อีกนัดเดียว เควิน เดอ บรอยน์ ก็จะอำลาการลงเล่นให้กับ แมนฯ ซิตี้ แล้ว หลังจากที่เขาประกาศไม่ต่อสัญญากับทีมเมื่อซีซั่น 2024-25 จบลง
ตลอดระยะเวลา 10 ปี มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น หลายสิ่งหลอมรวมเขาให้กลายเป็นเขาแบบที่ทุกคนกล่าวถึง ยอดจอมทัพ จอมแอสซิสต์ จอมยิงไกล หรือใด ๆ ก็ตามแต่
นี่คือ 10 สุดยอดช่วงเวลาไม่รู้ลืมของ KDB ในสีเสื้อเรือใบสีฟ้า ที่ Main Stand รวบรวมมาให้
ราคาไม่ใช่ปัญหา
หลังย้ายออกจาก เชลซี อย่างถาวรในตลาดนักเตะฤดูหนาวปี 2014 และไปสร้างเส้นทางชีวิตของตัวเองกับ โวล์ฟสบวร์ก ในบุนเดสลีกา เควิน เดอ บรอยน์ ได้กลับมายังพรีเมียร์ลีกอีกครั้งในช่วงท้ายของตลาดนักเตะฤดูร้อนปี 2015 จากการยอมจ่ายค่าตัวกว่า 55 ล้านปอนด์ของ แมนฯ ซิตี้ ซึ่งราคาระดับนี้เมื่อย้อนกลับไปราว 10 ปีที่แล้ว ก็ไม่ใช่ราคาที่ถูกนัก
อีกทั้ง เดอ บรอยน์ ยังเคยเป็นนักเตะที่ไม่ประสบความสำเร็จนักในพรีเมียร์ลีกกับ เชลซี ทำให้หลายคนสงสัยว่า ราคานี้แพงไปหรือไม่กับนักเตะที่เพิ่งโดดเด่นได้ไม่กี่ปี
ทว่ากุนซือของ ซิตี้ ในเวลานั้นอย่าง มานูเอล เปเยกรินี่ ก็บอกว่า "วันที่คุณได้เห็นคุณภาพของ เดอ บรอยน์ ด้วยตาตัวเอง คุณจะเข้าใจทันทีว่าเราไม่ควรต้องมาคุยเรื่องค่าตัวของเขากันอีกต่อไป"
หลังจากนั้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ เดอ บรอยน์ ลงเล่นใน เอติฮัด สเตเดี้ยม ในเกมที่เจอกับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด และในเกมนั้นเขาเริ่มสร้างการเชื่อมต่อกับคู่หูอย่าง เซร์คิโอ อเกวโร่ ด้วยการรับบอลจาก เอล กุน และยิงประตูในแบบที่กลายเป็นลายเซ็นของเขาเสมอมา นั่นคือการยิงไกลที่ยัดเข้าโคนเสาแบบสุดแม่นยำ
แม้ประตูแรกมันอาจจะบอกอะไรไม่ได้มากว่าคุณภาพของเขาจะกินยาว ๆ ไปได้มากแค่ไหน แต่ใครเลยจะรู้ หลังจากลูกนั้น เควิน เดอ บรอยน์ ยิงประตูจากนอกกรอบซ้ำแล้วซ้ำแล้ว และกลายเป็นหัวใจสำคัญของในการทำเกมสำหรับ แมนฯ ซิตี้ มาครบ 1 ทศวรรษแล้ว ... ตอนนี้ไม่มีใครต้องมาคุยเรื่องราคาค่าตัวของเขาอีกแล้ว ดังเช่นที่ เปเยกรินี่ บอกไว้ไม่มีผิด
ราชายิงไกล
แมนฯ ซิตี้ คือทีมที่เฝ้าฝันถึงการเป็นพี่ใหญ่ในประเทศ และกลายเป็นทีมที่ทุก ๆ ทีมในยุโรปต้องหวั่นเกรงนับตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ ที่กลุ่มทุนจากอาบูดาบีเข้ามาซื้อทีมเมื่อปี 2008 นอกจากคำครหาเรื่องใช้เงินซื้อความสำเร็จแล้ว เหตุผลก็เพราะพวกเขามักไม่ค่อยมีผลงานดีในรายนี้ ลงเล่นในรายการยุโรปทีไรก็มักจะตกรอบไว หรือไม่ก็เสียท่าให้กับเหล่าพี่บิ๊กอย่าง บาเยิร์น หรือ เรอัล มาดริด แบบสู้ไม่ได้เสียทุกที
อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาล 2015-16 ที่ เควิน เดอ บรอยน์ มาที่นี่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่พา แมนฯ ซิตี้ ไปสู่ก้าวใหม่ ๆ ได้สำเร็จ เพราะในซีซั่นดังกล่าว ซิตี้ ที่ปกติไม่ตกรอบแบ่งกลุ่ม ก็ต้องโดนเขี่ยในรอบ 16 ทีมสุดท้าย เดินทางเข้ามาสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย และต้องเจอกับ เปแอสเช ซึ่งเกมดังกล่าวถูกเรียกว่า "สงครามเศรษฐี"
ในเกมเลกแรกที่ ปาร์ค เดอ แพรงส์ แมนฯ ซิตี้ บุกไปเก็บผลเสมอได้ 2-2 ก่อนที่ในเลกที่ 2 ที่ เอติฮัด เดอ บรอยน์ ผู้มาใหม่จะกลายเป็นคนยิงไกลแบบซิกเนเจอร์ พาซิตี้ เอาชนะ เปแอสเช ไป 1-0 ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นก้าวสำคัญของสโมสรที่เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศเป็นสมัยแรก และกลายเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผู้เล่นซิตี้ มีประสบการณ์ในเกมยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถพูดได้ว่า ณ จุดนี้พวกเขาคือตัวท็อปของยุโรปอย่างแท้จริง
เรื่องของ แอสซิสต์
จากการเป็นจอมยิงไกลที่ได้รับคำชมในตอนแรก ๆ สุดท้ายสิ่งที่เป็นเหมือนพรสวรรค์ของเขามากกว่าสิ่งอื่น ๆ ดูจะเป็นการแอสซิสต์มากกว่า เพราะนี่คือสุดยอดจอมแอสซิสต์อันดับ 1 เท่าที่พรีเมียร์ลีกเคยมีมา
เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่การจ่ายเยอะ หรือมีเพื่อนร่วมทีมชม เพราะอันที่จริง เดอ บรอยน์ เป็นคนที่มีแนวคิดแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เขาเคยบอกว่ารู้สึกพอใจมากเวลาส่งบอลให้เพื่อนยิงประตูได้พอ ๆ กับการยิงเอง เพราะสุดท้ายแล้ว เป้าหมายคือการช่วยทีมชนะ ไม่ใช่ทำให้ตัวเองโดดเด่น ซึ่งก็นำไปสู่แนวทางพัฒนาตัวเองในข้อต่อ ๆ ไป เช่น การคิดล่วงหน้าคนอื่น 1 ก้าวเสมอ
เดอ บรอยน์ บอกว่าเขาชอบวิเคราะห์เกมระหว่างเล่น เช่น การอ่านแนวรับของคู่แข่ง การเคลื่อนที่ของเพื่อนร่วมทีม เขาเปรียบตัวเองเหมือน "ผู้กำกับเกม" ที่ต้องมองหาช่องทางอยู่ตลอด
นอกจากสายตาจะสอดส่องแล้ว เดอ บรอยน์ ยังซ้อมทบทวนเบสิคเรื่องการจ่ายฟุตบอลของเขาเสมอไม่เคยขาดตกบกพร่อง เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาฝึกซ้อมการผ่านบอลและเปิดบอลซ้ำ ๆ เพราะเชื่อว่า "ความแม่นยำ" คือกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาส ซึ่งคุณก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะนี่คือนักเตะที่แอสซิสต์ถึง 50 ลูกไวที่สุดในพรีเมียร์ลีก และทำลายสถิติแอสซิสต์มากกว่า 20 ลูกในฤดูกาลเดียวของ เธียร์รี่ อองรี มาแล้ว
