การที่เราเรียนรู้และทำความเข้าใจประเด็นต่าง ๆ นับตั้งแต่เรื่องของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงกระบวนการยุติธรรม ผ่านบอร์ดเกมนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ โดยเฉพาะถ้ามองจากสายตาของ เอ็ก - พีรัช ษรานุรักษ์ นักออกแบบบอร์ดเกมจาก Wizards of Learning สำนักออกแบบบอร์ดเกมสัญชาติไทย ยิ่งย้ำเตือนและยืนยันกับเราว่า บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือในการสื่อสารทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งในโลกปัจจุบัน
อย่างที่เขาเคยพิสูจน์มาแล้วด้วยการอธิบายเรื่องที่ดูเหมือนจะซับซ้อนอย่างการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ย่อยง่ายและสนุกสนานผ่าน Local Election บอร์ดเกมที่ทำให้เราเข้าใจกลไกการเลือกตั้งและความสำคัญของการกระจายอำนาจ, Pizza Master ที่ได้ไปเปิดตัวในเวทีบอร์ดเกมใหญ่ยักษ์อย่าง Essen Spiel 2017 โดยผู้เล่นไม่ได้แค่จำแลงร่างเป็นนักทำพิซซ่า แต่ยังจำลองโลกของธุรกิจและการเชือดเฉือนอันชวนปวดตับด้วย !
เงื่อนไขแบบไหน กติกาอะไร ที่ทำให้บอร์ดเกมของ Wizards of Learning ทั้งสนุก สื่อสาร และสร้างประสบการณ์ร่วมบางอย่างให้ผู้เล่น เอ็ก - พีรัช อาจมีคำตอบที่กว้างขวางและหลากหลายกว่าที่เราคาดไว้
อะไรที่มีกติกาและมีอุปกรณ์ มีการแข่งขันกันก็นับหมด อย่างบันไดงูที่เป็นเกมจากอินเดีย แล้วคนตะวันตกหยิบมันขึ้นมาเพื่อเอามาเล่นกับเพื่อนหรือลูก ๆ ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะคนชนชั้นกลางเยอะขึ้น มีเวลาว่างและอยากหาอะไรมาเล่นกับลูก ๆ โดยไม่ต้องโกงเด็ก นั่นคือใช้ดวง ซึ่งเป็นความเป็นไปได้ที่ทุกคนมีเท่ากัน ก็อาศัยการทอยเต๋า เดินไปตกช่องไหนก็ตามนั้น ไม่ต้องคิด ไม่ต้องตัดสินใจอะไรเลย ให้ลูกเต๋าพาไป เพราะบันไดงูในอินเดียนี่เดิมทีมีไว้สอนศาสนาก่อน หลักการคือพระเจ้าเป็นผู้กำหนดดวงชะตาเรา ทอยเต๋าออกมาดีเราก็ได้ดี แต่ถ้าดวงไม่ดีไปโดนงูก็ร่วงลงมาข้างล่าง แต่คนตะวันตกเห็นว่าสนุกดีเลยหยิบไปใช้เป็นขึ้นลงบันได แข่งกันว่าใครจะชนะ
แต่ยุคใหม่มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะว่าคนเราเริ่มรู้สึกว่าเราสามารถเล่นกับมันได้ หากลยุทธ์จากเกมได้ อย่างเช่นเกม Among Us มันคือเกมดิจิทัลที่หลักการเหมือนบอร์ดเกม, Werewolf ที่หาคนร้ายในกลุ่มผู้เล่น แล้วบอร์ดเกมมันมีหลากหลายมาก ตั้งแต่เกมแบบพูดคุยกันเพื่อหาตัวคนร้าย หรือเกมวางแผนหาความคุ้มค่าในการลงทุน