Main Stand ได้ทำการพูดคุยกับผู้คนที่ชื่นชอบในเสื้อฟุตบอลไทย ทั้ง ผู้สื่อข่าวสายฟุตบอลไทย ทั้ง สุวิชา โคตะมี (โกลดอทคอม), ธีร์รัฐ วงษ์ทอง (ขอบสนาม) ที่ชื่นชอบในเสน่ห์ของเสื้อฟุตบอล
รวมไปถึงแอดมินเพจเกี่ยวกับเสื้อฟุตบอลไทย อย่าง “คุณวา” วานิตพล วงษ์ประสานต์ (เพจเสื้อฟุตบอลไทยน่าสะสม), “คุณเอ” (เพจขายเสื้อบอลไทย) รวมไปถึงแฟนบอลผู้หลงไหลในเสื้อกีฬาอีกจำนวนหนึ่ง นำโดย “อั้น” ชาญวิทย์ สุทธิประเสริฐ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
จนได้ 10 ชุดแข่งขันฟุตบอลสโมสรไทยลีกที่สวยที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ดูซิว่าจะมีชุดไหนตรงใจหรือไม่ ?
นี่คือเสื้อฟุตบอลสโมสรไทยตัวแรกๆที่ออกแบบลายเสื้อแหวกแนวไปจากเดิม ด้วยการใส่สัญลักษณ์ของท้องถิ่นเข้าไปในลายเสื้อ
Photo : thaipremierleaguenews.blogspot.com
ฤดูกาล 2009 สโมสรราชนาวี ได้ไปร่วมทุนกับ อบจ.ระยอง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อทีมเป็น “ราชนาวี - ระยอง” สำหรับสู้ศึกฟุตบอลไทยลีก ซึ่งในฤดูกาลดังกล่าว พวกเขาถือเป็นทีมที่มีแฟนบอลเข้าชมเกมในสนามแน่นทุกนัด
ส่วน เสื้อแข่งขันของทีมที่ได้รับการชื่นชมจากแฟนบอลทั่วไป ด้วยการนำเอา ม้านิลมังกร ที่เป็นฉายาของทีมในเวลานั้นมาอยู่ในลายเสื้อ อยู่ในท่ากำลังยกขาหน้าสองข้างขึ้นเพื่อเตรียมทะยานไปข้างหน้า ส่วนสีเสื้อหลักก็คือสีขาวตัดกับสีน้ำเงิน ดูสวยงามเป็นอย่างมาก
สำหรับ “ม้านิลมังกร” ถือเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของวรรณคดี “พระอภัยมณี” ที่ประพันธ์โดยสุนทรภู่ กวีเอกของไทย โดยสื่อความหมายถึงจังหวัดระยอง ที่สโมสรไปตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั้นในฤดูกาลดังกล่าว ซึ่งแบรนด์ที่ผลิตเสื้อรุ่นนี้ก็คือ แทมโป (Tampo)
ว่ากันเสื้อรุ่นนี้กลายเป็นของหายากสำหรับนักสะสมเสื้อฟุตบอลไทยไปแล้ว เมื่อจำนวนการผลิตมีออกมาไม่ถึงพันตัว จนราคาซื้อขายเสื้อรุ่นนี้ตามตลาดซื้อขายเสื้อผ้าฟุตบอลไทยตัวนี้สูงถึง 8-9 พันบาท และถ้าสภาพดีๆ ทะลุเกินหลักหมื่นไปเป็นที่เรียบร้อย จากราคาขายตั้งต้นไม่ถึง 500 บาทด้วยซ้ำ
ฤดูกาล 2013 วัวชน ยูไนเต็ด ที่ผ่านมาการเล่นในลีกสูงสุดเมืองไทยมาแล้ว 1 ฤดูกาล ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อทีมมาใช้เป็น สงขลา ยูไนเต็ด พร้อมกับมีการปล่อยชุดแข่งใหม่ออกมาให้แฟนบอลชาวจังหวัดสงขลาจับจองเป็นเจ้าของ ภายใต้แบรนด์เดิมอย่าง “เอฟบีที”
Photo : Songkhla United FC
สโมสรสงขลา ยูไนเต็ด มีการออกแบบลายเสื้อแข่งขันได้อย่างน่าสนใจ และแปลกใจตาไปจากทีมอื่น ด้วยการนำ “วัวชน” สัญลักษณ์ของสโมสรที่นำมาจากกีฬา “ชนวัว” อันเป็นที่นิยมในพื้นที่จังหวัดสงขลา มาใส่ในลายเสื้อจำนวนสองตัว หันหน้าหุ่งเข้าใส่กันบริเวณด้านล่างของเสื้อ
