Feature

สุภาพร นาคสุวรรณ์ : ท็อป 20 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ อดีตนักรักบี้ ที่หวังเห็นการสนับสนุนกีฬานี้ทุกภาคส่วน | Main Stand

ในประเทศไทย นอกจากวงการกีฬาที่มีผู้ติดตามอยู่จำนวนไม่น้อยแล้ว ทางด้านของวงการสาวงามแต่ละเวทีก็มีคนติดตามอยู่พอสมควรเช่นกัน แน่นอนว่าสาวงามแต่ละคนที่มาประกวดย่อมมีดีกรีที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังมาจากหลากหลายพื้นที่และหลากหลายอาชีพ

 

หากใครที่พอจะติดตามเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์อยู่บ้าง คงจะพอคุ้นชื่อของ “สุ” มิสแกรนด์นครศรีธรรมราช ไม่มากก็น้อย เพราะเธอพกความมั่นใจและความเอนเตอร์เทนมาเต็มกระเป๋า ทำให้แฟน ๆ หลายคนต่างชื่นชอบในตัวสาวงามจากแดนใต้คนนี้

ไม่บ่อยนักที่สาวงามที่ลงประกวดในเวทีต่าง ๆ จะเคยเป็นนักกีฬาหรืออยู่ในวงการกีฬามาก่อน แต่มันเกิดขึ้นกับ สุ - สุภาพร นาคสุวรรณ์ ดีกรีท็อป 20 ของเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ เพราะหากไปย้อนดูถึงประวัติส่วนตัว สาวงามคนนี้มีอดีตเป็นถึงนักกีฬารักบี้เยาวชนทีมชาติไทย และยังเป็นคุณครูสอนวิชาพละศึกษาอีกด้วย

เรื่องราวชีวิตของสุมีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร มาติดตามไปพร้อม ๆ กับ Main Stand

 

เด็กสาวจากแดนด้ามขวานไทย

สุ คือเด็กสาวจากอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เติบโตในครอบครัวที่มีอาชีพทำสวน ซึ่งในสมัยนั้นครอบครัวของเธอไม่ได้มีฐานะดีอะไรมากนัก ทำให้เธอต้องอาศัยอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ กับแม่เพียงสองคน

ในตอนนั้นเธอมีความคิดเพียงแค่ว่า ต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้แม่อยู่กินแบบสบายมากกว่านี้ ซึ่งสุได้เผยเรื่องราวชีวิตของเธอในตอนนั้นกับ Main Stand เอาไว้ว่า 

“ต้องเล่าก่อนว่า พ่อสุเป็นคนนครฯ (นครศรีธรรมราช) แต่สุโตมากับแม่ที่สุราษฎร์ฯ พ่อกับแม่เลิกกันตั้งแต่สุอยู่ประมาณ ม.4 แม่ก็เลยเลี้ยงดูสุมาโดยตลอด และเราสองคนก็ผ่านความยากลำบากมาด้วยกันเยอะมาก”

“ในสมัยนั้น บ้านสุเป็นกระท่อมเล็ก ๆ เชื่อป่ะ บ้านสุไม่มีห้องน้ำ ต้องไปอาศัยห้องน้ำของเพื่อนบ้านเวลาจะอาบน้ำอะไรแบบนี้ ซึ่งเวลาสุจะอาบน้ำก่อนที่จะไปโรงเรียนต้องหอบผ้าถุงแล้วเดินไปอาบที่ห้องน้ำของเพื่อนบ้าน เป็นแบบนั้นมาตั้งแต่เด็กจนถึงสุอยู่ ม.6” 

“เวลาสุจะไปโรงเรียน สุต้องหอบรองเท้านักเรียนมาใส่ที่หน้าปากทางของบ้านคนอื่น เพราะทางเข้าบ้านสุมันลำบากมากจริง ๆ” 

ด้วยความที่สุเป็นเด็กต่างจังหวัด กิจวัตรประจำวันของเธอก็จะมีเพียงแค่ตื่นนอนและไปเรียนหนังสือ ตกเย็นมาก็กลับบ้านเหมือนนักเรียนปกติทั่วไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเธอกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล นั่นคือกีฬารักบี้ สุเริ่มเล่นกีฬารักบี้มาตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น หากเจาะลึกลงไปแล้วมีโอกาสน้อยมากที่เด็กผู้หญิงจะเลือกเล่นกีฬาที่มีการปะทะรุนแรงแบบกีฬารักบี้