ประมูลแย่งชิงของกัน หรือวัดใจกันว่าเราจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ซึ่งมันก็เหมือนกับวิดีโอเกม ต่างกันตรงที่จะได้ประสบการณ์จากการเล่นไม่เหมือนกัน ยิ่งเล่นกับเพื่อนอยู่กันต่อหน้า มันจะมีนอกเกมกันง่ายกว่า เช่น แซวกันว่านายป๊อดนี่หว่า (หัวเราะ) หรือเกมที่เล่นเครียด ๆ สามชั่วโมง เจ็ดชั่วโมง มันก็เล่นได้
ย้อนกลับไปก่อนหน้าเกมบันไดงู มันคือเกมหมากรุก โกะ นั่นก็นับนะครับ หรือย้อนไปไกลเลยคือพวกหมากขุม หยิบถั่ววาง มันก็เป็นเกมเหมือนกันแค่ทำงานคนละฟังก์ชั่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมันมีหลากหลายมากขึ้น อย่างช่วงโควิดก็มีเกมทำวัคซีน ที่ไปเก็บตัวอย่างเชื้อโรคมาทำวัคซีน ทำให้เราได้เข้าใจกระบวนการการทำงานของหลากหลายสายอาชีพ หรือได้ลองสวมบทบาทต่าง ๆ ดู
เราไม่ได้ผลิตเกมเอง เรารับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ อย่างเกม Scrabble ก็เป็นบอร์ดเกม มันอยู่ในการศึกษาของเรามานานแล้ว มีการจัดแข่งขันกันด้วย แต่อีกอย่างที่เราคุ้นเคยคือพวกเกมเล่นไพ่ มันคือบอร์ดเกมนะ แค่เข้ามาในลักษณะของเกมการพนันมากกว่า มันเป็นวัฒนธรรมในไทยแล้ว เติบโตมาจากตรงนั้น กลายเป็นการรวมกลุ่มสันทนาการกัน และยังสะท้อนสังคมในปัจจุบันด้วยนะ ซึ่งบอร์ดเกมที่ได้รับความนิยมในไทยจะมีลักษณะดังนี้ คือต้องเสี่ยง ต้องลุ้น มากกว่าจะเป็นเกมวางแผนการจัดการ
แต่ 5-7 ปีที่ผ่านมามันมีจุดเปลี่ยนในการออกแบบเกมในไทย เราเลยมาสนใจเรื่องกระบวนการคิด การออกแบบ ปรับปรุงว่าเราจะทำเกมอย่างไรได้บ้าง ช่วงนี้พอมันเกิดการเติบโตของนักออกแบบในไทยก็เลยทำให้เราคุยเรื่องบอร์ดเกมในมิติที่ไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง หรือสื่อการเรียนรู้ มันเป็นธุรกิจได้ไหม เป็นเนื้อหาอย่างอื่นได้ไหม ร้านบอร์ดเกมเองก็เติบโตขึ้นพร้อมกับยุคของคาเฟ่ เพราะคนก็เริ่มหาว่าเราจะใส่อะไรเข้าไปในคาเฟ่ นอกจากขายกาแฟได้บ้าง เลยมีบอร์ดเกมเพิ่มเข้ามา
จุดต่างที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือถ้าเราจะเล่นหรือเสพดิจิทัลเกม มันก็อยู่บนหน้าจอ ประสบการณ์ร่วมที่เราจะได้จากดิจิทัลเกมจะเป็นสองมิติ แล้วก็มี Interface ต่าง ๆ บ้าง ไม่ว่าจะเป็น เลือดเท่านี้ พลังเท่านี้ แต่ถ้าเป็นบอร์ดเกมการสื่อสารมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนหน้าจอ บางทีเราอาจมีต้นไม้อยู่กลางโต๊ะ ขณะที่ถ้าเป็นดิจิทัลเกมคือมีภาพต้นไม้อยู่บนจอ เท่านี้ก็แตกต่างแล้ว หรือบางที Interface ต่าง ๆ ที่แสดงผลมันอาจจะไม่ได้อยู่บนการ์ด แต่อยู่บนสีหน้าเพื่อน เช่น มันโกหกหรือเปล่า
