ดูเผินๆ เหมือนเขากำลังจะยกย่องเพื่อนร่วมทีมของเขาอย่าง จอร์แดน ที่เป็นหัวหอกนำกระทิงจากชิคาโกไล่ถลุงคู่แข่งยับแบบไม่ไว้หน้าจนถูกขนานนามว่า "3 มหัศจรรย์" หรือ "The Magic Trio"
ด้วยชื่อที่เพิ่งกล่าวไป คุณอาจจะนึกถึงเรื่องราวของกลุ่มผู้เล่นที่มีฝีมือในระดับสูงรวมตัวกัน ทุกคนสอดประสานกันอย่างดีทำหน้าที่ในสนามได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ราวกับร่ายเวทมนตร์บนคอร์ทบาส แน่นอนว่า เดนนิส ร็อดแมน ในตำแหน่งเพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด, ไมเคิล จอร์แดน ในตำแหน่งชูตติ้งการ์ด และ สก็อตตี้ พิพเพ่น ในตำแหน่งสมอลล์ฟอร์เวิร์ด คือ "สุดในรุ่น” อย่างแท้จริง
ทว่าสำหรับเรื่องราวนอกสนามล่ะ การเป็นดรีมทีมหมายถึงเพื่อนซี้ที่มองตาก็รู้ใจด้วยหรือไม่? หากคุณกำลังคิดว่าความสัมพันธ์ฉันเพื่อนร่วมทีมจะทำให้ผลงานในสนามดีขึ้นเสมอไป เราอยากให้คุณได้รับรู้เรื่องราวอริ 2 รุม 1 ของ ชิคาโก บูลส์ เรื่องนี้ เหตุใดกันหนอ ร็อดแมน จึงไม่เคยพูดคุยกับ จอร์แดน เลยแม้แต่ครั้งเดียว และทำไม พิพเพ่น จึงโดนหางเลขไปได้ ... ลืมท่อนเปิดหัวของบทความนี้ซะ และไปร่วมค้นหาความจริงกับ Main Stand ได้ที่นี่
"ผมไม่มีพ่อคอยดูแลตั้งแต่เด็กเหมือนใคร ผมสู้ด้วยตัวเองมาตังแต่จำความได้" ร็อดแมน พูดถึงชีวิตวัยเด็กของเขา ในวันที่ตัวเองมีชื่อเสียงกับฐานะ "The Worm" ราชารีบาวด์ผู้มีคาแร็คเตอร์โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA
นี่อาจจะเป็นเรื่องที่เขาให้สัมภาษณ์พร้อมกับรอยยิ้ม ทว่าหากย้อนไปช่วงที่ยังเด็ก ชีวิตของ ร็อดแมน ไม่ใช่ชีวิตที่ใครถวิลหาแน่นอน พ่อเขาเป็นทหารผ่านศึกของกองทัพสหรัฐฯ และอยู่ได้ด้วยเงินสวัสดิการ อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่เขาเลือกจะทิ้งครอบครัวให้สู้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกา ขณะที่ตัวเองลุยใช้ชีวิตเพลย์บอยไปทั่ว ก่อนไปตั้งต้นชีวิตใหม่ด้วยการเปิดบาร์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ จนทำให้เขามีลูกถึง 28 คน ซึ่ง ร็อดแมน คือพี่ใหญ่ของตระกูล หน้าที่นี้เหมือนกับหัวหน้าครอบครัวอยู่กลายๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยว่าอุปนิสัยไม่กลัวใครคือสิ่งที่เขาจำเป็นต้องมี เพื่อทำให้น้องๆของเขาปลอดภัยจากเหล่าอันธพาลและการถูกรังแก
การเป็นนักกีฬานี่แหละที่จะทำให้เขาหลุดพ้นความจนและใช้ชีวิตแบบร็อคสตาร์ได้ นั่นจึงทำให้เขาเลือกที่จะเล่นบาสควบคู่ไปกับการทำงานตั้งแต่ยังเด็ก อย่างไรก็ตามส่วนสูงในช่วงวัยรุ่นทำให้ชีวิตในวงการยัดห่วงของเขาไม่ค่อยสวยนัก