บอกลา เปเยกรินี่ ก่อนกลายร่างในยุคต่อไป
แม้ฤดูกาลแรกของ เควิน เดอ บรอยน์ จะได้โชว์ลีลาการยิงและแอสซิสต์ที่หวือหวามีแต่ลูกสวย ทว่าในปีนั้นก็ถือเป็นปีแรกและปีเดียวที่เขาทำงานกับ เปเยกรินี่ ซึ่งกุนซือเฒ่ารายนี้แม้จะไม่ได้ถูกกล่าวเชื่อมโยงกับ เดอ บรอยน์ มากนัก แต่เจ้าตัวก็มีส่วนต่อการพัฒนา เดอ บรอยน์ ให้เป็นวัตถุดิบพร้อมใช้ในยุคต่อไปที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้ามาสานต่ออย่างแท้จริง
โดย เปเยกรินี่ บอกเอาไว้ในช่วงปลายซีซั่นที่ เดอ บรอยน์ ต้องได้รับการบาดเจ็บที่หัวเข่าและต้องพักรักษาตัวอย่างน้อยถึง 10 สัปดาห์ว่า เป็นการขาดขายไปของนักเตะคนสำคัญของทีม แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นช่วงเวลาที่นักเตะจะได้กลับไปทบทวนสิ่งที่ตัวเองยังขาดและต้องพัฒนาเพิ่ม เพราะเขาเชื่อเสมอว่า เดอ บรอยน์ มีดีกว่าแค่การยิงไกลและแอสซิสต์เท่านั้น
สิ่งที่ เปเยกรินี่ เคี่ยวเข็นเดอ บรอยน์ ในช่วงท้ายซีซั่น คือการสอนเรื่องการพัฒนาการตัดสินใจในจังหวะสุดท้ายให้เร็วขึ้น และให้ เดอ บรอยน์ เน้นความสำคัญกับการส่งบอลธรรมดา ๆ เช่นเดียวกับการจ่ายคิลเลอร์พาสสวย ๆ เนื่องจากการส่งบอลธรรมดา ๆ ง่าย ๆ นี่แหละคือตัวตัดสินเกม หากคุณไม่ใส่ใจมันมากนัก และจ่ายบอลพลาด จากทีมที่ควรได้บุก ก็กลายเป็นฝ่ายต้องเสียขบวนกลับมาเล่นเกมรับแทน
ในขณะที่คนอื่นชื่นชมและตื่นเต้น แต่ เปเยกรินี่ มองลึกลงไปยิ่งกว่านั้น เพราะเขาเชื่อว่า เดอ บรอยน์ จะเป็นนักเตะที่เหมาะสมกับสไตล์การเล่นของ ซิตี้ ซึ่งในที่สุด เดอ บรอยน์ ก็กลายเป็นคนที่ครบเครื่องในแดนกลางที่สุดคนหนึ่งในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเรื่องการแย่งบอล การจ่ายบอลตามจังหวะเกม หรือแม้แต่จังหวะสังหารในเขตโทษที่คมไม่แพ้กองหน้า ... ก็ต้องขอบคุณโค้ชขรัวเฒ่าที่แนะนำหนทางสู่ความเป็นเลิศให้กับ เดอ บรอยน์ ได้อย่างตรงเป้า
ไม่ได้มีปัญหากับใครนะครับ
แน่นอนว่าการเป็นนักเตะเก่าของ เชลซี อาจจะทำให้ เควิน เดอ บรอยน์ ต้องโดนแซวจากแฟนสิงห์บลูส์บ้างเวลาทั้ง 2 ทีมเจอกัน และแม้แต่สื่อก็ยังชอบขยี้เรื่องความล้มเหลวของเขาในถิ่น เดอะ บริดจ์ เสมอ