คือเราต้องเป็นคนเลือกรับสารเอง มันเป็นความสนุกในการเล่นว่าเราจะประเมินสถานการณ์อย่างไร หรือจะสนุกกับบรรยากาศแบบไหนที่อยู่รอบตัวเรา มากกว่าแค่อยู่บนหน้าจอ
ดิจิทัลเกมมันหนีจากสถานการณ์นั้นได้ โดยที่เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับคนอื่น เราอยู่หลังจอ แอบหัวเราะได้ แต่ถ้าเป็นบอร์ดเกมเราไม่มีกำแพงดิจิทัล เราต้องเผชิญหน้ากับมัน รับสภาพมันให้ได้ แล้วธรรมชาติของเกมคือการทำให้เราเจอปัญหาบางอย่าง และเมื่อไหร่ที่เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหา แต่ละคนก็จะมีวิธีรับมือกับปัญหาไม่เหมือนกัน
โดยทั่วไปกับเพื่อนฝูงต่าง ๆ เราก็เจอกันเฉพาะตอนมีความสุข แต่ถ้ามาเจอกันในมุมที่แต่ละคนเจอปัญหา เราอาจจะพบว่าคนนี้แก้ปัญหาแบบนี้เหรอ พอมานั่งเล่นบอร์ดเกมด้วยกัน เราก็เลยได้เห็นเพื่อนในมุมที่ไม่เคยได้เห็น
แต่ถ้าสมมติว่า เราเป็นนักปีนเขาด้วยกันมาตลอด มันอาจไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ก็ได้นะ เพราะเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยกันมาเสมอ
จริง ๆ ง่ายมากเลยครับ มันไม่มีอะไรเลยนอกจากกติกา เกมสันทนาการต่าง ๆ ต้องมีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง แล้วอยู่ที่ว่าการกำหนดเงื่อนไขนั้นสนุกหรือไม่สนุก อันนี้คือจุดที่ยาก ดังนั้นการทำเกมไม่ยาก แต่ทำเกมให้สนุกและดีนั้นยาก เหมือนการทำอาหาร ทำยังไงให้รสชาติกลมกล่อม ให้อร่อย ยากกว่าทำให้มันออกมากินได้
ถ้าจะทำเกม สิ่งที่ผมคิดหลัก ๆ คือจะส่งประสบการณ์อะไรให้คนเล่น มันครอบคลุมหมดเลย สมมติอยากสร้างเกมที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แต่บรรยากาศไม่จำเป็นต้องเหมือนให้เรามานั่งฟังอาจารย์อ่านหนังสือ มันน่าเบื่อ เพราะเวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์ไทย เราจะนึกถึง "บุพเพสันนิวาส" เป็นอย่างแรกไหม ทั้งที่จริงๆ มันคือละครที่หาทางเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่
การทำเกมก็เหมือนกัน มันคือการสร้างประสบการณ์ บรรยากาศมันเป็นแบบไหน เล่นเกมประวัติศาสตร์แบบเป็นเจ้าเมือง แล้วแย่งชิงเมืองกัน แล้วให้คนเล่นได้รับความรู้สึกแบบสู้กันหนัก ๆ หรืออีกแบบคือเล่นเกมประวัติศาสตร์ที่มา เรียนรู้เรื่องสินค้าและการแลกเปลี่ยน เรื่องมูลค่า หรือเอาประวัติศาสตร์มาเป็นแค่กิมมิคเล็ก ๆ แล้วแต่เลยว่าอยากให้ผู้เล่นมีประสบการณ์แบบไหน
