M-Style

ย้อนรอยชุดอัศวินรัตติกาล : รู้หรือไม่ แบทแมนเคยใส่สนีกเกอร์ Nike ท่องราตรี ?  | Main Stand

ภาพยนตร์ The Batman หรือแบทแมนฉบับใหม่ที่กำกับโดย แมตต์ รีฟส์ และนำแสดงโดย โรเบิร์ต แพตทินสัน, โซอี้ คราวิตซ์,​ พอล ดาโน่,​ โคลิน ฟาร์เรล และ เจฟฟรีย์ ไรต์ กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่โปรเจ็กต์ดังกล่าวล้มลุกคลุกคลานอยู่นานตั้งแต่ปี 2017 และได้กลายเป็นโปรเจ็กต์ที่ได้รับการตั้งตารอจากแฟน ๆ มานับแต่นั้น 

 


จากข้อมูลที่เปิดเผยโดย แมตต์ รีฟส์ แบทแมนฉบับใหม่ของ โรเบิร์ต แพตทินสัน จะโฟกัสไปที่ทักษะด้านการเป็นนักสืบของแบทแมน เป็นภาพยนตร์ที่ถอดความแฟนตาซีตามแบบหนังซูเปอร์ฮีโร่ออกไป ภาพยนตร์จึงจะมีความขึงขังและสมจริงมากกว่าแบทแมนฉบับอื่น ๆ ที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในเรื่องของการนำเสนอเช่นรถ อุปกรณ์ หรือชุด ที่ถือเป็นไฮไลท์ของซูเปอร์ฮีโร่คนดังกล่าว 

ชุดที่เน้นความสมจริงของแบทแมนฉบับนี้ทำให้เราหวนนึกถึงชุดแบทแมนฉบับก่อน ๆ ที่ผ่านมา ในเวอร์ชั่นของ คริสเตียน เบล, จอร์จ คลูนีย์, วาล คิลเมอร์ หรือ ไมเคิล คีตัน ที่จะมีความแฟนซี มีความติดเล่น ประมาณหนึ่ง แตกต่างกันไปตามการตีความของทีมผู้สร้าง อย่างชุดแบทแมนที่มีหัวนมของคลูนีย์หรือแม้กระทั่งชุดแบทแมนที่ต้องใส่สนีกเกอร์ Nike ของคีตัน ทำให้ครั้งหนึ่งแบทแมนเคยเป็นสนีกเกอร์เฮดไปเสียอย่างนั้น 

เพื่อเป็นการต้อนรับความสมจริงของแบทแมนฉบับใหม่ Main Stand ขอชวนย้อนรอยไปดูความแฟนซีในอดีตของชุดแบทแมนฉบับ ไมเคิล คีตัน และรองเท้า Nike ของเขาไปพร้อม ๆ กัน 

 

ยกเครื่องใหม่ ใส่ฟิลเตอร์สีหม่น

แบทแมน เป็นหนึ่งในตัวละครซูเปอร์ฮีโร่สมมุติจากค่ายการ์ตูน DC Comics ที่ร่วมสร้างโดย บ๊อบ เคน และ บิล ฟิงเกอร์ นักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกัน ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1939 และปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือการ์ตูน Detective Comics ฉบับที่ 27

แบทแมน บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่สวมชุดค้างคาวและมหาเศรษฐีนาม บรูซ เวย์น ที่มีความหลังฝังใจในวัยเด็ก เนื่องจากการสูญเสียพ่อแม่ไปต่อหน้าต่อตาจากการถูกโจรปล้นชิงทรัพย์และฆาตกรรม ทำให้เขาผันตัวมาเป็นแบทแมนในเวลาต่อมา เพื่อตามหาฆาตกรที่ฆ่าพ่อแม่ของตนเองและได้กลายมาเป็นศาลเตี้ยผู้ผดุงความยุติธรรมในเมืองของเขา 

Detective Comics กลายเป็นการ์ตูนที่ขายดีอย่างเทน้ำเทท่า จนได้มีการนำตัวละครแบทแมนไปดัดแปลงเป็นทีวีซีรีส์ฉายทางโทรทัศน์ถึง 3 ซีซั่น นำแสดงโดย อดัม เวสต์ ในช่วงทศวรรษ 1960s ตั้งแต่ปี 1966 ไปจนถึง 1968 ซึ่งทีวีซีรีส์แบทแมนในฉบับของ อดัม เวสต์ จะมีความเบาสมองเข้าไปผสมอยู่ โทนของโชว์ที่จะเน้นไปทางตลกมากกว่าจริงจัง เพราะเป็นการอ้างอิงมาจากหนังสือการ์ตูนแบทแมนฉบับเก่า ๆ อย่างไรก็ตามนี่ก็ถือเป็นโชว์หนึ่งที่นำอัศวินรัตติกาลออกมาโลดแล่นทางจอแก้วแล้วประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม 