ขณะที่บริเวณด้านอกเสื้อก็เป็นรูปตัว V ที่ย่อมาจากคำว่า “Victory” ที่แปลว่า “ชัยชนะ” ซ้อนกันอยู่หลายชั้น ทำให้มีความรู้สึกถึงความแข็งแกร่งของทีม
ด้วยสถานะของสโมสรสงขลา ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน ที่ยังคงพักทีมไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในฤดูกาลนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้ เสื้อรุ่นนี้ของ สงขลา ยูไนเต็ด เริ่มหายากขึ้นทุกวัน โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแฟนบอลจังหวัดสงขลาเท่านั้น
นี่คือสโมสรที่ได้รับคำชมในเรื่องการดีไซน์ออกแบบชุดแข่งแทบจะทุกๆฤดูกาล สำหรับ “นกใหญ่พิฆาต” ชัยนาท ฮอร์นบิล นับตั้งแต่สร้างความฮือฮาในฤดูกาล 2013 ด้วยการนำนกใหญ่สัญลักษณ์ประจำจังหวัดมาไว้ในลายเสื้อ รวมไปถึงใช้คำว่า “ศิษย์หลวงปู่ศุข” วางไว้ที่กลางหน้าอก หรือแม้แต่ฤดูกาล 2014 ที่ออกแบบฉีกแนวให้เสื้อแข่งของพวกเขาสามารถใช้ใส่ไปเที่ยวในแบบแฟชั่นได้ด้วย
Photo : CHAINAT Football Club
แต่หากชุดที่สวยที่สุดของพวกเขาก็ต้องยกให้ในฤดูกาล 2015 ที่มีการออกแบบชุดแข่งให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของจังหวัดชัยนาท ที่ได้ รักกิจ ควรหาเวช ศิลปินสตรีทอาร์ทเบอร์ตันๆของเมืองไทย มาสร้างลวดลายบนเนื้อผ้า ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวบนเนื้อผ้า สีสัน และลวดลายใบหน้านก ได้อย่างลงตัว ที่สำคัญชุดแข่งขันดังกล่าวก็เป็นแบรนด์ที่สโมสรทำขึ้นมาเองอีกด้วย
และที่โดดเด่นสำหรับชุดแข่งฤดูกาล 2015 ของ ชัยนาท ฮอร์นบิล ยังสามารถสวมใส่สำหรับปั่นจักรยานได้อีกด้วย ซึ่งปีดังกล่าวจังหวัดชัยนาท ได้จัดกิจกรรม “ชัยนาทเมืองจักรยาน 12 เดือนแห่งการปั่น” ที่ผู้คนชาวจังหวัดชัยนาท ต่างก็แห่กันมาจับจองเป็นเจ้าของชนิดฮิตกันไปทั่วเมือง
นับตั้งแต่ “ฉลามชล” ชลบุรี เอฟซี เปลี่ยนมาใช้แบรนด์เสื้อของ ไนกี้ ตั้งแต่ปี 2012 พวกเขาก็มีชุดแข่ง ที่ถูกการออกแบบดีไซน์ให้มีความสวยงาม ทุกๆฤดูกาล โดยปีที่ดูจะโดดเด่นและแปลกตาไปมากที่สุดก็ต้องยกให้กับชุดแข่งฤดูกาล 2014
Photo : Chonburi Football Club
ในฤดูกาลดังกล่าว พวกเขาได้ออกแบบชุดภายให้สะดุดตาด้วยโทนสีฟ้าสลับน้ำเงิน เหมือนเช่นเดิม พร้อมกับมีการดีไซน์ลายเส้นรูปตัววี (V) บริเวณหน้าอก ที่มาจากคำว่า “Victory” หมายถึง ชัยชนะ ขณะเดียวกันก็ยังมีการสกรีนลายเส้นรูปฉลามที่สื่อถึงจิตวิญญาณแห่งเพชฌฆาตอันเป็นสัญญาลักษณ์ของทีมที่แขนเสื้อด้านซ้ายอีกด้วย
ในส่วนของเนื้อผ้าก็ใช้เทคโนโลยีระดับโลกของทาง ไนกี้ มาใช้เพื่อให้เสื้อที่นักเตะสวมใส่มีคุณสมบัติในการระบายอากาศได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงมีน้ำหนักที่เบา และระบายเหงื่อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเสื้อรุ่นดังกล่าวก็เป็นแฟนบอล “ฉลามชล” ส่วนใหญ่ต่างก็มีเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าของตัวเอง
