Feature

Hair vs. Hair : เดธแมตช์ใครแพ้โดนโกนหัว ที่ทำให้คนญี่ปุ่นเกลียด "ดัมพ์ มัตสึโมโตะ" จนอยากฆ่าให้ตาย | Main Stand

หากคุณเติบโตมากับการดูมวยปล้ำญี่ปุ่นในยุค 1980s ไม่มีทางที่คุณจะไม่รู้จัก คาโอรุ มัตสึโมโตะ หรือ "ดัมพ์ มัตสึโมโตะ" นักมวยปล้ำหญิงฝ่ายอธรรม ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับเพื่อนร่วมอาชีพและแฟนมวยปล้ำทั่วประเทศ ด้วยการปล้ำที่รุนแรง หนักหน่วง ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

 


และหนึ่งในแมตช์ระดับตำนานในชีวิตของ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ คือ เดธ แมตช์ Hair vs. Hair ระหว่างฝ่ายอธรรม มัตสึโมโตะ กับตัวแทนฝ่ายธรรมะ ชิงุสะ นากาโยะ ซึ่งตลอดแมตช์ มัตสึโมโตะ รังแกและจับ นากาโยะ ละเลงเลือดอย่างบ้าคลั่ง ก่อนคว้าชัยชนะแล้วหยิบปัตตาเลี่ยนกล้อนผมของ นากาโยะ ต่อหน้าคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ สร้างความเกลียดชังถึงขนาดโดนคุกคาม ขู่ทำร้าย และกลายเป็นนักมวยปล้ำจอมโหดร้าย ที่ชาวญี่ปุ่นอยากฆ่าให้ตายมากที่สุดในเวลานั้น

Main Stand ขอนำเสนอเรื่องราวของเดธแมตช์ Hair vs. Hair ในตำนาน ที่ส่งให้ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ กลายเป็นจอมโฉดระดับตำนานของวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นตลอดกาล ผ่านบทความนี้

 

เมล็ดพันธุ์จากมวยปล้ำหญิงยุค 70

ในช่วงยุค 70 ถึงต้นยุค 80 ถือเป็นช่วงเวลาที่วงการมวยปล้ำหญิงของญี่ปุ่นกำลังเบ่งบาน โดยเฉพาะ ออล เจแปน วูเมนส์ โปร เรสลิ่ง (AJW) สมาคมมวยปล้ำที่ก่อตั้งโดยสามพี่น้องตระกูลมัตสึนากะอย่าง ทาคาชิ, คุนิมัตสึ, โทชิคุนิ (หรือเรียกว่า มัตสึนากะ บราเธอร์ส) ที่สร้างฐานแฟนคลับจากการเดินสายจัดอีเวนต์มวยปล้ำหญิงตามสถานที่ต่างๆ จนได้ทำสัญญาออกอากาศรายการมวยปล้ำของตัวเองกับสถานี Fuji TV ซึ่งส่งผลทำให้โชว์มวยปล้ำของพวกเขา ได้เผยแพร่สู่สายตาคนญี่ปุ่นที่มีทีวีทุกครัวเรือน มวยปล้ำกลายเป็นรายการที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ดูได้ทั้งครอบครัว

AJW ยุคดังกล่าว มีนักมวยปล้ำหญิงชื่อดังเช่น จากัวร์ โจโคตะ, จัมโบ้ มิยาโมโตะ, มัค ฟูมิอาเกะ, เดวิล มาซามิ รวมถึง แจ็คกี้ ซาโต้ กับ มากิ อูเอดะ ที่จับคู่แท็กทีมในนาม “Beauty Pair” ซึ่งเป็นแชมป์แท็กทีมหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีแฟนคลับตามเชียร์ทั่วประเทศ ด้วยฝีมือที่ครบเครื่องและคาริสม่าที่เปล่งประกายของทั้งสอง ทั้งคู่กลายเป็นไอดอลให้กับเด็กผู้หญิงญี่ปุ่นทั่วประเทศ พลางเสริมสร้างบารมีให้สมาคม AJW ของพี่น้องมัตสึนากะ แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม

การเฉิดฉายของ Beauty Pair และการคว้าแชมป์หญิงของ มัค ฟูมิอาเกะ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงร่างใหญ่จากไซตามะอย่าง คาโอรุ มัตสึโมโตะ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักมวยปล้ำตามรอยไอดอลของเธอ แม้ว่าจะเติบโตมาจากครอบครัวที่พ่อแม่มีปัญหา และฐานะขัดสนจนต้องพยายามทำงานพาร์ทไทม์เพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง แต่ด้วยความแน่วแน่ในเส้นทาง เมื่อถึงปี 1976 คาโอรุ ในวัย 16 ปี จึงตัดสินใจเข้าร่วมออดิชั่นเป็นนักมวยปล้ำหญิงของ AJW