ในชีวิตช่วงแรกที่เริ่มเล่นบาสเกตบอลนั้น เขาสูงเพียงแค่ 168 เซนติเมตร จนทำให้เขาถูกมหาวิทยาลัย เท็กซัส A&M ถูกตัดออกจากทีม นอกจากเรื่องของส่วนสูงแล้วฝีมือก็แย่ไม่แพ้กัน แกรี่ แบลร์ โค้ชของเขาสมัยเรียนไฮสคูลยืนยันว่า ณ ตอนนั้นแม้แต่การเลย์อัพธรรมดาๆ เขาก็ทำไม่เป็นเลยด้วยซ้ำไป
ทว่าความพยายามหลังจากนั้นต่างหากที่ทำให้เขามายืนอยู่บนจุดสูงสุดได้ เขากลับมาเล่นบาสในช่วงมหาวิทยาลัย นอกจากจะฝึกหนักหน่วงแล้วส่วนสูงของเขาก็พุ่งปรี๊ดจนทำให้กลายเป็นดาวเด่นของ วิทยาลัยคุ้ก เคาน์ตี้ (ปัจจุบันชื่อมหาวิทยาลัย นอร์ธ เซ็นทรัล เท็กซัส) ก่อนไปโดดเด่นกับมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสต์เทิร์น โอกลาโฮม่า สเตท อีกแห่ง จนได้โอกาสไปอยู่กับ ดีทรอยต์ พิสตันส์ แม้เขาจะเป็นดราฟท์รอบสอง แต่ก็ถือว่าเป็นการหาเพชรในตมสำหรับ พิสตันส์ อย่างแท้จริง
ร็อดแมน ได้เล่นลีกอาชีพ และได้เจอกับ ไอเซย์ โธมัส ที่เปลี่ยนสไตล์ของเขาและยัดเทคนิคระดับเทพซึ่งดึงออกมาจากพรสวรรค์ที่แอบแฝงลึกๆ ในแบบที่ตัวเขาเองยังไมรู้เลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่านี่คือหนึ่งในโค้ชคนสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาเลยทีเดียว ช่วงเวลากับ พิสตันส์ คือช่วงเวลาแจ้งเกิดในฐานะฟอร์เวิร์ดจอมห่ามที่ไม่กล้วใคร ร็อดแมน เองยอมรับเรื่องนี้ด้วยตัวเองว่า ไอเซย์ โธมัส เปรียบเหมือนพี่ชายของเขา ขณะที่โค้ช ชัค เดลี่ ก็มีความสำคัญกับเขาราวกับเป็นพ่อ-ลูกกันเลยทีเดียว
ชีวิตของเขาสุดโลดโผน สไตล์ที่โดดเด่น และเทคนิคที่หาใครเลียนแบบยาก ทำให้เขาแจ้งเกิดเต็มตัว ก่อนจะย้ายไปอยู่กับ ซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส ในปี 1993 หลังจากต้องการเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ๆ บ้างหลังคว้าแชมป์ NBA ได้ถึง 2 สมัย
ทว่าช่วงที่อยู่กับ สเปอร์ส นั้น เป็นช่วงที่ ร็อดแมน มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมเยอะมาก ทั้งการปฎิบัติตัวนอกสนามและการเอาหัวโขก สเตซี่ คิง และ จอห์น สต็อคตัน ในสนาม นอกจากนี้เขายังเคยขึ้นพาดหัวเป็นข่าวคบหาดูใจกับป๊อปสตาร์ชื่อดังอย่าง มาดอนน่า อีกด้วย นี่อาจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จมากนักในฐานะนักบาส และดูเหมือนว่าเขาเองก็ไม่ได้สนเรื่องนี้สักเท่าไหร่