นับตั้งแต่ อาริ เข้ามาดูเรื่องเสื้อผ้ากีฬาให้กับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ก็ทำพวกเขา เป็นทีมที่มีชุดแข่งขันที่ ทันสมัยกว่า ดีไซน์ล้ำหน้าหลายๆทีมในเมืองไทย โดยในฤดูกาลที่เสื้อเกาะของ “แข้งเทพ” ดูจะงดงามมากกว่าใครเพื่อนก็คือปี 2017
Photo : True Bangkok United
ในฤดูกาลดังกล่าว แข้งเทพ มาในคอนเซ็ปต์ “The War is not over Together We stand” โดยสีหลักของเสื้อที่สโมสรวางเอาไว้ก็คือ แดง ขาว น้ำเงิน แบบสีธงชาติไทย 3 ชุด
ซึ่งชุดที่ดูจะเป็นที่จ้องตาของแฟนบอลมากที่สุดก็คือ ชุดเหย้า (สีแดง-ดำ) ที่มีการไล่เฉดสีจากซ้าย (สีดำ) ไปขวา (สีแดง) ที่ทำในแบบกราเดี๊ยน เมื่อมองแล้วจะดูไม่ธรรมดา
ขณะที่เนื้อผ้าก็จะเป็นแบบรัดรูปบางเบาช่วยเรื่องของน้ำหนัก รวมไปถึงมีรูเล็กระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ในส่วนของเสื้อผ้าเกรดแฟนบอลจะต่างกันตรงที่ไม่รัดรูป เน้นใส่สบายเป็นหลัก
มากันที่ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ถือเป็นทีมที่ค่อนข้างให้ความสำคัญของภาพลักษณ์สโมสรมาโดยตลอด โดยเฉพาะชุดแข่งขันที่พวกเขาใส่ใจเก็บรายละเอียดทุกๆฤดูกาล
Photo : thaipremierleague.com
และชุดแข่งที่ดูจะคลาสสิคและกลายเป็นของหายากไปเสียแล้วนั้นก็คือ ชุดแข่งฤดูกาล 2009 ที่พวกเขาก้าวขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดเป็นปีแรก
ที่มีใช้แบรนด์ระดับโลกอย่าง อาดิดาส แม้ลวดลายอาจจะไม่ได้ดูสะดุดตาอะไร แต่ความเรียบง่ายที่ใช้สีหลักเป็น สีแดง ตัดด้วยเส้นสีดำ 3 เส้นบนราวแขน พร้อมกับโลโก้ อาดิดาส อยู่กลางอกเสื้อ โดยมีสปอนเซอร์หลักของทีมในเวลานั้นอย่าง ยามาฮ่า
ก็ทำให้เสื้อรุ่นดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งของหายากของนักสะสมเสื้อฟุตบอลไทยอีกหนึ่งตัว แม้ว่าจะมีผลิตออกมาค่อนข้างเยอะตามจำนวนแฟนบอลของทีมในยุคนั้น
เมื่อพูดถึงชุดแข่งสโมสร “พลังเอ็ม” โอสถสภา M-150 แฟนบอลก็นึดถึงชุดแข่งโทนสีเหลือง พร้อมกับมีโลโก้ เครื่องดื่มตรา “เอ็ม150” ติดอยู่กลางเสื้อ ที่ดีไซน์การออกแบบเสื้อสโมสรแห่งนี้ก็จะไม่ฉีกออกไปมาก เต็มที่ก็ลายเสื้อผ้าเท่านั้นเอง
Photo : Osotspa M-150 Samutprakan FC
แต่มีอยู่ฤดูกาลหนึ่งที่พวกเขา ดีไซน์ชุดแข่งแปลกหูแปลกตาออกไป นั้นก็คือในฤดูกาล 2011 เมื่อชุดเยือนของพวกเขาออกแบบแปลกไปจากเดิม ด้วยการใช้สีดำเป็นโทนหลัก (นึกถึงขวดเครื่องดื่ม M-150 Storm) โดยมีสีเหลืองเป็นแถบอยู่ด้านข้างเสื้อ ขณะที่ตรงกลางก็ใช้เส้นสีเหลือง จำนวน 12 เส้น ลาดม้วนผ่านจากบนลงล้าง สร้างความโดดเด่นให้กับชุดดังกล่าวที่ถูกผลิตโดย Grand Sport เป็นอย่างมาก
ถือเป็นเสื้อเยือนไม่กี่รุ่นและไม่กี่ทีมที่ ได้รับความนิยม มากกว่าชุดเหย้าของทีมในปีนั้นๆ