คาโอรุ มัตสึโมโตะ ถือเป็นหนึ่งในเด็กผู้หญิงจำนวนกว่า 100 คนจากทั่วประเทศที่เข้ารับการออดิชั่นเป็นนักมวยปล้ำหน้าใหม่ของ AJW ที่มีสำนักงานอยู่ที่โตเกียว เช่นเดียวกับ ชิงุสะ นากาโยะ เด็กสาวนักคาราเต้จากนากาซากิ ที่เดินทางเข้ากรุงมาออดิชั่นกับ AJW ในเวลาต่อมา แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทั้งคู่ เพราะกว่าจะได้เป็นเด็กฝึกของ AJW คาโอรุ มัตสึโมโตะ ต้องเข้ารับการทดสอบอยู่ 3 ครั้งกว่าจะสอบโปรผ่าน ส่วน ชิงุสะ นากาโยะ แม้จะมาทดสอบนอกรอบเพราะมาสมัครไม่ทัน แต่ด้วยความสามารถด้านคาราเต้ บวกกับ AJW ต้องการเด็กใหม่เพื่อมาขับเคลื่อนสมาคมต่อ นากาโยะ จึงได้รับเลือกเข้ามาหลังจากนั้น

ทั้ง คาโอรุ มัตสึโมโตะ กับ ชิงุสะ นากาโยะ เข้ามาเป็นเด็กฝึกของ AJW กิน นอน ฝึกซ้อม และใช้ชีวิตกับเพื่อนร่วมรุ่น จนในที่สุดก็ได้เดบิวต์เป็นนักมวยปล้ำหญิงของ AJW เต็มตัวในปี 1980 ทั้งสองมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น และมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จในวงการมวยปล้ำอาชีพ

 

“ครัช แกลส์” จุดระเบิดทั่วญี่ปุ่น

“ทุกเส้นทางของความสำเร็จ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” เป็นสัจธรรมที่มนุษย์ทุกคนรู้ดี เช่นเดียวกับ ชิงุสะ นากาโยะ แม้จะได้เดบิวต์เป็นนักมวยปล้ำหญิงของ AJW แต่ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานพอสมควรในช่วง 2 ปีแรกที่เข้ามา ทั้งการปล้ำที่ยังไม่ไหลลื่น การใช้ท่าคาราเต้บนเวทีแบบไม่ได้ตั้งใจ โดนกลั่นแกล้งจากรุ่นพี่ในค่าย ผสมกับความไม่มั่นใจในตัวเอง จนทำให้ช่วงหนึ่งเธอคิดตัดสินใจที่จะเลิกปล้ำ ไปหางานทำเพื่อเลี้ยงปากท้อง

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงเมื่อ โทโมโกะ คิตามูระ เพื่อนร่วมรุ่นของ ชิกุสะ เอ่ยปากชวนให้มาสู้กันแมตช์ต่อไปในฐานะคู่แข่งบนเวที ทำให้ ชิงุสะ นากาโยะ ตัดสินใจว่านี่จะเป็นแมตช์สุดท้าย และจะสู้ในสไตล์ของตัวเองนั่นคือใช้ท่ามวยปล้ำ ผสมกับคาราเต้ เป็นการทิ้งทวน โดยเธอบอกว่า “ตอนนั้นฉันรู้สึกว่าไหนๆ ก็จะเลิกแล้ว ฉันก็เลยอยากทำในสิ่งที่ควรจะทำก่อน แล้วค่อยเลิกไปก็ได้”

แมตช์หญิงเดี่ยวระหว่าง ชิงุสะ นากาโยะ กับ โทโมโกะ คิตามูระ ที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ไลออนเนส อาสึกะ” ช่วงต้นปี 1983 กลายเป็นแมตช์แจ้งเกิดของทั้งคู่ เมื่อทั้งสองสู้กันแบบดุเดือด งัดทีเด็ดออกมาเล่นงานซึ่งกันและกันจนทำให้แฟนมวยปล้ำเลือดลมสูบฉีด ปรบมือชื่นชมกันทั้งสนาม ผู้บริหารของ AJW ที่ได้ดูแมตช์นี้ พอเห็นรีแอคชั่นของคนดูที่มีต่อทั้งคู่ จึงตัดสินใจจับทั้งสองคนมาแท็กทีมกัน และตั้งชื่อให้ว่า Crush Gals (ครัช แกลส์)