สุภาพรให้เหตุผลว่า ตอนนั้นที่เธอตัดสินใจเลือกเล่นกีฬารักบี้เพียงเพราะเด็กผู้หญิงจะเลือกเล่นกีฬาชนิดนี้น้อยมาก และมันจะทำให้เธอมีโอกาสมากกว่าคนอื่น สุจึงเลือกกีฬารักบี้เป็นอันดับแรก ในความคิดของเธอตอนนั้นเธอคิดเพียงแค่ว่า ทำอะไรก็ได้ให้มีเงินมาจุนเจือครอบครัวและตนเอง ให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นกว่านี้ให้ได้

ชีวิตของเด็กคนนี้ดูจะมีรสชาติขึ้นมาบ้าง จนถึงตอนเรียนอยู่ชั้น ม.6 การเล่นรักบี้ของเธอก็ไม่ใช่เพื่อความสนุกอีกต่อไป ตอนนั้นสุมีอายุ 18 ปี เธอได้มีโอกาสติดทัพรักบี้หญิงทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 20 ปี ไปแข่งที่ฮ่องกง และชีวิตของเธอกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

“ตอนนั้นน่าจะปี 57-58 สุได้มีโอกาสคัดตัวเพื่อไปแข่งที่ฮ่องกง มีนักกีฬารักบี้จากต่างโรงเรียนมาประมาณ 40 คน คัดจนเหลือ 20 แล้วก็ต้องมาเก็บตัวรวมกับทุกคนเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนไปแข่งที่ฮ่องกงก็คัดจนเหลือ 14 คน” 

“ปีแรกสุต้องไปเก็บตัวที่โคราช เด็กผู้หญิงเกือบ 20 คนต้องมาอยู่รวมกัน เอาจริง ๆ มันวุ่นวายมาก (หัวเราะ) อาหารการกินตอนนั้นก็คืออาหารบ้าน ๆ เลย ไม่ได้มีการกำหนดให้กินอาหารคลีน แต่จะมีการเพิ่มในส่วนของเวย์โปรตีนเข้ามาเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ” 

ในเวลานั้น สุถือว่าเป็นนักกีฬาที่อายุค่อนข้างน้อยและร่างกายยังไม่ได้แข็งแกร่งเท่ากับรุ่นพี่ ทำให้ไม่ได้รับโอกาสในการลงเล่นมากนัก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สุเกิดความย่อท้อ เธอพยายามฝึกซ้อมอย่างหนักเสมอเพื่อหวังที่จะได้รับโอกาสในการแข่งขันอื่น ๆ อีกครั้ง

และแล้วความพยายามของเธอก็ไม่สูญเปล่า ในช่วงของการเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 สุได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตกรุงเทพฯ อีกทั้งเธอยังได้ทุนเรียนฟรีจากการเป็นนักกีฬารักบี้ทีมชาติไทยอีกด้วย 

ในเวลานั้นสุมีโอกาสติดทัพรักบี้หญิงทีมชาติไทย ชุดอายุไม่เกิน 20 ปีอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน เพราะเธอเก็บเกี่ยวประสบการณ์มามากขึ้นและร่างกายของเธอก็แข็งแกร่งมากขึ้นเช่นกัน จนในรายการนั้น (ASIA RUGBY U20 SEVEN SERIES HONG KONG) ทัพรักบี้หญิงทีมชาติไทยชุด U-20 ได้รับตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 มาครอง

“ในรอบนี้สุคิดว่ามันแตกต่างจากตอนที่สุติดทีมชาติช่วง ม.6 มากเลย สุได้ประสบการณ์จากตอนนั้นมาเยอะ หลังจากนั้นสุก็ฝึกซ้อมมากขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแกร่งขึ้นมา สุคิดว่าศักยภาพของสุมีมากขึ้นจากตอนนั้นนะ อีกทั้งสุยังไปทำการเพิ่มน้ำหนักเพื่อให้ร่างกายมีความหนาขึ้นมา เพื่อใช้ในการปะทะอีกด้วย”

