M-Style

Nike Dunk : จากรองเท้าบาสตกกระป๋อง สู่สนีกเกอร์ยอดนิยมขวัญใจชาวไทย | Main Stand

หากพูดถึงรองเท้าสนีกเกอร์สักรุ่นที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทยของเรา คงหนีไม่พ้น Nike Dunk ที่ทรงอิทธิพลอย่างมากอยู่ในขณะนี้

 


แม้ว่าในปัจจุบันรองเท้ารุ่นนี้เติมสต็อกมากี่ครั้งของก็แทบจะไม่เคยพอกับความต้องการในตลาด ราคารีเซลก็พุ่งสูงขึ้นหลายเท่า แต่ในอดีตมันล้มลุกคลุกคลานมาแล้วหลายครั้ง ผ่านช่วงที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนถึงกับไม่มีใครสนใจเลยก็ผ่านมาหมดแล้ว 

นี่คือเรื่องราวของ Nike Dunk รองเท้าที่ผ่านการเดินทางมามากมาย จนเรียกได้ว่าอมตะและอยู่ในใจของผู้คนมาเกือบ 40 ปี

ติดตามเรื่องราวของมันไปพร้อมกับ Main Stand กันได้เลย

 

รองเท้าบาสที่พ่ายแพ้

ย้อนไปในยุค 80s Nike ยังไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งของวงการรองเท้ากีฬาอย่างในปัจจุบัน ช่วงเวลานั้นแบรนด์ดังจากรัฐโอเรกอน กำลังทำตลาดอย่างหนักเพื่อหวังจะเจาะตลาดรองเท้ากีฬาบาสเกตบอลให้แตก เพราะผู้ถือครองตลาดในตอนนั้นคือ Converse ที่ยึดหัวหาดมาตั้งแต่ช่วงยุค 50s 

หลังจากล้มเหลวกับ Air Force 1 จนมาประสบความสำเร็จกับ Air Jordan 1 ดูเหมือน Nike จะยังไม่พอใจนักกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเขายังคงต้องการรองเท้าบาสอีกสักรุ่นที่จะมาเป็นคู่ต่อกรกับ Jordan 1 ของตัวเอง พูดง่าย ๆ คือต้องการสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคให้เป็นของแบรนด์ Nike ทั้งหมด จนไม่ต้องไปพึ่งรองเท้ายี่ห้ออื่น

ปี 1985 Nike จึงเปิดตัวรองเท้าบาสรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า "Dunk" ซึ่งดีไซน์ของรองเท้าไม่ได้คิดอะไรมากมายนอกจากเป็นการรวมร่างระหว่าง Nike Legend, Nike Terminator กับ Air Jordan 1 จนได้ออกมาแบบเป็นรองเท้ารุ่นนี้ 

ขณะที่ความแตกต่างสำคัญของ Dunk กับสองรองเท้ารุ่นพี่คือตัวน้องใหม่นี้จะไม่มีเทคโนโลยี Air นวัตกรรมสุดล้ำสมัยของ Nike อยู่ในมิดโซล 

ถ้าพูดตามตรงรองเท้า Dunk ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่เริ่มว่าจะขายได้อย่างไร ? เพราะนวัตกรรมก็ไม่ได้ดีกว่ารุ่นก่อนหน้า เรื่องของรูปทรงและลวดลายก็ไปเอาแรงบันดาลใจมาจากรุ่นเดิม ๆ อีก แถมอิทธิพลของ ไมเคิล จอร์แดน ยังทำให้คนแห่กันไปซื้อรองเท้า Jordan 1 กันจดหมดเกลี้ยง 

Nike มีแผนของตัวเองอยู่แล้ว นั่นคือปล่อยให้ Jordan 1 เจาะตลาดกลุ่มแฟนลีก NBA แล้วใช้ Nike Dunk เจาะตลาดแฟนบาสเกตบอลมหาวิทยาลัย ซึ่งมาพร้อมกับแคมเปญ "Be True To Your School"