"ผมมันพวกหาโอกาสให้ตัวเอง คำแนะนำของผมคืออะไรรู้ไหม? ถ้าไม่ชอบก็ชั่งหัว-ึงสิ! คนทั่วโลกทำงานงกๆ เพื่ออยากจะหลุดเป็นอิสระทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ คนพวกนั้นอยากเป็นแบบผมทั้งนั้นแหละ พวกเขาคงคิดในใจไอ้หมอนี่แตกต่างกับคนอื่นดี 'เฮ้! ดูไอ้หมอนั่นสิ ทำไมชีวิตมันช่างเอนเตอร์เทนขนาดนี้' อะไรประมาณนั้น ... นั่นล่ะผมเอง" เขากล่าวทิ้งท้ายก่อนจะได้ย้ายไปอยู่กับ ชิคาโก บูลส์ ทีมที่กำลังขาดผู้เล่นแบบเขา และหลังจากนั้นเรื่องราววุ่นๆ จากผู้มาใหม่ก็เริ่มขึ้น
ร็อดแมน เก็บกระเป๋าข้ามฟากมาอยู่กับ ชิคาโก บูลส์ ในปี 1995 เขากำลังคะนองสุดขีดเพราะดีกรีติดตัวที่มีมาของเขาก็ถือว่าไม่น้อยหน้าใคร ดังนั้นเขาจึงฝันหวานที่จะได้เป็นนัมเบอร์ 1 ตามแบบฉบับคนเพี้ยนยุค '90 อย่างไรก็ตามเขาก็ต้องติดเบรกดังเอี๊ยดเมื่อเจอนัมเบอร์วันแห่งชิคาโกอย่าง จอร์แดน และเพื่อนซี้ของเขาอย่าง พินเพ่น ยืนตระหง่านขวางหน้าหนทางความเป็นพี่ใหญ่ของ ร็อดแมน อยู่
จริงๆ แล้ว ร็อดแมน ควรจะเข้าใจกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรก บูลส์ ในยุคนั้นเป็นทีมที่เน้นการทำแต้มจากการบุกวงนอก ดังนั้นการที่เขาเข้ามามันชัดเจนอยู่แล้วว่าหน้าที่ปิดทองหลังพระ หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า "Dirty Job" คือสิ่งที่ทีมต้องการจากเขามากที่สุด และนั่นหมายความความโดดเด่นเป็นซูเปอร์สตาร์จะตกเป็นของ จอร์แดน และ พิพเพ่น ไม่เปลี่ยนแปลง
เมื่อ บูลส์ เป็นทีมที่เน้นแต้มจากการยิงนอก นั่นหมายความว่าผู้เล่นที่คอย รีบาวด์ จะต้องเก่งกาจมากๆ เพราะถ้ารีบาวด์ไม่ได้โอกาสแพ้จะก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อผู้เล่นอย่าง จอร์แดน, พิพเพ่น หรือคนอื่นๆ ยิงพลาด ร็อดแมน จะต้องสแตนด์บายอยู่ใต้แป้นและจัดการเอาบอลกลับมาให้ทีมได้บุกอย่างต่อเนื่อง
เอาล่ะอาจจะมีหลายคนเถียงว่าก่อนที่ ร็อดแมน จะมา บูลส์ก็เป็นแชมป์ NBA ถึง 3 สมัยอยู่แล้ว ทว่าหลังจากที่ ร็อดแมน เข้ามานี่สิ พวกเขากลายเป็นทีมที่ดีขึ้นถนัดตา สิ่งที่ยืนยันได้คือ บูลส์ ชุดนั้นยังคงถือสถิติเกมรับตลอดกาลของ NBA มาจนถึงทุกวันนี้ คำกล่าวที่ว่า "บูลส์ ต้องมี ร็อดแมน" อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เกินจริงมากไปนัก เพราะเขาก็พา บูลส์ คว้าแหวน NBA อีกถึง 3 สมัยรวดเลยทีเดียว และเขาติดทีมรับยอดเยี่ยมแทบจะทุกปีอีกต่างหาก
Photo : www.sfexaminer.com