“ตอนนั้นซ้อมหนักมาก เรียกได้ว่าซ้อม 4 เวลาเลย คือตีห้านี่ต้องลุกจากที่นอนแล้วเพื่อไปซ้อมในช่วงแรก มันเหนื่อยมาก เอาจริง ๆ ข้าวที่กินเข้าไปยังไม่ทันได้ย่อยเลย ต้องซ้อมอีกแล้ว” 

ชีวิตในตอนนั้นของสุภาพรเรียกได้ว่ากราฟชีวิตกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกีฬาทำให้ชีวิตของเธอเริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากเดิม มีเบี้ยเลี้ยงและสามารถนำเงินส่วนนั้นมาใช้และยังมีเงินเก็บไว้ให้แม่ของเธออีกด้วย ทว่าชีวิตของหญิงสาวจากสุราษฎร์ฯ คนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่กีฬาเป็นที่ยึดเหนี่ยวอีกต่อไป

 

จากนักกีฬา สู่การเดินทางสายนางงาม

เท้าความก่อนว่าความฝันของผู้หญิงบางคนต้องอยากที่จะได้ไปประกวดสาวงามตามเวทีประกวดต่าง ๆ และกับผู้หญิงที่ชื่อสุคนนี้ก็เช่นกัน สุใช้เวลาในการเรียนครูพละศึกษาที่มหาลัยการกีฬา วิทยาเขตกรุงเทพฯ อยู่ 5 ปี ซึ่งเธอก็มีความคิดตลอดว่าเธอไม่ได้อยากเป็นครู

ในช่วงนั้น เธอมีเพียงแค่กีฬารักบี้ที่พอจะหาเลี้ยงตนเองและแม่ได้บ้าง เธอจึงเริ่มมองหาเส้นทางอื่น และมันก็เป็นเส้นทางที่เธอฝันมาตั้งแต่เด็ก นั่นคือการประกวดนางงาม 

“ด้วยความที่เส้นทางในการเป็นนักกีฬารักบี้มันเริ่มต่อยอดไม่ได้แล้ว เพราะจะให้สุเป็นนักกีฬารักบี้ทีมชาติไปตลอดมันก็คงไม่ได้มั่นคงขนาดนั้น อีกอย่างสุก็ไม่ได้มีความคิดว่าอยากจะเป็นครู คือเรารู้ว่าเราไม่ได้ชอบมันจริง ๆ สุก็เลยเริ่มหาหนทางอื่นที่จะทำให้ชีวิตตัวเองมีรายได้มากขึ้นเพื่อเลี้ยงครอบครัว”

“สุชอบแต่งหน้า ตอนที่สุไปแข่งรักบี้สุเป็นคนเดียวที่แต่งหน้าเวลาลงแข่งตลอด คือด้วยความที่สุเป็นคนไม่ได้เหงื่อออกที่หน้า ทำให้เครื่องสำอางมันไม่เลอะ ตั้งแต่ตอนนั้นสุรู้ตัวเองเลยว่าสุอยากเป็นนางงาม ชอบความสวยความงาม ชอบแต่งหน้า”

เส้นทางใหม่ของสุภาพรกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ตอนนั้นเธอเริ่มมองหาลู่ทางที่จะประกวดในเวทีต่าง ๆ จากคนที่ต้องแข่งขันรักบี้เป็นทีมบนสนามหญ้า สุต้องพลิกผันชีวิตตัวเอง ทั้งการฝึกเดิน ฝึกตอบคำถามในการเป็นนางงาม เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกวดให้พร้อมที่สุด 

แน่นอนว่าบริบทในการเป็นนางงามกับการเป็นนักกีฬาย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องของการเตรียมตัวและเรื่องบรรยากาศในการแข่งขัน 