แล้วนั่นก็นำมาสู่ปรากฏการณ์ “ครัช แกลส์ ฟีเวอร์” ทั่วประเทศญี่ปุ่น เมื่อการผนึกกำลังกันระหว่าง ชิงุสะ นากาโยะ กับ ไลออนเนส อาสึกะ ประสบความสำเร็จสูงลิ่ว พวกเธอกลายเป็นแท็กทีมฝ่ายธรรมะที่ชนะใจแฟนๆ ด้วยสไตล์การปล้ำที่โดดเด่น และออร่าที่เฉิดฉายกว่าใครๆ จนมีแฟนคลับตามไปส่งเสียงเชียร์เรียกชื่อของพวกเธอทุกสนาม ส่งจดหมายและของขวัญมาที่สมาคมอย่างล้นหลาม พลางชุบชีวิต AJW ของพี่น้องมัตสึนากะ ที่เสื่อมความนิยมไปพักหนึ่งจากการแยกทางของแท็กทีม Beauty Pair ในตำนาน กลับมาผงาดอีกครั้ง ก่อนเดินสายรับทรัพย์จากอีเวนต์มวยปล้ำที่มี ครัช เกิร์ล ลงแข่งทุกอีเวนต์

นากาโยะ เล่าว่าในช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์นั้น เธอเคยมีรายได้จากการขึ้นปล้ำ รวมถึงการออกอีเวนต์งานบันเทิงต่างๆ ประมาณ 30-40 ล้านเยน และนั่นก็ทำให้เธอนำเงินที่ได้ไปช่วยใช้หนี้ให้ครอบครัวได้ในเวลาต่อมา

ทว่าเมื่อมีนักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะแล้ว ผู้บริหารของ AJW ก็คิดว่าควรสร้างนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมมาต่อกรกับพวก ครัช แกลส์ เพื่อเสริมความเข้มข้นให้กับโชว์มวยปล้ำของพวกเขา หากจะให้ ครัช แกลส์ ชนะไปเรื่อยๆ ก็คงน่าเบื่อแย่

และนั่นก็เป็นการเปิดประตูให้จอมมารที่หลับใหลอยู่ในสมาคม AJW ตื่นขึ้นมา..

 

จอมปีศาจ “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” อาละวาด

ถึงจะเดบิวต์มาพร้อมกับแก๊ง ครัช แกลส์ ทว่า คาโอรุ มัตสึโมโตะ แจ้งเกิดช้ากว่าคนอื่น เธอยังหาตัวเองไม่พบว่าควรปล้ำอย่างไร หรือคาแร็กเตอร์แบบไหน ก่อนที่ทาง AJW จะกำหนดให้ มัตสึโมโตะ เดินเข้าสู่โลกนักมวยปล้ำสายอธรรม ด้วยการเป็นลูกน้องในแก๊ง Devil’s Corps (กองกำลังปีศาจ) ของ เดวิล มาซามิ อธรรมหญิงแถวหน้าของสมาคม มัตสึโมโตะ ใช้ช่วงเวลานี้เรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์บนเวที เพื่อนำมาพัฒนาคาแร็กเตอร์นักมวยปล้ำสายอธรรมของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปี 1983 หลังจากที่กลุ่ม Devil’s Corps กำลังจะถูกยุบ หัวหน้าแก๊งอย่าง เดวิล มาซามิ จะย้ายไปอยู่ฝั่งธรรมะ ก็เป็นการบีบให้ คาโอรุ มัตสึโมโตะ ต้องค้นหาคาแร็กเตอร์ของตัวเองให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อแจ้งเกิดเต็มตัวเสียที โดยเธอเล่าเรื่องนี้ในหนังสือชีวประวัติ Called the villain ว่า “นี่คือโอกาสสุดท้ายของฉันแล้ว ถ้าหากไม่สำเร็จ ฉันก็คงต้องเดินออกจากสมาคมไป”