อย่างไรก็ตามความยอดเยี่ยมในสนามไม่ได้หมายความพวกเขาจะดีต่อกัน จอร์แดน และ พิพเพ่น คือทีมเดียวกันแบบไม่ต้องสงสัย พวกเขาอยู่ด้วยกันมานาน สนิทกันมาก มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทั้งสองคน จอร์แดน เองมีอิทธิพลอย่างสูงกับชีวิตที่ ชิคาโก ของ พิพเพ่น เขาคอยช่วยเหลือ พิพเพ่น ในวันที่ย้ายมาอยู่กับทีม นอกจากนี้ทั้งสองคนยังเป็นคู่ซ้อมดวล 1-1 หลังจากการฝึกซ้อมของทีม ความกลมเกลียวนี้ทำให้ทั้งคู่เลือกกันและกันเมื่อจัด "ดรีมทีม" ของพวกเขา
ทั้ง จอร์แดน และ พิพเพ่น อยู่กับทีมมานานกว่า ร็อดแมน นั่นคือเหตุที่คู่หูขาเก๋าเป็นลูกรักของเหล่าผู้บริหารและโค้ชอย่าง ฟิล แจ็คสัน และเป็นเรื่องที่ ร็อดแมน ไม่ชอบใจมากที่สุด เขาเป็นพวกหัวขบถไม่ชอบการเล่นพรรคเล่นพวก และที่สำคัญเขาไม่ชอบคุยกับใครแบบนอบน้อมเพียงเพื่อหวังผลว่าจะได้เป็นที่ยอมรับของคนนั้นๆ
เรื่องแบบนี้ จอร์แดน กับ พิพเพ่น ก็ไม่สนอยู่แล้ว พวกเขาเป็นซีเนียร์ผู้น่าเคารพ ใครไม่อยากคุยด้วยกับข้าก็ช่างปะไร เชื่อหรือไม่ว่าตลอด 3 ปีที่ "บิ๊กทรี" ทั้ง 3 คนนี้อยู่ด้วยกันพวกเขาไม่เคยคุยกันในเรื่องส่วนตัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว การลงสนามเท่านั้นจะทำให้พวกเขาปริปากคุยกันได้ ต่างคนต่างเป็นพวกยอมหักไม่ยอมงอ ดังนั้นสถานการณ์ในห้องแต่งตัวของ บูลส์ จึงอึมครีมตลอดศก แต่โชคยังดีที่ความเก่งกาจช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดในสนามแข่งขัน
"ผมไม่คิดว่าการคุยกันมันจะสำคัญตรงไหน คนอย่างผมสิ่งสำคัญอย่างเดียวคือ ไป! ออกไปคว้าชัยชนะกัน จะไปคุยด้วยทำไม งานของผมคืออะไร คุยเล่นเฮฮากับคนอื่นงั้นเหรอ?"
"งานของผมคือการเชื่อมโยงและเข้าใจวิธีการทำงานเป็นทีม แสดงความสามารถออกมาสิและคนอื่นจะรู้ว่าคุณควรร่วมงานด้วย นี่แหละคือสถานะที่เราอยู่กัน แล้วจะบอกให้ว่าผมชอบมากจริงๆ ที่เป็นแบบนี้ ผม, สก็อตตี้ (พิพเพ่น) และ ไมเคิล (จอร์แดน) ไม่เคยปริปากคุยกันเลยตลอด 3 ปีที่ชิคาโก โอกาสเดียวที่ผมจะคุยกับพวกเขาคือการสื่อสารกันตอนแข่งขันแค่นั้นเอง"
หลายคนสงสัยว่ามันจะเป็นอะไรกันนักหนากับการแค่แสดงความยินดีกันแบบเพื่อนร่วมงาน ซ้อมเสร็จตบไหล่ชวนกันไปสังสรรค์ สร้างความสนิทชิดเชื้อกันไว้ก่อน เพราะอย่างน้อยๆ ความสนิทสนมนอกสนามจะนำมาซึ่งการเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันในสนามและทีมก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จริงอยู่ที่ บูลส์ ชุดนั้นยอดเยี่ยมคว้าแชมป์ 3 สมัยซ้อน ทว่าหากทั้ง 3 คนเป็นหนึ่งเดียวกันอารมณ์ แก-ข้า เพื่อนตาย พวกเขาอาจจะเป็นทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่โลกเคยมีโดยไม่มีใครกล้าโต้แย้งเลยก็ได้ เรื่องแค่นี้ทำไม ร็อดแมน จึงไม่ยอมเข้าใจกันนะ?