Be True To Your School คือแคมเปญของ Nike Dunk ที่จะเปลี่ยนสีรองเท้าตามสีของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยไอโอวา (เหลือง-ดำ), มหาวิทยาลัยเคนทักกี (น้ำเงิน-ขาว), มหาวิทยาลัยมิชิแกน (เหลือง-กรม), มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (เทา-ดำ), มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น (ขาว-แดง), มหาวิทยาลัยลาสเวกัสเนวาดา (แดง-เทา), มหาวิทยาลัยซีเรคิวส์ (ส้ม-ขาว) 

ด้วยคอนเซ็ปต์ที่วางมาเป็นอย่างดีบวกกับสีสันของรองเท้าที่สวยงามแตกต่างกันออกไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย ทำให้ Dunk ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากหลังจากออกมาใหม่ ด้วยสีสันที่สดใหม่แปลกตา รองเท้ารุ่นนี้จึงกลายเป็นความคลาสสิกของวงการสนีกเกอร์ในทันที 

หากมองแค่ตัว Nike Dunk รองเท้าก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ถ้าไปมองถึงยอดขายเทียบกับ Air Jordan 1 รองเท้ารุ่นเอาใจเด็กมหาวิทยาลัยก็ต้องแพ้รองเท้าของนักบาสระดับซูเปอร์สตาร์แบบเทียบไม่ติด ทำให้ Nike ตัดสินใจถอนตลาดออกจากรองเท้ารุ่นนี้ เพราะเห็นทางสว่างแล้วว่าแค่ไลน์รองเท้าของ Jordan รุ่นเดียวก็ดีพอที่จะยึดตลาดรองเท้าบาสมาเป็นของตัวเองได้

Nike Dunk จึงกลายเป็นแค่ตำนานของรองเท้าบาสที่เริ่มเลือนหายไป ถึงแม้จะมีการผลิตรองเท้ารุ่นนี้ออกมาเรื่อย ๆ  แต่ส่วนใหญ่ก็วางค้างแช่นิ่งอยู่ในร้านโดยไม่มีใครมาหยิบซื้อ ทำให้มันกลายเป็นรองเท้าบาสขวัญใจสายลดราคา เพราะสู้กระแสรองเท้าตระกูล Jordan ไม่ได้แม้แต่นิดเดียว 

แต่ Dunk ซบเซาแค่ช่วงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพราะอีกไม่นานมันจะกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง แต่ไม่ใช่ในคอร์ตบาสเกตบอลอีกต่อไป

 

คืนชีพในวงการสเก็ตบอร์ด

ยุค 90s คือยุคทองยุคแรกของโลกสนีกเกอร์ มีรองเท้าใหม่ ๆ ออกมามากมาย วัฒนธรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ และเด็กหนุ่มที่หลงไหลในกีฬาสเก็ตบอร์ดในนิวยอร์ก ซิตี้ ได้ปัดฝุ่นหยิบรองเท้าบาสในอดีตมาใช้ในการเล่นสเกตบอร์ด 

ภายในระยะเวลาอันสั้น Nike Dunk กลายเป็นรองเท้าขวัญใจคนรักสเก็ตบอร์ด เหมือนกับที่พวกเขาเคยเปลี่ยน Puma Suede จากรองเท้าวิ่งมาเป็นรองเท้าสเก็ตบอร์ดได้ แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือ Nike Dunk และ Puma Suede ใส่เล่นสเก็ตบอร์ดได้อย่างยอดเยี่ยม 

เหตุผลสำคัญที่ Nike Dunk กลายมาเป็นรองเท้าสเก็ตบอร์ดได้อย่างน่าเหลือเชื่อเป็นเพราะว่ามันราคา "ถูก" เนื่องจากรองเท้ารุ่นนี้ถูกวางทิ้งไว้ในเอาต์เล็ตต่าง ๆ ในราคาที่ลดลงไป 30-50 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีคนเล่นบาสเหลียวแล แต่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กหนุ่มที่รักในกีฬาสเก็ตซึ่งไม่ได้กระเป๋าหนักมากนักเข้ามาหยิบจับรองเท้ารุ่นนี้ไปใช้งาน 

กระแสของการใส่ Nike Dunk ในการเล่นสเก็ตบอร์ดกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้ในปี 1997 Nike ตัดสินใจนำรองเท้ารุ่น Dunk กลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง แต่ปรับวัสดุและรูปลักษณ์บางอย่างให้เอื้อต่อการเล่นสเก็ตบอร์ดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นช่วยเพิ่มกระแสนิยมให้ Dunk ได้มากขึ้นไปอีก