เมื่อเวลาผ่านไปหนังสือการ์ตูนแบทแมนได้มีการปรับโทนให้มีความจริงจังมากยิ่งขึ้น สืบเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของ The Dark Knight Returns นิยายภาพ (Graphic novel) แบทแมนที่เขียนโดย แฟรงก์ มิลเลอร์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1986 เล่าเรื่องของแบทแมนในวัย 65 ปี และผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน แบทแมนฉบับนี้ได้หันหลังให้กับเส้นทางของการเป็นศาลเตี้ยเนื่องจากการตายของ เจสัน ทอดด์ โรบินคนที่สอง คู่หูคนสนิทของเขา 

รวมไปถึงหนังสือการ์ตูน The Killing Joke ในปี 1988 ที่เป็นภาคแยกของแบทแมน บอกเล่าเรื่องราวต้นกำเนิดของโจ๊กเกอร์ คู่ปรับตลอดการของแบทแมน ที่จะมีความจริงจังและความดาร์กกว่าการ์ตูนฉบับอื่น ๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้า 

หนังสือการ์ตูนทั้งสองเล่มได้เข้ามากำหนดทิศทางในการนำเสนอตัวละครดังกล่าวให้มีความมืดมนยิ่งขึ้น และนี่กลายเป็นอิทธิพลให้แก่ภาพยนตร์ Batman ที่กำกับโดย ทิม เบอร์ตัน เวอร์ชั่นที่สร้างในปี 1989 นำแสดงโดย ไมเคิล คีตัน ที่เป็นการล้มภาพจำเดิมของแบทแมนออกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะ ทิม เบอร์ตัน ได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือการ์ตูนเหล่านี้แล้วนำมาผสมกับสไตล์การกำกับของตัวเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นงานภาพสีหม่นหรืองานออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะแนวกอธิค 

แต่ถึงจะดูเป็นงานที่มีเอกลักษณ์มากขนาดไหน ทาง วอร์เนอร์บราเธอร์ส สตูดิโอผู้ผลิตก็ยังต้องการให้มีการ “ขายของ” ในหนังผ่านการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (Product Placement) บางอย่างที่เป็นการตลาดแอบแฝง ตามสมัยของยุค “บริโภคนิยม” ในยุค 80s อยู่ดี และสินค้าที่ว่าคือสนีกเกอร์เครื่องหมายถูกอย่าง “ไนกี้” นั่นเอง

 

รองเท้าลูกผสม

นอกจากเรื่องของงานดีไซน์ แบทแมน ของ ทิม เบอร์ตัน มีความน่าสนใจเป็นพิเศษอยู่ที่ “ชุด” ของอัศวินรัตติกาล เพราะชุดของแบทแมนเวอร์ชั่นนี้ได้มีการยกเครื่องใหม่เช่นกัน โดยมาในโทนสีดำสนิท ออกแบบโดย บ๊อบ ริงวูด คอสตูมดีไซน์เนอร์ที่เคยผ่านงานการออกแบบชุดมาจากภาพยนตร์ไซไฟ Dune เวอร์ชั่นแรกที่กำกับโดย เดวิด ลินช์ ในปี 1984 และ Empire of the Sun ภาพยนตร์สงครามที่กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก ในปี 1987 

ริงวูดได้รับโจทย์ในการออกแบบชุดแบทแมนมาว่าจะต้องเป็นสีดำสนิทและได้รับเงินทุนในการสร้างชุดเป็นจำนวน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าราว 560,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 18 ล้านบาท สำหรับค่าเงินในปัจจุบัน) เขาศึกษาชุดแบทแมนจากหนังสือการ์ตูนกว่า 200 ฉบับ มีต้นแบบรูปปั้นลาเท็กซ์ประมาณ 28 อัน และผ้าคลุมอีก 25 แบบ ชุดที่เขาออกแบบยังเป็นที่ถูกอกถูกใจ บ๊อบ เคน ผู้สร้างตัวละครตัวนี้เป็นพิเศษ ทำให้ชุดที่ออกแบบมาผ่านฉลุยได้โดยไม่มีปัญหา 

ในขณะที่ส่วนบนราบรื่นดีแต่ส่วนล่างในเรื่องของ “รองเท้า” ที่มีชื่อเล่นว่า “แบทบูท” กลับมีปัญหาอยู่นิดหน่อย จากคำบอกเล่าของ แกรแฮม เชิร์ชยาร์ด ผู้ช่วยคอสตูมดีไซน์เนอร์เล่าว่า ทางผู้บริหารของวอเนอร์อยากให้ทางทีมงานวางสินค้าแอบแฝงการตลาดเข้าไปแบบเนียน ๆ ด้วย 

