต้ เปร์เรร่า ช่วยให้เขาปรับตัวได้เร็วขึ้น

ไม่ใช่แค่เรื่องนอกสนามเท่านั้น เพราะเรื่องของฟุตบอล เจา เปโดร ก็ได้รู้ซึ้งถึงกึ๋นของฟุตบอลอังกฤษ เขาถูกส่งลงเล่นเกมเอฟเอ คัพ ที่ วัตฟอร์ด ต้องออกไปเยือน ทรานเมียร์ โรเวอร์ส บนสนามที่เต็มไปด้วยโคลนและทราย ไม่เหลือเค้าหญ้าเขียว ๆ ของบราซิลเลย เจา เปโดร ถูกนักเตะทรานเมียร์ ปะทะตลอดทั้งเกม แบบที่เขาตั้งตัวไม่ติด ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจสักอย่าง และในเกมนั้นเขาถึงกับบอกย้อนหลังว่า "ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเล่นฟุตบอลได้แย่ขนาดนั้น"

หลังจากเกมนั้นไม่นานนัก ช่วงเวลาล็อกดาวน์จากสถานการณ์ระบาดของ โควิด-19 ก็เริ่มขึ้น เจา เปโดร ไม่รอช้าหลังจากได้เห็นจุดอ่อนของตัวเองหลังจากพบความจริงว่า ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ถ้าไม่สามารถหลบหลีกและเอาตัวรอดจากการเข้าปะทะในเกมฟุตบอลอังกฤษได้ เขาจึงใช้เวลาอย่างชาญฉลาดไปกับการ ฝึกซ้อม เพิ่มกล้ามเนื้อ และรอโอกาสด้วยความอดทน ... และเมื่อฟุตบอลกลับมาลงแข่งขันได้ เจา เปโดร ทำน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีก 7 กิโลกกรัม และด้วยกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นมานี้ทำให้เขาเลิกเป็นเหยื่อและเปลี่ยนตัวเองกลายมาเป็นผู้ล่าแทน 

“ตัวอย่างที่ดีที่สุดของเขาคือริชาร์ลิซอน ทั้งคู่สูง เล่นได้หลายตำแหน่ง และมีสัญชาตญาณนักล่า ถ้าเจา เปโดรมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เขามีศักยภาพไปเล่นให้ทีมชาติบราซิลแน่นอน” ซิสโก้ อดีตกุนซือของวัตฟอร์ดในฤดูกาล 2020-21 ว่าเช่นนั้น 

เจา เปโดร ไม่ได้เพิ่มแค่กล้ามเนื้อเท่านั้น แต่เรื่องความระห่ำและเหลี่ยมฟุตบอลในแต่ละจังหวะเป็นสิ่งที่เขาฝึกเพิ่มมาด้วย มันอาจจะทำให้เขาถูกเรียกว่า "จอมเจ้าเล่ห์" ในบางครั้ง เพราะมีจังหวะที่เขาต้องเล่นแรงใส่คู่แข่งหรือมีจังหวะติดดาบแถมให้เราได้เห็นบ้าง แต่เขายืนยันว่าฟุตบอลคือเกมที่จำเป็นจะต้องเข็มแข้ง และการเป็นกองหน้าที่ยอมโดนเตะอย่างเดียวจะส่งผลเสียทั้งเรื่องความมั่นใจและร่างกายด้วย ... เกลือจิ้มเกลือ คือบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้ตอนเล่นกับ วัตฟอร์ด โดยเฉพาะช่วงผจญภัยในลีกแชมเปี้ยนชิพ

 

สมดุลระหว่าง "ใช้สมอง และใช้กำลัง"

เขาเล่นให้วัตฟอร์ดถึงปี 2023 และเติบโตเป็นนักเตะหนุ่มที่ไม่กลัวอะไร มันทำให้เขาพร้อมสำหรับก้าวต่อไป และเป็น ไบรท์ตัน ทีมตาแหลมเบอร์ต้น ๆ ของพรีเมียร์ลีกที่เห็นแววของเขาและติดต่อซื้อตัวเขามาด้วยราคาถึง 30 ล้านปอนด์ ในฤดูกาล 2023-24 ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำให้แฟนบอลทั่วโลกได้เห็นว่า เจา เปโดร เป็นนักเตะสไตล์ไหน 