จนในปี 1998 ทาง Nike ต้องขุดสีออริจินัลจากซีรีส์ "Be True To Your School" กลับมาผลิตเพื่อวางจำหน่ายใหม่อีกครั้ง ก่อนที่ในปี 1999 จะมีการปล่อยหมัดเด็ดด้วยการออกรองเท้าสีเหลือง-ดำ แบบของมหาวิทยาลัยไอโอวา แต่ว่าคราวนี้มีการคอลแล็บกับ Wu-Tang Clan กลุ่มฮิปฮอปชื่อดังที่มีสีเหลือง-ดำ เป็นสีประจำวง

ไม่ว่าจะปล่อยรองเท้า Nike Dunk ออกมาเท่าไหร่ในช่วงปลายยุค 90s ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาตลอด จนสุดท้ายในปี 2002 แบรนด์ได้ตัดสินใจแตกไลน์ออกมาเป็น Nike SB Dunk เพื่อผลิตรองเท้ารุ่นนี้ที่เจาะตลาดคนเล่นสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ ผ่านการเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปในรองเท้า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็น Nike Dunk แบบดั้งเดิมที่คงเอกลักษณ์ความเป็นรองเท้าบาสเอาไว้ 

Nike SB Dunk ประสบความสำเร็จอย่างมากทันทีที่เริ่มแตกไลน์สินค้าออกมา มีการคอลแล็บกับแบรนด์ดังอย่าง Supreme ที่มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์อย่าง "City Series" ที่มาพร้อมกับการออกแบบผ่านตัวตนของแต่ละเมือง ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ปารีส หรือ โตเกียว

Nike SB Dunk ทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดีกับการเป็นหัวหอกในการเจาะตลาดสเก็ตบอร์ด จนสามารถสร้างฐานแฟนของแบรนด์ในระดับเมนสตรีมขึ้นมาได้ ถึงขนาดที่ Nike ยอมออกมาโฆษณาว่านี่คือรองเท้าที่สมบูรณ์แบบในการเล่นสเก็ตบอร์ด แม้ว่าจะตั้งต้นในฐานะรองเท้าบาสมาก่อนก็ตาม 

ตลอดยุค 2000s Nike Dunk มีรุ่นใหม่ ๆ ออกมาวางจำหน่ายไม่มีพัก มีการคอลแล็บต่าง ๆ จนทำให้รองเท้ารุ่นนี้มีกระแสติดลมบนอยู่ตลอดเวลา แบรนด์อย่าง Supreme, Stussy หรือแม้กระทั่ง Levi’s ต่างเวียนหน้าเข้ามาร่วมรังสรรค์รองเท้าสุดฮิตรุ่นนี้

แต่ว่ามีรองเท้าไม่กี่รุ่นในวงการสนีกเกอร์ที่จะเป็นอมตะไม่มีวันตาย เพราะเมื่อเข้าสู่ยุค 2010s Nike ได้ลดความสำคัญของ Dunk ลง และเมื่อขาดแรงผลักดันจากแบรนด์คนก็เริ่มมองข้ามรองเท้ารุ่นนี้อีกครั้ง ด้วยกระแสที่หายไปทำให้ในช่วงพริบตาเดียว Dunk ก็กลับไปเป็นรองเท้าเหลือ ๆ ที่วางตามช็อปแบบไม่มีคนเหลียวแลอีกครั้ง

 

คืนชีพอีกครั้งกับกระแสสุดไฮป์ 

หลังจากกระแสของ Dunk ซบเซาไปพักใหญ่ Nike ก็พยายามปลุกกระแสรองเท้ารุ่นนี้กลับมาอีกครั้งด้วย การเอารองเท้าสีออริจินัลในซีรีส์ "Be True To Your School" กลับมาวางจำหน่ายใหม่อีกครั้งในปี 2015 เพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีของรองเท้ารุ่นนี้