คาโอรุ มัตสึโมโตะ หยิบเอาความบาดหมางของตัวเองกับพ่อผู้ให้กำเนิด ซึ่งเคยทำร้ายทุบตีแม่และตัวเธอ ไถเงินครอบครัวไปกินเหล้าเป็นประจำในอดีต ผสมกับการถูกแก๊งนักมวยปล้ำรุ่นพี่ในค่าย AJW รังแกเธอกับเพื่อนๆ ในช่วง 2 ปีแรก มาปรับใช้กับคาแร็กเตอร์ตัวเอง ย้อมผมทองแบบที่ไม่มีนักมวยปล้ำคนไหนเคยทำ ใส่เสื้อหนัง และแต่งหน้าเป็นปีศาจแบบวง KISS ประกอบกับได้แรงสนับสนุนจาก ทาคาชิ มัตสึนากะ ประธาน AJW อย่างเต็มที่ จนกำเนิดเป็น “ดัมพ์ มัตสึโมโตะ” นักมวยปล้ำหญิงฝ่ายอธรรมที่โผล่มาอัดทุกคนไม่เลือกหน้า ตั้งแต่ปี 1984 พร้อมกับตั้งแก๊งอธรรมสุดโฉดของตัวเองในชื่อ “Atrocious Alliance” (พันธมิตรแห่งความชั่วร้าย) ร่วมกับ บูล นากาโนะ และ เครน ยู ที่ไล่ตบตีทุกคนอย่างเมามัน ผสมโรงด้วย อาเบะ ชิโร่ กรรมการคู่ใจของ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ที่คอยช่วยฝั่งตัวโกงอยู่เสมอ เช่น ส่งอาวุธให้ หรือพอ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ จับคู่ต่อสู้กดพื้น ก็จะรีบนับอย่างรวดเร็วแบบไม่ให้อีกฝ่ายลุกทัน

ส่วนชื่อ “ดัมพ์” ก็มาจากพละกำลังมหาศาล พุ่งชนทุกสิ่งที่ขวางหน้าให้คว่ำหมด จนคนดูอุทานว่า “อย่างกับรถดัมพ์”

ด้วยภาพลักษณ์ที่ดุดันน่ากลัว รูปร่างใหญ่โต น้ำหนักกว่า 100 กก. พละกำลังมหาศาล และการปล้ำที่รุนแรง แหกทุกกฏเกณฑ์ ถึงเลือดถึงเนื้อทุกแมตช์ ด้วยอาวุธที่เตรียมมาทั้งโซ่เหล็ก, ส้อม, กรรไกร และดาบไม้ไผ่อันเป็นเอกลักษณ์ สร้างความหวาดเสียวให้แฟนมวยปล้ำที่ดูสดและทางบ้าน ดัมพ์ มัตสึโมโตะ โด่งดังในเวลาอันรวดเร็วในฐานะนักมวยปล้ำหญิงจอมโฉด ขึ้นเวทีเมื่อไหร่คนดูก็โห่ไล่ เด็กคนไหนที่เห็น ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ย่ำยีคู่แข่งอย่างโหดเหี้ยม ก็เก็บไปนอนฝันร้ายทุกค่ำคืน

แต่ถึงอย่างนั้น ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ก็โด่งดังจนได้กลายเป็นหนึ่งในตัวชูโรงของค่าย ร่วมกับ ครัช แกลส์ ที่อยู่ฝั่งธรรมะ เมื่อไหร่ก็ตามที่ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ขึ้นปล้ำ ก็จะมีแฟนๆ ซื้อตั๋วมาชมกันแบบล้นหลาม ไม่ใช่เพราะมาเชียร์ แต่อยากเห็น ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ถูกฝ่ายธรรมะกระทืบต่างหาก! (แต่ส่วนใหญ่จะผิดหวังเพราะเป็น ดัมพ์ ที่ได้ละเลงเลือดฝั่งธรรมะเสียเยอะ)

ด้วยความโหดแบบถึงลูกถึงคนชนิดที่ไม่มีนักมวยปล้ำสายอธรรมคนไหนเคยทำในยุค 80 ทำให้แฟนมวยปล้ำญี่ปุ่นเกลียด ดัมพ์ มัตสึโมโตะ กันเข้าไส้ ถูกก่นด่าสาปแช่ง บูลลี่รูปร่าง ไล่ให้ไปตาย ส่งจดหมายมาด่ากันอย่างถล่มทลายที่สมาคม บางคนอินจัดถึงกับตามไปคุกคามครอบครัวของ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ถึงบ้าน ทั้งตะโกนท้าทายให้ดัมพ์ออกมาข้างนอก (เพราะคิดว่าอยู่ในบ้าน) รุมปาก้อนหินใส่บ้าน และพ่นสเปรย์เขียนข้อความสาปแช่ง จนครอบครัวต้องเก็บข้าวของย้ายบ้านหนี