อย่างไรก็ตาม ในการเจอกันเมื่อปี 2017 เควิน เดอ บรอยน์ จัดการดับทุกเสียงแซวของแฟนบอลเชลซีและสื่อสายแซะต่าง ๆ ด้วยการจัดการยิงไกลให้ ซิตี้ เอาชนะ เชลซี ไป 1-0 และหลังจากยิงเข้า เขาไม่แสดงอาการใด ๆ เลย ... ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่การยกมือไม่แสดงความดีใจเพื่อให้เกียรติทีมเก่า แต่มันเป็นการ "เฉยเมย" ทำสีหน้าตายด้าน และท่าทางเย็นราวกับจะบอกว่า "ก็ไม่ได้ยากอะไร"
หลังจบเกม สื่อก็รุมทึ้งเขาทันที และอินโทรเวิร์ตอย่าง เดอ บรอยน์ ก็ตอบกลับด้วยประโยคที่เป็นไวรัลว่า "ผมไม่ได้โกรธเชลซี แต่ผมมีงานของตัวเองที่ต้องทำ"
อัจฉริยะพบอัจฉริยะ
หลังจาก เควิน เดอ บรอยน์ ได้ทำงานร่วมกับ เปเยกรินี่ สั้น ๆ ก็เปลี่ยนผ่านมาจนถึงยุคของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ซึ่งเฟอร์เฟ็คชั่นนิสต์ชาวสเปนรายนี้ คือคนที่สำคัญอย่างมากในการผลักดัน เดอ บรอยน์ ไปอีกระดับ จากนักเตะที่ดี กลายเป็นนักเตะที่มีคุณภาพในระดับที่สามารถตัดสินเกมได้ด้วยตัวคนเดียว
เป๊ป เข้ามาเปลี่ยนบทบาทของ เดอ บรอยน์ ใหม่ ไม่ใช่การเป็นเบอร์ 10 หรือตัวรุกริมเส้นอีกแล้ว แต่กลายเป็นกองกลางเบอร์ 8 ควบเบอร์ 10 ในแบบที่เรียกว่า "ไฮบริด" ที่ต้องเล่นรุกและรับได้ในตัวคนเดียว ซึ่งแทบจะกลายเป็นพิมพ์นิยมของกองกลางหลาย ๆ คนในยุคนี้
ไม่ใช่แค่เปลี่ยนตำแหน่งเท่านั้น เป๊ป ยังเน้นเรื่องการตัดสินใจในเสี้ยววินาที การมองเกมจากภาพกว้างและเป็นระบบ การอ่านความเคลื่อนไหวของเพื่อนร่วมทีมให้ขาด นอกจากนี้ในหลาย ๆ เกม เป๊ป ยังให้อิสระในการเล่นของ เดอ บรอยน์ ให้เล่นตามความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง KDB จึงสามารถสร้างสรรค์เกมได้อย่างเต็มที่ โดยไม่หลุดจากแท็คติกของทีม
หลาย ๆ สิ่งที่ เป๊ป สอน คือสิ่งที่ต่อยอดให้ เดอ บรอยน์ สู่อีกระดับ แม้แต่เจ้าตัวก็ยังเคยสัมภาษณ์ว่า "เป๊ปคือหนึ่งในโค้ชที่ดีที่สุดที่ผมเคยร่วมงานด้วย" ขณะที่ เป๊ป ก็เคยบอกว่า "เดอ บรอยน์ เป็นเหมือนกับโค้ชในคราบของผู้เล่นที่เห็นเกมทุกอย่างในสนาม"
ทั้งสองคนมีความเข้าใจกันลึกซึ้งในด้านฟุตบอล และ เดอ บรอยน์ ก็เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่กล้าจะเถียงและโวยใส่ เป๊ป ออกสื่อ ในเวลาที่เขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ เป๊ป ตัดสินใจในเกมการแข่งขัน ครั้งหนึ่งในเกมกับ แอร์เบ ไลป์ซิก เป๊ป ออกมาสั่ง เดอ บรอยน์ ไม่หยุดระหว่างเกม ทำให้ เดอ บรอยน์ ตอบกลับไปง่าย ๆ ว่า "หยุดพูดได้ป่ะเนี่ย"