“จอห์น ปีเตอร์ (โปรดิวเซอร์) ได้เดินเข้ามาหาผมและบอกกับผมว่า ‘วอร์เนอร์กำลังมีข้อตกลงอะไรบางอย่างอยู่กับไนกี้ พวกคุณสามารถใช้สปอร์ตแวร์บางอย่างของพวกเขาได้ไหม ?’ ผมเลยไปคุยกับริงวูดแล้วเขาก็บอกว่า ‘เอ่อ สปอร์ตแวร์จากยุค 1980s มันคงไม่เข้ากับดีไซน์ยุค 1940s ของพวกเราหรอกมั้ง’ 

“แล้วพวกเราก็ปิ๊งเลย แบบว่าทำไมพวกเขาไม่ทำแบทบูทซะเลยเล่า ? แล้วพวกเขาก็ทำออกมาจริง ๆ พวกเขาสร้างบูทมาจากรองเท้าของไนกี้ ไมเคิล คีตัน กับสตันท์ก็ชอบรองเท้าพวกนี้มาก ๆ มันเป็นรองเท้าที่ซัปพอร์ตและใส่สบายมาก” 

ความจริงแล้วกว่าที่พวกเขาจะตกลงกันได้ก็ใช้เวลานานอยู่พักหนึ่ง ทางฝ่ายคอสตูมของหนังยังนึกไม่ออกว่าจะนำสินค้าจากไนกี้ ไปปรากฏในหนังยังไง เขาเลยออกไอเดียให้คนจากไนกี้จัดการแทนและ “พวกเขา” ที่แกรแฮมพูดถึงที่หมายถึงคนจากไนกี้นี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก “ทิงเกอร์ แฮตฟิลด์”​ นักออกแบบรองเท้าเจ้าสำนักแบรนด์เครื่องหมายถูก ผู้อยู่เบื้องหลังรองเท้าไนกี้รุ่นดังมากมาย อาทิ Air Max 1, Air Max 90 หรือ Air Jordan 3 

รองเท้าแบทบูทคู่แรกจึงถือกำเนิดขึ้น เป็นรองเท้าบูทสีดำสนิทที่จับรองเท้าของไนกี้รุ่น Air Trainer III เข้ามาผสม เพิ่มส่วนบนให้มีความยาวถึงเข่า โดยเริ่มมาจากการหล่อปูนปลาสเตอร์ขึ้นมาจากขาของไมเคิล คีตัน พวกเขาทำออกมาทั้งหมด 18 คู่ เป็นบูทหนังผสมกับโพลียูรีเทนและไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปมากกว่านั้น แฮตฟิลด์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “มันเป็นแค่รองเท้ากีฬาที่มีรองเท้าบูทอยู่ข้างบนเท่านั้น”

อาจจะเป็นเพราะ ไมเคิล คีตัน และสตันท์แมนชอบรองเท้าพวกนี้ แฮตฟิลด์จึงหวนกลับมาดูแลเรื่องรองเท้าอีกครั้งในหนังภาคต่อ Batman Returns ในปี 1992 ที่ยังกำกับโดย ทิม เบอร์ตัน และนำแสดงโดย ไมเคิล คีตัน เหมือนเดิม โดยคราวนี้เขาได้เปลี่ยนจากการดัดแปลง Air Trainer III มาใช้ Air Jordan VI ที่ออกมาในปี 1991แทน 

รองเท้าแบทบูทเวอร์ชั่นที่สองมีความแตกต่างจากเวอร์ชั่นแรกตรงบริเวณด้านหน้ารองเท้าจะมีการใช้ซิลลูเอทแบบ Air Jordan VI มีลักษณะเหมือนกับรองเท้าที่ห่อเท้าเอาไว้ จากที่เคยเป็นแบบสายคาดเหมือน Air Trainer III และบริเวณแข้งก็มีการปรับรายละเอียดเล็กน้อยให้มีลูกเล่นมากขึ้น แต่รวม ๆ แล้วยังมีความคล้ายกับรุ่นแรกอยู่ และเมื่อเวลาผ่านมามันก็กลายเป็นรองเท้าของอัศวินรัตติกาลสุดไฮป์ไปโดยปริยาย 

แม้ว่าการตลาดแบบ Product Placement ของภาพยนตร์แบทแมนจะไม่ได้ดูน่าตื่นเต้นจนได้รับการจดจำมากขนาดนั้นในช่วงเวลาที่หนังออกฉาย แต่รองเท้าคู่ดังกล่าวนี้ก็ได้รับการจดจำอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา 