การเปลี่ยนคาแร็กเตอร์นี้ทำให้ทุกคนในครอบครัวมัตสึโมโตะ รู้สึกผิดหวัง โดยเฉพาะคุณแม่ที่ไม่เชื่อว่าลูกของเธอจะแปรเปลี่ยนเป็นคนที่เลวร้ายได้ขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ก็ส่งจดหมายไปบอกคุณแม่เพื่อยืนยันตัวเองว่า “คาโอรุ คนนั้นมันตายไปแล้ว”

แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนั้นเมื่อตัวร้ายอย่าง ดัมพ์ มัตสึโมโตะ กับ ชิงุสะ นากาโยะ นักมวยปล้ำสายธรรมะผู้เป็นที่รักจากทีม ครัช แกลส์ ตัดสินใจสู้กันในแบบ เดธ แมตช์ โดยมีเส้นผมเป็นเดิมพัน!

 

Hair vs. Hair ใครแพ้ถูกโกนหัว!

ปี 1985 ช่วงเวลาที่ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ตบตีกับ ชิงุสะ นากาโยะ แห่ง ครัช แกลส์ พี่น้องมัตสึนากะแห่ง AJW ตัดสินใจนำเรื่องนี้มาพัฒนาต่อเพื่อเสริมความเข้มข้นน่าติดตาม จนกลายเป็น เดธ แมตช์ (แมตช์ที่ผู้แข่งขันต้องเดิมพันด้วยบางสิ่งบางอย่าง) และเดิมพันระหว่าง ดัมพ์ มัตสึโมโตะ กับ ชิงุสะ นากาโยะ ในแมตช์นี้ก็คือ “เส้นผม” ซึ่งหมายความว่าแมตช์นี้ใครแพ้ จะต้องถูกจับกล้อนผมจนหัวล้าน!

แมตช์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม 1985 ที่โอซาก้า-โจ ฮอลล์ แม้ว่าจะไม่ใช่แมตช์ชิงเข็มขัดแชมป์ แต่ก็ได้รับความสนใจจากแฟนมวยปล้ำที่ซื้อตั๋วมาชมกันแบบเต็มความจุสนาม แน่นอนว่ากองเชียร์ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ฝั่งของ ชิงุสะ นากาโยะ กับทีม ครัช แกลส์ ทุกคนที่มาดูต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือได้เห็น ชิงุสะ นากาโยะ คว้าชัยชนะ และ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ผู้น่ารังเกียจ ถูกจับโกนหัวให้อับอายขายขี้หน้าประชาชี

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นแบบนั้นเมื่อของจริงคือ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ เป็นฝ่ายไล่ยำ ชิงุสะ นากาโยะ แทบจะทั้งแมตช์ ทั้งเอาโซ่รัดคอ เอาส้อมกับกรรไกรจิ้มหัวจนเลือดเต็มหน้า เอาไมโครโฟนเขกกระโหลกซ้ำ แถมเอาโต๊ะกับเก้าอี้ไล่ฟาดเละเทะ จนแฟนคลับ ครัช แกลส์ จากที่ตะโกนเชียร์ “ชิกุสะ ชิกุสะ” กลายเป็นร้องโหยหวนทั้งสนาม แม้มีบางช่วงที่ นากาโยะ ได้เอาคืน ใช้ปี๊ปฟาดหัว ดัมพ์ มัตสึโมโตะ หรือจับอีกฝ่ายใส่ท่าซับมิชชั่น ชาร์ป ชูตเตอร์ แต่ก็หยุดยั้งความบ้าคลั่งของ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ไม่ได้เลย

แฟนมวยปล้ำที่ดูสดในสนามและถ่ายทอดสดทางทีวี ได้เห็นความป่าเถื่อนของ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ แบบมาราธอนยาว 11 นาที หลังอาหารมื้อค่ำ ซึ่งในที่สุดแมตช์จบลงที่ ชิงุสะ นากาโยะ พ่ายแพ้แบบหมดสภาพ ก่อนนำมาสู่เหตุการณ์สะเทือนอารมณ์เมื่อ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ และแก๊งพันธมิตรแห่งความชั่วร้าย ไปลากตัว ชิกุสะ นากาโยะ ที่เลือดอาบหน้า ขึ้นมานั่งเก้าอี้บนเวทีแล้วใช้ปัตตาเลี่ยนกล้อนผมของ นากาโยะ ต่อหน้า ไลออนเนส อาสึกะ เพื่อนร่วมทีม ครัช แกลส์ และกองเชียร์ทั้งสนาม แฟนมวยปล้ำหลายคนร้องห่มร้องไห้ กรีดร้องทนไม่ได้ที่เห็นไอดอลของพวกเขาถูกย่ำยี บางคนถึงกับเป็นลมคาสนาม