“มังกรไฟ” บีอีซี เทโร ศาสน สโมสรที่อยู่คู่กับ วงการลูกหนังไทยมาอย่างยาวนาน ก็เป็นอีกทีมที่มีชุดแข่งขัน สวยงาม เน้นการออกแบบให้ดูเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความคลาสสิค และสำหรับเสื้อแข่งที่ดูจะโดดเด่นและได้รับความนิยมมากที่สุดของพวกเขาก็คือ ปี 2014
Photo : Police Tero FC
เสื้อแข่งในฤดูกาลดังกล่าวของ “มังกรไฟ” ถูกออกแบบโดยแบรนด์ เอฟบีที แบรด์ดังของคนไทยที่อาจจะไม่ได้ตกแต่งอะไรมากมาย แต่สีเสื้อแดงสดตัดกับสีทองประกายของสปอนเซอร์ก็ทำให้ดูหรูสง่าขึ้นเยอะ
ตามสโลแกนที่ว่า “มังกรไฟสีทอง” ซึ่งมันยิ่งล้ำค่ากว่าเดิมอีกตรงที่ ฤดูกาลดังกล่าวพวกเขาสามารถคว้าแชมป์ โตโยต้า ลีกคัพ เกียรติยศล่าสุดของสโมสรได้อีกด้วย
เสื้อของสโมสรการท่าเรือ ล้วนแต่มีความคลาสสิคอยู่ในตัวเมื่อส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาคอบอลชาวไทยมาอย่างยาวนานด้วยสี “แสด-น้ำเงิน” อันเป็นเอกลักษณ์ของสโมสรไปเป็นที่เรียบร้อย เรียกได้ว่าผลิตชุดออกมาปีไหนก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น ชุดฤดูกาล 2009 (อัมโบร) หรือปี 2010 ที่เปลี่ยนมาใช้ “อาดิดาส” ก็สะดุดตาไม่ต่างกัน
Photo : การท่าเรือ เอฟซี Port FC
แต่ชุดที่เราเลือกเข้ามาของการท่าเรือก็คือ ชุดแข่งฤดูกาล 2017 ที่สโมสรจัดทำขึ้นมาในโอกาสครบรอบ 50 ปีสโมสร ด้วยคอนเซ็ปต์ “We are the Legend” หรือ “เราคือตำนาน” ผลิตโดย Grand Sport
โดยมีการตัดต่อแขนและคอปกเสื้อให้เป็นสีดำ คอเสื้อแบบตั้งดูทันสมัย และยังคงเอกลักษณ์ “แสด-น้ำเงิน” ไว้อย่างลงตัว ขณะที่เนื้อผ้าก็ใช้ผ้าไมโครที่ผลิตจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ทำให้เนื้อผ้าสัมผัสเนียนนุ่ม แห้งเร็ว ไม่ซับเหงื่อและระบายอากาศได้ดี
บีจี ปทุม ยูไนเต็ด หรือชื่อเดิม บางกอกกล๊าส เอฟซี เป็นทีมที่มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนดีไซน์ชุดแข่งขันให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในฤดูกาล 2018 ที่พวกเขามีการเปิดตัวโลโก้สโมสรใหม่ที่มาพร้อมกับ ชุดแข่งเหย้าสีใหม่ จากเขียวขาวมาเป็น ฟ้า
Photo : BG Pathum United
ชุดดังกล่าวยังคงใช้ ไนกี้ แบรนด์ดังระดับโลกที่ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “Las Maquinasazules” ที่มาจากภาษาสเปนอันมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า “The Blue Machines” ที่แปลเป็นไทยว่า เครื่องจักรสีน้ำเงิน
ซึ่งดีไซน์การออกแบบก็ใช้ลายเส้นไล่สีฟ้าและดำ เป็นแนวนอนตั้งแต่ด้านบนจนถึงชายเสื้อ โดยเสื้อจะเป็นคอวี รวมไปถึงใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยให้สวมใส่ได้อย่างคล่องแคล่ว นับเป็นเสื้อรุ่นที่แฟนบอลบีจี และทีมอื่นๆชอบเป็นอย่างมาก น่าเสียดายเป็นปีที่พวกเขาต้องตกชั้นไปเล่นในลีกรอง