เรื่องนี้ไม่ใช่ดราม่าแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องปกติของทั้งคู่ที่มักจะพูดคุยและถกเถียงเรื่องมุมมองที่มีต่อเกมเสมอ โดย เป๊ป ก็เป็นฝ่ายจบเรื่องนี้ด้วยการบอกว่า "จริงของเขา บางทีผมอาจจะพูดมากไปก็ได้นะ" เป๊ปยังบอกอีกว่า เขาชื่นชมที่นักเตะแสดงอารมณ์และทุ่มเท เพราะมันหมายความว่าเขาแคร์เกมนั้นจริง ๆ และนั่นเป็นเหตุผลที่เขา และ เดอ บรอยน์ จึงทำงานระดับสูงร่วมกันมาเป็น 10 ปี
สมอง และ อาวุธ
หากนับแค่ 10 ปีหลังสุดในฟุตบอลพรีเมียร์ลีก จะมีการจับคู่ของนักเตะคนไหนได้อันตรายเท่ากับคู่หู เดอ บรอยน์ และ อเกวโร่ อีก ไม่ว่าคุณจะวัดด้วยความสำเร็จ จำนวนประตู ตัวเลขสถิติ หรือแม้แต่ถ้วยแชมป์
การมาเจอกันของทั้ง 2 คนถือเป็นอะไรที่ลงตัวแบบเพลย์เมคเกอร์กับเพชฌฆาต คนหนึ่งสายตากว้างไกล มองเห็นทั้งสนาม และมากับเท้าชั่งทอง ส่วนอีกคนรวดเร็ว แข็งแรง มีความเข้าใจเกมสูง ขยับหาพื้นที่ตลอดเวลา และจบสกอร์ได้จากทุกระยะ
ตัวของ เดอ บรอยน์ ในตอนแรกที่ย้ายมาอาจจะไม่ใช่นักเตะที่พูดเก่งนัก และมักจะเป็นคนเงียบ ๆ แต่ในสนาม บทบาทของเขากับ อเกวโร่ กลายเป็นภาษาฟุตบอลที่เดินหน้าไปได้อย่างลื่นไหล และคุณคงมีภาพจำมากมายเกี่ยวกับการผลัดกันยิงผลัดกันแอสซิต์ของพวกเขา
"การจ่ายบอลให้ อเกวโร่ เป็นเรื่องง่าย เพราะผมรู้ว่าเขาจะไปอยู่ตรงไหน" เดอ บรอยน์ พูดคำนี้แม้ทั้งสองอาจจะไม่ใช่เพื่อนซี้นอกสนาม แต่เซ้นส์ฟุตบอลทำให้พวกเขาเจอกันได้เสมอ เช่นเดียวกับ อเกวโร่ ที่เคยพูดว่า "แค่ผมวิ่ง เควิน ก็จะหาผมเจอเสมอ"
"KDB คือผู้สร้างสรรค์ อเกวโร่ คือผู้จบสกอร์ และทั้งสองคนคือเหตุผลที่ แมนฯ ซิตี้ กลายเป็นทีมระดับโลก" สำนักข่าว The Guardian ว่าแบบนั้น และนั่นเป็นการสรุปสั้น ๆ ที่ได้ใจความอย่างแท้จริง
จากคนเงียบ ๆ สู่ผู้นำ
เควิน เดอ บรอยน์ บอกเสมอว่าเขาเป็นอินโทรเวิร์ต ผู้แทบตัดขาดผลงานในสนามกับชีวิตส่วนตัว โดยไม่สนว่าตนเองจะต้องอยู่ในแสงไฟ และแทบจะไม่สนทนากับผู้อื่นโดยไม่จำเป็น แต่ เดอ บรอยน์ คือนักเตะที่ไม่เคยกลัวที่จะต้องพูดอะไรออกมา และถ้าถึงเวลาที่ทีมต้องการใครสักคนขึ้นมาเป็นผู้นำ เดอ บรอยน์ พร้อมเป็นคนนั้น และนั่นคือเหตุผลที่เขาได้รับปลอกแขนกัปตันทีมอยู่บ่อย ๆ
อันที่จริงเขาเป็นคนเกลียดความพ่ายแพ้แบบสุด ๆ และเขาพร้อมจะฉุนเฉียวใส่เพื่อนร่วมทีมที่เล่นไม่เต็มที่ หรือเล่นด้วยคุณภาพต่ำจนนำพาทีมไปสู่ความพ่ายแพ้ จนเพื่อนร่วมทีมหลายคนยังแซวเขาว่าเป็นผู้พ่ายแพ้ที่แย่ เพราะแม้แต่ช่วงที่มาซิตี้ใหม่ ๆ เขายังสั่งให้รุ่นพี่ต้องวิ่งมากกว่านี้ เพื่อให้ทีมฝั่งของเขาเป็นฝ่ายชนะในเกมฝึกซ้อม