จริงๆ แล้ว ร็อดแมน เองก็ไม่ได้เป็นพวกหัวแข็งคุยภาษาคนไม่เข้าใจไปเสียเดียวหรอก เขาอาจจะพูดไปว่างานของเขาคือการลงแข่งไปและชนะ ความสัมพันธ์นั้นไม่มีความจำเป็น บลาๆๆ อะไรประมาณนั้น แต่หากย้อนกลับไปในช่วงที่เขาสร้างชื่อกับ พิสตันส์ สิ่งที่ทำให้เขาแจ้งเกิดได้คือความสัมพันธ์แบบพี่น้องกับเพื่อนๆ ร่วมทีม และการนับถือคนอย่างอย่าง ไอเซย์ โธมัส และ ชัค เดลี่ ให้เป็นเหมือนพ่อคนที่ 2 ไม่ใช่หรือ? ทำไมเขาจึงทำมันอีกครั้งที่ตอนที่อยู่กับ บูลส์ ไม่ได้?
เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน สภาพแวดล้อมทำให้การปฎิบัติตัวของเขาเปลี่ยนไป มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่เปลี่ยนทัศนคติของ ร็อดแมน กับชีวิตในชิคาโกเสียใหม่ เหตุการณ์วันนั้นเริ่มขึ้นจากปาร์ตี้เล็กๆ ในบ้านของ ฟิล แจ็คสัน โค้ชของทีมที่นัดทั้ง จอร์แดน พิพเพ่น และ ร็อดแมน มาเจอกันโดยนัดหมาย ... วันนั้นเป็นวันก่อนที่ฤดูกาลจะเริ่ม
แจ็คสัน เองอยากให้ทีมของเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่างไรก็ตามความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวของเขาต้องมี จอร์แดน เป็นอันดับ 1 นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงเรียกบิ๊กทรีมารวมกันที่บ้านของเขา
ร็อดแมน รู้สึกแปลกใจ ทำไมบรรยากาศมันแปลกๆ ไม่เหมือนการสังสรรค์ มีการจัดเก้าอี้ 3 ตัวเป็นรูปสามเหลี่ยมและตัวเขานั่งอยู่ตรงยอด ราวกับว่าเขาจะต้องโดนรุมจากเรื่องอะไรสักเรื่อง
"เอาล่ะ เดนนิส ผมมีอะไรจะพูดกับคุณหน่อย" แจ็คสัน เปิดประเด็นใหญ่ประจำวัน "คุณช่วยบอกกับ สก็อตตี้ หน่อยได้ไหมว่าคุณอยากจะขอโทษกับสิ่งที่คุณเคยทำลงไปกับเขา?"
ร็อดแมน งงเป็นไก่ตาแตก เขาเพิ่งมาอยู่ชิคาโกได้ไม่กี่วันทำไมอยู่ดีเขาจึงต้องเอ่ยปากขอโทษ พิพเพ่น ด้วย? "ห๊ะ คือไรเนี่ย? อยู่ดีๆ ให้ผมขอโทษอะไร สก็อตตี้ ทำไม?"
"ก็เรื่องเมื่อปี 1991 นั่นไง" ฟิล แจ็คสัน บอกก่อนที่ภาพเก่าๆ จะย้อนมา ...
ย้อนกลับไปในปี 1991 สมัย ร็อดแมน ยังอยู่กับ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ตอนนั้นทีมของเขาถูกเรียกว่า "Bad Boys" เพราะเป็นทีมที่ใช้แท็คติกการเล่นที่ผสมความรุนแรงเข้าไปด้วย เรียกได้ว่าลูกตุกติกลูกแถมมาเต็มตามประสาทีมพันธุ์ระห่ำ
เหตุการณ์ในวันนั้น พิสตันส์ เปิดบ้านรับ บูลส์ ซึ่งฝ่ายหลังเป็นฝ่ายชนะ 115-94 จากการนำทัพของ จอร์แดน และ พิพเพ่น … ร็อดแมน ตามประกบ พิพเพ่น ด้วยความยัวะที่สกอร์ตามหลัง ร็อดแมน เล่นนอกเกมผลัก พิพเพ่น จากด้านหลังจนกระเด็นหัวทิ่มใส่เก้าอี้คนดู เขานอนนิ่งอยู่สักพักก่อนจะขึ้นมานั่งจ้อง ร็อดแมน ด้วยสายตาแห่งความเกลียดชังปนกับความเอือมระอา หลังเกม ร็อดแมน โดนปรับเงิน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และตัวเขาเองก็เขียนจดหมายไปขอโทษพิพเพ่นเป็นการส่วนตัวไปแล้วอีกต่างหาก ทำไมเรื่องการผลักจากด้านหลังต้องถูกนำมาพูดอีกครั้ง?