“สุคิดว่ามันต่างกันมาก ๆ คือตอนเล่นรักบี้มันยังเล่นเป็นทีม มีเพื่อนมากมาย ไม่เหงา แต่พอมาประกวดนางงาม เราต้องสู้คนเดียว จริง ๆ อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ พอสุรู้ตัวเองว่าอยากเป็นนางงาม เห็นมิสแกรนด์กรุงเทพฯ เปิดรับสมัครเมื่อปีที่แล้ว สุก็สมัครเลย ไม่ได้คิดอะไร ตอนนั้นไม่มีทีมด้วย”

“ตอนนั้นใช้เงินตัวเองทั้งหมดในการไปประกวดของมิสแกรนด์กรุงเทพฯ เพราะสุไม่ได้มีทีมซัพพอร์ต สุมีงบไป 30,000 บาท ตอนนั้นใช้หมดเลย เดินทางจากรังสิตเพื่อไปประกวดใน กทม. หลงด้วย โดนแท็กซี่โกงด้วย ตอนนั้นเจออุปสรรคหลายอย่างมาก”

สำหรับการเดบิวต์ในเวทีแรกอย่างมิสแกรนด์กรุงเทพมหานคร สุสามารถเข้าไปได้ถึง ท็อป 10 เป็นการเริ่มต้นที่ไม่ธรรมดาสำหรับหญิงสาวที่ไม่เคยผ่านการประกวดนางงามในเวทีไหนมาก่อนเลย 

จากนั้นสุก็ได้ไปต่อที่มิสแกรนด์นครศรีธรรมราช และรอบนี้เธอไม่ต้องผิดหวังอีกต่อไปแล้ว เพราะสุสามารถคว้ามงกุฎของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นตัวแทนได้ไปแข่งขันและเก็บตัวในมิสแกรนด์ไทยแลนด์ต่อไป

แม้การเป็นนางงามกับการเป็นนักกีฬาต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่สุต้องพบเจอเหมือนกันคือการเก็บตัวและการที่ผู้หญิงเข้ามาอยู่รวมกันหลายคน แต่ละคนก็มีนิสัยที่ต่างกัน สุได้เผยถึงวิธีการนำประสบการณ์ตอนไปเก็บตัวเป็นนักกีฬารักบี้ทีมชาติมาใช้กับการประกวดนางงามไว้ว่า

“ตอนที่ไปเก็บตัวร่วมกับเพื่อน ๆ อีก 76 จังหวัด แน่นอนว่าเวลาผู้หญิงหลาย ๆ คนมาอยู่รวมกันมันต้องมีการอิจฉา มีการนินทาเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่สุไม่เคยทะเลาะกับใครเลย เพราะสุเอาประสบการณ์จากการไปเก็บตัวนักกีฬาสมัยที่เป็นเยาวชนทีมชาติมาปรับใช้ตรงนี้ เรารู้วิธีการใช้ชีวิตเป็นทีม สุคิดว่านี่มันคือข้อดีของการเป็นนักกีฬานะ”

“ตอนนั้นเอาจริง ๆ สุเบื่อมาก เจอผู้หญิงนินทาคนนู้นคนนี้ จนแบบคิดว่าบางทีคนที่มาเก็บตัวนางงามที่ไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้อาจจะเบื่อได้” 

สุไม่ใช่คนที่มีแสงมากนัก ในการเก็บตัวมิสแกรนด์ไทยแลนด์ เพราะสุจะเป็นคนเงียบ ๆ และจะไม่ได้เข้าหาสื่อมากนัก แต่ตัวตนของสุแต่เดิมเลยคือสุเป็นคนเฮฮาและอยู่ด้วยแล้วจะไม่เครียด 

ซึ่งการมีด้อมแฟนคลับถือว่าสำคัญมากในทางสายนี้ เพราะในช่วงระยะเวลาการเก็บตัวจะต้องมีการทำแคมเปญต่าง ๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีแฟนคลับนั้นสำคัญมาก

เพราะพลังของด้อมในการโดเนตในการซื้อสินค้าต่าง ๆ อีกทั้งยังรวมถึงในการไลก์และแชร์โพสต์ต่างมีคะแนนด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งหากนางงามคนใดสามารถทำให้แฟน ๆ นางงามมาอยู่ในด้อมตนเองได้เยอะย่อมมีความได้เปรียบ