แวงซองต์ กอมปานี อดีตกัปตันทีมของ แมนฯ ซิตี้ เปิดเผยว่า "มีคุณสมบัติของผู้ชนะซ่อนอยู่ ในเบื้องหลังความเป็นเด็กหนุ่มนิสัยดีรายนี้ ผมรู้จักผู้แพ้ที่แย่อยู่ไม่กี่คนนะ แต่เขาเนี่ยเป็นเบอร์ต้น ๆ ที่ผมรู้จักเลย"
และนั่นก็คือทักษะที่ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นรองกัปตันทีมของซิตี้ "นี่คือนักเตะที่เป็นผู้นำทั้งในและนอกสนาม เขาช่วยยกระดับมาตรฐานทีม เมื่อมีนักเตะแบบ เควิน อยู่ มาตรฐานของผู้คนรอบตัวเขาก็จะสูงขึ้นไปด้วย" คือความเห็นของ คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ซีอีโอสโมสร ที่ร่วมสรรเสริญแข้งรายนี้ด้วยเช่นกัน
เพราะเจ็บปวด
เควิน เดอ บรอยน์ จะเป็นโคตรอัจฉริยะแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่จะต้องเจอเรื่องทั้งดีและร้ายเรื่อยไป และบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวด และกลายเป็นแผลใจครั้งใหญ่ แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่ตัดเรื่องฟุตบอลออกจากชีวิตเก่งแค่ไหนก็ตาม
เหตุการณ์ในนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาล 2020-21 ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ เชลซี ถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่เจ็บปวดที่สุดในอาชีพของ เควิน เดอ บรอยน์ ทั้งในแง่ร่างกายและอารมณ์เลยก็ว่าได้
โดยในเกมนั้น เดอ บรอยน์ ลงเล่นเป็น 11 ตัวจริง และในนาทีที่ 60 เขาปะทะกับ อันโตนิโอ รือดิเกอร์ แถมเป็นจังหวะที่ศีรษะของทั้งสองชนกันพอดี แต่ เดอ บรอยน์ เป็นฝ่ายที่เจ็บหนักกว่า เขาล้มลงและมีอาการ เบ้าตาขวาบวมปูด ใบหน้าบิดเบี้ยว สุดท้ายต้องถูกเปลี่ยนตัวออกทันที พร้อมน้ำตาคลอ และกลายเป็นซีนอารมณ์ประจำนัดชิงปีนั้น
แมนฯ ซิตี้ จบเกมด้วยการเป็นฝ่ายพ่ายไป 0-1 ขณะที่ เดอ บรอยน์ กระดูกเบ้าตาแตกและจมูกหัก เขายอมรับว่า หัวใจสลาย เพราะนี่คือโอกาสที่ดีที่สุดของ แมนฯ ซิตี้ ในการคว้าถ้วย แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ทุกคนรอคอยมานาน
แม้สื่อจะพยายามถาม เดอ บรอยน์ ในเชิงให้ชงไปยังการจัดตัวของ เป๊ป ที่ไม่มีมิดฟิลด์รับตัวจริงเลย แต่ เดอ บรอยน์ ที่กำลังเจ็บปวดก็ตอบกลับอย่างมีสถิติ และโฟกัสไปยังสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ทิ้งความผิดพลาด และเก็บบทเรียนเอาไว้เท่านั้นว่า "ผมพยายามเต็มที่แล้ว"
สุดท้ายก็เติบโต