นี่คือเหตุการณ์ที่ ฟิล แจ็คสัน อยากให้ ร็อดแมน ขอโทษ พิพเพ่น อีกครั้งจนเป็นเหตุของการนัดหมายครั้งนี้ "เอาน่า ถือว่าทำเพื่อผมแล้วกัน คุณแค่บอกพิพเพ่นว่าคุณขอโทษ คิดซะว่าทำเพื่อผมแล้วกันนะ"
สิ่งแรกที่ ร็อดแมน คิดในใจคือ "คุณจะบ้าหรือไง นั่นมันเรื่องของเกมการแข่งขันโว้ยไอ้หอก" อย่างไรก็ตามเขาตัดสินใจบอกกับ พิพเพ่น ว่า "เอาล่ะผมขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นนะ" เขาต้องบอกขอโทษอีกครั้งหลังจากเคยขอโทษไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน
"ไม่เป็นไร พวกเราแค่อยากจะชนะกันทั้งคู่ และนั่นคือวิธีชนะของแต่ละคน" พิพเพ่นตอบกลับราวกับจะยกโทษให้ แต่ดูเหมือนว่าบางคนไม่ค่อยอยากจะได้รับคำยกโทษนี้
เรื่องในวันนั้นจบลงแบบเป็นไปตามแผน ร็อดแมน ขอโทษ, พิพเพ่น ยกโทษ และ แจ็คสัน สบายใจกับสภาพความสัมพันธ์ในทีม แต่ในทางตรงกันข้าม ร็อดแมน เกิดการต่อต้านในใจ เขากลับบ้านด้วยอารมณ์ที่สงสัยว่าทำไมถึงต้องรื้อเรื่องเก่าๆ เอามาเป็นเรื่องใหญ่โต และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่เขาคุยกับ พิพเพ่น นอกสนาม
หลังจากนั้น ร็อดแมน ไม่สนใครอีกแล้ว เขาทำตามหน้าที่เพียงอย่างเดียว เขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นทีมมากนัก และ ไมเคิล จอร์แดน ไม่ชอบเรื่องแบบนี้เอามากๆ แม้ ร็อดแมน จะเข้ามาเสริมให้ทีมของเขากลายเป็นทีมที่เก่งขึ้น แต่การเจอกับคนที่รับมือยากแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาเคยเจอบ่อยๆ แน่นอน
Photo : www.nba.com
จอร์แดน เป็นคนที่พวกมืออาชีพเต็ม 100% พยายามทุกสิ่งเพื่อให้ได้มาจนมีคำพูดติดตัวเป็นสโลแกนว่า "ผมยอมรับความล้มเหลวได้ แต่ผมรับไม่ได้หากไม่ได้ลองพยายาม" นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงชอบคอถูกใจกับ พิพเพ่น นัก ทั้งสองคนเป็นคู่ซ้อมของกันและกัน ขณะที่นอกสนามเหมือนกับแฝดตัวติดกันตลอด
ตัดภาพมาที่ ร็อดแมน เขาไม่รู้สึกว่านี่คือทีมของเขาตั้งแต่วันเปิดใจกับ ฟิล แจ็คสัน ครั้งนั้น สำหรับเขามีช่วงชีวิตเดียวที่ ร็อดแมน รู้สึกว่าเขาคือ 1 เดียวกับทีม เขาไม่ใช่คนตัวคนเดียว นั่นคือช่วงที่เขาอยู่กับ พิสตันส์ ที่เป็นเหมือนครอบครัว และนั่นคือเหตุผลที่ว่าปี 1993 เขาเกือบฆ่าตัวตายเมื่อรู้ว่า โค้ช ชัค เดลี่ ลาออกจากตำแหน่ง ร็อดแมน เสียใจมาก เมื่อบวกกับเรื่องชีวิตสมรสของเขาที่พังทลายในเวลาไล่เลี่ยกัน คืนหนึ่งเขาจึงเอาปืนไรเฟิลมาบรรจุกระสุนหวังยิงตัวตายในรถ แต่เดชะบุญที่เขาเปลี่ยนใจในภายหลัง ... นี่คือเรื่องราวฝังใจที่เกิดขึ้น