นางงามจากหลากหลายจังหวัดจึงชอบใช้วิธีไลฟ์สดพูดคุยกับแฟนคลับในอินสตาแกรมหรือติ๊กต๊อกของตัวเอง ซึ่งก็จะมีแฟน ๆ นางงามเข้ามารับชมเพื่อจะได้รับรู้ถึงไลฟ์สไตล์และนิสัยของนางงามแต่ละคน ซึ่งทางสุเองในตอนนั้นเธอไม่ค่อยกล้าที่จะไลฟ์สด เนื่องจากความไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถมีแฟนคลับและด้อมได้จริง ๆ หรือ 

“ตอนเก็บตัวช่วงแรก ๆ สุไม่มีแสงอะไรเลยนะ สุไม่กล้าเข้าไลฟ์สดใครเลย เวลานางงามคนอื่นไลฟ์สดแล้วก็มีแฟนคลับมากมาย แต่มีอย่างหนึ่งที่สุจะบอกกับทีมเสมอว่า เชื่อใจหนูนะ เชื่อว่าหนูทำได้ ทำให้ตอนนั้นสุไม่กดดันอะไรเลย เป็นตัวเองมาก ๆ จนก็เริ่มมีแสงมากขึ้นด้วยตัวของสุเอง”

สุมีกระแสมากขึ้นจากรอบชุดว่ายน้ำ ในวันประกวดรอบพรีลิมมินารี่ในการแนะนำตัว สาวงามจากแดนใต้คนนี้ก็ปล่อยของออกมาจนแฟน ๆ นางงามต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แรงมากแม่! ด้วยลีลาการเดินที่พลิ้วไหว เรียกเสียงกรี๊ดได้ทั้งฮอลล์ จนทำให้ในวันนั้นโพลทุกโพลเริ่มที่จะมีชื่อของสุติดอันดับขึ้นมาบ้างแล้ว

ท้ายที่สุดแล้ว สุภาพรสามารถคว้าตำแหน่งท็อป 20 มิสแกรนด์ไทยแลนด์มาได้สำเร็จจากสาวงามกว่า 76 จังหวัด จากเด็กที่เป็นนักกีฬารักบี้ทีมชาติไทยสู่การเข้ามายืนตำแหน่งแถวหน้าในวงการสาวงาม สุได้เผยเรื่องราวชีวิตเอาไว้ว่า

“ชีวิตของสุเปลี่ยนไปเยอะมาก คือก่อนหน้านี้สุบอกกับตัวเองตอนได้มงที่นครศรีฯ ไว้ว่า ต้องทำยังไงก็ได้ให้ชีวิตตัวเองเปลี่ยนไปจากเดิม แล้วมันก็เปลี่ยนจริง ๆ ด้วยตัวของสุเอง”

“เอาจริง ๆ หลังจากที่ได้ท็อป 20 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ ชีวิตสุเปลี่ยนไปเยอะมาก ได้มีคอนโดเป็นของตัวเอง บางคนก็บอกนะว่าสุจะลืมตัวหรือเปล่า จากเด็กต่างจังหวัดมาประสบความสำเร็จแบบตอนนี้ อยากให้มองว่าชีวิตเรากำลังจะเติบโต ถ้ามันจะทำให้ชีวิตของสุดีขึ้นแล้วสุมีความสุข สุก็ไม่ได้สนใจว่าคนอื่นจะมองยังไง”

 

กีฬารักบี้ กับการสนับสนุนจากภาครัฐ

วงการกีฬารักบี้ในไทยอาจไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก ซึ่งหากจะให้พูดถึงกีฬายอดนิยมในไทย ทุกคนคงนึกถึง ฟุตบอล, วอลเลย์บอล หรือ แบตมินตัน ขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ ซึ่งกีฬารักบี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยมากเท่าไรนัก

ซึ่งกีฬาแต่ละชนิดนั้นการสนับสนุนจากทางภาครัฐก็สำคัญเช่นกัน ทั้งในเรื่องของเบี้ยเลี้ยง รวมไปถึงชุดการแข่งขัน หากได้การสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐแล้วทั้งนักกีฬาและทางสตาฟโค้ชย่อมมีกำลังใจที่จะทำการฝึกซ้อมและทำการแข่งขันให้ได้ผลการแข่งขันที่ดีที่สุด 