สำหรับผู้หญิง “เส้นผม” เปรียบเสมือนชีวิตและความมั่นใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ชิงุสะ นากาโยะ บนเวทีที่ โอซาก้า-โจ ฮอลล์ ทำให้กองเชียร์ ครัช แกลส์ และคนดูทั่วประเทศหัวใจสลายที่ได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งถูกนักมวยปล้ำจอมป่าเถื่อนจับกล้อนผม กลั้วเสียงหัวเราะอย่างสะใจ แม้ว่าจะไม่ได้โกนจนหมดหัว ยังปล่อยให้เหลือเส้นผมอยู่บ้าง แต่การถูกเพื่อนๆ หิ้วปีกออกจากสนามแบบสิ้นสภาพ กลายเป็นหนึ่งในฉากที่น่าเศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์วงการมวยปล้ำหญิง และฝังอยู่ในใจคนดูมวยปล้ำยุคนั้นแบบสลัดไม่ออก

หลังจบแมตช์นี้ ชื่อเสียงและความชั่วช้าของ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ถูกอัพเลเวลไปถึงขั้นสุดยอด จากนักมวยปล้ำสายอธรรมจอมโหด กลายเป็น “นักมวยปล้ำที่คนญี่ปุ่นอยากฆ่าให้ตายมากที่สุด” มีรายงานว่าหลังจากนั้น มีแฟนมวยปล้ำกว่า 500 คน มารุมล้อมที่บริเวณลานจอดรถเพื่อดักรอและทำร้าย ดัมพ์ มัตสึโมโตะ หนักถึงขั้นไปรุมเขย่ารถตู้ส่วนตัวของทีมพันธมิตรแห่งความชั่วร้าย จนแทบออกจากสนามไม่ได้

ดัมพ์ มัตสึโมโตะ เล่าว่าเธอถูกแฟนมวยปล้ำคุกคามในชีวิตจริง ทั้งตะโกนด่าทอตามท้องถนน ไล่ให้ไปมอบตัวกับตำรวจ ถูกสะกดรอยตาม ขณะที่รถยนต์ Nissan Fairlady Z สีแดงราคา 3.5 ล้านเยน ที่เธอซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ก็ถูกแฟนมวยปล้ำเอาสีสเปรย์มาพ่นทั่วคันไล่ให้ไปตายซะ รถโดนเจาะลมยางจนต้องเปลี่ยนมาขี่จักรยานแทน ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า แท็กซี่ก็ไม่รับ หรือไม่ก็ถูกปฏิบัติอย่างรังเกียจแบบซึ่งหน้า

“แม้แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยังมาทำร้ายฉันเลย ฉันยังเคยคิดว่าเกือบจะถูกฆ่าตายซะแล้ว” ดัมพ์ มัตสึโมโตะ เล่าถึงรีแอ็คชั่นจากชาวญี่ปุ่นในอดีต ซึ่งก็เป็นเพราะอีเวนต์ในโอซาก้า ที่โหดร้ายฝังใจชาวญี่ปุ่นทุกคน และความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ ครัช แกลส์ ทั้งสองอย่าง ชิงุสะ นากาโยะ กับ ไลออนเนส อาสึกะ ก็ย่ำแย่ตามไปด้วย เมื่อต่างฝ่ายต่างเริ่มเกลียดชังกันในชีวิตจริงหลังจบแมตช์นั้น

กระนั้น ไม่มีอะไรหยุดยั้ง ดัมพ์ มัตสึโมโตะ คนนี้ได้ เธอยังขึ้นไปอาละวาดบนเวทีมวยปล้ำของ AJW เดินหน้าแผ่รังสีอำมหิตและการปล้ำอันโหดร้ายตามอีเวนต์ต่างๆ ของสมาคมต่อไป ไม่ว่าแฟนมวยปล้ำจะอยากดูหรือไม่ก็ตาม เพราะนี่คือเส้นทางที่เธอเลือกแล้ว และเธอบอกว่าหากสามารถทำให้แฟนมวยปล้ำเกลียดได้ ถือว่าประสบความสำเร็จในฐานะนักมวยปล้ำสายอธรรม