อย่างไรก็ตามการนำของเก่ากลับมาทำใหม่ซึ่งเป็นมุกซ้ำของทาง Nike ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่แบรนด์ต้องการ ทำให้ Nike ต้องกลับมานั่งทบทวนกลยุทธ์กันใหม่อีกครั้งว่าจะทำอย่างไรให้ Dunk คืนชีพกลับมาสู่กระแสสนีกเกอร์เมนสตรีมได้อีกครั้ง

สุดท้าย Nike แก้ลำด้วยการทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนกับ Nike Dunk นั่นคือปรับภาพลักษณ์สร้างการคอลแล็บเพื่อให้กลายเป็นรองเท้าราคาแพง เพื่อลบภาพที่เคยเป็นรองเท้าบ้าน ๆ มาตลอด เริ่มต้นจากงานคอลแล็บสำคัญกับ Dover Street Market ในปี 2015 ตามด้วยการรวมงานกับดีไซน์เนอร์ไฮเอนด์ชื่อดังอย่าง เรย์ คาวาคุโบะ 

ก่อนที่ในปี 2019 Nike จะมาปล่อยหมัดเด็ดกับ Dunk ด้วยการคอลแล็บกับ Off-White แบรนด์แฟชั่นสตรีทแวร์ชื่อดัง ขณะที่ฝั่งของ Nike SB Dunk ก็มีงานคอลแล็บกับศิลปินชื่อดังอย่าง ทราวิส สกอตต์ ซึ่งเปลี่ยนให้ Nike Dunk กลายเป็นรองเท้าสุดร้อนแรงที่ใคร ๆ ก็ตามหา 

หลังจากกระแส Dunk จุดติด Nike จึงทยอยปล่อยรองเท้า Dunk ออกมาอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมเกือบทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นสีออริจินัลจากซีรีส์ "Be True To Your School" ที่เอามาวางจำหน่ายใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่เงียบเหงาเหมือนคราวก่อนเพราะหลายคู่สีมีราคารีเซลสูงถึง 3-4 เท่าตัว 

นอกจากนี้ Dunk ยังมีหมัดเด็ดเป็นคู่สีขาว-ดำ หรือที่เรียกกันว่า Dunk Panda ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรองเท้ายอดฮิตอันดับหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบันที่ไม่ว่าจะรีสต็อกมากี่ครั้งก็ไม่เคยพอกับความต้องการของผู้คน 

รวมถึง Dunk คู่พิเศษที่เขย่าวงการสนีกเกอร์ได้เป็นอย่างดีนั่นคือ Ben & Jerry's x Nike SB ที่เปลี่ยนลวดลายของกล่องไอศกรีมยี่ห้อ Ben & Jerry's ออกมาเป็นรองเท้าได้สวยงามอย่างน่าเหลือเชื่อ จนทำให้มันเป็นรองเท้าที่มีราคารีเซลสูงเป็น 10 เท่า อยู่ในหลักหลายหมื่นบาทไปแล้วเรียบร้อย

สิ่งที่ Nike พยายามทำอยู่ในปัจจุบันคือต้องการให้ Dunk กลายเป็นรองเท้าสนีกเกอร์อีกหนึ่งทางเลือกของผู้คน ไม่ต่างจาก Air Force 1 หรือ Air Jordan 1 ที่ล้วนเป็นอมตะไม่มีวันตายไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

แม้ว่าเส้นทางของ Dunk จะไม่ง่ายเหมือนกับหลาย ๆ รุ่น แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารองเท้าพื้น ๆ บ้าน ๆ แบบนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหน Nike Dunk ก็มีความอมตะอยู่ในตัวเสมอ และไม่แปลกที่มันจะชนะใจคนจำนวนมากได้ในปัจจุบัน 

 

แหล่งอ้างอิง

https://hypebeast.com/2021/6/nike-sb-dunk-history-sneakers-skateboarding-basketball
https://solecollector.com/news/2014/03/a-brief-history-of-the-be-true-to-your-school-nike-dunk-series
https://www.nicekicks.com/nike-sb-dunk-history/
https://www.youtube.com/watch?v=eCrc_7Z_4xI
https://www.youtube.com/watch?v=bB7HsGFHSVk
https://www.youtube.com/watch?v=lvfB_p0IiHM

Author

ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง

let me fly you to the moon, my eyes have always followed you around the room 'cause you're the only.

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น