หลังจากความพ่ายแพ้ต่อ เชลซี ในปี 2021 เดอ บรอยน์ และผองเพื่อนกลับมาถึงรอบชิงชนะเลิศใหม่อีกครั้งในปี 2023 หรือ 2 ปีถัด ด้วยการพบกับ อินเตอร์ มิลาน ในรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก
หนนี้ เดอ บรอยน์ และทีมอาจจะเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบากบ้าง เพราะเจอแท็คติกโต้กลับที่ชวนทะเลาะของ อินเตอร์ แต่สุดท้ายปลายทางคือ แมนฯ ซิตี้ เอาชนะไป 1-0 กลายเป็นแชมป์ยุโรปสมัยแรก และกลายเป็นทีมจากอังกฤษทีมที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่คว้าเทรเบิลแชมป์ ต่อจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปี 1999
สโมสรนี้ยกระดับตัวเองตามแผนการที่พวกเขาได้วางไว้มาอย่างยาวนาน และต้องยอมรับว่า การมี เควิน เดอ บรอยน์ สำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนโฉมหน้าเกมของ แมนฯ ซิตี้ ไปสู่ทีมที่สามารถเล่นฟุตบอลให้ได้อย่างมีคุณภาพ และมีความสำเร็จเอาไว้การันตีอีกด้วย
ขณะเดียวกัน แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปี 2023 คือจุดสูงสุดในอาชีพของ เควิน เดอ บรอยน์ ไม่ใช่แค่ในฐานะนักฟุตบอลเท่านั้น แต่รวมถึงในฐานะ "คนที่ผ่านความเจ็บปวดมาทั้งร่างกายและจิตใจ" มาก่อน
นอกจากนั้น แชมป์ยุโรปครั้งนี้ ยังช่วยลบคำครหาที่มีต่อเขาที่มักจะถูกบอกว่า "เป็นจอมทัพที่ดีที่สุดในพรีเมียร์ลีกแต่กลับชอบหายตัวไปในเกมยุโรป" แชมป์นี้คือการยืนยันว่า เขาคือคนที่พา แมนฯ ซิตี้ ไปถึงฝั่งฝันจริง ๆ สมกับที่เขาให้สัมภาษณ์ก่อนเกมสั้น ๆ ในสไตล์ของเขาว่า "นี่คือเกมที่ผมรอมาเกือบทั้งชีวิต"
บอกลาเยี่ยงวีรบุรุษ
ฤดูกาล 2024-25 อาจจะไม่ใช่ปีของ แมนฯ ซิตี้ เพราะพวกเขากลายเป็นทีมที่ไม่สามารถคว้ารางวัลใดมาครองได้เลย เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ซีซั่น 2016-17 แต่อย่างน้อย ๆ เควิน เดอ บรอยน์ ก็ได้ทำอะไร ๆ สำคัญ ๆ ให้กับทีม
แม้จะเป็นปีที่ตัวเขาเองก็ต้องเผชิญอาการบาดเจ็บอยู่เรื่อยมา แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาช่วยทีมได้ในช่วงท้ายฤดูกาล และยิงประตูสำคัญ ๆ หลายลูกในเกมที่เหล่านักเตะเลือดใหม่ยังไม่สามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาแบกทีมได้ ทำให้ทีมยังคงมีแต้มและจ่อจะได้ไปเล่นฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในซีซั่นหน้า
หากมองจากภาพรวมทั้งหมด นี่อาจจะเป็นปีที่ล้มเหลวของ แมนฯ ซิตี้ แต่สุดท้าย เควิน เดอ บรอยน์ ยังเป็นคนที่ช่วยพวกเขาได้เสมอ … จนกระทั่งวาระสุดท้ายของที่เขาจะถอดเสื้อสีฟ้าและเดินหน้าสู่เส้นทางใหม่ในอาชีพค้าแข้ง