แล้วมันมีเรื่องอื่น ๆ ที่เราอยากเล่าอีกตั้งเยอะ อย่างที่ผมทำก็มีเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม การจัดการน้ำ ชั้นบรรยากาศโอโซนบ้าง คือเราต้องหามุมในการเล่าว่าจะเล่าอย่างไร นี่แหละที่เป็นหัวใจสำคัญ เมื่อตั้งโจทย์ได้แล้วก็มาหาเครื่องปรุงที่จะทำให้มันอร่อย เช่นทำเกมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องหาที่ปรึกษา เหมือนเล่นเกมเราก็ต้องหาตี้ที่เหมาะสมกับเควสต์นั้น ก็คือหาที่ปรึกษาที่ช่วยให้ข้อมูลเราเพิ่มในการสร้างเกม หากราฟิกมาวาดรูปประมาณนี้ให้หน่อย
การทำเกมจึงไม่ยาก แต่ทำเกมดี ๆ ขึ้นมา มันทำคนเดียวไม่ได้หรอก มันเหมือนการทำหนัง มีตั้งแต่ผู้กำกับยันคนถือแผ่นรีเฟล็กซ์ ฉะนั้นในการทำเกมที่ได้คุณภาพในทุก ๆ ด้านก็ต้องอาศัยมืออาชีพมาช่วย ๆ กัน
เช่น ผมทำเกมว่าด้วยการทำฟาร์มขึ้นมา กติกาคือเราจะไม่มีกินไม่มีใช้เลยจนกว่าจะปลูกพืชผลขึ้นมาได้ บางทีข้าวไม่งอกก็ไม่มีข้าวกิน ก็เป็นกติกาที่กำหนดมานะ แต่อีกเกมหนึ่งเป็นเกมทำฟาร์มเหมือนกัน คนออกแบบคนเดียวกันเลยก็ได้ แต่เขียนกติกาโดยกำหนดรูปแบบคือ ให้ผู้เล่นเล่นได้อย่างอิสระ มีของเหลือเฟือ เปลี่ยนแค่นิดเดียวเองแต่ความรู้สึกจากเกมก็ไม่เหมือนกันแล้ว สิ่งสำคัญคือเราต้องมีเป้าหมายก่อน ว่าอยากให้คนเล่นได้ประสบการณ์แบบไหนจากเกม อยากสื่อความรู้สึกอะไร กติกาเป็นตัวทำให้องค์ประกอบหลายๆ อย่างในเกมทำงาน
การทำเกมมันไม่ยาก แต่การทำเกมที่มันสื่อสาร ยาก แม้ว่าจริง ๆ กระบวนการอาจจะไม่ได้ยาก มันเหมือนเรามีสมมติฐานว่าทำแบบนี้น่าจะเวิร์คนะ แล้วลองทำ ทดลองไป ถ้ามันไม่เวิร์คก็แก้ใหม่ กระบวนการออกแบบเกมส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการทดสอบเกมนี่แหละครับ พัฒนาไปเรื่อย ๆ เพราะเราไม่สามารถทดสอบเกมในหัวตัวเองตลอดไปได้ เพราะเราจะไม่รู้เลยว่ามันเวิร์คกับคนอื่นไหม ถ้าเอาแต่คิดเอง ผมเลยทำเกมแล้วลองให้คนอื่นเล่นดูตลอด
ข้อดีของเกมทั้งหมด ไม่ใช่แค่บอร์ดเกม คือการที่มันลองผิดได้ มันสามารถผิดพลาดได้โดยไม่เสียอะไรเลย สมมติลองในชีวิตจริง ผิดพลาดหนึ่งทีอาจจะหนักเลย เช่นลองเป็นนักบินอวกาศ ไม่ได้แค่ตายด้วยแต่อาจจะเสียเงินหลายล้าน หรือจะลองทำสงครามในเกมก็ได้ มันคือหลักการเดียวกันกับหมากรุก เราเล่นหมากรุกเพื่อลองกลยุทธ์ในการเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ ซึ่งถ้าเป็นทหารจริงคือตายจริงไง แต่ในเกมมันลองผิดได้