 

รองเท้ารุ่นลิมิเต็ด

จนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 33 ปีแล้วตั้งแต่แบทแมนของ ทิม เบอร์ตัน ออกฉาย ภาพยนตร์แบทแมนทั้งสองภาคของเขาประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่และภาพยนตร์แบทแมนสุดคลาสสิกที่เข้าไปอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คน  

ไอเท็มจากภาพยนตร์แบทแมนของ ทิม เบอร์ตัน ยังคงดูคลาสสิกเหนือกาลเวลา โดยเฉพาะรองเท้า แบทบูทไนกี้ ที่ชอบไปโผล่ตามเว็บประมูลต่าง ๆ มีทั้งแบบเฉพาะรองเท้าหรือเป็นชุดแบทแมนทั้งชุดพร้อมลายเซ็น ซึ่งราคาของมันแพงไม่แพ้กับสนีกเกอร์ดัง ๆ ที่โผล่อยู่ตามเว็บรีเซลในปัจจุบันแม้แต่น้อย โดยมีราคาสูงสุดเหยียดไปถึงหลักล้านเลยทีเดียว

อย่างในปี 2014 ชุดที่ ไมเคิล คีตัน ใส่ในภาคแรกพร้อมกับ แบทบูท Air Trainer III ก็ถูกประมูลออกไปผ่าน Nate D. Sanders Auctions ในราคา 37,500 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับค่าเงินในปัจจุบันชุดนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 44,535 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 ล้านบาท 

หรือเมื่อปี 2015 รองเท้าแบทบูทคู่ที่สองที่ได้รับการดัดแปลงมาจาก Air Jordan VI ของ ไมเคิล คีตัน แบบที่มีแค่รองเท้าก็ถูกนำออกมาประมูลผ่านเว็บไซต์ eBay ในราคา 8,100 ดอลลาร์สหรัฐ ที่มีค่าเทียบเท่า 9,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 310,000 บาทในปัจจุบัน

ชุดแบทแมนของคีตัน และ แบทบูทไนกี้ ยังคงมีออกมาให้แฟน ๆ กระเป๋าหนักได้ประมูลกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2019 จากงาน Entertainment Memorabilia Auction 2019 ที่จัดขึ้นโดย Prop Store เว็บไซต์ประมูลพร็อพจากภาพยนตร์ ก็ได้มีการเปิดให้ประมูลชุดแบทแมนและสนีกเกอร์แบทบูทกันอีกครั้งในประเทศอังกฤษ และมันถูกประมูลออกไปในราคา 65,000 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือประมาณ 69,000 ปอนด์สเตอร์ลิงในปัจจุบัน (ราว 3 ล้านบาท) 

แม้ว่าต้นกำเนิดไอเดียในการทำรองเท้าแบทแมนจะไม่ได้มีรองเท้าสนีกเกอร์หรือสินค้าสปอร์ตแวร์เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก แต่มาจากการร้องขอจากเหล่าผู้บริหารที่สร้างความมึนงงให้กับทีมงานจนกลายเป็นเรื่องที่ต้องหาความลงตัวให้ได้ แต่ใครจะไปคิดว่าการทำคอสตูมซูเปอร์ฮีโร่จากสปอร์ตแวร์จะเป็นไปได้ในที่สุด อีกทั้งมันยังเป็นที่โปรดปรานของผู้สวมใส่อีกต่างหาก 

ไม่แน่ว่าในอนาคตต่อไป เราอาจจะได้เห็นเครื่องแต่งกายหรือพร็อพจากหนังถูกดัดแปลงมาจากสปอร์ตแวร์อีกก็เป็นได้ 

 

ที่มา : 

https://money.cnn.com/magazines/fortune/fortune_archive/1989/08/14/72348/index.htm 
http://natedsanders.com/the-batsuit-worn-by-michael-keaton-in-batman-f-lot25080.aspx 
https://ukm.propstoreauction.com/m/lot-details/index/catalog/169/lot/46727/ 
https://sneakernews.com/2012/07/19/nike-air-trainer-iii-air-jordan-vi-batman-boots/ 
https://sneakernews.com/2015/07/07/the-air-jordan-6-made-for-batman-is-back-up-for-auction/ 
https://www.businessinsider.com/nike-batman-boots-2016-3 
https://www.gq.com/story/batman-returns-air-jordan-6 
https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-news/michael-keatons-batman-returns-suit-brings-41000-at-auction-969457/ 
https://www.kicksonfire.com/batman-used-to-rock-the-air-jordan-6/ 

Author

ณัฐพล ทองประดู่

Memento Vivere / Memento Mori

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น