ผ่านไป 1 ปี เมื่อ ชิงุสะ นากาโยะ กลับมาผมยาวเป็นปกติแล้ว AJW ก็ได้จัด เดธ แมตช์ Hair vs. Hair ระหว่าง ชิงุสะ นากาโยะ กับ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ภาคสอง ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1986 ที่สังเวียน โอซาก้า-โจ ฮอลล์ ตามเดิม ซึ่งรอบนี้กลายเป็น นากาโยะ ได้จับ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ที่มาในทรงผมโมฮอว์ก โกนหัวล้างแค้นแบบสาสมใจ โดยเป็นฝั่ง มัตสึโมโตะ ที่กอดอกยอมให้โดนกล้อนผมแต่โดยดี แถมยังไปโกนเพิ่มที่หลังฉากให้สื่อมวลชนเก็บภาพไปลงหนังสือพิมพ์ด้วยรอยยิ้มอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม แมตช์ที่กลายเป็นตำนานอย่างแท้จริงก็คือ เดธ แมตช์ ครั้งแรกที่โอซาก้า ระหว่าง ดัมพ์ มัตสึโมโตะ กับ ชิงุสะ นากาโยะ ในปี 1985 เพราะมันทั้งโหดร้าย ป่าเถื่อน ทรงพลัง และเปี่ยมอารมณ์ จนถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์มวยปล้ำหญิงของญี่ปุ่นไปตลอดกาล

ความจริงหลังม่าน เดธ แมตช์

48 ปีผ่านไป ในวันที่ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ และ ชิงุสะ นากาโยะ รีไทร์จากการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ และสมาคม AJW ล่มสลายไปแล้วจากการบริหารงานผิดพลาดในปี 2005 ดัมพ์ มัตสึโมโตะ เปิดใจเรื่องเดธแมตช์ในตำนานระหว่างตัวเองกับ ชิงุสะ นากาโยะ ที่ช่อง Youtube ของ บูล นากาโนะ รุ่นน้องอดีตเพื่อนร่วมแก๊งพันธมิตรแห่งความชั่วร้าย โดยบอกว่าเดธแมตช์เดิมพันเส้นผมนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้บริหารค่าย AJW และตัวของ นากาโยะ เอง

“ฉันเคยถาม (ไลออนเนส) อาสึกะ เธอบอกว่าแมตช์นี้เกิดขึ้นจากทางบริษัทกับตัวของ นากาโยะ เธอไม่เห็นด้วย ครั้งหนึ่งฉันมองไปที่ อาสึกะ ที่อยู่มุมเวที เธอแสดงสีหน้าโกรธแค้นออกมา มันไม่ใช่ว่าเธอสงสาร นากาโยะ แต่เป็นทำนองว่าฉันอยากทำเอง”

“ตอนที่ฉันตัดผม นากาโยะ ฉันไม่ได้โกนหัวเธอจนเกลี้ยง พอมาคิดถึงตอนนี้แล้วก็รู้สึกโกรธตัวเองเข้าไปใหญ่เลย” ดัมพ์ มัตสึโมโตะ เล่าแบบไม่ทิ้งบุคลิกความเป็นตัวร้ายในตำนาน

 

จากเรื่องจริงบนเวที สู่ซีรีส์ของ NETFLIX

แม้ทุกวันนี้ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ กับ ชิงุสะ นากาโยะ จะรีไทร์จากมวยปล้ำอาชีพไปแล้ว แต่เรื่องราวของทั้งคู่ยังคงถูกเล่าขานอยู่เสมอในฐานะผู้สร้างตำนานของวงการมวยปล้ำหญิงในญี่ปุ่น โดยเฉพาะดีกรีความโหดเหี้ยมบนเวทีของ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ที่ถูกพูดถึงแบบข้ามยุคข้ามสมัยไม่เคยเลือนหาย ก่อนนำมาสู่การสร้างซีรีส์ กีฬา-ดราม่า จากชีวิตจริงของเธอในชื่อเรื่อง The Queen of Villains ที่อำนวยการสร้างโดย Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลก

The Queen of Villains ที่เปิดกองถ่ายทำเมื่อปี 2022 หยิบเอาเรื่องราวชีวิตของ คาโอรุ หรือ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ มาถ่ายทอดผ่านซีรีส์ทั้ง 5 ตอน ความยาวตอนละ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะโฟกัสที่ชีวิตของนางมารร้ายแห่งวงการมวยปล้ำยุค 80 เป็นหลัก แต่กระนั้นก็มีเรื่องราวของแท็กทีม “ครัช แกลส์” ชิงุสะ นากาโยะ กับ ไลออนเนส อาสึกะ รวมถึงนักมวยปล้ำชื่อดังในยุคนั้นอย่างทีม Beauty Pair, จากัวร์ โยโคตะ, เดวิล มาซามิ, บูล นากาโนะ, เครน ยู ฯลฯ โลดแล่นอยู่ในซีรีส์ด้วย