ซึ่งสุภาพรได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกีฬารักบี้ในประเทศไทยไว้ว่า 

“ประเทศเราคนไม่ค่อยให้ความสนใจกีฬารักบี้เท่าที่ควร แต่จริง ๆ แล้วมันผ่อนคลายความเครียดมากนะ ในความคิดของสุ สุอยากให้ทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุนกีฬาชนิดนี้ให้มากขึ้น บางคนจะชอบคิดว่ารักบี้มันเป็นกีฬาเถื่อน ปะทะดุเดือด รุนแรง กลัวเจ็บ”

“ความจริงรักบี้มันคือกีฬาทั่วไปนี่แหละ เอาจริง ๆ การเล่นกีฬามันต้องเสี่ยงที่จะบาดเจ็บอยู่แล้ว สุอยากให้ทุกคนเปิดใจให้กับกีฬาชนิดนี้ให้มากขึ้น”

“สุว่าภาครัฐมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกีฬานะ สิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เด็ก ๆ สุว่ามันคือทุนการศึกษา อีกอย่างคือค่ารักษาพยาบาล เพราะแน่นอนว่าการเล่นกีฬามันย่อมเสี่ยงที่จะบาดเจ็บอยู่แล้ว” 

“ท้ายที่สุดแล้วสุอยากเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่เล่นรักบี้ทุกคน เพราะประเทศเราอาจจะไม่ได้ยอมรับกีฬาชนิดนี้ขนาดนั้น สุเคยถามพวกผู้ใหญ่ว่าทำไมถึงไม่ค่อยมาสนับสนุนกีฬาชนิดนี้เลย เขาตอบว่าเพราะมันไม่ค่อยได้รับความนิยมมันจึงไม่คุ้มสำหรับเขาที่จะมาลงทุน”

“เอาจริง ๆ ตอนสมัยสุเป็นนักรักบี้เยาวชน โค้ชยังต้องหาเงินมาสนับสนุนเบี้ยเลี้ยงเอง ต้องหาชุดเพื่อใช้ในการแข่งขัน”

ประโยคพวกนี้สะท้อนถึงการสนับสนุนเรื่องกีฬาจากทางภาครัฐของไทยได้หลายแง่มุม หลายครั้งที่นักกีฬาและโค้ชต้องใช้เงินทุนของตัวเองในการไปแข่งแต่ละทัวร์นาเมนต์ บ้างก็ต้องใส่ชุดซ้อมซ้ำ ๆ ชุดแข่งบางรายการก็มีไม่พอ จึงจะสังเกตเห็นได้ว่าการได้รับความสนับสนุนจากทางภาครัฐมีส่วนสำคัญมากในการพัฒนากีฬาแต่ละชนิดให้ประสบความสำเร็จ

ถึงแม้กีฬารักบี้จะยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมากขนาดนั้น แต่สุก็มองว่าสักวันหนึ่งกีฬารักบี้จะสามารถทำให้ชาวไทยลองเปิดใจให้กีฬาชนิดนี้ได้บ้าง

เรื่องราวชีวิตของสุภาพรเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมาก จากเด็กที่ต้องอยู่กระท่อมเล็ก ๆ กับแม่เพียงสองคนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนชีวิตของเธอพบจุดเปลี่ยนเพียงแค่เธอชอบเล่นกีฬารักบี้ และมีโอกาสติดทีมชาติไทยในชุดเยาวชน 

อีกทั้งในเส้นทางสายนางงามเธอก็ประสบความสำเร็จได้เป็นถึงท็อป 20 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ และยังมีโอกาสได้เดินแบบที่ประเทศอังกฤษด้วยความพยายามของตัวเธอเอง มันคงจริงอย่างที่เธอบอกไว้ว่าทุกคนมีช่วงจังหวะชีวิตของตัวเอง อยู่ที่ว่าวันนั้นมันจะมาถึงเมื่อไร

Author

ยลดา เวียงสิงขรณ์

เด็กอักษรเอกเยอรมัน เชียร์เชลซีและการท่าเรือ ติดตามนางงามทุกเวที

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