เขาเหมือนกับ ริชาร์ลิซอน ไอดอลของเขา เพียงแต่ว่าจุดแตกต่างก็คือ ริชาร์ลิซอน จะมีความเป็นเบอร์ 9 มากกว่า ส่วนเจา เปโดร นั้นหลากหลาย เล่นได้ทั้ง 4 ตำแหน่งในเกมรุกไม่ว่าจะริมเส้นซ้าย-ขวา กองหน้าตัวเป้า-ตัวต่ำ ล้วนเป็นตำแหน่งที่เขาผ่านมาหมดแล้วที่ ไบรท์ตัน ซึ่งสิ่งที่ยอดเยี่ยมกว่าการเล่นได้หลายตำแหน่งก็คือ การตอบโจทย์ทุกครั้งที่โค้ชส่งเขาลงไปในสนาม ซึ่งคนที่บอกก็คือคนที่ใช้งานเขาโดยตรงไม่ว่าจะเป็น โรแบร์โต้ เด แซร์บี้ ที่คุม ไบรท์ตัน ในปี 2023-24 และ ฟาเบียน เฮอเซเลอร์ ในฤดูกาล 2024-25 ที่ผ่านมา 

2 ฤดูกาลกับ ไบรท์ตัน เจา เปโดร ยิง 30 ประตู ทำอีก 14 แอสซิสต์จาก 70 เกม และการเป็นตัวรุกในแบบสมัยใหม่เช่นนี้จึงทำให้ เชลซี รุกคืบและใกล้ปิดดีลเขาด้วยราคาราว 60 ล้านปอนด์ ซึ่งดีลนี้เข้าใกล้ความจริงมาก ๆ ซึ่งถ้าคุณได้ดู เจา เปโดร เล่น คุณจะไม่แปลกใจที่เขากำลังจะเป็นสมาชิกใหม่ของ สิงห์บลูส์ ในยุคของ เอ็นโซ่ มาเรสก้า 

ช่วงที่เล่นให้กับ ไบรท์ตัน นั้น เจา เปโดร แสดงจุดแข็งมาหลายอย่างเช่น “เชื่อมเกมรุก” ที่เป็นทีเด็ดของเขามากที่สุด เจา เปโดร  มักจะถอยมาเชื่อมบอลจากแดนกลาง นอกจากนี้ยังมีหลายจังหวะที่เขาเอาตัวเองไปแอบที่ริมเส้นฝั่งซ้าย เพื่อช่วยต่อเกมในแดนบน ซึ่งเป็นสไตล์ที่ทำให้ ไบรท์ตัน สามารถเป็นทีมที่ครองบอลได้เหนียวแน่น รวดเร็ว และแย่งบอลยากมาก ๆ เข้ากับระบบของของ มาเรสก้า ที่ต้องการนักเตะประเภทที่สามารถลงต่ำมา “รับบอล” เมื่อแผงมิดฟิลด์ไม่สามารถขึ้นเกมได้

ความสามารถในส่วนนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีกองหน้า เชลซี คนไหนทำได้ ไม่ว่าจะเป็น นิโคลัส แจ็คสัน และ เลียม ดีแลป ที่เป็นกองหน้าคนละประเภทกันอย่างเห็นได้ชัด 

ในทางกลับกัน เจา เปโดร ถนัดในการวิ่งเข้าหาบอลมากกว่า โดยเขาสามารถเล่นเพื่อสนับสนุนแนวรุกได้ดีพอ ๆ กับการเป็นหัวหอกในแดนหน้า ซึ่งมีสถิติหลายอย่างของเขาในซีซั่นที่แล้วที่ช่วยยืนยันคำกล่าวเหล่านี้ 

ข้อมูลจาก The Athletic แสดงให้เห็นว่า เจา เปโดร ไม่ได้โดดเด่นเรื่องการคุกคามพื้นที่ในกรอบเขตโทษมากนัก แต่ตรงกันข้าม คะแนนเรื่องการครีเอตหรือสร้างโอกาสการเข้าทำให้กับทีม หรือการเป็นตัวจบสกอร์จากแถวสอง-เสาไกล เป็นตัวจบแบบเซอร์ไพรส์ คือสิ่งที่เขาโดดเด่นมาก ๆ ถ้าคุณนับแค่การยิงประตู เขาอาจจะยิงไม่เยอะนัก แต่ะถ้าคุณวัดตัวเลขของการมีส่วนร่วมกับประตู คุณจะพบว่า เจา เปโดร มีส่วนร่วมกับประตูของทีมถึง 0.74 ประตูต่อ 1 เกม 