และแน่นอนว่าที่ขาดไม่ได้ เดธ แมตช์ Hair vs. Hair ในตำนานครั้งแรก ระหว่าง ดัมพ์ มัตสึโมโตะ กับ ชิงุสะ นากาโยะ ที่โอซาก้า ปี 1985 ก็ได้ถูกนำมาถ่ายทอดใหม่ในแบบ Cinematic ชนิดที่ว่าของจริงโหดยังไง ซีรีส์ก็ถ่ายทอดออกมาได้โหดร้ายและสมจริงไม่แพ้กัน แถมเติมความอีโมชั่นเข้าไปอีกด้วยการแสดงแบบสวมวิญญาณของ ยูริยัน รีทรีเวอร์ (ดัมพ์ มัตสึโมโตะ) และ เอริกะ คาราตะ (ชิงุสะ นากาโยะ) จนได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนๆ ที่ได้ดูทาง Netflix เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2024 ว่า “สะเทือนอารมณ์ยิ่งนัก”

เป็นเรื่องปกติของการนำเรื่องจริงมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ ที่ต้องมีการเขียนบทใหม่และแต่งเรื่องเพิ่มเข้าไปเพื่อเสริมอรรถรสแก่คนดู แต่ ดัมพ์ มัตสึโมโตะ ยืนยันด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เห็นในซีรีส์ The Queen of Villains เกือบทั้งหมด มาจากประสบการณ์จริงในอดีต ที่เธอเล่าให้ทีมเขียนบทนำไปพัฒนาต่อ แถมยังได้ ชิงุสะ นากาโยะ ตัวจริงเสียงจริง มาเป็นที่ปรึกษา และผู้ฝึกสอนมวยปล้ำให้ทีมนักแสดงนำอย่าง ยูริยัน รีทรีเวอร์ (ดัมพ์), เอริกะ คาราตะ (นากาโยะ) และ อายาเมะ โกริกิ ผู้รับบท ไลออนเนส อาสึกะ ด้วย

และเมื่อเจ้าของเรื่องอย่าง ดัมพ์ มัตสึโมโตะ กับ ชิงุสะ นากาโยะ ได้ดูซีรีส์ที่ถ่ายทำเสร็จเรียบร้อย ทั้งคู่ประทับใจมากที่ตัวซีรีส์ที่เล่าเรื่องของพวกเธออย่างซื่อตรง และเชื่อมั่นว่าคนดูและแฟนมวยปล้ำจะเสียน้ำตาให้กับซีรีส์นี้

ดัมพ์ มัตสึโมโตะ คอมเมนต์ว่า “การแสดงของ ยูริยัน ทรงพลังและเหลือเชื่อมาก เชื่อเลยว่าบางช่วงของซีรีส์จะทำให้คุณร้องไห้ และฉันหวังว่าคนที่ดู The Queen of Villains จะได้รับแรงบันดาลใจ เชื่อว่าความฝันของพวกเขาเป็นจริงได้ หากไม่ยอมแพ้หรือล้มเลิกความตั้งใจ”

ส่วน ชิงุสะ นากาโยะ ช่วยการันตีคุณภาพเป็นการทิ้งท้ายว่า “เรื่องราวของพวกเราในยุค 80 ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างสมจริงจากซีรีส์นี้ มันทำให้ฉันซาบซึ้งมากกับความเข้มแข็งและความอดทนของผู้หญิงในยุคนั้น ยุคที่พวกเราเคยผ่านมันมาก่อน”

 

แหล่งที่มา

https://www.yahoo.com/entertainment/dump-matsumoto-crush-gals-real-020015817.html
https://www.f4wonline.com/news/other-wrestling/chigusa-nagayo-wrestles-final-match-of-career-for-west-coast-pro/
https://www.netflix.com/tudum/articles/the-queen-of-villains-release-date-trailer-news
https://twitter.com/NetflixJP/status/1821519737786126768
https://www.youtube.com/watch?v=OOc2S04YiC0&t=1018s

Author

วัลลภ สวัสดี

ฟังไปเรื่อย ดูไปเรื่อย เขียนไปเรื่อย

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น