ร็อดแมน ไม่สน จอร์แดน และแหกกฎทีมเป็นประจำ ครั้งหนึ่งเขาเคยทำเซอร์ไพรส์ (ในด้านไม่ดี) กับเพื่อนร่วมทีมด้วยการโดดซ้อมโดยไม่บอกกันก่อน และเกมที่เขาโดดซ้อมคือก่อนเกมนัดชิงชนะเลิศของ NBA เมื่อปี 1998 เสียด้วย ส่วนเหตุผลที่โดดคือเขาไปแข่งมวยปล้ำ WCW ซึ่งเป็นเรื่องที่ จอร์แดน ออกตัวแรงด้วยความโกรธอย่างที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตนักบาสเกตบอลเลยทีเดียว ยิ่งเขาเห็นภาพที่ ร็อดแมน กำลังสนุกสนานกับ ฮัลค์ โฮแกน เขาก็ยิ่งยัวะขึ้นไปอีก
ขณะที่ ร็อดแมน ยังเหมือนเดิม ก็แล้วจะทำไมล่ะ? ฉันลงสร้างชัยชนะให้ทีมก็พอแล้วไม่ใช่เหรอ? เขายังคงยืนยันคำเดิมไม่เปลี่ยนแปลง "กับ จอร์แดน นี่ผมบอกเลยว่าผมกับเขาคนละขั้ว ถ้าเขาจะเดินไปทางเหนือผมก็ขอเดินไปทางใต้ เราต่างกันสุดขั้วโดยมี พิพเพ่น เป็นเส้นศูนย์สูตรตรงกลาง"
ขณะที่ จอร์แดน พูดถึง ร็อดแมน ไว้ในทิศทางเดียวกันเพียงแต่ต่างกันแค่ตอนจบนิดหน่อยเท่านั้นเอง ทั้งคู่มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนร่วมทีมกันจริง ... แต่ จอร์แดน เข้าใจบางอย่างต่างไปนิดเดียว
"ผมไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะรู้จักเขาดีจนเป็นเพื่่อนกันได้ เขาเป็นเพื่อนร่วมทีมแค่นั้น แต่ผมก็แปลกใจ คนชอบมองว่าเราไม่ถูกกันแต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนที่เฟรนด์ลี่นะ เราต่างคนต่างมีพื้นที่ส่วนตัว แรกๆ เราแค่ไม่ได้คุยกัน แต่หลังจากนั้นมันก็ดีขึ้น ต้องขอบคุณ ฟิล แจ็คสัน เขาควรได้เครดิตที่ช่วยสร้างบรรยากาศสงบเช่นนี้" จอร์แดน กล่าว
เหตุการณ์ที่จอร์แดนเล่าตรงกันในแง่ของความสัมพันธ์ และเหตุการณ์ที่ ฟิล แจ็คสัน เปิดใจคุยกับ ร็อดแมน ต่อหน้าเขาและพิพเพ่น ... เพียงแต่ว่าทั้งสองคนตีความต่างกัน จอร์แดน มองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของคำว่าทีม ขณะที่ ร็อดแมน คิดว่ามันเป็นจุดจบของมิตรภาพ และจากนั้นเขาจึงมีหน้าที่เป็นเครื่องจักรรีบาวด์คอยสร้างความสำเร็จให้กับทีมเท่านั้น
แหล่งอ้างอิง
https://www.thesportster.com/basketball/15-things-you-didnt-know-about-michael-jordans-relationship-with-his-teammates/
https://medium.com/ten-pens/lost-moments-in-nba-history-volume-1-ed28db71d05b
http://www.chicagotribune.com/news/ct-xpm-1996-03-19-9603190590-story.html
https://www.slamonline.com/nba/dennis-rodman-says-phil-jackson-made-apologize-scottie-pippen/