นอกจากนี้ การเป็นกองหน้าตัวต่ำชั้นเยี่ยมของเขา ยังมีตัวเลขของการ "สร้างโอกาสยิง" ถึง 72 ครั้ง ผ่านบอลทะลุเกมรับ 10 ครั้ง พร้อมกัน เขายังเป็นนักเตะที่เรียกฟาวล์ได้เป็นอันดับ 1 ของทีม ไบรท์ตัน (46 ครั้ง) ในซีซั่นที่ผ่านมา ซึ่งมีถึง 4 ครั้งที่เขาสามารถเรียกจุดโทษให้ทีมได้ (ลุกขึ้นมายิงเอง 3 ครั้งเข้าทั้ง 3 ลูก) 

นอกจากนี้ เรื่องความห้าวไม่กลัวใคร จะทำให้เขาเป็นภัยคุกคามของกองหลังฝั่งตรงข้ามอย่างแท้จริง เขาเป็นพวกจิตแข็ง โดนจ้องตาไม่มีฝ่อง่าย ๆ และคนอย่างเขาคือคนที่ทำให้เพื่อนร่วมทีมตัวใหญ่ขึ้น เล่นด้วยความกล้าไม่กลัวคู่แข่ง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ เฮอเซเลอร์ อธิบายต่อว่า “ผมคิดว่า เจา เป็นผู้เล่นที่มีความมั่นใจในตัวเองอยู่เสมอ และมีทัศนคติที่ดีมาก ๆ ในตัวเอง สิ่งเหล่านี้มันแสดงให้คนอื่นเห็นว่า เขาสามารถตัดสินเกมได้ด้วยการกระทำเพียงครั้งเดียว ... และการมีเขาอยู่ในทีมจะเหมือนกับการที่คุณมีนักรบในด่านแรก เพราะเขาเป็นคนที่พร้อมจะแย่งบอลตลอดเวลา" 

นี่เองที่อาจเป็นเหตุผลที่เขาเดินมาสู่ก้าวต่อไปที่จะยิ่งใหญ่กว่าเก่า การมาของ เจา เปโดร สะท้อนว่าโค้ชชาวอิตาเลียนอย่าง มาเรสก้า ต้องการผู้เล่นที่ “เข้าใจบอลในแบบฉบับของเขา" ซึ่งเป็นฟุตบอลประเภทที่อาจจะไม่ได้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าเร็วมาก แต่เลือกจะซื้อความแน่นอนและเฉียบขาด แทนการเร่งจังหวะเร็วและเสียบอลจนนำไปสู่การเสียประตู 

เจา เปโดร ไม่ใช่กองหน้าในสไตล์ที่เล่นฟุตบอลสวนกลับได้ดี จากสถิติการเลี้ยงบอล หรือความเร็วในการกระชาก แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่ เชลซี จะได้จากเขาคือเขาเป็นกองหน้าที่ช่วยให้ทีมต่อบอลจากหลังไปหน้า โดยยังสามารถเก็บบอลและจ่ายคิลเลอร์พาสในพื้นที่สำคัญเหมือนกับ โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ ในยุคทองของ คล็อปป์ ที่ลิเวอร์พูล

ถึงตอนนี้ มาเรสก้า อาจจะได้แรงบันดาลใจจากการใช้ปีกในระบบไบรท์ตัน ที่ให้ปีกวิ่งตัดจากด้านนอกเข้าใน เมื่อ เจา เปโดร ถอยลงมาเปิดพื้นที่ เมื่อผสมผสานกับผู้เล่นริมเส้นที่มีความเร็วและวิ่งทำทางอย่าง เปโดร เนโต้, โนนี่ มาดูเอเก้, ไทริค จอร์จ และ เจมี่ ไบโน-กิตเทนส์ รวมถึงการเติมของ มาร์ค กูกูเรย่า จากแบ็กซ้าย  ... เจา เปโดร อาจกลายเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่เสริมความอันตรายให้แนวรุกเชลซี โดยเฉพาะเมื่อมี โคล พาลเมอร์ เป็นจอมปั้นเกมหลัก 

เกมรุกของสิงห์บลูส์ในซีซั่นหน้า น่าติดตามชมจริง ๆ เมื่อมีกองหน้าชาวบราซิลรายนี้เข้ามา

 

แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Jo%C3%A3o_Pedro_(footballer,_born_2001)
https://www.nytimes.com/athletic/6461405/2025/06/30/joao-pedro-chelsea-transfer-explained/
https://www.nytimes.com/athletic/2139816/2020/11/29/the-joao-pedro-story-tragedy-tears-and-a-special-talent/
https://www.premierleague.com/players/72371/Jo%C3%A3o-Pedro/stats
https://www.sportingnews.com/in/football/chelsea/news/joao-pedro-fit-chelsea-squad-medical-scheduled/bc7bc79059935fabaafd9fe2

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