การลองผิดยังทำให้เราได้เห็นมิติของความเข้าใจผิดด้วย เราเคยคิดว่าแบบนี้มันน่าจะดี แต่ปรากฏว่าอีกคนดันคิดอีกแบบ แล้วก็มาลองกันในเกมก็จะได้รู้ว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหน มันได้เปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด เกมมันเลยทำหน้าที่ในการ simulate สิ่งที่เราจะเรียนรู้หรือทำความเข้าใจ
ทางที่ดีที่สุดคือลองเล่นเกม ไม่ต้องเยอะมากแต่เล่นให้หลากหลาย เราอาจต้อง Re-engineer ให้ได้ก่อน เช่นปกติเราซื้อกระเป๋ามาหนึ่งใบ ไม่รู้หรอกว่ามันประกอบอย่างไร แต่พอเราอยากเป็นนักออกแบบกระเป๋า สิ่งที่ต้องทำเมื่อเจอกระเป๋าหนึ่งใบ คือต้องมาดูว่ารายละเอียดการเย็บเป็นอย่างไร ฯลฯ
บอร์ดเกมก็เช่นกัน สิ่งที่ต้องทำคือไปลองเล่นเกม แล้วมาดูว่ารู้สึกสนุกแบบลุ้น ๆ หรือรู้สึกสนุกแบบเฉือนกึ๋นกัน แล้วมันมาจากวิธีการออกแบบแบบไหน องค์ประกอบแบบไหน กติกาแบบไหน แล้วเราจะรู้ว่าในการออกแบบ ถ้าเราอยากจะได้แบบนี้ควรจะหยิบจับอะไรมาปรุงบอร์ดเกมของเราให้มันอร่อยถูกใจเราขึ้นมา
ซึ่งมันไม่มีทางที่เราจะเก่งอะไรขึ้นได้โดยไม่ฝึกนะ ศิลปินไม่ได้เก่งโดยไม่ผ่านการฝึกวาดรูปมาก่อน เราลองฝึกหัด ฝึกฝนทักษะไปก่อน การทดลอง การลองเล่น ลองสร้าง มันเหมือนการทำอาหาร เราอาจต้องทอดไข่ ทอดทิ้งทอดขว้าง แล้วจะรู้ว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมในการทอดไข่อยู่ที่เท่าไรจึงจะสุกพอดี แล้วสักวันเราจะทำอาหารที่เป็นมาสเตอร์พีซได้
ดังนั้น เลยอยากแนะนำให้ลองเล่น แล้วลองถอดกระบวนการออกแบบไปด้วย เล่นในสายตาของนักออกแบบ เราไม่ได้เล่นเอาชนะเกมแต่เล่นเอาความเข้าใจ สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือลองทำ แล้วให้คนอื่นลองเล่น แล้วเก็บ feedback กลับมา ถ้าเขาชมเรามันก็ดีต่อใจแหละ แต่ถ้าเขาวิพากษ์วิจารณ์อะไรในเกมกลับมา เราจะได้รู้ว่าเกมเรามันมีจุดอ่อน มีอะไรที่พัฒนาได้บ้าง
เรามองว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ใหม่มากสำหรับไทย ยังไม่มีสิ่งแวดล้อมรองรับ โรงพิมพ์ยังถนัดการพิมพ์หนังสือมากกว่า มีโรงพิมพ์ไม่กี่แห่งเองที่พิมพ์บอร์ดเกมได้ นักลงทุนก็ยังไม่ค่อยมา แต่มันมีการเติบโตที่น่าสนใจ มีคนเล่นบอร์ดเกมมากขึ้น
ทั้งที่ถ้าย้อนกลับไปห้าปีก่อน เวลาพูดถึงบอร์ดเกมคนยังนึกถึงแค่เกมเศรษฐีอยู่เลย แต่วันนี้เราคุยกันว่ารู้จัก Werewolf ไหม รู้จักเกม Splendor หรือเปล่า มันเป็นตลาดเฉพาะแหละ และคงจะต้องเติบโตแบบตลาดเฉพาะต่อไป เพียงแต่คุณค่าของมันเป็นที่รับรู้แล้ว